ก่อนวันสัมภาษณ์ หนึ่ง วัน
"ให้แต่งตัวสุภาพเรียบร้อย ให้เป็นชุดทางการ" ทีมงาน ลาเวลล์ เอนเตอร์เทนเมนท์ บอกวิธีการเตรียมตัวเกี่ยวกับการแต่งกายในการสัมภาษณ์
"ผมใส่ชุดปกาเกอะญอไปได้ไหมครับ?" ผมถาม
"อืม ไม่รู้เหมือนกัน ไม่แน่ใจว่า เขาจะคิดว่ามันเป็นชุดที่สุภาพหรือเปล่า คิดเอาเองละกัน" เขาตอบผม
เมื่อคำตอบออกมาให้ผมคิดเอง ผมจึงคิดว่า ชุดชนเผ่าปกาเกอะญอของผมนี่แหละ เป็นชุดที่สุภาพเรียบร้อย พี่น้องในเผ่าพันธุ์ของผม เวลาจะเข้าโบสถ์เพื่อไปนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ก็ใส่ชุดปกาเกอะญอ เวลาจะเข้าวัดในวันพระก็ใส่ชุดปกาเกอะญอ แม้กระทั่งในอดีตเวลาบรรพบุรุษเซ่นไหว้เทวอารักษ์ต้องมีการสวมใส่ชุดประจำเผ่าปกาเกอะญอ เพื่อให้พิธีได้ครบองค์ประกอบเสร็จสมบูรณ์ตามจารีต ผมจึงตัดสินใจใส่ชุดปกาเกอะญอไปในวันสัมภาษณ์
ณ สถานที่ กงสุลอเมริกา ประจำประเทศไทย สถานที่บริการผู้มีสัญชาติอเมริกา และที่บริการสำหรับการวีซ่า สำนักงานกรุงเทพ ทันทีที่เข้าไป เจอการตรวจหาสิ่งต้องสงสัยและวัตถุผิดกฎหมายเป็นอันดับแรก คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค เอาเข้าไปไม่ได้ โทรศัพท์มือถือ เอาเข้าไปไม่ได้ กล้องถ่ายเอาเข้าไปไม่ได้ เครื่องมือที่เป็นอีเล็กทรอนิกส์ทุกอย่างไม่สามารถนำติดตัวเข้าไปได้
สมาชิกที่ไปด้วยกันที่ทั้งหมด 16 คน ประกอบด้วย นักดนตรีทั้งสากลและพื้นบ้าน นักร้องทั้งสากลและพื้นบ้าน นักแสดงนาฏศิลป์ไทย ซึ่งต้องมาสัมภาษณ์ในวันเดียวกัน ถึงวินาทีนี้หลายคนต่างกังวลจะไม่ผ่านการสัมภาษณ์ บ้างก็กลัวตอบคำถามไม่ถูก บ้างเป็นห่วงหลักฐานไม่สมบูรณ์ บ้างฟังภาษาไม่เข้าใจ เมื่อช่วงเวลาการสัมภาษณ์มาถึงต่างคนต่างพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะทำสำเร็จ จนมาถึงลำดับของผม
"จะไปอเมริกาทำไมคะ" คำถามที่หนึ่ง จากเจ้าหน้าที่กงสุลสุภาพสตรี
"ผมไปเล่นดนตรีพื้นบ้าน ปกาเกอะญอ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมชนเผ่าของประเทศไทยครับ" ตอบตามฟอร์มและความตั้งใจ
"คุณคิดว่าจะไปนานเท่าไหร่" คำถามที่สอง
"ตามกำหนดการแล้วประมาณสี่สิบห้าวันครับ" ตอบตามกำหนดการ
"คุณเล่นดนตรีมานานเท่าไหร่แล้วคะ"
"ผมไม่รู้ว่าเล่นนานเท่าไหร่แล้ว แต่ว่า ผมคลุกคลีกับดนตรีตั้งแต่เด็ก ร้องเพลงในโบสถ์ ร้องในบ้าน เล่นตามงานประเพณีชุมชนครับ"
เขาพยักหน้า พร้อมพลิกอ่านประวัติการศึกษาของผม
"เอ๊ ทุกคนที่มาสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ทุกคนเรียนดนตรีมา แต่คุณไม่ได้เรียนดนตรีมานี่" เขาถามผม
"ครับ ผมไม่ได้เรียนดนตรีในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยครับ แต่ผมเรียนกับพ่อที่บ้านครับ ก็เลยเล่นดนตรีได้บ้าง นิดหน่อยครับ" เขาพยักหน้าอีกครั้งหนึ่ง
"ผมเป็นคนเผ่าไหนนะ"
"ปกาเกอะญอ คับ แต่คนไทยจะเรียก กะเหรี่ยง ส่วนฝรั่ง เรียก คาเรน คับ" เขาพยักหน้าพร้อมกับอมยิ้ม
"เราคิดว่าจะให้วีซ่าแก่คุณภายใน 4-5 ปีนะคะ" เขาตอบผมอย่างจริงจัง
"เอ้า!?" ผมอุทานออกมา
"อุ้ย ! ไม่ใช่ 4-5 วันคะ" เขาพูดพร้อมกับแลบลิ้นออกมาอย่างเขิน ๆ แต่ด้วยสีผิวคล้ำจึงไม่ปรากฏสีหน้าแดงที่แสดงออกถึงอาการเขินของหล่อน
หลังจากสัมภาษณ์วิซ่า และทราบแนวโน้มความเป็นไปได้ในการทำวีซ่าแล้ว ผมโทรกลับไปหาพี่ทอด์ด ทองดี ผู้ที่ชักชวนมาร่วมขบวนการเดินทางครั้งนี้ ทันทีที่เขาทราบผล
"เฮ้ ชิ คุณใส่ชุดอะไรในการไปสัมภาษณ์" เขาถามผม
"ผมใส่ชุดปกาเกอะญอไปครับ" ผมตอบตามความจริง
"คุณรู้ไหม นั่นมันเสี่ยงมากเลยนะ" พี่ทอด์ด บอก
"เสี่ยงที่วีซ่าจะไม่ผ่านใช่ไหมครับพี่" ผมถามต่อ
"เปล่า เสี่ยงที่เขาจะขอเสื้อของคุณไป" เขาตอบผมแบบที่เล่นที่จริง
คำพูดของเขาคนนี้ หลายคำ หลายประโยค หลายครั้งทำให้ผมคิดอะไรต่อได้หลายประเด็น ในใจผมคิดว่า ถ้ากงสุลจะขอเสื้อปกาเกอะญอผมไปเพื่อไปทำประโยชน์หรือเผยแพร่ให้คนรู้จักชนเผ่าของผม นั่นก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่หากเขาเอาไปเพื่อต้องการไปทำลายนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยง ตามที่พี่ทอด์ด พูดไว้เป็นอย่างมาก