รุ่งเช้าวันที่ 10 กันยาฯ ทีมทั้งหมดเริ่มซ้อมเพื่อทบทวนกระบวนท่าฟ้อน ท่ารำ ท่วงท่าทำนอง จังหวะจะโคน ก่อนตระเวนออกศึก การซ้อมเริ่มต้นด้วยเพลงในอัลบั้มหิมพานต์ 2nd World ของพี่ทอด์ด ทองดี ต่อด้วยเพลงของ ซอ สมาชิกวง the sis ตามด้วยเพลงของลานนา คัมมินส์ รวมทั้งเพลงของมือระนาดและมือโปงลาง หมอแคน จนมาปิดท้ายที่เพลงของผม
\\/--break--\>
ผมเลือกเอาเพลง “แบแล” มาแจมกับวงเพื่อความสนุกสนาน โดยมีการส่งซีดีเพลงให้นักดนตรีได้ฟังก่อนหน้านั้น เมื่อถึงเวลาซ้อมวงปรากฏว่าไม่มีใครไปแกะเพลงผมเลย ผมเซ็งนิดหน่อยเพราะรู้สึกว่าไม่ค่อยมีการใส่ใจเพลงผมที่ส่งไปให้เท่าที่ควร ผมไม่แน่ใจว่ามีการเอาไปฟังบ้างหรือเปล่า อย่างไรก็แล้วแต่ต้องนั่งวาดโครงเพลงให้นักดนตรีในวง ณ บัดนั้น
เริ่มต้นจากกลอง เพราะในเพลงมีท่อนย้ำมากแต่คอร์ดมีไม่กี่คอร์ด กว่าจะเข้าใจและเล่นกันได้จบเพลงเล่นเอาเหงื่อตกเหมือนกัน เพราะนักดนตรีต้องทำงานหนัก พวกเขามิได้มีเพียงเพลงผมอย่างเดียว แต่มีเพลงอื่นๆอีกเกือบยี่สิบเพลง เพลงของผมจึงถูกลืมแกะไป แต่สุดท้ายก็สามารถเล่นจนจบเพลงได้
“ขอบคุณพี่ๆนักดนตรีทุกคนครับ ที่ร่วมเล่นเพลงและให้เกียรติเพลงปกาเกอะญอของผม” ผมยกมือไหว้ขอบคุณสมาชิกวงทุกคนที่ร่วมบรรเลง
ขบวนรถตู้สามคันได้พาคณะเดินทางออกจากสแครนตันมุ่งสู่นิวยอร์ก ระหว่างทางฝนตกหนัก กระทั่งข้ามสะพานแม่น้ำก่อนเข้าเมือง ฟ้าปิดมืดจนมองไม่เห็นอะไรนอกจากแสงไฟ รถค่อยๆเลื่อนล้อไปหาเป้าหมาย กว่าจะหาเจอต้องวนหากันหลายรอบ
Dorm ร้านแนว World music วันนี้มีการจัดงานรำลึก 8 ปีเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดฯ กับตึกเพนทากอนที่นิวยอร์ก ซึ่งตามกำหนด คณะเรามีนัดลองเครื่องเสียงในเวลา 5 โมงเย็น แต่เรามาช้าไปห้าสิบนาที มีอีกวงที่มีคิวลองเสียง 6 โมงเย็น เขามาตั้งแต่ 5 โมงครึ่งแต่เขาไม่ลองเครื่อง เขารอจนกว่าจะถึงเวลา เขาจึงขึ้นลองเสียง จังหวะที่ถึงเวลาของเขา ทางคณะเรายังตั้งเครื่องไม่เสร็จ
“ขอโทษครับ ได้เวลาวงของผมลองเครื่องแล้วครับ” มือกีตาร์เข้ามาบอกทางคณะเรา
“เรากำลังตั้งเครื่องอยู่ และขอเวลาลองซักสองเพลงได้มั้ยครับ?” พี่ทอด์ดบอกมือกีตาร์ฝรั่ง
“ผมไม่รู้ แต่นี่เป็นเวลาของผม ผมมารอก่อนเวลาครึ่งชั่วโมง ผมไม่แตะต้องเวลาคุณเลย เอาเป็นว่าผมให้เวลาคุณตั้งเครื่องให้เสร็จ แล้วผมจะเอาเวลาผมคืน” เขาบอกพร้อมเดินเข้าไปนั่งและหยิบเครื่องไม้เครื่องมือของเขาเพื่อเตรียมพร้อมในการลองเสียง
มองในแง่การรักษาเวลา การเคารพสิทธิผู้อื่น การรักษาสิทธิของตนเอง ยกมือไหว้ได้เลย แต่หากมองในแง่ความเห็นอกเห็นใจ การเสียสละ การยึดหยุ่น อาจต้องคุยกันใหม่ ยังไงก็แล้วแต่ทางคณะเราไม่ได้ลองเสียง ได้แต่ตั้งเครื่องแล้วรอเล่นอย่างเดียว
หนึ่งทุ่มตรง วงดนตรีที่ลองเสียงต่อจากเรา ได้ขึ้นเวทีพร้อมกับฉายภาพโปรเจ็คเตอร์ ตอนแรกผมนึกว่าจะเป็นเพลงประกอบภาพ เพราะมีมือกีตาร์ มือกลอง มือคีย์บอร์ดและมีคนจับไมค์ ตนตรีเริ่มต้นอย่างโหยหวนจากมือกีตาร์ ต่อด้วยคีย์บอร์ดและตามด้วยกลอง แต่ปราศจากเสียงร้อง
ภาพบนจอเริ่มปรากฏ คนจับไมค์เริ่มส่งเสียง แต่เป็นเสียงพากย์บรรยายตามภาพเป็นระยะๆ ดนตรีเริ่มเป็น Movie score bar เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ภาพเหตุการณ์และเรื่องราว 11 กันยาวิปโยค 2001 ในเมืองนิวยอร์ก เมืองเทพีสันติภาพ ไม่อาจลบเลือนจากความทรงจำของคนทั้งหมดในเมืองนี้ ในอเมริกา และคนทั้งโลกได้ เพียง 600 เมตรเท่านั้นจากร้านที่เราเล่นกับตึกเวิลด์เทรดฯ
ประมาณ 40 นาที เรื่องราวการรำลึกเหตุการณ์ 11/09/09 ที่ถูกเล่าได้จบลง ในร้านมีทั้งฝรั่งและคนไทยในอเมริกามาร่วมงาน ผู้ดำเนินรายการประกาศแนะนำการแสดงดนตรีที่เดินทางมาพร้อมสีสันจากตะวันออกของโลก
“หิมพานต์ 2nd world from Thailand” จบประโยคนี้ ทอด์ด ทองดี หรือทอด์ด ลาเวลล์ ได้ขึ้นเวที
“คอนเซ็ปของ หิมพานต์ 2nd world คือการอยู่ร่วมกันของสัตว์ต่างๆ นานาในที่เดียวกันมีทั้งสิงห์ เสือ นก ปลา และอื่นๆ ผมคิดว่าคนก็เช่นเดียวกัน เรามีโลกที่หนึ่ง เรามีโลกที่สาม โลกใหม่ของเราน่าจะเป็นโลกที่สองที่มนุษย์ทุกสีมาอยู่ร่วมกันได้ พ่อผมเคยสอนผมว่าสีทุกสีมีคุณค่า มีความหมาย มีประโยชน์ ต้องรู้จักหยิบมาใช้ แล้วมันจะปรากฏเป็นพลังในตัวของมันเอง
วันนี้เรานำสีสันจากชาติพันธุ์บนดอยทางภาคเหนือของประเทศไทย มาพร้อมปรัชญาชีวิต บทเพลงและเครื่องดนตรีที่คนที่นี่ไม่เคยได้ยินได้เห็นมาก่อน คนไทยเรียกเขาว่า กะเหรี่ยง ฝรั่งเรียกคาเรน แต่เขาเรียกตัวเองว่าคนปกาเกอะญอ ขอเชิญพบกับเตหน่ากูและคนปกาเกอะญอ” หลังทอด์ดประกาศ เตหน่ากูได้ปรากฏโฉมบนเวทีเป็นการนำร่องของการแสดงในอเมริกา
สามเพลงที่เตหน่ากู ได้บอกเล่าเรื่องราวของเผ่าพันธุ์ และชุมนตนเองจบลง เตหน่ากูยังไม่เสร็จงานเพียงเท่านั้นมีการแจมกับดนตรีจากภาคอื่นๆ หลังจบงานคนไทยในนิวยอร์กต่างแห่กันมาถ่ายรูปกับดาราไทย ทั้งลานนา ซอ The sis และพี่ทอด์ด ทำให้เกิดบรรยากาศร้านชุลมุนนิดหน่อย
เตหน่ากูถอยฉากออกมา เก็บเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ดนตรีต่างๆ กระทั่งมีนักดนตรีฝรั่งสองสามคนเดินเข้ามาหา
“This is the lute, you play lute oh! Beautiful, you are the man!” เขาพูดพร้อมชี้มือมาที่เตหน่ากูและมาจับมือผม
“Yes I’m the man not woman.” ผมตอบเขา และเขาหัวเราะดังลั่น จนพี่ทอด์ดหันมามองที่ผมกับเขา
“เวลาฝรั่งเขาพูดกับคุณว่า you are the man มันหมายถึงคุณสุดยอด หรือคุณทำได้ดีมากอะไรทำนองนั้น ไม่ใช่คุณเป็นผู้ชาย และที่คุณตอบเขาคุณกำลังบอกว่า ใช่ผมเป็นผู้ชาย ผมไม่ได้เป็นผู้หญิง เขาจึงขำมากเลย” พี่ทอด์ด อธิบายให้ฟัง
“จริงๆ ผมรู้ แต่ผมพูดเพื่อเล่นมุกกับเขาเฉยๆ” ผมบอกพี่ทอด์ด
“เอ้า เหรอ มุกคุณนี่ร้ายกาจนะ” พี่ทอด์ดหัวเราะ
“แน่นอน” ผมบอกเขาพร้อมแลบลิ้นนิดหน่อย เพื่อให้เขารู้ว่าสิ่งที่ผมพูดจริงหรือไม่จริง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อนักดนตรีฝรั่งเห็นเตหน่ากู เขาไม่ได้เรียกว่า “Harp” หรือพิณ แต่เรียกว่า "Lute” เป็นสิ่งที่ต้องค้นหาต่อว่า Lute มันคืออะไรมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร? และมันเกี่ยวข้องกับเตหน่ากูอย่างไร?
วงที่เล่นและเล่าเรื่องเหตุการณ์ 11/09/01
ข้อความบนจอโปรเจ็คเตอร์ 1
ข้อความบนจอโปรเจ็คเตอร์ 2
เรื่องดำเนินไปพร้อมภาพและเสียง
เวทีแรกของเตหน่ากู ใน USA. กลางเมืองนิวยอร์ก