เหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมง การลงประชามติเพื่อตัดสินใจอนาคตของสกอตแลนด์ก็จะเริ่มขึ้นแล้ว วันนี้ผมมาอยู่ที่เอดินบะระ เมืองหลวงของสกอตแลนด์
การเดินทางจากกลาสโกว์มาเอดินบะระ ถ้าจะใช้ขนส่งมวลชน ก็มีรถไฟกับรถทัวร์ระหว่างเมือง ไม่มีใครบินกันเท่าไหร่ เพราะมันใกล้นิดเดียว ถ้านั่งรถทัวร์ก็ 1 ชั่วโมงกับ 15 นาที น้อยกว่าเวลาเช็คอิน ตรวจร่างกาย รอรับกระเป๋า ไหนจะเดินทางไปและออกจากสนามบินอีก รถไฟกับรถทัวร์นี่วิ่งถึงกลางเมืองเลย
รถไฟในสกอตแลนด์นั้นก็เหมือนกับที่อื่นๆ ในสหราชอาณาจักร คือมีหลายยี่ห้อให้เลือก ไม่ว่าจะเป็น ScotRail, Virgin Trains, East Coast บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทเดินรถ ส่วนบริษัทที่ก่อสร้างและดำเนินงานระบบรางจะแยกออกมาต่างหาก บนเกาะบริเตน (ซึ่งไม่รวมไอร์แลนด์เหนือ) บริษัทที่ดูแลระบบรางคือ Network Rail การแปรรูประบบรางและการรถไฟในสหราชอาณาจักรนั้นไม่ได้ทำกันปุบปับ แต่ผ่านการแปรรูปมาหลายช่วงหลายขยัก สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง แต่ก็ค่อยๆ ทำกันมา จนทุกวันนี้ถือว่าเป็นบริการที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน (แม้จะยังเทียบยุโรปภาคพื้นไม่ได้เรื่องความตรงต่อเวลา) เชื่อมโยงระบบเข้ากับขนส่งมวลชนอื่นๆ ของเมืองได้สะดวก และราคาไม่แพงจนเกินไปนัก ถ้าวางแผนเดินทางล่วงหน้าเสียหน่อย (ยิ่งมีบัตรสมาชิกหรือเป็นนักศึกษาหรือเป็นพลเมืองอาวุโส ก็จะมีส่วนลดลงไปอีก)
เมื่อวานผมมาด้วยรถทัวร์ ยี่ห้อ Megabus ซึ่งยี่ห้อนี้มีวิ่งทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือ ในบางเส้นทาง ถ้าจองล่วงหน้าหน่อยก็อาจจะเดินทางได้ในราคา 1 ปอนด์เท่านั้น (บวกค่าจองออนไลน์ครั้งละ 0.5 ปอนด์ เป็น 1.5 ปอนด์ จดเลขตั๋วจากอินเทอร์เน็ตไปโชว์คนขับได้เลย) ตัวรถและบริการก็ตามราคา คือไม่แย่แต่ก็ไม่สะดวกสบายเท่ายี่ห้ออื่น อย่าง Citylink หรือ National Express แต่ไม่ว่าจะใช้ยี่ห้อไหน ก็ขึ้นรถที่สถานีรถทัวร์ระหว่างเมืองเหมือนๆ กัน
พอเก็บของที่โฮสเทลเสร็จ ก็ออกเดินดูเมืองหน่อย ไม่ไกลจากที่พัก คือ รอยัลไมล์ (Royal Mile) ถนนท่องเที่ยวสายหลักของเมือง เป็นถนนที่เชื่อมปราสาทเอดินบะระ (Edinburgh Castle) ซึ่งอยู่ด้านบนของเนินเขา กับ พระราชวังฮอลีรูด ซึ่งเป็นที่ประทับของพระราชา/ราชินีแห่งบริเตนในสกอตแลนด์ บน Royal Mile นี้ยังมีสถานที่สำคัญอื่นๆ เช่น ที่ทำการของสภาเมืองเอดินบะระ ที่ตั้งของรัฐสภาสกอตแลนด์ และวิหารนักบุญไจลส์ (St Giles' Cathedral) วิหารเอกของคริสตจักรแห่งสกอตแลนด์ (Church of Scotland) ซึ่งเป็นศาสนาคริสต์นิกายเพรสไบทีเรียน สาขาหนึ่งของโปรเตสแตนต์สายปฏิรูป
ที่บริเวณหน้าวิหารนักบุญไจลส์นี้ เมื่อคืนมีข้อความสนับสนุน Yes หรือการโหวตให้สกอตแลนด์เป็นเอกราชอยู่เต็มถนน (ดูภาพเมื่อคืนทั้งหมดได้ที่เฟซบุ๊กผมครับ ขี้เกียจโหลดมา :p)
บรรยากาศวันนี้ในเอดินบะระ คึกคักสมเป็นช่วงสุดท้ายของการรณรงค์ ช่วงบ่ายๆ ผมเดินไปตาม Nicolson Street ซึ่งก็ถือเป็นถนนเส้นหลักอีกเส้นในฝั่งเมืองเก่า มีร้านค้า ร้านอาหาร สถานที่สำคัญจำนวนหนึ่ง และเชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัยและหอพักนักศึกษา ทำให้มีคนเดินตลอดเวลาจนถึงดึกๆ ก็พบการรณรงค์อยู่ตลอดสาย มีการแจกใบปลิว สติกเกอร์ และประกาศเชิญชวนให้โหวต จากทั้งผู้สนับสนุน Yes และ No
อย่างรูปด้านล่างนี้ ผู้สนับสนุน No ไปยืนดักทั้งสองฝั่งถนนเลย ฝั่งนึงดักหน้าซูเปอร์มาร์เก็ต อีกฝั่งนึงก็หน้าร้านค้า+ร้านพิซซ่า แจกสติกเกอร์ No ตัวอักษรเหลืองบนพื้นแดงให้ผู้สนับสนุน No ด้วยกัน เอาไปติดอกเสื้อ ช่วยๆ กันส่งเสียง แสดงตัว
ระหว่างที่ผมหาจังหวะ รีรอจะเข้าไปคุยกับป้าคนนึงที่มาช่วยรณรงค์ No ก็มีลุงคนนึงที่เดินผ่าน พูดอะไรฟังไม่ทัน คงทำนองสนับสนุน Yes แต่ไม่รู้พูดท่าไหน ป้าแกเลยของขึ้น สวนกลับไปว่า ที่ลุงเขาพูดมาน่ะ ไม่จริง แล้วก็ร่ายต่ออีกสองสามประโยค ซึ่งก็ฟังไม่ทันเหมือนกัน แต่จับใจความได้ประมาณนั้นแหละ พอลุงจากไป ผมก็รีบเข้าไปคุยกะป้า
ด้านขวาสุดคือป้ากลุ่ม No ที่ว่า ส่วนสามคนด้านซ้าย ก็ตามป้ายครับ กลุ่ม Yes คนกลางไม่รู้จะเอายังไงกับกล้อง
ผมถามป้าว่า อะไรคือเหตุผลหลักของฝั่ง No เหรอ แกบอกว่า สกอตแลนด์ทุกวันนี้ดีกว่าแต่ก่อนมาก ที่เป็นแบบนี้ได้ก็เพราะอยู่ใน Union ร่วมกับอังกฤษ การออกจาก Union ที่อยู่มากว่า 300 ปี จะทำให้การพัฒนาเหล่านี้หยุดลง ป้ายังยกเหตุผลอื่นต่อด้วย เช่น ทุกวันนี้คนสกอตแลนด์ถือหนังสือเดินทางบริเตน เดินทางไปไหนก็ได้ แทบจะทุกที่ในโลก ไม่ต้องมีวีซ่า ถ้าต่อไปเปลี่ยนเป็นหนังสือเดินทางสกอตแลนด์ สิ่งเหล่านี้ก็หายไป ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมถามกลับต่อไปว่า งั้นเนื้อหาหลักๆ ของการรณรงค์นี้ ก็คือการไม่ต้องการเสี่ยงใช่ไหม แกตอบว่าใช่ พร้อมกับชูใบปลิวให้ดู ตัวอักษรสีเหลืองบนพื้นแดงเขียนว่า "It's not worth the risk." (มันไม่คุ้มเสี่ยงหรอก)
เนื้อหาสาระหลักของฝ่าย No ตอนนี้มีเท่านี้จริงๆ สัปดาห์ก่อนหน้านี้ยังเล่นเรื่องตัวเลขอะไรต่างๆ อยู่ แต่ช่วงโค้งสุดท้าย มาเน้นเรื่องอนาคตที่ไม่แน่นอน ถ้าสกอตแลนด์ได้เอกราช ด้านหลังของใบปลิวนี้ มีข้อความว่า "If you don't know, Vote No" (ถ้าคุณไม่รู้ โหวตไม่)
ส่วนฝั่ง Yes ก็มาแนวเดียวกัน คือเน้นเรียกความมั่นใจว่าเราทำได้ เรียกความกล้าหาญ (แบบข้อความ "Vote Without Fear" ตามภาพข้างบน) โหวต Yes ไปเลย ไม่ต้องพะวง
ทั้งสองฝั่งพยายามจะเรียกเสียงจากคนที่ยังไม่ตัดสินใจ และดูเหมือนตัวเลขอะไรก็ใช้ไม่ได้แล้วในจังหวะนี้ ส่วนหนึ่งคือคนเริ่มงงกับข้อมูลมหาศาลที่ไหลเข้ามาตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แถมตัวเลขเดียวกันเรื่องเดียวกัน ทั้งสองฝั่งต่างก็เคลมข้างตัวเอง
อย่างเช้าวันนี้ มีตัวเลขการจ้างงานออกมาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่าการจ้างงานในสกอตแลนด์พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ฝั่ง Yes ก็ไม่รอช้า บอกว่านี่แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในอนาคตของสกอตแลนด์และแสดงให้เห็นว่าที่พวกแคมเปญ No ชอบพูดมาตลอดว่าคนไม่มั่นใจในเศรษฐกิจของสกอตแลนด์นั้นไม่เป็นความจริง ส่วนทาง No ก็บอกว่า ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสหราชอาณาจักรนั้นแข็งแกร่งขึ้นพร้อมๆ กัน และถ้าคนไปโหวต Yes แปลว่าก็มีความเสี่ยงที่งานเหล่านั้นจะหายไปจากสกอตแลนด์
พอข้อมูลมันท่วมหัว หรืองงจนไม่รู้จะเอาไงแล้ว เวลาก็งวดเข้ามา จังหวะนี้ก็ต้องมาเล่นเรื่องทางอารมณ์กัน
สำหรับฝั่ง Yes แล้ว คำว่า "risk" (ความเสี่ยง) ที่ฝั่ง No ใช้ คือแทกติกสะกิดคำว่า "fear" (ความกลัว) ให้เกิดขึ้น คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ The Herald ในสกอตแลนด์อ้างว่า คนในแคมเปญ Better Together (ฝั่ง No) บางคน เรียกแคมเปญดังกล่าวเป็นการภายในว่า "Project Fear" (โครงการความกลัว) แน่นอนว่าผู้เกี่ยวข้องกับแคมเปญ Better Together ให้การปฏิเสธ แต่ฝั่งสนับสนุน Yes ก็ยังเอาเรื่องนี้มาโจมตีต่อ
ด้านล่างเป็นภาพจากถนนรอยัลไมล์ ที่พื้นเขียนว่า "How can you trust a campaign that is called 'The Project Fear'?" (คุณจะเชื่อใจแคมเปญที่เรียกว่า 'โครงการความกลัว' ได้อย่างไร?)
น่าสนใจว่า ผลวิจัยหนึ่งพบว่า แม้แต่คนที่โหวต No นั้นก็รู้สึก "แปลกแยกทางการเมือง" กับส่วนกลาง และต้องการให้โอนอำนาจมาที่สกอตแลนด์ให้มากขึ้น อย่างที่พรรคการเมืองหลักสามพรรค (อนุรักษ์นิยม แรงงาน และเสรีประชาธิปไตย) ได้สัญญาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
คือไม่ใช่ว่าคนที่โหวต No จะไม่ต้องการการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของสกอตแลนด์โดยคนสกอตแลนด์เอง เพียงแต่เขารู้สึกกลัวว่า การเป็นเอกราชไปเลยนั้น ดูจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เสี่ยงเกินไป หลายอย่างยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนหรือไม่มีหลักประกันว่าจะทำสำเร็จ ที่สำคัญคือมันไม่มีทางย้อนกลับ อย่างน้อยการอยู่ร่วมกับ Union นั้นก็ปลอดภัยกว่า
ประเด็นไหลย้อนกลับไม่ได้นี้ David Cameron ย้ำแล้วย้ำอีกในทุกการปราศัยในสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาบอกว่า คนบางคนเข้าใจผิดว่าการลงประชามตินั้น ก็เหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไป คุณลงคะแนนเลือกคนที่คุณชอบ ปรากฏว่าไม่ใช่อย่างที่หวัง คุณรอห้าปี แล้วคุณก็เลือกใหม่ แต่การลงประชามติเอกราชไม่ใช่แบบนั้น ทันทีที่คุณโหวต Yes และได้เป็นเอกราช ไม่มีอะไรย้อนกลับมาได้อีกแล้ว ดังนั้นขอให้คิดให้ดี (ซึ่งอ่านอีกอย่าง ก็คือขู่ให้กลัวนั่นแหละ)
มองขึ้นไปบนหน้าต่างบนตึกบนถนน Nicolson Street และถนนใกล้เคียง เราจะเห็นการแสดงออกในที่สาธารณะถึงจุดยืนทางการเมืองของคนหลังหน้าต่างเหล่านั้น การเมืองเป็นเรื่องสาธารณะ ป้ายและธงเหล่านี้ก็คือการสื่อสารกับสาธารณะ
เรื่องประชามตินี้ เป็นเรื่องที่พูดคุยกันอย่างเปิดเผยในหมู่เพื่อนๆ วันนี้ผมไปนั่งมาหลายที่ ทั้งในสโมสรนักศึกษาและผับ ก็ได้ยินโต๊ะข้างๆ รวมทั้งพวกที่ยืนหน้าผับ คุยเรื่องประชามตินี้ หลายคนจนถึงตอนนี้ก็ยังตัดสินใจไม่ได้ ว่าจะเอายังไงดี
Yes หรือ No หมู่ หรือ จ่า จะโหวตว่ายังไงยังไม่รู้ แต่สิ่งที่รู้แน่นอนคือ คนสกอตแลนด์ต้องการโหวต คนสนใจการลงประชามติครั้งนี้มาก จนตัวเลขผู้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิลงประชามตินั้นสูงถึง 97% สูงกว่าการลงประชามติหรือการเลือกตั้งครั้งไหนๆ ส่วนหนึ่งก็คือ เพราะพวกเขามองว่า การลงคะแนนครั้งนี้ "matter" หรือมีความหมาย ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา ที่ต่อให้คนสกอตแลนด์เลือกใครไปนั่งในเวสต์มินสเตอร์ก็งั้นๆ เพราะไปโหวตในสภาสู้จำนวนผู้แทนจากอังกฤษไม่ได้อยู่ดี
พี่เจ้าของร้านอาหารไทยเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่สกอตแลนด์มานานกว่าสิบปี บอกกับผมว่า สำหรับเขาแล้ว ไม่ว่าผลจะออกมา Yes หรือ No สกอตแลนด์ก็ได้ประโยชน์ การที่ Yes มีคะแนนขึ้นนำในโพลเมื่อเกือบสองสัปดาห์ก่อน ทำให้พรรคการเมืองหลักต่างๆ ในส่วนกลาง รีบประกาศข้อเสนอจะโอนอำนาจให้สกอตแลนด์มากขึ้นและจัดสรรสัดส่วนเงินรายได้เพื่อจูงใจให้คนโหวต No ซึ่งถ้าพรรคเหล่านั้นทำตามสัญญาจริง ก็แปลว่าต่อให้ฝ่าย Yes พ่ายแพ้ แต่การได้ No ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ได้อะไรเลย สกอตแลนด์กำลังก้าวไปข้างหน้า
เขามองว่าหลายคนกลัวการเปลี่ยนแปลงจึงไม่กล้าโหวต Yes ตัวเขาเองจริงๆ ก็กลัว เพราะประสบการณ์ในอาชีพนี้ก็พอจะทำให้เห็นนักการเมืองสกอตแลนด์อยู่บ้าง เวลามาประชุมล็อบบี้ต่างๆ ตามร้านอาหาร ซึ่งเขาก็รู้สึกว่าเหมือนนักการเมืองทุกที่ที่ก็มีคนที่คอรัปชัน ตอนนี้สกอตแลนด์ยังไม่มีอำนาจมาก ทำให้ยังไม่เห็นว่านักการเมืองสกอตแลนด์จะทำอะไรเลวร้าย แต่ถ้าเมื่อใดที่สกอตแลนด์มีเอกราช มีอำนาจมากขึ้น ก็เป็นไปได้ที่นักการเมืองที่คอรัปชัน จะคอรัปชันมากขึ้นไปอีก พี่คนนี้มีสิทธิโหวตและเขาโหวตทางไปรษณีย์ไปล่วงหน้าแล้ว เท่าที่คุย ผมก็พอจะเดาได้ว่าเขาโหวตฝั่งไหน ดูเขามีความหวังกับสกอตแลนด์ยุคใหม่ สกอตแลนด์ที่ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง แม้จะกลัวเรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิด แต่เท่าที่ฟัง ก็ดูเหมือนเขายินดีที่จะให้มีอำนาจมาก่อน เรื่องอื่นเดี๋ยวค่อยแก้ไขกัน
"ดูเขาสิ นี่จะแยกประเทศ ยังโหวตกันได้ ไม่ต้องตีกัน บ้านเรานี่ฆ่ากันเลยนะ" เขาพูดพลางสูดควันบุหรี่หน้าร้าน ลูกค้ากลับไปหมดแล้ว
"เราแสดงออกมากไม่ได้ ต้องค้าขาย"
พรุ่งนี้ลุ้นกันครับ เวลาลงคะแนนตามเวลาในสกอตแลนด์คือตั้งแต่ 07:00 จนถึง 22:00 (สำหรับเมืองไทยก็บวกไป 6 ชั่วโมง คือ 13:00 ถึง 04:00 ของอีกวันถัดมา)
ใช่แล้วครับ เจ็ดโมงเช้าถึงสี่ทุ่ม! คือไปทำงานก่อนตอนเช้า เลิกงานแล้วไปลงคะแนนก็ยังได้ จริงๆ อีกอย่างก็คือ สกอตแลนด์มีพื้นที่ห่างไกลอยู่มาก ก็ต้องเผื่อเวลาเดินทางหรือเผื่อสภาพอากาศที่ไม่ดีเอาไว้ด้วย -- ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับประชามติและการไปใช้สิทธิ จะอยู่ในหนังสือแนะนำการลงประชามติ (2014 Scottish Independence Referendum Voting Guide) ซึ่งจะส่งไปตามบ้านของผู้มีสิทธิลงคะแนนทุกคน หรือใครไม่ได้รับ ก็ไปเปิดดูได้ที่เว็บไซต์ www.aboutmyvote.co.uk ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (มีโฆษณาเว็บไซต์นี้ตามทีวีเป็นระยะ)
ที่น่าสนใจมากๆ คือ หนังสือแนะนำการลงประชามตินี้ จัดพิมพ์ในหลายรูปแบบ มีทั้งฉบับ "easy-read" ที่เดินเรื่องด้วยตัวการ์ตูนใช้ภาษาแบบการถาม-ตอบให้อ่านเข้าใจง่ายๆ มีฉบับตัวอักษรใหญ่เป็นพิเศษสำหรับผู้มีสายตาด้อยกว่าปกติ มีกระทั่งฉบับ audio book สำหรับคนไม่สะดวกอ่านเองหรืออ่านเองไม่ได้ และวิดีโอภาษามือสำหรับคนไม่ได้ยินเสียง นอกจากนี้ตัวหนังสือแนะนำยังเผยแพร่ในภาษาอื่นๆ อีก 9 ภาษา เช่น ภาษาอาหรับ ภาษาจีน ภาษาฮินดี ภาษาเกลิค และภาษาโปแลนด์ เรียกได้ว่าคิดถึงเรื่องการเข้าถึงหรือ accessibility เอามากๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองครั้งนี้ได้มากที่สุด โดยลดอุปสรรคทางภาษาลงให้เหลือน้อยที่สุด
สำหรับหน่วยลงคะแนน สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของเมืองแต่ละเมือง อย่างของเอดินบะระ ก็ไปดูที่เว็บไซต์ City of Edinburgh Council จะมีรายการหน่วยลงคะแนน แยกตามชื่อถนน พร้อมแผนที่แยกตามเขต
คืนพรุ่งนี้ ผับในเอดินบะระจะขยายเวลาปิดจากปกติประมาณไม่เกินตีหนึ่ง ไปเป็นตีสาม (ข่าวว่าบางที่อาจถึงตีห้า) เพื่อถ่ายทอดสดการนับคะแนนและรายการสถานการณ์ต่างๆ แน่นอนว่าผมคงไปซัดเบียร์ และอาจจะไม่สะดวกเขียนบล็อกในคืนพรุ่งนี้ แต่ยังไงติดตามสดๆ ได้ทางเฟซบุ๊กและทางทวิตเตอร์ @bact ครับ จะพยายามถ่ายภาพตั้งแต่ช่วงเช้าตามหน่วยลงคะแนน ไปจนถึงตอนดึกในผับและตามถนน -- สำหรับแฮชแท็กหลักของการลงประชามติคือ #indyref ลองไล่อ่านได้ หรือใครจะแสดงความคิดเห็นอะไร ลองติดแท็กด้วย
ไม่มีสิทธิโหวตเหมือนกับเขา แต่ก็แอบลุ้นในใจครับ