เพื่อเป็นการรำลึกแห่งการครบรอบการจากไป 1 ปี ทางเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้มีความประสงค์ในการจัดงานเพื่อรำลึกถึงพาตี่ปุนุ ซึ่งถือเป็นวีรบุรุษในการต่อสู้เพื่อคนอยู่กับป่าคนหนึ่ง โดยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้มีการผลิตซีดีเพลงชุดหนึ่ง โดยมีพาตี่อ็อด วิฑูรย์ เป็นผู้ดูแลเนื้อร้องทำนองขับร้อง
"ช่วยแต่งเพลง เกี่ยวกับปุนุ ให้หน่อย พาตี่แต่งไม่ทันแล้ว" พาตี่อ็อดมาบอกผม ผมจึงลงมือเขียนเพลงปูนุด้วยความรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นเพลงแรกที่ผมเขียนถึงคนตาย และต้องพูดถึงเหตุการณ์ในการตายของเขาด้วย จึงทำให้ผมนึกถึงบทเพลงคร่ำครวญในงานศพ หรือบทเพลงแห่ศพของคนปกาเกอะญอขึ้นมาทันที
เนื่องจากที่มาของเพลงแห่ศพหรือที่คนปกาเกอะญอเรียกว่า "ธาโยต่า" นั้น มันมีที่มาจากการเรื่องเล่าว่า ในอดีตคนปกาเกอะญอมีเมืองอยู่ที่ "เหว่กิแม" หรือเมืองที่ลายด้วยงา ว่ากันว่าเมืองปกาเกอะญอในอดีตนั้นมีช้างเป็นจำนวนมาก มองไปทางไหนจะเห็นงาช้างเกือบทุกมุมเมือง จึงเรียกเมืองนั้นว่า เมืองที่ลายด้วยงา และรูปร่างแดนแดนของคนปกาเกอะญอในสมัยนั้นมีรูปร่างเหมือน ปี่เขาควาย คือมีลักษณะโค้งเว้า โดยมีแม่น้ำกิแมกั้นระหว่างเมืองปากเกอะญอกับเมือง "โก หว่า" หรือเมืองคนลัวะ
ที่คนปกาเกอะญอเรียกว่าคนลัวะว่า โกหว่า เพราะว่า เมืองคนลัวะอยู่ฝั่งแม่น้ำโกโกละ คือทางแม่น้ำโขง ส่วนคนปกาเกอะญอทางฝั่ง "โค่โกละ" หรือทางฝั่งสาละวิน แต่เป็นสาละวินทางฝั่งตะวันออก "โก" หมายถึงแม่น้ำโขง "หว่า" หมายอีกฝั่งหนึ่ง "โกหว่า" จึงหมายถึงฝั่งทางแม่น้ำโขง คนปกาเกอะญอจึงว่ากันว่า เมือง "กิแม" นั้น อยู่ในบริเวณที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งแม่น้ำปิงเป็นลำน้ำที่กั้นระหว่างเมืองปกาเกอะญอกับเมืองลัวะในอดีต
แต่มาวันหนึ่งมีเผ่าพันธุ์อื่นมารุกราน ปล้น ฆ่า ฟันทั้งคนในเมืองลัวะและเมืองคนปกาเกอะญอ ทำให้คนปกาเกอะญอต้องหนีกระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง บ้างหนีขึ้นดอย บ้างหนีไปทางแม่สะเรียง แล้วข้ามฝั่งสาละวินแล้วไปอาศัยอยู่กับคนปกาเกอะญออีกกลุ่มใหญ่ทางลุ่มน้ำสาละวินทางฝั่งตะวันตกหรือรัฐกะเหรี่ยงในสหภาพพม่า ปัจจุบัน
ในการหนีภัยจากการถูกรุกรานครั้งนั้น ทำให้มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก ในงานศพจึงมีบทสวดร้องที่สาปแช่งคนหรือเผ่าพันธุ์ที่เข้ามารุกราน ปล้น ฆ่า และแย่งชิงบ้านเมืองของคนปกาเกอะญอไป โดยมีคำพูดที่พาดพิงถึงคนที่ทำให้คนปกาเกอะญอต้องหนีจากบ้านเมือง ต้องล้มหายตายจากกันคือ "คนโย" ธาโยต่า มีที่มาคือเป็นบทสวดที่สาปแช่ง "คนโย" โดยเฉพาะ เพราะคนโยคือสาเหตุที่ทำคนปกากอะญอต้องไร้บ้านไร้เมือง
ทุกวันนี้คนปกาเกอะญอยังคงเรียกคนในบริเวณล้านนาว่า "โย" คนโยเองมักจะเรียกคนปกาเกอะญอว่า "ญาง" ในขณะที่คนภาคกลางนั้นจะเรียกว่า "โยเตอหร่า" ซึ่งน่าจะมาจากอยุธยาเดิมนั่นเอง
ผมเคยคุยกับ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านบอกผมว่า คนโย ที่ว่านี้ อาจเป็นไปได้ทั้ง โย ที่เป็น โยนกหรือคนแถบล้านนา หรือไม่ก็อาจเป็น โย ที่เป็นโยเดีย หรือคนอยุธยาก็เป็นได้ แต่ที่แน่ๆ คือ "คนโย" นั่นเองที่เป็นผู้รุกราน
เหตุการณ์ที่มีนโยบายอพยพคนออกป่ามันอาจจะไม่เหมือนเหตุการณ์ที่คนโยมาปล้นชิงเอาบ้านเมืองของคนปกาเกอะญอและคนลัวะในอดีตไป แต่มันก็คล้ายๆ กัน ผลของมันไม่ต่างกัน
"มันเอาอีกแล้ว ไอ้พวกโยนี่ ในอดีตมันเป็นอย่างไร ปัจจุบันมันก็ไม่เคยเปลี่ยน เห็นที่อยู่ที่กินของคนอื่นบูรณ์กว่า อยากจะได้มาเป็นของตนเอง พอมันได้มา มันก็ไปทำลายจน ดินเสื่อม น้ำแล้ง ป่าโทรม อากาศเสียหมด ไม่รู้มันจะทำไปถึงไหนกัน??" ผู้เฒ่าอาวุโสคนหนึ่งในชุมชนปกาเกอะญอบ่นอย่างหัวเสีย
"ต้องเอา ธาโยต่า มาใส่ในเพลงพาตี่ปูนุ เพราะคนโยอีกแล้วที่เป็นต้นเหตุทำให้เขาตาย" ผมนึกในใจตั้งใจทำอย่างนั้นขณะกำลังเขียนเพลง