Skip to main content

ชาญณรงค์ บุญหนุน
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

ขณะเมื่อการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้นที่ยังดำรงอยู่แม้หลัง “การขอคืนพื้นที่” และ “การกระชับพื้นที่” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและราชประสงค์ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก พระสงฆ์จำนวนมากดูเหมือนจะมีความอ่อนไหวทางการเมืองเรื่อง “ความเป็นธรรมทางสังคม” อยู่มาก พระสงฆ์ที่ไร้อำนาจวาสนาจำนวนมากในต่างจังหวัดต่างแสดงความเห็นอกเห็นใจ “คนเสื้อแดง” ที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและมีความพยามเล็ก ๆ ที่จะพัฒนาการมีส่วนร่วมในการสร้างสำนึกความเป็นธรรมแก่สังคม  

ในความคิดของผู้เขียน การพิจารณาว่าความเป็นธรรม (Justice) คืออะไรในมุมมองของพุทธศาสนาเป็นเรื่องยาก ชาวพุทธจำนวนมากถือเอาอย่างง่าย ๆ ว่า ความเป็นธรรมก็คือการที่ชีวิตเราดำเนินไปตามกฏแห่งกรรม เมื่อทำกรรมแล้วก็ได้รับผลของกรรมนั้นเรียกว่าเป็นธรรมหรือยุติธรรม  ในทางปรัชญาแล้ว ความคิดที่นำเอาคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมมาพิจารณาเรื่องความเป็นธรรมนั้น แม้จะไม่ผิดหลัก แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้ช่วยให้ได้อะไรขึ้นมา มันเหมือนกับคำพูดที่เหมือนไม่ได้พูด จะพูดหรือไม่ก็มีความหมายเท่ากัน  ทุกอย่างยังเหมือนเดิมคือปล่อยให้ “กฎแห่งกรรม” ทำงานของมันไป การนำกฎแห่งกรรมซึ่งเป็นเรื่องทางอภิปรัชญามาปนกับเรื่องจริยธรรมทางสังคม นอกจากทำให้มีปัญหาเมื่อถกกันเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมแล้วพุทธศาสนายังกลายเป็นเครื่องมือให้ผู้ปกครองหยิบฉวยแนวคิดแบบนี้มาใช้กดขี่ปิดบังความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจริงด้วย

            อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการถกเถียงเรื่องความเป็นธรรมในมุมมองของพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ต้องการรายละเอียดมาก ถ้าทำแบบง่าย ๆ ก็อาจทำให้เข้าใจผิดได้ ในที่นี้ผู้เขียนจะลองคิดผ่านเรื่องที่ชาวพุทธคุ้นเคยที่สุดคือศีล ๕  ในเรื่องนี้ ถ้าเรายกศีลข้อ ๕ (เรื่องการดื่มสุราและของเมา) ออกไปก่อน เหลือไว้พิจารณาเพียง ๔ ข้อ ก็จะเห็นกรอบคิดสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจง่ายขึ้น กล่าวคือ ชาวพุทธถือว่าศีลเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดสำหรับมนุษย์ทั่วไปที่มีชีวิตอยู่ในสังคม มันเกี่ยวข้องกับสิทธิในชีวิต (ข้อที่ ๑) สิทธิในทรัพย์สิน (ข้อที่ ๒) สถาบันครอบครัวที่เป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม (ข้อ ๓) และสิทธิที่จะได้รับรู้ความจริง ไม่ถูกหลอกลวง ไม่ถูกกล่าวร้าย กล่าวหาด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ (ข้อที่ ๔) เฉพาะข้อที่ ๕ นั้นเกี่ยวข้องกับความสามารถในการควบคุมตนเองและการมีสติอันเป็นรากฐานของปัญญา ศีลข้อนี้ไม่เป็นข้อห้ามที่สำหรับศาสนาคริสต์และฮินดู

 ความหมายของศีลจากภาษาทิเบตจะทำให้เราเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ในภาษาทิเบต ศีล หมายถึง ความยุติธรรมหรือความเหมาะสม เพราะเป็นเรื่องของการปฏิบัติที่เหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับตนเองและผู้อื่น ศีลบอกเราเกี่ยวกับความประพฤติที่เหมาะสมในทางสังคม เกี่ยวข้องโดยตรงกับ คุณค่าของความเป็นมนุษย์คือสิทธิในชีวิตและองค์ประกอบพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตที่ดีของชาวโลก

            ถ้าเราศึกษาพระไตรปิฎก (เช่น อัคคัญญสูตร จักกวัตติสูตร เป็นต้น) ก็มองเห็นแนวคิดที่ว่า ธรรมชาติของชีวิตมาจากไหนไม่สำคัญ แต่เมื่อเกิดมาเป็นชีวิตในโลกนี้แล้ว มาอยู่ในสังคมการเมือง ก็ถือว่าชีวิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่ไม่ควรถูกละเมิด ชีวิตต้องอาศัยปัจจัยภายนอกคือ ทรัพย์สิน (ปัจจัยสี่สำหรับดำรงชีวิต) และสังคม (ครอบครัว) ชีวิตที่ดีขึ้นอยู่กับการได้อาศัยอยู่ในสังคมที่ดี สังคมที่ไม่มีการมุ่งร้าย ไม่มีความเกลียดชัง ไม่ถูกฉกฉวยเอาผลประโยชน์โดยไม่ชอบธรรม การดำเนินชีวิตต้องไม่ถูกขัดขวางด้วยการทำให้เป็นคนชั่วร้ายในสังคมอย่างเป็นเท็จ การคุกคามด้วยคำพูดและวิธีการอันหยาบช้า  เมื่อพิจารณาแนวคิดเหล่านี้ร่วมกับบทบัญญัติทางวินัยของพระและศีลของฆราวาส มาตรฐานขั้นต่ำสุดที่พุทธศาสนาถือว่าไม่ควรถูกละเมิด ก็คือ “ความเป็นมนุษย์”

            การตระหนักในคุณค่าความเป็นมนุษย์นี่แหละที่เป็นบรรทัดฐานบ่งชี้ว่า สังคมเราเป็นสังคมที่ดีหรือไม่ ยุติธรรมหรือไม่ พุทธศาสนาถือว่าสังคมที่ดีจะดำรงอยู่ได้ด้วยการสามารถธำรงคุณค่าความเป็นมนุษย์ไว้ ศีลข้อปาณาติบาตที่พุทธศาสนาเรียกร้องให้ปฏิบัติก็คือเครื่องหมายที่บ่งชี้ว่า พุทธศาสนาใส่ใจ คุณค่าของความเป็นมนุษย์เหนืออื่นใด เมื่อคุณค่าของชีวิตถูกทำลายไปหรือองค์ประกอบของการมีชีวิตที่ดีถูกเบียดเบียน โดยผู้อื่นไม่ว่าจะระดับชุมชน หรือสังคมโดยรวม ผ่านการใช้อำนาจรัฐ ผู้ปกครอง หรือสถาบันใด ๆ ก็ตามก็ถือได้ว่าเราได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เกณฑ์ตัดสินว่าสังคมใดสังคมหนึ่งมีความเป็นธรรมหรือไม่ก็คือการพิจารณาดูว่าสังคม รัฐ หรือผู้ปกครองได้ละเมิดความเป็นมนุษย์ของเราหรือไม่ เรื่องนี้ปรากฏในศีล ๕ ที่ชาวพุทธคุ้นเคยแต่ไม่รู้ด้วยเหตุใดชาวพุทธบางคนที่บอกว่าตนเองเป็นคนดีมีศีลธรรม ก็เพียงแต่ไม่รู้สึกอ่อนไหวต่อการฆ่ากันต่อหน้าต่อตาในใจกลางกรุงเทพฯ หนำซ้ำยังยุยงส่งเสริมการใช้อำนาจละเมิดผู้อื่นในนามสถาบันหลักของสังคมด้วย

            ประเทศไทยบอกตัวเองและชาวโลกว่า ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) โดยหลักการ ระบอบประชาธิปไตยจะประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สุดของพลเมืองในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ระบอบคิดนี้ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิตที่ดี มีเสรีภาพที่จะกระทำเพื่อตอบสนองความต้องการของตนโดยไม่ละเมิดผู้อื่น สิทธินี้จะต้องได้รับการเคารพจากผู้ปกครองและพลเมืองทุกคนภายในรัฐ ทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมโดยไม่จำกัดชนชั้นวรรณะ ชาติพันธุ์ เพศ รสนิยม ค่านิยมทางศาสนา และอุดมการณ์ทางการเมือง

            ชาวพุทธมักจะโอ้อวดเสมอมาว่าพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตย โดยอ้างรูปแบบการปกครองสงฆ์ของพระพุทธเจ้ามาเป็นตัวชี้วัด แต่เอาเข้าจริง ๆ ชาวพุทธจำนวนมากก็มักจะไม่ตระหนักรู้หรือเคารพยอมรับอย่างจริงจังในในคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญเบื้องหลังประชาธิปไตย ทั้งที่ในความเป็นจริงเรื่องนี้สามารถจะถอดออกมาจากศีลเบื้องต้นไม่ว่าของพระหรือฆราวาส เมื่อศีลวางบรรทัดฐานขั้นต่ำสุดทางสังคมไว้ว่า สิ่งที่ไม่ควรถูกละเมิด ได้แก่ ชีวิต ทรัพย์สิน ครอบครัว การรับรู้ความจริง (การไม่ถูกทำลายด้วยความเท็จหรือการหลอกลวง) แต่จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองปัจจุบัน เราจะเห็นการละเมิดชีวิต การทำลายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของชีวิต เช่น การทำให้เสียโอกาสในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตอันปกติสุข การให้ร้ายป้ายสีว่ามีแผนล้มเจ้า และการระงับสิทธิในการรับรู้ความจริง สิทธิในการพูดความจริง ตัวอย่างเช่น เราไม่มีโอกาสได้รู้ความจริงว่า ๔ ข้อความของอากง SMS ร้ายแรงจริงหรือไม่ เราไม่มีโอกาสรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังคนที่ตายไปเกือบร้อยศพจากการประท้วงใหญ่ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2549- 2553 เราพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูงไม่ได้ นี่คือลักษณะสังคมที่ละเมิดศีลข้อมุสาวาทโดยแท้

            เราบอกได้ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐได้ละเมิดความเป็นธรรมตามหลักพุทธศาสนาอย่างชัดเจนคือ การทำลายชีวิตและการปิดบังความจริง การคุกคามผู้ที่พูดความจริง รวมทั้งการให้ร้ายผู้ประท้วงทางการเมืองอย่างไม่มีหลักฐานชัดเจน เราเห็นการทำลายชีวิต เราเห็นการบิดเบือนความจริงที่อยู่ต่อหน้าโดยการใช้ภาษาอย่างฉ้อฉลเพื่อกลบเกลื่อนความรุนแรง เช่น “การขอคืนพื้นที่” และ “การกระชับพื้นที่” เราได้เห็นการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องปฏิเสธและปกปิดการกระทำของตนเองเพื่อที่จะไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว 

             สองปีผ่านไป ชาวพุทธจำนวนมากต้องการลืมสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเรา ต้องการให้มีการปรองดองโดยไม่คำนึงถึงความเจ็บปวดของผู้ที่สูญเสียและต้องการความเป็นธรรม ผู้มีอำนาจวาสนาในสังคมต่างบอกว่าเราควรลืมสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเสีย ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่ชาวพุทธไทยน่าจะต้องขบคิดกันให้มากขึ้นเพื่อสังคมเราในระยะยาวคือต้องช่วยกันพัฒนาสำนึกเกี่ยวความเป็นธรรมทางสังคมให้เข้มแข็งในประเทศของเรา แต่ต้องไม่ใช่ด้วยการบอกว่าทุกคนต้องรับศีล เมืองไทยต้องเป็นเมืองพุทธ ต้องมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ต้องมีปฏิบัติการเชิงสังคม ที่ทำให้แนวคิดเรื่องความเป็นธรรมที่รองรับความเป็นศีลเป็นวินัยปรากฏเป็นจริงขึ้นมา 

การจะทำเช่นนี้ได้ นอกเหนือจากทำความเข้าใจหลักคำสอนทางศาสนาตามคัมภีร์ที่ตอนเองนับถือให้ลึกซึ้งแล้วแปรความหมายออกมาเพื่อรับใช้สังคมแล้ว ยังต้องอาศัยมีความกล้าหาญทางจริยธรรม พร้อมทั้งพัฒนาหัวใจอันกรุณาต่อสรรพสัตว์ที่มหายานเป็นแบบอย่างด้วย หัวใจอันกรุณานี้มีลักษณะสำคัญอยู่ที่การยึดเอา ”ชีวิตของผู้อื่น” เป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติธรรม มิใช่ยึดเอาคัมภีร์ ตัวอักษร ศาสนาหรือสถาบันใด ๆ เป็นมาตรฐานแล้วลืมหรือละทิ้งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น  ในยุคสมัยที่สังคมทุกข์ร้อนด้วยความอยุติธรรม การสวดมนต์และการรับศีลแต่ในวัด แต่ขาดหัวใจอันกรุณาและเปิดกว้างต่อความทุกข์ยากของสรรพสัตว์ไม่ได้ช่วยอะไร

 

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
หากชนชั้นกลางที่มีการศึกษาดีเหล่านั้นจะตอบให้อาจารย์สมศักดิ์หายขำ ก็ต้องตอบให้ “ตรงประเด็น” คือ ต้องไปโต้แย้งว่าหลักญาณวิทยาที่อาจารย์สมศักดิ์ใช้ถามผิดอย่างไร และข้อเรียกร้องเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบบนหลักการสากลของสังคมประชาธิปไตยผิดอย่างไร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน  กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร ภาพประกอบจาก http://www.horajan.com/konhangkom.html
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
David Loy เขียน วิจักขณ์ พานิช กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร แปล
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์  บุญหนุน  กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
"คอมมิวนิสต์ทำลายชาติ" ในที่นี้จึงหมายถึงการทำลายชนชั้นและอาณาเขตระหว่างประเทศ   ส่วน "ชาติ" ที่พุทธศาสนาทำลายคือชาติภพ   "ชา-ติ = การเกิดขึ้นของกิเลสตัณหา"   พุทธศาสนาสอนให้ทำลายชาติ เพราะ "เมื่อชาติไม่มีความตายก็ย่อมไม่มี" หรือสภาพนิพพานนั่นเอง
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิช กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์