Skip to main content

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

“There is No Such Thing as Absolute Evil”:

บทสัมภาษณ์ ฌักส์ แวร์แฌส์ ใน SPIEGEL ONLINE (ตอนที่ 3)

 

S: ชีวิตคุณผ่านความเจ็บปวดมามากจนเข้าอกเข้าใจการใช้ความรุนแรงได้ดีขนาดนี้เลยเหรอครับ

JV: คือ... มันเหมือนเป็นแฟชั่นในการทำอะไรบางอย่างโดยอ้างเหตุผลว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ และผมเกลียดอะไรแบบนั้นนะ จริงอยู่ที่พ่อผมต้องลาออกจากตำแหน่งกงสุลฝรั่งเศสประจำอาณานิคมอินโดจีนเพราะแต่งงานกับคนเวียดนาม เขาเดินทางต่อจากนั้นไปทำงานเป็นแพทย์ที่เรอูนิยง (Réunion) ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสในชายฝั่งอัฟริกา ตัวผมเองเติบโตมาจากต้นกำเนิดสองแบบ แต่ผมไม่ได้ใช้ชีวิตด้วยความทุกข์ทรมานเลย ผมไม่ได้เกิดมาด้วยความโกรธเกลียดใครมาแต่ปางก่อน แต่เรียนรู้ความโกรธเกลียดนั้นมาด้วยตัวผมเอง

 

S: ยังไงก็ตาม การเป็นเหมือนไข่ในหินของครอบครัวจากปารีสน่าจะทำให้คุณมีประสบการณ์อะไรที่ต่างไปจากคนอื่นอยู่บ้าง

JV: ครับ ผมรู้จักการเลือกปฏิบัติมาตั้งแต่วัยเด็ก ครั้งหนึ่ง ตอนอยู่ในมาดากัสการ์ ผมเห็นคู่รักชาวยุโรปตัวอ้วนเทอะทะนั่งอยู่ในรถสามล้อที่ลากโดยแรงของหนุ่มพื้นเมืองตัวผอมแห้งคนหนึ่ง พอพวกเขาอยากให้หยุด พวกเขาก็แค่เตะชายคนนั้น พวกเขาไม่ทำแบบนี้กับลาด้วยซ้ำไป ผมเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับความหมายของอาณานิคมมาตั้งแต่เด็กและรังเกียจมันตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของชีวิต

 

S: คุณนั่งเรือมายังยุโรปในปี 1942 และเข้าร่วมกับกองกำลังต่อต้านนาซีของฝรั่งเศส ทำไมคุณถึงทำแบบนั้น?

JV: ตอนปี 1942 ผมอายุย่าง 17 ปี ผมร่วมต่อต้านการยึดครองของนาซีกับกองกำลังเสรีฝรั่งเศส (Free French Forces) ของชาร์ลส์ เดอ โกลล์ เพราะผมต้องการปกป้องฝรั่งเศสที่มีคุณค่าและผมหวงแหน เช่น ฝรั่งเศสของมงแตญ[1] ของดิดเดอโรต์[2] ของโรแบสปิแยร์[3]และการปฏิวัติ ไม่ใช่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสที่ผมรังเกียจ ตอนนั้นผมชื่นชอบความคิดเกี่ยวกับการรับใช้เดอ โกลล์ หรือรับใช้ใครสักคนที่ถูกรัฐบาลฝรั่งเศสสั่งประหารชีวิตเอามาก ๆ พวกเราถูกฝึกอยู่ในอังกฤษกับแอลจีเรียและร่วมรบกันในอิตาลีกับฝรั่งเศส  

 

S: มันไม่อันตรายมาก ๆ เลยเหรอครับ

JV: แน่นอนครับ โดยหลักการแล้วมันอันตราย แต่ช่วงนั้นผมบาดเจ็บแค่ครั้งเดียว เป็นรอยแผลลึกลงไปในฝ่ามือ ตรงนี้ครับ ผมได้แผลนี้มาตอนกำลังเปิดฝาหอยนางรมกินบนเกาะโดเลรง (Île d’Oléron)

 

S: คงมีเทวดาคอยคุ้มครองคุณอยู่แน่ ๆ

JV: ตัวผมมีภูมิคุ้มกันกระสุนนะ จะพูดแบบนั้นก็ได้

 

S: คดีความใหญ่ ๆ ครั้งแรกของทนายหนุ่มอย่างคุณ คือคดีที่ดูไร้หวังอย่างการว่าความให้กับ ฌามิลา บูฮิเร็ด (Djamila Bouhired) นักรบกองกำลังต่อต้านแอลจีเรียที่ถูกฟ้องข้อหาวางระเบิดจนที่ทำให้พลเรือนเสียชีวิตไปหลายคน

JV: ผมอยู่ข้างเธอร้อยเปอร์เซ็นต์ เธอเป็นคนรักชาติบ้านเมือง ทั้งยังถูกทรมานอย่างสาหัสสากรรจ์ตอนอยู่ในเรือนจำ

 

S: ระหว่างการพิจารณาคดี คุณนำเสนอแผนการของการแตกหัก หรือ “defense de rupture” ซึ่งกำลังโด่งดังอยู่ในเวลานี้ขึ้นเป็นครั้งแรก หลักการนั้นว่าด้วยการแก้ต่างด้วยการโต้กลับทางการเมือง ทำไมคุณถึงใช้วิธีนี้?

JV: ทนายชาวฝรั่งเศสคนอื่น ๆ ที่รับว่าความในแอลเจียร์ต่างพยายามสร้างบทสนทนากับตุลาการฝ่ายทหาร พวกตุลาการเห็นว่ากองกำลังแนวหน้าปลดปล่อยแห่งชาติแอลจีเรีย (FLN) เป็นกลุ่มอาชญากร แต่ฝ่ายจำเลยชาวแอลจีเรียเห็นว่าการโจมตีของตนเป็นวิธีการที่จำเป็นในการต่อต้านเจ้าอาณานิคม พูดอีกอย่างคือไม่มีข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันในเชิงหลักการซึ่งจะถูกนำไปใช้พิจารณาตัดสินคดี สำหรับผม นั่นจึงหมายความว่าผมต้องย้ายเหตุการณ์ต่าง ๆ ออกไปนอกห้องพิจารณาคดีเพื่อหาเสียงสนับสนุนจากสาธารณะให้กับฝ่ายจำเลย

 

S: แล้วก็ได้ผลซะด้วย เพราะหลังจากที่คุณช่วยจัดการรณรงค์ในระดับนานาชาติขึ้นมาแล้ว บูฮิเร็ดซึ่งถูกพิพากษาประหารชีวิตก็ได้รับการปล่อยตัวและกลายเป็นภรรยาของคุณในที่สุด ในเดือนมีนาคม 1963 คุณเดินทางไปเมืองจีนกับเธอเพื่อร่วมดื่มชากับเหมา เจ๋อตุง คุณไปนัดพบกับท่านประธานเหมาได้ยังไงครับ

JV: ตอนนั้นผมทำหนังสือพิมพ์ชื่อ Révolution Africaine ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม FLN อยู่ในแอลจีเรีย ทางการจีนได้เชิญกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ให้เดินทางไปปักกิ่ง พวกเราพูดคุยหารือเกี่ยวกับการเมืองหลายประเด็นกันอย่างเคร่งเครียด แต่ด้านที่เป็นมนุษย์ของเหมาทำให้ผมประหลาดใจ มีอะไรบางอย่างที่เขาทำให้ผมประทับใจ ตอนที่เราคุยเรื่องซีเรียส ๆ กันอยู่ เขาถามผมว่าผมตั้งใจจะแต่งงานกับฌามิลารึเปล่า ผมตอบใช่ เขาบอกว่า “เอาเลย พวกคุณจะมีความสัมพันธ์ที่ยากลำบากแน่ ๆ แต่ความรักคือพลังของการทำลายล้าง”

 

S: คุณยังคงรู้สึกในแง่บวกกับเหมาอยู่หรือเปล่า แม้ว่าทุกวันนี้เราจะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการที่เขาต้องรับผิดชอบต่อความตายจากการขาดอาหารของคนกว่า 30 ล้านคน อันเป็นผลจากนโยบายก้าวกระโดดอันยิ่งใหญ่ (Great Leap Forward) ของเขาเอง

JV: ผมเชื่อว่าทุกคนมีข้อดีและข้อด้อย ผมโชคดีที่มีโอกาสได้รู้จักด้านที่ดีของเหมา เจ๋อตุง

 

S: คุณเคยพบเช เกบาราด้วย

JV: ใช่ครับ ที่ปารีส เขาเพิ่งกลับจากเดินทางไปสวิสเซอร์แลนด์ ภรรยาคนแรกของเขาทำงานอยู่ในกองบรรณาธิการของเรา เขาเป็นคนที่น่าชื่นชมและเต็มไปด้วยเสน่ห์ดึงดูดคนรอบตัว

 

S: หลังจากนั้นคุณเองตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าให้ความช่วยเหลือผู้ก่อการร้าย เรื่องนี้จริงหรือเปล่าครับ คุณเคยคิดจะร่วมต่อสู้กับลูกความของคุณเองบ้างไหม

JV: ผมเคารพสิ่งที่พวกเขาหลายคนทำ แต่ไม่คิดจะทำอะไรพวกนั้นด้วยตัวเองเลย

 

S: คุณเคารพผู้ก่อการร้าย? คุณอธิบายเรื่องนั้นกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีและมุมมองที่คุณมีต่อกฎหมายได้ยังไง

JV: ผมขอยกตัวอย่างแม็กดาเลนา คอปป์ (Magdalena Kopp) คู่ชีวิตของการ์โลส สาวเยอรมันที่เรียนจบด้านการถ่ายภาพและอยากทำงานเป็นนักข่าว แต่เธอทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลังและเดินทางไปยังตะวันออกกลางเพื่อร่วมต่อสู้กับผู้ถูกกดขี่ชาวปาเลสไตน์ เธอทำเพื่อคนอื่นอย่างเต็มที่ และผมไม่ได้รู้สึกอะไรจากการเห็นใจในสิ่งที่เธอทำ

 

S: แต่ในฐานะนักกฎหมาย คุณไม่ได้ล้ำเส้นเพราะความรู้สึกที่ว่านั้นหรอกเหรอครับ

JV:  เอาเข้าจริง ผมไม่แน่ใจว่าเส้นที่ว่านั้นหมายถึงอะไร ในฐานะทนายความ มันเป็นหน้าที่ที่ผมจะต้องแก้ต่างให้กับลูกความคนใดก็ตามโดยเฉพาะพวกที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาที่ร้ายแรงเอามาก ๆ อีกอย่าง ใช่ว่าผมจะเห็นด้วยกับการกระทำของพวกเขาซะที่ไหน ถ้าลูกความอย่างเคลาส์ บาร์บีมาขอให้ผมพูดสรุปถึงความยิ่งใหญ่ของชนชาติอารยัน ผมคงบอกเขาว่า “ขอโทษนะ ผมทำให้ไม่ได้ ผมเป็นนายแวร์แฌส์ ทนายความที่ได้รับใบอนุญาตจากปารีส ไม่ใช่โอเบอร์ชตวร์มบานน์ฟูห์เรอร์ (Obersturmbannführer) ไม่ใช่พันโทของหน่วยเอสเอส”

 

 

[1] มงแตญ (Montaigne, 1533-1592) นักเขียนคนสำคัญของฝรั่งเศสในยุคเรอเนสซองส์

 

[2] เดอนี ดิดเดอโร (Denis Diderot, 1713-1784) นักเขียนและนักปรัชญาคนสำคัญของยุคภูมิปัญญา เป็นบรรณาธิการและผู้ริเริ่มการจัดทำสารานุกรม Encyclopédie (1751-1772) ร่วมกับดาล็องแบร์ต (Jean le Rond d'Alembert)

 

[3] โรแบสปิแยร์ (Robespierre, 1758-1794) ทนายความและนักการเมือง หนึ่งในผู้นำการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 มีชื่อเสียงจากการนำฝรั่งเศสยุคหลังการปฏิวัติเข้าสู่ยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัว (La Terreur)

 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
ไซเฟอร์พังก์ (Cypherpunks) เชื่อว่าความเป็นส่วนตัว (privacy) คือสิ่งที่ดีและอยากให้โลกนี้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น พวกเขาเข้าใจว่าหากต้องการความเป็นส่วนตัว เราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง ไม่ใช่รอให้รัฐบาล บริษัท หรือองค์กรขนาดใหญ่ไร้ตัวตนเมตตามอบให้ ไซเฟอร์พังก์รู้ว่ามนุษย์ปกป้องความเป็นส่วนตัวของตัวเอง
Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา