Skip to main content

เมื่อเร็วๆ นี้เที่ยวบินกลับบ้านของผมจากวอชิงตัน ดีซี ดีเลย์ออกไปเป็นวันเพราะพายุฝนฟ้าคะนองในบอสตัน ผมจึงเรียกแท็กซี่ไปยังโรงแรมใกล้ๆ พอขึ้นรถ คนขับนามว่านาซีร์ถามผมว่า "ได้เห็นรูปหลุมดำใน M87 และได้ยินเรื่องการค้นพบอุกกาบาตจากช่องว่างระหว่างดาวในข่าวเมื่อเร็วๆ นี้มั้ยครับ"

ผมสารภาพไปทันทีว่า "ครับ จริงๆ แล้วผมอยู่ในทีมที่ศึกษาทั้งสองเรื่องเลย” ตามด้วยบทสนทนาเกี่ยวกับความไม่แน่นอนและรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้ผมจะไปวอชิงตันในวันก่อนหน้าเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับลำดับความสำคัญของประเด็นศึกษาในอนาคตของสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ แต่บทสนทนากับนาซีร์คือไฮไลท์ของทริปนี้ อะไรทำให้การพบกันโดยบังเอิญนี้น่าสนใจนัก
 
ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ ผมสังเกตว่าอาจารย์ของผมเห็นว่าการปฏิสัมพันธ์กับสื่อเป็นเรื่องไม่จำเป็น และบางครั้งยังเป็นผลเสียต่อธรรมชาติของการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เหตุผลก็เพราะรายงานข่าวของสื่อมักให้ข้อมูลเพียงผิวเผิน ทั้งสาธารณชนเองก็ยังไม่มีข้อมูลและมีความคิดความอ่านในทางเทคนิคมากพอจะถกเถียงเรื่องวาทกรรมทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีความหมาย ด้วยสปิริตที่เชื่อว่า “การทำรองเท้าแบบมืออาชีพควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนที่รู้วิธีทำรองเท้า” นักวิทยาศาสตร์จึงควรหลีกเลี่ยงการตกเป็นเป้าสายตาให้ได้มากเท่าที่จะเป็นไปได้
 
พอทำงานมาได้สักพัก ผมจึงตระหนักว่าจริงๆ แล้วหน้าที่ของเราเหล่านักวิทยาศาสตร์ คือการสื่อสารผลการศึกษาที่เป็นที่สนใจของสาธารณชนออกไป มากกว่าจะเก็บงำมันไว้ในหอคอยงาช้างทางวิชาการที่ตั้งตระหง่านอยู่หลังกำแพงทึบที่สร้างขึ้นด้วยศัพท์แสงเทคนิคและสมการชวนปวดหัว ทั้งนี้ด้วยเหตุผลพื้นฐานสามประการ
 
หนึ่ง เพราะการวิจัยทางวิชาการได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนผ่านทุนวิจัยของรัฐบาลกลาง รวมถึงทุนวิจัยของนักศึกษาและทุนหลังปริญญาเอก ดังนั้นประชาชนจึงควรได้รู้ว่านักวิชาการกำลังทำอะไรกับเงินเหล่านั้น ความสนใจอย่างกว้างขวางจากสาธารณชนมีประโยชน์ในการให้ข้อเสนอแนะว่าหัวข้อใดกำลังเป็นที่สนใจมากๆ และหัวข้อใดที่สำคัญต่อสังคมที่เราอาศัยอยู่  
 
ตัวอย่างของหัวข้อการวิจัยที่ไม่เป็นไปตามความสนใจของสาธารณะและต้องการความคิดเห็นดังกล่าวคือการค้นหาอารยธรรมเทคโนโลยีของมนุษย์ต่างดาว ประมาณหนึ่งในสี่ของดาวฤกษ์ทั้งหมดมีดาวเคราะห์หินที่มีอุณหภูมิพื้นผิวคล้ายกับโลกซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีคุณสมบัติทางเคมีของสิ่งมีชีวิตอยู่ในน้ำ บนโลกการก้าวกระโดดจากซุปของสารเคมี (a soup of chemicals) ไปสู่เซลล์แรกที่มีชีวิตนั้นท้าทายยิ่งกว่าการเปลี่ยนจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวไปสู่สิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน
 
ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่กิจกรรมหลักของนักดาราศาสตร์คือการค้นหาสัญญาณของชีวิตทั้งจุลชีวินและเทคโนโลยี ถึงแม้อารยธรรมต่างดาวส่วนใหญ่จะตายไปแล้ว แต่ใครๆ ก็สามารถมีส่วนร่วมใน “โบราณคดีอวกาศ” ได้ด้วยการค้นหาซากที่หลงเหลืออยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์กัมมันตภาพรังสีจากสงครามนิวเคลียร์ มลพิษทางอุตสาหกรรมจากชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ โครงสร้างขนาดยักษ์ เซลล์สุริยะบนพื้นผิวของดาวเคราะห์ หรือเศษซากอวกาศของอุปกรณ์เทคโนโลยีที่หยุดทำงานไปแล้ว
 
แม้ความคาดหวังดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ แต่การพูดคุยเรื่องการค้นหาอารยธรรมของมนุษย์ต่างดาวกลับเป็นสิ่งต้องห้ามในวงการดาราศาสตร์กระแสหลัก ขณะที่การค้นหาจุลชีวินกลับได้รับการยอมรับ สถานการณ์นี้ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความสนใจของประชาชนที่มีต่อการศึกษาวิจัยทั้งสองหัวข้อ
 
สอง การได้พบกับผลงานวิทยาศาสตร์ที่น่าตื่นเต้นสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ทั่วโลกให้อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมในวันข้างหน้าจะไปไกลแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าเราดึงดูดคนที่เก่งที่สุดหันมาสนใจการวิจัยขึ้นหิ้งทางวิทยาศาสตร์ได้มากเพียงใด การทำให้เด็กๆ ที่อยากรู้อยากเห็น ซึ่งจะโตไปเป็นผู้กำหนดนโยบายหรือผู้บริหารธุรกิจในอนาคต มองเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ตอนนี้ยังมีประโยชน์ในวงกว้างอีกด้วย
 
สาม การสื่อสารทางวิทยาศาสตร์มีจุดประสงค์สำคัญคือการให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับพรมแดนความรู้และความก้าวหน้าใหม่ล่าสุด ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดการนำพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ให้ใช้เกิดประโยชน์เชิงปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรม ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้กับนวัตกรและผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี
 
ตำราเรียนมักให้ภาพผิดๆ ว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันและเป็นความรู้ที่ลงตัวแล้วเป็นอย่างดี แต่ความจริง "หลังฉาก" นั้นเป็นคนละเรื่องกันเลย กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการถกเถียงกับความคิดเห็นที่หลากหลายที่เกิดจากความไม่แน่นอนและหลักฐานที่ยังไม่สามารถสรุปได้ เพื่อนร่วมงานของผมบางคนแย้งว่า เพราะอย่างนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงไม่ควรออกสื่อและต้องไม่พูดคุยเรื่องงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ซึ่งที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
 
อีกด้านหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ควรถกเถียงกันหลังม่านจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน หากประชาชนสังเกตเห็นข้อพิพาททางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์จะสูญเสียความน่าเชื่อถือในสายตาของสาธารณชน และข้อสรุปที่ได้ เช่น "ภาวะโลกร้อน" จะไม่ได้รับความเคารพจากเหล่าผู้กำหนดนโยบาย
 
แต่ข้อโต้แย้งนี้ขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องการสานเสวนาแบบโสกราตีส (Socratic dialogue) ซึ่งใช้การพูดคุยเสวนาเป็นวิธีการค้นหาคำตอบ เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือ วิทยาศาสตร์จำเป็นต้องแสดงความโปร่งใส่ในการโต้เถียงอันเป็นขั้นตอนที่มีประโยชน์มากที่สุด โดยหลักแล้ว วิทยาศาสตร์คือกิจกรรมของมนุษย์ และนักวิทยาศาสตร์มักทำตามสามัญสำนึกและบางครั้งก็มีอคติเช่นเดียวกับนักสืบในที่เกิดเหตุ
 
เมื่อชุมชนวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปเป็นเอกฉันท์เนื่องจากมีหลักฐานสนับสนุนมากมาย มุมมองนั้นจะดูน่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับช่วงที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนซึ่งปรากฏเป็นปกติ ตราบใดที่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มีความซื่อสัตย์ และสิวบนใบหน้าของงานวิจัยใหม่ๆ ยังไม่ได้ถูกปกปิดด้วยเครื่องสำอาง ประชาชนย่อมจะชื่นชมในความจริงแท้เชื่อถือได้ของวิทยาศาสตร์ การเรียกร้องให้ล้อมกำแพงรอบวงวิชาการเพื่อให้ศาสตราจารย์ผู้ทรงเกียรติได้พูดคุยกันเองก่อนที่การอภิปรายจะได้ข้อสรุปและตกถึงมือของผู้กำหนดนโยบายคือการสำคัญตัวเองผิดว่าตนนั้นฉลาดกว่าคนอื่นๆ
 
เมื่อนักวิทยาศาสตร์มีทัศนคติแบบนี้ จึงไม่น่าแปลกเลยที่ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนจะคลางแคลงใจต่อวงการวิชาการ และคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำที่มักไตร่ตรองตัดสินใจอะไรกันหลังฉาก ประชาชนไม่ควรถูกมองว่าเป็นผู้ฟังที่นิ่งเฉย แต่ควรมีส่วนร่วมในบทสนทนาที่ซื่อสัตย์มากกว่า
 
เราอยู่ในช่วงเวลาอันสุ่มเสี่ยงว่าการเรียนรู้ของจักรกล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และสื่อสังคมออนไลน์จะเข้ามาแทนที่การสานเสวนาแบบโสกราตีสที่ปรากฏดั้งเดิมในหมู่มนุษย์ เทคโนโลยีเหล่านี้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนนักเรียนคนหนึ่งถามผมในชั้นเรียนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “AI จะเข้ามาทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์แทนมนุษย์ หรือมนุษย์ยังจำเป็นสำหรับการศึกษาวิทยาศาสตร์" ผมตอบไปว่าคอมพิวเตอร์เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างแบบจำลองเชิงทฤษฎีแทนมนุษย์แล้ว แต่แนวคิดใหม่ๆ ของมนุษย์ยังคงจำเป็นอยู่ในการกะเกณฑ์ทิศทางของกระบวนการศึกษาในภาพรวม เมื่อเป็นเช่นนั้น สาธารณชนจึงควรได้รับทราบถึงข้อค้นพบล่าสุดทางวิทยาศาสตร์ของเราอยู่เสมอ เพราะมันจะเป็นแหล่งเก็บข้อมูลทั้งหมดของมนุษย์ ซึ่งเราควรใช้เพื่อคิดใคร่ครวญถึงหนทางที่ดีที่สุดในการกำหนดอนาคตของเราร่วมกัน
 
โชคร้ายจากการที่ต้องกลับบ้านล่าช้าในทีแรกกลับลงเอยด้วยการแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจกับคนขับแท็กซี่ที่ให้แรงบันดาลใจสำหรับโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของผมในอนาคต บทสนทนาที่ซื่อสัตย์ย่อมเพิ่มคุณค่าให้กับผลรวมของฝักฝ่ายที่ไม่ขึ้นต่อใครที่เข้าร่วมในบทสนทนาเหล่านั้น เพราะว่าในบทสนทนาดังกล่าว ทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมต่างก็เป็นผู้ชนะ.
 

*แปลจาก Abraham Loeb. 2019. "Should Scientists Keep Their Private Debates Private?" Scientific American. Available from https://blogs.scientificamerican.com/observations/should-scientists-keep-their-private-debates-private/

**อับราฮัม เลิบ เป็นหัวหน้าภาควิชาดาราศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นผู้ก่อตั้งโครงการ 'Harvard's Black Hole Initiative' ศูนย์ศึกษาหลุมดำแบบสหวิทยาการด้วยการผสมผสานองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และปรัชญา

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 13 ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
Apolitical
บทที่ 12 เสรีนิยมและอรรถประโยชน์นิยม (Liberalism and Utilitarianism)
Apolitical
บทที่ 11 ทรราชเสียงข้างมาก (the Tyranny of the Majority)
Apolitical
บทที่ 10 นักเสรีนิยมกับนักประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 19 (Liberals a
Apolitical
บทที่ 9 ปัจเจกชนนิยมกับอินทรียภาพนิยม (Individualism and Organi
Apolitical
บทที่ 8 เสรีนิยมเผชิญหน้าประชาธิปไตย (Liberalism's Encounter with Democracy)
Apolitical
บทที่ 7 ประชาธิปไตยกับความเท่าเทียม
Apolitical
บทที่ 6 แนวคิดประชาธิปไตยสมัยโบราณและสมัยใหม่ 
Apolitical
บทที่ 5 ดอกผลของความขัดแย้ง (The Fruitful
Apolitical
บทที่ 4 เสรีภาพกับอำนาจ &nb