Skip to main content
 
 
บทความนี้แปลมาจาก "มุมมองที่มีต่อสตาลิน : อดีตและอนาคต" (Depictions of Stalin: The Past and the Future )
 
ผู้เขียนคืออัลฟ์ วิกินสันในนิตยสาร New perspectives ฉบับที่ 8 หมายเลข 2 เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2002
 
 
        มิโลวาน ดจิลัส ผู้เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลยูโกสลาเวียเรียกสตาลินว่าเป็น "อาชญากรที่ร้ายกาจที่สุดในประวัติศาสตร์"แต่นักประวัติศาสตร์ตะวันตกคือฮัชชิงส์ที่เขียนในทศวรรษที่ 60 ถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจของโซเวียตในช่วงทศวรรษที่ 30 กล่าวอย่างชัดเจนว่า "การกระทำของสตาลินนั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถของรัสเซียในการต้านทานการบุกของเยอรมันในปี 1941" โดยการเห็นชอบของสตาลินได้ทำให้ประชาชนของเขาเองจำนวนหลายล้านคนต้องถูกจำคุกและฆ่าตาย แต่เมื่อเขาถึงแก่อสัญกรรม ผู้ที่ถูกคุมขังจำนวนมากในกูลัก (ค่ายกักกัน-ผู้แปล) อันน่ากลัวต่างร้องไห้ด้วยความโศกเศร้า คุณจะสามารถประเมินได้อย่างสมเหตุสมผลอย่างไรเมื่อมีมุมมองอันแสนจะหลากหลายต่อผู้ชายคนนี้ต่อการกระทำของเขาและผลสำเร็จที่เกิดขึ้น ?  แน่นอนว่านักประวัติศาสตร์นั้นพิจารณาที่หลักฐาน ใช่หรือไม่ ? พวกเขาหมกตัวอยู่กับบรรดาจดหมายเหตุ พวกเขาได้อ่านมุมมองร่วมสมัยจากหนังสือพิมพ์ พวกเขาได้รับหลักฐานจากภาพยนตร์ วิทยุและพวกเขาคุยกับพยานบุคคล พวกเขาพยายามค้นหาทุกสิ่งเท่าที่ทำได้ เกี่ยวกับหัวข้อหรือบุคคลที่พวกเขากำลังศึกษาอยู่ พวกเขาระมัดระวังอย่างยิ่งยวดในการขจัดข้อเท็จจริงที่ไม่น่าเชื่อถือและการบิดเบือนออกไป เมื่อต้องเขียนหนังสือแล้วทำไมนักประวัติศาสตร์ต้องมีข้อสรุปที่แตกต่างกันขนาดนั้นด้วย ? สตาลินสามารถเป็นทั้งอาชญากรตัวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ (ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีคนที่อ้างสิทธิสำหรับสมญานามเช่นนี้อีกจำนวนหนึ่ง) และเป็นผู้ที่สำคัญอย่างใหญ่หลวงสำหรับการปกป้องโลกเสรีจากนาซีผู้รุกราน ? ในบทความนี้ ข้าพเจ้าพยายามจะชี้ให้เห็นถึงคำตอบบางข้อ 
 
 
 
 
 
 
 
                             
 
 
                                                 ภาพจาก  i.ytimg.com
 
 
 
มุมมองของโซเวียตที่มีต่อสตาลินภายหลังปี 1924 
 
 
เมื่อสตาลินได้กลายเป็นผู้นำโดยเด็ดขาดของสหภาพโซเวียตในปี 1929 เขาจำต้องได้รับการมองว่าเป็นผู้นำที่ชอบธรรมของเลนิน ดังคำขวัญที่ว่า "สตาลินคือเลนินของวันนี้" ทุกสิ่งอย่างที่เป็นเรื่องดีถูกยกอ้างว่าเกิดจากสตาลิน ดังธรรมชาติของสังคมโซเวียต จึงมีการตีความที่"เป็นทางการ"เกี่ยวกับสตาลินอยู่อย่างเดียว เบื้องหลังชีวิตและงานหรือการประสบความสำเร็จของเขาล้วนแต่ตอบรับความต้องการของรัฐโซเวียต พวกมันถูกดัดแปลงในส่วนที่จำเป็นในการสนองตอบความต้องการเหล่านั้น บทบาทที่สตาลินมีต่อพรรคบอลเชวิคในช่วงปี 1917 ถูกนำไปขยายเสียมากมายใหญ่โต และสตาลินถูกสร้างภาพว่าเป็นมือขวาของเลนิน ข้อเท็จจริงอันไม่พึงประสงค์ไม่ได้รับอนุญาตให้มาขวางทางของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นอันขาด !  แน่นอนที่ว่าในรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวอันไม่มีฝ่ายค้านหรือไม่มีที่ว่างสำหรับความเห็นที่แตกต่าง กลไกของพรรคได้ยัดเยียดความคิดให้กับทุกคน เกิดอะไรขึ้นกับประชาชนชาวรัสเซียในทศวรรษที่30  ที่ไม่เห็นด้วยกับสตาลินอย่างเปิดเผย ? เราสามารถไว้ใจต่อบุคคลประเภทไหนในเวลานั้นที่พูดถึงสตาลิน ? มันอาจจะเป็นหลักฐานชั้นต้น พวกเขาอาจจะเป็นพยานบุคคล ซึ่งอาจจะรวมถึงตัวสตาลินด้วย แต่ว่าพวกเขาน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ? ในขณะที่ "ลัทธิเชิดชูบุคคล" (Cult of personality) กำลังยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และสตาลินได้รับการยกย่องว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ "เห็นหมดและทำทุกอย่างหมด"แหล่งข้อมูลในช่วงนี้ถูกบิดเบือนขึ้นเรื่อย ๆ เราจะสามารถแยกแยะมายาคติออกจากความเป็นจริงได้อย่างไร ?
 
 
มุมมองจากฝ่ายปรปักษ์
 
งานเขียนจำนวนมากที่วิจารณ์สตาลินในช่วงนี้มาจาก "สมาชิกพรรคบอลเชวิคที่เก่าแก่" และคนอื่นๆ ที่ถูกสตาลินเบียดขับในช่วงการต่อสู้กันเพื่อสืบทอดตำแหน่งของเลนิน ยกตัวอย่างเช่นบูคารินเขียนว่า "สตาลินจะรัดคอพวกเรา เขาเป็นผู้ก่อการที่ไร้ซึ่งระเบียบวินัย ผู้ทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความกระสันในอำนาจของตน" และบูคารินน่าจะได้เป็นเพื่อนสนิทของสตาลินหรือว่าสนิทที่สุดเท่าที่สตาลินจะยอมให้ใครทำเช่นนั้น แต่ลางสังหรณ์ของเขาก็เป็นจริงเมื่อเขาถูกฆ่าในปี 1938 ในฐานะเหยื่อของการกวาดล้างครั้งยิ่งใหญ่ ทรอสกีได้กล่าวถึงสตาลินอย่างมากและมีคำชมเชยเพียงน้อยนิด เขามีเหตุผลอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเกลียดสตาลินผู้ซึ่งเอาชนะเขาในทุกๆฝีก้าวของการต่อสู้เพื่อเป็นทายาทของเลนิน
 
 
 
 
การลี้ภัยของทรอตสกีและความตายของเขาในเวลาต่อมาได้ทำให้เกิดหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับวิธีของสตาลินในการจัดการกับผู้ที่เขาเห็นว่าเป็นปรปักษ์ นั้นหมายความว่าเราไม่สามารถไว้ใจต่อทุกอย่างที่ทรอตสกีได้พูดเกี่ยวกับสตาลินหรือ ? มุมมองของเขานั้นเกิดจากเรื่องส่วนตัว แน่นอนว่าเขาจะขมขื่นใจต่อชะตากรรมของตัวเอง ก่อนหน้าที่จะลี้ภัยทางการเมือง ทรอตสกีเป็นจุดศูนย์กลางของเหตุการณ์ อย่างไรก็ตามเขามีโอกาสได้สัมผัสกับเอกสารในการประชุม มีบทบาทในการตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้จะหมดความน่าเชื่อถือทันทีที่เขาลี้ภัยจากรัสเซียเลยหรือ ? คุณจะสามารถแยกแยะความเป็นปรปักษ์ส่วนตัวออกจากแง่คิดทางประวัติศาสตร์อันเป็นประโยชน์ได้อย่างไร ? เพราะใครบางคนเป็นปรปักษ์ อย่างเช่นรอย เมดเวเดฟกับหนังสือของเขาคือ "ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ตัดสินเอาเอง" (Let History Judge) ก็เช่นกัน งานของพวกเขานั้นอาจจะถูกถูกตีพิมพ์นอกรัสเซีย สิ่งเหล่าได้ทำให้พวกเขาดูน่าเชื่อถือน้อยหรือมากขึ้นในฐานะผู้บรรยายเหตุการณ์หรือไม่ ? ในฐานะที่ถูกนิยามว่าเป็นปรปักษ์ พวกเขาดูน่าจะมีมุมมองด้านลบมากกว่าผู้บรรยายเหตุการณ์คนอื่น แต่ว่าพวกเขานั้นน่าเชื่อถือน้อยกว่าในฐานะตัวผู้ประเมินหรือไม่ ? ในฐานะที่หนังสือเหล่านั้นถูกตีพิมพ์อย่างผิดกฏหมายหรือภายนอกสหภาพโซเวียตและมีเนื้อหาที่ไม่ถูกทางการสั่งห้าม นั้นหมายความว่าพวกมันจะซื่อสัตย์หรือว่าจะรุนแรงกว่าหรือไม่ ? พวกเราในฐานะนักประวัติศาสตร์จะตัดสินว่าใครน่าเชื่อถือและใครไม่น่าเชื่อถืออย่างไร ?
 
 
 
 
 
 
 
ลีออน ทรอตสกี (1879-1940) นักปฏิวัติและปัญญาชนอีกคนของบอลเชวิคที่แย่งชิงอำนาจสู้สตาลินไม่ได้จึงลี้ภัยไปต่างประเทศ ต่อมาทรอตสกีถูกสายลับของสตาลินเอาขวานจามหัวตายอย่างน่าอนาถที่เม็กซิโก
 
ภาพจาก  www.oldpicz.com
 
 
มุมมองของนิกีตา ครูซชอฟที่มีต่อสตาลิน
 
 
ภายหลังจากที่สตาลินได้ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ครูซชอพได้กลายเป็นผู้นำสูงสุดของโซเวียตแทน ก่อนหน้านี้เขาเป็นลูกน้องผู้ซื่อสัตย์ต่อสตาลินและสามารถเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราวต่างๆ โดยที่ตัวเองไม่ได้เป็นเหยื่อของการกวาดล้างเสียก่อน อย่างไรก็ตามทางพรรคได้เริ่มต้นเปิดเผยความหฤโหดหลายอย่างในช่วงเวลานั้นและครูซชอฟก็เลือกที่จะไม่มองข้าม การกล่าวสุนทรพจน์ในปี 1956 แบบลับ ๆ เพื่อการขจัดอิทธิพลของสตาลิน (De-Stalinization) ของเขาคือความพยายามที่จะยกฐานะของตนโดยการแยกตัวเองและพรรคออกจาก "พฤติกรรมโฉด"ของสตาลิน ดังนั้นมุมมองของทางการโซเวียตก็กลายเป็นสิ่งที่เขาเรียกกันว่า "ผู้ประพฤติผิดต่อเลนิน" นั้นคือเลนินได้นำพรรคคอมมิวนิสต์ไปสู่เส้นทางที่ถูกที่ชอบ แต่สตาลินเพียงคนเดียวต้องรับผิดชอบต่อการเบี่ยงเบนจากนโยบายของเลนิน ดังนั้นจึงกลายเป็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์นั้นถูกต้อง แต่สตาลินเพียงคนเดียวที่เป็นแหล่งของพฤติกรรมอันผิดพลาดในช่วงเวลาที่เขาขึ้นครองอำนาจ ด้วยบริบทเช่นนี้ เรื่องราวอันทรงพลังของอเล็กซานเดอร์ โซลเซนิตซิน ที่มีชื่อว่า "วันหนึ่งในชีวิตของวีอาน เดนิโซวิตช์ "ซึ่งเป็นเรื่องของนักโทษในค่ายกักกันก็ได้ถูกตีพิมพ์ (อย่างถูกกฏหมาย)เป็นครั้งแรกในรัสเซีย สตาลินเกือบจะไม่ได้เป็นแค่ตัวบุคคลเท่านั้น ประวัติศาสตร์กระแสหลักของโซเวียตโดยยูริ คูคัชกินตีพิมพ์ในปี 1981 ถึงกลับกล่าวว่าความเจริญของสหภาพโซเวียตถูกเหนี่ยวรั้งโดยความผิดพลาดของสตาลิน!
 
 
การประเมินของรัสเซียเมื่อไม่นานมานี้
 
นับตั้งแต่ยุคของมิคาเอล กอร์บาชอฟและนโยบายกลาสนอสต์ ได้เปิดให้มีหนทางสำหรับการตีความสตาลินและสภาพโซเวียตมากกว่าเดิมรวมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์เขาเป็นจำนวนมาก งานของดมิทริ โวโลโกนอฟ  ผู้เขียนเรื่องสตาลิน: ชัยชนะและโศกนาฏกรรม (Stalin: Triumph and Tragedy) การเปิดหอจดหมายเหตุของพรรคคอมมิวนิสต์ เอ็นเควีดี (NKVD -หน่วยตำรวจในช่วงปี 1934-1946) คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง และคณะกรรมการกลางเช่นเดียวกับการเปิดเผยส่วนตัวที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้นำไปสู่การถกเถียงที่เปิดกว้างและอิสระมากขึ้นเกี่ยวกับตัวสตาลิน บทบาทของเขาในการตัดสินใจหรือแม้แต่จำนวนของการจับกุมและการประหารผู้คนในยุคนั้น สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือแง่มุมบางประการของลัทธิสตาลินนั้นบัดนี้ได้รับความปรารถนาจะให้กลับมาอีกครั้งในขณะที่สังคมรัสเซียกำลังเสื่อมถอยพร้อมกับอาชญากรรม การฉ้อราษฎรบังหลวง และความยากจนเพิ่มมากขึ้น สามัญชนจำนวนมากปรารถนากฏระเบียบและความแน่นอนของสังคมในช่วงเวลาที่สตาลินครองอำนาจ
 
 
มุมมองของตะวันตก
 
เป็นเรื่องง่ายเกินไปที่จะแบ่งแยกมุมมองแบบตะวันตกที่มีต่อสตาลินออกเป็นที่เขียนโดยพรรคคอมมิวนิสต์และผู้เห็นอกเห็นใจคอมมิวนิสต์นั้นในฐานะผู้สนับสนุนสตาลิน และผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในฐานะผู้ต่อต้านสตาลิน แน่นอนว่าคุณจะคาดหวังให้นักประวัติศาสตร์ตระกูลมาร์กซ์ดังเช่นอี เอช คาร์ เจ้าของหนังสือ "ลัทธิสังคมนิยมใน 1 ประเทศ" (Socialism in One Country)  จะต้องมีความเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่งต่อสหภาพโซเวียตและผลสำเร็จของมัน ส่วนนักประวัติศาสตร์สายเสรีนิยมหรือทุนนิยมจะต้องต่อต้านวิถีชีวิตที่ชาวโซเวียตถูกชี้นำโดยพรรคและรัฐ 
 
นอกจากนี้ ผู้สนับสนุนทรอตสกี และอื่น ๆ อีกมาก ย่อมจะไม่ให้ภาพที่ดีงามของสตาลินนัก เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย เป็นไปได้ที่จะอ้างอย่างที่นักประวัติศาสตร์บางคนทำ ว่าอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จะต้องล้มเหลวแน่นอนในระยะเวลาอันยาวนาน ด้วยหัวข้อที่เต็มไปด้วยข้อโต้แย้งและข้อกล่าวหาทางอุดมการณ์นี้นักศึกษาจะต้องหาทางแยกอคติทางอุดมการณ์ของนักเขียนออกจากการอธิบายของเขาในด้านประวัติศาสตร์
 
 
 
การประเมินในช่วงทศวรรษที่ 30
 
 
พวกเราต้องจำไว้ว่า ในช่วงทศวรรษที่ 30 คือปีแห่งวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วได้รับผลกระทบโดยมีการตกงานครั้งใหญ่ ความยากจนและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ทุกประเทศได้รับผลกระทบกันหมด ยกเว้นสหภาพโซเวียตที่ซึ่งแผนพัฒนา 5 ปีของสตาลินดูเหมือนจะแก้ไขปัญหาที่โลกทุนนิยมทำไม่ได้ คนจำนวนมากเช่นนักหนังสือพิมพ์อเมริกันคือดับเบิลยู ดัลลันตีผู้เขียนหนังสือชื่อ "รัสเซียถูกรายงาน " (Russia Reported) ในปี 1934 หรือซิดนีย์ นักสังคมนิยมชาวอังกฤษ และบีทริซ เว็บผู้ร่วมเขียนหนังสือชื่อ "คอมมิวนิสต์โซเวียต" (Soviet Communism) ผู้ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์เห็นว่ารัสเซียคือเรื่องราวแห่งความสำเร็จและเขียนถึงสตาลินกับการบรรลุวัตถุประสงค์ของเขา คนที่มาเยือนสหภาพโซเวียตได้บรรยายถึงสิ่งที่พวกเขาพบเห็นหรือจะให้ถูกกว่านั้นคือสิ่งที่ได้รับอนุญาตให้เห็นเช่น งาน  ความมั่งคั่ง ความภาคภูมิใจในประเทศ การพัฒนาประเทศและความกระตือรือร้น นี่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับความสิ้นหวังในหลายๆ ที่ของตะวันตก อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่จะซึมซับไปกับการพาเที่ยวชมที่จัดไว้อย่างดีแล้วมัลคอล์ม  มักเกอร์ริดช์นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษได้เขียนรายงานเป็นชุดให้กับแมนเชสเตอร์ การ์เดียน โดยเน้นความยากแค้นของชาวไร่ชาวนาจากการทำนารวม เขาชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่สตาลินขายพืชผลให้กับตะวันตกเพื่อนำรายได้มา สนับสนุนแผน 5 ปี ประชาชนในพื้นที่ชนบทมักจะอดตาย นักเขียนที่สนับสนุนโซเวียตก็จะโจมตีเรื่องของมักเกอร์ริดช์กันยกใหญ่ ดังนั้นรายงานของเขาจึงได้รับการเปิดเผยน้อยมาก อย่างไรก็ตามภายหลังปี 1936 เมื่อสตาลินเพียงคนเดียวที่ดูเหมือนจะเตรียมการต่อต้านพวกฟาสซิสต์อันแข็งกร้าวและช่วยฝ่ายสาธารณรัฐในสงครามกลางเมืองของสเปน ยิ่งมีคนชื่นชมในตัวสตาลินกันมากขึ้น
 
 
ภายหลังปี 1941 เมื่อเยอรมันบุกรัสเซีย เขาได้กลายเป็น "ลุงโจ" และเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อต้านพวกนาซี ทันใดนั้นในฐานะพันธมิตร เขาก็ได้รับการชื่นชอบจากทุกคน ภายหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2  กองกำลังต่อต้านฮิตเลอร์ก็แตกคอกันอย่างรวดเร็ว วินสตัน เชอร์ชิลพูดถึง "ม่านเหล็ก"ที่ได้คลี่มาปกคลุมทั่วยุโรป เมื่อสงครามเย็นแพร่ขยายไป ทัศนคติเกี่ยวกับรัสเซียก็เปลี่ยนไป สตาลินได้รับการมองว่าเป็นทรราชผู้ชั่วร้ายจะหวังจะครอบครองโลกอย่างรวดเร็ว เป็นการยากที่ใครจะเขียนถึงสหภาพโซเวียตอย่างไม่มีอคติ เมื่อจีนเป็นคอมมิวนิสต์ ในปี 1949 และสงครามเกาหลีอุบัติขึ้น บางคนเห็นว่าโลกเสรีพบกับปัญหาและสตาลินกลายเป็นสาเหตุ
 
 
 
 
 
 
ภาพจาก  blogs.voanews.com
 
 
 
การโต้เถียงกันในยุคหลังสตาลิน
 
จนถึงเมื่อไม่นานนี้ นักประวัติศาสตร์ของตะวันตกได้ทำงานพร้อมด้วยหลักฐานของฝ่ายโซเวียตที่น่าเชื่อถือแต่จำกัด พวกเขาโดยมากอิงกับบันทึกส่วนตัว ข้อเขียนจากฝ่ายตรงกันข้ามของสตาลินและเอกสารที่ถูกยึดมาจากนาซีในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2  เป็นการยากที่จะได้รับสิ่งที่เรียกว่าข้อมูลจาก "คนภายใน" หรือจากผู้ที่อยู่ในจุดศูนย์กลางของอำนาจและเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม มีการโต้เถียงกันอย่างแพร่หลายเกี่ยวกับสตาลินและนโยบายของเขา ขอบเขตของการโต้เถียงกันนั้นเน้นไปที่ประเด็นที่ว่า "ความเป็นปัจเจกชนหรือระบบที่สำคัญ?" ความโหดเหี้ยมของการปกครองของสตาลินส่งผลอย่างไรต่อตัวเขา ? ข้อบกพร่องของบุคลิกภาพและความทะเยอะทะยานของเขามีมากน้อยอย่างไร ? แล้วสิ่งเหล่านั้นเข้ามาข้องเกี่ยวกับระบบที่วางไว้โดยเลนินมากน้อยเพียงไหน ? ขอบเขตสำคัญอื่นๆ ของการโต้เถียงเน้นไปที่สหภาพโซเวียตนั้นถูกปกครองอย่างเข้มงวดจากศูนย์กลางหรือไม่ หรือ ภูมิภาคนั้นได้เข้ามามีส่วนร่วมในสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ ? ระบบยังขึ้นอยู่โดยมากบนความกลัวหรือมันเป็นการยินยอมในระดับหนึ่ง ? นโยบายนั้นถูกวางจากศูนย์กลางและถูกนำมาใช้อย่างเข้มงวด หรือว่าถูกประยุกต์ใช้อย่างยืดหยุ่นในท้องถิ่น ? การเปลี่ยนแปลงเป็นเพียง "จากบนสู่ล่าง "หรือว่า "จากล่างสู่บน"เพียงบางส่วน ? 
 
 
เมื่อมีหลักฐานชิ้นใหม่โผล่ขึ้นมาเรื่อย ๆ นักประวัติศาสตร์ก็ได้ท้าทายมุมมองที่มีต่อสหภาพโซเวียตว่ามีลักษณะเป็น "องค์กรที่เป็นปึกแผ่น" และได้พบกับแนวคิดที่ว่า ถึงแม้จะมีการโฆษณาภาพของโซเวียตภายใต้การปกครองของสตาลิน เขาก็ไม่ได้สถิตอยู่ทุกหนแห่ง และเขาก็ไม่ได้มีอำนาจอย่างเต็มที่เหนือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สตาลินนั้นเป็นจุดศูนย์กลางแห่งการตัดสินใจและแน่นอนว่าเขาได้กำหนดทิศทางของประเทศ ทว่าการตีความใหม่ๆ ของการกวาดล้างและความน่าสะพึงกลัว (ดูตัวอย่างหนังสือ "ต้นกำเนิดของการกวาดล้างครั้งใหญ่" (Origins of the Great Purges) ของ เจ อาร์ช เกตตี ปี 1985) ได้แสดงว่าสตาลินนั้นมีอยู่บ่อยครั้งที่ต้องสนองตอบแรงกดดันจากหลายๆ ที่ในระบบ 
 
 
อย่างไรก็ตาม หนังสือ "ลัทธิสตาลิน " (Stalinism)  ของแกร์แฮม กิล ในปี 1990 ได้ชี้ให้เห็นว่า "ถึงแม้เขาจะไม่ตระหนักถึงตัวตนของทุกคนที่ถูกกำจัดออกไปลายมือชื่อของเขาที่อยู่ใต้รายชื่อของผู้ถูกกำจัดโยงมาโดยตรงถึงเขาถึงชะตาของคนเหล่านั้น การลงโทษของเขานั้นสำคัญสำหรับการกำจัดสมาชิกคนสำคัญของพรรค นอกจากนี้ ตำแหน่งของเขายังรับประกันได้ว่าเขาสามารถระงับการกวาดล้างเมื่อเขารู้สึกว่าพอสมควรแล้ว ดังนั้นนำมาสู่ข้อเท็จจริงที่ว่าการกวาดล้างยังคงดำเนินต่อไปตราบใดที่ยังต้องขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของเขาโดนตรง"
 
ในงานเขียนชั้นนำคือ "ยุโรปยุคใหม่ช่วงปี 1870-1945" (Modern Europe 1870-1945) ของคริส คัลพินและรูธ เฮนิก ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 1997 ได้ขึ้นหัวข้อของบท ๆ หนึ่งเกี่ยวกับสตาลินว่า "จริงๆ แล้วสตาลินสำคัญขนาดนั้นหรือ ?" ความคิดของนักประวัติศาสตร์หลายคนก็แตกต่างกันออกไป บางคนเห็นว่านโยบายของเขานั้นจำเป็นที่จะนำไปสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจทางอุตสาหกรรม และสามารถต้านทานการบุกนาซีเยอรมันได้ (แค่มาคิดดูว่าถ้าหากฮิตเลอร์ชนะ ประวัติศาสตร์จะเปลี่ยนไปขนาดไหน !) หนทางเดียวที่จะฉุดประเทศที่ล้าหลังมาสู่ศตวรรษร่วมสมัย ดังที่พระเจ้าปีเตอร์มหาราชเคยทรงค้นพบคือการนำเอานโยบายของรัฐมาปฏิบัติใช้อย่างไร้ความกรุณาแทนที่มาตรฐานการครองชีพและเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชนในช่วงสั้น ๆ อนึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนเห็นว่ายังมีเหตุผลอื่นๆ ในการทำเช่นนี้ ดังความคิดของบูคารินในหนังสือชื่อ "บันทึกของนักเศรษฐศาสตร์" (Notes of An Economist)  ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1928 ได้แนะนำว่าการสืบเนื่องของเอ็นอีพี  (New Economic Plan หรือแผนเศรษฐกิจใหม่ -ผู้แปล) ทำให้ได้ผลสำเร็จเหมือนกันแต่ใช้วิธีการที่ละมุนละม่อมกว่า เศรษฐกิจกำลังพัฒนาไปได้ดีทีเดียวในช่วงปลายทศวรรษ ที่ 20  ผลผลิตนั้นได้มีจำนวนมากกว่าในระดับเมื่อปี 1913 ไม่มีความต้องการที่จะผลักไสไล่ส่งให้ชาวนาชาวไร่เข้าสู่ระบบนารวม บางคนจึงเสนอว่าความชั่วร้ายทั้งหมดมาจากสตาลินเอง ในหนังสือ "ในประเทศรัสเซีย ช่วงปี 1917-1941" (In Russia 1917-1941) ของมาร์ติน แม็คคัลเลย์ตีพิมพ์ในปี 1997 เห็นว่าเมื่อมีการเสียสละอย่างมากมาย การเจริญเติบโตร้อยละ 5.1 ต่อปีถือว่าเล็กน้อยและอาจจะบรรลุผลได้โดยใช้วิธีการแบบเก่ามากกว่านี้
 
 
การจัดการกับความหลากหลายของมุมมอง
 
ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานที่นำมาศึกษาจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความเห็นที่มีต่อตัวสตาลินก็ยังคงแตกแยกกันอยู่มาก เขาได้กลายเป็นกรณีศึกษาสำหรับประวัติศาสตร์นิพนธ์ ด้วยการกระทำของเขาซึ่งมีผลอย่างมหาศาล พวกเราจึงอาจหลีกเลี่ยงที่จะมองเขาอย่างไร้อคติไม่ได้ ในที่สุดแล้ว ตัวเขาเองยังบอกกับเชอร์ชิลว่าเศรษฐกิจแบบนารวมอาจทำให้คนเสียชีวิตถึง 10,000,0000 คน ! ดังที่ข้าพเจ้าได้บอกไว้แล้วว่ามีเหตุผลมากมายว่าทำไมนักประวัติศาสตร์ถึงเขียนเกี่ยวกับใครสักคนหนึ่ง หลักฐานะอะไรที่นำมาใช้ได้ พวกเขาได้เลือกใช้อะไร และพวกเขาได้เลือกที่จะตีความเหตุผลนั้นอย่างไร เป็นประเด็นสำคัญ ดังนั้นปมชีวิตและความเชื่อของตัวนักประวัติศาสตร์เองก็จะเป็นผลให้เกิดข้อสันนิฐานหลักต่อสิ่งที่เขาเขียนในเรื่องของอดีต นอกจากนี้ มุมมองร่วมสมัยก็เป็นเรื่องสำคัญ นั้นคือผู้คนมักจะมองอดีตจากมุมมองของตัวเองตามเวลาและความสนใจ การล่มสลายของระบบโซเวียตในปี 1990 นั้นได้เข้ามาบดบังมุมมองต่อการกระทำของสตาลินจากสายตาของคนในสมัยทศวรรษที่ 30  และ 40
 
 
ด้วยความหลากหลายของการตัดสินในตัวสตาลินเช่นนี้ จึงมีเพียง 4 ทาง นั้นคือ
 
 
1.การตัดสินต่อตัวสตาลินควรจะได้รับการประเมินโดยแหล่งนั้นถูกพิจารณาผ่านทักษะที่ถูกพัฒนาในจีซีเอสอี (การสอบวัดความรู้ของนักเรียนในอังกฤษ- ผู้แปล) ระดับก้าวหน้าและเหนือไปกว่านั้น อะไรคือความตั้งใจของผู้เขียน? เธอหรือเขานั้นอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมในการให้การตัดสินใจที่สมเหตุสมผลหรือไม่ ? มีสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นอคติอย่างชัดเจนหรือไม่ ? และมีความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้เขียนกับสตาลินและรัสเซีย ?
 
 
2.การตัดสินใจและการกระทำของสตาลิน การพัฒนาของระบบการปกครองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจสามารถถูกวางไว้ในช่วงชีวิตของคนที่ยาวกว่านี้หลาย ๆ ศตวรรษ ในประวัติศาสตร์รัสเซีย นโยบายของสตาลินและการบริหารงานมีความโดดเด่นอย่างไรในกรอบเวลาของรัสเซียที่ยาวนานยิ่งขึ้น ?
 
 
3.เมื่อการประเมินของสตาลินนั้นถูกนำมาพิจารณา เราต้องพยายามแยกอิทธิพลของเขาออกจากกลไกของพรรค (และรัฐ) ดังที่กล่าวไว้ข้างบน อิทธิพลของสตาลินนั้นได้ก้าวไปเหนือการจัดตั้งเป้าหมายและ "ภาพโดยรวม"อย่างไร ? อิทธิพลของสตาลินส่งผลต่อนโยบายและการนำไปปฏิบัติใช้ (โดยเฉพาะในแง่มุมของการกวาดล้าง)มากมายแค่ไหน ? และกลไกของพรรคนั้นได้พัฒนาวัฒนธรรมและจุดสมดุลของตัวเองเหนืออิทธิพลของสมาชิกคนสำคัญอย่างไร ?
 
 
4.ถ้าการตัดสินใจที่สำคัญของสตาลินในช่วงเวลาที่เขามีอำนาจนั้นเป็นเรื่องที่เห็นกันว่าชัดเจนอย่างยิ่ง (และโดยไม่คำนึงถึงบทบาทของเขาในนโยบายต่างๆ และการนำไปปฏิบัติ) เราจำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ขนาดไหน ? ไม่มีคำตอบเชิงประวัติศาสตร์ต่อคำถามด้านสมมติฐานเพราะว่าทุกประเทศนั้นมีความโดดเด่นเป็นของตัวเองในด้านภูมิศาสตร์ สังคมและประวัติศาสตร์ แต่ว่าการวิเคราะห์โดยตั้งเงื่อนไขแบบตรงกันข้าม (Counterfactual) อาจจะทำให้เกิดความรู้บางอย่าง 
 
 
ดังข้อสรุป เป็นเรื่องสำคัญที่จะย้ำตรงนี้ว่า คุณกำลังปลุกปล้ำกับชายผู้อยู่ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่แสนจะวุ่นวายสับสน ความเข้าใจและการประเมินที่สมเหตุสมผลอาจจะชะงัก ถ้าหากเราไม่มีความชื่นชอบถึงอุปนิสัยอันโดดเด่นของสตาลินและความเข้าใจถึงความเป็นรัสเซียของสตาลิน (สตาลินที่จริงเป็นคนจอร์เจีย -ผู้แปล) เช่นเดียวกับนโยบายและการกระทำของเขา
 
 
 
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    ฟังเพลงของเขามามากต่อมากแล้วเรามาทายกันดีกว่าว่าหน้าตาของเขาน่าจะเป็นอย่างไร สูงผอม บอบบาง ขี้โรค อารมณ์อ่อนไหวง่ายและหน้าตาเต็มไปด้วยความทุกข์อยู่ไม่คลาย ?  และเมื่อเห็นภาพของโชแปงซึ่งเป็นภาพถ่ายของเขาเพียงภาพเดียว (ไม่นับภาพวาดอีกหลายๆ ภาพ และภาพยนตร์ที่อิงกับชีวิตของเขา) ก็ค
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
จำได้หรือไม่กับพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกของอังกฤษเมื่อปี 2012 ที่มีภาพยนตร์สั้น ซึ่งสร้างความประหลาดใจและความประทับใจให้กับคนดูทั่วโลกอย่างมาก เมื่อเจมส์ บอนด์ (แสดงโดย ดาเนียล เครก) ได้เดินทางไปถวายการอารักขาให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (แสดงโดยพระองค์จริง) ที่พระราชวังบักกิงแฮมก่อนจะเสด็จโด
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
       คนไทยมักจะรู้จักอุปรากร Madame Butterfly  หรือ คุณนายผีเสื้อ  เป็นอย่างดีผ่านบทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้าของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่ทรงดัดแปลงหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากอุปรากรเรื่องนี้ซึ่งแสดงถึงโศกนาฏกรรมของความรักระหว่างคน 2 เชื้อชาติคือ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
       หากเข้าใจเปรียบเทียบ Psycho นั้นเปรียบดังดาวซึ่งจรัสแสงที่สุดเท่าที่ฮอลลีวู้ดจะมีไว้ประดับท้องฟ้าแห่งวงการภาพยนตร์โลกประเภทตื่นเต้นสยองขวัญ แน่นอนว่าผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ซึ่งทำให้คนดูเหงื่อทะลักเกือบทั้งเรื่องทั้งที่มีเครื่องปรับอากาศย่อมไม่ใช่ใครอื่นนอกจากราชาแห่งภาพยน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ตอนที่ 1    
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   บทความนี้ขออุทิศให้ภรรยาของอ้ายจรัลซึ่งครั้งหนึ่งผู้เขียนบทความนี้มีโอกาสได้รู้จัก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
      โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) ถือได้ว่าเป็นคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของวงการดนตรีคลาสสิก เขาเป็นผู้บุกเบิกดนตรียุคบาร็อค (Baroque) ซึ่งเป็นดนตรีที่เรียบง่าย ฟังสบายๆ ไม่ดุเดือดเหมือนกับแนวโรแมนติกที่บุกเบิกโดยเบโธเฟนในหลายสิบปีให้หลัง  ด้วยดนตรีของบ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
     เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ สังคมไทยเกิดคำฮิตกับเพศชายคือคำว่าเมโทรเซ็กซัล (Metrosexual) หรือเรียกสั้นๆ ว่าเมโทร กระนั้นก็ทำให้คนเข้าใจไปเป็นคำ ๆ เดียวหรือใกล้เคียงกับ  คำว่า Homosexual หรือ พวกรักร่วมเพศ จึงกลายเป็นมองว่าคนพวกนี้เป็นเกย์ทั้งนั้น  ตามความจริ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 Ran(1985) เป็นงานชิ้นโดดเด่นและใช้ทุนสุดมหาศาลของยอดผู้กำกับภาพยนตร์อย่างอาคิระ คุโรซาวาในช่วงบั้นปลายที่เขาหันมาทำภาพยนตร์เป็นสีธรรมชาติ บางคนอาจจะชอบภาพยนตร์สีธรรมชาติเรื่องก่อนหน้านี้ของเขาคือ kagemusha หรือนักรบเงา (1980) แต่ผมคิดว่า Ran จัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่เปี่ยมด้วยเนื้อ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                                        
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ปีเตอร์ ไชคอฟสกี (Pyotr Ilyich Tchaikovsky) คีตกวีชื่อดังที่สุดคนหนึ่งของรัสเซีย ไม่ได้เก่งแค่แต่งเพลงประกอบบัลเลต์อย่างเช่น Nutcracker หรือ Swan Lake รวมไปถึงไวโอลินและเปียโนคอนแชร์โตอันลือชื่อ หากแต่ยังฉกาจในการแต่งซิมโฟนี ซึ่งแต่ละบทก็มีชื่