Skip to main content

เมจิกคัลเรียลลิสม์ หรือที่แปลเป็นไทยว่า สัจนิยมมายา หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ เป็นแนวการเขียนที่นักเขียนไทยนำมาใช้ในงานเรื่องสั้น นวนิยายกันมากขึ้น ไม่เว้นในกวีนิพนธ์ โดยส่วนใหญ่จะได้แรงบันดาลใจมาจาก ผลงานของกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ซึ่งมาเกซเองก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก ฮวน รุลโฟ (ฆวน รุลโฟ) จากผลงานนวนิยายเรื่อง เปโดร ปาราโม อีกทอดหนึ่ง เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์วรรณกรรมแนวนี้ถูกตัดตอน ขอกล่าวถึงต้นธารของงานสกุลนี้สักเล็กน้อย


กล่าวถึงฮวน รุลโฟ ซึ่งจริงๆ แล้วควรเขียนเป็นภาษาไทยว่า ฆวน รุลโฟ ทำให้หวนระลึกถึงผลงานแปลฉบับของ ราอูล ที่ฉันตกระกำลำบากในการอ่านอย่างแสนสาหัส ในนวนิยายแนวสัจนิยมมหัศจรรย์เรื่อง เปโดร ปาราโม ที่เคยเขียนถึงในคอลัมน์นี้มาแล้ว


อ่านตั้งสามรอบกว่าจะพอรู้เรื่องเป็นเลาๆ และต้องอ่านอีกหลายรอบกว่าจะจินตนาการให้ซึมซับความเลอเลิศของสุดยอดนวนิยายเรื่องนี้ได้ ขอบคุณพระเจ้าที่มอบเวลาให้ฉันมากเป็นพิเศษ ท่านคงหัวร่อจนคอเคล็ดแล้วตอบว่า “เพราะแกมันทึ่มเองนี่นา คนทื่อมะลื่ออย่างแกสมควรจะมีเวลามากกว่าคนฉลาดเขา” อย่างไร ฉันก็ขอบคุณล่ะ และไม่ลืมเอาเจ้าเปโดรสุดที่รักไปถ่ายเอกสารเก็บไว้ เป็นสำเนาสำรอง ถ้าหนังสือหาย หรือถูกขอยืมโดยไม่อาจเรียกเก็บได้ ยังไงซะ ฉบับถ่ายเอกสารก็ยังอยู่ ฉันชอบใช้วิธีนี้จัดการกับหนังสือสุดหวง ถ้าตังค์เยอะหน่อยก็สำเนาไว้สักสองชุด ถือเป็นความละโมบได้ไหมนี่


ขอบอกก่อนเลยว่า เปโดร ปาราโม ฉบับที่แปลโดย ราอูล นั้น เป็นการแปลที่มีข้อผิดพลาดอย่างมากมาย ถ้าใครได้อ่านบทความของ เพ็ญพิสาข์ ศรีวรนารถ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ ก่อนเริ่มโรงเรียนวิชาหนังสือ แล้วจะรู้ซึ้งเลยว่า ราอูล แปลสุดยอดนวนิยายเมจิกคัลเรียลลิสม์ของโลก ให้กลายเป็นอะไรสักอย่างที่อาจฆาตกรรมคนอ่านได้ แต่ยังไงฉันก็รักเปโดรเล่มนี้สุดหัวใจ มันน่าพิสมัยกว่า คนจมน้ำตายที่รูปหล่อที่สุดในโลก ของ มาเกซ เสียอีกแน่ะ


กับผลงานเรื่อง เปโดร ปาราโมนิดหนึ่ง

เปโดร ปาราโม ถือเป็น ผลงานแนวเซอร์เรียลลิสม์ระดับมาสเตอร์พีซของนักเขียนชาวเม็กซิกันท่านนี้ บรรยายให้เห็นถึงประสบการณ์แปลกประหลาดที่ชายคนหนึ่งได้รับ เมื่อเขาเดินทางไปตามหาพ่อจากคำบอกเล่าของแม่ว่า เปโดร ปาราโม พ่อซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อนเลยของเขาอาศัยอยู่ที่โกมาลา เขาจึงต้องเดินทางไปยังเมืองที่มีชีวิตอยู่ด้วยเสียงกระซิบและเงามืดแห่งนั้น ตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับแม่ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ที่นั่นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย และเขาได้รับรู้เรื่องราวในอดีตเหล่านั้น ผ่านคำบอกเล่าของวิญญาณที่แวะเวียนมาหาเขา ทั้งในยามหลับและยามตื่น


หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1955 และได้รับคำยกย่องและความนิยมอย่างกว้างขวางทันที ด้วยวิธีการนำเสนอที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับงานแนวเรียลลิสม์ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในงานเขียนแถบลาตินอเมริกาในยุคก่อนหน้างานเขียนของ ฆวล รุลโฟ เต็มไปด้วยจินตนาการ การเหลื่อมซ้อนทางความคิดและเวลา และการสร้างภาพที่ละเอียดอ่อน เป็นภาพเหนือจริงที่ยืนอยู่บนฐานของความเป็นจริง ซึ่งในภายหลังงานแนวนี้ได้รับการเรียกขานว่าเป็นงานแนว เมจิกคัล เรียลลิสม์ ที่มีอิทธิพลต่อผลงานของนักเขียนในกลุ่มลาตินอเมริกาในยุคต่อ ๆ มา อย่าง โฮเซ่ โดโนโซ การ์ลอส ฟูเอนเต้น ไปจนถึง มาริโอ วาร์กัส โลซ่า และ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ที่เรารู้จักกันดี


เมจิกคัลเรียลลิสม์ หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ ที่เรารู้จักนั้น ถือกำเนิดมาจากประเทศแถบลาตินอเมริกา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วน่าจะเป็นประเทศที่อยู่ใต้สหรัฐอเมริกาลงมาจนสุดปลายทวีปอเมริกาใต้ หรือกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาที่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศสเปนและใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ


ในหนังสือก่อนเริ่มโรงเรียนวิชาหนังสือ เล่มนี้ยังเขียนถึงวรรณกรรมลาตินอเมริกาไว้ในบทความชื่อ

วรรณกรรมลาตินอเมริกา ความหลากหลายในความเป็นหนึ่งเดียว เขียนโดย ภาสุรี ลือสกุล อาจารย์สาขาวิชาภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยแบ่งวรรณกรรมกลุ่มลาตินอเมริกาไว้ 5 กลุ่ม

1.กลุ่มประเทศลุ่มน้ำริโอ เด ลา ปลาตา ได้แก่ อาร์เจนตินาและอุรุกวัย

2.กลุ่มประเทศเทือกเขาแอนดีส ได้แก่ ชิลี เปรู โบลิเวีย

3.กลุ่มประเทศแคริบเบียน ได้แก่ คิวบา เปอร์โตริโก โดมินิกัน

4.กลุ่มประเทศอเมริกากลาง ได้แก่ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส คอสตาริกา

5.เม็กซิโก ซึ่งมีความหลากหลายทางวรรณกรรม แต่ก็ปรากฏงานเขียนสำคัญที่นำแนวคิดชนเผ่า แอสเท็กมาผสมผสานกับแนวเขียนสมัยใหม่ รวมถึงแนวสัจนิยมมหัศจรรย์


โดยแนวสัจนิยมมหัศจรรย์นี้ ถือเป็นแนวการเขียน “ร้อยแก้วแนวใหม่” ซึ่งมี 3 แนวหลัก คือ สัจนิยมแฟนตาซี สัจนิยมมหัศจรรย์ แฟนตาซีแนวใหม่ ถือกำเนิดในทศวรรษ 1950- 1970 โดยมีกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ เป็นความโดดเด่นแห่งยุค จากนวนิยายเรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว


ลักษณะสำคัญของสัจนิยมมหัศจรรย์คือ การขยายความเป็นไปได้ของ “ความเป็นจริง” โดยผสมผสานความจริงและจินตนาการจากตำนานความเชื่อดั้งเดิมเพื่อบอกเล่า “ความเป็นจริง” ของสังคม เป็นการตั้งคำถามต่อความเป็นจริงด้วยสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ต้องอาศัยบริบทของสังคม วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของสังคมมาร่วมด้วย มิใช่ถือกำเนิดขึ้นมาโดด ๆ เช่นเดียวกับบริบททางสังคมของประเทศลาตินอเมริกา ที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ มีชนพื้นเมือง มีชาติตะวันตก มีตำนานชนเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ก่อน ซึ่งน่าสนใจตรงที่ บทความดังกล่าวเขียนไว้ว่า (หน้า76)


ทั้งที่ความเป็นจริง ทฤษฎีต้นกำเนิดของชนพื้นเมืองในอเมริกาซึ่งยอมรับกว้างขวางที่สุดระบุไว้ว่า ชนพื้นเมืองเหล่านั้นอพยพจากเอเชียข้ามไปยังทวีปอเมริกาผ่านทางบริเวณช่องแคบแบริ่ง ในยุคที่ผืนแผ่นดินบริเวณดังกล่าวยังไม่แยกออกจากกันทำให้ชาวเอเชียและชนพื้นเมืองมีรูปพรรณสัณฐาน วัฒนธรรมความเชื่อที่คล้ายคลึงกันอันเชื่อมโยงถึงความ “คล้ายคลึง” ของแนวความคิดที่ปรากฏในวรรณกรรมของทั้งสองซีกโลกด้วยเช่นกัน


ดังที่นักเขียนไทยบางคนเคยพูดว่า บรรยากาศ วัฒนธรรมท้องถิ่นทางภาคใต้ของไทย มีบริบท มีกลิ่นอายเอื้อให้เกิดงานเขียนแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ขึ้นได้ ก็เป็นข้อพิสูจน์หนึ่งที่สอดคล้องกับทฤษฎีต้นกำเนิดของชนพื้นเมืองดังกล่าวนี้ด้วย


กลับมาที่ประเทศไทย ที่เราพบว่า วรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ กำลังก่อร่างสร้างตัวจนถึงขั้นแผ่ขยายเป็นความมั่งคั่งไปแล้ว อย่างนี้ถือว่ามนตร์เสน่ห์ของงานเขียนแนวนี้ยังคงไว้ซึ่งความขลังอลังการมาได้เป็นร้อยปีแล้วอย่างน่าทึ่ง และนักเขียนไทยก็ได้แรงบันดาลใจมากจากหนังสือเล่มเดียวกัน เพราะปัญหาการขาดแคลนนักแปลภาษาสเปนของไทยนี่เอง อย่างนี้หรือเปล่าที่ทำให้วรรณกรรมไทยมีใบหน้าคล้ายคลึงกันไปหมด ซึ่งก็ไม่สำคัญเท่ากับใบหน้าที่เสแสร้งในงานวรรณกรรม ไม่ว่าจะเสแสร้งให้เป็นเมจิกคัลฯ หรือเสแสร้งให้เซอร์เรียลลิสม์ก็ตาม


หากเรา ผู้อ่านสามารถตีความและเข้าถึงความเป็นเมจิกคัลเรียลลิสม์ได้ถึงแก่น ก็จะสามารถจำแนกแยกแยะงานที่เป็นของจริงกับการเสแสร้งออกจากกันได้ไม่ยาก และการที่จะเข้าถึงหัวใจของเมจิกคัลฯนั้น เราควรศึกษาถึงบริบททางสังคม เข้าใจถึงตำนาน วัฒนธรรมที่เป็นฉากหลังของวรรณกรรมนั้นด้วย หาไม่แล้ว เมจิกฯจะกลายเป็นงานที่ทำให้เราเงอะงะเท่านั้นเอง


สาเหตุที่เมจิกคัลฯ ยังถูกใช้งานเพื่อตีความ เสียดสี หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ความจริง” อยู่จนทุกวันนี้ อาจเป็นเพราะ “ความจริง” และ “ความลวง” มีความซับซ้อนมากขึ้น และถูกตีความจากมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น บ่อยครั้งที่ไม่สามารถหาบรรทัดฐานใดอย่างโดด ๆ มาวัด จัดค่า ชี้ให้เห็นถึง ความถูก ความผิด ได้เลย ไม่สามารถแม้กระทั่งจะเปลี่ยนขั้ว จากดีเป็นชั่ว จากชั่วเป็นดี จากนักบุญเป็นปีศาจ เราต่างรู้ซึ้งว่าสังคมไทยก้าวล่วงไปสู่พัฒนาการอื่น ที่ไม่ใช่แค่ การเปลี่ยนขั้ว เท่านั้น เรากำลังจะก้าวสู่ศตวรรษใหม่ ด้วยท่าทีแยบคายกว่าเดิม


เช่นเดียวกับวรรณกรรมไทย ที่นักเขียนต่างพยายามแสวงหา “เครื่องมือ” ทางวรรณกรรม มารับใช้แนวคิดของตนเอง และเครื่องมือสุดฮอตก็คือ เมจิกคัลเรียลลิสม์ นั่นเอง ไม่เชื่อก็ลองหยิบเรื่องสั้น นวนิยายแนวที่เรียกตัวเองว่า สร้างสรรค์ ทั้งหลายนั่นแหละ เชื่อเหอะว่า คุณได้ลิ้มรสกับเมจิกคัลฯอย่างง่ายดาย แต่ไม่รับรองนะว่า เมจิกคัลฯ ที่บังเอิญติดมือมาจะเป็นของจริงหรือของปลอม และถ้าต้องชี้ชัดลงไปว่าเล่มไหนของจริง เล่มไหนของเก๊ ก็เป็นการไม่สมควรอย่างแรง หรือว่าไม่จริง


ที่กล้าชี้ชัดลงไปอย่างนี้ ก็ด้วยเหตุผลที่เมจิกคัลฯ เป็นเรื่องของสุนทรียรสอย่างเที่ยงธรรม และไม่ได้ขึ้นต่อศีลธรรมซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้สุนทรียรสผิดแผกไปได้ แต่เรากลับพบงานเขียนเมจิกคัลฯที่กำลังพ่นคำเทศนาทางศีลธรรม จนแทบจะยกมือกราบไหว้บูชาเลยทีเดียว


ดูจะเป็นการเอาจริงเอาจังเกินไป ทั้งที่บรรยากาศไม่ค่อยอำนวยเลย ว่ามั้ย

แต่อยากให้นักเขียนนิยมเมจิกคัลฯทั้งหลาย รอบคอบและประณีตกับ “เครื่องมือ” ของท่านสักหน่อย อย่าให้มันเร่อร่า ลุ่น ๆ ออกมาแบบมักง่ายนัก ของดี ๆ เขามีให้ศึกษาก็ควรพิถีพิถัน ให้เกียรติเจ้าของสกุลงานเขาหน่อย ไม่ใช่สักแต่จะจำลองภาพเท่านั้น


โดยทั่วไปแล้ว เมจิกคัลฯ มักจะมีพื้นฐานมาจากบรรยากาศในท้องถิ่นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และโดยบรรยากาศนั้นก็มีความพิลึก มหัศจรรย์ในตัวมันเองอยู่แล้ว ดังนั้นการเสแสร้งให้ดูลึกลับ พิลึกพิลั่น จึงเป็นการกระทำของนักเขียนที่ยังอ่านเมจิกคัลฯไม่แตกเท่านั้นเอง และโดยเฉพาะกับตัวละครด้วย เห็นชัดเจนในเรื่องเปโดร ปาราโม ที่ภูมิประเทศเป็นทะเลทรายแห้งแล้ง ร้อนระอุดุจเดียวกับนรก ตัวละครในเรื่องที่ต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศร้ายกาจรุนแรง จึงไม่ยี่หระว่า เมื่อตายไปแล้ว เขาจะต้องทนทรมานในนรกอเวจี เพราะตอนที่มีชีวิตอยู่ เขาก็ได้รู้ซึ้งแล้วว่า นรกเป็นอย่างไร ไม่ใช่เป็นเพียงการล้อเลียน หรือลอกแบบเช่น เรียกโสเภณีว่าเป็นนางอัปสร เพียงเพื่อจะยั่วล้อการแปรสภาพของมายาคติเท่านั้น


ถ้าได้เอ่ยถึงงานเขียนที่ยังเป็นเพียงข้อปฏิเสธของเมจิกคัลเรียลลิสม์แล้วจะเกิดอาการ “ไม่เวิร์ค” ในอารมณ์ขึ้นมาทันที ดังนั้นแล้ว เราควรมาทำให้มันเวิร์คด้วยการพินิจพิเคราะห์งานที่เข้าขั้นจะดีกว่า ว่ามั้ย


เอาเป็นว่า จะนำผลงานของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ มาเขียนถึงเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

โทษทีนะ ไม่ใช่เพราะกนกพงศ์จะลาโลกไปแล้ว ค่อยนำมาเขียนสดุดีกันอย่างที่สังคมวรรณกรรมนิยมกันหรอก อย่างประเภทว่า ถ้านักเขียน กวี คนไหนลาโลกไปก่อนวัยอันควร ผลงานของพวกเขาจะถูกตีพิมพ์กันจนเกร่อ ทำไมตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ จึงไม่มีใครดูดำดูดีเขาบ้าง หรือเป็นคนประเภทตอนมีชีวิตอยู่คุยกันไม่รู้เรื่อง นิยมคุยผ่านควันธูปอย่างงั้นหรือ


เหตุที่เลือกผลงานของกนกพงศ์นั้นก็เพราะ... เอ.. หรือจะเลือก เงาสีขาว ของแดนอรัญ แสงทอง ดีนะ

ชักเลือกไม่ถูก ว่าไปแล้ว อสรพิษ หรือ เจ้าการะเกด ของแดนอรัญ แสงทอง ก็ไม่เป็นสองรองใคร ฝีมืออยู่ในขั้นน่ายกย่องทั้งสิ้น เอาเป็นว่า ไว้เจอกันใหม่ค่อยเฉลยดีกว่า ตอนนี้ยังเลือกไม่ถูก.

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรมผู้เขียน                         :    เขมานันทะพิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม  
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิเจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวังไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไปประเภท    :    เรื่องสั้น    ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตรจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day ประเภท            :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้ประเภท    :    เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์…