Skip to main content

เราเรียกยุคสมัยที่เราอยู่ว่ายุคอะไรดี ยุคข้อมูลข่าวสารก็ผ่านพ้นไปแล้ว การล่มสลายของขบวนการการศึกษาเพื่อประชาชนเปิดช่องว่างให้กับการตลาดและทฤษฎีสมคบคิด ไม่ต่างจากยุคหิน ยุคเหล็ก และยุคอวกาศ ยุคดิจิทัลพูดอะไรมากมายเกี่ยวกับข้าวของเครื่องใช้ แต่กลับแทบไม่สนใจเรื่องของสังคม ยุคสมัยของมนุษย์ ซึ่งหมายถึงยุคที่มนุษย์ก่อผลกระทบมากมายต่อสภาวะแวดล้อม ก็ไม่สามารถแยกศตวรรษนี้ออกจากศตวรรษก่อนหน้าได้ แล้วอะไรคือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เป็นจุดเด่นในยุคสมัยของเราที่ยุคอื่นๆ ไม่มี สำหรับผม คำตอบนั้นชัดเจนมาก เราอยู่ในยุคของความโดดเดี่ยว

ธอมัส ฮอบส์ผิดถนัดที่อ้างว่าในสภาวะธรรมชาติก่อนที่จะมีผู้มีอำนาจมาปกครองเรา มนุษย์ต่างอยู่ใน ‘สงครามที่ทุกคนเผชิญหน้ากัน’ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมมานมนานกาเล เป็นผึ้งเลี้ยงลูกด้วยนมที่พึ่งพากันอย่างเต็มที่ โฮมินิดในแอฟริกาตะวันตกไม่มีทางรอดชีวิตได้เกินหนึ่งคืนหากอยู่ตัวคนเดียว เรากลายเป็นเราก็ด้วยการติดต่อกับคนอื่น สิ่งนี้เกิดขึ้นกับมนุษย์มากกว่าสายพันธุ์ใดๆ แทบทั้งหมด ยุคสมัยที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นยุคที่เราใช้ชีวิตกันโดยลำพัง จึงเป็นยุคที่ไม่เหมือนกับยุคสมัยใดก่อนหน้านี้เลย

ย้อนกลับไปไม่กี่ปีก่อน ความโดดเดี่ยวยังระบาดอยู่ในหมู่คนหนุ่มสาว[1] มาตอนนี้เราพบว่ามันสร้างความทุกข์ให้กับคนสูงวัยมากพอๆ กัน การศึกษาของ The Independent Age แสดงให้เห็นว่าความโดดเดี่ยวขั้นรุนแรงทำลายชีวิตของชายหญิงชาวอังกฤษที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป 700,000 คน และ 1.1 ล้านคนตามลำดับ[2] และตัวเลขนี้กำลังทยานขึ้นอย่างรวดเร็ว

เชื้ออีโบลาไม่น่าจะคร่าชีวิตผู้คนได้มากมายเท่ากับโรคภัยจากความโดดเดี่ยว การอยู่โดดเดี่ยวในสังคมเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตตั้งแต่วัยหนุ่มสาวเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 15 ซองต่อวัน ขณะเดียวกัน งานวิจัยพบว่าความโดดเดี่ยวยังทำให้ความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงขึ้นกว่าความอ้วนถึง 2 เท่า[3] ความจำเสื่อม ความดันในเลือดสูง การติดแอลกอฮอลล์ และอุบัติเหตุ ตลอดจนโรคซึมเศร้า หวาดระแวง วิตกจริต และการฆ่าตัวตาย เหล่านี้ล้วนแต่เกิดมากขึ้นเมื่อสายสัมพันธ์กับคนอื่นถูกตัดขาด[4] เราไม่สามารถรับมือกับมันได้เพียงคนเดียว    

ใช่ครับ โรงงานต่างๆ ปิดตัวลง ผู้คนเดินทางด้วยรถยนต์แทนรถประจำทาง ใช้ยูทูปมากกว่าจะออกไปดูหนัง แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าสังคมของเรากำลังล่มสลายลงอย่างรวดเร็วขนาดนี้ได้อย่างไร ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเหล่านี้ติดตามมาพร้อมกับอุดมการณ์ของการปฏิเสธชีวิต ซึ่งบีบบังคับและยกย่องการที่เราอยู่ในสังคมอย่างโดดเดี่ยว สงครามที่ทุกคนเผชิญหน้ากันหรือที่เรียกอีกอย่างว่าการแข่งขันและปัจเจกชนนิยม คือศาสนาแห่งยุคสมัยอันปรากฏเป็นจริงผ่านตำนานเล่าขานเกี่ยวกับคนที่ประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง ผู้ริเริ่มทำงานโดยไม่ต้องพึ่งแนวทางของคนอื่น คนสู้ชีวิตทั้งชายหญิง และการต่อสู้เพียงลำพัง สำหรับสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถเจริญรุ่งเรืองได้หากปราศจากความรัก ทั้งยังอยู่ร่วมกันเป็นสังคมมากที่สุด ในตอนนี้กลับไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสังคม มีก็แต่คนบางคนที่เป็นยอดคนเหนือคนทั่วไป สิ่งสำคัญคือการคว้าชัยชนะ ส่วนที่เหลือเป็นเพียงความเสียหายโดยไม่เจตนา

เด็กๆ ชาวอังกฤษเลิกใฝ่ฝันถึงการเป็นคนขับรถไฟหรือพยาบาล เด็กหนึ่งในห้าบอกว่าตัวเอง ‘แค่อยากรวย’ ความร่ำรวยและการมีชื่อเสียงกลายเป็นความทะเยอทยานเพียงอย่างเดียวของผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 40[5] การศึกษาของรัฐบาล[อังกฤษ] ในเดือนมิถุนายน 2014 แสดงให้เห็นว่าอังกฤษเป็นเมืองหลวงของความโดเดของยุโรป[6] เทียบกับคนยุโรปชาติอื่น คนอังกฤษมีเพื่อนสนิทหรือรู้จักเพื่อนบ้านน้อยกว่ามาก แต่จะน่าแปลกใจตรงไหน ในเมื่อเราถูกกระตุ้นให้ต่อสู้กันเหมือนหมาข้างถนนบนถังขยะ?

เราเปลี่ยนภาษาที่ใช้เพื่อสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ถ้อยคำถากถางที่บาดลึกที่สุดคือคำว่า “ไอ้พวกขี้แพ้” เราไม่ได้พูดถึงผู้คนกันอีกแล้ว เวลานี้เราเรียกพวกเขาว่าปัจเจกชน คำที่แปลกแยกและลดทอนคนให้เหลือเพียงจุดเล็กๆ นี้แพร่กระจายในวงกว้างจนแม้แต่ในงานการกุศลที่จัดขึ้นเพื่อต่อสู้กับความโดดเดี่ยวก็ยังใช้คำคำนี้เพื่อบรรยายสิ่งมีชีวิตเดินสองขาที่แต่ก่อนเราเรียกว่ามนุษย์[7] การพูดให้จบประโยคโดยไม่ดึงให้กลายเป็นประเด็นส่วนตัวเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ พูดกันโดยส่วนตัวแล้ว ผมอยากมีเพื่อนเป็นตัวเป็นตนมากกว่ามีเพื่อนหลายคนที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร ผมอยากมีของที่เป็นของส่วนตัวของผมมากกว่าของที่ไม่ใช่ของผม แม้ว่านั่นจะเป็นเพียงรสนิยมส่วนตัวของผม แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นที่รู้กันว่ามันคือรสนิยมของตัวผมเอง

ผลลัพธ์อันน่าสลดใจของความโดดเดี่ยวคือการที่ผู้คนหันไปดูโทรทัศน์เพื่อบรรเทาทุกข์ ผู้สูงอายุสองในห้าระบุว่ามีเทพโอดินเป็นเพื่อนคนสำคัญ[8]  การให้ยารักษาตัวเองแบบนี้รังแต่จะทำให้โรคร้ายรุนแรงขึ้น งานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิลานเสนอว่าโทรทัศน์ช่วยกระตุ้นความทะเยอทยานในการแข่งขัน[9] นอกจากนั้นยังส่งผลให้ความย้อนแย้งระหว่างรายได้กับความสุขเข้มข้นขึ้นด้วย กล่าวคือในขณะที่รายได้ประชาชาติเพิ่มสูงขึ้น ผู้คนกลับไม่ได้มีความสุขมากขึ้นตามไปด้วย ความทะเยอทยานซึ่งเพิ่มขึ้นพร้อมกับรายได้ทำให้มั่นใจได้ว่าจุดหมายปลายทางหรือจุดที่เราจะพึงพอใจกลับล่าถอยออกไปก่อนที่เราจะไปถึง

นักวิจัยค้นพบว่าคนที่ดูโทรทัศน์มากจะมีความพึงพอใจต่อรายรับที่ได้อยู่ต่ำกว่าคนที่ไม่ค่อยดูโทรทัศน์ โทรทัศน์ทำให้ลู่วิ่งของความสุขเคลื่อนที่เร็วขึ้น บังคับให้เราต้องพยายามหนักกว่าเดิมเพื่อรักษาความพึงพอใจในชีวิตให้อยู่ในระดับเดิมไว้ ถ้าอยากเห็นว่าสิ่งเหล่านี้หน้าตาเป็นยังไง คุณก็แค่ต้องนึกถึงการแข่งขันกันขายของอย่างไม่หยุดหย่อนในรายการโทรทัศน์ช่วงกลางวันอย่าง Dragon’s Den หรือ The Apprentice การแข่งขันเพื่อเปิดทางสู่การประกอบอาชีพนานารูปแบบที่ปรากฏอย่างเอิกเกริกในโทรทัศน์ ความลุ่มหลงในชื่อเสียงและเงินทองซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติ รวมถึงความรู้สึกที่หลายคนประสบว่าชีวิตอยู่หนอื่นมากกว่าที่ที่คุณอยู่ ซึ่งล้วนเกิดขึ้นจากการชมโทรทัศน์

แล้วประเด็นคืออะไร เราได้อะไรจากสงครามที่ทุกคนเผชิญหน้ากัน การแข่งขันกระตุ้นการเติบโต แต่การเติบโตไม่ได้ทำให้เราร่ำรวยอีกต่อไป ตัวเลขชุดใหม่แสดงให้เห็นว่าในขณะที่รายได้ของผู้บริหารบริษัทเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า ค่าแรงของคนทำงานทั่วไปในภาพรวมกลับร่วงลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีหลัง[10] พวกผู้บริหารได้รับรายได้ - ขอโทษครับ จริงๆ ผมหมายถึงพวกเขาฉกฉวยเอารายได้ไป – มากกว่าพนักงานประจำทั่วๆ ไปถึง 120 เท่า (ในปี 2000 ความต่างนี้อยู่ที่ 47 เท่า) และต่อให้การแข่งขันทำให้เรารวยขึ้นจริง มันก็อาจไม่ได้ทำให้เรามีความสุขในเมื่อความพึงพอใจที่เกิดจากรายได้ที่สูงขึ้นอาจถูกทำลายด้วยผลกระทบเรื่องความทะเยอทยานที่เกิดจากการแข่งขัน

ทุกวันนี้คนรวยที่สุดร้อยละ 1 ถือครองทรัพย์สินร้อยละ 48 ของคนทั้งโลก[11] แต่พวกเขาเองก็ไม่ได้มีความสุขอะไร การสำรวจของ Boston College พบว่าคนที่มีรายได้สุทธิ 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลับถูกความกระวนกระจาย ความไม่พอใจ และความโดดเดี่ยวโถมกระหน่ำ[12] หลายคนรายงานว่าตนเองรู้สึกไม่มั่นคงทางการเงิน พวกเขาคิดว่าต้องมีเงินมากขึ้นอีกสักร้อยละ 25 จึงจะอยู่ในจุดที่มั่นคง (และพอได้เงินก้อนนั้นมาแล้ว ก็คงต้องการเพิ่มอีกร้อยละ 25) ผู้ตอบแบบสำรวจคนหนึ่งกล่าวว่า เขาคงไปไม่ถึงจุดนั้นจนกว่าจะมีเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ฯ ในธนาคาร

เพื่อสิ่งนี้ เรายอมฉีกทึ้งโลกธรรมชาติเป็นชิ้นๆ ลดระดับคุณภาพชีวิตของเราลง ยอมแลกอิสรภาพและโอกาสของความพึงพอใจไปกลับการมัวแสวงหาความสุขอย่างไร้สุข โดดเดี่ยว แถมยังถูกบังคับให้ทำ ในขณะที่เราบริโภคสิ่งอื่นเพื่อแสวงหาความสุข เรากลับเริ่มทำร้ายตัวเราเอง เพื่อสิ่งนี้ เรายอมทำลายเนื้อแท้ของความเป็นมนุษย์ นั่นก็คือความผูกพันต่อกันและกัน

ใช่ครับ มีมาตรการที่น่ายินดี ชาญฉลาด และช่วยบรรเทาสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อยู่เหมือนกัน อย่างเช่นองค์กร Men's shed และ Walking Football ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยองค์กรการกุศลเพื่อผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียว[13] แต่ถ้าหากต้องการทำลายวัฏจักรนี้ลงและกลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง เราก็ต้องเผชิญหน้ากับระบบที่กำลังกลืนกินโลกและกลืนกินชีวิต ระบบที่เราถูกบังคับให้เข้าไปอยู่ในนั้นเรื่อยมา สภาวะก่อนสังคมของฮอบส์เป็นเพียงความเชื่อผิดๆ แต่ตอนนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่สภาวะหลังสังคมที่บรรพบุรุษของเราเองก็คงไม่นึกไม่ฝัน ชีวิตของเรากำลังกลายเป็นชีวิตที่โหดเหี้ยม ทารุณ และยืนยาว.

14 ตุลาคม 2014

แปลจาก George Monbiot, 'Falling Apart', How Did We Get Into This Mess? (2017)

 


[1] Natalie Gil, 20 July 2014, ‘Loneliness: A Silent Plague That Is Hurting Young People Most’, theguardian.com.

[2] International Longevity Centre and Independent Age, 2013, Isolation: A Growing Issue Among Older Men, independentage.org.

[3] Ibid; Gil, ‘Loneliness’.

[4] Ian Sample, 16 February 2014, ‘Loneliness Twice as Unhealthy as Obesity for Older People, Study Finds’, theguardian.com; Gil, ‘Loneliness’.

[5] Keith Perry, 5 August 2014, ‘One in Five Children Just Want to Be Rich When They Grow Up’, telegraph.co.uk.

[6] John Bingham, 18 June 2014, ‘Britain the Loneliness Capital of Europe’, telegraph.co.uk

[7] The Campaign to End Loneliness, ‘A Million Lonely Older People Spell Public Health Disaster’, campaigntoendloneliness.org

[8] The Campaign to End Loneliness, ‘Loneliness Research’, campaigntoendloneliness.org

[9] Luca Stanca and Luigino Bruni, June 2005, ‘Income Aspirations, Television and Happiness: Evidence from the World Values Surveys’, boa.unimib.it.

[10] Kathryn Hopkins, 13 October 2014, ‘FTSE Bosses Earn 120 Times More Than Average Worker’, thetimes.co.uk.

[11] Jill Treanor, 14 October 2014, ‘Richest 1% of People Own Nearly Half of Global Wealth, Says Report’, theguardian.com.

[12] Graeme Wood, April 2011, ‘Secret Fears of the Super-Rich’, theatlantic.com.

[13] International Longevity Centre, Isolation.

 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 13 ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
Apolitical
บทที่ 12 เสรีนิยมและอรรถประโยชน์นิยม (Liberalism and Utilitarianism)
Apolitical
บทที่ 11 ทรราชเสียงข้างมาก (the Tyranny of the Majority)
Apolitical
บทที่ 10 นักเสรีนิยมกับนักประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 19 (Liberals a
Apolitical
บทที่ 9 ปัจเจกชนนิยมกับอินทรียภาพนิยม (Individualism and Organi
Apolitical
บทที่ 8 เสรีนิยมเผชิญหน้าประชาธิปไตย (Liberalism's Encounter with Democracy)
Apolitical
บทที่ 7 ประชาธิปไตยกับความเท่าเทียม
Apolitical
บทที่ 6 แนวคิดประชาธิปไตยสมัยโบราณและสมัยใหม่ 
Apolitical
บทที่ 5 ดอกผลของความขัดแย้ง (The Fruitful
Apolitical
บทที่ 4 เสรีภาพกับอำนาจ &nb