Skip to main content

 

วิจักขณ์ พานิช
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
 
 
วาทกรรม "ศาสนาไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง" มักถูกนำมาอ้างเพื่อปกป้องไม่ให้พุทธศาสนาแปดเปื้อน ทว่าคำกล่าวนี้กลับเพิกเฉยต่อ "สถานะของสถาบันพุทธศาสนา" ในปัจจุบันที่เป็นการเมืองอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคณะสงฆ์ที่ผูกติดอยู่กับอำนาจรัฐ โครงสร้างองค์กรสงฆ์ที่รับเอาโครงสร้างแบบราชการมาใช้ ความเชื่อมโยงกับกลุ่มทุนและกลุ่มการเมือง การสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ในนามของความเป็น "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" วันหยุดราชการ นโยบายและงบประมาณด้านการศาสนา ราชพิธี ลำดับชั้นสมณศักดิ์ พัดยศ แบบเรียนพุทธศาสนาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทั้งหมดสะท้อนอยู่ในความเป็น "พุทธศาสนาที่เป็นทางการ" หรือ "พุทธศาสนาของรัฐ" อันเป็นหนึ่งในมรดกตกทอดของการรวมศูนย์อำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5
 
นอกจากนั้น สิ่งที่ผมอยากให้ข้อสังเกตก็คือ นัยยะของคำว่า "การเมือง" ที่ถูกเอ่ยถึงในมุมมองพุทธศาสนาแบบเป็นทางการ (ที่ปัจจุบันผสมปนเปกับรูปแบบพุทธศาสนาของชนชั้นกลาง วิชาพุทธศาสนาของกระทรวงศึกษาธิการ กระแสธรรมะป๊อปจากสื่อ หรือศีลธรรมโฆษณาของ สสส. ฯลฯ ยังคงเป็นความเข้าใจในแบบที่เคยชินจากอิทธิพลของกรอบคิดแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กล่าวคือ การเมืองเป็นเรื่องของพระราชาหรือชนชั้นปกครอง (ซึ่งปัจจุบันถูกผลักให้เป็นเรื่องของนักการเมือง) การเมืองยังถูกมองว่าไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตประจำวัน "ไม่ใช่เรื่องอะไรของเรา" หรือหากเกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องของการรอรับผล ไม่ใช่การมีส่วนร่วมในการสร้างเหตุ
 
อย่างไรก็ดี หลัง 2475 หลักการพื้นฐานของ "การเมือง" ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของราษฎรนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างถึงราก นั่นคือ อำนาจอธิปไตยของรัฐ ไม่ได้เป็นของพระมหากษัตริย์หรือชนชั้นขุนนางอีกต่อไป ทว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร ผ่านระบบรัฐสภาโดยมีคณะผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนเข้าไปบริหารปกครองประเทศ ดังนั้นโดยหลักการแล้ว การเมืองคือชีวิตประจำวันของพลเมืองในรัฐ คนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง ตรวจสอบ เลือก และกำหนดทิศทางของสังคมที่ตนอยู่ เรียกได้ว่าประชาธิปไตยได้ทำให้ การเมืองกลายเป็นชีวิต และชีวิตไม่สามารถแยกขาดจากการเมืองได้ หากจะพูดให้ถูกก็คือ "การเมืองไม่ยุ่งเกี่ยวกับศาสนา" ในแง่ที่ว่ารัฐไม่ใช้ศาสนาหรือความเชื่อใดมาเป็นกลไกการปกครองของรัฐ ทว่าในทางตรงกันข้าม ศาสนาไม่สามารถไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้ ตราบใดที่ศาสนายังสัมพันธ์อยู่กับชีวิตประจำวันของผู้คนภายในรัฐ
 
และเช่นเดียวกัน โดยหลักการแล้ว นั่นควรจะทำให้พุทธศาสนาถูกปลดปล่อยจากการรับใช้โครงสร้างแนวดิ่งแบบศักดินา สู่การเป็นรากฐานทางสติปัญญาของโครงสร้างแนวราบของรัฐประชาธิปไตย อีกทั้งยังน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่พุทธศาสนาจะไม่ถูกรวมศูนย์หรือกำกับควบคุมโดยรัฐ และสามารถกลายเป็นพลังที่สัมพันธ์อยู่กับชีวิตประจำวันของราษฎรอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นได้ ก็จะทำให้พุทธศาสนากลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ธรรมะช่วยสนับสนุนให้ราษฎร "ตื่น" "เรียนรู้" "เป็นอิสระ" "ตั้งคำถามด้วยสติปัญญา" "แสวงหาข้อเท็จจริง" "คิดเองตัดสินใจเอง" "ยอมรับความเห็นต่าง" "ตรวจสอบ" "กล้าวิพากษ์วิจารณ์" "มีส่วนร่วม" "เคารพกติกา" ฯลฯ และนั่นจะยิ่งทำให้รากฐานทางสังคมและรากฐานทางจิตวิญญาณของคนในสังคม ทั้งทางโลกและทางธรรม เติบโตไปพร้อมกับในแนวราบ ศาสนา การเมือง และชีวิตประจำวัน เป็นเนื้อเดียวกันในสังคมแบบโลกวิสัย ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค มากกว่าอัตลักษณ์ทางศาสนา
 
ทว่าเหตุการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยคณะราษฎร กลับไม่ได้มีผลกระทบต่อโครงสร้างสถาบันศาสนามากนัก เช่นเดียวกับการรื้อถอนโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมแบบศักดินาซึ่งมีผลอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น แม้จะมีความพยายามในการปฏิรูปโครงสร้างคณะสงฆ์ ด้วยการออกพรบ.คณะสงฆ์ 2484 เพื่อปรับการปกครองคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น การยุบมหาเถระสมาคมแล้วตั้งเป็นสังฆสภา เป็นต้น ทว่าความพยายามนั้นก็มีผลเพียงระยะสั้น สอดคล้องไปกับบริบททางการเมืองที่ อิทธิพลของคณะราษฎรถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ช่วง 15 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น
[อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ "70 ปี พรบ.คณะสงฆ์2484  (ตอน1-2)" โดย ภิญญพันธุ์ พจนลาวัณย์]
 
เมื่อการณ์เป็นเช่นนั้น พุทธศาสนาที่เป็นทางการจึงยังสามารถทำหน้าที่ "เผยแผ่พระพุทธศาสนา" อยู่อย่างอิงแอบกับอำนาจเก่าที่ได้รื้อฟื้นอุดมการณ์แบบราชาชาตินิยมขึ้นมาจนเข้มแข็งสูงสุดในปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ในงานเขียนของนักศึกษาศาสนศึกษาจะพบว่า การซึบซับพุทธศาสนาแบบทางการที่ถูกอบรมสั่งสอนมากันในโรงเรียนมาเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดความเข้าใจว่าประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นธรรมราชา และพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ -- คำสอนทางศาสนาเป็นกลไกสำคัญในการกล่อมเกลาพลเมืองของรัฐ ให้เป็น "คนดี" "มีศีลธรรม" โดยมีองค์กรต่างๆ ทำหน้าที่สร้างกฏเกณฑ์ และชี้ถูกชี้ผิด สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ยอมรับกันได้ โดยไม่มีใครตั้งคำถามว่าเป็นหน้าที่ของศาสนาในรัฐโลกวิสัยหรือไม่ อีกทั้งคนจำนวนไม่น้อยยังสนับสนุนให้องค์กรเหล่านี้มีอำนาจทางการเมืองมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ เพราะเชื่อว่าอำนาจศีลธรรมทางศาสนาเป็นอำนาจบริสุทธิ์เมื่อเทียบกับอำนาจประชาชน(ที่มีกิเลสตัณหา)ในระบอบประชาธิปไตย ผลคือ แนวโน้มเหล่านี้ก็ยิ่งไปเสริมรากฐานของระบอบเก่าให้ดึงรั้งจิตสำนึก การมีส่วนร่วม และพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยต่อไปเรื่อยๆ
 
ดังนั้นคำว่า "พุทธศาสนาไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง" นอกจากจะเป็นประโยคที่เป็นเท็จแล้ว บ่อยครั้งยังถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหยุดยั้งไม่ให้เกิด “ความตื่น” ในรูปแบบการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพุทธบริษัทสี่ อันจะส่งผลสะเทือนต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมแบบเก่าอันเอื้อประโยชน์ต่ออำนาจศาสนาที่ดำรงอยู่ในรูปแบบรัฐศาสนาแอบแฝงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง และหากมองในมุมมองแบบประชาธิปไตยที่การเมืองเกี่ยวข้องกับคนทุกคน และคนทุกคนมีความรับผิดชอบในการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยแล้ว การที่พุทธศาสนาจะสัมพันธ์อยู่กับความทุกข์ของผู้คนและสังคมในฐานะรากฐานทางสติปัญญาได้ คำว่า "ศาสนาไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง" นอกจากจะเป็นไปไม่ได้แล้ว ในทางตรงกันข้าม ยิ่งประชาธิปไตยเติบโตมากเท่าไร พุทธธรรมกับการเมือง- พุทธธรรมกับชีวิต ยิ่งจำเป็นจะต้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นด้วย อย่างไม่กลัวการแปดเปื้อน
 
 
 
ที่มาภาพ: FB Voice TV  พระราชาคณะพร้อมเจ้าคณะและพระสังฆาธิการ 449 รูป ร่วมเจริญพระพุทธมนต์เต็มห้องประชุมสภา ทั้งที่นั่ง ปธ.-รมว.  
 

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์​ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร ภาพ: banksy
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุนกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
บทล้อ irony พุทธทาส (ธรรมะเผด็จการ/ธรรมะครอบจักรวาล)
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎรพระวีระธุ พระภิกษุชาวพุทธที่เดินหน้ารณรงค์ต่อต้านมุสลิมในพม่า
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร