ความหมายของ “hate speech” หรือ “คำพูดแสดงความเกลียดชัง”/”คำชัง” นี่ ถ้าไม่จัดการมันให้แคบ จำกัด ชัดเจน และเคร่งครัด จะอันตรายมาก พูดอะไรไปสักอย่างนี่มันมีโอกาสไม่ถูกใจใครคนใดคนหนึ่งอยู่แล้ว ถ้าใครๆ ก็อ้าง “hate speech” ได้ จิตใจฉันหวั่นไหว แล้วโวยต่อไปด้วยว่า อะไรที่เป็น “hate speech” จะต้องแบน เราก็คงต้องแบนทุกสิ่งอย่าง
ประเด็น “hate speech” ถูกพูดถึงกันมากขึ้นๆ ในสังคมไทย โดยเฉพาะในบริบทความขัดแย้งทางการเมือง ที่มีการทำร้ายบาดเจ็บล้มตายกัน คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าสื่อมีบทบาทสำคัญ ถึงขนาดที่ว่าทำให้เกิดความเกลียดชัง และในยุคสื่อใหม่แบบนี้ อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมก็เป็นจำเลยเก๋ๆ ให้โดนรุมด่า พร้อมๆ กับยกตัวอย่างคลาสสิก (จน cliche ไร้ความหมาย) อย่าง “Radio Rwanda” และ “วิทยุยานเกราะ” ว่านี่ไงๆ เห็นไหม มันเกิดขึ้นได้จริงๆ นะ โดยไม่แม้แต่จะคิดสักวินาทีว่าลักษณะของสื่อที่เอามาเทียบมันคนละอย่างกัน ใจคอจะเทียบกันตรงๆ เลยหรือไง (หรือกระทั่งว่า มันมีงานศึกษาว่า Radio Rwanda อาจจะไม่ได้มีอิทธิพลมากมายอย่างที่เราเข้าใจก็ได้)
จิลเลียน ซี. ยอร์ก (@jilliancyork) จาก Electronic Frontier Foundation เขียนบทความ “Facebook Should Not be in the Business of Censoring Speech, Even Hate Speech” หลังจากที่เฟซบุ๊กทนแรงกดดันจากกลุ่มรณรงค์ต่อต้านคำพูดแสดงความเกลียดชังต่อผู้หญิงไม่ไหว ต้องยอมแบนเนื้อหาที่แสดงความเกลียดชัง เหยียด หรือเล่นโจ๊กในเชิงดูถูกผู้หญิง
ประเด็นของยอร์กก็คือ มันสมควรแค่ไหนที่จะให้บริษัทเอกชนตัดสินใจว่า อะไรคือ “คำพูดแสดงความเกลียดชัง” ?
โดยชี้ว่า แม้เนื้อหาจำนวนมากที่กลุ่ม Women, Action & the Media (WAM!) กดรีพอร์ตนั้นจะน่าขยะแขยง (จนอาจนับว่าเป็น “hate speech” ได้) แต่ตามกฎหมายสหรัฐ (ซึ่งเฟซบุ๊กตั้งอยู่) มันไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด
ถ้าจะแบนมัน นั่นแปลว่า เรากำลังมอบอำนาจเหนือกฎหมายให้กับบริษัทเอกชนใช่หรือไม่?
อีกข่าวนึงติดกันที่อ่านเจอวันนี้ ก็ว่าด้วยเนื้อหา “น่ารังเกียจ” บนสื่อเช่นกัน
หลังเหตุการณ์ฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่วูลวิช รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย หรือ โฮมออฟฟิศ ของสหราชอาณาจักร เธเรซ่า เมย์ จากพรรคอนุรักษ์นิยม ก็ออกมาบอกว่า ทีวีวิทยุควรจะต้องแบนไม่ให้คนที่มี “มุมมองน่ารังเกียจ” มาออกอากาศ และต้องตรวจข้อความก่อนจะให้เผยแพร่ออนไลน์
ทีโมธี การ์ตัน แอช (@fromTGA) ศาสตราจารย์ด้านยุโรปศึกษาที่ออกซ์ฟอร์ด ก็เขียนโต้ว่า ความคิดที่จะเอาการเซ็นเซอร์มาแก้ปัญหานี่ ‘ทั้งปฏิบัติจริงไม่ได้ เป็นปฏิปักษ์กับเสรีภาพ มองอะไรแบบสั้นๆ และจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี’ (“What May proposes is impractical, illiberal, short-sighted and counter-productive.”)
บทความของเขามีชื่อว่า “After Woolwich, don’t ban hate speech, counter it. Hate it, too” หรือ “หลังจากวูลวิช อย่าแบนคำพูดเกลียดชัง ตอบโต้มัน และให้เกลียดมันด้วย”
ทีโมธียกตัวอย่างนโยบายในสมัยนายกมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ที่พยายามแบนไม่ให้โฆษกของของพรรคซินน์เฟน/กองกำลังไออาร์เอได้ออกทีวี ที่ล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จในยุคนั้น และจะยิ่งล้มเหลวในยุคนี้ ยุคที่มีกูเกิลและยูทูบ
นอกจากนี้ ทีโมธียังยกคำกล่าวของ แจ็ค สตรอว์ อดีตรัฐมนตรีโฮมออฟฟิศจากพรรคแรงงาน ที่ชี้ว่าการแบนพรรคซินน์เฟน/ไออาร์เอในยุคนั้น ยิ่งเป็นการช่วยเกณฑ์คนเข้ากองกำลังไออาร์เอ
ย่อหน้าสุดท้ายนี่ชอบมาก ทีโมธีอ้างเอ็ดมันด์ เบอร์ก นักคิดสาย modern conservatism/classical liberalism ว่า ความเกลียดนั้นมีประโยชน์ และเราควรเรียนรู้ที่จะเกลียด เก็บความเกลียดเอาไว้ ทำนองว่า เพราะความเกลียดก็เป็นความรู้สึกพื้นฐานที่จะทำให้เราพัฒนาความนึกคิดของเรา ไปในทางที่เราเลือกจะเป็น
“คนจะไม่รักสิ่งที่เขาต้องรัก คนจะไม่เกลียดสิ่งที่เขาต้องเกลียด”
ทีโมธีเคยมาพูดที่ไทยด้วย เมื่อมกราปีนี้เอง ในเวทีอียูเรื่องความปรองดองและเสรีภาพการแสดงออก เขาพูดถึงกรณีการตัดสินจำคุกสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงานและบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ไว้ว่า โทษตามมาตรา 112 ที่สมยศโดนไปสิบปีนี่ “เกินสัดส่วนไปอย่างไม่รู้จะพูดยังไง จนถึงขั้นว่าคนๆ นึงจำเป็นต้องแสดงออกถึงความโกรธแค้นของเขา” (“so wildly disproportionate that one has to express one’s sense of … outrage”)
จะ (อ้าง) “คำพูดแสดงความเกลียดชัง” หรือ “ความมั่นคงแห่งชาติ” ถ้ามันทำให้เราละเว้นการใช้เหตุผล ละทิ้งความได้สัดส่วนในการใช้มาตรการกำกับดูแล มันก็แย่พอกัน