บรูโน ลาตูร์ เป็นนักวิชาการฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงจากการศึกษาสังคมวิทยาของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งของลาตูร์คือการชี้ให้เห็นว่าการมองว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ปราศจากตัวตนของผู้ศึกษาอย่างสิ้นเชิงไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องนัก ผลงานของเขานำไปสู่ข้อถกเถียงในหลายสาขาวิชา นอกจากนี้ยังถูกนำไปเชื่อมโยงกับกระแสวิวาทะในทศวรรษ 1990 ที่มักเรียกกันว่า ‘สงครามระหว่างศาสตร์’ (science wars) ซึ่งหมายถึงข้อถกเถียงเกี่ยวกับสถานะขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ระหว่างกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันในความเป็นวัตถุวิสัยของวิทยาศาสตร์และกลุ่มนักสังคมศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นประดิษฐกรรมทางสังคม
ข้อถกเถียงดังกล่าวนำไปสู่การลดทอนความน่าเชื่อถือของวิทยาศาสตร์ (รวมถึงสังคมศาสตร์ในสายตานักวิทยาศาสตร์) ลงในบางระดับ ขณะเดียวกันก็ทำให้รอยแยกระหว่างทั้งสองศาสตร์เด่นชัดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บรูโน ลาตูร์ยอมรับว่าการวิพากษ์วิจารณ์วิทยาศาสตร์ในช่วงเวลานั้นมีส่วนก่อให้เกิดกระแสต่อต้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างไม่เป็นธรรมนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change denial) นั้นเป็นเรื่องจริง
เนื้อหาด้านล่างนี้เรียบเรียงมาจากบทสัมภาษณ์บรูโน ลาตูร์โดยวารสาร Science ในโอกาสเกษียณอายุการทำงานในวัย 70 ปี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
Q: ย้อนกลับไปมอง ‘สงครามระหว่างศาสตร์’ แล้วเป็นอย่างไรบ้าง
A: ผมไม่คิดว่าเราควรเรียกอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในยุค 90 ว่า “สงคราม” มันเป็นการโต้แย้งที่เริ่มต้นจากนักสังคมศาสตร์ที่ศึกษากระบวนการศึกษาวิทยาศาสตร์และคิดถึงกระบวนการนี้อย่างวิพากษ์วิจารณ์
การวิเคราะห์ของเราสร้างปฏิกิริยาในหมู่คนที่มองวิทยาศาสตร์ในเชิงอุดมคติและไม่ยั่งยืนนัก ผู้คนเหล่านั้นคิดกันว่าตัวเองกำลังถูกโจมตี คำวิจารณ์บางเรื่องตลกมาก ผมถูกโยงเข้ากับพวกสัมพัทธนิยมหลังสมัยใหม่ บางคนจับผมไปอยู่รวมในกลุ่มนั้นด้วย ผมเองไม่ได้เป็นพวกต่อต้านวิทยาศาสตร์เลย แต่ต้องยอมรับว่าผมรู้สึกดีที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์น้อยลงบ้างเล็กน้อย ในตัวผมตอนนั้นมีความกระตือรือร้นบางอย่างของคนหนุ่ม
แต่ในตอนนี้ สถานการณ์ของเราไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เรากำลังเจอกับสงครามจริงๆ เป็นสงครามที่ขับเคลื่อนโดยบรรษัทขนาดใหญ่และนักวิทยาศาสตร์บางคนที่บอกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เกิดขึ้นจริง คนเหล่านั้นสนใจประเด็นนี้อย่างจริงจังและมีอิทธิพลมากกับประชาชนทั่วไป
Q: คุณมีส่วนร่วมกับสงครามระหว่างศาสตร์ครั้งที่สองนี้ได้อย่างไร
A: ย้อนกลับไปในปี 2009 ในงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศชื่อดังคนหนึ่งเดินเข้ามาบอกกับผมว่า “คุณช่วยอะไรเราหน่อยได้ไหม เรากำลังถูกโจมตีอย่างไม่เป็นธรรม” ตอนนั้น โคลด อัลแลชร์ (Claude Allègre) นักวิทยาศาสตร์และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของฝรั่งเศสกำลังรณรงค์แคมเปญทางอุดมการณ์ที่มีประสิทธิภาพมากในการต่อต้านวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ
สิ่งต่างๆ มันกลับตาลปัตรไปหมด คนที่ไม่เคยเข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งที่นักสังคมศาสตร์อย่างเรากำลังทำคืออะไร จู่ๆ ก็ตระหนักขึ้นมาว่าต้องการความช่วยเหลือจากพวกเรา คนพวกนั้นไม่มีทั้งความพร้อมในแง่ความรู้ การเมือง และปรัชญา ในการรับมือกับการโจมตีของเพื่อนร่วมอาชีพที่กล่าวหาว่าพวกเขาไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่านักล็อบบี้
Q: คุณจะอธิบายการก่อตัวของกระแสต่อต้านวิทยาศาสตร์และแนวคิดเรื่อง ‘ข้อเท็จจริงทางเลือก’ (alternative facts) อย่างไร
A: การจะเข้าใจข้อเท็จจริงให้ตรงกันได้ คุณจำเป็นต้องเห็นสภาพความเป็นจริงเหมือนกันก่อน เราจำเป็นต้องวางหลักเกณฑ์ข้อนี้ให้กับทั้งสถาบันศาสนา ห้องเรียน สื่อมวลชนดีๆ รวมถึงการประเมินบทความแบบ peer review … สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับโลกหลังความจริง [ที่ผู้คนเลือกจะเชื่ออะไรบางอย่างตามใจโดยที่ความจริงไม่มีความหมายอีกต่อไป] แต่มันเกี่ยวข้องกับการที่กลุ่มคนจำนวนมากกำลังใช้ชีวิตในโลกที่แตกต่างกันและรับรู้สภาพความเป็นจริงแตกต่างกัน ในโลกที่สภาพภูมิอากาศไม่ได้กำลังเปลี่ยนแปลง
อย่างน้อยผมคิดว่าสงครามระหว่างศาสตร์ครั้งที่สองก็ช่วยให้เราเลิกคิดสักทีว่าวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง ผมเสนอมาตลอดว่ามันไม่มีทางเป็นอย่างนั้น วิทยาศาสตร์ไม่เคยปลอดจากอคติทางการเมืองเลย ยิ่งประเด็นที่มีนัยเชิงนโยบายสูง คุณยิ่งไม่สามารถสร้างข้อมูลที่เป็นกลางจริงๆ ได้ ผมไม่ได้หมายความว่าคุณไม่สามารถผลิตวิทยาศาสตร์ที่ดีได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ควรต้องชี้แจงผลประโยชน์ของแต่ละคน คุณค่าที่ตัวเองยึดถือ รวมถึงบอกให้ชัดว่าหลักฐานประเภทไหนที่จะทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจ
Q: นักวิทยาศาสตร์ควรรับมือกับสงครามครั้งใหม่นี้อย่างไร
A: เราจะต้องฟื้นฟูความน่าเชื่อถือบางอย่างของวิทยาศาสตร์กลับมา สิ่งนี้ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงจากตอนแรกที่เราเริ่มศึกษากระบวนการศึกษาวิทยาศาสตร์ ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ต้องกอบกู้เกียรติกลับคืนมา แต่ทางออกยังคงเหมือนเดิม คือคุณจำเป็นต้องนำเสนอวิทยาศาสตร์ในฐานะที่เป็นปฏิบัติการ [คือแสดงให้เห็นว่ากระบวนการที่ได้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาเป็นอย่างไร] ผมยอมรับว่ามันเสี่ยง เพราะเราสร้างความไม่แน่นอนและการโต้เถียงขึ้นอย่างชัดเจน
ไคลฟ ฮามิลตัน ศาสตราจารย์ด้านจริยศาสตร์สาธารณะชาวออสเตรเลียเสนอแนวทางการต่อสู้อีกทางหนึ่งที่เรียกว่า ‘สารัตถนิยมเชิงยุทธศาสตร์’ โดยเสนอว่า ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์แล้ว เราไม่สามารถโต้แย้งวิทยาศาสตร์ได้ ข้อเสนอนี้ก็ฟังดูมีเหตุมีผล แต่เราต้องการหน้าตาของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากกว่านี้ในระยะยาว นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสถานะของการโต้เถียงและการขาดความเชื่อมั่น[ในวิทยาศาสตร์]ที่เกิดขึ้นตอนนี้แล้ว ผมคิดว่าเราไม่สามารถหันหลังกลับไปและพูดว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็น ‘เพียงข้อเท็จจริงรูปแบบหนึ่ง’ ได้
Q: มันไม่ใช่อย่างนั้นหรือ?
A: ไม่ใช่ครับ วิทยาศาสตร์มีความซับซ้อนและยุ่งเหยิงเกินกว่าที่เราจะเข้าใจว่าสภาพอากาศทำงานอย่างไร การเชื่อมั่นว่าเราเข้าใจมันร้อยเปอร์เซนต์เป็นเพียงภาพลวงตา เป็นซากอุดมคติของวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง
Q: แต่ผู้ที่สงสัยในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ใช้ความไม่แน่นอน[ของวิทยาศาสตร์] เป็นกลยุทธ์เช่นกัน
A: ถูกต้องครับ แต่ความไม่แน่นอนไม่ใช่เหตุผลที่ชอบธรรมในการขัดขวางหรือผัดผ่อนนโยบายหนึ่งๆ ออกไป และไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะตัดทุนสนับสนุนการวิจัย การตัดงบการวิจัยที่อาจให้ผลการศึกษา ที่ไม่พึงปรารถนานี่แหละคืออาชญากรรม เพราะอย่างนั้น การเรียก[จุดยืนของคนกลุ่มนี้] ว่า “ความสงสัย” จึงเป็นการบิดเบือนความหมายของคำคำนี้อย่างยิ่ง
Q: คุณมีแผนจะทำอะไรต่อหลังเกษียณ
A: ผมเหลืออะไรที่ต้องดูแลอีกไม่มากนัก แต่คิดว่าจะยังทำงานต่อไป ผมกำลังศึกษาเรื่องที่คล้ายกับประเด็นของหนังสือ Laboratory Life อีกครั้ง คือเป็นการผสมผสานการทดลองในห้องแล็บเข้ากับการลงฟิลด์ในพื้นที่ที่เรียกว่า “critical zone” หรือการศึกษาพื้นผิวภายนอกของโลก ผมจะไปสังเกตการทำงานของนักธรณีเคมี ชีวเคมี และภูมิรัฐศาสตร์ และพูดคุยกับนักวิจัยด้านต่างๆ อีกหลายคน โดยใช้แนวคิดของเจมส์ เลิฟล็อคที่เสนอว่าโลกเป็นระบบที่กำกับดูแลตนเองได้ แน่นอน ผมคิดว่าการอธิบายงานชิ้นนี้โดยละเอียดจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับวิทยาศาสตร์อีกครั้ง
ที่มา: Jop de Vrieze. "Bruno Latour, a veteran of the ‘science wars,’ has a new mission." Science Magazine. available from http://www.sciencemag.org/news/2017/10/latour-qa?utm_campaign=news_daily_2017-10-10&et_rid=35137912&et_cid=1596541 แปลโดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์