Skip to main content

“There is No Such Thing as Absolute Evil”:

บทสัมภาษณ์ ฌักส์ แวร์แฌส์ ใน SPIEGEL ONLINE (ตอนที่ 2)

สัมภาษณ์โดย บริตา แซนด์เบิร์ก (Brita Sandberg) และ เอริค ฟอลลัธ (Eric Follath) 

 

S: ลูกความคนล่าสุดของคุณคือ เขียว สัมพัน อดีตผู้นำของระบอบอันอื้อฉาวอย่างเขมรแดง ชายผู้ซึ่งผูกพันกับคุณด้วยอดีตที่น่าตื่นตาตื่นใจ คุณพบเขาในปารีสเมื่อกว่า 55 ปีก่อนตอนที่คุณทั้งสองยังเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ เขียว สัมพันมีกำหนดเข้าสู่การพิจารณาคดีในพนมเปญเร็ว ๆ นี้ และเขาจะถูกฟ้องในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

JV: ไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใด ๆ เกิดขึ้นในกัมพูชาครับ

 

S: งั้นเหรอครับ? แต่มีคนกว่า 1.7 ล้านคนเสียชีวิตภายในเวลาไม่ถึง 4 ปี เนื่องจากยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวของเขมรแดง

JV: ผมเห็นว่าตัวเลขเหล่านี้มากเกินจริง มีการฆาตกรรมเกิดขึ้นมากมายและในบางกรณีก็ให้อภัยไม่ได้เลย นี่คือสิ่งที่ลูกความของผมเองก็พูดไว้ อีกทั้งยังมีการทรมานเกิดขึ้นจริงซึ่งนั่นก็ไม่อาจแก้ตัวได้เลยเช่นกัน แต่ยังไงก็ตาม การนิยามว่านี่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยเจตนาเป็นเรื่องผิด เพราะคนส่วนใหญ่เสียชีวิตเนื่องจากการขาดอาหารและโรคภัยไข้เจ็บ

 

S: แต่ระบอบเขมรแดงย่อมเป็นผู้รับผิดชอบต่อทุกข์ภัยเหล่านี้อยู่ดี

JV: ไม่จริงเลยแม้แต่น้อย สิ่งเหล่านี้เป็นผลของนโยบายคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาต่างหาก ประวัติศาสตร์ของกัมพูชาไม่ได้เริ่มต้นเมื่อเขมรแดงเรืองอำนาจในปี 1975 แต่มีจุดเริ่มต้นอันนองเลือดเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว นั่นคือตอนที่พวกอเมริกันในสมัยประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน และที่ปรึกษาด้านความมั่นคง เฮนรี คิสซิงเจอร์ ระดมทิ้งระเบิดสังหารประชาชนพลเรือนชาวกัมพูชาในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970

 

S: คุณอาจขอให้เฮนรี คิสซิงเจอร์ มาเป็นพยานในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับเขมรแดงก็ได้

JV: และผมมีสิทธิที่จะทำเช่นนั้น แต่สงสัยอยู่ว่าเขาจะมาหรือเปล่า อีกอย่าง ผมไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าการพิจารณาคดีที่พนมเปญจะเกิดขึ้นไหม

 

S: คุณพูดแบบนั้นได้ยังไง สหประชาชาติและรัฐบาลกัมพูชาทุ่มงบกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการเตรียมการพิจารณาคดีครั้งนี้นะครับ อีกอย่าง การพิจารณาคดีของเคียง เก็ก เอียบ (Kang Kek Iew) หรือสหายดุช (Duch) ผู้ควบคุมเรือนจำที่ทรมานที่สุดของเขมรแดงก็มีกำหนดจะเริ่มต้นขึ้นในเร็ววันนี้

JV: การพิจารณาคดีของดุชอาจเริ่มเร็ว ๆ นี้ครับ แต่ไม่ใช่คดีของนักโทษอีก 4 คน คือ อดีตผู้นำลำดับที่สองของเขมรแดงอย่างนวน เจีย อดีตรัฐมนตรีสองคนคือ เอียง สารี และ เอียง ธีริธ (Ieng Thirith) และอดีตผู้นำประเทศอย่างเขียว สัมพัน คดีเหล่านี้จะไม่ได้เข้าสู่ขั้นพิจารณาคดีด้วยซ้ำ เพราะศาลพนมเปญได้สูญเสียความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมไปหมดแล้ว

 

S: ทำไมล่ะครับ

JV: ผมมีสองตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความอ่อนประสบการณ์ของฝ่ายอัยการ หนึ่ง เอียง สารีถูกพิพากษาโดยศาลกัมพูชาและได้รับการอภัยโทษแล้วในปี 1996 การนำเขาขึ้นศาลเป็นครั้งที่สองด้วยข้อหาเดียวกันจึงผิดหลักกฎหมายในทุกกรณี สอง ลูกความของผมควรได้รับการปล่อยตัวเพราะศาลได้ละเลยกฎเกณฑ์พื้นฐานของฝ่ายจำเลย เพราะถึงแม้ศาลจะรับรองภาษาในศาล 3 ภาษาให้มีสถานะเท่าเทียมกัน แต่พวกเขาทำเหมือนไม่ใช่เรื่องจำเป็นในการแปลเอกสารที่กระจัดกระจายอยู่ในภาษาขแมร์ให้เป็นภาษาฝรั่งเศส ผมไม่มีทางแก้ต่างให้ลูกความผมได้เลยหากไม่มีความรู้เกี่ยวกับหลักฐานพวกนี้

 

S: ซึ่งคุณได้โวยเรื่องนี้ขึ้นมาในห้องพิจารณาคดีที่พนมเปญ ก่อนเดินออกจากห้องไปอย่างหัวเสีย แล้วกระแทกประตูดังโครมคราม

JV: ผมต้องทนฟังกระทั่งที่ศาลแนะนำให้ลูกความของผมหาทนายใหม่ มันงี่เง่ามาก ๆ!

 

S: โดยพื้นฐานแล้วคุณต่อต้านนักการเมืองที่ขึ้นโรงขึ้นศาลในข้อหาสังหารหมู่หรือละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือเปล่า

JV: นั่นไม่ใช่ประเด็นเลยครับ การพิจารณาคดีในศาลคดีอาชญากรรมสงครามที่กรุงเฮกของ (อดีตประธานาธิบดีเซอร์เบีย สลอบอดัน) มิลอเชวิช …

 

S: ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากรสงครามชาวเซอร์เบีย ซึ่งคุณรับเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้

JV: … เป็นเรื่องตลก อะไรแบบนี้มักเป็นเรื่องความยุติธรรมของผู้ชนะเสมอ สิ่งเดียวกันเกิดขึ้นกับการพิจารณาคดีที่นูเร็มเบิร์ก (Nuremberg Trials) แม้อย่างน้อยที่นั่นจะยึดกฎเกณฑ์บางอย่างอยู่บ้างก็ตาม ตัวอย่างเช่นในกรณีของฮยาลมาร์ ชาร์ชท์ (Hjalmar Schacht) อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาณาจักรไรช์ของเยอรมันที่พ้นจากทุกข้อกล่าวหา แต่เมื่อเทียบศาลในพนมเปญกับนูเร็มเบิร์ก ลูกความของผมอย่างเขียว สัมพัน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบต่อกิจการทางเศรษฐกิจเช่นกัน กลับตกอยู่ในฐานะผู้กระทำผิดกฎหมายสารพัดสารพัน สิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่นแทบไม่ต่างอะไรกับศาลเตี้ยเลย

 

S: ความเห็นอกเห็นใจอย่างล้นเหลือที่คุณมีต่อเขมรแดงเกี่ยวอะไรกับเรื่องราวส่วนตัวในอดีตของคุณหรือเปล่า คุณเองได้พบพอล พต (ผู้นำเขมรแดง) กับเขียว สัมพัน ครั้งแรกในปารีส ราว ๆ ทศวรรษ 1950 ด้วย

JV: ครับ ช่วงนั้นผมเคยเป็นผู้นำนักศึกษาคอมมิวนิสต์และเคยได้ติดต่อกับนักศึกษาต่างชาติที่ฝักใฝ่ฝ่ายซ้ายจำนวนมาก เรื่องที่ผมได้พบกับสลอธ์ ซาร์ ซึ่งต่อมาเรียกตัวเองว่า พอล พต เป็นความจริง เขาเป็นเด็กหนุ่มที่หลงรักแรงโบด์ (Rimbaud)[1] และหลงใหลในบทกวีของแรงโบด์มาก ๆ ทั้งยังเป็นคนที่มีมุกตลกอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

 

S: ตลกเหรอ? เขาเป็นฆาตกรต่อเนื่องนะครับ ถ้าไม่นับฮิตเลอร์ เหมา และสตาลิน เขาอาจเป็นฆาตกรที่โหดร้ายที่สุดในศตวรรษนี้ด้วยซ้ำไป

JV: สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ เขียว สัมพันเป็นหนึ่งในนักเรียนขแมร์ที่เก่งที่สุดตอนที่เรียนอยู่ในฝรั่งเศสด้วยทุนของกษัตริย์สีหะนุ เขาเขียนวิทยานิพนธ์ชิ้นเยี่ยมเกี่ยวกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ในแง่นี้ เป็นความจริงที่ผมมีส่วนในการชักนำเขาเข้าสู่การเมือง สลอธ์ ซาร์กับเขียว สัมพันก็เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่กำลังมองหาต้นแบบในการต่อสู้เพื่อต่อต้านอาณานิคมในประเทศบ้านเกิดของตนเอง ต่อมา เขียว สัมพันได้สมาทานแนวคิดมาร์กซิสต์

 

S: คุณได้พบเขาอีกครั้งเมื่อไหร่ครับ

JV: ไม่อีกเลยจนกระทั่งปี 2004 ครับ ตอนนั้นเขาบอกผมว่าเขาอยากจะสู้คดี เพราะอย่างนั้นผมจึงเดินทางไปกัมพูชา เรานั่งอยู่ด้วยกันในบ้านของเขาใกล้พรมแดนไทยถึงสี่วันสี่คืนเพื่อร่วมกันคิดหาหนทางในการสู้คดี

 

S: แล้วเป็นยังไงบ้างครับ

JV: พูดตามตรง ลูกความของผมไม่เคยอยู่ในตำแหน่งที่มีสิทธิอำนาจควบคุมกำลังตำรวจหรือทหารในกัมพูชาเลย เขามีแต่บทบาททางเทคนิคเท่านั้น ในฐานะผู้นำรัฐ เขาเป็นตัวแทนของประเทศ แต่ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบต่อการปราบปรามประชาชน เขาเป็นคนที่อ่อนโยนและเป็นผู้บริสุทธิ์

 

S: คุณเชื่อยังงั้นจริง ๆ เหรอ?

JV: ครับ แน่นอน สิ่งที่เขียว สัมพันต้องการคือการกำจัดชนชั้นทางการเมือง ไม่ใช่การกวาดล้างผู้คนที่เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นเหล่านั้น เขาเป็นนักอุดมคติที่เดินตามอุดมการณ์ของการปฏิวัติ คุณก็น่าจะรู้ว่าพวกตะวันตกมักพยายามเจ้ากี้เจ้าการในทุก ๆ เรื่อง ๆ แต่มันควรจะเป็นยังงั้นจริง ๆ หรือเปล่า โดยเฉพาะในกรณีของสหรัฐอเมริกา เมื่อพวกเขาเองสังหารประชาชนนับพันคนไปในสงครามเพื่อเผยแพร่ประชาธิปไตย ไม่นับว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในกวนตานาโมและอาบู เกรี๊ยบ (Abu Ghriab)[2] หรือเช่นเมื่อประเทศอย่างฝรั่งเศสเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องสกปรกพรรค์นี้ในแอลจีเรีย

 

S: ในปี 1957 คุณว่าความให้กับสมาชิกหลายคนของกองกำลังแนวหน้าปลดปล่อยแห่งชาติแอลจีเรีย (FLN) ซึ่งสร้างชื่อเสียงในฐานะทนายความให้ตัวคุณเอง ลูกความของคุณใช้วิธีสร้างความหวาดกลัวในการต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส คุณประกาศว่า โดยทั่วไปแล้ว คุณเป็นฝ่ายเดียวกับพวกเขา

JV: ครับ ผมบอกพวกเขาในตอนนั้นว่า ผมเข้าใจความโกรธเกรี้ยวของคุณ เข้าใจการต่อสู้ของคุณ และผมสนับสนุนในสิ่งที่พวกคุณกำลังทำอยู่ ยิ่งกว่านั้นผมยังเห็นด้วยกับความรุนแรงที่พวกเขาใช้ ผมเห็นว่ากองกำลัง FLN เป็นตัวแทนของการต่อต้านเจ้าอาณานิคม

 

 

[1] อาตูร์ แรงโบด์ (Arthur Rimbaud, 1854-1891) กวีชาวฝรั่งเศส ผู้มีอิทธิพลต่อวงการวรรณกรรมและศิลปะสมัยใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเหนือจริง (Surrealism)

 

[2] เรือนจำคุมขังนักโทษที่ถูกต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมกับขบวนการก่อการร้ายระหว่างสงครามของสหรัฐอเมริกาในอิรัก

 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา