เคยสังเกตไหมว่าพวกที่เป็นเซเลบและพวกที่ไม่ได้เป็นเซเลบแต่อยากจะเป็นเซเลบ มักจะหันมาใช้อาวุธชนิดหนึ่งในการโฆษณาสร้างภาพตัวเองซึ่งดูเหมือนจะได้ผลไม่น้อยไปกว่าให้หน้าม้ามาโผล่ตามเว็บไซต์ต่างๆ หรือเสนอหน้าผ่านเกมโชว์หรือรายการทั้งหลายในโทรทัศน์ก็คือหนังสือนั้นเอง หนังสือที่ว่ามักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวของเธอหรือเขานั้นเองไม่ว่าเกิดเมื่อไร ที่ไหน พ่อแม่เป็นใคร เรียนที่ไหน เป็นแฟนหรือกิ๊กกับใคร แสดงหนังหรือละครเรื่องใดบ้าง ที่สำคัญต้องลงรูปสวยหรือหล่อให้เยอะๆ เพื่อตอบสนองความอยากของประชาชนซึ่งน่าจะเป็นชนชั้นกลางเสียส่วนใหญ่ ซึ่งผมจะขอเรียกหนังสือชนิดนี้ว่า "หนังสือฟองสบู่"คือถูกตีพิมพ์ออกมามาก มีรูปแบบสวยงามๆ แต่ข้างในโบ๋เบ๋ เน้นเรื่องส่วนตัวโดยเฉพาะเรื่องอื้อฉาวทางเพศเสียมาก ยิ่งกลิ่นคาวแรงแค่ไหนยิ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า น่าตลกที่ว่าบางคนแค่ได้ออกโทรทัศน์หรือแสดงภาพยนตร์ไม่กี่ครั้งก็ออกหนังสือจนคนอ่านยังสงสัยว่าหมอนี่หรือนางคนนี้เป็นใครกัน
อย่างไรก็ดีพิธีกรรมที่ขาดไม่ได้สำหรับพวกเซเลบคือการเปิดตัวหนังสือตามห้างใหญ่ๆ เพื่อแจกลายเซ็นแล้วโหมออกข่าวทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ การผลิตหนังสือที่มีคุณคุณภาพไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การเรียบเรียงตัวหนังสือออกมาจากสมองตัวเองให้สละสลวย จูงใจคนอ่าน มีความชัดเจน ต่อเนื่องไม่สะดุดและมีแง่คิดแฝงอยู่ด้วยย่อมเป็นสิ่งที่เซเลบส่วนใหญ่ทำกันไม่ได้ทุกคนแม้จะเป็นเรื่องตัวเองก็ตาม ดังนั้นอาชีพที่คนเหล่านั้นต้องหันหน้าไปพึ่งก็คือนักเขียนผีหรือ ghost writer ที่ว่านักเขียนผีก็เพราะเป็นคนปิดทองหลังพระโดยให้พวกเซเลบเป็นคนเอาหน้าไปทั้งหมด เพียงแค่พวกเซเลบรวบรวมข้อมูลมาเล่าให้ฟัง พวกนี้ก็เอามาเขียนจนสำนวนดูเลิศเลอมีเสน่ห์จนเจ้าตัวเองเอามาอ่านแล้วรำพึงกับตัวเองว่า "ใช่ตัวกูหรือนี่ "
บทความนี้แท้ที่จริงต้องการจะแนะนำหนังสือนวนิยายเรื่อง The Ghost ซึ่งย่อมาจาก The Ghost Writer นั้นเอง The Ghost เป็นนวนิยายของนักเขียนชาวอังกฤษคือโรเบิร์ต แฮร์ริสเจ้าของนวนิยายชื่อดังก่อนหน้านี้ซึ่งหลายเล่มเข้าระดับเบสเซเลเลอร์เช่นFatherland (1992) Enigma (1995) Archangel (1999) Pompeii (2003) โดยเฉพาะ Enigma (1995) อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแข่งขันการถอดรหัสลับระหว่างฝ่ายสัมพันธ์มิตรกับเยอรมันนาซีในสงครามโลกครั้งที่สองได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ The Ghost ได้รับการยกย่องว่าเป็นนวนิยายอิงการเมืองเขย่าขวัญ (political thriller) ที่น่าติดตามมากที่สุดเรื่องหนึ่งแห่งปี นวนิยายที่ถูกตีพิมพ์ใน ปี ค.ศ. 2007 เล่มนี้มีตัวเอกซึ่งเป็นนักเขียนชื่อดังคนหนึ่งซึ่งนวนิยายไม่ได้บอกชื่อเพราะเรื่องถูกบรรยายโดยผ่านสายตาของเขาเองตัวเอกได้รับการติดต่อจากสำนักพิมพ์ให้ไปทำหน้าที่แทนไมค์ แม็คอาร่านักเขียนผีประจำตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษคือ อดัม แลงค์ ซึ่งต้องการผลิตหนังสืออัตชีวประวัติของเขาออกมาเล่มหนึ่ง นายแม็คอาร่าเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาขณะเดินทางมากับเรือข้ามฝากซึ่งแล่นข้ามทะเลไปยังเกาะมาร์ธาส์ วินียาร์ดในรัฐแมสซาชูเซ็ทของอเมริกาซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านพักตากอากาศของอดัมหลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ภาพจาก www.amazon.com
จากนั้นนวนิยายก็ได้นำเราให้ไปรู้จักกับอดัมและภรรยาของเขาคือรูธ ตัวอดัมเป็นที่มาของความอื้อฉาวของนวนิยายเล่มนี้เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าอิงอยู่บนตัวตนของนายโทนี่ แบลร์ของอังกฤษซึ่งเพิ่งพ้นตำแหน่งในปีที่นวนิยายถูกตีพิมพ์ ส่วนรูธก็คือนางเชอรี่ ภรรยาของแบลร์อวตารลงมานั้นเอง แต่บุคคลของเขาและเธอในนวนิยายถูกนำเสนอออกมาในด้านลบเช่นฉากหน้าอดัมเป็นคนมีเสน่ห์เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์แบบแบลร์แต่ความเป็นจริงเป็นคนที่ไร้อุดมการณ์ หลงตัวเองจนตัดขาดตัวเองออกจากความเป็นจริง (อันนี้แฮร์ริสจงใจใช้ด่าแบลร์ตรงๆ เลย) แต่เขามักถูกจูงจมูกโดยภรรยาเสมอมา รูธมีลักษณะเหมือนภริยาของอดีตประธานาธิบดีอเมริกาบางคนเช่นเรแกนหรือคลินตัน เธอเป็นผู้หญิงร้ายลึก จอมวางแผนชอบใช้คนอื่นโดยเฉพาะสามีเป็นเครื่องมือ จากการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอดัมและรูธ ตัวเอกก็ได้ค่อยๆ รู้ฉากหลังที่ลึกลับของทั้งคู่ทีละเล็กละน้อยอันจะเป็นกุญแจไขไปสู่ความลับว่าทำไม แม็คอาร่าถึงเสียชีวิตอย่างลึกลับโดยเฉพาะตอนที่ชะตาชีวิตของอดัมพบกับจุดผกผันเมื่อศาลอาชญากรสงครามได้ทำการไต่สวนเรื่องชั่วๆ ของเขาขณะยังเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งประกาศสนับสนุนรัฐบาลอเมริกันยุคประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุชในการทำสงครามต่อการก่อการร้าย
ในการนี้อดัมได้ร่วมมือกับซีไอเอในการลักพาตัวชาย 4 คนสัญชาติอังกฤษซึ่งถูกสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายอัลไควดาไปทรมานเพื่อหาข้อมูล แต่ว่าอดัมบังเอิญอยู่ในอเมริกาพอดีจึงรอดพ้นจากการถูกจับกุม เขาได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอเมริกันไม่ให้ส่งตัวกลับไปดำเนินคดียังประเทศอังกฤษ แต่กระนั้นก็ดูน่าอับอายไร้ศักดิ์ศรีไม่น้อยแถมยังมีคนจำนวนมากมาประท้วงรัฐบาลอเมริกันถึงเกาะ เข้าใจว่าถ้าแบลร์และภรรยาอ่านเข้าซึ่งคงรู้สึกเหมือนถูกตบหน้าเสียฉากใหญ่ๆ เพราะเนื้อเรื่องเช่นนี้สะท้อนถึงแนวคิดของคนเขียนและอังกฤษจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับแบลร์ที่ภักดีกับบุชในนโยบายการส่งทหารอังกฤษไปร่วมกับกลุ่มพันธมิตรในประเทศอิรักจนถูกขนานนามจากสื่อมลชนว่าเป็น "สุนัขพูดเดิลพันธุ์อเมริกัน" (American poodle) ในขณะเดียวกันนวนิยายก็วิพากษ์นโยบายการต่างประเทศของอเมริกาไปในตัว
สำหรับพวกเราก็คงจะอุทานว่าการอุ้มอดัมของสหรัฐฯ ช่างเหมือนกับชนชั้นปกครองไทยในอดีตเสียนี้กระไร แต่ถ้ามองลึกไปกว่านี้ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ผู้กระทำความผิดที่เคยกุมอำนาจรัฐมักจะรอดพ้นจากโทษทัณฑ์เสมออาจเพราะความคลุมเคลือทางประวัติศาสตร์หรือมีผู้อำนาจมาอุ้มก็ตามแต่จนน่าจะยกมาเป็นสุภาษิตได้ว่า คนสามัญฆ่าคนตายหนึ่งคน ท่านเรียกว่า"อาชญากร"คนมีอำนาจฆ่าคนได้หลายคน (แล้วไม่ถูกลงโทษ) ท่านเรียกว่า "ชนชั้นปกครอง"
The Ghost เป็นนวนิยายที่มีเสน่ห์คือสามารถผสมสานเรื่องการเมืองระหว่างประเทศเข้ากับ การสืบสวนสอบสวนอันเร่งเร้าความตื่นเต้นเข้ากับอารมณ์ขันแบบร้ายๆ ได้อย่างดีตามแบบเฉพาะตัวของแฮร์ริสคนเขียนถึงแม้จะสะดุดไปบ้างกับการเน้นย้ำการพรรณนาบางฉากซึ่งเป็นเพียงส่วนย่อย ๆของเรื่อง แต่ก็สามารถทำให้คนอ่านสามารถอ่านได้แบบวางไม่ลงและถึงแม้ความลับที่ถูกเฉลยในช่วงท้ายของเรื่องอาจจะดูตื้นไปเล็กน้อย แต่พลังทั้งมวลของหนังสือก็ทำให้คนอ่านมองข้ามจุดนี้ไปได้
นวนิยายเรื่องนี้ยังได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โดยมีการวางตัวผู้กำกับคือโรมัน โปลันสกี แต่เผอิญว่าคุณโปลันสกีถูกจับในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และกำลังจะถูกส่งไปดำเนินคดีในอเมริกาข้อหาข่มขืนผู้เยาว์เสียก่อน ภาพยนตร์เลยถูกพับไปก่อนจะสามารถเข็นมาสร้างจนออกฉายและประสบความสำเร็จอย่างสูงในปี 2010 ในชื่อ The Ghost Writer สำหรับพวกเราสามารถหา The Ghost มาอ่านได้ไม่ยากเพราะถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดยคุณ อิสริยา ชมภูผลและมีชื่อภาษาไทยคือ "เปิดแผนโค่นผู้นำ"
บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. รัฐไทยคิดว่าตัวเองเปรียบได้ดัง (10 ประเทศที่ฉ้อราษฎรบังหลวงน้อยที่สุดในโลก)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
สหรัฐอเมริกาต้นทศวรรษที่ 60 ถือได้ว่าอยู่ในช่วงสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของสงครามเย็นนั้นคือวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) ที่รัฐบาลฟีเดล คาสโตรยินยอมให้สหภาพโซเวียตนำขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์มาตั้งไว้ในคิวบาเมื่อปี 1962 จนนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(ผมยืนยันว่าบทความแปลคือ "จอห์น ราเบ้ นาซีผู้เป็นพระโพธิสัตว์แห่งเมืองนานกิง" นั้นต้นฉบับเป็นของผมเองซึ่งได้เขียนลงบล็อกมานานแล้ว หลังจากไปลองค้นหาดูกูเกิลก็พบว่ามีการลอกเอาบทความของผมไปลงในเว็บของตัวเอ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากจะพูดถึงผู้กำกับที่ชอบนำเอานวนิยายมาสร้างเป็นภาพยนตร์และประสบความสำเร็จอย่างมากมาย เซอร์ เดวิด ลีน (David Lean)ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลเหล่านั้น ดังจะเห็นได้จากผลงานอลัง
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ข้อสอบกลางภาควิชารัฐศาสตร์แบบสลิ่ม รหัส 11112
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้แปลมาจาก "มุมมองที่มีต่อสตาลิน : อดีตและอนาคต" (Depictions of Stalin: The Past and the Future )