*หมายเหตุ
มาร์ค ฟิชเชอร์ (Mark Fisher, 1968-2017) เป็นนักเขียนและอาจารย์ประจำภาควิชาวัฒนธรรมทางสายตา (Visual Cultures) มหาวิทยาลัยลอนดอน ฟิชเชอร์เป็นที่รู้จักจากงานเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีวัฒนธรรม การเมือง ดนตรี และวัฒนธรรมสมัยนิยม ทั้งในรูปของบทความ หนังสือเล่ม และข้อเขียนในบล็อกส่วนตัวที่มีชื่อว่า k-punk
ผลงานชิ้นสำคัญของเขาคือหนังสือเรื่อง Capitalist Realism: Is there no alternative? (2009) ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์อันแยบยลระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่กับแนวคิดเรื่อง “สัจนิยมของทุน” ที่ชวนให้เราเชื่อว่า โลกนี้ไม่มีทางเลือกอื่นใดเหลืออีกแล้ว นอกเหนือจากทุนนิยม
ฟิชเชอร์เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2017 ด้วยวัย 48 ปี ผู้แปลขออุทิศบทความแปลชิ้นนี้ให้กับฟิชเชอร์ ผู้เขียนหนังสือที่ทำให้ผู้แปลมองเห็นโลกต่างไปจากเดิม
.................................................................
ผมป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามาตั้งแต่วัยรุ่น อาการบางช่วงทำให้ผมอ่อนเพลียอย่างมาก ทั้งจากการทำร้ายตัวเอง เก็บเนื้อเก็บตัว (โดยที่ผมอาจใช้เวลาหลายเดือนอยู่แต่ในห้องและออกมาข้างนอกบ้างเพื่อไปรับเงินชดเชยจากการว่างงานหรือเพื่อซื้อหาอาหารให้พอทาน) และใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช ผมไม่ได้บอกว่าตัวเองดีขึ้นแล้ว แต่ผมยินดีที่จะบอกว่าเหตุการณ์ต่างๆ และความรุนแรงของโรคซึมเศร้าได้สอนผมหลายอย่างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ส่วนหนึ่งมันเป็นผลจากสถานการณ์ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของผมเอง แต่มันก็เกี่ยวข้องกับการที่ผมเข้าใจอาการและสาเหตุของการซึมเศร้าของตัวเองต่างไปจากเดิมด้วย ผมไม่ได้บอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการเจ็บป่วยทางจิตใจของตัวเองเพราะมันพิเศษหรือพิสดารอะไร แต่เพื่อสนับสนุนคำกล่าวที่ว่าเราจะเข้าใจถึงโรคซึมเศร้าหลากหลายรูปแบบได้ดีที่สุด – และต่อสู้กับมันได้ดีที่สุด – ด้วยการมองว่ามันเป็นเรื่องทางการเมืองและไม่ใช่เรื่องส่วนตัว มากกว่าจะมองว่ามันเป็นเรื่องส่วนบุคคลและเป็นเรื่องทาง “จิตวิทยา”
การเขียนถึงอาการซีมเศร้าของตัวเองเป็นเรื่องยาก โรคซึมเศร้าส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากเสียงเยาะเย้ย “ภายในหัวเรา” ซึ่งกล่าวหาว่าตัวเราเองหมกมุ่นอยู่กับการปรนเปรอตัวเองจนเกินพอดี – เอ็งไม่ได้ซึมเศร้าหรอก เอ็งแค่รู้สึกผิดกับตัวเอง ตั้งสติหน่อยสิ – และเสียงที่ว่านี้มีแนวโน้มจะถูกจุดชนวนขึ้นจากการบอกเล่าให้ใครต่อใครฟังถึงอาการของตัวเอง ไม่ต้องสงสัยว่าเสียงนี้ไม่ใช่เสียง “ภายในหัวเรา” เลยแม้แต่น้อย มันเป็นการแสดงออกของพลังทางสังคมที่ถูกทำให้เกิดขึ้นภายในตัวเรา พลังซึ่งบางครั้งชื่นชอบเหลือเกินที่จะปฏิเสธความเชื่อมโยงระหว่างโรคซึมเศร้ากับการเมือง
โรคซึมเศร้าของผมผูกโยงอยู่กับความเชื่อที่ว่าตัวผมเองเป็นคนไม่เอาถ่าน ผมใช้ชีวิตส่วนใหญ่จนถึงอายุ 30 ไปกับความเชื่อว่าผมคงจะไม่ทำงาน ตอนอายุยี่สิบกว่าๆ ผมสลับไปมาระหว่างการเรียนต่อ ว่างงาน และทำงานชั่วคราว ในแต่ละช่วงชีวิต ผมรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ที่ทางของผมเลย ช่วงเรียนต่อ ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นพวกไม่รู้อะไรจริงสักอย่างและเสแสร้งจนเอาตัวรอดมาได้ ไม่ได้เป็นนักวิชาการที่ดีพอ ช่วงที่ว่างงาน ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่คนว่างงานจริงๆ เหมือนคนอื่นที่กำลังหางานทำอยู่ แต่เป็นพวกเลี่ยงไม่อยากทำงานซะมากกว่า ช่วงที่ทำงานชั่วคราว ผมรู้สึกว่าตัวเองกำลังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์และไม่ว่ายังไงผมก็ไม่เหมาะกับงานออฟฟิซหรืองานในโรงงาน ไม่ใช่เพราะผม “ดีเกินไป” แต่กลับกัน เป็นเพราะผมได้รับการศึกษามากเกินไปและไร้ประโยชน์ที่จะเข้ามาแย่งงานของคนอื่นซึ่งต้องการและเหมาะกับมันมากกว่าผม แม้กระทั่งตอนที่อยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช ผมก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ซึมเศร้าอยู่จริงๆ เพียงแต่เลียนแบบอาการซึมเศร้าเพื่อจะได้ไม่ต้องทำงาน หรือถ้ามองด้วยตรรกะอันย้อนแย้งอย่างถึงที่สุดของโรคซึมเศร้าก็คือ ผมกำลังเลียนแบบอาการซึมเศร้าเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าผมไม่สามารถทำงานได้ และในสังคมนี้ไม่มีที่ทางให้ผมเลยแม้แต่นิดเดียว
สุดท้ายเมื่อผมได้งานเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งหนึ่ง ผมรู้สึกปลื้มใจอยู่ในช่วงสั้นๆ แต่โดยธรรมชาติแล้ว ความปลื้มใจนี้แสดงให้เห็นว่าผมไม่อาจสลัดความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ซึ่งไม่ช้าจะนำไปสู่อาการขั้นต่อไปของการซึมเศร้าออกไปได้เลย ผมขาดความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง ในระดับที่ไม่ได้ดิ่งลึกลงไปนัก เห็นชัดว่าผมเองยังไม่เชื่อว่าตัวเองจะสอนหนังสือได้ แต่ความเชื่อที่ว่านี้มาจากไหน? สำนักคิดชั้นนำทางจิตเวชศาสตร์มองว่าต้นตอของ “ความเชื่อ” ดังกล่าวอยู่ที่ความผิดปกติของสารเคมีในสมองซึ่งแก้ไขได้ด้วยการใช้ยา เป็นที่รู้กันดีว่านักจิตวิเคราะห์และนักบำบัดบางกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากจิตวิเคราะห์มองหาต้นตอของความเจ็บป่วยทางจิตใจในภูมิหลังของครอบครัว ในขณะที่การบำบัดพฤติกรรมทางการรู้คิดไม่ค่อยสนใจมองหาต้นตอของความรู้สึกแง่ลบ แต่มักแทนที่มันง่ายๆ ด้วยเรื่องราวในแง่บวก โมเดลเหล่านี้ไม่ได้ผิดทั้งหมด เพียงแต่พวกมันไม่เข้าใจ – และต้องไม่เข้าใจ – ถึงสาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุดของความรู้สึกว่าตัวเองช่างต่ำต้อย นั่นก็คืออำนาจทางสังคม อำนาจที่ส่งผลกระทบต่อตัวผมมากที่สุดคืออำนาจทางชนชั้น ถึงแม้ว่าเพศสภาพ ชาติพันธุ์ หรือการกดขี่ในรูปแบบอื่นย่อมจะทำงานด้วยการผลิตความรู้สึกต่ำต้อยทางภววิทยาในลักษณะเดียวกัน ซึ่งแสดงออกได้ดีที่สุดผ่านความคิดที่ผมบอกเล่าไปข้างต้น นั่นคือความคิดที่ว่าเราไม่ใช่คนที่จะสามารถทำหน้าที่ที่จัดสรรไว้ให้ชนชั้นนำได้อย่างสมบูรณ์
ด้วยการรบเร้าของหนึ่งในผู้อ่านหนังสือของผมเรื่อง Capitalist Realism ผมจึงเริ่มสำรวจงานเขียนของเดวิด สเมล (David Smail) สเมล นักบำบัดผู้ที่ทำงานโดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับคำถามว่าด้วยอำนาจ ยืนยันสมมติฐานเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่ผมมุ่งหน้าไปหามันด้วยความทุลักทุเล ในหนังสือเล่มสำคัญเรื่อง The Origins of Unhappiness สเมลอธิบายว่าเหตุใดเราจึงไม่อาจลบสิ่งตีตราทางชนชั้นออกไปได้ สำหรับคนที่ถูกสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กให้คิดว่าตัวเองต่ำต้อย การได้มาซึ่งคุณวุฒิหรือทรัพย์สินเงินทองยากจะลบสิ่งตีตราออกจากใจตนเองหรือผู้อื่น ความรู้สึกแรกเริ่มถึงความไร้ค่าได้ตีตราพวกเขาไว้ตั้งแต่วัยเยาว์ ผู้ที่หลุดออกไปจากอาณาบริเวณทางสังคมที่พวกเขา “ควร” อยู่มักเสี่ยงที่จะถูกครอบงำด้วยความรู้สึกสับสน ตื่นตระหนก และหวาดกลัว “… โดดเดี่ยว ถูกตัดขาด ห้อมล้อมด้วยพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย คุณจะขาดการเชื่อมโยงกับผู้อื่น ไร้ซึ่งความมั่นคง ไม่มีอะไรให้ยึดเหนี่ยวได้ถนัดมือ คุณจะถูกครอบงำด้วยความไม่เป็นจริงที่น่าคลื่นเหียนและเวียนหัว รู้สึกตกอยู่ในอันตรายจากการสูญเสียอัตลักษณ์ไปโดยสิ้นเชิง จากความรู้สึกถึงความหลอกลวงทั้งเพ คุณไม่มีสิทธิ์จะอยู่ที่นี่ ตอนนี้ อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ แต่งตัวแบบนี้ คุณมันไร้ค่า และสิ่งที่คุณรู้สึกว่าคุณจะกลายเป็นจริงๆ ก็คือ “สิ่งที่ไร้ค่า””
นานมาแล้ว หนึ่งในกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของชนชั้นปกครองก็คือการผลักภาระความรับผิดชอบให้คนแต่ละคน (responsibilisation) สมาชิกของชนชั้นใต้ปกครองแต่ละคนถูกส่งเสริมให้รู้สึกว่าความยากจนข้นแค้น ขาดไร้ซึ่งโอกาส หรือการตกงานเป็นความผิดของตัวพวกเขาเอง ของพวกเขาเองล้วนๆ แต่ละคนจะกล่าวโทษตัวเองมากกว่าโทษโครงสร้างทางสังคม ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็มักจะถูกชี้ชวนให้เชื่อว่ามันไม่มีอยู่จริง (โครงสร้างทางสังคมเป็นเพียงข้ออ้างของคนอ่อนแอ) สิ่งที่สเมลเรียกว่า “การเชื่ออย่างลมๆ แล้งๆ ว่าคิดอย่างไรก็ได้อย่างนั้น” (magical voluntarism) ซึ่งหมายถึงความเชื่อที่ว่าปัจเจกแต่ละคนมีอำนาจที่จะบันดาลให้ตัวเองเป็นอะไรก็ได้ที่ตนอยากเป็น เป็นอุดมการณ์ครอบงำและเป็นศาสนาอย่างไม่เป็นทางการของสังคมทุนนิยมร่วมสมัย ซึ่งได้รับการผลักดันโดย “ผู้เชี่ยวชาญ” ในรายการเรียลลิตี้ทางโทรทัศน์และกูรูทางธุรกิจ รวมถึงบรรดานักการเมือง การเชื่ออย่างลมๆ แล้งๆ ว่าคิดอย่างไรก็ได้อย่างนั้นเป็นทั้งผลลัพธ์และสาเหตุของสำนึกทางชนชั้นที่ลดน้อยถอยลงจนถึงจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์ดังที่เป็นอยู่ในตอนนี้ มันเป็นด้านกลับของโรคซึมเศร้าซึ่งวางอยู่บนความเชื่อพื้นฐานว่าพวกเราทุกคนต่างต้องรับผิดชอบต่อความทุกข์ยากของตัวเองเพียงลำพัง ดังนั้นจึงสมควรแล้วที่พวกเราจะเป็นแบบนี้ ปัจจุบัน ผู้ที่ว่างงานระยะยาวในสหราชอาณาจักรกำลังเจอกับสิ่งที่แสนชั่วร้ายทั้งขึ้นทั้งล่อง กล่าวคือผู้คนที่ถูกบอกมาทั้งชีวิตว่าเป็นคนที่ไร้ค่ากำลังถูกบอกไปพร้อมๆ กันว่าสามารถทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองอยากจะทำ
เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าการสยบยอมในชะตากรรมของชาวสหราชอาณาจักรต่อนโยบายรัดเข็มขัดเป็นผลพวงของโรคซึมเศร้าที่ปลูกฝังขึ้นด้วยความจงใจ โรคซึมเศร้านี้ปรากฏให้เห็นผ่านการยอมรับว่าสิ่งต่างๆ มีแต่จะแย่ลง (สำหรับทุกคน เว้นแต่ชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ) ยอมรับว่าพวกเราโชคดีแค่ไหนแล้วที่มีงานทำ (ดังนั้นจึงไม่ควรหวังว่าค่าแรงจะเพิ่มขึ้นเร็วพอๆ กับเงินเฟ้อ) และยอมรับว่าเราไม่มีปัญญาร่วมกันสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาได้ โรคซึมเศร้ารวมหมู่เป็นผลลัพธ์ของการเหยียบย่ำซ้ำเติมของชนชั้นปกครอง นานมาแล้วที่เราต่างยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเราไม่ใช่คนที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ นี่ไม่ใช่เรื่องความล้มเหลวของเจตจำนง เช่นเดียวกับการที่ผู้ซึมเศร้าสักคนหนึ่งจะ ‘บังคับให้ตัวเองรู้สึกเป็นปกติ’ ด้วยการ ‘พยายามให้มากขึ้น’ การสร้างสำนึกทางชนชั้นขึ้นมาใหม่เป็นงานหิน เป็นภารกิจซึ่งไม่อาจบรรลุได้ด้วยการอาศัยสูตรสำเร็จ แต่กระนั้นก็สามารถทำให้เป็นจริงได้ไม่ว่าโรคซึมเศร้ารวมหมู่จะบอกเราอย่างไร การสร้างสรรค์การมีส่วนร่วมทางการเมืองรูปแบบใหม่ๆ การรื้อฟื้นสถาบันที่เสื่อมโทรมไปแล้วกลับมาอีกครั้ง การแปรความไม่พอใจที่ถูกทำให้เป็นเรื่องส่วนตัวให้กลายเป็นความโกรธเกรี้ยวที่มีนัยทางการเมือง ทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ใครเลยจะรู้ว่ามันจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง.
*แปลจาก Mark Fisher. "Good For Nothing." The Occupied Times. March 19, 2014 Available from https://theoccupiedtimes.org/?p=12841 (accessed Jan 16, 2017).
ภาพ: Mary Lock/Flickr CC BY-NC-ND 2.0