Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์ (ตอนที่ 1)

Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์[1]
 สัมภาษณ์โดย คามิล อะห์ซัน

เจสัน ดับเบิลยู มัวร์ (Jason W. Moore) เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน (Binghamton University) หนังสือเล่มล่าสุดของเขาเรื่อง Capitalism in the Web of Life: Ecology and the Accumulation of Capital (Verso, 2015) เสนอบทวิเคราะห์ทุนนิยมในฐานะระบบนิเวศวิทยารูปแบบหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ

คามิล อะห์ซัน (Kamil Ahsan) เป็นนักเขียนอิสระและนักศึกษาปริญญาเอกด้านชีววิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยชิคาโก

คามิล: อะไรคือแรงกระตุ้นที่ทำให้คุณเขียนหนังสือเรื่อง Capitalism in the Web of Life: Ecology and the Accumulation of Capital

เจสัน: ผมอยากเสนอกรอบแนวคิดที่ช่วยให้เราทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมาให้มากเพียงพอสำหรับวิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ ตลอด 4 ทศวรรษหลัง เราทำความเข้าใจวิกฤตผ่าน “เลขคณิตแบบนักอนุรักษ์” (Green Arithmetic) พอเราเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม หรือวิกฤตชนิดอื่นๆ เราก็จับมันไปรวมกันที่หนึ่ง แล้วก็เอาวิกฤตทางนิเวศวิทยา ทั้งน้ำ พลังงาน และสภาพภูมิอากาศ แยกไปไว้อีกที่หนึ่ง

ฉะนั้นตลอดเกือบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา นักสิ่งแวดล้อมและนักเคลื่อนไหวแบบถึงรากคนอื่นๆ จึงเอาแต่ส่งสัญญาณเตือนถึงวิกฤตเหล่านี้ แต่กลับไม่เคยคิดออกเลยจริงๆ ว่า จะมองวิกฤตเหล่านี้ให้เชื่อมโยงกันได้อย่างไร นักคิดด้านสิ่งแวดล้อมชอบพูดอย่างทำอย่าง พวกเขาอ้างว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และบอกว่าทุกๆ อย่างในโลกสมัยใหม่ล้วนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของเรากับชีวาลัย (biosphere) แต่พอถึงเวลาต้องจัดการหรือวิเคราะห์อะไรสักอย่าง พวกเขากลับลดทอนทุกสิ่งให้เหลือเพียง “สังคมบวกกับธรรมชาติ” และทำราวกับว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองสิ่งไม่ได้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด

คามิล: ข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้คือเราจำเป็นต้องปฏิเสธแนวคิดที่แบ่งแยก ธรรมชาติกับสังคม ออกจากกัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในเวลานี้ แนวคิดนี้มีที่มาอย่างไร และทำไมมันจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องโดยสิ้นเชิง

เจสัน: แนวคิดที่มองว่ามนุษย์อยู่ภายนอกธรรมชาติมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มันเป็นผลผลิตของโลกสมัยใหม่ หลายอารยธรรมก่อนยุคทุนนิยมรับรู้ว่ามนุษย์นั้นแตกต่าง แต่ในศตวรรษที่ 16 17 และ 18 แนวคิดที่ทรงพลังเช่นนี้ปรากฏขึ้น แนวคิดที่ฝังรากอยู่ในความรุนแรงแบบจักรวรรดินิยม การริบที่ดินจากชาวนา และกระบวนการจัดองค์ประกอบของการเป็นมนุษย์ทั้งหมดทั้งมวล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจำแนกเชื้อชาติและเพศสภาพ แนวคิดที่มองว่ามีอะไรบางอย่างที่ อลัน สมิธ เรียกว่า “สังคมอารยะ” อันหมายรวมถึงผู้คนจำนวนหนึ่ง

แต่มนุษย์ส่วนใหญ่ยังคงถูกจัดประเภทให้อยู่ใน “ธรรมชาติ” ซึ่งถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมกำกับและถูกนำมาใช้งาน รวมทั้งถูกทำให้เป็นอารยะ นี่ดูเป็นเรื่องนามธรรม แต่โลกสมัยใหม่มีรากฐานอยู่บนความคิดที่ว่ากลุ่มของมนุษย์บางกลุ่มถูกเรียกว่า “สังคม” ขณะที่มนุษย์ส่วนใหญ่อยู่ในอีกที่หนึ่งที่เรียกว่า “ธรรมชาติ” นั่นเป็นความคิดที่ทรงพลังมาก มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียงเพราะนักวิทยาศาสตร์ นักวาดแผนที่ หรือเจ้าอาณานิคมลงความเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ดี แต่เกิดขึ้นเพราะกระบวนการอันกว้างไกลที่หลอมรวมตลาดกับอุตสาหกรรม จักรวรรดิกับวิธีการมองโลกแบบใหม่ๆ ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซปต์กว้างๆ ของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน

การมองธรรมชาติกับสังคมในลักษณะนี้หยั่งรากลงในคู่ตรงข้ามอื่นๆ ในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนายทุนกับแรงงาน ตะวันตกกับส่วนที่เหลือ ผู้ชายกับผู้หญิง คนขาวกับคนดำ อารยธรรมกับความป่าเถื่อน คู่ตรงข้ามอื่นๆ เหล่านี้ล้วนมีรากฐานมาจากคู่ตรงข้ามระหว่างธรรมชาติกับสังคมทั้งนั้น

คามิล: การปฏิเสธคู่ตรงข้ามที่ว่านี้มีความสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะต่อการทำความเข้าใจทุนนิยมใหม่ในฐานะสิ่งที่ถูก “ผลิตร่วมกัน” โดยมนุษย์กับธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือจากมนุษย์อย่างที่คุณว่าไว้

เจสัน: การเข้าใจว่าทุนนิยมถูกผลิตขึ้นร่วมกันโดยมนุษย์และธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ วิธีคิดทั่วไปเกี่ยวกับปัญหาในโลกของเราทุกวันนี้คือการจับเอาวิกฤตทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไปไว้รวมกันในหมวด “วิกฤตทางสังคม” แล้วแยกวิกฤตทางระบบนิเวศ ซึ่งก็คือสภาพภูมิอากาศและอื่นๆ ไว้อีกฝั่งหนึ่ง ทุกวันนี้ เราต่างกำลังตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเราไม่สามารถกล่าวถึงวิกฤตอันใดอันหนึ่งได้โดดๆ แต่นั่นคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดอยู่แล้ว

เราจำเป็นต้องก้าวข้ามคู่ตรงข้ามนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิกฤตในปัจจุบัน วิกฤตเพียงหนึ่งเดียวที่ปรากฏกายในหลายลักษณะ บางครั้งก็ดูเหมือนเป็นเรื่องทางสังคมล้วนๆ เช่นวิกฤตทุนนิยมการเงิน และบางคราวก็ดูเป็นเรื่องทางนิเวศวิทยาล้วนๆ เช่นความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ขึ้นบนโลกใบนี้ แต่จริงๆ แล้ว ทั้งสองเรื่องเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดในทุกทิศทางที่ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวสำคัญอย่างไร เราจะเริ่มมองเห็นว่าทำไมวอลล์ สตรีท จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการจัดระเบียบธรรมชาติ เราจะมองปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในทุกวันนี้ เช่น ความวุ่นวายในตลาดหุ้นจีนและสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าเกี่ยวโยงกับปัญหาที่ใหญ่กว่าเกี่ยวกับกับสภาพภูมิอากาศและชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้ในทิศทางที่แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์สายราดิคัลเองยังไม่อยากจะยอมรับ สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อการเมืองของเรา ปัจจุบันเรากำลังได้เห็นขบวนการเคลื่อนไหว เช่น ขบวนการเพื่อความเป็นธรรมทางอาหาร ที่บอกว่าพวกเราจำเป็นต้องเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ และความเปลี่ยนแปลงนั้นเกี่ยวข้องกับสิทธิด้านอาหารในทางนิเวศวิทยา รวมถึงในทางวัฒนธรรมและประชาธิปไตยด้วย สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

ปัญหาของ “เลขคณิตแบบนักอนุรักษ์” ที่มอง “สังคมบวกกับธรรมชาติ” อยู่ที่การแบ่งแยกแบบประหลาดๆ ระหว่างความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมกับความยุติธรรมทางสังคม ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมกับความยั่งยืนทางสังคม จักรวรรดินิยมทางนิเวศวิทยากับจักรวรรดินิยมทั่วๆ ไป ถึงแม้ใครก็ตามที่รู้ประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิย่อมรู้ดีว่ามันเป็นเรื่องการที่ “เราจะให้คุณค่ากับใคร” และ “เราจะให้ค่ากับคนกลุ่มไหนของสังคม” เสมอ เมื่อเราเลิกใช้คำคุณศัพท์โดยไม่เลือกแบบนี้ เราจะเห็นเองว่าจักรวรรดินิยมเป็นเรื่องของวิธีการต่างๆ ที่มนุษย์กับธรรมชาติสัมพันธ์กันเสมอ

ดังนั้น ในทางปฏิบัติ ผมจึงคิดว่าเราสามารถเริ่มสร้างพันธมิตรใหม่ให้กับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในส่วนต่างๆ ของโลกซึ่งถูกตัดขาดจากกันได้ เช่น พันธมิตรระหว่างขบวนการชาวนากับขบวนการแรงงาน ขบวนการสตรีนิยมกับขบวนการเพื่อความยุติธรรมทางเชื้อชาติ ทั้งหมดมีรากฐานร่วมกัน เหตุผลที่ว่าทำไมการรวบรวมสิ่งที่ผมเรียกว่า “การเผาผลาญเชิงเดี่ยว” (singular metabolism) ของมนุษย์ในโยงใยแห่งชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ก็เพราะมันเปิดโอกาสให้เราเริ่มเชื่อมโยงมิติทางสังคมกับมิติทางสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน

[1] แปลจาก Kamil Ahsan, “Capitalism in the Web of Life: Interview with Jason W. Moore,” Viewpoint September 28, 2015 https://viewpointmag.com/2015/09/28/capitalism-in-the-web-of-life-an-int...