Skip to main content
สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
หมายเหตุ:ปรับปรุงจากบทความชื่อเดียวกันที่เผยแพร่ในมติชนออนไลน์ 

 

เห็นเพื่อนเสรีชนหลายคนนำ “วรรคทอง” ของท่านพุทธทาสที่ว่า “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” ตามภาพข้างล่างนี้มาแชร์กันในเฟซบุ๊ก และวิจารณ์กันไปต่างๆ นานา

 
 
ผมเองเคารพคำวิจารณ์เหล่านั้น และท่านพุทธทาสก็เคยยืนยันด้วยว่าพระสงฆ์และพุทธศาสนาไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ แต่ระยะหลังมานี้มีการนำคำพูดของท่านพุทธทาสไปใช้ในทางการเมืองกันมาก ไม่ว่าจะเป็น “เผด็จการโดยธรรม” หรือ “ประชาธิปไตยประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่” ซึ่งความหมายที่นำไปอ้างนั้นล้วนแต่เป็นไปในทางสนับสนุนให้เข้าใจกันว่า มีอะไรบางอย่างอยู่เหนืออำนาจของประชาชน ไม่ว่าอะไรบางอย่างนั้นจะเรียกว่า “ธรรมะ”  “คนดี” หรือ “คุณธรรมจริยธรรม” ก็ตาม ทำให้บรรดาเสรีชนรับไม่ได้โดยเด็ดขาดกับการอ้างอะไรที่เหนือกว่าอำนาจของประชาชน หรือความเป็นประชาธิปไตย ท่านพุทธทาสก็เลยเสมือนกลายเป็น “จำเลย” ท่ามกลางฝุ่นควันของความขัดแย้งทางการเมืองไปโดยปริยาย
 
สาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเอียนคำว่า “คนดี” “ธรรมะ” หรือ “คุณธรรมจริยธรรม” กันมากในปัจจุบัน ก็เพราะในความขัดแย้งกว่า 6 ปีมานี้ มีกระบวนการอ้างคนดีอ้างธรรมะ คุณธรรมจริยธรรมเพื่อให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารทำลายประชาธิปไตยโดยทหารและตุลาการภิวัฒน์ โดยเฉพาะคนดีในความหมายที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นำมาตอกย้ำบ่อยๆ คือคนที่จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กตัญญูต่อแผ่นดินเป็นต้นนั้น ดูเหมือนจะมีความหมายตรงกันข้ามกับคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งการเปรียบเทียบความดีงามไร้ที่ติของบุคคลในระบบอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้กับนักการเมืองที่ด่าได้ วิจารณ์ตรวจสอบได้ว่าเลวอย่างไร้ที่ติด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เรามองย้อนหลังไปในอดีต 80 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยแล้วยิ่งพบว่า สาเหตุสำคัญของความไม่เป็นประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหาสาระเสียทีก็คือ การอ้างคนดี อ้างธรรมะ คุณธรรมจริยธรรมที่เป็นการเน้นความสำคัญของ “ตัวบุคคล” เหนือกว่า “ระบบ” หรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยนั่นเอง
 
ไม่น่าเชื่อว่า แม้จนวันนี้การตอกย้ำให้เห็นปัญหา “ตัวบุคคล” มากกว่า “ระบบ” ยังดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง ดังคำพูดของ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ข้างล่างนี้
 
กลายเป็นว่ามีกระบวนการอ้างศาสนา อ้างธรรมะ หรือคนดี คุณธรรมจริยธรรมเพื่อจะเปรียบเทียบว่าอำมาตย์ดีนักการเมืองเลว และเลยเถิดไปถึงการอ้างวิทยาศาสตร์ อ้างความคิดเรื่องยีนเพื่อตอกย้ำว่านักการเมืองเลว นี่คือการสร้างมายาคติว่า ในทางศาสนานักการเมือง “เลวโดยจิตสันดาน” ในทางวิทยาศาสตร์นักการเมือง “เลวโดยยีน”
 
แต่ที่จริงถ้าอ้างวิทยาศาสตร์ อ้าง “การวิจัย” ก็ต้องพูดถึงข้อเท็จจริงทุกด้าน โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ชนชั้นปกครองในอดีตก็เอาเปรียบราษฎรด้วยวิธีการต่างๆ ไม่น้อยกว่านักการเมืองเช่นกัน เช่นที่มีการอ้างศาสนาเป็นเครื่องมือเอาเปรียบราษฎร ดังข้อความในหนังสือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ของจิตร ภูมิศักดิ์ (หน้า 211) ระบุถึงชนชั้นศักดินาในอดีตอ้างเหตุผลในการเก็บอากรค่าน้ำจากชาวบ้านที่หาปูหาปลามายังชีพว่า “ปรึกษาพร้อมกันว่า... ชึ่งราษฎรทำการปาณาติบาตหาผลประโยชน์เลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพจะไม่ต้องเสียอากรค่าน้ำนั้น เห็นว่าเป็นเหมือนหนึ่งยินดีด้วยคนทำปาณาติบาตหาควรไม่ ซึ่งพระศรีชัยบานทำเรื่องราวมาว่าจะขอรับพระราชทานทำอากรค่าน้ำนั้นก็ชอบอยู่แล้ว...” หรือดังข้อเท็จจริงตามข้อความดังภาพข้างล่างนี้ ก็น่าจะถูกบรรจุไว้ในตำราเรียนของระบบการศึกษาแบบทางการด้วยเช่นกัน (แต่ทำไมไม่บรรจุให้ประชาชนได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงทุกด้าน)
 
 
ฉะนั้น หากหมอเกษมคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และเชื่อในข้อเสนอเชิงวิทยาศาสตร์ของตนเองจริงๆ ก็ควรเสนอให้วิจัยยีนของคนทุกชนชั้น แต่ผมคิดว่าเขาไม่ได้มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์จริงหรอกครับ เพราะคนที่คิดเป็นวิทยาศาสตร์ย่อมยืนยันความจริงที่พิสูจน์ได้และยืนยันเสรีภาพในการพิสูจน์ความจริง เขาต้องเสนอให้บุคคลสาธารณะทุกคนอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบของประชาชน อันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน
 
ขอแทรกอีกปัญหาหนึ่งบังเอิญผมเพิ่งอ่านเจอมา มีการอธิบายทำนองว่าความแตกต่างระหว่างเสื้อแดง เสื้อเหลืองประการหนึ่งคือ “มาตรฐานทางศีลธรรมที่ต่างกัน” เนื่องจากอยู่ในชนชั้นต่างกัน คนเสื้อแดงนั้นส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่างพวกเขาจึงรับได้การโกงของนักการเมืองที่ทำเพื่อปากท้องของพวกเขา แต่เสื้อเหลืองส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางในเมืองที่ยังไงๆ ก็รับไม่ได้กับ “การโกง” ผมคิดว่านี่ก็เป็นการมองที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอีกเช่นกัน เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วชาวบ้านไม่มีพรรคการเมืองที่เชื่อได้ว่าไม่โกงให้เลือก พวกเขาสัมผัสด้วยตนเองว่าทุกพรรคล้วนซื้อเสียง แต่ที่เลือกพรรคของทักษิณเพราะพวกเขาเชื่อว่าทำประโยชน์แก่ชนชั้นล่างมากกว่า
 
ที่สำคัญโดยปกติแล้วชนชั้นล่างไม่โกงหรือไม่มีความสามารถที่จะโกงงบประมาณของรัฐ ชนชั้นที่โกงหรือมีความสามารถโกงงบประมาณของรัฐคือชนชั้นกลางขึ้นไป โกงกันในทุกวงการทั้งภาครัฐ เอกชน กระทั่งสื่อมวลชน แม้แต่ “ราคาซื้อเสียง” ของชนชั้นกลางก็แพงกว่า เช่นหัวหน้าส่วนราชการ “คนมีสี” ที่สั่งลูกน้องให้ไปลงคะแนนได้ พวกนี้รับเงินซื้อเสียง (ก้อนใหญ่) มากว่าชาวบ้านธรรมดาหลายสิบเท่า ฉะนั้น จึงสรุปไม่ได้ว่าที่ได้นักการเมืองโกงเป็นเพราะชนชั้นล่างที่การศึกษาต่ำ ไม่รู้ประชาธิปไตย เห็นแก่ตัว รับเงินซื้อเสียง หรือมีมาตรฐานศีลธรรมต่ำกว่าชนชั้นกลางที่มีการศึกษาและรู้ประชาธิปไตยดีกว่า
 
จะว่าไปวิธีเลือกมองอะไรแบบด้านเดียวทำนองนี้มักเป็นมุมมองจากชนชั้นนำที่เอาแต่สอน มากกว่าที่จะรับฟังและเรียนรู้จากคนอื่นๆ อย่างมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน พวกเขาจึงมักมีมุมมองอะไรแบบแปลกๆ ใช้ภาษาแรงๆ และแข็งทื่อเสมอๆ เช่นมุมมองของ “สุเมธ” ตามภาพข้างล่าง
 
ที่ว่า “อย่าใช้กิเลสเป็นเครื่องนำทางเลย” หากเขาเชื่อในสิ่งที่เขาเสนอ เขาต้องรีบเสนอให้ยกเลิก 112 โดยด่วน เพราะสังคมจำเป็นต้องมี “วิชชา” หรือปัญญาเป็นเครื่องนำทาง และสังคมที่มีปัญญาเป็นเครื่องนำทางต้องเป็นสังคมที่ทุกคนที่มีบทบาทสาธารณะต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ว่า พวกเขาใช้กิเลสเป็นเครื่องนำทางในการใช้อำนาจหรือไม่ เป็นต้น
 
แต่อย่างว่า ในสังคมนี้ก็มักมีเรื่องเหลือเชื่อเกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าในทางการเมืองหรือทางศาสนา เช่น
เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายท่านสามารถอธิบายได้ว่า สตีฟ จ็อบส์ ตายแล้วไปไหน ตอนนี้ตัวเขาเป็นอย่างไรบ้าง ดังภาพข้างล่าง
 

 
แต่จะว่าไปที่ท่านแสดงบทบาทเป็นผู้รู้ตอบปัญหาทำนองนี้เป็นประจำก็คือการ “สวมบทบาทของพุทธะ” นั่นแหละ ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทมีเรื่องราวจำนวนมากที่เล่าว่า พุทธะอธิบายชีวิตหลังความตายของบุคคลต่างๆ ว่าตายแล้วไปไหน อยู่สวรรค์หรือนรกขุมไหน เป็นต้น ฉะนั้น เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายหรือใครๆ ที่แสดงบทบาททำนองนี้ก็คือการเลียนแบบพุทธะ จะว่าตีเสมอพุทธะหรือไม่ ก็แล้วแต่ใครจะมอง แต่ประเด็นคือ การแสดงบทบาทแบบนี้มันมีที่มาที่ไป สามารถอ้างอิงหลักฐานในคัมภีร์ได้ว่า ถ้าตนปฏิบัติธรรมได้ญาณบางอย่างเช่น ปุพเพนิวาสานุสสติญาณหรือญาณระลึกชาติของตนและสัตว์ต่างๆ ได้ ก็สามารถจะรู้ชีวิตหลังความตายของบุคคลต่างๆ ได้
 
แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า (คัมภีร์บอกว่า) ญาณที่ว่านี้เป็น “ปัจจัตตัง” หรือรู้ได้เฉพาะตัวเองคนเดียว เวลาคุณบอกว่าคุณรู้คุณจึงพิสูจน์ให้คนอื่นรู้เหมือนคุณไม่ได้ ฉะนั้น เรื่องราวชีวิตหลังความตายของ สตีฟ จ็อบส์ ตามที่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายบรรยาย จึงไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าท่านรู้อย่างนั้นจริงๆ หรือไม่ นอกจากจะเชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้น และก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลายเป็นประเด็นถกเถียง พุทธะจึงบัญญัติวินัยเอาผิดภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรม ถ้าหากอุตตริมนุสสธรรมนั้น เช่น ญาณหยั่งรู้ชีวิตหลังความตายของสตีฟ จ็อบส์ ของตนเองไม่มีจริง แค่ลวงโลก ก็ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระ แต่ถ้าตนมีญาณนั้นจริงก็ยังผิดอีกคือต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อเป็นเช่นนี้พระที่ซื่อสัตย์หรือเคารพธรรมวินัยอย่างแท้จริง ก็จะไม่อวดอุตตริทำนองนี้โดยเด็ดขาด
 
สำหรับเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผมไม่แน่ใจว่าท่านกำลังอวดรู้หรือว่ารู้จริงๆ เพราะผมพิสูจน์ไม่ได้ รู้แต่ว่าถึงท่านจะรู้จริงหรือไม่รู้จริงท่านก็กำลังประพฤติผิดวินัยเป็นอาจิณ เพราะนิสัยของท่านเจ้าอาวาสผู้นี้คือท่านชอบแสดงอุตตริตามกระแส เมื่อสังคมฮ็อตเรื่องบั้งไฟพญานาค ท่านก็ออกมาทำนายภพภูมิของพญานาคว่าอยู่ตรงไหนของใต้แม่น้ำโขง ตอนนี้ก็เลยเกาะกระแสสตีฟ จ็อบส์ อีก ก็ว่ากันไปครับเรามีเสรีภาพจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ เรื่องเอาผิดทางวินัยเป็นเรื่องขององค์กรปกครองสงฆ์ หากองค์กรปกครองสงฆ์ทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ก็แสดงว่าท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเป็นที่เกรงอกเกรงใจของมหาเถรสมาคม (อย่าลืมว่ากรณีพระโพธิรักษ์แห่งสันติอโศกอวดอุตตริ มหาเถรสมาคมไม่ไว้หน้าเลย)
 
 
สำหรับผมแล้ว แม้จะยังไม่มีกระบวนการดำเนินการทางวินัยสงฆ์เพื่อสรุปปัญหานี้ (ชาตินี้จะทำกันหรือเปล่า?) ผมก็เห็นว่า พระที่ทำผิดวินัยเป็นอาจิณไม่ใช่พระที่น่านับถือ เหมือนทหารนั่นแหละครับ เมื่อทหารปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย หรือทำรัฐประหารเป็นอาจิณก็ไม่ใช่ทหารที่น่านับถือ พระหรือทหารแบบนี้จะมาอ้างคุณงามความดีอะไรๆ หรืออ้างว่าตนเองทำประโยชน์อะไรๆ แก่พุทธศาสนาและประเทศชาติเพื่อหักกลบลบล้างการทำผิดวินัย หรือการทำผิดหน้าที่ของตนเองเป็นอาจิณมันก็ฟังไม่ขึ้นหรอกครับ
 
เห็นหรือยังครับ ที่ยกมาเป็นเพียง “ตัวอย่างบางตอน” ของการสร้างมายาคติเรื่องคนดี คุณธรรมจริยธรรม และการใช้ศาสนาสร้างความงมงาย หรือใช้ศาสนาเป็น “ยาฝิ่น” (ดังที่ คาร์ล มากซ์ วิจารณ์)
 
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราไม่อาจนำการอ้างศาสนา อ้างคนดี ธรรมะ คุณธรรมจริยธรรม กระทั่งการอ้างยีนคอร์รัปชันในตัวนักการเมืองตามที่อ้างกันอย่างมีอคติข้างต้นมาตัดสิน “ความคิด” เกี่ยวกับคนดี หรือธรรมะตามความหมายของท่านพุทธทาส หรือสรุปว่าคุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญได้อย่างสมเหตุสมผลนัก เพราะที่จริงแล้ว ความหมายของคนดี ธรรมะ คุณธรรมจริยธรรมตามที่ท่านพุทธทาสเสนอนั้น ย่อมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับที่พลเอกเปรม พันธมิตร และเครือข่ายอำมาตย์ หรือในแบบที่วัดพระธรรมกายนำเสนอ
 
ความน่านับถืออย่างหนึ่งของท่านพุทธทาสคือ “ความซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตนเองรู้” ผมขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจความหมายของความซื่อสัตย์นี้ว่า เย็นวันหนึ่งขณะขับรถผมได้ฟังรายการวิทยุเปิดเทปบรรยายของ ว.วชิรเมธี ท่านพูดตอนหนึ่งว่า “พระบางรูปได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ เตรียมตัวพร้อมแล้วว่าจะไปรับพัดยศสมเด็จแต่มาตายอย่างปัจจุบันทันด่วน บางครอบครัวขับรถพาลูกไปรับปริญญา รถคว่ำตายทั้งกันทั้งครอบครัว ตัวอย่างที่ยกมานี้แสดงว่ากรรมตัดรอนทำให้ตายก่อนที่จะได้เสวยผลบุญ”  นี่คือตัวอย่างของพระที่มักพูดในสิ่งที่เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าท่านเชื่อในสิ่งที่ตนพูดหรือไม่ แต่ก็พูดเป็นตุเป็นตะหรือเล่าได้เป็นฉากๆ เหมือนรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่ตนพูด แต่ท่านพุทธทาสไม่ได้มีลักษณะอย่างนั้น ท่านไม่ยืนยันเรื่องที่ท่านเองพิสูจน์ไม่ได้ หรือเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลได้
ส่วนคำว่า “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” นั้น ปรากฏในหนังสือ “ธรรมะกับการเมือง” ของท่านพุทธทาส ความหมายของคนดีที่ท่านพูดนี้ถอดออกมาจากความคิดเรื่อง “พระโพธิสัตว์” ที่มีคุณลักษณะสำคัญ คือเป็น “ผู้ตั้งมั่นในปณิธานช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์” ตรงกับพุทธพจน์ที่ว่า “สัตบุรุษ (คนดี) เกิดมาเพื่อประโยชน์สุขของครอบครัว วงศ์ตระกูล และมวลมนุษย์ทั้งหลาย”
 
พูดง่ายๆ ว่า คนดีในความหมายของพุทธศาสนา คือผู้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ หรือเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน เรื่องราวของคนดีแบบพระโพธิสัตว์จึงเป็นเรื่องราวของผู้ทุ่มเทศักยภาพทางปัญญาและกรุณาที่มีในตนปกป้องความเป็นธรรมและความผาสุกของผองชน คนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้จริงๆ ย่อมเป็นคนที่มีคุณค่าทุกยุคสมัย ไม่ว่าเขาจะเป็นคนที่นับถือศาสนาอะไร หรือกระทั่งเป็นคนไม่มีศาสนาก็ตาม
 
หากพูดอย่างจำเพาะ มุมมองเช่นนี้น่าจะสอดคล้องกับบริบทสังคมวัฒนธรรมอินเดียโบราณที่บทบาทของ “บุคคล” มีความสำคัญมากต่อประโยชน์สุขของสังคม เช่น ในทางบ้านเมืองพระราชาที่เป็นคนดีมีคุณธรรมสำคัญต่อความผาสุกของนครรัฐต่างๆ ในทางศีลธรรมและจิตวิญญาณพระศาสดาที่เป็นอรหันต์มีบทบาทสำคัญในฐานะคุรุทางศีลธรรมและจิตวิญญาณด้วยเช่นกัน แต่หากมองกว้างออกไปจะเห็นว่า โลกยุคก่อนล้วนให้ความสำคัญกับ “บุคคลในอุดมคติ” หรือบุคคลที่เป็นแบบอย่างอันดีเลิศที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วไปทำความดีตาม เช่น โลกเรามีคนอย่างพุทธะ เล่าจื้อ ขงจื้อ โสเครตีส โมเสส พระเยซู แม่ชีเทเรซ่า มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ มหาตมะ คานธี เป็นต้น ที่เป็นแรงบันดาลใจทางมโนธรรมและศีลธรรมให้เราตระหนักในศักยภาพและคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างไม่สิ้นสุด
 
ปัจจุบันโลกเราเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่คนดีทั้งในความหมายของคนที่มีคุณธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลด้วยกัน คนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องคุณธรรมเชิงสังคม แม้กระทั่งผู้แสวงหาคุณค่าทางจิตวิญญาณก็ยังมีความสำคัญและน่าเคารพ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมอ่านข่าวทางมติชนออนไลน์พบว่า มีหญิงสาวคนหนึ่งเห็นมารดาวัย 80 ปี ถูกต่อหัวเสือรุมต่อย เธอตัดสินใจใช้ร่างกายของตนเองทับร่างของแม่ไว้ ในที่สุดแม่วัย 80 ปี รอดชีวิตแต่เธอต้องตาย ผมคิดว่าคนดีที่พร้อมสละชีวิตตนเองเพื่อปกป้องผู้มีพระคุณมีอยู่จริงในโลกทุกยุคสมัย เพียงแต่เขาอาจไม่ถูกยกย่องว่าเป็น “พระโพธิสัตว์” เพราะเรื่องราวของพวกเขาไม่ได้จารึกใน “นิทานชาดก” แต่คุณธรรมของพวกเขาก็คือคุณธรรมอย่างเดียวกันกับที่นิทานชาดกสอนนั่นเอง
 
เช่นเดียวกันในยุคที่โลกเราให้ความสำคัญกับการสร้างและเคารพระบบสังคมการเมืองที่ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันภายใต้หลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ  “คนดีทางสังคม” หรือคนดีในอุดมคติของโลกยุคปัจจุบันก็คือ คนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมบนพื้นฐานของการมีเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ คนเหล่านี้มีอยู่จริงในสังคมเรา แต่ส่วนใหญ่เขามักถูกระบบอำนาจนิยมทำร้ายให้ต้องติดคุกบ้าง ถูกยิงเป้า ไปตายในป่า หรือต้องระหกระเหินไปตายที่ต่างประเทศบ้าง คนเหล่านี้ก็คือผู้เสียสละเพื่อคนอื่นๆ ไม่แพ้การเสียสละของพระโพธิสัตว์เลยแม้แต่น้อย
 
แน่นอนว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” คืออุดมคติที่เราไม่อาจตอบได้ว่าต้องใช้เวลาอีกยาวนานเพียงใดสังคมมนุษย์จึงจะบรรลุถึง โลกในความเป็นจริงเต็มไปด้วยพันธนาการ ความเหลื่อมล้ำ การแก่งแย่งเอาเปรียบ มีเรื่องราวของความอยุติธรรมและความเจ็บปวดเกิดขึ้นซ้ำๆ อยู่เสมอ การต่อสู้เพื่ออุดมคติจึงเป็นเหมือนการเดินทางที่ต้องเดินต่อไป เพราะเราไม่มีทางเลือกอื่นหากต้องการปกป้องความเป็นคนของตนเอง
 
ส่วนคนที่ขัดขวางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์บนหลักของการมีเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ย่อมไม่ใช่คนดีในบริบทสังคมประชาธิปไตย และในความหมายของพุทธศาสนา จึงไม่ใช่ผู้ที่คู่ควรกับคำว่า “พระโพธิสัตว์” แต่อย่างใด!
 
 

 

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
หากชนชั้นกลางที่มีการศึกษาดีเหล่านั้นจะตอบให้อาจารย์สมศักดิ์หายขำ ก็ต้องตอบให้ “ตรงประเด็น” คือ ต้องไปโต้แย้งว่าหลักญาณวิทยาที่อาจารย์สมศักดิ์ใช้ถามผิดอย่างไร และข้อเรียกร้องเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบบนหลักการสากลของสังคมประชาธิปไตยผิดอย่างไร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน  กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร ภาพประกอบจาก http://www.horajan.com/konhangkom.html
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
David Loy เขียน วิจักขณ์ พานิช กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร แปล
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์  บุญหนุน  กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
"คอมมิวนิสต์ทำลายชาติ" ในที่นี้จึงหมายถึงการทำลายชนชั้นและอาณาเขตระหว่างประเทศ   ส่วน "ชาติ" ที่พุทธศาสนาทำลายคือชาติภพ   "ชา-ติ = การเกิดขึ้นของกิเลสตัณหา"   พุทธศาสนาสอนให้ทำลายชาติ เพราะ "เมื่อชาติไม่มีความตายก็ย่อมไม่มี" หรือสภาพนิพพานนั่นเอง
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิช กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์