Skip to main content

   

    บทความต่อไปนี้เป็นการเขียนวิเคราะห์หนังตลกโรแมนติก (หรือเปล่าหว่า ?) ที่เน้นมุขไปทางเรื่องใต้สะดือเหมือน American pie เนื่องจากผมเคยดูหนังเรื่อง American pie เพียงครั้งเดียวและนานมาแล้วเลยบอกไม่ได้มีแนวคิดอะไรแฝงอยู่ในนั้นบ้าง (หรือว่าไม่มีอะไรเลย ?) แต่ในหนังเรื่องนี้ถือได้มีอะไรหลายอย่างเพียงพอสำหรับเขียนถึงและเพียงพอสำหรับการเสียเวลาของท่านในการอ่าน หนังเรื่องนี้กำกับโดยจัดด์ อาพัดโทว์ ผู้ที่เคยฝากฝีมือกับการเป็นผู้ผลิตหนังเรื่อง Anchorman: The Legend of Ron Burgundy (2004)เกี่ยวกับโฆษกโทรทัศน์ของอเมริกาในทศวรรษที่ 70  ซึ่งก็ตลกบ้างไม่ตลกบ้าง ชะรอยว่าคงไม่ค่อยเข้าตาคนไทยก็เลยไม่เคยดังเท่าไรนัก สำหรับเรื่อง 40 Year -Old -Virgin เป็นเรื่องแรกที่เขากำกับและประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล ได้ทั้งเงินและกล่อง สำหรับกล่องคือนักวิจารณ์หนังชื่อดังเช่นริชาร์ด โรเปอร์ คู่หูของโรเจอร์ อีเบิร์ต จัดให้เป็นหนังหนึ่งยอดเยี่ยมอันดับที่สิบของปี 2005

 

                                 

                                                ภาพจาก Amazon.com

 

 

     ภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งชื่อได้เหมาะกับแนวคิดหลักของเรื่องเป็นยิ่งนักนั้นคือพระเอกของเรื่องนามว่าแอนดี้ สไตท์เซอร์ (แสดงโดยสตีฟ คาเรลล์) คนที่เราคุ้นหน้ากันดีจากบทของพิธีกรทีวีคู่แข่งของจิม แคร์รีย์ ในหนังเรื่อง Bruce Almighty ที่สร้างเสียงฮาโดยการตกเป็นเหยื่อของพระเอกตอนรายงานข่าว เขาช่างมีใบหน้าและบุคลิกเหมือนกับดาราดังอีกคนคือเบน สตีลเลอร์ และรูปแบบการแสดงก็เหมือนกันด้วย แอนดี้ทำงานเป็นเสมียนอยู่ในร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่ง เขาอายุ 40 ปี ที่สำคัญนอกจากโสดแล้วเขายังบริสุทธิ์ด้วยต่างหาก !! เหตุการณ์นี้สามารถมาตั้งเป็นกระทู้ในพันทิปห้องปัญหาชีวิต ได้ว่า

     "มีด้วยหรือสำหรับผู้ชายอายุ 40 ปีแล้วยังไม่เสียความบริสุทธิ์ให้กับหญิงใดเลย?"

     ชีวิตของแอนดี้นั้นแน่นอนว่าย่อมเป็นไปตามความคาดหมายของเราคือเป็นคนขี้อาย เงียบ ๆ เรียบร้อย บุคลิกค่อนข้างจะออกไปทาง Regressive คือวัยทดถอยเหมือนกับเด็กไม่ว่าชอบเล่นเกม ชอบทาสีตุ๊กตา ขับรถไม่เป็น ขี่แต่จักรยาน และเมื่อจอดจักรยานแล้วก็จะถอดเอาล้อมาด้วยกันไม่ให้คนขโมยได้ แถมยังหิ้วล้อนั้นเข้ามาในร้าน อันสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนดูอย่างมาก ในร้านนี้เขามีเพื่อนซึ่งอยู่ในวัยใกล้ๆ กันอีก 3 คนซึ่งแต่ละคนค่อนข้างจะช่ำชองเรื่องผู้หญิงเป็นยิ่งนัก แต่แล้วโชคชะตาของแอนดี้ก็เปลี่ยนไปเมื่อทั้ง 3 คนล่วงรู้ว่าเขาเป็นชายบริสุทธิ์ทั้งแท่ง ทั้ง 3 คนจึงวางแผนให้แอนดี้เสียความบริสุทธิ์ให้กับหญิงใดหญิงหนึ่งให้จงได้ แต่แล้ว แอนดี้ก็ไปตกหลุมรักกับทรีช พรีรดมอนท์ (แสดงโดยคาธอริน คีนเนอร์) แม่ม่ายลูกติด แถมเธอยังเป็นย่าคนในวัยที่ยังไม่มากอีกด้วย เรื่องราวจะเป็นอย่างไร กรุณาติดตามหาดูเอาเอง

    สำหรับแนวคิดแฝงในเรื่องนี้เราพบครั้งแรกในชื่อเรื่องนั้นแหละ นั่นคือ คนบริสุทธิ์ที่อายุ 40 ปี (40-year-Old Virgin) สมมติว่าคนที่ว่านี้เป็นผู้หญิงก็ย่อมทำให้หนังลดความน่าสนใจไปมากกว่าครึ่ง เพราะปัจจุบันเป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้วสำหรับผู้หญิงในการอยู่เป็นโสดตลอดชีวิตด้วยเหตุผลอันหลากหลาย แต่ถ้าเป็นผู้ชายย่อมทำให้คนสนใจกันมากเหมือนกับตั้งชื่อหนังว่า "แมวที่พูดได้" (The Cat who can Talk) อะไรทำนองนี้ ที่ขบขันเพราะว่าแนวคิดเรื่องความบริสุทธิ์ (Virgin) นั้นถึงแม้ตัวศัพท์เองจะสามารถใช้ได้ทั้ง 2 เพศ แต่สมัยก่อนเราจะใช้กับเพศหญิงเท่านั้นและกลายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงดังจะตั้งลงในห้องปัญหาชีวิตได้ว่า

        "ทำไมผู้ชายถึงชอบผู้หญิงบริสุทธิ์ ?" หรือ "สมองผู้ชายมีแต่ให้ความสำคัญกับเยื้อบางๆ ของผู้หญิงเท่านั้นหรือ ?"

       แน่นอนว่าแนวคิดนิยมผู้หญิงที่บริสุทธิ์ย่อมอยู่ในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ (Male dominance) นั้นคือมองผู้หญิงเป็นเหมือนกับสิ่งของอันล้ำค่าที่จะต้องบริสุทธิ์จนกว่าจะถึงวัยอันควรนั้นคือตกเป็นของผู้ชายที่สมควรกันหรือมีอำนาจและบารมีเหนือกว่า คนไทยสมัยก่อนจะรับไม่ได้เลยกับหนังที่นางเอกตกเป็นของคนอื่นก่อนได้กับพระเอก แต่สำหรับพระเอกแล้วการได้กับผู้หญิงคนอื่นก่อนนางเอกย่อมถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชายชาตรี จนเลยไปถึงแนวคิดที่ว่ายิ่งมากยิ่งดี (อันสะท้อนถึงแนวคิดผัวเดียวเมียหลายคนในอดีต แม้ว่าปัจจุบันแนวคิดเรื่องผู้ชายรักเดียวใจเดียวหรือรักครอบครัวจะมาแรง แต่แนวคิดเก่าๆ แบนี้ก็ยังแฝงมากับละครหรือภาพยนตร์อยู่ไม่น้อย)  ในทางกลับกัน การที่ผู้หญิงหวงแหนพรหมจารีจนอายุเกินวัยอันควรโดยที่เธอเองไม่ใช่นักบวชหรือแม่ชี  สังคมทุกที่ย่อมมองในด้านไม่ดี จึงมักจะมีทฤษฎีตีตราทางสังคมดังภาษาอังกฤษเรียกว่า spinster หรือสาวขึ้นคาน * ถึงแม้ปัจจุบันสังคมจะยอมรับการเป็นโสดของผู้หญิงมากขึ้นแต่แนวคิดเช่นนี้ก็ยังทรงพลังอยู่ ดังจะดูได้จากนิตยสารสำหรับผู้หญิงหลายเล่มที่มุ่งเน้นให้ผู้หญิงจับผู้ชายหรือหาสามีให้จงได้ หนังตลก โรแมนติกหลายเรื่องจึงเน้นความพยายามของนางเอกในการดิ้นรนออกจากความเป็นโสดนั้นไม่ว่าเรื่อง Bridget Jones's Diary แนวคิดที่ต่อต้านความนิยมนี้ย่อมถือว่าเป็นแนวคิดแบบสตรีนิยมหรือ Feminism อย่างไม่มีปัญหาที่จะประณามสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่และใจแคบ แต่สำหรับผู้ชายที่ยังบริสุทธิ์ในวัยที่มากแล้วล่ะ ? ในหนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความแปลกแยกของแอนดี้ต่อการล้อเลียนภายหลังจากที่เพื่อนร่วมงานในร้านทุกคนรู้ว่าเขายังไม่เคยมีอะไรกับสาวคนไหนเลย แน่นอนว่าสังคมที่เราอยู่อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่เท่าที่ผมเห็นมาหากใครรู้ว่าหมอนั้นยังบริสุทธิ์อยู่ก็จะมองด้วยสายตาที่แตกต่างออกไป ไม่เหมือนกับผู้ชายที่ผ่านผู้หญิงมากมายย่อมคุยโวโอ้อวด ดีไม่ดีจะบรรยายกิจกรรมบนเตียงทุกอิริยาบถด้วยความภูมิใจ เท่านี้ก็พอจะวิเคราะห์ได้ว่า แนวคิดในเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่นี้ย่อมทำให้เหยื่อไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น หากผู้ชายก็สามารถเป็นเหยื่อได้เช่นกัน

     หากมองตามทฤษฎีสังคมวิทยาของการจัดแบ่งชนชายขอบ (หรือชนกลุ่มน้อย) ย่อมจะมีการกันให้คนที่ไม่เข้าประเภทออกไปคนที่อยู่ตรงกลางจึงเป็น ผู้ชายรักต่างเพศ-ที่เคยผ่านผู้หญิงมาแล้วอย่างน้อยก็ภรรยา-ฐานะชนชั้นกลางถึงรวย-ฯลฯ (ถ้าข้ามประเทศก็จะรวมถึงผู้ชายผิวขาว)  แนวคิดที่ว่ายิ่งนอนกับผู้หญิงมากยิ่งดีนั้นก็ได้แก่พระเอกในภาพยนตร์ต่อสู้หลายเรื่องเช่น James Bond    ส่วนพวกที่อยู่ออกขอบ ๆ ก็ได้แก่ผู้หญิง พวกรักร่วมเพศ ชนสีผิว ผู้พิการ ผู้ติดเชื้อ ฯลฯ สำหรับชายโสดเช่นแอนดี้ย่อมถูกจัดให้เป็นพวกที่เบี่ยงเบนจากตรงกลางหน่อย เพียงเพราะไม่เคยนอนกับผู้หญิงเท่านั้น และเขาก็ไม่ใช่เกย์เพราะในหนังย้อนกลับไปตอนที่เขายังวัยรุ่นแสดงให้เห็นว่าเขาได้พยายามมีอะไรกับผู้หญิงมา 3 ครั้งแต่เกิดอุบัติเหตุ (ที่น่าตลก)เสียก่อนทำให้ขาดความเชื่อมั่นกลายเป็นโรคจิตที่เรียกว่า Love-shyness หรือโรคกลัวมีความสัมพันธ์กับเพศตรงกันข้าม นั้นเป็นสิ่งที่แอนดี้จะต้องต่อสู้ตลอดทั้งเรื่องเพื่อให้กลับไปสู่จุดศูนย์กลางของการยอมรับของสังคม

    ในสายตาของผู้ชาย (หรือผู้หญิง)ที่ตกอยู่ในวาทกรรมแบบ Sexism (แนวคิดที่เชื่อว่าผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง) และ Machismo (ผู้ชายที่ดีต้องเป็นผู้ชายจ๋า) การมีเพศสัมพันธ์ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ชายคนนั้นได้ย่อมได้มีอำนาจเหนือผู้หญิงแล้ว การไม่เคยมีอะไรกับผู้หญิงเลยถือว่าเป็นวิกฤตการณ์ท้าทายความเป็นลูกผู้ชายเป็นยิ่งนัก แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องอะไรสักอย่างของผู้ชายคนนั้น ในขณะเดียวกันหนังก็ไม่ได้สร้างภาพความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงในด้านที่สมบูรณ์แบบเมื่อเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มคือเดวิดเกิดช้ำใจเพราะพบแฟนเก่าเลยละความตั้งใจในการหาเรื่องจีบผู้หญิง เพื่อนอีกคนหนึ่งคือคาลซึ่งเห็นใจก็พยายามกระตุ้นทุกวิถีทางให้เขากลับมาสืบทอดอุดมการณ์ "ผู้ชายเป็นใหญ่"อีกครั้ง คล้าย ๆ กับหนังเรื่อง Fight Club แต่ Fight Club เน้นเรื่องการใช้กำลังต่อสู้ ส่วน 40 Year -Old -Virgin นั้นเน้นการมีเพศสัมพันธ์ หรือมีบางฉากที่ 4 สหายแข่งกันปัสสาวะข้างตึกว่าใครสามารถไปไกลกว่ากัน (เน้นความแผลง ๆ แบบลูกผู้ชาย) หรือตอนมารวมกลุ่มพูดคุยกันก็ขวางหลอดไฟยาว ๆ ใส่พื้น (เน้นความรุนแรงนิดๆ)

     หนังยังมีสิ่งผลักดันคือถึงความท้าทายของผู้หญิงที่มีต่อสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ นั้นคือให้หัวหน้างานในร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นผู้หญิงท่าทางจืดชืดคนหนึ่ง(ที่ไม่บริสุทธิ์แต่ไม่แต่งงาน)และยังสร้างกฎเกณฑ์อะไรที่ทำให้ผู้ชายซึ่งเป็นลูกน้องอึดอัดเช่นบังคับให้โทรทัศน์ที่แสดงสำหรับลูกค้าเปิดแต่คอนเสิร์ตของไมเคิล แม็คโดนัล ซ้ำซาก เพื่อนๆ ของแอนดี้จึงรวมกลุ่มกันในการหมกมุ่นแต่เรื่องใต้สะดือเช่น เข้าร่วมงานจับคู่ หรือการไปเที่ยวผับเพื่อจับสาวถือได้ว่าเป็นการระบายออกในการแสวงหาอำนาจจากผู้หญิงคนอื่น และมีตอนหนึ่งที่หนังแสดงให้เห็นถึงความเคลือบแคลงใจของผู้ชายที่กลัวต่อการตกอยู่ใต้อำนาจของผู้หญิงอย่างชัดเจน นั้นหัวหน้างานหญิงคนนั้นได้เสนอตัวขอนอนกับแอนดี้ (ไปพร้อม ๆ กับแนวคิดเรื่อง Free Love หรือรักเสรีดังเช่นคำว่า F-ck Buddy หรือเพื่อนที่นอนด้วยกันเท่านั้น)แต่แอนดี้ปฏิเสธ อันเป็นการทำลายทฤษฎีความเชื่อแรกที่ผมนำเสนอมาเองว่า การมีเพศสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่า ผู้ชายต้องมีอำนาจเหนือผู้หญิงเสมอไปไม่ ผู้ชายอาจจะโดนผู้หญิงมีอำนาจเหนือกว่าก็ได้ อันนำไปสู่ข้อเท็จจริงที่ว่า กรณี Sexual Harassment หรือการคุกคามทางเพศเช่นในที่ทำงานอาจจะไม่ใช่แค่เจ้านายที่เป็นชายกับลูกน้องที่เป็นหญิงเท่านั้น อาจจะรวมถึงเจ้านายที่เป็นหญิงกับลูกน้องที่เป็นชายก็ได้ (ตัวอย่างที่แปลก ๆก็ได้แก่รายงานของเชลยศึกอิรักที่ถูกทารุณกรรมทางเพศโดยผู้คุมที่เป็นทหารหญิง) การปฏิเสธของแอนดี้ถือว่าเป็นการนำตัวเองออกไปจากการครอบงำของผู้หญิงอีกครั้งหนึ่ง

 

                                         

 

                                                             ภาพจาก fanart.tv

 

    ประเด็นเรื่องรักร่วมเพศเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับหนังเรื่องนี้ที่จัดได้ว่าเป็นหนังแบบ Homophobic หรือการเกลียดพวกรักร่วมเพศ อันนำไปสู่การจัดพวกรักร่วมเพศให้เป็นชนชายขอบได้อย่างชัดเจน อย่างเช่นตอนที่พรรคพวกรู้ว่าแอนดี้บริสุทธิ์ตอนที่เล่นไพ่กัน เพื่อนคนหนึ่งคือเจย์บอกว่า "ฉันก็รู้จักพวกเกย์ดี พวกที่ติดคุกน่ะ" (แสดงว่าเกย์คือพวกที่ติดคุกเท่านั้น) หรือแม้แต่ตอนที่ดาวิดและคาลขณะเล่นเกมด้วยกันและคาลพูดแบบทีเล่นทีจริงกับดาวิด (ตอนคิดจะเลิกจีบสาวเพราะช้ำใจ) ว่าเขารู้ว่าเดวิดกำลังจะเป็นเกย์ เมื่อเดวิดปฏิเสธ คาลก็ถามย้อนกลับไป “นายรู้ไหมว่าฉันรู้ว่านายเป็นเกย์อย่างไร” (You know how I know you're gay?) จากเขาก็บรรยายว่าเกย์ชอบอย่างโน้นอย่างนี้ คล้ายๆ กับที่มีคนในเว็บไซต์พันทิป ตั้งข้อสังเกตว่าพวกรักร่วมเพศจะชอบทำนิ้วแปลกๆ หรือชอบเข้าสถานออกกำลังกายบ่อย ๆ นั้นคือหนังมีการตีตรา จำแนกพวกรักร่วมเพศนั่นเอง เช่นเดียวกับชาวหญิงรักหญิงที่แอนดี้ไปพบในงานหาคู่ซึ่งบอกว่าเธอต้องการลองผู้ชายดูบ้าง ซึ่งหนังต้องการจะบอกว่า เธอซึ่งมีความเป็นผู้ชายสูงน่าจะเหมาะกับแอนดี้ซึ่ง (น่าจะ) มีความเป็นผู้หญิงสูงเหมือนกัน แต่สารที่มากับหนังอาจจะต้องการบอกว่าผู้หญิงถึงแม้จะออกนอกกรอบมาตรฐานทางเพศ (เป็นทอม) แค่ไหนสุดท้ายก็ต้องกลับมาหาผู้ชายอยู่นั้นแหละ

    ท้ายที่สุด ถึงแม้จะหวุดหวิดกับการเสียหนุ่มหลายครั้ง แต่แอนดี้ก็ได้ตกล่องปล่องชิ้นกับทริช ที่ไม่ได้มีลักษณะแบบผู้หญิงร้ายๆ ที่ทรงอำนาจเหมือนเจ้านายที่ทำงาน เลยหากมีความเป็นแม่สูงจนสามารถประคบประงอมแอนดี้จนกลายเป็นคู่รักที่แสนหวานได้** (จะว่าไปพวกสตรีนิยมก็ยังมองว่า "ความเป็นแม่"ของผู้หญิงก็ถูกสร้างโดยผู้ชายอีกนั้นแหละ) ท้ายสุดฉากบนเตียงที่แอนดี้สามารถประกอบกิจกรรมได้จนผู้หญิงที่ผ่านโลกมามากเช่นทริชต้องยอมแพ้ แสดงให้เห็นถึงชัยชนะของผู้ชายที่เคยถูกมองว่าตกขอบของศูนย์กลางมาแล้ว เหมือนหนังต่อสู้ที่พระเอกซึ่งตกกระป๋องกลับมาชนะผู้ร้าย สุดท้ายหนังเรื่องนี้ก็อำพรางความพยายามในการสืบทอดวาทกรรม "ผู้ชายเป็นใหญ่"โดยมีตลกลามกอำพรางนั้นเอง

......................................................................

 

*กระนั้นเองผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับศาสนาย่อมแตกต่างออกไปอย่างเช่นพระนางมาเรียซึ่งเป็นพระมารดาของพระเยซูก็เป็นหญิงบริสุทธิ์ตลอดชีวิต ทว่าถ้ามองแบบแนวคิดสตรีนิยม ก็จะโจมตีว่าเรื่องราวความบริสุทธิ์ของพระนางถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าและพระเยซู ซึ่งเป็นผู้ชาย

 

**ที่จะไม่กล่าวถึงเป็นไม่ได้คือฉากที่เน้นความแปลกแยกของ "ผู้ชายบริสุทธิ์"อีกฉากหนึ่งคือตอนที่แอนดี้พาลูกสาวของทริชไปเข้าคลินิกที่ปรึกษาทางเพศ และเขาพาซื่อบอกความจริงว่าเขายังบริสุทธิ์ ทำให้คนไข้คนอื่นที่ได้ยินเยาะเย้ย ถากถาง

 

 

 

     

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เข้าใจว่าผลงานของ William Shakespeare ที่คนไทยรู้จักกันดีรองจากเรื่อง Romeo and Julius ก็คือวานิชเวนิส หรือ Merchant of Venice ด้วยเหตุที่ล้นเกล้ารัชกาลที่หกทรงแปลออกมาเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเด็กนักเรียนได้อ่านกัน และประโยค ๆ หนึ่งกลายเป็นประโยคยอดฮิตที่ยกย่องดนตรีว่า &nbsp
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากพูดถึงหนังเพลงหรือ musical ที่มีสีสันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในทศวรรษที่ห้าสิบและหกสิบ เราก็คงจะนึกถึงเรื่อง West Side Story เป็นเรื่องแรก ๆ อาจจะก่อน Singin' in The Rain หรือ Sound of Music เสียด้วยซ้ำ ด้วยหนังเรื่องนี้มีจุดเด่นคือเพลงทั้งบรรเลงและเพลงร้องที่แสนไพเราะ ฝีมือการกำกับวงของวาทยากรอ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
มักเป็นที่เข้าใจว่าอเมริกาเป็นประเทศแห่งความเท่าเทียมกัน อาจด้วยอเมริกานั้นไม่เคยเปลี่ยนผ่านยุคศักดินาเหมือนกับประเทศในเอเชียและยุโรป อเมริกาถึงแม้จะมีชนชั้นกลางมากแต่บรรดาในชนชั้นกลางก็มีการแบ่งแบ่งแยกที่ดีที่สุดคือเงิน รองลงมาก็ได้แก่ฐานะทางสังคม สีผิว เพศ ฯลฯ เอาเข้าจริงๆ ไม่มีสังคมไหนในโลกท
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    1.นอยด์ เป็นคำแสลงที่ถือกำเนิดได้มานานหลายปีแล้ว มาจากคำว่า noid กร่อน (โดยคนไทยเอง) จากศัพท์อังกฤษ  paranoid ซึ่งแปลว่า ความวิตกกังวลว่าคนอื่นไม่ชอบหรือพยายามจะทำร้ายตัวเองแม้ว
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                                                                                    &
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ผีเป็นบุคคลที่เราไม่พึงปรารถนาจะพบ แต่เราชอบนินทาพวกเขาแถมยังพยายามเจอบ่อยเหลือเกินในจอภาพยนตร์ ทั้งที่ก็ไม่รู้ว่ามีตัวตนจริงหรือเปล่า ด้วยส่วนใหญ่ได้ยินกันปากต่อปาก ประสบการณ์ส่วนตัวก็ไม่ชัดเจน อาจเกิดจากความผิดปกติทางประสาทสัมผัส หรือการหลอกตัวเองก็ได้ ยิ่งหนังผีทำได้วิจิตร พิศดารออกมามากเท่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                 แปลและตัดต่อบางส่วนจากบทความ Gustav Mahler : The Austrian composer เขียนโดยเดรีก วี คุก จาก  www.britannica.com
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ทศวรรษที่ 80 ของฝรั่งคือปี 1980-1989  หรือว่าช่วง พ.ศ. 2523  ถึง พ.ศ.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ถึงแม้เบโธเฟน (Ludwig Van Beethoven) จะได้ชื่อว่าเป็น คีตกวีที่แสนเก่งกาจคนหนึ่งในยุคคลาสสิกและโรแมนติก แต่ศิลปะแขนงหนึ่งที่เขาไม่สู้จะถนัดนักคือการเขียนอุปรากร เหมือนกับ โมซาร์ท คาร์ล มาเรีย ฟอน เวเบอร์ หรือ โจอากีโน รอสซีนี  ดังนั้นช่วงชีวิต 50 กว่าปีของเบโธเฟนจึงสามารถสร้างอุปรากรออกมาไ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ตามความจริง คำว่า Godfather เป็นคำที่ดีมาก หมายถึงพ่อทูนหัว ของศาสนาคริสต์ที่หมายถึงใครสักคนหนึ่งยอมรับเป็นพ่อทูนหัวของเด็กซึ่งเป็นลูกของคนอื่นในพิธีศีลจุ่มหรือ Baptism เขาก็จะเป็นผู้ประกันว่าเด็กคนนั้นจะได้รับการศึกษาทางศาสนาและถ้าพ่อแม่ของเด็กคนนั้นตายก็ต้องรับอุปการะ นอกจากนี้ยังหมายถึงฝ่ายห
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 visionary ,under the shadow Prayut tries to be the most visionary politician,but he is merely under the shadow of Thacky.&