สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
“...ตามความคิดเห็นของผม พระพุทธเจ้าทรงมองมนุษย์ว่าเท่ากันหมด ไม่มีใครมีความเป็นคนน้อยหรือมากกว่าใคร แต่ก็ทรงยอมรับว่า พัฒนาการตามธรรมชาติของสังคมมนุษย์ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นขึ้น ดังที่ทรงแสดงใน “อัคคัญญสูตร” ...แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า พระพุทธเจ้าไม่สอนให้เราขวนขวายที่จะเปลี่ยนระบบที่เราเห็นว่าไม่ดีนะครับ เปลี่ยน เราต้องเปลี่ยน แต่ระหว่างเปลี่ยน คนดีในระบบที่เราอยากเปลี่ยนนั้นต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม อย่างมิตร อย่างเพื่อนร่วมโลก...”
ศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรมทา ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุดประสงค์หลักที่พระพุทธเจ้าก่อตั้งสังฆะขึ้นมาคืออะไรครับ
ดูจากการลำดับเรื่องในคัมภีร์ ผมตีความว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตั้งใจแต่แรกที่จะสถาปนาคณะสงฆ์ขึ้น ทรงออกบวชเพื่อแก้ปัญหาส่วนตัว อันได้แก่ปัญหาที่ทรงรู้สึกว่าชีวิตมันว่างเปล่าทั้งที่เป็นเจ้าชายอยู่ท่ามกลางชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อหรูหรา เมื่อเสด็จออกบวชแล้วก็ทรงแสวงหาทางที่จะดับทุกข์ส่วนตัวนั้น จนคืนหนึ่ง คืนพระจันทร์เต็มดวงเดือนหก ก็ทรงมั่นใจว่าพบแล้ว ในคืนนั้นเองครับ ทรงทบทวนสิ่งที่ทรงพบแล้วเห็นว่าดีมาก มีค่ามาก แล้วความคิดหนึ่งก็แว่บเข้ามาว่าของดีๆเช่นนี้น่าจะแบ่งปันให้คนอื่นรับรู้ด้วย แต่ความคิดอีกแว่บหนึ่งก็คัดค้านว่า อย่าเลย เพราะเรื่องที่พบนี้มันสวนกระแสธรรมชาติมนุษย์ ออกไปเสนอสาธารณชนก็รังแต่จะลำบากเปล่า ที่สุดความคิดแรกก็ชนะ นี่คือที่มาของการที่ทรงเสด็จไปหาผู้คน เล่าเรื่องที่ทรงคิดค้นได้ให้พวกเขาฟัง จนมีคนบวชตาม กลายเป็นคณะสงฆ์ ซึ่งผมตีความว่าคณะสงฆ์ในระยะแรกๆก็น่าจะมีความหมายเพียงกลุ่มคนที่แต่ก่อนมีปัญหาชีวิต โดยเฉพาะปัญหาทางความคิด คล้ายๆกัน มีทุกข์อันเนื่องมาจากการมีชีวิตเช่นนั้นคล้ายๆกัน แล้วมาพบแสงสว่างจากพระศาสดาด้วยกัน ก็เลยตัดสินใจปลีกจากชีวิตเดิมมาอยู่ในสังคมใหม่ที่เรียกว่าคณะสงฆ์
ผมมีข้อสังเกตนิดหนึ่งว่า ตามรายชื่อสาวกในยุคแรกๆที่บันทึกไว้ในเถรคาถาและเถรีคาถา คณะสงฆ์รุ่นแรกๆมีไม่มาก จำนวนน่าจะเพียงหลักร้อยเท่านั้นเอง ท่านเหล่านี้แทบทั้งหมดเป็นคนชั้นสูง ไม่เศรษฐีก็เป็นเชื้อวงศ์กษัตริย์ ซึ่งก็แปลว่า คนที่เข้าใจพระพุทธเจ้ามากที่สุดก็คือคนชั้นสูงแบบเดียวกับพระองค์ ผมตีความว่าคนชั้นสูงแบบนี้จะมีปัญหาทางด้านจิตใจเหมือนกัน เหมือนกับพระพุทธเจ้าตอนที่ทรงเป็นเจ้าชาย พวกเขาจึงรับสิ่งที่ทรงสอนได้มากที่สุด สรุปคือคณะสงฆ์สมัยแรกๆนั้นเป็นหมู่คณะของพระที่มาจากคนชั้นสูง ต่อมาต่างหากที่เมื่อทรงอนุญาตให้สาวกของพระองค์ที่จาริกไปสอนคนในที่ต่างๆไกลๆสามารถบวชคนได้เอง โดยไม่ต้องพามาหา คณะสงฆ์จึงขยายออกไปยังมหาชนมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เองที่ผมตีความว่า ชนชั้นล่างจำนวนมากน่าจะเข้ามาบวช ด้วยเหตุผลต่างๆกัน หรือแม้แต่เหตุผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ คือช่วงนั้นมาบวชแล้วมีชีวิตดีกว่าข้างนอก มีที่อยู่ มีอาหาร
ตอนนี้แหละครับที่เกิดพระวินัยขึ้น คือพอปริมาณมากขึ้น คุณภาพก็ลดลง พระท่านก็ทำตัวไม่ดี จึงต้องทรงออกกฎระเบียบที่เรียกว่าวินัย ก่อนสมัยที่คณะสงฆ์ยังเล็กๆ ไม่มีพระวินัย เพราะคนที่มาบวชเพื่อหนีทุกข์นั้นมีคุณภาพอีกแบบ ไม่เหมือนช่วงหลังที่อาจมาบวชเพื่อหนีปัญหาทางเศรษฐกิจ อย่างที่ผมตั้งข้อสังเกต
สรุปคือ ผมตีความว่าคณะสงฆ์ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจจะให้เป็นอย่างนี้อย่างนั้นแต่แรกโดยพระพุทธเจ้า แต่เป็นองค์กรที่เกิดตามธรรมชาติ พัฒนา คลี่คลาย และมีปัญหาตามธรรมชาติ เหมือนองค์กรอื่นๆในโลก
เรามักได้ยินนักวิชาการชาวพุทธหรือพระสงฆ์พูดเสมอๆว่า สังคมสงฆ์คือตัวอย่างของสังคมประชาธิปไตยยุคพุทธกาล จริงๆแล้วใช่หรือเปล่าครับ มีแนวคิด (concept) ที่แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยรองรับระบบของสังฆะอยู่จริงหรือเปล่าครับ
อันนี้ต้องตีความนิดหนึ่ง มีคนเล่าย้อนไปว่าพระพุทธเจ้าท่านมาจากแคว้นเล็กๆทางภาคเหนือ ที่ใช้ปรัชญาการเมืองการปกครองอีกแบบที่ไม่เหมือนภาคกลาง คือตอนนั้นแคว้นที่มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจจะเป็นแคว้นภาคกลางที่ใช้ปรัชญาการเมืองการปกครองแบบพราหมณ์ หากนึกไม่ออกว่าภาคกลางของอินเดียปกครองอย่างไรก็นึกถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของเราสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้ เพราะเราถอดแบบมาจากเขานั่นเอง แต่แคว้นของพระพุทธเจ้าปกครองแบบไม่มีผู้นำสูงสุดที่เรียกว่าพระมหากษัตริย์สั่งการเด็ดขาดเพียงพระองค์เดียว แต่ใช้ระบบคล้ายๆรัฐสภาของเราเวลานี้ คือคณะผู้บริหารมีจำนวนหนึ่ง น่าจะเป็นร้อย คัดเลือกมาจากตระกูลคนชั้นสูงของแคว้น คนชั้นสูงเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า “ขัตติยะ” ผมขอใช้คำนี้เพื่อแยกให้ต่างจาก “กษัตริย์” ของระบบการเมืองแบบพราหมณ์ของภาคกลาง ไม่ปรากฏว่ามีพราหมณ์ในความหมายของผู้นำศาสนาที่มีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองในแคว้นของพระพุทธเจ้า ที่นั่นพวกขัตติยะเขาปกครองด้วยความคิดแบบที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า “ปลอดศาสนา” ถ้าทฤษฎีผมถูกต้อง รัฐที่พระพุทธเจ้ากำเนิดมาและอยู่อาศัยก่อนเสด็จออกผนวชก็เป็นรัฐแบบที่เราเรียกกันสมัยนี้ว่า “secular state” ฝากสังเกตเรื่องนี้ด้วยนะครับ
ดังนั้นเวลาเราพูดว่าพระพุทธเจ้าเดิมท่านเป็น “เจ้า” ก็โปรดได้เข้าใจว่าเป็นเจ้าในความหมายของขัตติยะ คือนักรบ คิดแบบโลกๆ ปกครองรัฐแบบโลกๆ ไม่มีศาสนา ส่วนเจ้าภาคกลางที่เรียกกษัตริย์นั้นเป็นเจ้าทั้งในแง่นักรบด้วย แต่พิเศษคือเจ้านักรบของภาคกลางมีคำสอนทางศาสนาค้ำจุนอยู่อย่างหนักแน่น กษัตริย์แบบพราหมณ์นั้นเขามีคำสอนในคัมภีร์กล่าวไว้ชัดเจน เป็นที่รู้กันไปทั่ว ว่าเป็นผู้ที่พระเจ้าให้สัมปทานอำนาจปกครองมนุษย์แทน คนที่ต่อต้านกษัตริย์จึงเท่ากับต่อต้านพระเจ้า ความคิดแบบนี้ไม่มีในระบบการปกครองของพวกขัตติยะในดินแดนของพระพุทธเจ้า
เท่าที่ผมเล่าให้ฟังนี้ก็ยังไม่ตอบคำถามที่ว่า ตกลงสังคมสงฆ์เป็นตัวอย่างของสังคมประชาธิปไตยโบราณหรือไม่ ที่ตอบเรื่องนี้ยากก็เพราะความหมายของประชาธิปไตยนั้นกว้างขวาง เพื่อให้ตอบคำถามของอาจารย์ได้ ผมเสนอว่าหากตีความประชาธิปไตยให้แคบลง โดยนิยามว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองที่รวมๆแล้วตรงข้ามหรือต่างจากระบบการปกครองชนิดที่คนคนเดียวมีอำนาจสูงสุด การบริหารคณะสงฆ์ก็มีลักษณะส่วนหนึ่งเป็นอย่างนั้น
เรื่องคืออย่างนี้ครับ ตอนแรกที่สมาชิกสงฆ์ยังไม่มาก พระพุทธเจ้าก็ทรงบริหารงานเองทั้งหมด ต่อมาเมื่อคณะสงฆ์ใหญ่โตเกินกว่าที่จะทรงบริหารด้วยพระองค์เองได้ทั้งหมด จึงทรงอนุญาตให้พระเถระผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งมาช่วยดูแลแทน พระเถระเหล่านี้ต่อมาก็เห็นว่าตนดูแลไม่หมด พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้มีคณะบริหารลดหลั่นลงไป จนกลายเป็นว่าที่สุด ระบบทั้งหมดก็ดูแลโดยพระสงฆ์จำนวนมาก ไม่ได้ขึ้นต่อพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวอีกต่อไป
ที่กล่าวมาข้างต้นผมมองว่าเป็นความจำเป็นตามธรรมชาติ หมายความว่า หากเราอยากจะให้เครดิตพระพุทธเจ้าก็โปรดอย่าให้ในเรื่องนี้ เพราะการที่ทรงปล่อยเช่นนั้นปัจจัยหลักมันมาจากความจำเป็น สำหรับผม เครดิตของพระพุทธเจ้าอยู่ตรงนี้ครับ เมื่อทรงปล่อยแล้วก็ไม่เข้าไปยุ่งเลย คือปล่อยเด็ดขาด ทรงเห็นความตกต่ำในบางช่วงของคณะสงฆ์เหมือนกันครับ แต่ก็ทรงไม่ย้อนกลับไปยึดอำนาจที่ทรงปล่อยไปแล้วมาอีก ทั้งที่ทรงทำได้ เพราะทุกคนเคารพพระองค์ในฐานะพระบรมศาสดากันหมด
ความเป็นประชาธิปไตยของคณะสงฆ์สำหรับผม ผมดูตอนนี้แหละครับ คือพระพุทธเจ้าทรงปล่อยให้สังคมสงฆ์ทั้งหมดดูแลกันเอง มีปัญหาก็แก้กันไปเอง บางครั้งในฐานะพระศาสดาก็ทรงอดไม่ได้ที่จะเข้าไปช่วยชี้แนะนิดหน่อย แต่พอคณะสงฆ์ไม่ดำเนินการตามที่ทรงแนะ ก็ไม่ทรงว่าอะไร ดังเรื่องพระทะเลาะกันใหญ่โตเป็นสองพวกที่เราทราบกันดีในคัมภีร์
สรุปคือ หากจะมีความเป็นประชาธิปไตยในคณะสงฆ์ เราก็อาจดูได้จาก
(๑) คณะสงฆ์ไม่มีเจ้าของ พระพุทธเจ้าแม้จะทรงก่อตั้งสงฆ์มาด้วยพระองค์เองก็ไม่ทรงถือว่าตนเป็นเจ้าของ อันนี้ก็ตรงข้ามกับการปกครองแบบราชาธิปไตยของพราหมณ์ที่ถือว่าประเทศมีเจ้าของ พระเจ้าคือเจ้าของ ให้กษัตริย์มารับสัมปทานต่อ ประชาชนเป็นผู้อยู่อาศัยแผ่นดินเขาเท่านั้น
(๒) การบริหารคณะสงฆ์เป็นไปตามกฎระเบียบที่เรียกว่าพระวินัย มีคนตั้งข้อสังเกตว่า พระวินัยพระพุทธเจ้าทรงออกเพียงผู้เดียว คนอื่นไม่มีส่วนได้ร่วมออกด้วย จะเรียกว่าประชาธิปไตยอย่างไร อันนี้น่าคิด
แต่ผมมีข้อสังเกตว่า พระวินัยนั้นมีลักษณะพิเศษคือเป็น “moral law” ในตัวด้วยส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เพียงกฎระเบียบทางมารยาทที่สงฆ์พึงประพฤติ หรือการบริหารงานขององค์กร เท่านั้น อาจารย์ก็ทราบว่า ความผิดถูกในทางจริยธรรมนั้นมีสองแนวคิดที่พูดต่างกัน แบบหนึ่งบอกดีชั่วตายตัว ผู้รู้ที่ปราศจากอคติเท่านั้นจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ดังนั้นผิดถูกต้องให้ผู้รู้ที่ไม่มีอคตินั้นชี้บอก ส่วนอีกพวกบอกต้องให้มหาชนช่วยกันตัดสิน พระพุทธเจ้าทรงคิดแบบแรก จึงต้องทรงทำหน้าที่บัญญัติพระวินัยเอง ไม่ใช่เผด็จการ แต่เป็นระบบใช้คนที่รู้เรื่องดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของสังคม เราจะเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้นต้องดูก่อนจะปรินิพพาน ที่ตรัสแนะให้สงฆ์ถอนพระวินัยที่ขัดต่อกาลสมัยออกได้ ผมตีความว่าพระวินัยเหล่านี้ก็คือส่วนที่ไม่เกี่ยวกับ “moral law” แบบจังๆ ไม่ต้องใช้ผู้รู้วินิจฉัยก็ได้ เพราะเป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับดีชอบผิดถูก เป็นพระวินัยที่ทรงบัญญัติตามความจำเป็น ตามสถานการณ์ เช่นเพื่อรักษาศรัทธาของญาติโยม หรือเพื่อความสะดวกทางการบริหารกิจการสงฆ์เท่านั้นเอง
เช่นพระอาจฉันข้าวเย็นในบางสถานการณ์ได้ มหายานก็ปรับตามความเข้าใจนี้ เพราะที่มาของการห้ามฉันอาหารเย็นไม่เกี่ยวกับผิดถูกในทางจริยธรรม แต่เกี่ยวกับว่าโยมมาบ่นให้ทราบว่าพระไปบิณฑบาตตอนค่ำแล้วพวกเขาไม่สะดวก กลับจากงานมาเหนื่อยๆจะตั้งวงกินข้าวยังต้องมาจัดแจงอาหารถวายพระอีก เห็นไหมครับ มหายานเขาทำอาหารในวัดเอง ไม่รบกวนโยม เขาก็อ้างว่าไม่ผิด และเขาเชื่อด้วยว่าพระพุทธเจ้าก็น่าจะทรงอนุญาต กินข้าวก็คือกินข้าว กินเช้าไม่ผิด ทำไมกินเย็นจะผิดละครับ
พุทธศาสนามี concept เสรีภาพ ความเสมอภาคอยู่จริงหรือเปล่า ถ้ามีทำไมพุทธศาสนาตามที่เป็นอยู่จริงในบ้านเราจึงไม่สามารถ generate เสรีภาพที่ว่านั้นออกมาในวัฒนธรรมการสอนพุทธศาสนาในบ้านเรา แต่กลับเน้นลำดับชั้นของความดี คนดี ที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมประชาธิปไตย (ปรับจากข้อสังเกตของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในวงเสวนาที่ The Reading Room)
อันนี้ก็ต้องเริ่มต้นคล้ายเรื่องประชาธิปไตย คือต้องนิยามก่อนว่าเสรีภาพ ความเสมอภาค ที่ว่านั้นหมายความอย่างไร เอาตรงนี้ก่อนครับ เรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคนี้เป็นแนวคิดทางปรัชญาสังคมและการเมือง เราอย่าเอาไปปนกับเรื่องอื่น ไม่อย่างนั้นจะพูดกันไปคนละทาง ท่านมหาวุฒิชัย (ว. วชิรเมธี) ท่านบอกทำนองว่า “คนที่คิดแบบโลกๆก็จะเรียกร้องสิทธิที่จะได้ แต่คนที่คิดแบบในทางธรรมจะเรียกร้องสิทธิที่จะไม่มีทุกข์” อันนี้ก็เป็นการเล่นคำที่เอาสองเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันมาอยู่ในที่เดียวกัน ทำให้คนฟังเข้าใจไปว่าพวกที่เรียกร้องสิทธิอะไรต่างๆในทางการเมืองและสังคมอยู่ต่ำกว่าพวกนักธรรมะที่ไม่เรียกร้องอะไร
พระพุทธเจ้าทรงออกบวชเพื่อหาทางแก้ปัญหาเฉพาะอันหนึ่ง ที่อาจเรียกว่าปัญหาความทุกข์ของปัจเจกบุคคล ไม่ได้ทรงออกบวชเพื่อแสวงหาปรัชญาสังคมอย่าง Marx เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การจะหา concepts ทางปรัชญาสังคมและการเมืองในคำสอนของพระองค์ก็ไม่ง่าย แต่เนื่องจากทรงมีความคิดบางอย่างเกี่ยวกับมนุษย์แบบหนึ่ง ซึ่งผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า ไม่เหมือนแบบพราหมณ์ พวกพราหมณ์เขาแบ่งคนเป็นวรรณะ ด้วยความเชื่อว่าพระเจ้าทรงแบ่งให้เพื่อจะได้ช่วยกันทำงานตามหน้าที่ตน ต่อมาระบบวรรณะนั้นก็ถอยห่างออกไปจากความหมายเดิมมากขึ้น กลายเป็นว่าคนในวรรณะต่ำถูกพิพากษาว่าขาดอะไรบางอย่างที่สำคัญมากๆในชีวิต จึงไม่สมควรได้รับการปฏิบัติว่าเป็น “คน” เท่าเทียมผู้อื่น ผมอยากสรุปว่าศาสนาพราหมณ์ตามที่ปรากฏแก่สายตาของพระพุทธเจ้านั้นสอนว่าคนพวกหนึ่ง คือพวกที่ไม่ใช่ ๓ วรรณะต้น ไม่มีความเป็นคน ดังนั้นจะเอามาใช้งานเหมือนสัตว์แล้วไม่ต้องจ่ายค่าจ้างก็ได้ คนพวกนี้ก็คือทาสสมัยนั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับความคิดนี้เลย ทรงพยายามเปลี่ยนความคิดนี้ แต่ก็ทรงพบว่าลำบากมาก เนื่องจากระบบนี้มันไม่ใช่เพียงเรื่องความคิดทางจริยธรรมหรือทางศาสนาเท่านั้น แต่มันถูกผนวกเข้าเป็นส่วนสำคัญของการเมืองการปกครองไปแล้ว
สิ่งที่ผมคิดและอยากเสนอคือ ขนาดสังคมสมัยโน้นมันไม่เอื้อเลย พระศาสดาของเราก็ทรงพยายามที่สุดที่จะไม่รับความคิดเรื่องชนชั้นวรรณะ พวกเราสมัยนี้ซิครับที่อยู่ในยุคที่อะไรก็เอื้อไปหมด เพราะเป็นสังคมสมัยใหม่ อันนี้ก็เป็นจริงตามที่อาจารย์สมศักดิ์ท่านสังเกต ผมตีความว่า เพราะสมัยหนึ่งคณะสงฆ์ไทยอยู่ในบรรยากาศแบบราชาธิปไตย บรรยากาศเช่นนั้นก็น่าจะยังมีผลตกค้างอยู่ แต่ส่วนหนึ่งเราเองก็ต้องพยายามเข้าใจคณะสงฆ์ด้วยว่า ที่ท่านสอนเรื่องคนดีแบบที่ดูเหมือนว่าท่านจำแนกคนเป็นวรรณะอย่างพราหมณ์ แล้วก็บอกว่าท่านใดอยู่สูงก็จะดีตามสถานะที่อยู่สูง จริงๆท่านสอนอย่างนั้นหรือไม่ ผมพยายามกลับไปอ่านบทเทศนาเก่าๆ ของอดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีที่สำคัญๆ ก็ไม่พบความผิดปกติ คือไม่เห็นว่าท่านจะไปไกลขนาดพวกพราหมณ์ ล่าสุดท่านโพธิรักษ์หรือท่านจันทร์ก็กล่าวถึงว่าท่านรู้สึกกับในหลวงรัชกาลปัจจุบันอย่างไร ท่านก็พูดชัดว่าท่านดูพระมหากษัตริย์เป็นพระองค์ๆไป อันนี้ต่างจากพราหมณ์นะครับ พวกพราหมณ์นั้นเขาไม่ดูแยกเป็นคนๆ แต่ดูรวม ใครเป็นกษัตริย์ก็ดีเลยตามสถานะ ผมเคยเป็นกรรมการตรวจผลงานวิชาการครู พบว่ากรรมการบางท่านที่เคยบวชเรียน เป็นอาจารย์อาวุโส มีเหมือนกันครับที่ท่านเข้าใจกษัตริย์แบบพราหมณ์ เช่นท่านประกาศในที่ประชุมว่าจะให้ครูท่านหนึ่งตก เพราะครูท่านนั้นไม่เขียนว่าสถาบันกษัตริย์เป็น “บุพการี” ของชาติ ซึ่งคนในชาติจะต้องแสดงความ “กตัญญูกตเวที” อย่างไม่มีเงื่อนไข ท่านอ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนั้น ผมต้องใช้เวลาแย้งท่านอยู่นาน ว่าความคิดนี้ไม่มีในคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงทำให้ที่ประชุมตกลงไม่เอาตามท่าน
สรุปว่า ตามความคิดเห็นของผม พระพุทธเจ้าทรงมองมนุษย์ว่าเท่ากันหมด ไม่มีใครมีความเป็นคนน้อยหรือมากกว่าใคร แต่ก็ทรงยอมรับว่า พัฒนาการตามธรรมชาติของสังคมมนุษย์ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นขึ้น ดังที่ทรงแสดงใน “อัคคัญญสูตร” พระพุทธเจ้าทรงมองคนเป็นคนๆครับ ผมรู้สึกอย่างนั้น ดังนั้นคำถามแบบเหมารวม เช่น “นายทุนเลวไหม” อันนี้จะไม่ทรงตอบทันที แต่จะทรงถามกลับว่า “นายทุนที่ท่านว่าหมายถึงใคร” ถ้ายกมาให้ดูเป็นคนๆได้ คราวนี้จะทรงตอบ ผมคิดว่าคณะสงฆ์ไทยก็น่าจะคิดอย่างนี้ ดังนั้นก่อนที่เราจะพิพากษาว่าคณะสงฆ์ไทยเชียร์เจ้า เชียร์คนชั้นสูง เราก็ต้องถามตัวเองเหมือนกันว่า เรามองเจ้าหรือคนชั้นสูงแบบไหน แบบรวมๆ หรือว่าแบบเป็นคนๆ เป็นไปได้ครับที่เราจะมองแบบรวมๆ ปรัชญาสังคมและการเมืองแบบฝรั่งที่ผมเรียนมาก็สอนให้มองแบบรวมๆ ซึ่งผมไม่มีอะไรจะโต้แย้ง ถ้าเรามองแบบคนสมัยใหม่ก็จะเห็นว่าพระท่านเชียร์เจ้าหรือคนชั้นสูง แต่โปรดเข้าใจท่านนิดครับว่า ท่านมองไม่เหมือนเรา หากเราอยากให้ท่านขยายวิธีคิดให้ลองมามองแบบเป็นระบบบ้าง ก็ต้องผ่านการศึกษา
เวลานี้พระที่ท่านเรียนปริญญาโทหรือเอกกับผมที่มหาจุฬา ท่านก็มองเจ้าและชนชั้นสูงแบบเป็นระบบครับ ซึ่งก็แปลว่า หากเราอยากเห็นผลที่ต่างไปจากผลที่เป็นอยู่เวลานี้ ก็ต้องรอไปอีกสักระยะ คณะสงฆ์เดิมท่านเรียนมาในระบบมหาเปรียญ อันเป็นการศึกษาคลาสสิก แบบโบราณ แบบเจ้าอุปถัมภ์ สมัยก่อนพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปดูการสอบเปรียญชั้นสูงๆ ด้วยพระองค์เอง ก็ไม่แปลกดอกครับที่ท่านจะมองพระมหากษัตริย์ในแง่บุคคล แต่พระที่ท่านเรียนกับผมที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ท่านอยู่ในอีกสังคมหนึ่ง ท่านเรียนปรัชญาการเมืองแบบฝรั่ง ท่านก็มองพระมหากษัตริย์แบบเป็นระบบได้ แต่ผมก็เชื่อว่า การที่ท่านเป็นพระ ท่านย่อมถูกปลูกฝังโดยระบบอยู่แล้วว่า จะมองอะไรเป็นระบบก็มองได้ แต่อย่าลืมเรื่องคน ระบบเลวก็อาจมีคนดีอยู่นั้นได้ พระพุทธเจ้าสอนให้มองอย่างนั้น ผมเองแม้จะเรียนปรัชญาการเมืองมาอย่างฝรั่ง ส่วนหนึ่งผมก็ยังไม่ทิ้งจารีตประเพณีแบบพุทธอันนี้ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า พระพุทธเจ้าไม่สอนให้เราขวนขวายที่จะเปลี่ยนระบบที่เราเห็นว่าไม่ดีนะครับ เปลี่ยน เราต้องเปลี่ยน แต่ระหว่างเปลี่ยน คนดีในระบบที่เราอยากเปลี่ยนนั้นต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม อย่างมิตร อย่างเพื่อนร่วมโลก
พระสงฆ์ในบ้านเรามักเทศนาอยู่เสมอว่า พระพุทธเจ้าก่อตั้งสังคมสงฆ์ขึ้นมาเป็นสังคมตัวอย่างที่ไม่มีระบบชนชั้น มีความเสมอภาค เป็นประชาธิปไตย แต่ระบบการปกครองสงฆ์กลับอยู่ภายใต้กฎหมายเผด็จการ และมีระบบศักดินาพระ ปัญหาขัดแย้งในตัวเองเช่นนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ดูเหมือนผมจะตอบมาแล้วกระมังครับจากที่กล่าวข้างต้น หากจะให้ย้ำอีกก็ขอพูดสั้นๆว่า อันนี้เป็นพัฒนาการขององค์กรทางศาสนา พบในทุกศาสนา คือศาสนาแบ่งเป็นสองยุค ยุคพระศาสดา กับยุคหลังพระศาสดา ยุคพระศาสดาคือยุคที่ศาสนาจะอยู่ในรูปคำสอนเฉพาะกิจ มีเป้าหมายชัดเจน เป็นเรื่องทางใจมากกว่าเรื่องทางกาย หลังยุคพระศาสดาแล้วศาสนาก็กลายมาเป็นสถาบันทางสังคม และผู้ที่ทำให้ศาสนาเป็นเช่นนั้นก็คือผู้มีอำนาจทางการปกครอง สมัยก่อนก็คือกษัตริย์หรือชนชั้นสูง ศาสนาคริสต์สมัยพระเยซูเป็นแบบหนึ่ง แต่พอไปอยู่ภายใต้การดูแลของวาติกัน ก็เป็นอีกแบบครับ เอาคนมาเผาก็ได้ เพราะพวกนี้ต่อต้านพระสันตะปาปา
ลักษณะของศาสนาหลังยุคพระศาสดานั้นขัดแย้งกับศาสนาในยุคพระศาสดาแน่นอน นักคิดในศาสนาคริสต์จำนวนมากเวลานี้ก็คล้ายเรา คือเรียกร้องให้ศาสนากลับไปเป็นเหมือนสมัยพระศาสดา ซึ่งผมคิดว่ายาก หากมองผ่านสายตาของนักสังคมวิทยา
ถ้าจะให้พุทธศาสนาดำรงอยู่อย่างไปกันได้ดี หรือสนับสนุนความงอกงามของวัฒนธรรมประชาธิปไตย อาจารย์คิดว่าจำเป็นต้องยกเลิกระบบสมณศักดิ์ มหาเถรสมาคม หรือทำให้พุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐหรือไม่
ผมคิดว่าไม่จำเป็นครับ เดี๋ยวขอนิยามคำว่า “ไม่จำเป็น” สักหน่อย ไม่จำเป็นแปลว่าแม้ไม่เลิกสิ่งนั้นก็ยังมีทางที่จะได้ผลที่เราต้องการ ที่ดูเหมือนว่าอาจขัดกับสิ่งนั้น เราต้องการ “ประชาธิปไตย” ใช่ไหมครับ คราวนี้เราก็อาจคิดว่า สมณศักดิ์ มหาเถรสมาคม กฎหมายคณะสงฆ์เป็นต้นน่าจะเป็นอุปสรรคต่อการจะได้มาซึ่งประชาธิปไตย เราก็ต้องถามว่า ไม่เลิกสิ่งเหล่านี้ยังจะสามารถทำให้ได้ประชาธิปไตยหรือไม่ ผมคิดว่าได้
ผมมีเหตุผลดังนี้ครับ ถ้า ก. เป็นปัจจัยเดียวที่ต้องทำลายทิ้ง ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้ ข. การทำลาย ก. เพื่อให้เกิด ข. ก็มีเหตุผล Marx คิดว่าสังคมที่ทุกคนมีกินมีใช้เท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน คือ ข. ส่วนการที่รัฐอนุญาตให้ปัจเจกบุคคลครอบครองทรัพย์สินส่วนตัวได้คือ ก. ก็แน่นอนครับ เราก็ต้องทำลาย ก. ปรัชญาการเมืองของ Marx ประกาศเลยครับว่า ต้องเลิกการครอบครองทรัพย์สินส่วนตัว เพราะนี่คือต้นตอของการที่โภคทรัพย์ของแผ่นดินไปกระจุกอยู่ที่คนบางคน บางครอบครัว ไม่เลิกสิ่งนี้ ไม่มีทางที่ทุกคนจะมีกินมีใช้ถ้วนหน้ากัน ตรรกะของ Marx มันชัดมาก ของเรามันไม่ชัดขนาดนั้น
ผมคิดว่าระบบเหล่านี้คงไว้ก็ไม่เป็นปัญหา ยิ่งคิดในทางสังคมวิทยาก็ยิ่งเห็นว่าไม่ต้องแตะตัวโครงสร้างเลย หากอยากเปลี่ยนให้สถาบันเหล่านี้ก่อให้เกิดผลคือประชาธิปไตยก็ไปทำอะไรข้างใน อาจารย์ทราบไหมครับว่า ผมมีลูกศิษย์ที่เป็นพระราชาคณะ ระดับเจ้าคณะจังหวัดเป็นต้น ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ มาเรียนกับผมที่มหาจุฬา เราเรียนความคิดสมัยใหม่ ท่านจบปริญญาเอกไปแล้ว ความคิดท่านไม่เหมือนเดิมหรอก ท่านอาจมีสมณศักดิ์สูง แต่นั่นก็เป็นข้างนอก ข้างในท่านจะเหมือนเดิมได้อย่างไรครับหลังจากที่ท่านใช้เวลา ๕-๖ปี อ่านหนังสือสมัยใหม่ เขียนวิทยานิพนธ์แบบสมัยใหม่ อย่างนั้น
อาจารย์เป็นนักวิชาการที่เข้าไปร่วมกิจกรรมทางปัญญาได้กับทั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ ธรรมกาย และสันติอโศกมาเป็นเวลานาน อาจารย์มองเห็นข้อจำกัดหรือข้อดีของบทบาทในการประยุกต์หลักคำสอนของพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยของทั้งสามองค์กรนี้อย่างไร
มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งนะครับ เป็นสถาบันการศึกษาสมัยใหม่ บรรยากาศของที่นี่จึงเป็นบรรยากาศสมัยใหม่ ดังนั้นโอกาสที่จะเป็นจุดตั้งต้นของประชาธิปไตยก็มีมาก ผมไม่ขอพูดถึงมหาจุฬา เพราะที่นี่ความเป็นชนชั้นระหว่างพระกับฆราวาสแทบไม่มีแล้ว เรามีประชาธิปไตยกันเต็มที่ ผมอยากพูดถึงมหามกุฏนิดหนึ่ง มหามกุฏนั้นมีคนเทียบว่าเหมือนจุฬา ส่วนพวกมหาจุฬาก็มีคนเทียบว่าเหมือนธรรมศาสตร์ แค่เทียบให้เห็นภาพกว้างๆนะครับ อย่าถือเป็นจริงเป็นจังนัก ที่เขาเทียบมหามกุฏอย่างนั้นเพราะที่นี่มีความเป็นเจ้านายสูง ก็แปลว่าเป็นประชาธิปไตยน้อย ว่าอย่างนั้นเถิด แต่เวลานี้ผมก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในมหามกุฏมากขึ้น ล่าสุด ผมเพิ่งไปสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของที่นี่มา ไปในฐานะที่ปรึกษา การสอบ บรรยากาศแรกๆไม่สู้ดี ลูกศิษย์ผมที่เป็นคฤหัสถ์เวลาเสนอความคิดกับกรรมการที่เป็นพระเถระต้องทำตัวลีบๆ เวลาพระท่านถามก็มีน้ำเสียงตีความเหมือนตะคอก ผมนั่งอยู่นาน อึดอัด ที่สุดก็ขออนุญาตท่านประธาน (ที่ไปจากมหาจุฬา) ว่า ทำไมเราจึงปฏิบัติกับลูกศิษย์เราที่กำลังจะเป็นดอกเตอร์อยู่แล้วเสมือนเขาเป็นเด็กอนุบาลอย่างนั้น ผมเชิญชวนให้เราทำอย่างที่ทางโลกเช่นจุฬา ธรรมศาสตร์ ทำ หรือแม้แต่อย่างที่มหาจุฬาทำ คือในนั้นทุกคนเท่ากันหมด ก็ปรากฏว่าดีขึ้นมาก เมื่อออกจากห้องประชุม พระเถระที่ผมทักท้วงท่านก็ยิ้ม เดินมาหา เดินคุยกันไปจนถึงรถของท่าน บรรยากาศเช่นนี้หากมีมากขึ้น ระบบก็คงดีขึ้น
มีงานวิจัย เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของคณะรัฐศาสตร์จุฬา หลายปีแล้ว ผมเคยเอามาลงวารสาร “พุทธศาสน์ศึกษา” สมัยที่ผมเป็นบรรณาธิการอยู่ เป็นงานสำรวจทัศนะทางการเมืองของพระสองนิกายคือธรรมยุตและมหานิกาย ดูเหมือนเขาสำรวจความเห็นของพระสังฆาธิการของทั้งสองนิกาย (พระสังฆาธิการเทียบกับทางโลกก็คือข้าราชที่ทำหน้าที่บริหาร เช่นนายอำเภอ ผู้ว่า รัฐมนตรี เป็นต้น) ผลก็ชัดครับ พระมหานิกายนิยมการปกครองแบบกระจายอำนาจมากกว่า ส่วนพระธรรมยุตนิยมแบบรวมศูนย์ ที่มหามกุฏต่างจากมหาจุฬาก็อธิบายผ่านงานวิจัยนี้ได้ แต่ผมก็เชื่อว่า เวลานี้มหาวิทยาลัยสงฆ์สองแห่งนี้แลกเปลี่ยนกันในทางวิชาการมาก เช่นเอาผมที่ไปจากมหาจุฬาไปสอนในบางครั้ง หรือสอบวิทยานิพนธ์ ความต่างตามที่งานวิจัยข้างต้นเสนอ ซึ่งน่าจะประมาณ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว น่าจะค่อยๆลดลง
วัดพระธรรมกายนั้นเป็นองค์กรพิเศษ ผมไปที่นี่เพื่อสอนหนังสือ ไปมาน่าจะร่วม ๒๐ ปีแล้ว ท่านอาจารย์สุลักษณ์เคยพูดกับท่านจันทร์ว่า “สมภารไม่น่าไปสนับสนุนธรรมกาย” ท่านจันทร์ท่านเล่าให้ผมฟัง ผมในส่วนหนึ่งก็เข้าใจท่านที่เป็นห่วง แต่พอมาคิดว่าอาชีพสอนหนังสือมันไม่ต่างจากหมอ คือไปไหนก็ได้ เพราะงานเรามันเป็นงานกลางๆ ก็เลยมาสอนที่นี่ยาวนานตามที่ว่า ตอนนี้วัดพระธรรมกายกำลังจะจัดตั้งสถาบันการศึกษาแบบเป็นการเป็นงาน คล้ายๆ มหาวิทยาลัยสงฆ์ คือที่ผมไปสอนนี้เป็นการไปสอน “คนใน” นักศึกษาก็คือพระเณรและอุบาสกอุบาสิกาของวัดเท่านั้น ทางวัดดำริจะขยายไปยัง “คนนอก” คือใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนวัด เมื่อดำริเช่นนั้นก็กำลังสร้างอาคาร ที่นอกวัดนะครับ ทำเป็นเหมือนมหาจุฬา หรือมหามกุฏ เมื่อเปิดสอนหลังจากได้รับอนุญาตจากรัฐในฐานะสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนแล้ว ใครๆก็ไปเรียนได้
ผมสนับสนุนเรื่องนี้ ให้ความคิดเห็นเท่าที่จะให้ได้ เมื่อทางวัดปรึกษา ในเรื่องความคิด และการจัดการ ในภาพรวม ที่ผมสนับสนุนเพราะ อยากให้วัดพระธรรมกายหลุดออกมาจากการเป็นองค์กรเฉพาะ มาเป็นสมบัติของมหาชน เมื่อเป็นสถาบันการศึกษาแบบเต็มที่แล้ว วัดพระธรรมกายก็จะหมดอำนาจในการที่จะเข้ามากำกับ สถาบันการศึกษานั้นรัฐไม่ยอมให้ใครมาทำอะไรก็ได้ เรามีกฎหมายตรวจสอบมาตรฐาน ในเรื่องที่สำคัญๆทางการบริหารจัดการ รวมทั้งเนื้อหาที่จะสอนด้วย ทางวัดก็น่าจะเข้าใจเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งก็แปลว่า การที่ทางวัดตัดสินใจทำเช่นนี้ ก็แปลว่า พร้อมจะออกมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
ความเห็นทางการเมืองของวัดพระธรรมกายชัดมากครับ แต่ผมขอไม่พูด เพราะอาจเสียมารยาท เอาเป็นว่าวัดพระธรรมกายไม่เป็นอุปสรรคต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย ทางวัดค่อนข้างเห็นใจคนเสื้อแดงด้วยซ้ำไป ส่วนจะเป็นเพราะอะไร ผมเองก็พยายามศึกษาอยู่ จะว่าเพราะที่นี่พระท่านเป็นชนชั้นกลางในเมืองมาบวชเป็นส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ เพราะชนชั้นกลางจำนวนมากก็ไม่ชอบคนเสื้อแดง จะว่าเพราะนักการเมืองที่มาเข้าวัดนี้เป็นพรรคเสื้อแดงเป็นส่วนใหญ่ อันนี้อาจมีมูล แต่ไม่รับประกันนะครับ หากจริง พรรคประชาธิปัตย์ก็ควรมาคบวัดพระธรรมกายบ้าง จะได้เฉลี่ยๆคะแนนนิยมกันไป แต่ผมก็รู้สึกว่าเรื่องพรรคการเมืองอาจไม่สำคัญเท่ากับ เรื่องอำนาจนิยม วัดนี้ไม่ชอบเรื่องแบบนี้ อาจเพราะทางวัดมีปัญหากับผู้บริหารสงฆ์ที่ท่านตีความว่าเกี่ยวข้องกับระบบอำนาจนิยมในบ้านเราหรือไม่ ผมไม่ทราบ
ส่วนสันติอโศกแม้ผมจะมีความสัมพันธ์มายาวนาน พอๆกับวัดพระธรรมกาย แต่ผมไปสันติอโศกแบบคนนอก ไม่เหมือนวัดพระธรรมกายที่ผมเชื่อว่าผมเป็นคนใน อันหมายถึงคนที่เข้าออกองค์กรนั้นยาวนานเพียงพอ ไม่ใช่นักทัศนาจร ว่าอย่างนั้นเถิด และทางวัดก็น่าจะรู้สึกอย่างนั้นกับผม ผมจึง “รู้เห็น” อะไรพอสมควรภายในวัดพระธรรมกาย ชาวอโศกนั้นในแง่ที่เป็นองค์กรทางศาสนา ไม่มีอะไรที่ผมจะวิจารณ์ แต่ในแง่ที่เป็นพลังทางการเมืองหนึ่งที่สำคัญของบ้านเราเวลานี้ อันนี้มีเรื่องน่าคิดเยอะ มีคนไม่น้อยเชื่อว่า ที่พันธมิตรอยู่ได้มาตลอดนั้นเพราะสันติอโศกยังเอาด้วย ความเห็นนี้น่าคิด ที่ผ่านมาผมเข้าใจว่าที่ทางสันติอโศกไปช่วยเหลือพันธมิตรก็เพราะเข้าใจว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการทุจริตทางการเมือง แต่เวลานี้พัฒนาการของปัญหามันคลี่คลายขยายไปมากกว่านั้น ไม่ใช่เรื่องอดีตนายกมีปัญหาเรื่องความสุจริตเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องมายังเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กับการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่เราเริ่มพูดกันมากขึ้นว่า พระมหากษัตริย์ควรจะมีบทบาทเพียงใด พันธมิตรน่าจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ถามปัญหานี้ แต่ฝ่ายเสื้อแดงถาม ตรงนี้แหละครับที่ผมคิดว่าจะเป็นโจทย์ใหม่ที่สำคัญยิ่งยวดที่จะรบกวนการตัดสินใจของชาวอโศก
ผมไม่ทราบว่าทางอโศกท่านจะตีโจทย์เรื่องนี้อย่างไร ก็ต้องให้กำลังใจท่าน ข้อมูลและการศึกษาผมคิดว่าสำคัญ ผมจึงเรียนท่านจันทร์เสมอว่าชาวอโศกควรศึกษาความเห็นต่างระหว่างพี่น้องเสื้อเหลือง-แดงให้มาก ให้ลึก และไตร่ตรองเรื่องเหล่านี้ให้รอบคอบที่สุด พี่น้องพันธมิตรโดยเฉพาะคุณสนธินั้นท่านไม่ได้แสดงเหตุผลว่าทำไมท่านจึงอยากให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่อย่างที่เคยเป็นมา ที่จริงเราเคารพความเห็นท่าน ที่ต้องการคืออยากฟังเหตุผลดีๆ ซึ่งท่านอาจมีอยู่แล้วหละ ข้อมูลเหล่านี้จากทั้งสองฝ่ายเมื่อชาวอโศกรับรู้มาแล้วก็จะช่วยให้เกิดการชั่งน้ำหนักเพื่อกำหนดบทบาทที่เหมาะสมต่อไป ชาวอโศกนั้นผมเชื่อว่าท่านเป็นคนจริง ใจนักเลง ไม่ทิ้งมิตร ท่านอยู่กับใครเขาก็สบายใจ คุณสมบัตินี้หากเข้าไปสนับสนุนสิ่งที่เหมาะสม จะเป็นประโยชน์มากครับ
คิดว่าระบบสังฆะปัจจุบันมีความเป็นธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ หรือมีประสิทธิภาพตรวจสอบกันและกันทางพระธรรมวินัยในระดับที่สังคมเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด
เท่าที่ผ่านมา อย่างกรณีท่านยันตระ ผมคิดว่ามีปัญหา สรุปคือ จาก ๑๐ คะแนน สิ่งที่ท่านทำ ไม่น่าจะได้เกิน ๔ อันนี้วัดจากอดีตนะครับ ไม่อยากพยากรณ์ปัจจุบันและอนาคต ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้
คำถามนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาในวงการสงฆ์ คือดูเหมือนอาจารย์จะเห็นต่างจากอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เรื่องตรวจสอบอาบัติปาราชิกอธิการบดีมหาจุฬาฯ แต่นั่นเป็นเพียงการโพสต์ความเห็นท้ายบทความในประชาไท อาจทำให้คนอ่านไม่เข้าใจวิธีคิดของอาจารย์ชัดเจนพอ จริงๆแล้วอาจารย์คิดอย่างไรกับการตรวจสอบปัญหานี้
อ๋อ เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ ขอบพระคุณที่ถาม ผมเห็นด้วยว่า เมื่อมีเรื่องที่ตีความว่าอาจเข้าข่ายผิดพระธรรมวินัยกับพระ โดยเฉพาะท่านที่เป็นพระราชาคณะระดับสูง อย่างท่านอธิการบดีมหาจุฬา พุทธบริษัททั้งหมดควรสนใจ และขวนขวายทำเท่าที่ทำได้ เพื่อให้กรณีเช่นนั้นได้รับการ “ดำเนินการ” ตามขั้นตอนต่อไป ที่ผมเขียนท้วงติงท่านอาจารย์สุลักษณ์นั้นผมท้วงติงในทาง “สาระ” ของกระบวนการที่ท่านกำลังดำเนินการ ไม่ได้ท้วงติงกระบวนการเลย คือเห็นด้วยที่จะให้มีการดำเนินการต่อไป และผมก็เห็นด้วยอีกแหละครับที่ท่านอาจารย์ท่านทำหนังสือถึงใครต่อใครในทางสงฆ์ ท่านทำถูกแล้ว แต่ที่ผมท้วงติงคือสิ่งที่อยู่ในหนังสือนั้นต่างหาก ข้อมูลและเหตุผลของท่านผมคิดว่ายังไม่มีน้ำหนัก อันนี้วัดจากเอกสารที่ท่านเขียนนะครับ หากตัวเอกสารไม่เป็นแบบนี้ ผมอ่านแล้วคิดว่ามีน้ำหนัก ผมต่างหากที่จะไปช่วยท่าน เมื่อท่านส่งไปแล้วไม่มีใครตอบท่านกลับมา
สมมติว่าเราลืมเรื่องที่ผ่านมา แล้วถามว่าเนื่องจากเรื่องนี้ยังไม่จบ ควรทำอย่างไร ผมคิดว่า เราไม่ควรปล่อยให้เรื่องจบ ควรมีการศึกษาตรวจสอบ เก็บข้อมูลกันต่อไป เท่าที่จะทำได้ วันหนึ่ง เมื่อเรามีข้อมูลที่ทำให้มั่นใจได้ว่าไม่เพียงพอ เราก็หยุด แต่ถ้าข้อมูลบอกไปอีกทาง เราก็เดินหน้าต่อตามกระบวนการ ส่วนจะเจอปัญหาว่าระบบสงฆ์จะไม่ลูบหน้าปะจมูกช่วยคนกันเองหรือ เราก็สงสัยได้ เพราะมันเคยเป็นมาแล้ว แต่สำหรับผม ผมทำเท่าที่ผมทำได้ ทำแล้วระบบมันไม่อำนวย ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะผมถือว่าผมทำเต็มที่แล้ว โลกนี้มันมีความสมบูรณ์เสียที่ไหน หากไม่พบความสมบูรณ์ของโลก เราจะขาดใจตาย เราตายมานานแล้วครับ
แต่เรื่องอย่างนี้ผมให้ความสำคัญกับท่านที่ตกเป็นเหยื่อ ถ้าเป็นผม ผมจะรู้สึกอย่างไร ยิ่งหากผมรู้ว่ามีความเข้าใจเรื่องนี้คลาดเคลื่อนไปมาก และความคลาดเคลื่อนนั้นมันอธิบายได้ยาก เว้นแต่จะเขียนเป็นนิยายหรือเรื่องสั้นอธิบาย ผมก็คงอยู่ในความทุกข์ นี่เองครับที่ผมพยายามแตะต้องเรื่องแบบนี้อย่างที่คิดว่านุ่มนวลที่สุด ไม่เกิดกับเราเราไม่เข้าใจหรอกครับ อาจารย์ลองไปอ่านนิยายที่ผมเขียนเรื่อง “ความยุติธรรมและการแก้แค้น” ในเว็บไซต์วารสาร “ปัญญา” ดูซิครับ
ภาพจากเว็บไซต์ “วารสารปัญญา”(เพิ่มโดยผู้สัมภาษณ์)
ผมเขียนเรื่องนี้เพราะรู้สึกว่า ความจริงหลายเรื่องในชีวิตคนจริงหาคำตอบไม่ได้ง่ายหรอกครับ เพราะคิดอย่างนี้ ผมจึงมีนิสัยที่บางท่านอาจเห็นว่าแย่ก็ได้ คือไม่มีแก่ใจที่จะตรวจสอบเพื่อจับผิดใคร ที่สำคัญคือถล่มใครบางคนที่เราคิดว่าเป็นยักษ์ในทางอธรรมลงได้แล้ว คำถามคือ “แล้วไงต่อ” ใครได้ประโยชน์ ผมยังคิดจะเขียนนิยายประเภทว่า คนสนิทของมหาราชองค์หนึ่งในอินเดียสมัยพระพุทธเจ้า หรือสมัยไหนก็ได้ ยกฉากไปไว้ไกลๆ จะได้ไม่รบกวนจิตใจของพี่น้องที่ท่านอ่อนไหวต่อเรื่องเจ้า คนผู้นี้พบว่ามหาราชนั้นทำผิดเรื่องหนึ่ง คือล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิงคนหนึ่ง ซึ่งก็คือลูกของตัวนั่นแหละ เขาแค้นใจ แต่ขณะเดียวกัน ก็พบว่ามหาราชองค์นี้เป็นหลักชัยของมหาชน มหาราชองค์ก่อนเป็นทรราช ผู้คนอดอยากทั้งบ้านเมือง แต่มหาราชองค์นี้มาช่วยทำให้อะไรดีขึ้น ถ้าเขาโค่นมหาราชองค์นี้ลงได้ เพื่อความถูกต้อง เขาก็ได้สิ่งนั้น แต่เสียมหาราชที่คนยากจนรักและได้ประโยชน์ เขาจะเลือกอะไร ผมไม่รู้
หากถึงที่สุดแล้วคณะสงฆ์ยังยืนยันจะคงระบบเก่าตลอดไป อาจารย์มองเห็นหน้าตาพุทธศาสนาในอนาคตของบ้านเราเป็นอย่างไร
ตัวใครตัวมันครับ แต่ผมเชื่อว่าพระพุทธศาสนาในรูปของ “ความรู้” ที่ใช้ประโยชน์ได้ในทางใดทางหนึ่งจะอยู่ตลอดไป จะมีคนเอาไปสอนในมหาวิทยาลัย ทั้งโลก เหมือนสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ปรัชญา เป็นต้น ไม่มีวัด ไม่มีคณะสงฆ์ ไม่มีพิธีกรรมทางศาสนา ความรู้แบบพุทธที่ว่านี้ก็ยังอยู่ครับ นี่เองทำให้ผมเวลานี้สนใจมาทำงานด้านนี้ เพราะเห็นว่ามันยั่งยืนกว่า ทำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
หมายเหตุผู้สัมภาษณ์ : สัมภาษณ์ทางอีเมล์ ส่งคำสัมภาษณ์ วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ ผู้ให้สัมภาษณ์ส่งคำตอบกลับมา วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๕
บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร ภาพ: banksy
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
บทล้อ irony พุทธทาส (ธรรมะเผด็จการ/ธรรมะครอบจักรวาล)
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎรพระวีระธุ พระภิกษุชาวพุทธที่เดินหน้ารณรงค์ต่อต้านมุสลิมในพม่า
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร