Skip to main content

พระถนอมสิงห์ สุโกสโล
กลุ่มพุทธศาสตร์ของราษฎร

 


ภาพซูเปอร์แมนขอลาออกจากการเป็นพลเมืองสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่ชาวพุทธเถรวาทเราชอบอ้างอย่างหนึ่งก็คือ หลักของพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการไม่รอคอย ทุกอย่างต้องผ่านการกระทำด้วยตัวเองเป็นไปตามกฎแห่งกรรม แต่ทว่าหากเราลองพิจารณาดูให้ดีๆ มีเรื่องราวไม่น้อยที่เราในฐานะชาวพุทธกำลังเรียนกันอยู่นั้นถูกแต่งขึ้นมาภายหลัง และยังไม่สอดคล้องกับหลักการของพุทธเองอีกด้วย เช่น เรื่องการปฏิบัติตามกฎแห่งกรรม

สาระของกฎแห่งกรรมคือการเข้าใจว่า การกระทำทุกอย่างจะมีผลกลับมาแน่นอนไม่ว่าทางกายหรือทางใจ แต่ทว่าขั้นตอนของกรรมกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว ในชั้นอรรถาธิบายพระไตรปิฎกทั้งหลายโดยเฉพาะส่วนของ "ชาดก" มักมีเทวดาเข้ามาทำตัวเป็นผู้ตัดสินกรรมอยู่ร่ำไป กลายเป็นว่าหากใครควรจะเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วถูกกฎหมู่บ้าง กฎหมายบ้าง ละเมิดสิทธิที่จะได้รับความถูกต้องนั้นไป "ท้าวสักกะ" ก็จะมาเป็น super hero คอยช่วยเหลืออยู่ทุกครั้งไปอย่างไม่สนใจความจริงเอาเสียเลย ดังเช่น กรณี มณิโจรชาดกที่พระโพธิสัตว์กำลังจะถูกตัดคออยู่แล้วกลับสลับไปตัดคอพระเจ้าอธรรมิกราชได้ หากเป็นเหตุปัจจัยที่เกิดจากการทำดีจริงๆ แทนที่จะเป็นว่าท้าวสักกะสลับคนมาให้ถูกตัดหัว น่าจะเป็นเหตุปัจจัยอย่างอื่นเช่น เพชฌฆาตตัดคอไม่ลงจึงปล่อยตัวไป หรือ ปาดาบใส่พระเจ้าอธรรมิกราชก็ยังจะดูดีกว่าไหม ทำไมต้องเป็นอิทธิฤทธิ์ของเทวดาซึ่งดูแล้วหลักฐานในการเป็นเหตุปัจจัยมันช่างหลวมจริงๆ เหมือนกับว่าผู้รจนามีความพยายามจะทำให้คนดีต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงต้องตั้งคำถามแล้วว่ามีคนที่ดีอย่างเดียวตลอดเวลาหรือชั่วอย่างเดียวตลอดเวลาหรือไม่ และที่น่าสนใจกว่าคือเรื่องที่นำเทวดามาเป็น super hero นี้ ไม่ได้มาในพระไตรปิฎก แต่มาในอรรถกถาอธิบายความพระไตรปิฎกแทน ในส่วนนี้แม้ท่านอาจารย์พุทธทาสจะมองว่าเป็นภาษาคนกับภาษาธรรมก็ตาม แต่บางครั้งการนำตัวแทนมาในลักษณะที่เป็นรูปธรรมอย่าง "คน" ก็เป็นเรื่องที่ต้องมองว่าเป็นการสร้างอัตตลักษณ์อย่างหนึ่งเช่นกัน 

ดังนั้นหากเราจะมองอย่างกว้างๆ แล้ว ท้าวสักกะ พระอรหันต์ หรือ แม้แต่พระพุทธเจ้า ที่ต้องแสดงฤทธิ์บางอย่างเพื่อช่วยคน จะต่างอะไรกับซุปเปอร์ฮีโร่อย่าง ซูเปอร์แมน แบทแมน สไปเดอร์แมน ในหนังและการ์ตูนทั้งหลาย ที่จะเข้ามาช่วยคนด้วยพลังพิเศษ ทำให้กระบวนการของเหตุปัจจัยมีน้ำหนักน้อยลงไป

แน่นอนว่าเราอาจจะมองได้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของเหตุปัจจัยแห่งคุณความดีหรือความชั่วที่เกิดขึ้น เลยทำให้น่าสงสัยว่าการมีตัวละครที่เป็นท้าวสักกะผู้ทนไม่ได้เมื่อมีคนทำความดีอยู่นี้ เป็นแนวคิดในแง่ของความต้องการสร้างค่านิยมบางประการเพื่อให้เป็นประโยชน์กับคนบางกลุ่มหรือเปล่า เพราะแนวคิดที่ต้องการให้พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ หรือ เทวดาลงมาช่วยนั้น ไม่ได้ทำให้คนรู้สึกว่าต้องทำตัวเองให้เป็นที่พึ่งให้ได้เลย กลับกันกลายเป็นการสร้างความรู้สึกว่าถ้าเราทำตามแนวทางที่สางไว้ให้แล้ว ก็จะมีบุญบารมีจากพระพุทธเจ้าองค์นั้นองค์นี้ มีเทวดามาคุ้มครองให้อยู่อย่างสุขสบายมั่งคั่งจนถึงพาไปดุสิตบุรีโน่นเลย กลายเป็นว่าเราจะต้องสร้างโอกาสเพื่อจะไปพบกับฮีโร่เหล่านี้ เพราะท่านเหล่านี้จะสามารถตอบโจทย์เราได้หมดจนถึงกับเป็นส่วนหนึ่งของเหตุปัจจัยให้เข้าถึงพระนิพพานด้วย

ฉะนั้นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์สาวก หรือแม้แต่เทวดาทั้งหลายที่มาในอรรถกถา ก็อาจจะถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นส่วนหนึ่งของการยกย่องคนที่เป็นเศรษฐีหรือกษัตริย์ด้วย โดยหลายครั้งที่นำเรื่องการถวายทานกับพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์แล้ว ไม่ว่ายากจนแค่ไหนก็จะกลายเป็นเศรษฐีทันตา แม้เกิดมาชาติหน้าก็ยังจะได้เป็นพระอรหันต์อีกด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกว่า "การทำบุญกับอริยบุคคลแบบนั้นช่างเป็นเรื่องน่าใฝ่ฝันเสียนี่กระไร" ทำให้เกิดกระแสการค้นหาพระอริยะและการโหมทำบุญเอาของไปบำเรอพระเพื่อแย่งจองพื้นที่ในสวรรค์กันยกใหญ่ ทำให้เกิดการผูกเขตบุญไว้ในวัดด้วยการแอบอ้างในการแสดงธรรมว่าการทำบุญต้องทำที่วัดเท่านั้น และการแต่งตั้งหลวงพ่อรูปนั้นรูปนี้เป็นพระอรหันต์ การเกิดขึ้นของพระเณรครูบาทั้งหลาย กลายเป็นแหล่งตกเงินตกโอกาสของเหล่าชนชั้นกลางถึงรวยไปโดยทันที และในที่สุดก็เป็นหัวคะแนนให้นักการเมืองไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่คนสร้างก็ยังเป็นคนจนเหมือนเดิม เพราะการสร้างความน่าเชื่อถือของซุูเปอร์ฮีโร่เหล่านี้ล้วนมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ทั้งสิ้น

Richard Reynolds เขียนในหนังสือของเขา Super Heroes: A Modern Mythology ซึ่งเป็นหนังสือวิเคราะห์การเกิดขึ้นของซุูเปอร์ฮีโร่ (อเมริกันฮีโร่) เอาไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นฮีโร่ในอดีตหรือปัจจุบันมักมีคุณสมบัติที่ร่วมกันอยู่บ้าง และบางข้อก็เป็นที่น่าสนใจไม่น้อย เช่น 

1. ต้องเป็นคนที่มีปมด้อยในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเติบโต(maturity)อย่างไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อและแม่ 

2. ต้องเป็นคนที่ไม่ว่าอย่างไรก็จะยึดหลักคุณธรรมเอาไว้ โดยยอมแม้กระทั่งการฝ่าฝืนกฎหมายและจารีตประเพณี 

3. ซุูเปอร์ฮีโร่ต้องมีบุคลิกและนิสัยพิเศษบางอย่างที่แตกต่างจากคนทั่วไปในสังคม

4. ต้องแข็งแรงเป็นพิเศษ อย่างน้อยก็มากกว่าคนปกติหลายเท่า

5. แม้จะยอมทำผิดกฎหมาย แต่ก็มีความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมืองอย่างล้นเหลือ

6.  ในเรื่องเล่าของซุูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลายเหล่านี้ ต้องมีในส่วนที่เป็นทั้งเรื่องไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ปนๆกันไป เพื่อให้เกิดความน่าแตกตื่นและน่าสนใจเป็นที่โจษจัน

พอจะรู้สึกบ้างไหมว่าคุ้นๆ กันแทบจะทุกเรื่องเลย การฝ่าฟันต่ออุปสรรค์ปัญหาเพื่อจะมีชีวิตเป็นจุดสำคัญสำหรับการสร้างศรัทธา ซึ่งจุดประสงค์ของซุูเปอร์ฮีโร่ต่างชาตินั้น หลายตัวละครเป็นเรื่องของชาตินิยม แต่หากเรามองกลับมาเป็นซุูเปอร์ฮีโร่ทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธที่ไม่ได้เน้นความสำคัญในเรื่องตัวบุคคลมาตั้งแต่ต้น เน้นแต่ในแง่คิดเชิงคำสอนที่เป็นคาถาที่พอฟังแล้วเกิดความสะกิดใจ

แต่เมื่อมาถึงยุคหนึ่งกลับมีซุปเปอร์ฮีโร่ทางธรรมมากมายเกิดขึ้นอย่างน้อยๆก็ 81 องค์รวมพระพุทธเจ้าด้วย ที่ถูกเขียนประวัติให้ชัดเจนมากขึ้น และถูกนำมาใช้ในการสร้างศรัทธาให้คนเข้ามานับถือศาสนามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกฎข้อสุดท้ายที่หลายท่านมาพร้อมกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์พิสดารเกินจินตนาการกันเลยทีเดียว ซึ่งน่าจะมีเหตุผลในการที่ต้องการสร้างความเป็นบุคคลที่มีฤทธิ์มากมายเหล่านี้ไว้ก็เพื่อควบคุมคนในบริบทของคำว่า "ศรัทธา" และคงต้องขึ้นอยู่กับสังคมในสมัยนั้นด้วยว่าทำไมจึงต้องเร่งสร้างศรัทธากันขนาดนี้

หากซูเปอร์ฮีโร่ในโลกนี้เกิดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนรักชาติหรือวัฒนธรรม ซุปเปอร์ฮีโร่ทางศาสนาก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อรักษาศาสนาเช่นกัน เพราะในการทำสังคายนาครั้งที่ 4 (บางที่ 5) พุทธศาสนาถึงคราววิกฤตในศรีลังกาทั้งเรื่องการแยกนิกายจนไม่แน่ใจว่าคำสอนจะสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการทรงจำอีก จึงตัดสินใจบันทึกพระไตรปิฎกลงใบลาน ไม่แน่ว่าจะมีการเพิ่มข้อความเพิ่มศรัทธาเข้าไปบ้าง หากแต่ยังรักษาเนื้อความในส่วนที่เป็นหัวใจของศาสนาที่ปฏิบัติแล้วเห็นตามได้อยู่ จนมาถึงยุคอรรถกถาจารย์ที่รจนาเรื่องราวขยายเนื้อความให้แก่พระไตรปิฎกเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น แต่ในเรื่องราวที่ขยายความเหล่านั้นมีการอ้างอิงและสร้างความสำคัญให้กับตัวละครหลายตัว ที่ไปพบพระพุทธเจ้าแล้วก็บรรลุธรรมไปเลย จนบางครั้งทำให้เกิดความรู้สึกว่า หากเราไม่ได้เกิดมาร่วมสมัยกับท่าน เราคงจะไม่มีโอกาสบรรลุธรรมแน่ๆ

ซึ่งน่าแปลกมากที่การศึกษาแนวพุทธที่ควรจะสร้างความรู้สึกแห่งการพึ่งพาตัวเองได้ กลับสร้างความรู้สึกให้ไปติดกับตัวบุคคลมากกว่าวิถีปฏิบัติ จนบางคนต้องไปตามหาทำบุญกับพระอรหันต์กันทั่วโลก ยิ่งถ้าพระรูปใดมีบุญบารมีมากพอที่จะได้ไปต่างประเทศด้วยแล้ว ก็ยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่บรรดากลุ่มนักลงทุนกับบุญเป็นอย่างมากเลยทีเดียว จนกระทั่งเกิดทัวร์ขายบุญขึ้น ไม่ว่าจะไปพบพระรูปนั้นนิกายนี้ ทำบุญ 9 วัดทั้งในและนอกประเทศ บางที่มีจัดทัวร์บุญพร้อมพระอริยะด้วย โปรโมทอย่างชัดเจนว่าเดินทางร่วมทางไปกับท่านต้องถึงสวรรค์กันทุกคน จนพระกลายเป็นมัคคุเทศก์ทัวร์ธรรม หลังจากนำไหว้พระวัดดังครบแล้วก็ถวายซองท่านกลับวัดไปในฐานะผู้นำ(มัคคุเทศก์)บุญ

ดูๆแล้วเหมือนกับว่าธุรกิจสายบุญนี้จะรุ่งเรืองทีเดียว เพราะแม้แต่คนที่มีฐานะไม่ดีก็พยายามจะทำ "บุญ" โดยมีทั้งที่หวังพระนิพพานและหวังลาภยศสรรเสริญทั้งชาตินี้และชาติหน้า ผ่านนายหน้าบุญไปสู่ซุปเปอร์ฮีโร่บุญขายบุญกันเป็นกระบวนการยักษ์ใหญ่ทั่วประเทศ ร่ำรวยกันเป็นกอบเป็นกำจนบางครั้งก็ทำให้คิดได้เหมือนกันว่า พระพุทธเจ้าสละราชสมบัติทุกสิ่งทุกอย่างออกมาเพื่ออยู่ติดดิน เพื่อค้นหาธรรม ถือว่าธรรมนี้เป็นของสูงสุดนำธรรมที่ค้นพบนี้มาแบ่งปันให้กันทุกคนฟรีๆ

แต่สมัยนี้พระทั้งหลายล้วนสละความติดดินมาวิ่งหาราชสมบัติ นำธรรมมาขายเป็นธุรกิจ(บางเจ้ามีเซ็นต์สัญญากับค่ายเพลงด้วย จะนิมนต์ต้องผ่านผู้จัดการก่อน ค่าตัวแพงใช้ได้เลยทีเดียว)กันเสียแล้ว โดยพยายามผูกเขตบุญไว้ในวัด สร้างความสำคัญให้แก่ตัวบุคคลมากจนไม่สนใจตัวธรรม สุดท้ายความเป็นพุทธก็คงเหลือเพียงแค่พระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก เจดีย์ใหญ่ที่สุดในโลก วัดใหญ่ที่สุดในโลก ฯลฯ กฎแห่งกรรมเหลือเพียงทำยังไงก็ได้ให้รวย พอรวยแล้วก็จะได้มาเป็น the next top model ให้คนอื่นได้ชื่นชมเป็นซูเปอร์ฮีโร่คนต่อไปกระนั้นหรือ.???

 

 

 

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
หากชนชั้นกลางที่มีการศึกษาดีเหล่านั้นจะตอบให้อาจารย์สมศักดิ์หายขำ ก็ต้องตอบให้ “ตรงประเด็น” คือ ต้องไปโต้แย้งว่าหลักญาณวิทยาที่อาจารย์สมศักดิ์ใช้ถามผิดอย่างไร และข้อเรียกร้องเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบบนหลักการสากลของสังคมประชาธิปไตยผิดอย่างไร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน  กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร ภาพประกอบจาก http://www.horajan.com/konhangkom.html
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
David Loy เขียน วิจักขณ์ พานิช กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร แปล
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์  บุญหนุน  กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
"คอมมิวนิสต์ทำลายชาติ" ในที่นี้จึงหมายถึงการทำลายชนชั้นและอาณาเขตระหว่างประเทศ   ส่วน "ชาติ" ที่พุทธศาสนาทำลายคือชาติภพ   "ชา-ติ = การเกิดขึ้นของกิเลสตัณหา"   พุทธศาสนาสอนให้ทำลายชาติ เพราะ "เมื่อชาติไม่มีความตายก็ย่อมไม่มี" หรือสภาพนิพพานนั่นเอง
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิช กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์