Skip to main content

ภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=s09c4QJ7j3o

"Multiculturalism is a disavowed, inverted, self-referential form of racism, a 'racism with a distance'"- Slavoj Zizek

-1-

ผมเพิ่งได้อ่านบทความสั้นๆ เรื่อง "เหยียดในเหยียด เหยียดซ้ำหยามซ้อน : ปัญหาของการห้ามเหยียด" ใน The Matter ส่วนที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ รวมทั้งจุดที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมีหลายคนเขียนตอบโต้ไปเกือบทั้งหมดแล้วทั้งในสเตตัส คอมเมนต์ และบางคนบอกว่ากำลังเขียนออกมาเป็นบทความอยู่ ผมจึงไม่ขอเถียงด้วยในที่นี้

ส่วนเดียวที่ผมไม่เห็นด้วยมากๆ และคิดว่ายังไม่ค่อยมีใครพูดถึง คือข้อสรุปตอบท้ายของบทความนี้ ซึ่งเสนอว่า

"เราไม่อาจหลีกหนีจากการเหยียดทางใดทางหนึ่งพ้น ฉะนั้นผมอยากจะเสนอแนวทางของสลาวอย ชิเช็ก นักปรัชญาชื่อดังชาวสโลวีเนียมากกว่า คือ ในเมื่อมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะ ‘ไม่เหยียด’ ก็ควรเปลี่ยนมาเป็น “เหยียดทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน” ดีกว่า จะไอ้คนดำ ไอ้คนขาว ไอ้โจรแคระ ไอ้ลิงเหลือง ก็เหยียดมันให้หมดอย่าให้เหลือไปครับ"

ในฐานะที่พออ่านชิเช็กอยู่บ้าง แม้จะไม่ได้สนใจ racist jokes และประเด็นเรื่อง political correctness (pc) ของเขานัก ผมคิดว่า ข้อสรุปของบทความนี้เป็นการอ่านชิเช็กที่ค่อนข้างผิดฝาผิดตัวเอามากๆ มากจนลดทอนความซับซ้อนของชิเช็กให้กลายเป็นพวกสนับสนุนการเหยียดด้วยแววตาดูถูกเหยียดหยาม

ผมคิดว่าข้อเสนอในย่อหน้านี้เป็นข้อเสนอของผู้เขียนบทความที่ดัดแปลงขึ้นจากความคิดดั้งเดิมของชิเช็ก ไม่ใช่ข้อเสนอของตัวชิเช็กเอง ผมจะชี้ให้เห็นต่อไปว่าทำไมผมถึงคิดแบบนั้น

 

-2-

ใครที่อ่านหรือฟังชิเช็กอยู่บ้างคงรู้กันดีว่า ชิเช็กโจมตี 'พหุวัฒนธรรมนิยม' (mc) และ pc อยู่เสมอด้วยหลายเหตุผล แต่ชิเช็กเป็นพวกสนับสนุน universal racism (ur) หรือการเหยียดกันไปเหยียดกันมาอย่างเท่าเทียมด้วยหรือเปล่า ตรงนี้น่าสงสัยมาก

จากประสบการณ์การอ่านของผม ผมคิดว่าชิเช็กไม่เคยเสนอให้เราทำแบบนั้น

ประเด็นหลักอย่างหนึ่งที่ชิเช็กใช้โจมตี mc และ pc ก็คือ ทั้งสองอย่างนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของ racism เพราะทั้ง mc และ pc คอยแต่เรียกร้องให้เรา 'รักษาระยะห่าง' และเคารพต่อความเป็นอื่นโดยไม่จำเป็นต้องแยแสว่า ภาพลักษณ์ที่เรามีต่อความเป็นอื่นนั้นเกิดขึ้นจากอะไร เป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ และ 'มีความเป็นอื่น' อื่นๆ ในความเป็นอื่นนั้นหรือเปล่า

โอเค นั่นคนดำ อย่าล้อคนดำ ไม่ต้องคิดอะไรมากกว่านั้น
โอเค หนังเรื่องนี้มีนักแสดงที่เป็นคนขาว คนดำ ละติโน และคนเอเชียครบหรือยัง? ครบแล้ว ทำดี ไม่ต้องคิดอะไรมากกว่านั้น

สิ่งที่เราถูกเรียกร้องให้ต้องทำคือ เคารพวัฒนธรรมอื่นๆ หรือคนอื่นๆ อย่างที่เราคิดว่าเขาเป็น โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือรักษาระยะห่างเอาไว้ 

ด้วยวิธีนี้ บางคนจึงรู้สึกเจ็บปวดเมื่อต้องพบว่า ความจริงของวัฒนธรรมนั้นๆ ซับซ้อนกว่าที่เราเคยเห็น เมื่อวัฒนธรรมเหล่านั้นไม่ได้สดใส น่ารัก หรืองดงาม ไม่ต่างจากคนเมืองที่อกหักเมื่อพบว่าชนบท 'เปลี่ยนไป'

หรือเมื่อความเหยียดที่ถูกเก็บกดไว้ในใจของเราเริ่มทำงาน

สำหรับชิเช็ก สิ่งร้ายแรงกว่าการเหยียดนานา ก็คือการเชิดชูบูชาวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างเกินจริง โดยไม่ได้สนใจจะรู้จักมันอย่างที่มันเป็น เพิกเฉยต่อความแตกต่าง ความขัดแย้ง หรือปัญหาภายในวัฒนธรรมนั้นๆ

และถึงที่สุด ไม่เห็นว่าคนพวกนั้นเป็นมนุษย์จริงๆ เพราะมนุษย์จริงๆ ย่อม 'ระยำ' ได้

 

-3-

่การรักษาระยะห่างเป็นปัญหาอย่างไร?

มันเป็นปัญหาก็เพราะว่า ทุกครั้งที่เราเคารพคนอื่น แต่ดันไม่กล้าเข้าไปใกล้ชิดกับเขา เรากำลังบ่มเพาะความรังเกียจคนเหล่านั้นขึ้นในใจ เพียงแต่เก็บกักไว้และไม่ยอมแสดงออกมา

นอกจากนั้น การรักษะระยะห่างทำให้เราไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้ว พวกเขาเป็นอย่างไร และในหมู่พวกเขาเองแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เราเห็นพวกเขาเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน และเคารพภาพลักษณ์ที่หยุดนิ่ง ตายตัว และบิดเบือน ที่สังคมเราช่วยกันสร้างมันขึ้นมา

ชิเช็กไม่ได้บอกให้เราเหยียดทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่ตั้งข้อสังเกตว่า เงื่อนไขที่ทำให้ racism เป็นไปได้ ก็คือการที่แต่ละฝ่ายรักษาระยะห่างจากกัน ฉะนั้น เราจึงแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการสร้างความใกล้ชิดที่แท้จริงระหว่างเรากับ 'คนอื่น'

ความใกล้ชิดนี้สร้างขึ้นได้ง่ายที่สุดด้วยการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุกตลกโปกฮา หรือถ้อยคำหยาบคายต่อกัน โดยคำหยาบคายนี้ต้องทำหน้าที่เพื่อก่อให้เกิด 'ความสนิทชิดเชื้ออย่างแท้จริง' (true proximity) ไม่ใช่สักแต่ด่าและเหยียดคนอื่นว่า "ไอ้คนดำ ไอ้คนขาว ไอ้โจรแคระ ไอ้ลิงเหลือง" ด้วยความเกลียดชัง

ชิเช็กเรียกสิ่งนี้ว่า 'progressive racism' ซึ่งโดยตัวมันเองแล้ว เป็นคนละเรื่องกับ 'racism'

ชิเช็กยอมรับว่า อย่างน้อย pc ก็ย่อมดีกว่า racism และไม่ได้สนับสนุนให้เราเดินดุ่มๆ ออกไปด่าชาวบ้าน ไปเหยียดทุกๆ คนที่เดินผ่านหน้า เพื่อความเท่าเทียม

แต่จุดยืนแบบ pr คือการตระหนักว่า

1. ถ้าปัญหาของ racism คือการเหยียด กีดกัน และรักษาระยะห่าง

2. ปัญหาของ  pc คือเก็บกดการเหยียด แต่ยังคงรักษาระยะห่าง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ racism ยังคงดำรงอยู่ได้

ดังนั้น ทางออกเดียวจึงต้องเป็นการพยายามทำความเข้าใจและเข้าไปใกล้ชิดกับ 'คนอื่น' ในสายตาเรา และเราจะใกล้ชิดกับใครจริงๆ ไม่ได้เลย หากความสัมพันธ์นั้นไม่ปะปนไปด้วยมุกตลกเล็กๆ น้อยๆ ที่มีเนื้อหา political incorrectness แต่ไม่ได้กระทำไปด้วยความดูถูกเหยียดหยาม

 

-4-

ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับชิเช็กหรือไม่ แต่สิ่งที่ชิเช็กเรียกร้องไม่ใช่ universal racism ในความหมายว่า เมื่อเราเลิกเหยียดไม่ได้ จึงต้องเหยียดกันให้ถึงที่สุด ให้ตายกันไปข้างหนึ่ง

หากแต่เป็น '(universal) friendly obscenities for constructing the true intimacy with each other' ผมแปลเป็นไทยอย่างเร็วๆ ว่าเป็น 'การใช้ถ้อยคำหยาบคายอย่างเป็นมิตรเพื่อสร้างความใกล้ชิดที่แท้จริงระหว่างกัน'

การสร้างความใกล้ชิดด้วยวิธีการนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และใช่ว่าทุกคนจะทำได้ในทันที ดังนั้น มันจึงต้องอาศัยฝีมือและความสามารถมากมายเหลือเกิน (a great art) ในการเอาชนะการเหยียดนานารูปแบบที่เกิดขึ้นจากความเขลา (ไม่รู้) และความขลาด (ไม่กล้าที่จะเข้าไปใกล้ชิด) ของเราที่มีต่อ 'คนอื่น' 

ชิเช็กไม่ได้สนับสนุนโลกที่ทุกคนยอมแพ้ให้กับ racism และตั้งตาตั้งตาเหยียดกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

แต่ชี้ให้เห็นว่า pc มีปัญหาในตัวเองเหมือนที่ racism มี เพราะมันกักขังเราไว้ใน campus ที่ปลอดภัยและมีระยะห่างจากคนอื่นที่เราอ้างว่าเคารพนักหนา มันปิดกั้นโอกาสที่จะเรียนรู้ รู้จัก และมองเห็นคนอื่นอย่างที่พวกเขาเป็น และปิดกั้นโอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะปราศจากมุกตลกและถ้อยคำหยาบคาย 

and so on and so on.

 

*เนื้อหาหลักของบทความนี้มาจากคลิปสัมภาษณ์ของชิเช็ก เรื่อง 'Slavoj Žižek: Political Correctness Is a More Dangerous Form of Totalitarianism'

ภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=s09c4QJ7j3o

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
ไซเฟอร์พังก์ (Cypherpunks) เชื่อว่าความเป็นส่วนตัว (privacy) คือสิ่งที่ดีและอยากให้โลกนี้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น พวกเขาเข้าใจว่าหากต้องการความเป็นส่วนตัว เราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง ไม่ใช่รอให้รัฐบาล บริษัท หรือองค์กรขนาดใหญ่ไร้ตัวตนเมตตามอบให้ ไซเฟอร์พังก์รู้ว่ามนุษย์ปกป้องความเป็นส่วนตัวของตัวเอง
Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา