Skip to main content
หลัง ธาหมวด แป่โป่ แปซวย แล้ว ก็จะต่อด้วย ธาหมวดโข่เส่ คะมอ ตามด้วย หมวดโดยมีเด็กชายนำการเดินวนอยู่เหมือนวันแรก  และหมวด ธาปลือลอ ได้เริ่มถูกขับขานต่อจาก หมวดโข่ เส่ คะมอ ต่อด้วย หมวด เชอเกปลือ  หมวดฉ่อลอ หมวดแกวะเก  หมวดธาชอเต่อแล


จากนั้น หมวดธาเดาะธ่อ จึงเริ่มขึ้นอีกครั้งพร้อมกับการกลับมาอย่างแน่นขนัดของหนุ่มสาวเช่นเดิม เมื่อธาเดาะธ่อหรือเริ่มต้นมาแล้ว ก็จะมีหมวดธา เดาะแฮ
, หมวด ธาเดาะเหน่,หมวด ธาลอบะ ,หมวด ธา ลอกล่อ ซึ่งล้วนแต่เป็น ธา หน่อ เดอ จ๊อหรือธา หนุ่มสาว ซึ่งตั้งแต่ ธา หมวด เดาะธ่อ เป็นต้นไป ถือว่าเป็น เพลงธา ที่สามารถขับขานเป็นปกติได้ทุกโอกาส ทุกสถานที่ ไม่มีการห้ามแต่อย่างใด 

แต่สำหรับ หมวดเลปลือแหมะ, หมวด ธาแหน่หมื่อ เหน่ลา, หมวดธาโข่เส่ คะมอ, หมวดธาปลือลอ, หมวดเชอเกปลือ , ธา หมวดฉ่อลอ ,หมวดธาชอเต่อแล  ถือเป็นเพลงธาสำหรับร้องสวดในงานศพโดยเฉพาะ  และต้องขับขานเฉพาะเวลา และสถานที่ ที่มีงานศพเท่านั้น  ไม่สามารถขับขานนอกเหนือจากนั้นได้  ถือเป็นเพลงธาที่อัปมงคล  หากเหตุการณ์ เวลาที่ปกติ ถือเป็นเพลงธาต้องห้ามก็ว่าได้

ณ หมู่บ้านปกาเกอะญอ บ้านทุ่งหลวง ต.แม่วิน อ.แม่วาง เชียงใหม่  กลุ่มชุมชนคนรักป่าร่วมกับกลุ่มละครมะขามป้อม จัดกิจกรรมให้เด็กปกาเกอะญอในชุมชนซ้อมการเล่นละครเพื่อไปแสดงในงาน "มหกรรมเสียงเผ่าชนคนต้นน้ำครั้งที่ 3" โดยมีการหยิบเอา นิทานพื้นบ้านเรื่อง "หน่อหมื่อเอ" ซึ่งเป็นเรื่องที่สาวงามที่ถูกงูใหญ่รัดตัวเพื่อเอาไปมาทำเป็นเมียในพรงของงู  ซึ่งในฉากหนึ่งของการแสดงนั้นมีงานศพของหน่อหมื่อเอ เพื่อให้สมจริงจึงมีการใส่ฉากเพลงแห่ศพเข้าไปในละครด้วย ผมจึงถูกเรียกให้ช่วยไปสอนเพลงแห่ศพ จึงต้องหยิบเอา ธาปลือไปสอนนักแสดง

ก่อนการสอน ผมพยายามไปหาฮี่โข่ ซึ่งเป็นผู้นำทางขวัญและวิญญาณของชุมชน
"พาตี่(ลุง) ผมสามารถสอน ธาปลือ ในหมู่บ้านได้หรือเปล่าครับ" ผมถามฮี่โข่ ท่าทางเขาลังเลนิดหนึ่ง  ก่อนจะตอบว่า
"ผมคิดว่า......น่า...จะได้นะ แต่ให้ไปสอนที่ศาลาชุมชน คงไม่เป็นอะไรหรอกมั้ง?" เขาตอบผม

ผมไม่แน่ใจว่า เขาเกรงใจผมหรือเขาคิดว่าคงไม่เป็นไรจริงๆ แต่เมื่อผมได้รับไฟเขียวจากฮี่โข่ ผมก็ลงมือสอนเยาวชนปกาเกอะญอที่แสดงละครทันที  เสียง ธาปลือ ดังจากศาลาหมู่บ้าน  ชาวบ้านมาชะเง้อมองดูการซ้อมเพลงธา ปลือ เพื่อแสดงละครของเราอย่างแปลกๆ  แต่เมื่อเห็นว่าเป็นการแสดงละคร ทุกคนต่างไม่ว่าอะไร

สองวันผ่านไป  ผมตื่นมาในตอนเช้าวันที่สาม แล้วไปธุระส่วนตัวตามปกติ จากนั้นทานข้าวเช้าเสร็จเตรียมตัวขึ้นไปที่ศาลาชุมชนเพื่อสอนเพลง ธาปลือต่อตามแผนที่วางไว้  ขณะที่ผมกำลังเดินลงบันไดเพื่อไปที่ศาลาชุมชน พร้อมกับเยาวชนที่มารอเต็มหัวบันได ก็มีชายอาวุโสคนหนึ่งเดินเข้ามาหา

"โพโดะ (หลาน) ไม่ต้องไปสอนที่ศาลาแล้ว คืนนี้ไปที่บ้านผมเลย" เขาพูดด้วยสีหน้าตื่นเต้นปนเศร้า
"พูดไปเรื่อย จะร้องธา ปลือที่บ้านได้ไง มันไม่ดี" แม่เฒ่าที่ผมพักอยู่ที่บ้านเขาร้องทัก
"ไม่เป็นไร ก็พี (ยาย) ลอเคาะ เพิ่งสิ้นลมเมื่อเช้านี้เอง" หลังจากเขาพูดจบทุกคนจึงร้องอ๋อ บ้างก็ทำหน้าตกใจ บ้างก็ทำหน้าเศร้าใจ บ้างก็ทำหน้าแปลกใจ

คืนนั้นทั้งผมและเยาวชนก็มีโอกาสไปเรียนรู้การขับขาน ธาปลือ ในสนามจริงอย่างคาดไม่ถึง แต่น่าเสียดายที่มีการเก็บศพพีลอเคาะเพียงแค่คืนเดียว

แต่หลังจากนั้น ฮี่โข่และคนในหมู่บ้านไม่อนุญาตให้ซ้อมการร้องเพลง ธา ปลือ ในชุมชนอีกแล้ว  แต่เขาก็หาทางออกให้ว่า  สามารถซ้อมร้องเพลง ธาปลือได้แต่ต้องออกไปซ้อมให้ไกลจากหมู่บ้านในรัศมีที่ไม่สามารถได้ยินเสียงไก่ขันในชุมชนได้

เช้าวันรุ่งขึ้นจึงปรึกษากันแล้วก็ห่อข้าวกัน จากนั้นออกเดินตามเส้นทางเดินเท้าเล็กๆ ประมาณครึ่งชั่วโมง  เราถึงที่นาผืนหนึ่ง ซึ่งมีกระท่อมหลังหนึ่งปลูกไว้เหมือนเตรียมไว้สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ  เราจึงใช้สถานที่นั้นเป็นที่ฝึกซ้อมเพลง ธา ปลือ  เพื่อป้องกันมิให้มีคนตายเพิ่มขึ้นในหมู่บ้านอีก

เราคุยกับ ฮี่โข่ และกลุ่มผู้อาวุโสในชุมชนถึงเรื่องที่เกิดขึ้น  จริงๆ แล้วเราก็กลัวคนในชุมชนจะโทษที่เรามาซ้อมร้องเพลง ธา ปลือ ในชุมชนเช่นกัน แต่โชคดีที่คนในชุมชนต่างรู้และเข้าใจเจตนาของเรา และเราก็ถามฮี่โข่และชาวบ้านก่อนจะทำการฝึกร้องเพลง ธา ปลือ ชุมชนด้วย มิได้ทำโดยพลการ

"ไม่เป็นไร เก่อ ลี แฮ เหน่ เส่ ก่า ตอ อะ คา มันเป็นเหตุการณ์ ไม้หักโค่นเองในจังหวะที่ลมพัดมาพอดี ถ้าเป็นเมื่อก่อนต้องมีการขอขมาครอบครัวผู้ตาย แต่อันนี้เราไม่ว่ากัน" ฮี่โข่บอกกับผมและทีมงานละคร ทำให้เราโล่งอกกันไป แต่ก็เป็นบทเรียนที่น่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง 

 

บล็อกของ ชิ สุวิชาน

ชิ สุวิชาน
ผมฝ่าชุมชนมูเจะคีหลายชุมชน ซึ่งล้วนแล้วแต่ปรากฏร่องรอยเล็บตีนเล็บมือรวมทั้งเริ่มเห็นมูลอันเป็นของเสียแห่งระบบทุนนิยมที่ถ่ายทิ้งเอาไว้ในชุมชนปกาเกอะญอที่มีอายุหลายร้อยปีแห่งนี้ และมีแนวโน้มที่ทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนและวัฒนธรรมจะถูกกลืนกินเป็นอาหารอันโอชะมากขึ้นเรื่อยๆ  เมื่อได้มีโอกาสกลับมา พอมาถึงหมู่บ้านแรกของชุมชนปกาเกอะญอในบริเวณมูเจะคี ทันทีที่ได้สัมผัสมันเหมือนได้กลับคืนสู่รัง ได้เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปตอนอยู่ในเมือง เมื่อผ่านชุมชนแต่ละหมู่บ้านจะพยายามมองรถทุกคันที่ผ่าน มองคนทุกคนที่เจอว่าเป็นเพื่อนเราหรือเปล่า? ลุง ป้า น้า อา หรือเปล่า? ญาติพี่น้องหรือเปล่า?…
ชิ สุวิชาน
 หลังเสร็จงานศพ ความรู้สึกจำใจจากบ้านมาเยือนอีกครั้ง  แต่การกลับบ้านครั้งนี้แม้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างโดยเฉพาะในวิถีประเพณี ที่มีคนตายในชุมชน  ได้เห็นสภาพของป่าช้าที่ถูกผ่าตัดตอนแล้วพยายามเปลี่ยนอวัยวะชิ้นส่วนใหม่จากภายนอกเข้ามาแทนที่ 
ชิ สุวิชาน
 โลงศพถูกหย่อนลงในหลุม  ลูกชายที่เป็นศาสนาจารย์และเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งศิษยาภิบาลได้จับดินก้อนหนึ่งกำไว้ในมือ  แล้วชูดินต่อหน้าผู้ร่วมงาน"ชีวิตเราถูกสร้างมาจากดิน แล้วพระเจ้าได้เป่าลมหายใจ คือชีวิตสู่เรา การรักษาร่างกายไม่สำคัญเท่ากับการรักษาชีวิต ชีวิตที่แม้ไม่มีร่างกายก็มีชีวิตอยู่ได้ เพราะเมื่อร่างกายเราถูกสร้างมาจากดิน ถูกใช้งานมาระยะหนึ่งก็ต้องเสื่อมและต้องกลับคืนสู่ดิน แต่ชีวิตไม่ได้ถูกสร้างมาจากดิน ชีวิตถูกสร้างมาจากลมหายใจที่มาจากพระเป็นเจ้า ถ้าเรารักษาชีวิตไว้ในขณะที่อยู่บนโลกให้เป็นไปตามพระวจนะของพระเป็นเจ้า…
ชิ สุวิชาน
จบพิธีทางคริสต์ศาสนา แขกเหรื่อที่มาต่างทยอยเดินลงบันใด และยืนกองรวมกันที่ลานหน้าบ้านผู้ตาย รถกระบะสองคันซึ่งเป็นของลูกชายศาสนาจารย์ที่จากไปได้แล่นมาแหวกกลุ่มคนที่ยืนอยู่ลานหน้าบ้าน และจอดท่ามกลางวงห้อมล้อมของฝูงชน  "กางเขนนี้คนเอาไม่อยู่ โคตรหนักเลย" เสียงของหนึ่งในชายฉกรรจ์ พูดขึ้นหลังจากนำไม้กางเขนซีเมนต์ขนาดประมาณ 2 เมตรครึ่ง หน้ากว้างประมาณ 6 นิ้วได้ขึ้นไว้บนรถกระบะ ครั้งหนึ่งพระเยซูได้แบกไม้กางเขนของตนเองไปยังภูเขาที่พระองค์จะถูกตรึง ระหว่างทางได้อ่อนระโหยโรยแรง มีชายผู้หนึ่งที่สงสารจึงอาสาช่วยแบก แต่มาครั้งนี้คนเอาไม่อยู่ ผมเพียงแต่นึกในใจว่ากางเขนซีเมนต์นี้…
ชิ สุวิชาน
"ที่จะร้องให้ฟังต่อไปนี้เป็น ธา ปลือ ร้องเพื่อให้คนเป็นรู้ว่าคนตายได้ตายเพื่อไปที่อื่นแล้ว ร้องเพื่อให้คนตายรู้ว่าตัวว่าได้ตายและต้องไปอยู่อีกที่แล้ว ในวันที่ไม่มีคนตายห้ามพูดห้ามร้องเด็ดขาด ไม่ว่าในบ้าน ใต้ถุนบ้านหรือที่ใดก็ตาม ในวันที่มีคนตายนั้นต้องร้อง" พือพูดก่อนร้อง พือหยิบไมโครโฟน หันมาทางผม ผมจึงเริ่มบรรเลงเตหน่า
ชิ สุวิชาน
ข่าวเรื่องการละสังขารของศาสนาจารย์ผู้ก่อตั้งคริสตจักรมูเจะคีในวัย 96 ปีได้ถูกกระจายออกไป ไม่เพียงแค่ในพื้นที่มูเจะคีเท่านั้น เชียงราย กาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่เกิดและที่เติบโตของพื้นที่อื่นที่เขาเคยเผยแพร่และเทศนาเรื่องราวของพระคริสต์ทั้งในพื้นที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ข่าวการจากไปของเขาไม่เลยผ่านไปได้ งานศพถูกจัดการอย่างดีตามรูปแบบของคริสเตียน ข่าวไปถึงที่ไหนผู้คนจากที่นั่นก็มา คนในพื้นที่กับคนนอกพื้นที่ดูแล้วปริมาณไม่ต่างกันเท่าเลย เหมือนมีการจัดงานมหกรรมบางเกิดขึ้นในชุมชน ลูกหลานที่ไปทำงานจากที่ต่างๆ ของเขาก็มากันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา โดยที่งานศพถูกเก็บไปสามคืน
ชิ สุวิชาน
พี่นนท์เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ได้ฟังพาตี่ทองดี จึงร้องเพลงธาปลือให้ฟัง จนกระทั่งถึงท่อน โย เย็นนั้นระหว่างงาน พี่นนท์จึงถามคำแปลของเพลงเหล่านั้น หลังจากเสร็จงานนั้นเพลงเส่อเลจึงมีการต่อเติมจนเป็นเพลงขึ้นมาจนได้ “พี่นึกถึงหญิงสาวที่ต้องโตขึ้นมาอย่างลำบาก นึกถึงพัฒนาการการเติบโตของชีวิต ต้องตามพ่อตามแม่ปลูกข้าว กว่าจะโตเป็นสาวต้องผ่านการตรากตรำทำงานอย่างลำบาก พี่เลยจินตนาการการตายของเธอว่า เป็นการเสียชีวิตด้วยไข้ป่า”
ชิ สุวิชาน
แม้ว่าฤดูเกี่ยวข้าวมาถึงแล้วแต่ฝนยังคงโปรยปรายลงมาอยู่ คนทำนาได้แต่ภาวนาว่าขออย่าตกตอนตีข้าวก็แล้วกัน เพราะฝนตกตอนตีข้าวนั้นมันยิ่งกว่าค่าเงินลอยตัวเสียอีก ผมเตรียมตัวกลับบ้านอีกครั้งเพื่อกลับไปเกี่ยวข้าว ผืนนาที่เคยวิ่งเล่นตอนเด็กๆกวักมือเรียกผมจากเมืองคืนสู่ทุ่งข้าวเหลืองอีกฤดู ซึ่งก็ได้จังหวะพอดีที่พ่อผมลงมาทำธุระที่เชียงใหม่ ทำให้ผมได้อาศัยรถของพ่อในการกลับครั้งนี้
ชิ สุวิชาน
ด้วยความที่อยากให้เกียรติวีรบุรุษในการต่อสู้ของคนที่อยู่กับป่า ทางทีมงานของเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมจึงเลือกเพลง ปูนุ ดอกจีมู เป็นเพลงเปิดหัวในการประชาสัมพันธ์อัลบั้มเพลงเกอะญอเก่อเรอ ที่แรกที่เราส่งไปคือสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ท่าเป็นช่วงภาคภาษาชนเผ่า โดยเฉพาะภาษาปกาเกอะญอ ซึ่งมีพี่มานะ หรือบิหนะ เป็นผู้ประกาศข่าวคราวต่างไปถึงพี่น้องปกาเกอะญอในเขตภูเขา หลังจากที่เพลงถูกเปิด มีพี่น้องปกาเกอะญอจากที่ต่างๆโทรมาแสดงความเห็นมากมาย “ส่วนใหญ่เค้าบอกว่า เค้าชอบเพลงนี้มาก แต่เค้าขอร้องมาว่า ถ้าถึงท่อนที่เป็น ธาโย ช่วยปิดเลยได้มั้ย เพราะเขค้าฟังแล้วขนลุก…
ชิ สุวิชาน
มีผู้อาวุโสปกาเกอะญอ                  แห่งหมู่บ้านโขล่ เหม่ ถ่า ผู้ซึ่งไม่มีชื่อเสียงเรืองนาม              เขาคือ พาตี่ ปูนุ ดอกจีมูอยู่กับลูก อยู่กับเมีย                     ตามป่าเขาลำเนาไพรท่ามกลางพืชพันธุ์แมกไม้              ทั้งคน ทั้งป่าและสัตว์ป่าทำไร่หมุนเวียน ทำนา …
ชิ สุวิชาน
เพื่อเป็นการรำลึกแห่งการครบรอบการจากไป 1 ปี ทางเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้มีความประสงค์ในการจัดงานเพื่อรำลึกถึงพาตี่ปุนุ ซึ่งถือเป็นวีรบุรุษในการต่อสู้เพื่อคนอยู่กับป่าคนหนึ่ง โดยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้มีการผลิตซีดีเพลงชุดหนึ่ง โดยมีพาตี่อ็อด วิฑูรย์ เป็นผู้ดูแลเนื้อร้องทำนองขับร้อง "ช่วยแต่งเพลง เกี่ยวกับปุนุ ให้หน่อย พาตี่แต่งไม่ทันแล้ว" พาตี่อ็อดมาบอกผม ผมจึงลงมือเขียนเพลงปูนุด้วยความรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นเพลงแรกที่ผมเขียนถึงคนตาย และต้องพูดถึงเหตุการณ์ในการตายของเขาด้วย จึงทำให้ผมนึกถึงบทเพลงคร่ำครวญในงานศพ…
ชิ สุวิชาน
ปี 2540 สถานการณ์การต่อสู้ของชุมชนที่อยู่กับป่าร้อนระอุขึ้นมาอีกระลอก เมื่อรัฐบาลของนายหัว ชวน หลีกภัย ได้มีนโยบายอพยพคนออกจากป่า นั่นหมายถึงชะตากรรมวิถีของคนอยู่กับป่าจะถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวง ชุมชนเดิม ที่อยู่ ที่ทำกินเดิมนั้นจะกลายเป็นเพียงที่ที่เคยอยู่เคยกินเท่านั้น ตัวแทนขบวนคนอยู่กับป่าจึงมีการขยับเคลื่อนสู่หน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง โดยมีเครือข่ายกลุ่มสมัชชาคนจนจากภาคต่างๆมาสมทบอย่างครบครัน กลายเป็นชุมชนคนจนหน้าทำเนียบโดยปริยาย “ลูกหลานไปเรียกร้องสิทธิหลายครั้งแล้ว ไม่ได้สักที คราวนี้ฉันต้องไปเอง ถ้าเรียกร้องไม่สำเร็จฉันจะไม่กลับมาเด็ดขาด”…