ความโกลาหลหรืองานฉลองในระยะสั้น จะเสียโอกาสกันทั้งหมดหรือเป็นประตูสู่ความรุ่งโรจน์ของชาติต่างๆ ที่เคยอยู่ร่วมสหราชอาณาจักรด้วยกันในระยะยาว เป็นประเด็นถกเถียงไม่รู้จบทั้งบนหน้าหนังสือพิมพ์ รายการโทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์ แต่อย่างน้อยดูจะมีสิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันก็คือ คนสกอตแลนด์มีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องของตัวเอง และไม่ว่าผลการลงคะแนนในวันที่ 18 กันยายนนี้จะเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายจะยอมรับผลดังกล่าว
บทความนี้จะลองเล่าสิ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นระหว่างที่มา “เดินเล่น” ในสหราชอาณาจักร ในช่วงเวลาเกือบสองสัปดาห์ก่อนจะลงประชามติ ผู้เขียนไม่ได้เป็นนักรัฐศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการปกครองหรือประวัติศาสตร์การเมืองของสหราชอาณาจักร เพียงแต่ติดตามการเมืองของสกอตแลนด์อยู่บ้าง ตั้งแต่สมัยไปเรียนหนังสืออยู่ที่เอดินบะระ เมืองหลวงของสกอตแลนด์ ระหว่างปี 2003 ถึง 2004 ด้วยว่า “เดินเล่น” ไปเจอไซต์ก่อสร้างที่ปลายถนนท่องเที่ยวสายหลัก แล้วพบว่ามันจะเป็นที่ตั้งของรัฐสภาสกอตแลนด์ (ซึ่งคนสก็อตในตอนนั้นด่ากันทั่วบ้านทั่วเมืองว่าเปลืองตังค์ สร้างไม่เสร็จเสียที แถมหน้าตาก็น่าเกลียด) ก็เลยไปหาข้อมูลเพิ่มเติมและสนใจเรื่องดังกล่าวมานับแต่นั้น
บรรยากาศทั่วไปตามท้องถนนในลอนดอน เมืองหลวงของสหราชอาณาจักรนั้นไม่ได้มีอะไรให้สังเกตเห็นได้นัก ถึงเหตุการณ์ที่อาจจะเป็น “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่กำลังจะเกิดในสหราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการที่สกอตแลนด์จะเป็นประเทศเอกราช (อีกครั้ง) หรือความเปลี่ยนแปลงของสหราชอาณาจักรที่จะเหลือเพียงสาม “ชาติ” (อังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ) ที่พอจะสังเกตได้บ้างก็คือพาดหัวหนังสือพิมพ์ที่มีประเด็นเรื่องการลงประชามติตลอด ไม่ว่าจะเป็นความเห็นจากคนดัง (รวมทั้งพระราชินี) ภาพการรณรงค์จากฝ่ายต่างๆ เนื่องจากลอนดอน (และเมืองในสหราชอาณาจักรโดยรวมๆ) มีแผงขายหนังสือพิมพ์หรือร้านขายของชำที่โชว์พาดหัวหนังสือพิมพ์ไว้หน้าร้านแบบเด่นๆ อยู่เยอะ ถ้าเดินไปตามถนน แม้ในฐานะนักท่องเที่ยว ก็พอจะเห็นความเคลื่อนไหวนี้ได้บ้าง ถ้าสังเกตเสียหน่อย
ผิดกับเมืองใหญ่ในสกอตแลนด์อย่างกลาสโกว์ ที่ตามท้องถนนจะมีสติกเกอร์ “Yes” “No” หรือ “Aye” “Naw” ในภาษาสก็อต ธงชาติกากบาทขาวบนพื้นน้ำเงิน และป้ายเกี่ยวกับการลงประชามติอยู่ทั่วไป แม้หลายป้ายจะเป็นการหยิบเอาการลงประชามติมาล้อเพื่อโฆษณาสินค้าหรือบริการของตัวเองก็ตาม แต่ก็ถือว่าอยู่ในกระแส
เหมือนๆ กับเมืองไทย ที่บางครั้งเราจะเห็นป้ายหรือสติกเกอร์บางส่วนถูกทำลาย ขีดฆ่า หรือปิดทับด้วยป้ายจากอีกฝั่งฝ่าย หรือมีป้ายล้อเลียนเสียดสีตลกๆ
ข้างล่างที่ถูกฉีกนี่ เป็นโปสเตอร์หน้านาย Alex Salmond รัฐมนตรีคนที่หนึ่ง (First Minister - ชื่อเรียกตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลของสกอตแลนด์) และหัวหน้าแคมเปญ Yes ที่ถูกล้อว่าจะตั้งตัวเป็นประธานาธิบดี
หรือบางทีก็ไม่ถึงขนาดทำลายหรือแปะทับ แต่ใช้วิธี "ต่อเติม" แบบด้านซ้ายของภาพด้านล่างนี้ ที่คนสนับสนุน Yes แปะกระดาษต่อท้ายสติกเกอร์ No กลายเป็นข้อความว่า "No, thanks, to unelected decision-makers. Vote Yes!" (ไม่ล่ะ ขอบคุณ กับคนตัดสินใจที่เราไม่ได้เลือก โหวต Yes)
คำว่า "Yes" และ "No" ที่พบเห็นได้ทั่วไป และเป็นชื่อเรียกรวมๆ ของแคมเปญรณรงค์ของการ "เอา" หรือ "ไม่เอา" การเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ (ซึ่งจริงๆ ใน Yes และ No ก็มีความหลากหลาย โดยเฉพาะ No นั้น มีหลายเฉดมาก) นั้นมาจากคำถาม "ง่ายๆ" ในประชามติครั้งนี้ว่า "Should Scotland be an independent country?" (สกอตแลนด์ควรจะเป็นประเทศเอกราชหรือไม่) ซึ่งทำตอบนั้นมีแค่สองอย่างคือ "Yes" (ควร) และ "No" (ไม่ควร)
กว่าจะมาเป็นคำถาม "ง่ายๆ" นี้ ต้องผ่านกระบวนการอยู่เยอะเหมือนกัน ในขั้นแรกนั้น รัฐบาลกลางสหราชอาณาจักรและรัฐบาลสกอตแลนด์ได้ทำความตกลงกันก่อนในสัญญาที่เรียกว่า Edinburgh Agreement ว่าจะกระบวนการออกแบบคำถามจะทำและตัดสินใจเลือกอย่างไร ซึ่งตกลงกันได้ว่า รัฐสภาสกอตแลนด์จะเป็นผู้ตัดสินใจ และคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางจะเป็นผู้สอบทวนเพื่อให้แน่ใจว่าได้คำถามที่เข้าใจได้ง่ายและเป็นกลาง ในตอนแรกนั้น รัฐบาลสกอตแลนด์เสนอให้ใช้คำถามว่า "Do you agree that Scotland should be an independent country?" (คุณเห็นด้วยหรือไม่ที่สกอตแลนด์ควรจะเป็นประเทศเอกราช) แต่หลักจากการนำคำถามไปทดสอบ สัมภาษณ์ สุ่มตัวอย่าง และใช้วิธีทางสถิติ ก็พบว่าคำถามดังกล่าว ซึ่งมีคำว่า "คุณเห็นด้วยหรือไม่" มีลักษณะชี้นำ และผู้ตอบจะมีแนวโน้มตอบไปในทางที่เป็นบวก (เห็นด้วย/Yes) จึงได้ปรับคำถามและทดสอบใหม่ จนสุดท้ายได้คำถามในแบบปัจจุบัน ซึ่งคณะกรรมการเลือกตั้งกลางเห็นว่ามีความเป็นกลาง ไม่ชี้นำ
ที่หัวถนน Buchanan Street ถนนเศรษฐกิจสำคัญของเมือง ด้านหน้าโรงคอนเสิร์ตของเมืองกลาสโกว์ เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ Donald Dewar นักการเมืองชาวกลาสโกว์ พร้อมกับคำพูดของเขาที่ฐาน "There shall be a Scottish Parliament." (จะต้องมีรัฐสภาสกอตแลนด์)
Dewar เป็นผู้สนับสนุนแนวคิด "Scottish devolution" หรือการให้รัฐบาลกลางโอนอำนาจบริหารและการออกกฎหมายบางส่วนมาไว้ที่สกอตแลนด์ อำนาจที่ได้มาจากการ devolution หรือการโอนอำนาจนี้ โดยหลักใหญ่จะต่างจากอำนาจของรัฐในสหพันธรัฐอย่างสหรัฐอเมริกาหรือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีตรงที่ว่า ในสหพันธรัฐนั้น อำนาจของรัฐนั้น ถูกรับรองโดยตรงในรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นรัฐต่างๆ จะต้องยินยอมด้วย ส่วนอำนาจจากการ devolution เป็นการตรากฎหมายทั่วไปมารับรอง ซึ่งรัฐบาลกลางจะเปลี่ยนกฎหมายนี้เพื่อเพิ่มหรือริบอำนาจคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ดังนั้นในทางการปกครอง ยังถือว่าสหราชอารณาจักรเป็นรัฐเดี่ยวอยู่ เพียงแต่รัฐบาลกลางโอนอำนาจบางส่วนมาให้ท้องถิ่น (ซึ่งสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ แต่ละชาติได้รับโอนอำนาจมาไม่เท่ากัน)
Donald Dewar ทำงานการเมืองผลักดันแนวคิด Scottish devolution ร่วมกับผู้สนับสนุนอื่นๆ จนสำเร็จ และเมื่อมีรัฐสภาสกอตแลนด์เป็นครั้งแรกในปี 1999 เขาในฐานะหัวหน้าพรรคแรงงานสกอตแลนด์ ก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้เป็นรัฐมนตรีคนที่หนึ่งโดยการสนับสนุนของพรรคเสรีประชาธิปไตย
ประเด็นที่เวสต์มินสเตอร์หรือส่วนกลางจะยกเลิกกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาสกอตแลนด์หรือลดกระทั่งริบอำนาจการปกครองตัวเองของสกอตแลนด์ไปเมื่อใดก็ได้ เป็นประเด็นที่ฝ่าย Yes มักชูให้เห็นเป็นระยะ ทำให้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากโพลเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน แสดงให้เห็นว่าฝ่าย Yes มีคะแนนขึ้นนำเป็นครั้งแรก (นำนิดเดียวก่อนจะแผ่วไปตามอีกในไม่กี่วันต่อมา) ฝ่ายสนับสนุน No ก็พยายามจะจูงใจผู้ลงคะแนนว่า ถ้าฝ่าย No ชนะ สกอตแลนด์อยู่กับสหราชอาณาจักรต่อ พวกเขาจะผลักดันให้รัฐบาลกลาง รับรองการโอนอำนาจของสกอตแลนด์เป็นการถาวร และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับสกอตแลนด์ จะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐบาลสกอตแลนด์ด้วย
อำนาจการจัดการตัวเองนั้นไม่ได้อยู่ที่อำนาจทางกฎหมายอย่างเดียว เนื่องจากการดำเนินนโยบายใดๆ ก็ตาม ต้องอาศัยทรัพยากร ภาษีและการจัดการรายได้ก็เป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงอยู่ตลอด ฝ่าย Yes มองว่า แม้โดยโครงสร้างกฎหมายไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ช่วงที่ผ่านมา อำนาจในการตัดสินใจดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคมของสกอตแลนด์ก็ลดลงไปมาก เนื่องจากถูกรัฐบาลกลางตัดงบประมาณมาตั้งแต่ต้นทาง ทำให้รัฐบาลสกอตแลนด์ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติเช่นน้ำมัน ซึ่งมีอยู่มากในทะเลเหนือนอกชายฝั่งสกอตแลนด์ จะต้องถูกส่งไปยังรัฐบาลกลางก่อน ก่อนจะถูกจัดสรรปันส่วนกลับมายังสกอตแลนด์ ซึ่งพวกเขามองว่าไม่ยุติธรรม
ฝ่าย No สะกิดว่า จริงหรือที่ว่าไม่ยุติธรรม ถ้ามองไปทั้งสหราชอาณาจักร สกอตแลนด์ได้รับงบประมาณหลักประกันสุขภาพต่อหัวมากกว่าส่วนใดๆ ของประเทศ อีกทั้ง รัฐบาลสกอตแลนด์ก็มีอำนาจในการบริหารจัดการ NHS Scotland เต็มที่ (NHS หรือ National Health Services เป็นระบบสุขภาพในสหราชอาณาจักร NHS Scotland นั้นในทางการบริหารและงบประมาณแล้ว เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งต่างหากจาก NHS มีกฎหมายในการดำเนินงานเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ ก็มีความร่วมมือและการประสานงานระหว่างกัน จนผู้ใช้บริการอาจสังเกตไม่เห็นถึงรอยต่อ)
นอกจากนี้ วันนี้ก็เพิ่งมีเอกสารหลุดออกมาว่า รัฐบาลพรรคแห่งชาติสกอตแลนด์ (Scottish National Party) เตรียมตัดงบประมาณของ NHS Scotland 450 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3.5% ของงบประมาณทั้งหมด) ในระยะเวลาสองปี สวนทางกับที่ Alex Salmond หัวหน้าพรรคแห่งชาติสกอตแลนด์และผู้นำแคมเปญ Yes พูดอยู่เสมอๆ ว่าที่ระบบสุขภาพของสกอตแลนด์ไม่ดีเท่าที่มันจะดีได้ ก็เพราะรัฐบาลกลางตัดงบ ในเอกสารดังกล่าวยังพูดถึงการที่รัฐบาลของเขาพยายามจะเพิ่มงบลงในการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล (ซึ่งอาจทำไปเพื่อให้ตัวเลขดูสูงและดูดีในสายตาผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง) ซึ่งไปคนละทิศทางกับคำแนะนำของ NHS ล่าสุด ที่สนับสนุนการรักษาพยาบาลเบื้องต้นจากในบ้านของผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม ถ้ากลับมาพูดเรื่องงบประมาณแล้ว สิ่งที่แคมเปญ Yes พูดก็ไม่ได้ผิดจากความจริง คือแม้โดยเฉลี่ยแล้ว สกอตแลนด์จะได้รับเงินต่อหัวในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณสุขภาพหรือการศึกษา มากกว่าส่วนอื่นๆ ของสหราชอาณาจักร แต่ถ้าดูเม็ดเงินที่สกอตแลนด์ส่งลงไปทางใต้ มันมากกว่าที่สกอตแลนด์ได้รับคืนมาเสมอ พวกเขามองว่า ถ้าสกอตแลนด์สามารถบริหารจัดการทรัพยากรและรายได้ของตัวเองได้ ไม่ต้องเสียค่าหัวคิวให้กับรัฐบาลกลาง สกอตแลนด์ก็จะสามารถมีสวัสดิการสังคมที่ดีกว่าปัจจุบันได้
สังคมสกอตแลนด์มีความโน้มเอียงไปในทางสนับสนุนรัฐสวัสดิการมากกว่าชาติทางใต้อย่างอังกฤษ หลายครั้งในการอภิปรายสาธารณะ พวกเขามองรัฐในกลุ่มประเทศนอร์ดิกเป็นแม่แบบอย่างเปิดเผย เอาเข้าจริงๆ แล้ว ในทางวัฒนธรรมเอง สกอตแลนด์มีหลายอย่างเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมสแกนดิเนเวียอยู่มาก เนื่องจากช่วงหนึ่ง ดินแดนตอนเหนือและตะวันออกของสกอตแลนด์ปัจจุบันนั้นเคยถูกยึดครองและได้รับอิทธิพลจากผู้ตั้งถิ่นฐานชาวไวกิ้งและนอร์ส ไม่นานมานี้ก็มีการหยิบยกประเด็นขึ้นมาอยู่หลายครั้ง ว่าเป็นไปได้ไหมที่สกอตแลนด์ที่เป็นเอกราช จะเข้าร่วมกับสหภาพนอร์ดิก อย่างไรก็ตามสำหรับชาวกลาสโกว์ พวกเขาก็ยังรู้สึกผูกพันกับวัฒนธรรมเคลต์และไอร์แลนด์มากกว่า
คุยไปเสียไกล กลับมาที่บรรยากาศรอบๆ กันต่อ
ด้านล่างเป็นภาพกิจกรรมรณรงค์บนถนน Buchanan Street ถนนคนเดินและถนนเศรษฐกิจสายหลักสายหนึ่งของเมือง สมัยผมเรียนอยู่ก็เลยนั่งรถจากเอดินบะระมาอยู่สองสามครั้ง บริเวณนี้เป็นย่านช็อปปิ้งมีของให้เลือกเยอะกว่าที่เอดินบะระ ภาพด้านซ้ายกลุ่มรณรงค์ Yes กลุ่มนึงกำลังเก็บอุปกรณ์ดนตรี บริเวณด้านหน้าอนุสาวรีย์ Donald Dewar ส่วนด้านขวากลุ่ม English Scots for Yes มาตั้งโต๊ะ แจกของรณรงค์
มอไซค์คันเท่นี้ ลุงเจ้าของในเสื้อหนังเต็มยศ (ไม่ได้อยู่ในภาพ) แกสนับสนุน No เลยจัดมาเต็มๆ พร้อมธงสก็อตสามธง ซ้ายสุดสีเหลือง คือธง "สิงโตคำรามแห่งสกอตแลนด์" (Lion Rampant of Scotland) หรือ Royal Standard of Scotland ซึ่งเคยเป็นธงของราชอาณาจักรสกอตแลนด์ ตรงกลางคือธง Tartan Army ของแฟนบอลทีมชาติสกอตแลนด์ ส่วนธงขวาสุดคือธงกางเขนของนักบุญแอนดรูว์ (Saint Andrew's Cross) ซึ่งเป็นธงประจำชาติของสกอตแลนด์ในปัจจุบัน
ส่วนผู้คนบนถนน ก็มีการติดเข็มกลัดหรือสติกเกอร์กันให้เห็นทั่วไป คนส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงออกชัดเจน แต่เราจะเห็นคนที่แสดงออกได้ไม่ยาก เดินไปไหนก็เจอ และส่วนใหญ่ที่เห็นแสดงออก ก็ Yes กันเกือบหมดครับ ไม่รู้เพราะอยู่ในกลาสโกว์หรือเปล่า
ไม่ใช่ว่าที่ลอนดอนจะไม่มีกิจกรรมอะไรเอาเสียเลย เมื่อวานนี้ (15 ก.ย. 2014) ตอนประมาณห้าโมงเย็น ผมอยู่ในรถไฟใต้ดิน ยืนอ่านหนังสือพิมพ์ Evening Standard ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แจกฟรีตามสถานีรถไฟในลอนดอน ก็เจอข่าวในหนังสือพิมพ์ว่า กลุ่ม Let's Stay Together นัดชุมนุมใหญ่ที่จัตุรัสทราฟัลการ์ ตอนหกโมง ก็เลยตัดสินใจนั่งรถเลยไปดู
Dan Snow พิธีกรสารคดีประวัติศาสตร์ และ Eddie Izzard ศิลปินตลก ผู้จัดงานกล่าวว่า จุดประสงค์ก็เพื่อให้ความเห็นที่ไม่เคยถูกได้ยินของคนไม่มีสิทธิลงคะแนนอย่างพวกเขาได้ยินบ้าง ว่าพวกเขาอยากให้สกอตแลนด์อยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไป ในงานมีนักแสดง พิธีกรทีวี กวี และคนดังอื่นๆ มาร่วมงานและร่วมปราศัยหลายคน นอกจากนี้ผู้สนับสนุนพรรคเสรีประชาธิปไตยซึ่งชูแคมเปญ "Stronger Scotland" ที่สนับสนุนสกอตแลนด์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นภายใต้สหราชอาณาจักร ก็มาร่วมด้วย ผมกะด้วยสายตาตอนประมาณทุ่มนึง น่าจะมีคนมาประมาณสี่พันคนและทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ตัวเลขใกล้ๆ กับที่หนังสือพิมพ์ The Herald ประจำเมืองกลาสโกว์รายงานว่ามีคนเข้าร่วมงานดังกล่าวประมาณ 5,000 คน
ตามกฎหมายว่าด้วยการลงประชามติ Scottish Independence Referendum Act 2013 ผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติครั้งนี้ ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 16 ปี และอาศัยอยู่ในสกอตแลนด์ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นชาวสก็อต ขอให้เป็นพลเมืองของสหราชอาณาจักร หรือประเทศในเครือจักรภพ หรือประเทศในสหภาพยุโรป - และแม้ว่าคุณจะเป็นชาวสก็อตโดยกำเนิด แต่ไม่ได้อาศัยอยู่ในสกอตแลนด์ ก็ไม่มีสิทธิโหวต ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ลุงในภาพข้างล่างหัวเสียเอามาก
แกบอกว่าแกอาศัยอยู่ในลอนดอนก็จริง แต่แกเกิดที่แอเบอร์ดีน เป็นคนสก็อตโดยกำเนิด แต่แกกลับไม่มีสิทธิโหวตเรื่องของสกอตแลนด์ คนที่มีสิทธิโหวตกลับเป็นคนขับแท็กซี่จากโปแลนด์ที่อยู่ในสกอตแลนด์แค่สองสัปดาห์ แกว่ามันไม่ใช่ (ผมก็ไม่ได้เช็คนะครับ ว่าที่แกพูดมาเรื่องเกณฑ์ "สองสัปดาห์" นี่ จริงไหม) พอถามว่าถ้าโหวตได้แกจะโหวต No ใช่ไหม แกบอก "แน่นอน"
นอกจากบนท้องถนน แน่นอนว่าบนหน้าสื่อนั้นก็เข้มข้น อย่างที่ได้เล่าไปแล้วบ้างนิดหน่อย ทีวีทุกช่องมีรายการวิเคราะห์ สัมภาษณ์นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ บุคคลสำคัญต่างๆ รวมถึงออกถามความเห็นคนทั่วไปตามท้องถนน รายการหนึ่งที่มีโอกาสได้ดูก็คือรายการ The Big, Big Debate ทางช่อง BBC Parliament (ออกช่อง BBC One ด้วย) ที่เชิญผู้สนับสนุน Yes และ No มาอภิปรายกัน ข้างละ 2 คน โดยหนึ่งคนในแต่ละฝั่งมาจากพรรคการเมือง ฝั่ง Yes เป็นตัวแทนจากพรรคแห่งชาติสกอตแลนด์ ฝั่ง No เป็นตัวแทนจากพรรคอนุรักษ์นิยม ซัดกันมันส์หยดติ๋ง โดยให้ผู้ชมในห้องประชุมร่วมถามคำถามด้วย ซึ่งวันนั้นเป็นนักเรียนมัธยมอายุ 16-17 ปีที่อยู่ในสกอตแลนด์ทั้งหมด การลงประชามตินี้จะเป็นการลงคะแนนเสียงครั้งแรกของพวกเขา เนื่องจากเป็นนักเรียนคำถามจำนวนหนึ่งเลยเน้นไปทางเรื่องนโยบายการศึกษา งบสนับสนุนการศึกษา ตลาดงาน และสวัสดิการสังคม ใครสนใจดูย้อนหลังได้ทาง (iPlayer จะได้ดูได้เฉพาะจากในสหราชอาณาจักร หา VPN กันเอาเองนะครับ) และทางแฮชแท็ก #bigbigdebate นอกจากนี้ทาง BBC ก็จัดทำเว็บไซต์พิเศษสำหรับเรื่องไว้ด้วย ที่ Scotland Decides จริงๆ มีถ่ายรูปไว้ด้วย แต่อยู่อีกกล้อง ไว้จะหาทางเอาออกมาให้ดูบรรยากาศกันครับ
พูดถึง BBC เมื่อประมาณวันพฤหัสที่แล้ว ทาง BBC แจ้งไปยังพิธีกรและนักดนตรีในรายการคอนเสิร์ต Last Night of the Proms ว่าขอให้หลีกเลี่ยงการพูดเรื่องการลงประชามติสกอตแลนด์ เพราะกลัวถูกกล่าวหาว่าลำเอียงฝั่งใดฝั่งหนึ่ง รายการ The Proms เป็นรายการคอนเสิร์ตคลาสิกที่เล่นต่อเนื่องติดต่อกันแปดสุดสัปดาห์ ได้รับความนิยมจากผู้ชมมาก โดยเฉพาะในคืนสุดท้าย ซึ่งก็คือคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ตัวคอนเสิร์ตจริงๆ เล่นที่ Royal Albert Hall ในลอนดอน แต่มีการถ่ายทอดสดไปยังลานคอนเสิร์ตกลางแจ้งทั่วทั้งสี่ภาคของสหราชอาณาจักร เรียกว่าเป็นคอนเสิร์ตที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ ทั้งแบบที่ไปดูด้วยตัวเองและชมทางโทรทัศน์ การที่พิธีกรพูดอะไรออกไปก็อาจมีอิทธิพลต่อผู้ชมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหลือเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะโหวต ทาง BBC เลยกำชับว่าให้พูดเฉพาะเรื่องดนตรีเท่านั้น
สำหรับการเรียกเสียงสนับสนุนผ่านช่องทางอื่น บนหนังสือพิมพ์ก็มีโฆษณาแคมเปญต่างๆ ด้วย อันนี้เป็นของกลุ่ม Yes
นอกจากนี้ในวงวิชาการก็มีการอภิปรายอย่างเต็มที่ เช่นที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์มีการจัดบรรยายต่อเนื่องในหัวข้อดังกล่าว และสื่อท้องถิ่นก็เอาเนื้อหามาเผยแพร่ต่อ ในภาพด้านล่าง ด้านซ้ายเป็นประกาศการบรรยายในเย็นวันนี้ ส่วนด้านขวาเป็นการรายงานการบรรยายครั้งที่เพิ่งผ่านมา โดยอาจารย์ประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระบอกว่า ถ้าสกอตแลนด์จะโหวตเพื่อแยกตัว ก็เป็นเพราะการปกครองที่ไม่เอาไหนของสหราชอาณาจักร ซึ่งในประเด็นนี้ ตัว David Cameron นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนปัจจุบันก็เพิ่งปราศัยไปทำนองว่า เขาเข้าใจดีว่าหลายคนไม่ชอบการทำงานของพรรคอนุรักษ์นิยมของเขา สิ่งสำคัญคือเขาจะไม่อยู่ในตำแหน่งนี้ไปตลอดกาล แต่ถ้าคนสก็อตโหวตแยกตัวออกไปแล้ว มันจะเป็นสิ่งที่ย้อนกลับไม่ได้ จึงขอให้ตัดสินใจให้ดี
ตอนนี้สี่โมงแล้ว ใกล้เวลาบรรยายที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ผมกำลังตัดสินใจว่าจะไปดีไหม เพราะจองตั๋วรถไปเอดินบะระไว้รอบ 18:15 แต่ยังไงก็ต้องไปกินข้าวก่อน ยังไงมีอะไรจะรายงานมาอีกครับ (อัปเดต: สุดท้ายไม่ได้ไปครับ)
ปิดท้ายว่า เท่าที่สัมผัสบรรยกาศในช่วงเกือบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็รู้สึกว่า ยังไงคนสกอตแลนด์ (ไม่ว่าจะเป็นคนสก็อตหรือไม่) ก็ชนะครับ และรวมไปถึงคนในส่วนอื่นๆ ของสหราชอาณาจักรด้วย การลงประชามติสกอตแลนด์ ทำให้คนมาสนใจเรื่องการกระจายอำนาจกันมากขึ้น มีบทสนทนาเรื่องนี้กันมากขึ้น ไม่เฉพาะในบริบทสกอตแลนด์ มีการพูดถึงเมืองใหญ่อย่างแมนเชสเตอร์ว่าควรได้รับอำนาจในการบริหารและออกกฎหมายเพิ่มขึ้นไหม และในบริบทสหภาพยุโรปก็มีการพูดถึงชาติอื่นๆ ที่ก็อยากจะมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องของตัวเอง (self-determination) มากขึ้นบ้าง ซึ่งจะไปได้เร็วหรือช้าก็แล้วแต่บริบทและการตัดสินใจของแต่ละที่ แต่โดยรวมแล้วมันเดินหน้า ไม่ถอยหลัง
คิดว่าเป็นบรรยากาศที่เปิดกว้างและทุกฝ่ายในการถกเถียงก็เป็นมิตรและยอมรับการมีอยู่ของอีกฝ่าย คือแม้จะไม่เห็นตรงกันในประเด็นว่า ควร หรือ ไม่ควร ที่ชาติหนึ่งๆ หรือท้องถิ่นวัฒนธรรมหนึ่งๆ จะมีเอกราชหรือมีอำนาจมากขึ้น แต่อย่างน้อยทุกคนยอมรับในตัวตนของชาตินั้นๆ ว่ามีอยู่
ไม่มีใครบอกว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสกอตแลนด์ ไม่มีคนที่เรียกว่าคนสก็อต
เห็นแบบนี้แล้วพอย้อนกลับมาดูประเทศเรา ก็คิดว่าคงยังอีกไกล กว่าที่เราจะพูดเรื่องการกระจายอำนาจหรือโอนอำนาจได้ (เอาแค่นั้นก่อน อย่าไปพูดถึงเรื่องประชามติเอกราชเลย) เพราะหลายคนยังไม่ยอมรับเลยด้วยซ้ำ ว่าในหลายภูมิภาคในดินแดนที่เรียกว่าประเทศไทยในปัจจุบัน มีชาติภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง มีบ้านมีเมืองมาก่อนจะมีกรุงเทพเสียอีก ในระยะสิบปีนี้ เอาแค่ให้มีกฎหมายว่าระบุว่าให้ใช้ภาษาท้องถิ่นติดต่อราชการได้ก็น่าจะน้ำตาไหลพรากแล้ว แต่พูดไปก็เหมือนฝันบ้าบอ เพราะทำไปทำมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เผลอๆ อาจจะถูกยุบเอาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ครับ
นึกถึงที่ #มิตรสหายท่านหนึ่ง พูดไว้ว่า คำว่า "แบบไทยๆ" นั้น มีความหมายว่า "less"
color แปลว่าสี colorless ก็ไม่มีสี life แปลว่าชีวิต lifeless ก็ไม่มีชีวิต ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็คือ ประชาธิปไตยless ส่วน กระจายอำนาจแบบไทยๆ ก็คือไม่มีการกระจายอำนาจน่ะครับ
วันนี้ใครตัดสินใจเรื่องของคุณ?