หลายสัปดาห์ก่อน ผมแปลบทความเรื่อง 'โรคซึมเศร้ากับอำนาจทางสังคม' ของมาร์ค ฟิชเชอร์ นักเขียนชาวอังกฤษที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ในบทความสั้นๆ ชิ้นนั้น ฟิชเชอร์ชี้ชวนให้เราคิดถึงโรคซึมเศร้า (หรือบางคนแย้งว่าควรเรียกว่า 'อาการซึมเศร้า' มากกว่า) ในลักษณะใหม่ เขาเสนอว่าการซึมเศร้าไม่ใช่ผลพวงของการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองเพียงอย่างเดียว แต่ยังสัมพันธ์กับสังคมการเมืองที่เราอาศัยอยู่ด้วย
ฟิชเชอร์เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
"โรคซึมเศร้าส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากเสียงเยาะเย้ย “ภายในหัวเรา” ซึ่งกล่าวหาว่าตัวเราเองหมกมุ่นอยู่กับการปรนเปรอตัวเองจนเกินพอดี [...] ไม่ต้องสงสัยว่าเสียงนี้ไม่ใช่เสียง “ภายในหัวเรา” เลยแม้แต่น้อย มันเป็นการแสดงออกของพลังทางสังคมที่ถูกทำให้เกิดขึ้นภายในตัวเรา (internalised expression of actual social forces)"
ผมคิดเล่นๆ ตอนนั้น และคิดจริงจังขึ้นในตอนนี้ว่าคำอธิบายเรื่อง internalised expression นี่มันคลับคล้ายคลับคลากับคำอธิบายทางพุทธศาสนาดีเหลือเกิน
ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาพุทธ ความรู้งูๆ ปลาๆ ต่อไปนี้ได้มาจากการอ่านตำราทางศาสนาต่างๆ ซึ่ง 'พุทธ' ที่ผมพูดถึงน่าจะอิงกับพุทธแบบเถรวาทบ้านเราเป็นหลัก ผมวงเล็บภาษาอังกฤษไว้หลังคำบางคำเพราะเดาว่าจะช่วยให้เข้าใจมากกว่าคำภาษาบาลีสันสกฤต
คำอธิบายของฟิชเชอร์ทำให้ผมนึกถึงหลักคิดทางพุทธศาสนา ซึ่งให้คำอธิบายเกี่ยวกับเจตสิก (Mental factors) 3 ประการ อันประกอบด้วยความรู้สึก (เวทนา) กระบวนการรู้คิด/รับรู้ (สัญญา) กิจกรรมทางจิต (สังขาร์) ในลักษณะที่คล้ายๆ กันนี้เช่นกัน
เจตสิกทั้ง 3 อย่างนี้เป็นส่วนหนึ่งของ 'ขันธ์ 5' (five aggregates) หรือองค์ประกอบทั้ง 5 ประการที่ก่อให้เกิดการสภาวะดำรงอยู่ของเรา
'ขันธ์ 5' วางอยู่บนหลักการพื้นฐานที่คุ้นเคยกันดี นั่นคือทุกสิ่งที่เราคิดว่า 'มีอยู่' ไม่เว้นกระทั่งตัวตนของเรา แท้จริงกลับไม่ 'มีอยู่' จริง สภาวะที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ล้วนเป็นอนิจจัง (impermanence) คือผันแปรไปตลอดเวลา และเป็นอนัตตา (no essence) คือไม่ได้มีแก่นแท้ใดๆ อยู่จริง
ทว่าเรารับรู้ถึงได้มันโดยอาศัยผัสสะที่ปะทะสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ภายนอก จนประกอบขึ้นเป็นความรับรู้ถึงตัวเรา ทั้งทางวัตถุ (รูป) และทางจิต (วิญญาณ) แต่ตัวเรา (อัตตา) ที่ถูกรับรู้ว่ามีอยู่ ดำรงอยู่ ราวกับเป็นสิ่งที่มีแก่นสารในตัวเองนั้นกลับไม่ใช่อะไรนอกจากสิ่งลวงตา
เมื่อเราเจ็บ เราโกรธ เราคิด เราจำ สิ่งเหล่านั้นอาจเกิดขึ้นจริงๆ ในทางประสบการณ์ เนื่องจากผัสสะอันเปรียบเหมือนสะพานเชื่อมโยงเราเข้ากับสิ่งภายนอกบางอย่าง เช่น เตะโต๊ะจึงเจ็บจริง ได้ยินผู้คนนินทาจึงปวดร้าวจริง คิดถึงการเยาะเย้ยถากถางจึงกล่าวตอบโต้จริง มองเห็นตุ๊กตาจึงจำได้ว่าเป็นของคนรักเก่าจริง
ทว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยมีเหตุปัจจัย (ปฏิจจสมุปบาท) มาประสมกัน และหากปราศจากปัจจัยเหล่านี้ก็ย่อมไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความเจ็บ ความโกรธ ความคิด ความ 'ทรง' จำดำรงอยู่จริงในที่ไหนๆ เลย แม้แต่ภายในตัวเรา
สิ่งที่ยืนยันความไม่มีของของเหล่านี้ได้ดีก็คือ พวกมันตั้งอยู่และไม่ช้าจะดับไป และเมื่อเกิดความสัมพันธ์ขึ้นอีกครั้ง มันก็จะเกิดขึ้นใหม่ วนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ
เมื่อของเหล่านี้มันไม่ได้เกิดขึ้นถาวรและไม่มีดำรงอยู่โดยตัวมันเอง มันจึงเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นโดยผัสสะที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก สิ่งที่ดูดำรงอยู่ในโลกทางประสบการณ์จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีเงื่อนไขหรืออยู่ภายสภาวะแวดล้อมบางอย่าง และเกิดขึ้นภายในกาลเวลาเสมอ (temporal conditioned things)
ปัญหาที่พุทธศาสนาชี้ให้เห็นคือ 'เรา' ซึ่งก็ไม่มีอยู่จริง กลับถูกหลอกลวงโดยผัสสะต่างๆ ว่า การเกิดขึ้นของอาการเหล่านั้นอยู่ภายในตัว 'เรา' ทั้งที่จริงๆ แล้ว มันสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างปฏิเสธไม่ได้
เราคิดถึงเสียงภายในหัวเรา จิตใจภายในตัวเรา ความคิดภายในสมองเรา ทุกสิ่งอยู่ในเรา เรารับรู้จึงมันได้ เราคิดถึงมันได้ เราสัมผัสถึงมันได้ เราจึง 'มีอยู่' มีตัวตน มีอัตตา
แต่หากเราค่อยๆ ถอดปัจจัยต่างๆ ออกไปในลักษณะเดียวกับการปลอกหัวหอมไปทีละชั้น ทีละชั้น เช่น เราตัดความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง พ่อแม่พี่น้อง ตัดความสัมพันธ์จากทุกๆ คนและทุกๆ สิ่งออกไปจนเหลือน้อยที่สุด เราจะพบว่ากระทั่งตัวตนของเราที่รับรู้ว่าเป็นเรายากจะ 'มีอยู่' ได้
เราที่ไม่ได้เป็นมิตรสหาย ไม่ได้ผูกเชิงเครือญาติกับใคร ไม่ได้รู้จัก ไม่พบเห็น ไม่สัมผัสสิ่งใดๆ และดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว จะเป็นตัวเราเช่นที่เราคิดว่าเราเป็นทุกวันนี้ได้มากเพียงใดกัน?
เราเป็นตัวเราได้ ก็เพราะอาศัยเส้นด้ายล่องหนที่คอยผูกโยงผัสสะให้สัมพันธ์ต่อกันและกัน
ยิ่งรัดแน่นก็ยิ่งคิดไปว่ามีอยู่ ยิ่งรัดแน่นก็ยิ่งคิดว่าเป็นของเรา (พ่อแม่ของเรา ลูกของเรา เพื่อนเราของเรา คนรักของเรา ฯลฯ) เมื่ออีกส่วนหนึ่งสูญหายไปตามธรรมชาติ บางส่วนของเราจึงสูญหายไปด้วย นั่นเป็นเหตุผลให้เราเจ็บปวด
ผมคิดว่า คำอธิบายเรื่องการปรากฏตัวขึ้นภายในของเจตสิกทั้ง 3 ประการ สอดคล้องกับข้อเสนอว่าด้วย 'การแสดงออกของพลังทางสังคมที่ถูกทำให้เกิดขึ้นจริงภายในตัวเรา' ของฟิชเชอร์เป็นอย่างยิ่ง
แม้สองแนวทางจะมีทางออกให้กับปัญหานี้ต่างกัน แต่ทั้งสองเห็นประเด็นเดียวกัน นั่นคือ ความเจ็บปวดและความรู้สึกซึมเศร้ามีที่มาที่ไปที่ซับซ้อน เกินกว่าจะเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองเพียงอย่างเดียว
ความทุกข์และความรู้สึกว่าเราเป็นคนไม่เอาไหน ไปอยู่ที่ไหนๆ ก็ไม่ใช่ที่ของเรา หรือเห็นว่าตัวเองไม่ควรมีชีวิตหรือไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นไม่ได้ในที่โลกมีแต่ 'เรา' แต่ไม่มีอะไรอื่นอีกเลย ไม่สัมพันธ์กับอะไรเลย แม้แต่เวลาและอวกาศ ยังไม่นับว่าในโลกแบบนั้น แม้แต่ความรู้สึกถึง 'เรา' ก็อาจจะไม่มีอยู่เลยในทางประสบการณ์
น่าสังเกตว่าการถูกทำให้เชื่อว่าสิ่งต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นภายในตัวเรายังทำงานสอดคล้องกับอุดมการณ์ที่คอยขับเคลื่อนสังคมแห่งการแข่งขันแบบเสรีนิยมใหม่ ที่เห็นว่าทุกคนเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตของตัวเองอย่างเต็มที่ ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขปัญหาใดๆ ก็ต้องเริ่มต้นและจบลงที่ตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโลก ไม่จำเป็นต้องแก้ไขเงื่อนไขทางสังคมที่เป็นเหตุปัจจัยขององค์ประกอบของการดำรงอยู่ของตัวเรา
ฟิชเชอร์เขียนไว้ในตอนท้ายบทความชิ้นนี้ว่า
"หนึ่งในกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของชนชั้นปกครองก็คือการผลักภาระความรับผิดชอบให้คนแต่ละคน (responsibilisation) สมาชิกของชนชั้นใต้ปกครองแต่ละคนถูกส่งเสริมให้รู้สึกว่าความยากจนข้นแค้น ขาดไร้ซึ่งโอกาส หรือการตกงานเป็นความผิดของตัวพวกเขาเอง [...] พวกเราทุกคนต่างต้องรับผิดชอบต่อความทุกข์ยากของตัวเองเพียงลำพัง ดังนั้นจึงสมควรแล้วที่พวกเราจะเป็นแบบนี้"
ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด พุทธศาสนาเสนอทางออกว่า ถึงที่สุดแล้ว เมื่อความรู้สึกทุกข์ยากล้วนเป็นสิ่งปรุงแต่ง วิถีแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์ยากนี้ก็คือการเล็งเห็นถึงธรรม(ชาติ)อันเป็นอนิจจังและอนันตาของมันและของทุกสิ่ง
แต่ภายใต้ระบอบเศรษฐกิจและสังคมที่พร้อมจะขับเน้นความเป็น "ไอ้ขี้แพ้" ให้กลายเป็นสำนึกที่ติดตัวใครบางคนไปตลอดชีวิต ต่อให้ความทุกข์ยากจากประสบการณ์ของการถูกกดขี่และถูกบีบให้แข่งขันอย่างไม่สิ้นสุดจะไม่มีอยู่จริงในทางอภิปรัชญา แต่มันกลับเป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นจริงในระดับของประสบการณ์
สำหรับหลายคน ทุกข์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตั้งอยู่ยาวนาน และดับไปได้ยากเย็นแสนเข็ญ ในเมื่อเขาจำเป็นต้องสัมพันธ์กับโลกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่โลกที่ว่านั้นกลับเป็นโลกที่ค่อยๆ บั่นทอนความหมายของการมีชีวิต และลดคุณค่าของการดำรงอยู่ของตัวเขาลงเรื่อยๆ
สิ่งนี้ไม่ใช่หนทางไปสู่การหลุดพ้นจากอัตตา แต่เป็นการส่งเสริมให้อัตตายิ่งชัดเจนขึ้น เพราะฉันเจ็บปวด ฉันเป็นทุกข์ ฉันทรมาน
ในขณะที่พุทธศาสนาดูจะให้น้ำหนักเป็นพิเศษกับการไม่มีอยู่จริงในความหมายแรกในฐานะเป้าหมายสูงสุด สำหรับฟิชเชอร์ การมีอยู่ในระดับประสบการณ์ทางวัตถุก็เพียงพอแล้วจะเป็นสาเหตุให้เราต่อสู้เพื่อเปิดโปงอุดมการณ์ผิดๆ ที่ชวนให้เราคิดไปเองว่า สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นภายในตัวเรา ฉะนั้นต้องแก้ไขปัญหาที่ตัวเราเท่านั้น โดยละเลยสิ่งสำคัญที่สุดที่แม้แต่พุทธศาสนาเองก็ไม่ได้ปฏิเสธ
นั่นคือการตั้งคำถามกับ ความสัมพันธ์ของ 'เรา' กับโลกภายนอก ซึ่งประกอบขึ้นเป็นเหตุปัจจัยขององค์ประกอบของการดำรงอยู่ของเราเอง
การแก้ไขทุกข์เชิงประสบการณ์ทางวัตถุดูจะเป็น 'คนละเรื่องเดียวกัน' กับการขจัดทุกข์ในทางอภิปรัชญาซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การหลุดพ้นจากการยึดมั่นต่างๆ นานา
ในทางกลับกัน การเรียกร้องให้ผู้คนแก้ไขปัญหาของชีวิตทุกอย่างด้วยตัวเองโดยอาศัยหลักปรัชญาและศาสนาใดๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงว่า โลกทางวัตถุไม่ได้เอื้อต่อการหลุดพ้นของทุกๆ คนเสมอไป มิหนำซ้ำ มันยังมีส่วนอย่างยิ่งในการขับเน้น ประสบการณ์อันเลวร้ายให้ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ 'เกิดขึ้นจริงภายในตัวเรา' โดยแยกขาดจากโลก จึงดูจะเป็นคำเทศนาที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในทางการเมือง มากกว่าในทางจิตวิญญาณ