Skip to main content

ชื่อบทความเดิม:

บทความเพื่อรำลึกถึงและไว้อาลัยแด่หลวงพ่อคูณ :

พุทธศาสนาแบบชาวบ้าน : พุทธศาสนาในมิติแห่งอารมณ์ความรู้สึก
และกรณีศึกษาหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ [1]

ชาญณรงค์  บุญหนุน
ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร

1.  ความนำ

พุทธศาสนาในสังคมไทยไม่ได้มีกระแสเดียว คือ กระแสที่รัฐยอมรับและสนับสนุนอย่างเป็นทางการ หรือกระแสซึ่งเป็นที่นิยมของปัญญาชนเท่านั้น  อาจกล่าวได้ว่า พุทธศาสนาเมื่อเผยแพร่เข้าสู่สังคมไทยแล้ว ได้แทรกเข้าไปในวิถีชีวิตของผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อม การศึกษาและสถานภาพทางสังคม  ทำให้พุทธศาสนาถูกตีความหมายในหลายแง่หลายมุม ความหมายของพุทธศาสนา จึงมีประเด็นศึกษาหลายแง่มุม ประเด็นที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาในแง่มุมของชาวบ้าน  โดยทั่วไปแล้ว พุทธศาสนาแบบชาวบ้านจะถูกตัดสินจากผู้รู้หรือปราชญ์ทางพุทธศาสนาหรือแม้กระทั่งปัญญาชนว่า มีความถูกต้องตามหลักการของพุทธศาสนาน้อยกว่าพุทธศาสนาในแบบของปัญญาชน  เพราะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อธิบายไม่ได้จากประสบการณ์ธรรมดาสามัญ ทั้งมีมิติของไสยศาสตร์อันเป็น “ความงมงาย” อีกด้วย ในบทความนี้จะกล่าวถึงปรากฏการณ์ของพุทธศาสนาแบบชาวบ้านที่เกิดขึ้นในสังคมไทย พลังของระพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน ซึ่งจะยกกรณีหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ (หรือ พระราชวิทยาคม แห่งวัดบ้านไร่) เป็นตัวอย่างเพื่อศึกษา เราจะมาดูว่าเราจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์พุทธศาสนาแบบชาวบ้านผ่านกรณีหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ อย่างไร

2. พุทธแท้ตามจารีตของชาวพุทธเถรวาท

ในจารีตของชาวพุทธเถรวาทดั้งเดิมจนปัจจุบัน มีหลักกำหนด “พุทธแท้” กว้าง ๆ อยู่ 2 ประการ ได้แก่  (1) เป้าหมายทางศาสนา และ (2) การปฏิบัติตามหลักศาสนา  ตามหลักการแรก ความเป็นพุทธแท้กำหนดโดยเป้าหมายหรืออุดมคติทางศาสนา ตามหลักนี้ ผู้บรรลุถึงความบริสุทธิ์หรือการหลุดพ้นตามหลักพุทธศาสนา จะได้รับการยอมรับว่าเป็น “พุทธแท้” ดังนั้น ถ้าใช้เป้าหมายทางศาสนาเป็นข้อกำหนด ก็จะมีพุทธแท้หลายระดับตามคุณธรรมที่บรรลุ กล่าวคือ   ชาวพุทธระดับอริยบุคคล ได้แก่  ผู้บรรลุโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค และอรหัตตผล   นอกนั้นเป็นชาวพุทธระดับปุถุชน  ได้แก่ กัลยาณชนผู้นับถือพระรัตนตรัย และรักษาศีล 5   ตามหลักการที่สอง ความเป็นชาวพุทธแท้กำหนดด้วย “ข้อปฏิบัติ” หรือ “จริยธรรม” ของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” (ทางสายกลาง /อริยมรรค/ไตรสิกขา)  ผู้ปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญาตามหลักศาสนาย่อมมีสถานะเป็น “พุทธแท้” ด้วยกันทั้งสิ้น แม้ว่าการปฏิบัติตามไตรสิกขา จะมีระดับความเข้มข้นต่างกันไปตามอุปนิสัยของแต่ละคน  การกำหนดด้วยหลักจริยธรรมยังมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก ข้อกำหนดทางจริยธรรมชาวพุทธในฐานะชาวบ้านหรือฆราวาสมีระดับความเข้มข้นแตกต่างจากบรรพชิต การกำหนดความเป็นพุทธแท้โดยใช้ข้อปฏิบัติเป็นตัวกำหนดนี้ดูจะเป็นสิ่งที่สามารถประเมินได้ง่ายเพราะมีความข้อบัญญัติที่สามารถนำมาประเมินตัดสินได้ชัดเจนกว่าการใช้เป้าหมาย (ระดับมรรคผลที่บรรลุ) เป็นตัวกำหนดเพราะมีลักษณะนามธรรมสูงและค่อนข้างเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ซึ่งมีเชื่อกันว่า ผู้ที่ระดับเดียวกันจะรู้จักผู้อยู่ในระดับเดียวกัน แต่ไม่อาจรู้จักผู้บรรลุธรรมขั้นสูงกว่า ส่วนผู้อยู่ในขั้นสูงกว่าย่อมสามารถเข้าใจหรือรู้จักผู้มีระดับธรรมต่ำกว่า ดุจผู้ที่ยืนอยู่บนยอดของภูเขาย่อมมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่าผู้ที่อยู่บนตีนเขา

กล่าวเฉพาะฆราวาสชาวพุทธซึ่งเป็นชาวบ้านทั่วไป ในฐานะผู้ครองเรือน ชาวพุทธที่มุ่งหวังต้องทำหน้าที่ของตนอย่างสอดคล้องเหมาะสมกับสถานภาพของตนและสถานภาพของบุคคลที่ตนเองเข้าไปมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง (หลักทิศ 6) ข้อกำหนดพื้นฐานที่สุดสำหรับคนกลุ่มนี้คือ การรักษาศีล 5 และในฐานะชาวพุทธก็จะต้องบำเพ็ญบุญตามหลักพระศาสนาด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา (บุญกิริยาวัตถุ 3) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติไตรสิกขานั่นเอง  ในหนังสือ พุทธธรรม ของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) มีข้อเสนอเกี่ยวกับลักษณะของชาวพุทธที่แท้ไว้น่าสนใจมาก โดยท่านเสนอให้ชาวพุทธยึดเอาคุณธรรมของพระอริยบุคคลมาเป็นเป้าหมายการดำรงชีวิต ซึ่งถือว่านี่คือลักษณะที่พึงปรารถนาของชาวพุทธโดยทั่วไป   ถ้าเรายึดเอาคุณสมบัติของพระโสดาบัน (ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลระดับแรก) เป็นเกณฑ์เบื้องต้นของการเป็นพุทธแท้ คุณธรรมหรือคุณสมบัติสำคัญที่ชาวพุทธจะพึงมีตามที่พระธรรมปิฎกบรรยายไว้
ได้แก่ [2]

  1. ศรัทธา ความเชื่อความมั่นใจในปัญญา คุณธรรม และความเพียรพยายามของมนุษย์ ซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงความจริง ความดีงามสูงสุดได้ตามกฎธรรมดาแห่งเหตุและผล ซึ่งจะทำให้มนุษย์สร้างสังคมที่ดีงามอันดำรงอยู่โดยธรรมได้
  2. ศีล การรู้จักบังคับควบคุมตนได้ ซึ่งทำให้ความเป็นอยู่ พฤติกรรม และลักษณะสัมพันธ์กับผู้อื่นและสภาพแวดล้อมของบุคคลนั้น ๆ เกิดความเหมาะสมพอดีที่จะเกื้อกูลแก่ความเจริญงอกงามแห่งคุณธรรมของตน และความอยู่ร่วมกันด้วยดีของสังคม
  3. จาคะ ความสละ ที่ทำให้ไม่ตัดสินหรือคิดการต่าง ๆ เข้าข้างตนเอง และทำให้พร้อมที่จะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ผู้อื่น
  4. ปัญญา ความรู้ตระหนักเท่าทันถึงความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายที่เป็นไปตามกฎธรรมดา มีความเกิดขึ้นเสื่อมสิ้นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ซึ่งทำให้วางใจวางท่าทีต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ถูกต้อง โดยมีจิตใจหลุดพ้นเป็นอิสระ สามารถวินิจฉัยแยกการอันควรมิควรกระทำ กำหนดความพอเหมาะพอดี และการที่จะใช้หรือพัฒนาต่อไปของคุณธรรมอื่น ๆ ทั้งหมดอย่างเหมาะสม

พระธรรมปิฎกกล่าวว่า ศรัทธาเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งในขั้นต้น หลักศรัทธาในที่นี้โดยปกติก็จะหมายถึงศรัทธาในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม และในพระสงฆ์ แต่สำหรับศรัทธาของพระอริยสาวก (พระโสดาบัน / พุทธแท้ในระดับต้น ๆ) จะหมายถึง เชื่อในปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (ตถาคตโพธิศรัทธา) เชื่อในปรีชาญาณการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่ทรงเป็นต้นแบบหรือองค์แทนหรือผู้นำของมนุษย์ทั้งหลาย [3]

นอกจากนี้ ในหนังสือ “สถานการณ์พุทธศาสนากระแสไสยศาสตร์” พระธรรมปิฎกได้กล่าวถึงหลักการ หลักความเชื่อและหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ที่ใช้สำหรับสำรวจว่า ปัจจุบัน ชาวพุทธได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักการที่ถือว่า เป็นตัวแท้ของพระพุทธศาสนา หรือไม่ ไว้ 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่  [4]

หลักการที่ 1 หลักธรรม หลักกรรม และไตรสิกขา

หลักการนี้เกี่ยวข้องกับ “หลักธรรม” และ “หลักกรรม” ธรรมหมายถึงสัจธรรมอันเป็นธรรมชาติและเป็นพื้นฐานแห่งการกระทำ หลักธรรมจึงเป็นพื้นฐานแห่งหลักกรรมหรือการกระทำ ส่วนหลักการกระทำที่ว่านี้จะหมายถึง หลัก “ไตรสิกขา” (ศีล สมาธิ และปัญญา) อันเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรศึกษาและนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  พระธรรมปิฎกกล่าวว่า "พระพุทธเจ้าดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม แล้วหลักธรรมก็เรียกร้องหลักกรรม หลักกรรมก็เรียกร้องให้มีสิกขาคือการศึกษา สิกขาก็เอาปัญญามาโยงกรรมให้ถึงและให้ถูกธรรม"  [5] ความหมายก็คือ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแบบอเทวนิยม ปฏิเสธการดำรงอยู่ของพระเป็นเจ้าหรืออำนาจอื่นใดที่มากำหนดความเป็นไปของมนุษย์  พุทธศาสนาจะให้ความสำคัญต่อการกระทำที่สอดคล้องกับกระบวนการแห่งธรรมชาติ หรือกระบวนธรรมที่ดำเนินไปตามธรรมชาติของมนุษย์ การปฏิบัติให้สอดคล้องกับกระบวนการแห่งธรรมชาตินั้นต้องอาศัยหลักแห่งไตรสิกขา  การจะทำให้สอดคล้องกับหลักธรรมชาติหรือสัจจธรรมได้ มนุษย์ก็จะต้องอาศัยปัญญา (ซึ่งอยู่ในระบบไตรสิกขาเช่นกัน) เป็นเครื่องชี้นำการกระทำให้เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ในแง่นี้ พุทธศาสนาปฏิเสธการดำรงอยู่ของพระเป็นเจ้าและการพึ่งพาเทพเจ้า แต่เรียกร้องให้หันมาทำความเข้าใจธรรมอันหมายถึงกระบวนธรรมตามธรรมชาติ และยึดหลักการกระทำที่กำกับด้วยความรู้หรือปัญญาที่เข้าใจความจริงแท้ในกระบวนธรรมนั้นด้วย

หลักการที่ 2 หลักการพึ่งตนเอง

พระธรรมปิฎกกล่าวว่า พระพุทธเจ้าสอนคนให้พึ่งตนเองได้ ให้เขาพัฒนาตนเองจนเป็นอิสระ ไม่ต้องขึ้นต่อพระองค์ ไม่พึ่งพาปาฏิหาริย์ เพราะคนที่ชอบปาฏิหาริย์จะต้องมาขึ้นกับผู้แสดงฤทธิ์เรื่อยไป ไม่รู้จักพึ่งตนเอง ไม่พัฒนา ไม่เป็นอิสระ พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับอนุสาสนีปาฏิหาริย์ (การเทศน์สั่งสอน) เพราะถ้าให้อนุสาสนีปฏิหาริย์ก็ทำให้เขาเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเองและทำสิ่งนั้น ๆ ได้ด้วยตนเอง แล้วเขาก็เป็นอิสระ เขาพึ่งตนเองได้  [6]  ในแง่นี้ การเป็นชาวพุทธที่แท้จริงนั้น ต้องเป็นอิสระแก่ตัวเอง เป็นที่พึ่งแก่ตนเอง ซึ่งต้องอาศัยพลังแห่งความเพียร (วิริยะ) และความอดทน (ขันติ) ของตนเองค่อนข้างสูง แม้กระทั่งการพึ่งพิงพระพุทธเจ้า (ในด้านอิทธิปาฏิหารย์) ก็ยังถือว่ายังไม่บรรลุถึงวิถีชีวิตของชาวพุทธอย่างแท้จริง มองในแง่หนึ่ง หลักการนี้มีลักษณะสำคัญที่เน้นไปที่ความสามารถของปัจเจกบุคคลค่อนข้างสูง

หลักการที่ 3 หลักคติโพธิสัตว์

คติพระโพธิสัตว์ที่ชาวพุทธทั่วไปคุ้นเคยมีแนวโน้มอย่างคติโพธิสัตว์ของมหายาน กล่าวคือ พระโพธิสัตว์ทรงมีเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ และคอยช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ ในคติเช่นนี้ชาวพุทธต้องอิงอาศัยพระบารมีของพระโพธิสัตว์ในการก้าวถึงความสุขและการหลุดพ้นแก่ตัวเอง แต่คติพระโพธิสัตว์ที่พระธรรมปิฎกกล่าวถึงในที่นี้ แตกต่างจากคติพระโพธิสัตว์ของมหายาน พระธรรมปิฎกกล่าวว่า คติพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้องนั้นสนับสนุนให้ระลึกถึงพุทธคุณ และการระลึกถึงพระพุทธคุณก็เป็นเครื่องเตือนใจเราให้ระลึกถึงความเป็นมนุษย์และศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวเราว่า เราก็เป็นมนุษย์อย่างพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ แต่พระองค์มีความเพียรพยายามพัฒนาพระองค์เองจนกระทั่งตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เราก็ต้องพัฒนาตนเอง ต้องฝึกฝนตนเองอย่างนั้นด้วย นี้เป็นการเตือนให้เรามีความมั่นใจในความเป็นมนุษย์ที่พัฒนาได้ ทั้งสำนึกให้หน้าที่ของตนเองที่จะต้องพัฒนาตัวเองยิ่งขึ้นไป และทั้งทำให้เกิดกำลังใจในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเองด้วย พร้อมกันนั้นก็จะได้นำเอาวิธีปฏิบัติพัฒนาของพระองค์ที่ได้สอนไว้มาใช้ประโยชน์ [7] ในแง่นี้ ความหมายของพระโพธิสัตว์เป็นเพียง “สิ่งที่เตือนใจ” ให้ระลึกถึง “ศักยภาพของความเป็นมนุษย์” ของตนเอง เพื่อจะมีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมหรือดำเนินชีวิตด้วยหลักแห่งการพึ่งตนเอง มิใช่ผู้ช่วยเหลือโอบอุ้มที่เราจะต้องสวดสรรเสริญหรือวิงวอน

หลักการสามประการนี้มีจุดเด่นสำคัญคือ ถ้าหากเราต้องการเป็นชาวพุทธที่ดี เราต้องพัฒนาสติปัญญาในระดับที่สามารถเข้าใจความจริงหรือสัจจธรรมอันเป็นกระบวนธรรมตามธรรมชาติ และใช้ความเข้าใจดังกล่าวนั้นเป็นเครื่องนำทางการปฏิบัติของเรา ซึ่งด้วยการเข้าใจอันถูกต้องและด้วยการกระทำของตนเองเท่านั้น จึงสามารถนำเราเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาได้ หลักแห่งปัญญาและการกระทำ (กรรม) จึงเป็นหลักที่โดดเด่นมากสำหรับการเป็นชาวพุทธที่ดีหรือชาวพุทธที่แท้ แม้กระทั่งหลักศรัทธาซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในฐานะเป็นพุทธคือ ตถาคตโพธิสัทธา ก็ได้รับการอธิบายในฐานะเครื่องมือที่จะช่วยให้เข้าถึงปัญญา คือศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์ผู้ทรงล้ำเลิศด้วยปัญญาและความเพียรพยายามที่จะบรรลุความจริงของมนุษย์ พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ที่เราจะศรัทธาก็เป็นเพียงอุทาหรณ์ที่ช่วยให้ตระหนักในศักยภาพและปัญญาของมนุษย์ซึ่งมีอยู่ในตัวเรานั่นเอง

หลักการที่พระธรรมปิฎกเสนอมานี้แม้จะมีลักษณะเชิงปฏิบัติและเป็นรูปธรรมมาก แต่ก็เป็นหลักการที่รวมอยู่ในหลักที่เรียกว่าไตรสิกขานั่นเอง กล่าวได้ว่าโดยหลักการ ชาวเถรวาทเห็นตรงว่า เกณฑ์สำหรับวัดความเป็นพุทธแท้ก็คือ การบรรลุเป้าหมาย (นิพพาน / การดับทุกข์) และการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น (ไตรสิกขา) เกณฑ์ดังกล่าวนี้เป็นเรื่องอุดมคติ ทีนี้หากนำเกณฑ์เหล่านี้มาใช้พิจารณาสภาพของเท็จจริงเกี่ยวกับชาวพุทธในสังคมไทย เราจะพบว่ามีข้อปฏิบัติของชาวพุทธ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคมไทย (อันได้แก่ ชาวบ้านทั่วไป) ที่อาจเข้ากับไม่ได้กับเกณฑ์ที่กล่าวมานี้ทั้งหมด

3.  พุทธศาสนาแบบชาวบ้าน

ภัทรพร สิริกาญจน แบ่งความคิดความเชื่อและการปฏิบัติของคนไทยออกเป็น 2 ระดับกว้าง ๆ คือ ระดับชาวบ้าน และระดับปัญญาชน [8] และได้กล่าวถึงลักษณะความคิดความเชื่อและข้อปฏิบัติของพุทธแบบชาวบ้านไว้โดยสังเขปดังนี้ [9]

  • ก. ชาวบ้านมีการศึกษาพุทธศาสนาน้อย  จึงขาดความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งในหลักคำสอนทางพุทธศาสนา ไม่สามารถมองเห็นความหมายอันแฝงเร้นในทางนามธรรม
  • ข. ชาวบ้านเป็นผู้นับถือผีสางเทวดา โดยเหตุที่ชาวพุทธศาสนิกชนไทยพยายามจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของตนอย่างเร่งรัด ทำให้การนับถือผีสางเทวดาสามารถแทรกซึมเข้ามาในพุทธศาสนาโดยง่าย ทำให้พุทธศาสนามีลักษณะผสมผสานรวมเอาลัทธิความเชื่อหลายหลาก และใช้เวทมนตร์คาถาแบบไสยศาสตร์ไว้ด้วย
  • ค. ชาวบ้านเป็นผู้ที่เชื่อถือในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา และอำนาจเหนือธรรมชาติมากกว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นผู้ดำรงชีวิตด้วยความศรัทธาเชื่อมั่นและพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่าการใช้เหตุผล และการพยายามพึ่งตนเอง

ส่วนลักษณะทั่วไปของพุทธศาสนาแบบปัญญาชนนั้น มีดังนี้ [10]

  • ก. เป็นพุทธศาสนาที่ยึดแนวความเชื่อและหลักปฏิบัติที่รัฐและสถาบันสงฆ์ยอมรับและส่งเสริมให้เป็นบรรทัดฐานของสังคม
  • ข. เป็นพุทธศาสนาที่ให้ความสำคัญต่อพระไตรปิฎกโดยยึดพุทธธรรมอันจารึกอยู่ในพระไตรปิฎกอย่างเคร่งครัด ตรงไปตรงมาตามตัวอักษร หรือพยายามตีความให้เข้าถึงความหมายดั้งเดิมของคำสอน นอกจากนั้น ให้ความสำคัญต่อคำอธิบายพระไตรปิฎกในคัมภีร์อรรถกถา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คัมภีร์อรรถกถาต่าง ๆ ของพระพุทธโฆษาจารย์ (พระภิกษุชาวอินเดียใต้ผู้มีชีวิตอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11) หรือถือตามคำอธิบายของผู้นำทางศาสนาอันมีบทบาทสำคัญของยุคสมัย
  • ค. เป็นพุทธศาสนาที่เน้นความสำคัญของอุดมคติทางศาสนาคือ นิพพาน โดยถือนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนิกชนทุกคน
  • ง. เป็นพุทธศาสนาที่แยกบทบาทหน้าที่ของบรรพชิตและฆราวาสออกจากกัน โดยถือว่าบรรพชิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญและเป็นธรรมทายาทของพระพุทธเจ้า มีหน้าที่ประกาศพระศาสนา รับจตุปัจจัยที่ฆราวาสเป็นผู้ถวายและปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น ส่วนฆราวาสมีหน้าที่ดูแลและบริการพระสงฆ์ให้มีความสะดวกสบายและพร้อมที่จะปฏิบัติศาสนกิจต่อไป นอกจากนั้น ฆราวาสมีหน้าที่ปฏิบัติธรรมสำหรับผู้ครองเรือนเพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม และในการปฏิบัติขั้นสูงสุด ฆราวาสอาจปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ด้วยตนเอง
  • จ. เป็นพุทธศาสนาที่ไม่ให้ความสำคัญกับแนวคิดและแนวปฏิบัติของคนทั่วไปหรือตามประเพณีที่ชาวไทยส่วนใหญ่นิยมปฏิบัติกัน แต่เน้น ปริยัติ (การศึกษาพระไตรปิฏกให้เข้าใจหลักคำสอน) ปฏิบัติ (การปฏิบัติตามหลักคำสอน) และปฏิเวธ (การบรรลุผลจากการปฏิบัติ คือความพ้นทุกข์) โดยถือว่าความรู้ในพระไตรปิฎกเป็นบันไดขั้นแรกอันจะนำไปสู่การบรรลุผลขั้นสูงสุด

ถ้ายอมรับว่ามีชาวพุทธ 2 แบบ แต่ละแบบมีคุณลักษณะดังที่ภัทรพร สิริกาญจนให้ไว้จริง เมื่อประเมินด้วยหลักการ 3 ข้อที่พระธรรมปิฎกให้ไว้ ก็ต้องยอมรับด้วยเหตุผลว่า วิถีแห่งความเชื่อและข้อปฏิบัติของชาวบ้านนั้นไม่ถูกต้องตามหลักการอันแท้จริงของพุทธศาสนา ชาวพุทธแบบชาวบ้านทั่วไปจึงไม่ใช่ “พุทธแท้” หรืออย่างน้อยเมื่อใช้ความเข้าใจหลักคำสอนของพุทธศาสนาในพระไตรปิฎก (ปัญญา) เป็นตัววัด ก็เป็นพุทธแท้ “น้อยกว่า” ชาวพุทธแบบปัญญาชน นอกจากนี้ การเชื่อในไสยศาสตร์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านแสดงออกถึงการไม่ใช้เหตุผล และการไม่พึ่งพาตนเอง (ศีล–สมาธิ) วิถีชีวิตแบบนี้ล้วนขัดกับหลักการ “พุทธแท้” ที่พระธรรมปิฎกเสนอไว้ทั้งสิ้น

พุทธแบบชาวบ้านต่างกับชาวพุทธปัญญาชนตรงที่พุทธปัญญาชนที่มีความเข้าใจพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งมากกว่า (มีปัญญา) ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ชาวพุทธปัญญาชนปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตรงกับหลักธรรมและหลักกรรมมากกว่า  ผู้ที่กำหนดความหมายการเป็นชาวพุทธทำนองนี้ดูจะกำหนดความหมายอย่างสนองตอบต่อระบบชนชั้นทางสังคมไทยอยู่ไม่น้อย การแยกระดับของการนับถือศาสนา (หรือเรื่องอื่นใดก็ตาม เช่นเรื่องการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น) ออกเป็นสองระดับที่มีความสูงต่ำเช่นนี้ อาจจะปนเปกับอคติของชนชั้นและก่อให้เกิดความสับสนได้ไม่น้อย เพราะความเข้าใจหลักธรรมในพระไตรปิฎกได้ดีกว่าหรือตรงกว่านี้ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันการเป็นชาวพุทธแท้เสียทีเดียว ถ้านาย ก. ชำนาญพระไตรปิฎก แต่ดื่มเหล้าประจำ ส่วนนาย ข. ไม่รู้ความหมายของพระไตรปิฎกมาก แต่รู้ว่าศีล 5 เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นที่เขาต้องปฏิบัติและปฏิบัติตามนั้น นาย ข. ย่อมจะได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธเจ้ามากกว่าพระพุทธเจ้าจะทรงให้ความสำคัญกับคนปฏิบัติตามไตรสิกขา  แต่ไม่ชาญฉลาดในคัมภีร์มากกว่าคนชาญฉลาดในคัมภีร์แต่ไม่ได้ชิมรสพระธรรมจากการปฏิบัติ และถ้าเชี่ยวชาญทั้งปริยัติและปฏิบัติก็ยิ่งเป็นที่สรรเสริญ นอกจากนี้ สิ่งที่เราเห็นจากคำนิยามข้างต้นนั้น อาจไม่ได้ตรงกับวิถีชีวิตทางศาสนาของชาวบ้านทีเดียว ความเข้าใจของชาวบ้านเกี่ยวกับนิพพานอาจไม่ลึกซึ้งดังความเข้าใจของนักวิชาการด้านพุทธศาสนาหรือพุทธปรัชญาที่ศึกษาพระไตรปิฎก แต่ชาวบ้านทั่วไปที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธดั้งเดิมไว้อย่างเคร่งครัดนั้น บางครั้งดูจะมีชีวิตที่มุ่งหมายนิพพานมากกว่าปัญญาชน แม้ความเข้าใจเรื่องนิพพานของชาวบ้านอาจไม่เหมือนที่ปัญญาชนเข้าใจก็ตาม ขณะเดียวกัน จิตวิญญาณของการเป็นชาวพุทธที่มองเห็นความเป็นธรรมดาของชีวิตยังอาจมีมากกว่าด้วย ข้อนี้สังเกตได้จากการที่ชาวบ้านมักจะเปิดใจยอมรับ “ทุกข์” ของชีวิตและ “ปลง” ได้ง่ายกว่าบรรดาผู้ที่เป็นปัญญาชน

การเป็นพุทธแบบชาวบ้านนั้นถูกตีราคาไว้ต่ำกว่าพุทธแบบปัญญาชน ข้อนี้เป็นเรื่องที่ชัดเจนมาก การตีราคาความเชื่อแบบชาวบ้านไว้ต่ำกว่าระดับปัญญาชนเช่นนี้ทำให้มิติของพุทธศาสนาแบบชาวบ้านถูกกำจัดออกไปจากบริบทของพุทธศาสนาที่เป็นทางการในเวลาต่อมา ความด้อยค่าของพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน ไม่ได้อยู่ที่ความไม่เข้าใจศาสนาอย่างถ่องแท้เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่เรื่องความศักดิ์สิทธิ์และไสยศาสตร์  ในมิติของเหตุผลนิยม (Rationalism) และวิทยาศาสตร์ การเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และไสยศาสตร์กลายเป็นปัญหาสำคัญสำหรับการดำรงอยู่ของมนุษย์ เพราะมันไม่ได้มีความจริงแท้แต่ประการใด หากเป็นเพียงความงมงายที่จับต้องไม่ได้

บางทีการศึกษาพุทธศาสนาแบบชาวบ้านให้มีความสมบูรณ์นั้น จำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจชาวบ้านให้มากกว่านี้ และพิจารณาเรื่องราวจากมุมมองอื่น ๆ ด้วย และจริง ๆ แล้ว แง่มุมด้านความศักดิ์สิทธิ์และไสยศาสตร์ที่แทรกอยู่ในการนับถือพุทธศาสนาแบบชาวบ้านนั้น มีความสำคัญอย่างไรต่อการนับถือศาสนาโดยทั่วไปหรือไม่ หรือขัดแย้งกับหลักการของพุทธศาสนามากน้อยเพียงใด เมื่อมองจากมุมมองที่ต่างออกไปจากพุทธปัญญาชน

4.  พุทธศาสนาแบบชาวบ้านกับไสยศาสตร์

สิ่งที่อาจถือว่าเป็นความโดดเด่นอย่างหนึ่งของพุทธศาสนาแบบชาวบ้านก็คือ การผสมผสานความเชื่อระหว่างผี พุทธ พราหมณ์เข้าด้วย การผสมผสานความคิดทำนองนี้อันที่จริงก็มิได้เป็นความคิดของชาวบ้านทีเดียว หากแต่การผสมผสานระหว่างผี พุทธ และพราหมณ์เข้าด้วยกันมีหลักฐานเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย-ล้านนา ดังที่ได้เห็นในวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับไตรภูมิทั้งหลาย ดังนั้น จะว่าการผสมผสานระหว่างความเชื่อพุทธกับความเชื่ออื่น ๆ เป็นเรื่องของชาวบ้านเสียทีเดียวก็ไม่ถูกต้อง เพราะผู้เขียนหรือรจนาคัมภีร์ในยุคแรกนั้นล้วนเป็นพระสงฆ์ผู้นำและพระมหากษัตริย์ อันที่จริง ชาวพุทธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่เดิมมา ไม่ได้แยกสิ่งที่เรียกว่าพุทธบริสุทธิ์กับพุทธศาสนาที่ผสมกับลัทธิความเชื่อในผีสางเทวดา ไสยศาสตร์ หรือพราหมณ์ ออกจากกันเด็ดขาดอย่างที่เป็นอยู่ในสังคมสมัยใหม่ ความพยายามที่จะแยกแยะพุทธศาสตร์ออกจากไสยศาสตร์เพิ่งจะเกิดขึ้นในสมัยที่สังคมไทยเผชิญหน้ากับศาสนาคริสต์และวิทยาศาสตร์นั่นเอง

การนับถือผีและเชื่อในอำนาจของพราหมณเทพนิกร เช่น พระพรหม พระอิศวร และพระนารายณ์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ความเชื่อในทางไสยศาสตร์ในกลุ่มชาวพุทธนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุใดเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ยาก ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังนัก คงต้องอธิบายง่าย ๆ โดยยกให้เป็นพัฒนาการทางสังคมและประวัติศาสตร์ชนชาติ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาในระบบความเชื่อเหล่านี้ก็คือ การอ้างอิงอำนาจของผีหรือเทพเจ้าเพื่ออำนวยประโยชน์แบบโลก ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งแก่ตนเองและครอบครัว หรือคนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้มีการยอมรับเอาพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการทำให้อำนาจต่าง ๆ เกิดผล เช่น พิธีบวงสรวง หรือการเซ่นไหว้ ด้วยเครื่องสักการะต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องก็มีการพัฒนาขึ้นตามยุคตามสมัย โดยเฉพาะในยุคที่การค้าขายเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องความเชื่อทางไสยศาสตร์ พิธีกรรมได้ถูกพัฒนาไปอย่างวิจิตรพิศดาร ปัจจุบันอาจเรียกได้ว่า พุทธศาสนาในแบบชาวบ้านค่อนข้างมีส่วนผสมของความเชื่ออื่น ๆ ที่ผู้รู้ทางวิชาการด้านพุทธศาสนาจะยอมรับได้ยาก แต่ก็มีการปฏิบัติทั่วไปในหมู่ชาวพุทธซึ่งในเกือบทุกกรณีเราจะเห็นพระภิกษุสงฆ์มีส่วนร่วมสำคัญในการก่อให้เกิดกระแสนิยมไสยศาสตร์ที่แพร่กระจายไปในชุมชนต่าง ๆ

ความพยายามที่จะแยกแยะพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ออกจากพุทธศาสนาแบบชาวบ้านปรากฏในคำอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับไสยศาสตร์ที่เห็นอยู่ทั่วไปในสมัยปัจจุบัน คำอธิบายส่วนใหญ่พยายามย้อนไปอ้างอิงถึงความคิดทางไสยศาสตร์ในอินเดียโบราณซึ่งมีความสัมพันธ์กับพิธีกรรมการสังเวยเทพเจ้าซึ่งมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ไสยศาสตร์อินเดียโบราณนี้ได้มีอิทธิพลต่อพุทธศาสนาหลังพุทธปรินิพพาน โดยเฉพาะข้างฝ่ายมหายานมักจะได้รับการกล่าวหาว่ามีเรื่องราวทางไสยศาสตร์เกี่ยวข้องมากกว่าพุทธศาสนาเถรวาท

การมองว่าไสยศาสตร์เป็นของวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งโดยเฉพาะ และมองว่าไสยศาสตร์เข้ามาเป็นอุปสรรคสำคัญของการมีอยู่ (อย่างบริสุทธิ์) ของพุทธศาสนา อาจจะทำให้เราพลาดประเด็นสำคัญในการศึกษาพุทธศาสนาในแง่มุมของชาวบ้าน ว่ากันว่า ความคิดทางไสยศาสตร์ครอบงำมนุษย์มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองหมื่นปีหรืออาจจะถึงสองแสนปีก็ได้ แต่การปฏิวัติทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ การเกิดขึ้นของสังคมสมัยใหม่และความสำเร็จอันน่าตื่นตาตื่นใจของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่นำมาใช้ในระบบอุตสาหกรรมและแพทยศาสตร์ ได้ทำลายความเชื่อทางไสยศาสตร์ของผู้มีการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ เรารู้สึกว่าวิทยาศาสตร์น่าเชื่อถือมากกว่าเพราะมันสร้างความสำเร็จได้มากกว่าไสยศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช การปราบโรค หรือการทำสงครามหรือวิชาเคมี การบังคับดินฟ้าอากาศก็ดี ความสำเร็จอันน่าตื่นตาตื่นใจที่ได้จากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ทำให้คนเริ่มเหยียดหยามความเชื่อทางไสยศาสตร์ การเหยียดหยามหรือรังเกียจไสยศาสตร์เช่นนี้ ทำให้เราไม่สามารถทำความเข้าใจอดีตและแง่มุมสำคัญอีกด้านหนึ่งของศาสนา เอ็ดเวิร์ด คอนซ์กล่าวว่า เพื่อที่จะดำรงอยู่ เพื่อที่จะยืนหยัดอยู่ในโลกให้ได้ ศาสนาจำเป็นจะต้องยอม “รับใช้” ความสนใจทางด้านวัตถุของคนธรรมดาบ้าง ศาสนาต้องสามารถแทรกตัวเองอยู่ในวิถีชีวิตของชุมชนในอดีต ซึ่งมีแรงและอิทธิพลของไสยศาสตร์ครอบงำอยู่เป็นอันมาก คนธรรมดาสามัญในอดีตย่อมมีความสนใจต่อปัญหาความทุกข์ในชีวิตประจำวันของเขา และหวังว่าศาสนาจะช่วยให้เขาพบกับความสงบทางจิตใจอันเป็นผลมาจากศรัทธาอันบริสุทธิ์ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ย่อมคาดหวังด้วยเช่นกันว่า ศาสนาที่เขานับถือนั้นจะตอบสนองต่อความคาดหวังที่อาจจะเหนือเหตุผลของพวกเขา ศาสนาจะสามารถควบคุมพลังอันเร้นลับที่รายล้อมตัวเขา ช่วยให้เขาหรือประกันการได้สิ่งอันพึงประสงค์ในโลกนี้ในฐานะที่พวกเขาได้สละทุ่มเทชีวิตเพื่อศาสนาด้วยความบริสุทธิ์ใจ

เช่นเดียวกันกับศาสนาทั้งหลายในอดีต พุทธศาสนาได้อำนวยทั้งการพิทักษ์และอำนาจอันเกิดจากไสยศาสตร์ ตามความเชื่อของประชาชน ความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลขึ้นอยู่กับพิธีกรรมที่พระในพุทธศาสนากระทำอยู่ไม่น้อย และมักเชื่อกันว่าอำนาจอันชั่วร้ายจะทำลายพืชผลเสียถ้าไม่ทำพิธี ความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลและสุขภาพอนามัยของชุมชนส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับภิกษุอีกเช่นกัน พุทธศาสนามหายาน เชื่อว่าการกระทำไสยศาสตร์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการบำเพ็ญกิจของพระโพธิสัตว์ การทำให้ประชาชนประสบผลสำเร็จในกิจกรรมอันพวกเขาปรารถนาแม้จะเป็นเรื่องโลก ๆ ก็ย่อมเป็นประจักษ์พยานของความเมตตากรุณาอันไพศาลของพระโพธิสัตว์และพุทธศาสนา  จะว่าไปแล้ว ไสยศาสตร์ในบางลักษณะมิใช่สิ่งที่ไม่อาจหารากฐานได้จากความคิดความเชื่อทางพุทธศาสนา ชาวพุทธโดยพื้นฐานแล้วเชื่อในเรื่องการบำเพ็ญเพียรทางจิต และความสามารถที่เกิดจากอำนาจจิตที่ได้รับการควบคุมฝึกฝนอย่างถูกต้องตามหลักของศาสนา บรรดานักปราชญ์หรือพระภิกษุรูปสำคัญในอดีตล้วนใช้ไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการเผยแผ่ศาสนาอย่างได้ผลในชนเผ่าหรือกลุ่มชนต่าง ๆ ตำนานการเผยแผ่พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ พุทธศาสนามหายานในจีนหรือในธิเบตล้วนมีบางแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เวทย์มนตร์และอำนาจจิต เพื่อกำราบสิ่งชั่วร้ายอันเป็นอันตรายต่อมนุษย์ในชุมชนที่พระภิกษุเหล่านั้นเดินทางไปถึง พระสงฆ์ชาวพุทธที่มีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบล้วนมองเห็นความเป็นไปได้ของอำนาจศักดิ์สิทธิ์อันบังเกิดขึ้น โดยอาศัยอำนาจจิตอันบริสุทธิ์ของผู้ทรงศีล ชาวพุทธมองเห็นว่าอำนาจจิตนั้นมีพลังในการควบคุมโลกทางวัตถุด้วย และออกจะเชื่อด้วยซ้ำไปว่าความเชื่อเรื่องปาฏิหาริย์นั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการที่จะให้ชีวิตทางศาสนาดำรงอยู่ต่อไป  ความรุ่งโรจน์ของทุกศาสนาได้รวมเอาเรื่องทางจิตวิญญาณและเรื่องไสยศาสตร์ไว้ด้วย [11]

ถ้าเราย้อนกลับไปดูเรื่องราวการแผ่พุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า สิ่งที่เราคงจะปฏิเสธได้ยากก็คือ เรื่องราวการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า ความสามารถพิเศษเหล่านั้นปรากฎขึ้นพร้อมกับการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ในขณะที่สาวกหลายรูปก็มีความสามารถโดดเด่นในเรื่องการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ในวรรณกรรมทางพุทธศาสนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนกล่าวถึงมิติของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ในฐานะจุดเริ่มต้นของศรัทธาในพระศาสนา เช่น อิทธิปาฏิหาริย์ของพระเถระที่เดินทางมายังดินแดนสุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก  นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความเชื่อในเรื่องการเสด็จมายังดินแดนต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ของพระพุทธเจ้า การเลือกถิ่นฐานเพื่อสร้างบ้านแปงเมืองล้วนอ้างอิงเอาความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนามาเป็นเครื่องหมายประกันความอยู่ดีมีสุขหรือความเจริญรุ่งเรืองของภูมิสถานที่ตนตั้งหลักปักฐาน ถ้าความเชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์เป็นอันเดียวกันกับความเชื่อเชิงไสยศาสตร์ ก็เห็นจะปฏิเสธความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับไสยศาสตร์ได้ยาก  ความเชื่อเกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาริย์ ความสามารถในการเสกเป่าคาถาอาคม และการทำพิธีป้องกันอันตรายทั้งหลายนั้น เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญอย่างมากในพุทธศาสนาระดับชาวบ้านหรือคนทั่วไป เพราะวิถีชีวิตขณะดำรงอยู่ในโลกนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับชาวบ้าน พุทธศาสนาแบบชาวบ้านในแง่หนึ่งก็คือพุทธศาสนาที่ตอบสนองต่อการดำรงอยู่ในโลกที่เราเห็นอยู่นี้นั่นเอง เพียงแต่วิธีที่จะตอบสนองนั้นอาจแตกต่างออกไปจากวิธีของชาวพุทธแบบปัญญาชน

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ พุทธศาสนาแบบชาวบ้านตอบสนองสังคมได้อย่างมีพลังหรือมีพลังทางสังคมได้อย่างไร  ความพิเศษของพุทธศาสนาแบบชาวบ้านอยู่ตรงไหน และมีนัยสำคัญอย่างไรต่อสังคมไทย หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุดตัวอย่างหนึ่งของพุทธศาสนาแบบชาวบ้านที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมไทยมานานกว่าสองทศวรรษ เราจะถือเอาเรื่องนี้เป็นกรณีศึกษา

5. กรณีศึกษา : หลวงพ่อ คูณ ปริสุทฺโธ

เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ (พระเทพวิทยาคุณ) วัดบ้านไร่ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เป็นตัวอย่างที่น่าจะนำมาพิจารณาได้ว่า ลักษณะความเป็นไปต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปฏิปทาของหลวงพ่อคูณ กิจกรรมภายในวัด และกิจกรรมภายนอกวัดที่ท่านปฏิบัติเพื่อมวลชนนั้นสอดคล้องกับลักษณะของพุทธศาสนาแบบชาวบ้านมากกว่าพุทธศาสนาแบบปัญญาชน

ประวัติของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ สอดคล้องกับลักษณะสำคัญของพุทธศาสนาแบบชาวบ้านในแง่จะมีการบอกเล่าถึงเหตุอัศจรรย์บางประการอยู่ด้วย และความเชื่อในเรื่องอิทธิปาฏิหารย์บางประการกลายเป็นจุดศูนย์กลางที่ดึงดูดให้คนทั่วไปต้องการจะพบเห็น หรือเข้าถึงหลวงพ่อคูณ เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ดังกล่าวนี้มีจริงหรือไม่ ล้วนเป็นคำบอกเล่าจากคนแวดล้อมหรือผู้เกี่ยวข้อง แต่ตัวหลวงพ่อคูณเองไม่เคยยอมรับว่าท่านมีความศักดิ์สิทธิ์ดังที่ร่ำลือกัน

หลวงพ่อคูณ ปาริสุทโธ  กำเนิดที่บ้านไร่ ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2466 (บางตำราว่าวันที่ 4 ตุลาคม) ตรงกับวันแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน เป็นบุตรชายคนหัวปี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน 

มารดาคือ นางทองขาว เล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า ก่อนตั้งครรภ์ กลางดึกของคืนวันหนึ่งเวลาประมาณตี 3 นางได้ฝันเห็นเทพองค์หนึ่ง มีกายเรืองแสงงดงาม ลอยลงมาจากสวรรค์ มาที่บ้านของนางและกล่าวว่าเจ้าและสามีเป็นผู้มีศีลธรรม เมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ประกอบการงานอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งยังสร้างคุณงาม ความดีมาตลอดหลายชาติ เราขออำนวยพรให้เจ้า และครอบครัวมีแต่ความสุขสวัสดิ์ตลอดไป และเทพองค์นั้นยังได้มอบดวงแก้วใสสะอาดสุกว่างให้แก่นางด้วย  "ดวงมณีนี้ เจ้าจงรับไปและรักษาให้ดีต่อไปภายหน้า จะได้เป็นพระพุทธสาวกหน่อเนื้อพระชินวร เพื่อสืบพระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญ ที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวง"

บิดามารดาของหลวงพ่อคูณ ได้เสียชีวิตลงในขณะที่ลูกทั้ง 3 คน ยังเป็นเด็ก หลวงพ่อคูณกับน้อง ๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว สมัยที่หลวงพ่อคูณอยู่ในวัยเยาว์ 6-7 ขวบ ได้เข้าเรียนหนังสือ กับพระอาจารย์เชื่อม วิรโธ พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ทั้งภาษาไทย และภาษาขอม ที่วัดบ้านไร่ อันเป็นสถานการศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน มิได้มีโรงเรียนทำการสอนเช่นในสมัยปัจจุบัน นอกจากเรียนภาษาไทยและขอมแล้ว พระอาจารย์ทั้ง 3 ยังมีเมตตาอบรมสั่งสอนวิชา คาถาอาคม เพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้แก่หลวงพ่อคูณด้วย หลวงพ่อคูณจึงมีความรู้เกี่ยวกับวิชาไสยศาสตร์มาแต่เยาว์วัย

หลวงพ่อคูณอุปสมบท เมื่ออายุได้ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2487 (หนังสือบางแห่งว่า ปี 2486) ตรงกับวันศุกร์ เดือน 6 ปีวอก โดยพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ คือพระอาจารย์สุข วัดโคกรักษ์ หลวงพ่อคูณได้รับฉายาว่า ปริสุทโธ หลังจากที่หลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์  ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา (บางตำรากล่าวว่าเมื่อบรรพชาแล้วได้เล่าเรียนกับหลวงพ่อคง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดถนนหักใหญ่ก่อน แล้ว หลวงพ่อคงจึงนำไปฝากกับหลวงพ่อแดง) หลวงพ่อแดง เป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ อย่างเคร่งครัด และทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและลูกศิษย์เป็นอย่างมาก

หลวงพ่อคูณ ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทฺธสโร ซึ่งหลวงพ่อทั้งสองรูปนี้ เป็นเพื่อนกันต่างให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อมีโอกาสได้พบปะ มักแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิชาอาคมแก่กันเสมอ  หลวงพ่อคง พุทธฺสโร เป็นพระอาจารย์ผู้ทรงคุณทั้งทางธรรม และทางไสยเวทย์ และได้อบรมสั่งสอนให้กับหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ด้วยความรักใคร่มิได้ปิดบังอำพราง โดยการให้การศึกษาพระธรรมควบคู่กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เน้นเรื่องการมี "สติ" ระลึกรู้ พิจารณาอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบและให้เกิดความรู้เท่าทัน ในอารมณ์นั้น

ส่วนการศึกษาด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น หลวงพ่อคงได้สอนให้ใช้หมวดอนุสติ โดยดึงเอาวิธีกำหนด “ความตาย” เป็นอารมณ์ เรียกว่า “มรณัสสติ” เพื่อให้ เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงในในอารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ประมาทในความโลภ ความโกรธ และความหลง กำหนดลมหายใจเข้าออกทำจิตให้เกิด สัมมาสมาธิ เรียกว่า “อานาปานสติ”  เวลาผ่านไปจนกระทั่งหลวงพ่อคงเห็นว่า ลูกศิษย์ของตนมีความรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป แรก ๆ หลวงพ่อคูณก็ธุดงค์ จาริกอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจึงจาริกออกไปไกล ๆ กระทั่งถึงประเทศลาว และประเทศเขมร มุ่งเข้าสู่ป่าลึก เพื่อทำความเพียรให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้น จากกิเลส ตัณหา และอุปทานทั้งปวง

หลังจากที่พิจารณาเห็นตนเองได้จาริกเดินทางไปนานพอสมควรแล้ว หลวงพ่อคูณจึงเดินทางจากประเทศเขมรสู่ประเทศไทย ข้ามเขตด้านจังหวัดสุรินทร์ มาจังหวัดนครราชสีมา และกลับมายังบ้านไร่อันเป็นบ้านเกิดของท่าน จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างอุโบสถ พ.ศ.2496 โดยชาวบ้านได้ช่วยกันเข้าป่าตัดไม้มาทำเป็นอุโบสถ ในสมัยก่อนต้นไม้มีอยู่มาก แต่การตัดไม้ในสมัยนั้น ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะไม่มีเครื่องจักร ไม่มีถนน กว่าจะได้ไม้ที่เลื่อยแปรสภาพสำเร็จแล้ว ต้องเผชิญกับการขนย้ายที่ยากลำบาก โดยอาศัยโคเทียมเกวียนบ้าง ใช้แรงงานคนลากจูง บนทางที่แสนทุรกันดาร เนื่องจากถนนทางเกวียนนั้นเป็นดินทรายเสียส่วนใหญ่ เมื่อต้องรับน้ำหนักมากก็มักทำให้ล้อเกวียนจมลงในทราย การชักจูงไม้แต่ละเที่ยวจึงต้องใช้เวลาถึง 3-4 วัน แต่กระนั้นหลวงพ่อคูณก็สามารถนำชาวบ้านช่วยกันสร้างอุโบสถจนสำเร็จ    

นอกจากการก่อสร้างอุโบสถแล้ว หลวงพ่อคูณยังสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค สร้างโรงพยาบาล โรงเรียน ตลอดจนบริจาคเงินทองเพื่อช่วยเหลือสาธารณะสุขต่างๆ อีกมากมาย การสร้างสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากมีแต่เมตตาจิตเพียงอย่างเดียว แต่ไร้ความสามารถในการระดมทุน เดิมทีนั้น ถาวรวัตถุต่าง ๆ ที่พระสงฆ์สร้างขึ้นในพื้นที่หรือชุมชนของตนเองจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมการศาสนา  (ปัจจุบันวัดพุทธทั้งหมดอยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ) หรืองบทางราชการมีไม่มากนัก และไม่ต้องวาดฝันว่าจะได้รับงบประมาณจากคณะสงฆ์ส่วนกลาง เพราะผู้กุมอำนาจสงฆ์ไม่มีความรู้ความสามารถ ไม่มีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรของวัดโดยรวมเพื่อนำมาใช้ร่วมกัน   การนำเงินที่ได้รับจากการบริจาคของฆราวาสของวัดทั่วประเทศมาบริหารจัดการและกระจายงบประมาณไปยังวัดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นในท้องถิ่นทุรกันดารนั้นไม่สามารถทำได้และไม่มีธรรมเนียมดังกล่าวเกิดขึ้นในคณะสงฆ์ไทย ดังนั้นเมื่อพระสงฆ์ต่างจังหวัดในถิ่นทุรกันดารจะดำเนินการเพื่อปลูกสร้างสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ จะต้องอาศัยความสามารถพิเศษส่วนบุคคลเท่านั้นจึงจะสามารถทำได้ การระดมทุนต้องอาศัยความศักดิ์สิทธิ์และความสามารถของพระภิกษุในฐานะปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญ

หลวงพ่อคูณสร้างวัตถุมงคลเมื่อพรรษาที่ 7  โดยเริ่มทำวัตถุมงคล ซึ่งเป็นตะกรุดโทน ตะกรุดทองคำ เพื่อฝังที่ใต้ท้องแขน ณ วัดบ้านไร่ ราว พ.ศ.2493   การสร้างถาวรวัตถุของหลวงพ่อคูณมองจากแง่มุมของชาวพุทธปัญญาชน ถือว่าเป็นการมอมเมาประชาชน ทำให้ชาวบ้านพึ่งพิงในสิ่งที่ขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ขาดปัญญา ไม่สามารถพึ่งพิงตัวเองได้ แต่ถ้ามองจากแง่มุมของผู้สร้างวัตถุมงคลโดยตรง จุดประสงค์ในการสร้างวัตถุมงคลไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อจะตอกย้ำความเชื่องมงายในสิ่งศักดิ์สิทธิ์   แต่ดูเหมือนจะเป็นวิธีการเดียวที่จะช่วยให้สามารถระดมทุนเพื่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่นแก่พระศาสนาสำหรับพระภิกษุที่มีเมตตาต่อประชาชน เพราะคณะสงฆ์ผู้ปกครองไม่สามารถจะหาทางออกให้ได้  การฝากความหวังไว้กับสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติหรือกรมการศาสนา ก็เป็นสิ่งที่ยากลำบากเช่นเดียวกัน เพราะการบริหารจัดการส่วนนี้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่อำนาจโดยตรงของคณะสงฆ์ การสร้างวัตถุมงคลดูจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการได้มาซึ่งทรัพยากรหรือทุนทรัพย์สำหรับการสร้างสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่วัดและประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีวัตถุมงคลกลายเป็นสิ่งที่เป็นจุดหมายในตัวมันเอง เมื่อประชาชนเคารพนับถือสิ่งนั้นมากขึ้นและอยากได้วัตถุนั้นไว้ครอบครอง โดยส่วนใหญ่แล้วพระภิกษุสงฆ์จะมีความมุ่งหมายในแง่ของการระดมทุนมากกว่า หลวงพ่อคูณน่าจะตระหนักเช่นนั้น ดังนั้นเมื่อมีภิกษุต่างถิ่นที่ได้ยินกิตติศัพท์เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ต้องการสร้างเหรียญของท่านเพื่อให้ประชาชนเช่าบูชา หลวงพ่อคูณอนุญาตให้ทำได้โดยไม่จำกัด ในแง่การเล่นพระเครื่องเหรียญหลวงพ่อคูณจึงค่อนข้างมีราคาค่าเช่าถูกเพราะสร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก เล่ากันว่าเหรียญของหลวงพ่อคูณไม่เคยมีของปลอม ขอให้มีรูปหลวงพ่อคูณก็ใช้ได้ทั้งนั้น การแพร่กระจายของเหรียญหลวงพ่อคูณจึงมากมายมหาศาลจนมีผู้ตั้งคำถามว่า อาจจะมีโจรหรือคนไม่ดีได้เหรียญหลวงพ่อคูณไปบูชาไม่น้อย การแจกวัตถุมงคลให้คนไม่ดีเป็นโจรผู้ร้ายอย่างนี้จะถูกต้องหรือไม่ หลวงพ่อคูณบอกว่าท่านจะไปรู้ได้อย่างไรว่าคนรับเหรียญไปมันเป็นใคร ท่านมองในแง่ดีว่า “ถ้ามันเป็นโจร เมื่อมันได้รับประโยชน์จากของที่กูแจก มันคงคิดได้ว่า เป็นเพราะพระศาสนา มันจะได้เข้ามาสนใจปฏิบัติธรรม”  

ปรากฎการณ์ที่น่าศึกษาอย่างยิ่งเกี่ยวกับพุทธศาสนาในสังคมไทยในช่วงเวลาดังกล่าวก็คือ ไม่มีพระภิกษุรูปใดที่ความมีเมตตาและความสามารถพิเศษ ถูกใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายทิศทางเหมือนหลวงพ่อคูณ ทั้งในประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มเอกชน และผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง แม้กระทั่งกลุ่มพระสงฆ์ด้วยกันเอง ท่ามกลางสังคมที่กำลังพัฒนาเข้าสู่ระบบทุนนิยมอย่างเต็มที่ตั้งแต่เริ่มสมัยรัฐบาลนายกพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ จนกระทั่งสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นช่วงเวลาที่เทคโนโลยีการสื่อสารและระบบทุนนิยมเข้ามามีบทบาทอย่างสูง สังคมไทยดูจะกำลังก้าวไปข้างหน้าสู่ยุคสมัยโลกาภิวัตน์ที่ปัญหาเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ดูเหมือนจะถูกกระแสทุนนิยมพัดพาไปไม่น้อย เพราะความเมตตาและความสามารถของท่านกลายเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้คนในสังคมมองเห็นผลประโยชน์ที่จะได้

หลวงพ่อคูณในกระแสทุนนิยม

ความดังของหลวงพ่อคูณเกิดขึ้นและกลายเป็นที่รู้จักของสังคมไทยเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมานี่เอง สมัยแรก ๆ  หลวงพ่อคุณเป็นที่เคารพนับถืออยู่ในวงจำกัดในกลุ่มนายทหารและประชาชนทั่วไปในเขตจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง  ความร่ำลือในความศักดิ์สิทธิ์ทางไสยเวทย์ทำให้หลวงพ่อเป็นที่รู้จักและเรียกร้องให้ประชาชนทั่วไปต้องการไปกราบไหว้หลวงพ่อ มีเรื่องเล่าว่า การใช้คำพูดกู-มึงแก่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชนชั้นใดของหลวงพ่อคูณทำให้ข้าราชการทหารชั้นผู้ใหญ่บางคนไม่กล้าเข้าหาด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีระบบการสื่อสารที่ทันสมัยโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่เข้าถึงพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้นแทนการเสนอข่าวที่กระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองหลวง ทำให้หลวงพ่อคูณกลายเป็นที่รู้จักแก่คนทั้งประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ มีรายการโทรทัศน์หลายช่องและพิธีกรชื่อดังหลายคนไปขอสัมภาษณ์ถึงวัดบ้านไร่ ภาษาซื่อ ๆ แบบคนต่างจังหวัด การใช้ถ้อยคำตรงไปตรงมาไม่มีชั้นวรรณะแบบชาวบ้าน ท่านั่งชันเข่าของคนบ้านนอกที่กลายมาเป็นของแปลกประหลาดมีลักษณะเฉพาะตัวของหลวงพ่อ  วัตรปฏิบัติที่ไม่เหมือนพระเกจิอาจารย์รูปใด ทั้งมีความแตกต่างจากพระภิกษุสงฆ์ที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่ มีวัฒนธรรมของชนชั้นในระบบสงฆ์รองรับ เป็นแรงดึงดูดชนชั้นกลางในเมืองและชาวบ้านทั่วไปหลั่งไหลไปยังวัดบ้านไร่เพื่อจะได้สัมผัสกับหลวงพ่อคูณอย่างใกล้ชิด

เคยมีข่าวในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 14 ต.ค. 2545 รายงานว่า บริษัทสร้างภาพยนตร์รายหนึ่ง สนใจทุ่มทุนกว่า 1 ล้านบาท แพร่เผยชีวประวัติตั้งแต่ยังวัยเยาว์ของหลวงพ่อคูณ  ในหนังเรื่องนี้จะมีฉากสำคัญที่ทำให้หลวงพ่อคูณกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป คือ มีฉากเหตุการณ์โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม ซึ่งเหตุการณ์จริงเกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2536 เหตุการณ์นั้นคร่าชีวิตผู้คนถึง 137 ศพ ทุพพลภาพอีกกว่า 200 ราย ในหนังจะถ่ายทำที่โรงแรมร้างในตัวเมืองโคราช มีหลวงพ่อคูณมาดูเหตุการณ์ และเกิดความเชื่อว่าคนที่ห้อยพระหลวงพ่อคูณแล้วรอดชีวิตจากเหตุการณ์โรงแรมมรณะ  ข่าวรายงานว่า ทีมผู้สร้างได้ทำการสำรวจและวิจัยถึงจุดสนใจของประชาชนทั่วไป พบว่ามีข่าวเกี่ยวกับพระสงฆ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่ค่อยดีกันมาก คิดว่าประเทศไทยเรามีพระเกจิดังที่มีประชาชนเคารพศรัทธาจึงทำให้คิดถึงหลวงพ่อคูณ เพราะท่านเป็นพระที่สร้างคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองมากมาย บริษัทจึงตั้งใจจะนำเสนอสิ่งที่ดีงามเพื่อเป็นความรู้แก่คนดู ให้ข้อคิดเตือนใจ  โดยมีงบประมาณในการสร้างก็ประมาณ 1 ล้านกว่าบาท หากไม่มีโรงฉายก็จะทำเป็นซีดีจำหน่ายความยาว 2 ช.ม.ใช้ภาษาโคราชทั้งหมด ขณะเดียวกันจะไม่มีการนำเสนอในแง่ของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใด ๆ  ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นตามรายงานข่าวนี้ ไม่ได้มีการฉายในโรงภาพยนตร์แต่ก็มีเผยแพร่ในรูป CD แต่ดูเหมือนจะไม่ประสบผลสำเร็จเพราะกลุ่มผู้สร้างไม่ได้เป็นมืออาชีพ เนื้อหาที่นำเสนอก็ไม่ได้มีอะไรที่น่าประทับใจไปกว่าที่อ่านจากหนังสือชีวประวัติของหลวงพ่อที่วางขายตามร้านหนังสือทั่วไป

หลวงพ่อคูณกลายเป็นช่องทางหนึ่งของระบบธุรกิจการค้า  เช่น บริษัททีทีแอนด์ทีนำเสนอบัตรโทรศัพท์ “หลวงพ่อคูณ” ออกมาจำหน่ายแก่ลูกค้าในเดือนเมษายน 2547 บัตรโทรศัพท์ "ทีการ์ด" ชุดหลวงพ่อคูณ เป็นการจารึกภาพอิริยาบถของหลวงพ่อคูณ  ลงบนหน้าบัตร แบ่งเป็น 4 แบบ ได้แก่ ชุด "กูให้โชคมึง" ชุด "กูให้มึงมีเงิน" ชุด "กูให้มึงมีทอง" และชุด "กูให้มึงมั่งมี" โดยทางบริษัทนิมนต์หลวงพ่อคูณเป็นผู้ประกอบพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว บัตรโทรศัพท์ที่นำมาปลุกเสกมีทั้งหมด 200,000 ใบ บรรจุในกล่องกระดาษ วางเรียงไว้ในวงสายสิญจน์เพื่อทำพิธี  ผู้บริหารทีทีแอนด์ทีกล่าวว่า ที่ทำทีการ์ดชุดหลวงพ่อคูณออกมาจำหน่ายก็เพราะว่า เมื่อลูกค้าใช้ประโยชน์จากการ์ดโทรศัพท์แล้ว ยังได้ภาพถ่ายหลวงพ่อคูณที่สวยงามเอาไว้กราบไหว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวอีกด้วย  นี่คือการบรรจบกันอันน่าแปลกประหลาดระหว่างความคิดสองแบบที่ไม่น่าไปกันได้ คือความเป็นสมัยใหม่ของสังคมทุนนิยมที่ตั้งอยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์กับความเชื่อดั้งเดิมของคนไทยที่มีแนวโน้มทางไสยศาสตร์

กรณีประโยชน์ทางการเมือง จะเห็นได้จากเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2547 นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นำคณะตรวจราชการและเยี่ยมเยียนประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นัยว่าเพื่อแสวงหาคะแนนนิยมจากประชาชนทั่วประเทศนั้น) วัดหลายแห่งได้รับเลือกให้เป็นจุดเยี่ยมประชาชนของนายกรัฐมนตรี หนังสือพิมพ์รายงานว่า วันที่ 24 เมษายน เวลา 18.30 น.คณะของนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางถึงวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โดยมีประชาชนมาให้การต้อนรับนับพันคน หลังจากนายกรัฐมนตรีเดินทักทายประชาชน ได้ขึ้นไปนมัสการหลวงพ่อคูณบนกุฎี พร้อมกับนายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา การพบกับหลวงพ่อคูณครั้งนั้นนายกรัฐมนตรีอ้างว่า หลวงพ่อคูณได้ขอให้นักการเมืองพรรคฝ่ายค้านที่มีชาวจังหวัดนครราชสีมาเป็นหัวหน้า รวมพรรคกับพรรคไทยรักไทยของนายกรัฐมนตรี ข่าวดังกล่าวก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า นายกรัฐมนตรีและนักการเมืองที่เกี่ยวข้องฉวยโอกาสแสวงหาการยอมรับจากประชาชนโดยใช้หลวงพ่อคูณเป็นข้ออ้าง (เครื่องมือ) ไม่ว่าคำวิจารณ์ดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ตามมาคือ พรรคการเมืองฝ่ายค้านพรรคดังกล่าวก็ได้มีมติยุบรวมกับพรรครัฐบาลในเวลาต่อมา

หลวงพ่อคูณดูจะกลายเป็น “แบรนด์เนม” ที่สามารถขายได้ในทุกสถานการณ์ กรณีคณะกรรมการจัดงาน 30 ปี 14 ตุลาคม ออกเหรียญที่ระลึก หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ รุ่น 'วันประชาธิปไตย' ให้เช่าบูชาก็ไม่ต่างกันกับกรณีบริษัททีทีแอนด์ที  ข่าวระบุว่า เหรียญที่ระลึกรุ่นนี้ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อคูณนั่งขัดสมาธิ ด้านหลังเป็นโลโก้ของงาน 14 ตุลาวันประชาธิปไตย คือรูปประชาชนยืนล้อมรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ด้านบนสุดมีนกพิราบโบยบินอยู่ 3 ตัว มีให้บูชากัน 4 แบบ มูลค่าการบูชาก็แตกต่างกันไปตามลักษณะและน้ำหนัก แพงสุดเป็น 'เหรียญทองคำ' (น้ำหนักประมาณ 20 กรัม) บูชาเหรียญละ 19,999 บาท  รองลงมา เป็น 'เหรียญเงินขัดมัน' (น้ำหนักประมาณ 15 กรัม) บูชาเหรียญละ 999 บาท  ถัดมาเป็น 'เหรียญทองแดงชุบทอง' (น้ำหนักประมาณ 13 กรัม) บูชาเหรียญละ 199 บาท  ส่วน 'เหรียญทองแดง' (น้ำหนักประมาณ 13 กรัม) บูชาเหรียญละ 99 บาท นอกจากนี้ยังมีผ้ายันต์พร้อมหนังสือประวัติการจัดสร้าง 99 บาท มีข้อสังเกตว่าผู้สร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณมักจะประกาศว่าพิธีพุทธาภิเษกกระทำขึ้น ณ วัดบ้านไร่ คำประกาศดังกล่าวนี้ไม่เพียงสะท้อนความเชื่อที่ว่าหลวงพ่อคูณเป็นบุคคลพิเศษเท่านั้นยังสะท้อนด้วยว่าวัดบ้านไร่เป็นสถานที่พิเศษอีกด้วย

หากจะมองจากชาวพุทธปัญญาชน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ย่อมเป็นที่ขัดเคืองแก่สายตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะกิจกรรมของหลวงพ่อคูณมีความใกล้ชิดและเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อเรื่องไสยเวทย์ การหาที่พึ่งจากรูปเคารพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวพุทธที่เข้าหาหลวงพ่อคูณมิใช่เพราะต้องการศึกษาหาความรู้ในเชิงวิชาการในพระไตรปิฎก แต่ต้องการเข้าหาเพื่อได้มาซึ่งสิ่งที่เขาคิดว่าสามารถพึ่งพิงได้โดยไม่ต้องออกแรงมากนัก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางโภคทรัพย์โดยการผนวกระบบทุนนิยมเข้ากับระบบความเชื่อดั้งเดิมของชาวพุทธไทยคือความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่หลวงพ่อคูณให้แก่คนทั่วไปย่อมแตกต่างจากสิ่งที่พระพุทธทาสภิกขุและพระธรรมปิฏกให้ไว้แก่สังคมอย่างแน่นอน สิ่งนี้สะท้อนออกมาให้เห็นได้จากการที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา จัดพิธีถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ แด่พระเทพวิทยาคมหรือหลวงพ่อคูณ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2547 การถวายปริญญาดังกล่าวแก่หลวงพ่อคูณก็เนื่องในโอกาสที่หลวงพ่อคูณได้ประกอบศาสนกิจบำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนาเป็นอเนกนานัปการ รวมทั้งการที่ท่านได้บริจาคเงิน 100 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารเรียนและอาคารวิทยบริการให้แก่ทางมหาวิทยาลัยนั่นเอง

ยังมีอีกมากที่หลวงพ่อคูณถูกใช้ประโยชน์จากธุรกิจและการรณรงค์เรื่องต่าง ๆ แม้กระทั่งที่เกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยของจราจร การเดินทางด้วยรถยนต์ หรือแม้กระทั่งการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในปัจจุบัน มีพระภิกษุสงฆ์บางรูปเท่านั้นเช่น พระพยอม กัลยาโณ (พระพิศาลธรรมวาที) เป็นต้น ที่ถูกภาครัฐนำไปเป็นตัวแทนโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องต่าง ๆ  แต่ไม่มีบริษัทหรือกลุ่มทุนเอกชนใด ๆ ใช้พระพยอมเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของตนได้ เนื่องจากพระพยอมได้วางตัวเองไว้ในสถานะที่กลุ่มทุนที่ผลหวังประโยชน์ไม่อาจจะทำเช่นนั้นได้ถนัดนัก แต่หลวงพ่อคูณนั้นแตกต่างออกไป ดูเหมือนหลวงพ่อคูณจะไม่มีแผนการใด ๆ สำหรับตัวเองในการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่มต่าง ๆ หากแต่ท่านสนองความต้องการของฆราวาสกลุ่มต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับที่สนองตอบต่อความต้องการของชาวบ้านทั่วไปที่เดินทางมาถึงวัดบ้านไร่ นอกจากนี้ หลวงพ่อคูณยังแตกต่างจากพระเกจิอาจารย์รูปอื่น ๆ ที่คนถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ตรงที่ในสายตาของคนทั่วไป หลวงพ่อคูณดูมีความศักดิ์สิทธิ์และมีความสูงส่งในด้านเรื่องความเมตตาและการดำรงตนในสมณภาวะอย่างเหมาะสมที่สุดเท่าที่จะพึงมีได้ ขณะเดียวกันก็มีความเป็นคนธรรมดาสามัญแบบชาวบ้านอยู่มาก  ความศักดิ์สิทธิ์ ความสูงส่ง และความสามัญแบบชาวบ้านดูจะลงตัวอย่างพอเหมาะพอดีในตัวหลวงพ่อคูณ    จึงทำให้ท่านกลายเป็นแรงดึงดูดมวลชนทุกระดับชั้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับพระภิกษุรูปใดมาก่อนในสังคมไทย

ดูเหมือนหลวงพ่อคูณจะเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้ความเชื่อทางไสยศาสตร์และคาถาอาคม ตลอดจนเรื่องอิทธิฤทธิ์แพร่กระจายไปยังมหาชน ผู้คนอาจตำหนิว่าท่านทำให้คนงมงายในไสยศาสตร์หรือความศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่การสร้างวัตถุมงคล การใช้ไสยเวทวิทยาคมและพิธีกรรมอื่น ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับความศักดิ์สิทธิ์ ดูจะขัดแย้งกับสิ่งที่ท่านต้องกล่าวอยู่เสมอ ในขณะที่หลายคนเชื่อว่าท่านศักดิ์สิทธิ์ มีคำร่ำลือต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์และความแคล้วคลาดจากภยันตรายด้วยวัตถุมงคลชิ้นเล็ก ๆ ที่ติดตัวไว้ยามประสบอันตราย หลวงพ่อคูณวางเฉยกับความศักดิ์สิทธิ์หรือคำร่ำลือดังกล่าว ท่านปฏิเสธทุกครั้งที่มีคนถามถึงคุณวิเศษในตัวท่าน นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยปรากฏมากนักในบรรดาพระเกจิอาจารย์ทั้งหลาย แม้กระทั่งในพระป่าที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอริยบุคคลแห่งยุคสมัยอย่างหลวงตามหาบัว  ญาณสัมปัณโณ แห่งวัดบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี

ในช่วงเวลาอันโดดเด่นของหลวงพ่อคูณ มีการเผยแพร่กลอนบทหนึ่ง ที่เราจะเห็นความนึกคิดของใครบางคนที่มีต่อสถานการณ์ของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ของผู้แต่งซ่อนอยู่ ขณะเดียวกันก็แสดงออกถึงการเย้ยหยันบรรดาชาวพุทธด้วยกัน แสดงออกซึ่งอารมณ์ขันและเห็นอกเห็นใจต่อหลวงพ่อคูณ ที่สำคัญบอกเล่าถึงวิถีพุทธแบบชาวบ้านผ่านตัวละครสำคัญคือหลวงพ่อคูณได้อย่างดี [12]

กูก็อยู่ ของกู อยู่ดีดี                           คนนั้นที คนนี้ที รี่มาหา
มากันจน ล้นวัด เปี่ยมศรัทธา             ราวกับว่า ทั้งจังหวัด มีวัดเดียว
มาให้กู โขกเขก มะเหงกงุ้ม               กูสุดกลุ้ม เปลี่ยนเป็นไม้ ให้หวาดเสียว
มันกลับดัง ขลังกว่า แห่มาเกรียว        กระทั่งเยี่ยว ยังแย่งจอง เป็นของดี
จะพร่ำบอก อย่างไร ไม่รับรู้               ว่าตัวกู มิได้ ประเสริฐศรี
มันกลับมอง ตัวกู ปูชนีย์                   ใช้เป็นที่ ดับร้อน ผ่อนลำเค็ญ
ขยับเขยื้อน เคลื่อนไหว เป็นใบ้หวย   สิบคนรวย ล้านคนจน ไร้คนเห็น
ไอ้สิบคน ก่นเล่า เช้ายันเย็น              กูเลยเป็น เซียนใบ้หวย ด้วยอีกคน
ท่านั่งยอง ของกู ก็หรูเฟื่อง               เป็นพระเครื่อง คณารุ่น วุ่นสับสน
บ้านจัดสรร กอล์ฟคลับ ยังสัปดน        ย่องนิมนต์ กูโปรโมท โฆษณา
บ้างเอากู เลี้ยมทอง ผุดผ่องใส          หวังใจให้ คุ้มกัน ผองปัญหา
แล้วเกิดกู เคราะห์กรรม กระหน่ำพา    ใครจะมา ช่วยดึง มึงคิดดู
ขนาดเก๋ง เยอรมัน คันเป็นล้าน           ชนสะท้าน ท้ายยุบ ก้นบุบบี้
ตัวกูจริง เสียงจริง ยังกลิ้งรู                นอนคุดคู้ รอมึงช่วย ด้วยเหมือนกัน

ในกรณีหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เราจะพบเห็นพลังบางอย่างที่พุทธศาสนาแบบปัญญาชนไม่สามารถมีได้ หลวงพ่อคูณได้รับการยอมรับนับถือไม่เพียงแต่คนชั้นล่างหรือชาวต่างจังหวัดเท่านั้น คนทุกระดับรู้จักและเคารพหลวงพ่อคูณ เราจะเห็นได้จากเมื่อหลวงพ่อคูณประสบอุบัติเหตุหรืออาพาธ ข่าวของหลวงพ่อคูณจะปรากฏในทันทีตามสื่อต่าง ๆ แม้กระทั่งในภาคข่าววิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์  ซึ่งจะเกิดขึ้นก็แต่กรณีพระภิกษุรูปสำคัญโดยเฉพาะสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะบางรูป พระสงฆ์อีกรูปหนึ่งที่มีการแถลงข่าวเรื่องการอาพาธจากทางแพทย์ก็คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่องนี้สะท้อนความนิยมต่อพระภิกษุสงฆ์บางรูปที่ถือว่าเป็นที่เคารพอย่างสูงของประชาชน ทำไมชาวพุทธทั่วไปจึงรู้สึก “เคารพนับถือ” หลวงพ่อคูณ แม้หากวัดกันตามเกณฑ์ที่พระปัญญาชนเสนอเป็นข้อกำหนดไว้ ท่านย่อมละเมิดกฎเกณฑ์ “การเป็นพุทธแท้” อย่างชัดเจน ท่านไม่เพียงแต่ไม่แสดงออกว่ามีความรอบรู้พุทธธรรมตามพระไตรปิฎก หากยังเป็นผู้นำในการทำให้เกิดการนับถือไสยศาสตร์อีกด้วย 

ผู้เขียนคิดว่ามีคำอธิบายของนิธิ  เอียวศรีวงศ์ ที่แม้จะเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับเกี่ยวกับความนิยมนับถือ“ลัทธิเจ้าแม่กวนอิม” แต่ก็ช่วยให้เราเข้าใจกรณีการนับถือหลวงพ่อคูณได้ชัดเจนขึ้น

6.  พลังของพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน

ตามคำอธิบายของนิธิ  เอียวศรีวงศ์  ศาสนาต่าง ๆ หรือศาสนาในยุคสมัยต่าง ๆ วางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเป้าหมายสูงสุดทางศาสนาไว้ต่างกัน  2 อย่างคือ เป้าหมายทางศาสนาเป็นสิ่งที่อยู่เหนือโลก (transcendental) และเป้าหมายทางศาสนาเป็นสิ่งที่อยู่ในโลกหรือใกล้ชิดกับโลก (immanent) กรณีศาสนาที่นับถือพระเป็นเจ้า ถ้าพระเจ้าเป็นสิ่งที่อยู่เหนือโลก มนุษย์ก็ไม่มีทางติดต่อกับพระองค์ได้ตามเจตจำนงของตนได้แต่ปฏิบัติตามคำสอนและพิธีกรรมไปอย่างเคร่งครัดเท่านั้น ไม่ควรเอาตัวไปเทียบเทียมกับพระองค์ ในทางตรงกันข้าม ถ้าพระเจ้าเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวหรือในตัวเขาเอง มนุษย์ย่อมสามารถเข้าหาพระองค์ได้ด้วยตนเอง สามารถบอกคำและวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์ จนถึงที่สุดก็สามาถรู้จักพระองค์ที่แท้จริงได้  หรือถ้ามองพระนิพพานว่าเป็นสิ่งที่อยู่พ้นออกไปจากปกติวิสัยของมนุษย์ทั่วไป บทบาทของมนุษย์ในแต่ละชาติภพก็คือการสั่งสมบุญบารมีเพื่อก้าวไปอย่างช้า ๆ จนกว่าจะบรรลุพระอริยผล แต่ถ้าเห็นพุทธะอยู่ในใจของตนเอง มนุษย์ย่อมสามารถเรียนรู้สภาวะพุทธะนั้น และตรัสเป็นพุทธะได้ด้วยตนเอง เพียงแต่ต้องใช้ปัญญาให้ถูกต้องเท่านั้น 

แม้ว่าการวางเป้าหมายทางศาสนาดังกล่าวนี้แตกต่างกันเป็นตรงกันข้าม แต่ทุกศาสนาก็มีนิกายหรือกิ่งของคำสอนที่คลุมทั้งสองด้านเช่นนี้เสมอ นิกายสุหนี่ของอิสลามอาจวางพระเจ้าไว้ที่เหนือหรือพ้นจากโลก อันเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าถึงพระองค์ได้เอง แต่อิสลามก็มีนิกายซูฟีซึ่งวางพระเจ้าไว้ในจิตใจของมนุษย์ และการเข้าถึงพระองค์คือการทำสมาธิเพื่อมองลึกลงไปในจิตใจของตนเอง คริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกวางพระเจ้าไว้เหนือโลก นิกายโปรเตสแตนต์วางพระเจ้าไว้ทั่วไปหมดในที่ทุกแห่ง และใคร ๆ ก็สามารถรับพระเจ้ามาสู่จิตใจของตนได้ ในพุทธศาสนาอาจกล่าวอย่างกว้าง ๆ ได้ว่า เถรวาทแบบไทย-ลังกา วางพระนิพพานหรือพุทธะไว้ไกลจากโลก ในขณะที่มหายานหลายนิกายมองเห็นพุทธะอยู่ทั่วไป และอาจบรรลุพุทธภูมิได้ในใจของตนเอง อย่างไรก็ตาม ถ้าวิเคราะห์ให้ถึงที่สุดแล้ว ทุกศาสนาก็มักให้ความสัมพันธ์ของสาวกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดไว้ทั้งสองด้านพร้อมกันไม่ในรูปใดก็รูปหนึ่ง อย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการทั้งสิ้น

ในพุทธศาสนาแบบไทยนับแต่โบราณมานั้น ศาสนิกชนอาจรู้สึกสัมพันธ์กับ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”             ทั้งหลายได้ในสองด้านพร้อมกัน ทางด้านพุทธนั้น เป้าหมายสูงสุดของศาสนาอยู่พ้นโลกหรือเหนือโลกสัญลักษณ์ของแนวคิดเช่นนี้ที่เห็นได้ชัดก็คือปฏิมาณวิทยาของพุทธศิลป์ไทย พุทธปฏิมาของไทยนั้นเป็นภาพของความสงบ, ความหลุดพ้นและอยู่เหนือโลก คนจะรู้สึกปลอดภัยและสงบที่จะเข้าใกล้ แต่พระพุทธรูปไม่ใช่ภาพที่โน้มลงมาหาโลก (เปรียบเทียบกับปฏิมากวนอิมที่แสดงลักษณะ “เหนือโลก” ไปพร้อมกับการโน้มลงมาช่วยโลกหรืออยู่ “ในโลก” เช่น ท่าอุ้มเด็ก) แต่ในอีกด้านหนึ่งคือด้านผี ก็อาจกล่าวได้ว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ในระบบความเชื่อของไทยนั้นอยู่ “ในโลก” นี้เอง ใกล้ชิดกับคนทั่วไปอาจวิงวอนร้องขอหรือบนบานศาลกล่าวอย่างไรก็ได้ เครื่องรางของขลังหรือแม้แต่พระเครื่องก็เป็น “ผี” ในความหมายนี้เช่นกัน และน่าสังเกตว่าชื่อที่ใช้เรียกพระเครื่องนั้นเป็นชื่อที่ส่อไปในทาง “โลกย์” ๆ ทั้งสิ้น เช่น พระร่วงรางปืน, ขุนแผน, กำแพงเขย่ง, นางพญา ฯลฯ แม้ว่าภาพพิมพ์ที่ปรากฎจะมีลักษณะทางปฏิมาณวิทยาเดียวกับพระพุทธรูปทั่วไปก็ตาม

แต่ผีในระบบความเชื่อของไทยถูกขจัดออกไปในพุทธศาสนาที่เป็นทางการ แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วพระภิกษุในพุทธศาสนาเข้ามาพัวพันกับการค้า “ไสยศาสตร์” อย่างมากก็ตาม แต่ในทางทฤษฎีแล้วถือว่าอยู่นอกคำสอนของพุทธศาสนาของไทย ฉะนั้นในระบบความเชื่อของไทยปัจจุบันโดยเฉพาะที่เป็นทางการจึงขาดด้านของความใกล้ชิดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ “ไสยศาสตร์” ทุกรูปแบบเฟื่องฟูสุดขีดในยุคปัจจุบัน เพราะ “ไสยศาสตร์” ทำให้ผู้นับถือได้อยู่ใกล้ชิดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และคงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการความอบอุ่นในแง่นี้

ตามความเห็นของนิธิ เอียวศรีวงศ์ พุทธศาสนาของไทยแต่โบราณมอบประสบการณ์ทางศาสนาในลักษณะสองด้านนี้ คือสำนึกความเป็นชุมชนร่วมกันไปกับประสบการณ์ทางศาสนาที่เป็นปัจเจก แต่ในสมัยหลัง ๆ ความสามารถของวัดในการมอบสองสิ่งนี้ลดน้อยถอยลง (ด้วยเหตุผลหลายอย่าง) สำนึกของความเป็นชุมชนนั้นแทบจะหายไปหมดเลย เพราะวัดเองก็แทบจะกลายเป็นส่วนราชการชนิดหนึ่ง และไม่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอีกแล้ว วัดหรือกลุ่มเคลื่อนไหวในศาสนาที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน จึงเป็นวัดหรือกลุ่มเคลื่อนไหวที่พยายามปรับเปลี่ยนกิจกรรมเพื่อมอบสองสิ่งนี้ให้แก่คนสมัยใหม่ หรือย่างน้อยก็มอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสองอย่างนี้ ดังเช่นสำนักวัดป่าในภาคอีสาน, สำนักธรรมกาย และสันติอโศก เป็นต้น

หากดูลัทธิพิธีและลัทธิความเชื่อที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันอย่างดกดื่นแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าสังคมไทยกำลังปรับระบบความเชื่อของตนอย่างมโหฬาร ไม่ต่างไปจากเมื่อสมัยพุทธศตวรรษที่ 18–19 ที่พุทธศาสนานิกายเถรวาทจากลังกาแพร่หลายเข้ามา ความแตกต่างระหว่างสองสมัยนี้อยู่ที่ว่า ในศตวรรษที่ 18–19 ศาสนาที่ขยายเข้าสู่ระบบความเชื่อของไทยนั้น มีที่มาจากจารีตทางศาสนาที่อุดมมั่งคั่ง กล่าวคือ มีกระแสของปัญญาชนและตำรับตำราอันเก่าแก่เป็นตัวกำกับอยู่ มีองค์กรศาสนาที่จัดระเบียบภายในอย่างดีเป็นหลักในการเผยแพร่ มีสำนักศึกษาซึ่งสืบทอดภูมิปัญญาจากต้นกำเนิดในลังกากระจายอยู่ในอาณาบริเวณที่กว้างขวาง อีกทั้งยังมีขนบประเพณีขององค์กรศาสนานั้นที่มั่นคงสืบมา ในขณะที่การเกิดลัทธิพิธีและลัทธิความเชื่อในยุคปัจจุบันไม่ได้สืบทอดจารีตทางศาสนาที่มั่งคั่งอย่างนั้น แม้แต่บางนิกายของคริสต์ศาสนาที่เคยแพร่หลายในเมืองไทย ก็เป็นนิกายที่ชาวคริสต์เองตั้งข้อรังเกียจ หรือเจ้าสำนักมีเรื่องอื้อฉาวจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลในต่างประเทศ อีกหลายลัทธิพิธีและลัทธิความเชื่อเกิดขึ้นในเมืองไทยนี้เอง โดยแตกแขนงมาจากไสยศาสตร์แบบไทย แต่ไสยศาสตร์ไทยในฐานะสถาบันความเชื่อกำลังเสื่อมคุณค่าลง

แม้ว่าไสยศาสตร์จะเป็นจารีตทางความเชื่อที่เก่าแก่และมั่งคั่งที่สุดอย่างหนึ่ง แต่ไสยศาสตร์ในเมืองไทย ไม่มีองค์กรของตนเองที่จะสืบทอดภูมิปัญญาจากอดีตได้อย่างเป็นระบบ ตั้งมั่นและมีคุณค่าแก่สังคมไทยในสมัยโบราณได้ก็โดยอาศัยแรงค้ำจุนจากองค์กรพุทธศาสนาและรัฐ ฉะนั้นไสยศาสตร์ไทยจึงเป็นเทคโนโลยีที่มีศีลธรรมของพุทธศาสนากำกับตลอดมา ไม่ใช่หนทางที่จะบรรลุความสำเร็จทางโลกย์ล้วน ๆ แต่ไสยศาสตร์ก็ตกจากสถานะที่เคยเป็นมาเมื่อมีการปฏิรูปพุทธศาสนาในศตวรรษที่แล้ว นับจากนั้นมาไสยศาสตร์ไทยก็เริ่มเหินห่างจากศีลธรรมของพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นเทคโนโลยีล้วน ๆ สำหรับสนองกิเลสตัณหาของมนุษย์เพียงอย่างเดียว

สำหรับนิธิ การปฏิรูปศาสนาที่ของรัฐที่อิงอาศัยฐานคติแบบเหตุผลนิยมและวิทยาศาสตร์นั่นเองที่นำไปสู่การเฟื่องฟูของไสยศาสตร์อย่างสมัยปัจจุบัน นิธิอธิบายเรื่องนี้ว่า การปฏิรูปศาสนาที่กระทำกันนับตั้งแต่ ร.3 มาจนถึงสมัยปฏิรูปการบริหารประเทศ มีจุดมุ่งหมายในระยะแรกเพื่อเผชิญกับการท้าทายของศาสนาคริสเตียนกับวิทยาศาสตร์ ในสมัยหลังก็เพื่อสถาปนาพระราชอำนาจอย่างเด็ดขาดเหนือองค์กรคณะสงฆ์ การปฏิรูปศาสนาไม่ใช่เพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งยังไม่เกิดขึ้น และย่อมไม่มีใครมองเห็นได้เป็นธรรมดาในระหว่างที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ 2500 เป็นต้นมา กระบวนการปฏิรูปศาสนาได้ยุติไปแล้ว เกิดสูตรสำเร็จที่รัดกุมในอันที่จะให้อำนาจรัฐในการควบคุมองค์กรคณะสงฆ์ไว้อย่างหนาแน่น ในขณะเดียวกัน ก็มีกลไกการปกครองและอำนาจรัฐในองค์กรคณะสงฆ์เองที่จะควบคุมไม่ให้พระศาสนาถูกปรับเปลี่ยนอะไรได้มากไปกว่าควรลองแคบๆ ที่ได้วางไว้อย่างลงตัวแล้วในการปฏิรูปศาสนาเมื่อในอดีต นับตั้งแต่ระยะแรกๆ การปฏิรูปศาสนาโน้มเอียงไปในทางเหตุผลนิยม (Rationalism) ยิ่งมาถูกท้าทายด้วยคริสต์ศาสนาซึ่งผ่านยุคสมัยของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์มาแล้ว การปฏิรูปศาสนาของไทยก็ยิ่งเน้นลักษณะ “เหตุผลนิยม” ของพุทธศาสนามากขึ้น ทำให้พุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยต้องหย่าขาดจาก “ไสยศาสตร์” มากขึ้นทุกที

ระบบความเชื่อของไทยแต่เดิมมามีส่วนผสมสำคัญระหว่างพุทธศาสนากับ “ไสยศาสตร์” ซึ่งประกอบด้วย ความเชื่อเกี่ยวกับผีนานาชนิด และความสามารถในการใช้เวทมนตร์ พิธีกรรม การเสี่ยงทาย เพื่อบรรลุจุดประสงค์ในทางโลกย์ พุทธกับผีสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทย เพราะต่างฝ่ายต่างเอื้อต่อความเชื่อของกันและกันมากกว่าการเผชิญหน้าเพื่อหักล้างกัน แต่สถานการณ์ทางศาสนาในระยะหลังเปลี่ยนไป พุทธกับผีอยู่ร่วมกันได้ยากขึ้น เนื่องจากพุทธศาสนาเริ่มขีดเส้นพรมแดนกำหนดเนื้อหาของศาสนาให้ชัดเจน สามารถรู้ได้แน่ชัดว่าอะไรเป็นพุทธ อะไรไม่ใช่พุทธ (ตามอิทธิพลของคริสต์ศาสนาสมัยใหม่จากตะวันตก) ภายในพรมแดนที่ชัดเจนซึ่งขีดขึ้นใหม่นี้ ผีไม่มีบทบาทอะไรอยู่ในนั้นเลย ซ้ำในบางกรณียังถือว่าเป็นอริกับการเข้าถึงเป้าหมายหลักของพุทธศาสนาเสียอีก จากนั้นเป็นต้นมาไสยศาสตร์ก็อยู่ร่วมกับพุทธศาสน์อย่างอีหลักอีเหลื่อทั้งสองฝ่าย พุทธศาสนาที่เป็นทางการกลายเป็นเพียงส่วนเดียวของระบบความเชื่อของคนไทย อีกส่วนหนึ่งคือไสยศาสตร์ไม่สามารถรวมกันอย่างกลมกลืนกับพุทธศาสนาดังที่เคยเป็นมาในอดีตได้ ไสยศาสตร์ก็ตกต่ำลงกลายเป็นเทคโนโลยีที่ไร้ศีลธรรมกำกับ นอกจากนี้ยังทิ้งปัญหาในทางจิตใจให้แก่คนไทยอีกมาก เช่น การที่พุทธศาสนาที่เป็นทางการไม่มีมิติของความ “ใกล้ชิด” หรือโลกียะสำหรับปลอบประโลมใจศาสนิกชน โดยความเปลี่ยนแปลงของสังคมวัดไม่ใช่ศูนย์กลางของชุมชนอีกต่อไป “ชุมชน” ที่เกิดขึ้นใหม่ในเมืองอีกหลายรูปแบบ เป็นชุมชนที่ไม่สัมพันธ์กับวัดแต่อย่างใดทั้งสิ้น

จะว่าไปแล้ว มิติทางอารมณ์ความรู้สึก (Emotional dimension) เป็นมิติสำคัญที่ช่วยให้ศาสนามีความสมบูรณ์ ชาวพุทธชื่นชมในความเป็นสัพพัญญูของพระพุทธเจ้า แต่ความเป็นสัพพัญญูของพระองค์จะไร้ประโยชน์อย่างมาก หากไม่มีพระมหากรุณาที่จะอำนวยความพ้นทุกข์ให้แก่สรรพสัตว์ ความรู้สึกที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงมีเมตตาและทรงช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ต่างหาก ที่ช่วยให้การเป็นศาสนิกชนมีความหมาย เพราะการดำรงอยู่และความเป็นไปของศาสนาสร้างความหวังด้านการดำรงชีวิตปัจจุบันของมวลมนุษย์ แต่ในมิติของพุทธศาสนาเถรวาท ด้านอารมณ์ความรู้สึกนั้นถูกกล่าวถึงน้อยกว่าด้านสติปัญญา กระนั้นก็ตามในชีวิตจริง ชาวพุทธก็มีทางออก เพราะมิติความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนานั้น ได้แสดงตัวผ่านความเชื่อในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และพระเกจิอาจารย์ที่ทรงศีล มีฌานสมาบัติและมีปฏิปทาสูงส่ง พระเกจิอาจารย์และความเชื่อเชิงไสยศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงผูกพันระหว่างพระพุทธเจ้าผู้ทรงปรินิพพานแล้วกับศาสนิกชนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  การดำรงอยู่ของพระเกจิและอำนาจศักดิ์สิทธิ์เชิงไสยศาสตร์ ทำให้ชาวบ้านมองเห็นความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ในเชิงความรู้สึกอันเป็นรูปธรรรมอย่างมากระหว่างตนเองกับพุทธศาสนา

ตามคำอธิบายของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ไสยศาสตร์เป็นด้านที่เกี่ยวกับ “ความรู้สึก” ทางศาสนา ส่วนนี้ของพุทธศาสนาไทยหลังการปฏิรูปถูกเพิกถอนไปเป็นอันมาก คนรู้สึกว่าต้องมีพันธะต่อสิ่งดีงามถูกต้องอย่างแข็งขัน เช่น ความยุติธรรม ความซื่อสัตย์ ฯลฯ ไม่ใช่เพราะเหตุผลว่าสิ่งดีงามถูกต้องนี้ควรต้องยึดถือ เพื่อความเจริญและสงบของสังคม หรือสอดคล้องกับหลักธรรมอันสูงส่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความรู้สึกผูกพันต่อสิ่งเหล่านี้ในทางจิตใจด้วย กล่าวคือเห็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามว่ามีส่วนของความ “ศักดิ์สิทธิ์” เพราะเป็นคำสอนของพระศาสดา หรือเป็นคำสั่งของเทพเจ้าที่ตนนับถือ หรือหากไม่ทำตามแล้วย่อมเป็น “บาป”ศาสนาที่ไร้ “ไสยศาสตร์” ก็กลายเป็นศาสนาที่ไร้ความรู้สึก ไม่มีพลังที่จะผูกพันผู้คนไว้กับหลักธรรมคำสอนอย่างมั่นคง ดังจะเห็นพลังที่อ่อนแอลงของศาสนาต่าง ๆ ในโลกวิทยาศาสตร์ของปัจจุบันนี้ได้ดี

จากคำอธิบายนี้น่าจะช่วยให้เราได้ภาพชัดเจนขึ้นว่า พุทธศาสนาแบบชาวบ้านมีพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนาแบบปัญญาชนปฏิเสธ การปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวทำให้พุทธศาสนาแบบปัญญาชนไม่อาจจะตอบสนองความต้องการของคนจำนวนมากที่มีความปรารถนาแบบโลกย์ ๆ ความต้องการด้านนี้เองที่หลวงพ่อคูณมี ในขณะที่อำนวยความศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยเสริมพลังชีวิตไว้ต่อสู้กับโลกหลวงพ่อคูณก็เป็นบรรพชิตที่ได้ชื่อว่ามีศีลวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด มีสถาบันพุทธศาสนารองรับความศักดิ์สิทธิ์ภายในนั้นด้วย ดังนั้นไม่ว่าเราจะมองหลวงพ่อคูณในแง่มุมใด สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือพลังพุทธศาสนาแบบชาวบ้านนั้นเป็นพลังที่มีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อมวลชน เป็นจุดต่อเติมหรือเสริมส่วนที่พุทธศาสนาแบบปัญญาชนให้แก่ชุมชนไม่ได้  พลังของพุทธศาสนาแบบปัญญาชนอยู่ที่ความเป็นเหตุเป็นผล สิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ ความเข้มแข็งทางปัญญาหรือเหตุผล แต่พลังของพุทธศาสนาแบบชาวบ้านอยู่ที่ความเชื่อความศรัทธาต่อสิ่งที่มองไม่เห็นพิสูจน์ไม่ได้ด้วยประสาทสัมผัส เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก พลังของพุทธศาสนาแบบชาวบ้านมีทั้งแง่ดีและแง่ลบ ที่สำคัญคือมันช่วยตอบสนองความต้องการบางอย่างของชุมชนในลักษณะที่พุทธศาสนาแบบปัญญาชนและรัฐไม่สามารถตอบสนองได้ ไม่ว่าจะในแง่ของความเชื่อทางศาสนาหรือวัตถุธรรม

เหล่านี้อาจช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่า กรณีพระเกจิอาจารย์อย่างหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ หรือพระเทพวิทยาคม วัดบ้านไร่ ไม่ใช่กรณีอาจมองข้ามและหมิ่นแคลนได้ง่าย ๆ ว่าขาดมิติอันถูกต้องของความเป็นพุทธศาสนาอย่างที่ปัญญาชนเข้าใจ แต่มิติแบบชาวบ้านที่ดำรงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนาที่ใช้กรณีหลวงพ่อคูณเป็นตัวอย่างนั้น ได้แสดงให้เห็นมิติที่มีความลึกซึ้งในเชิงปรัชญาและโลกทัศน์ทางศาสนา ที่ในที่สุดแล้วอาจเป็นมิติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าใจและการดำรงอยู่ของศาสนาต่าง ๆ เพราะนั่นคือมิติที่ความผูกพันเชื่อมโยงกันระหว่างความจริงสูงสุดทางศาสนากับวิถีชีวิตประจำวันจะได้แสดงตัวออกมาให้ปรากฏเห็นอย่างเป็นรูปธรรม

******************

เอกสารอ้างอิง

  • พระธรรมปิฎก, (ป.อ. ปยุตโต). พุทธธรรม. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2538.  
  • พระไพศาล  วิสาโล, พระธรรมปิฎกกับอนาคตของพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ :
  • กองทุนวุฒิธรรมเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม, 2542.    
  • พระธรรมปิฎก, สถานการณ์พระพุทธศาสนากระแสไสยศาสตร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ครุสภา ลาดพร้าว,
  • 2540.
  • ภัทรพร สิริกาญจน, "เกิดกับตาย" เอกสารการสอนชุดวิชา ไทยศึกษา หน่วยที่ 1-6.
  • มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  สาขาศิลปศาสตร์, 2539.
  • นิธิ  เอียวศรีวงศ์, “ลัทธิพิธีเจ้าแม่กวนอิม” ศีลปวัฒนธรรม 10 (สิงหาคม 2537) : 79-106
  • เอดเวิร์ด คอนซ์, พุทธศาสนา : สาระและพัฒนาการ. นิธิ  เอียวศรีวงศ์ แปล. พิมพ์ครั้งที่ 3. สำนักพิมพ์มติชน, 2552
  • http://www.bkknews.com/weekend/20030903/wec17.shtml เข้าถึงเมื่อ 4 กันยายน 2546

หมายเหตุผู้เขียน

ข้อมูลเรื่องเล่าเกี่ยวกับหลวงพ่อคูณในบทความนี้นำมาจากเวบไซต์ที่เผยแพร่อยู่ในช่วงปีที่หลวงพ่อคูณได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากความเลินเล่อของผู้เขียนเองที่ไม่ได้จดแหล่งอ้างอิงเหล่านั้นพร้อมทั้งวันที่เข้าถึงข้อมูลนั้น ๆ ข้อผิดพลาดประการใด ๆ จึงขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียวและขออภัยแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่นำมาใช้ประโยชน์แต่ไม่อาจอ้างถึงไว้ในบทความนี้ด้วย

 

อ้างอิง

  1. พระธรรมปิฎก,(ป.อ.ปยุตโต). พุทธธรรม. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2538. หน้า 424  พระไพศาล วิสาโล เขียนไว้ว่า (ในทัศนะของพระธรรมปิฎก) “แม้กระทั่งคนในสังคมปัจจุบันก็ควรถือเอาความเป็นโสดาบันซึ่งเป็นอริยผลขั้นต่ำเป็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิต ท่านเป็นบุคคลแรกก็ว่าได้ที่ชี้ชัดว่าความเป็นโสดาบันไม่เพียงแต่จะเหมาะสำหรับชีวิตของคนในยุคนี้เท่านั้น หากยังเป็นที่ต้องการของสังคมปัจจุบันด้วย” (โปรดดู พระไพศาล วิสาโล, พระธรรมปิฎกกับอนาคตของพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : กองทุนวุฒิธรรมเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม, 2542. หน้า 19)  
  2. เรื่องเดียวกัน, หน้า 424-426
  3. พระธรรมปิฎก, สถานการณ์พระพุทธศาสนากระแสไสยศาสตร์. กรุงเทพฯ : ครุสภา ลาดพร้าว, 2540. หน้า 17-26
  4. เรื่องเดียวกัน, หน้า 17
  5. เรื่องเดียวกัน, หน้า 23
  6. เรื่องเดียวกัน,  หน้า 25-26
  7. ภัทรพร สิริกาญจน, "เกิดกับตาย" เอกสารการสอนชุดวิชา ไทยศึกษา หน่วยที่ 1-6. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  สาขาศิลปศาสตร์, 2539. หน้า 1-44  ภัทรพรให้คำจำกัดความไว้ว่า  วิถีชีวิตแบบชาวบ้าน หมายถึง วิถีชีวิตหรือแนวทางการดำเนินชีวิตที่คนส่วนใหญ่นิยมปฏิบัติตามกันมาโดยไม่คำนึงถึงข้อกำหนดของรัฐ และแก่นคำสอนในทางศาสนา แต่คำนึงถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความสะดวกสบายในการปฏิบัติและความสามัคคีของชุมชนเป็นหลัก  วิถีชีวิตแบบชาวบ้านไม่ต้องอาศัยการศึกษา การวิเคราะห์ขั้นสูงของปัญญาชน หรืออาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และความเจริญทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและอาศัยความเชื่อมั่นศรัทธามากกว่าการพยายามหาหลักเกณฑ์เพื่อวิเคราะห์ด้วยเหตุผล (เรื่องเดียวกัน, หน้า 6) ส่วนวิถีชีวิตแบบปัญญาชน หมายถึง แนวทางการดำเนินชีวิตตามจารีตประเพณีหรือหลักการบางประการอันเป็นวิถีชีวิตมาตรฐานของสังคม เป็นแบบฉบับที่สมาชิกของสังคมควรประพฤติปฏิบัติตาม ปัญญาชนมักเป็นผู้มีการศึกษาอบรมดีกว่ากลุ่มที่มีวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน และเป็นผู้ที่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมตามแนวทางที่รัฐได้วางไว้ เกี่ยวกับพุทธศาสนา พุทธปัญญาชนจะเชื่อมั่นในความรู้ความเข้าใจของตนต่อหลักพุทธศาสนา (เรื่องเดียวกัน, หน้า 18)
  8. เรื่องเดียวกัน, หน้า 14-15 (การเน้นเป็นของผู้เขียน)
  9. เรื่องเดียวกัน, หน้า 19 (การเน้นเป็นของผู้เขียน)
  10. ดูเอดเวิร์ด คอนซ์, พุทธศาสนา : สาระและพัฒนาการ. นิธิ  เอียวศรีวงศ์ แปล. พิมพ์ครั้งที่ 3. มติชน, 2552. บทที่ 3
  11. ข้อมูลจาก http://www.bkknews.com/weekend/20030903/wec17.shtml เข้าถึงเมื่อ 4 กันยายน 2546 [บทกลอนนี้ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง จึงขออภัยที่ไม่อาจอ้างถึงผู้แต่งในที่นี้ได้]
  12. นิธิ  เอียวศรีวงศ์, “ลัทธิพิธีเจ้าแม่กวนอิม” ศีลปวัฒนธรรม 10 (สิงหาคม 2537) : 79-106 โดยเฉพาะหน้า 97-106

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์​ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร ภาพ: banksy
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุนกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
บทล้อ irony พุทธทาส (ธรรมะเผด็จการ/ธรรมะครอบจักรวาล)
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎรพระวีระธุ พระภิกษุชาวพุทธที่เดินหน้ารณรงค์ต่อต้านมุสลิมในพม่า
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร