Skip to main content

“ผมมีเพื่อนปกาเกอะญอมาด้วยคนหนึ่ง” ผมบอกกับคนดู
ผมได้ไปพบ และได้ไปฟัง เพลงที่เขาร้อง ณ ริมฝั่งสาละวิน ทำให้ผมเกิดความประทับใจในท่วงทำนองและความหมายของบทเพลงรวมทั้งตัวเขาด้วย

ผมทราบมาว่าตอนนี้เขาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่  ผมจึงไม่พลาดโอกาสทีจะชักชวนเขามาร่วม บอกเล่าเรื่องราวของชนเผ่า ผ่านบทเพลงที่ผมประทับใจ ซึ่งแรก ๆ นั้น เขาแบ่งรับ แบ่งสู้  ที่จะตอบรับการชักชวนชองผม แต่ผมก็ชักแม่น้ำทั้งห้า จนเขาหมดหนทางปฏิเสธ

“ผมไม่คุ้นเคยกับการร้องเพลงต่อหน้าคนมาก ๆ นะ” เขาออกตัวกับผมก่อนวันงาน แต่เมื่อถึงวันงานเขาก็ไม่ทำให้ผมผิดหวัง เขาเดินออกมาแบบเกร็งๆ และประหม่าอย่างเห็นได้ชัด เขาจะยืนตรงก็ไม่ใช่ จะยืนเท้าเอวก็ไม่เชิง

“ตอนขึ้นต้นช่วยร้องนำให้หน่อยนะ ผมไม่มั่นใจ ผมกลัวขึ้นไม่ถูก” เขากระซิบข้างผมก่อนจะร้องเพลง ผมพยักหน้าตอบและยิ้ม ๆ เพื่อให้เขารู้สึกอุ่นใจขึ้น ผมบีบแขนเขา เพื่อให้เขาหายเกร็ง เขาหันกลับมายิ้มแบบเกร็ง ๆ อยู่เหมือนเดิม  

เมื่อผมเริ่มบรรเลงเตหน่า เขาเริ่มทำหน้าเครียดทันที เขาพยายามฟังเตหน่าของผม และพยายามดูหน้าของผม เผื่อผมจะส่งสัญญาณให้ขึ้นต้นร้องเพลง  และแล้วเขาก็เริ่มต้นร้องพลาดจนได้ แต่ผมส่งสัญญาณให้เขาเดินหน้าร้องต่อไป  เขาไม่ลังเลอีกแล้ว เขาเปล่งเสียงร้องต่อแบบสั่น ๆ นิดหน่อย

ฤดูกาลแห่งความร้อนแล้ง ได้สิ้นสุดลงแล้ว
ฤดูกาลแห่งสายฝนจะเริ่มต้นแล้ว
ลมฝน เริ่มมาทักทายยอดใบไม้ของต้นไม้สูง
ไข่ในรังนกเริ่มแตกและออกลูก
ฝูงเขียดร้องระงมไปทั่วทุ่งนาในยามค่ำคืน
เชือกเริ่มมาร้อยที่จมูก
ฤดูกาลแห่งการทำงานได้เริ่มต้นอีกครา
กลางแดด กลางฝน ต้องตามเชือกที่เขาจูง
เมื่อยขา เล็บแตก ก็ต้องทน
ท้องหิว แต่งานยังไม่เสร็จก็ต้องทน
อยากจะบอกความต้องการให้เขารู้แต่พูดไม่ได้

เกิดมาชาตินี้มีแต่กรรม
ต้องทนทุกข์เข็ญทรมาน
ทั้งดิน ทั้งโคลน ต้องลากดึง
เพื่อคนอื่นได้มีกิน เราต้องทำ

ฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยวสิ้นสุดลงแล้ว
ฤดูกาลแห่งการดื่มกินฉลองได้เริ่มต้น
ลมหนาวได้พัดมาหนาวเย็นถึงกระดูก
ต้องเข้าป่าเพื่อหญ้าลำพังตามประสา
ลืมแล้วผู้ไถคราดยามต้นฤดู
ชาติหน้าเรามาสลับเปลี่ยนสภาพกันบ้าง
แล้วจะเข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร?

เขาร้องเพลงจบ เขาหันมายิ้มให้ผมพร้อมเหงื่อบนใบหน้า  
“ขอเป็นกำลังใจด้วยเสียงตบมือให้เพื่อนผมหน่อยครับ” ผมพูดจบ เสียงตบมือดังลั่นห้อง เขาก้มหัวแทนคำขอบคุณและเดินลงไปอย่างเงียบๆ

ผมยังคงต้องทำหน้าที่ต่อ ณ ที่ว่างข้างหน้าแห่งนั้น โดยยังคงมีผู้ช่วยของผมและเพื่อนนักดนตรีจากออสเตรเลียร่วมทำหน้าที่

แบแล บทเพลงที่ให้พลิกฟื้นแผ่นดินถิ่นเกิด เขามีข้าวกิน เราก็มีข้าวกิน อร่อยแน่ๆ หากได้อยู่ได้กินได้ทำในถิ่นกำเนิด  แม่ผู้ยังคงทำหน้าที่ผลิตวัฒนธรรมสู่ลูกหลานให้กลับมาสู่เหย้า  และการกลับมาของฟักสีเขียวกับไก่สีขาวบนขันตกเดียวกัน  โลกต้องการการปลอบประโลมให้หยุดร้องไห้

“ผมมีพีชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งเดินทางมาจากริมทะเลสาบสงขลา จนมาพบเจอเรื่องราวของธรรมชาติและคนบนภูเขา วันนี้อยากให้เขามาเล่าเรื่องราวอีกมุมหนึ่งในการเดินทางให้พวกเราฟัง” ผมพูดจบทุกสายตาต่างมองไปที่ผู้ชายร่างโย่งที่กำลังลุกขึ้นมาเก้งก้างกว่าคนใต้ทั่วไป

เขาเดินขึ้นมานิ่งๆ ช้าๆ แต่มั่นคงในจังหวะเดิน  ยิ้มนิ่มๆ พูดเบาๆ
“เพลงสัตว์ป่านะ” เขาหันมาถามผมเพื่อความแน่ใจ

เขาเคยบอกกับผมว่าเพลงนี้เขาเขียนร่วมกับอาจารย์ลีซะ  ขุนพลเพลงปกาเกอะญอรุ่นใหญ่อีกคนหนึ่ง

“แม้เนื้อเพลงจะพูดถึงสัตว์ป่า แต่มันทำให้เห็นมนุษย์อยู่ในนั้น การล่ากันในสังคมมนุษย์ มันเกิดขึ้นจริง อยากบอกว่าหยุดได้แล้ว” เขาเคยบอกผม แล้วมันก็ติดอยู่ในหัวของผมตลอดเรื่อยมา ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมนำเพลงนี้มาขับร้องร่วมกับเขาในครั้งนี้และต่อไปอีกหลายๆ ครั้ง (ถ้าเขายินยอมเล่นด้วย)

*อีเก้ง ร้องในลำห้วย  หวลให้นึกถึงโลกป่า
โด เก่อ โอ(นกฮูก) ร้องยามค่ำคืน
อย่าไปล่า อย่าฆ่ามันเลย
....................................
ปล่อยให้มันเป็นอยู่อย่างนั้น
มันจะได้ใช้ชีวิตในโลกป่าเขา

* บางส่วนของเพลงสัตว์ป่า จากอัลบั้ม คนภูดอย / ศิลปินลีซะและสุวิชานนท์


บล็อกของ ชิ สุวิชาน

ชิ สุวิชาน
สิบกว่าปีผ่านไป ภายในบ้านของครูดอยผู้ช้ำใจจากการนำดนตรีปกาเกอะญอไปเล่นในโบสถ์ เขารู้สึกดีใจมากที่ลูกชายของเขามาขอเรียนดนตรีพื้นบ้านของคนปกาเกอะญอ ทั้งๆที่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกันต่างมุ่งหน้าเดินตามดนตรีตามกระแสนิยมกันหมดแล้ว นี่เป็นสิ่งที่เขาเฝ้าคอยและหวังมาโดยตลอดที่จะมีคนมาสืบทอดลายเพลงของชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขแท้ๆ ของเขาหรือคนอื่นที่เป็นคนชนเผ่าเดียวกันก็ตาม ทำให้ฝันของเขาเริ่มเป็นจริงว่าทางเพลงแห่งวัฒนธรรมปกาเกอะญอจะไม่สิ้นสุดในยุคของเขา แต่เขารู้สึกตกใจ เมื่อลูกชายบอกเขาว่า จะนำเตหน่ากู ไปเล่นในคืนคริสตมาสปีนี้ที่โบสถ์ในชุมชน “ลูกแน่ใจนะ ว่าจะเล่นในโบสถ์”…
ชิ สุวิชาน
ในขณะที่อีกฝากหนึ่งของชุมชนปกาเกอะญอที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์แล้ว บทเพลง ธา ทุกหมวด กลายเป็นบทเพลงที่ถูกลืมเลือน ถูกทิ้งร้างจนเหมือนกลายเป็นบทเพลงแห่งอดีตที่ไม่มีค่าแก่คนยุคปัจจุบัน โมะโชะหมดความหมาย เมื่อคนปกาเกอะญอเริ่มเรียนรู้การคอนดัก (Conduct) เพลงแบบในโบสถ์แบบฝรั่ง เพลงธา ไร้คุณค่า เมื่อมีเพลงนมัสการที่เอาทำนองจากโบสถ์ฝรั่งมา เครื่องดนตรีปกาเกอะญอถูกมองข้ามเมื่อมีคนดนตรีจากตะวันตก เช่น กีตาร์ กลองชุด แอคคอร์เดียน เมาท์ออร์แกน ฯลฯ เข้ามา “โด โซ โซ มี โด มี โซ ready… sing ซะหวิ” ประโยคนี้มักจะเป็นประโยคเริ่มต้นของคนที่เป็นผู้นำวงร้องประสานเสียงพูดนำก่อนร้องเพลง…
ชิ สุวิชาน
หลัง ธาหมวด แป่โป่ แปซวย แล้ว ก็จะต่อด้วย ธาหมวดโข่เส่ คะมอ ตามด้วย หมวดโดยมีเด็กชายนำการเดินวนอยู่เหมือนวันแรก  และหมวด ธาปลือลอ ได้เริ่มถูกขับขานต่อจาก หมวดโข่ เส่ คะมอ ต่อด้วย หมวด เชอเกปลือ  หมวดฉ่อลอ หมวดแกวะเก  หมวดธาชอเต่อแล จากนั้น หมวดธาเดาะธ่อ จึงเริ่มขึ้นอีกครั้งพร้อมกับการกลับมาอย่างแน่นขนัดของหนุ่มสาวเช่นเดิม เมื่อธาเดาะธ่อหรือเริ่มต้นมาแล้ว ก็จะมีหมวดธา เดาะแฮ, หมวด ธาเดาะเหน่,หมวด ธาลอบะ ,หมวด ธา ลอกล่อ ซึ่งล้วนแต่เป็น ธา หน่อ เดอ จ๊อหรือธา หนุ่มสาว ซึ่งตั้งแต่ ธา หมวด เดาะธ่อ เป็นต้นไป ถือว่าเป็น เพลงธา ที่สามารถขับขานเป็นปกติได้ทุกโอกาส ทุกสถานที่…
ชิ สุวิชาน
เมื่อได้ยินหมวด ธา ธาชอเต่อแล หนุ่มสาวต่างขยับเข้ามาในวงเพลงธามากขึ้น เพื่อเริ่มงานของหนุ่มสาว ธาชอเต่อแลจึงเปรียบเสมือน หมวดที่เชื้อเชิญหนุ่มสาวเข้าสู่การขับขานเพื่อต่อเพลงธากัน โดยมีโมะโชะฝ่ายหญิงแลโมะโชะฝ่ายชายเป็นหัวหน้าทีมของแต่ละฝ่าย เวทีการดวลภูมิรู้เรื่องธาที่ขุนเพลงธาโปรดปรานได้เกิดขึ้นอีกครั้งในคืนงานศพ หมวดแห่งการดวลเพลงธา เริ่มที่หมวดธาเดาะธ่อ ซึ่งแปลว่า ธาเริ่มต้น ส่วนใหญ่เป็นธาที่ว่าด้วยความรัก ความสามัคคี ความร่วมไม้ร่วมมือ เพื่อให้คนที่มาร่วมงานตระหนักและสำนึกเสมอว่า เป็นคนในชุมชนเดียวกัน ชนเผ่าเดียวกัน สังคมเดียวกัน และโลกใบเดียวกัน ดังตัวอย่างธาที่ว่า   เก่อ…
ชิ สุวิชาน
หมวด ธาปลือลอ ได้เริ่มถูกขับขาน ซึ่งเป็นหมวดที่ว่าด้วย การจากไปสู่ปรโลก ซึ่งปกติแล้วก่อนที่คนจะตายมักมีลางสังหรณ์ปรากฎแก่คนใกล้ชิดหรือคนรอบข้างเสมอ นั่นหมายความว่าถึงเวลาของผู้ตายแล้ว เวลาแห่งความตายนั้นย่อมมาถึงทุกคน เพราะฉะนั้นก่อนตายควรทำความดีหรือทำคุณประโยชน์ให้เกิดแก่แผ่นดินถิ่นเกิดที่เราอาศัยอยู่ตอนมีชีวิตให้มากที่สุด เมื่อลางสังหรณ์มาถึงเราจะได้จากอย่างหมดทุกข์หมดห่วง ตัวอย่าง ธา หมวดนี้เริ่มต้นดังนี้ มี หม่อ เคลอ ฮะ เหน่ อะ เด                 มีหม่อ คอ ฮะ เหน่ อะ เด เต่อ เหม่ เคลอ ฮะ เหน่ อะเด      …
ชิ สุวิชาน
“โมะโชะมาแล้ว” ชายหนุ่มคนหนึ่งกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้น เมื่อเห็นร่างชายวัยปลายกลางคนเดินเข้ามา สายตาทุกดวงจึงมองไปที่ โมะโชะ เขาคือผู้นำในการขับขานเพลงธา เขาต้องเรียนรู้และพิสูจน์ตัวเองมาหลายปีกว่าเขาจะได้รับตำแหน่งนี้ หน้าที่รับผิดชอบสำหรับตำแหน่งนี้คือการเป็นผู้นำในการขับขานธาในพิธีกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนเช่น งานแต่ง หรืองานตาย บางชุมชนทั้งหมู่บ้านไม่มีโมะโชะเลย เวลามีงานต้องไปยืมหรือเชื้อเชิญโมะโชะจากชุมชนอื่นที่อยู่ใกล้ ว่ากันว่าชุมชนที่สมบูรณ์นอกจากต้องมีผู้นำชุมชนตามประเพณีที่เรียกว่า ฮี่โข่ ต้องมีจำนวนหลังคาในชุมชนมากกว่า 30 หลังคาเรือนแล้ว…
ชิ สุวิชาน
ช่วงเย็นหลังจากที่ทำงานในไร่ และกำลังจะนั่งกินข้าวร่วมครอบครัว “ลุงเร็ว ปู่ วาโข่ หายใจขึ้นอย่างเดียว ไม่ได้หายใจลงแล้ว” หลานชายมาวงข่าวเกี่ยวกับพือวาโข่ซึ่งเป็นพ่อของเขา เขาละจากวงทานข้าวของครอบครัว แล้ววิ่งไปหาพ่อทันที พือวาโข่ เป็นฉายาที่เด็กๆ ในหมู่บ้านและหลานๆเ รียกชื่อผู้เฒ่าผู้ชายที่อาวุโส จนผมหงอกทั้งหัว พือหมายถึงพ่อเฒ่า วาโข่หมายถึง ผมขาว หากเป็นผู้หญิงจะเรียกว่า พีวาโข่ พีแปลว่าแม่เฒ่า นั่นเอง คนรุ่นนี้จะเป็นที่รักใคร่ของลูกหลานทั้งในครอบครัวและในชุมชน เพราะถือเป็นทรัพยากรบุคคลของชุมชนทีมีค่า หากมีปัญหาเกิดขึ้นในชุมชนที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถหาทางออกได้…
ชิ สุวิชาน
  บรรยากาศในบ้านเริ่มคึกคักมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีเสียงเตหน่าบรรเลงในบ้านไม่เว้นแต่ละคืน  บางคืนเป็นเสียงเตหน่า ลายเดิมที่ผู้เป็นพ่อเป็นคนถ่ายทอด  แต่บางคืนมีเสียงเตหน่าลายแปลกออกมาจนผู้เป็นพ่ออดไม่ได้จนต้องเงี่ยหูฟัง  นานแล้วที่เจ้าของเสียงเตหน่ากูห่างหายไปจากการร่ำเรียนวิชาจากพ่อ  แต่วันนี้เขากลับมาหาครูผู้สอนเตหน่ากูของเขาอีกครั้ง แน่นอนมันต้องมีอะไรบางอย่างสงสัยจึงต้องมา"พ่อผมจะไปล้มไม้มาทำเตหน่ากู ควรจะหาไม้อย่างไรดี" ประโยคแรกที่เขามาถามพ่อ"จริงๆ แล้วไม้อะไรก็ได้ทั้งนั้น ขอให้เป็นไม้ที่โค้งงอ แต่คนสมัยก่อนเขานิยมใช้ไม้เก่อมา หรือภาษาไทยเรียกว่าไม้ซ้อ…
ชิ สุวิชาน
มีบทธา ซึ่งเป็นบทกวีหรือสุภาษิตสองลูกสอนหลานของคนปกาเกอะญอมากมาย ที่กล่าวถึงเตหน่ากูเครื่องดนตรีดั้งเดิมของคนปกาเกอะญอ แต่ในตรงนี้จะยกมาเพียงส่วนหนึ่งเพื่อเป็นตัวอย่างเบื้องต้นของ ธา ที่กล่าวถึงเตหน่ากู 1. เตหน่า อะ ปลี เลอ จอ ชึ             เด เต่อ มึ เด ซึ เด ซึ2.เตหน่า เลอ จอ แว พอ ฮือ            เต่อ บะ จอ จึ แซ เต่อ มึ3.เตหน่า ปวา แกวะ ออ เลอ เฌอ      เด บะ เก อะ หล่อ เลอ เปลอ4.เตหน่า ปวา เจาะ เลอ เก่อ มา     …
ชิ สุวิชาน
ลูกชายหายหน้าไปจากการเรียนรู้การเล่นเตหน่ากูกับพ่อเป็นหลายสิบ จนผู้เป็นแม่ที่คอยหุงอาหารให้หมูในตอนหัวค่ำเกิดคำถามต่อผู้เป็นพ่อ “ไอ้ตัวเล็กมันเล่นเป็นแล้วเหรอ? มันถึงไม่มาฝึกเพิ่ม” แม่ถามพ่อซึ่งนั่งอยู่ตรงข้ามกะบะไฟดินในบ้าน “มันบอก มันจะฝึกเอง มันคงไปฝึกที่บ้านผู้สาวมั้ง?” พ่อตอบแม่พร้อมกับสันนิษฐานพฤติกรรมของลูกชาย “มันก็ธรรมดาแหละ วัวตัวผู้พอมันเริ่มเป็นหนุ่ม มันก็เริ่มแตกฝูงไปหาตัวเมียในฝูงอื่น ก็เหมือนพ่อตอนเป็นหนุ่มนั่นแหละ อยู่บ้านอยู่ช่องซะที่ไหน กลางค่ำกลางคืนดึกแล้วไล่กลับบ้านก็ไม่ยอมกลับ ค่ำไหนค่ำนั้น มาหาทุกคืน” แม่เปรียบเทียบให้พ่อฟัง
ชิ สุวิชาน
“วิธีการเล่นล่ะ? แตกต่างกันมั้ย?” ลูกชายถามพ่อ “ถ้าเล่นอย่างไดอย่างหนึ่งได้นะ ก็เล่นอีกอย่างได้เองแหละ ขอให้เข้าใจวิธีการตั้งสายเถอะ อย่าตั้งสายเพี้ยนละกัน” พ่อบอกและย้ำกับลูกชาย “งั้นพ่อสอนเพลงอีกซักเพลงที่เล่นแบบเมเจอร์สเกลนะ” ลูกขอวิชาจากพ่อ “เอาซิ! เดี๋ยวพ่อจะสอนเพลงพื้นบ้านง่ายๆที่ผู้เฒ่าผู้แก่ชอบร้อง ชอบเล่นกับเตหน่ากูบ่อยๆ อีกเพลง ร้องตามนะ” พ่อเริ่มร้องนำ ลูกจึงเริ่มร้องตาม
ชิ สุวิชาน
สองสามคืนผ่านไป ลูกชายไม่ได้มายุ่งกับพ่อ แต่คืนนี้ภายในบ้านไม้ไผ่ หลังคาตองตึงทรงปวาเก่อญอหลังเดิม ลูกชายถือเตหน่ากูมาอยู่ข้างพ่ออีกครั้ง “ลองฟังดูนะ ใช้ได้หรือยัง?” ลูกชายพูดจบเริ่มดีดเตหน่าและเปล่งเสียงร้องเพลงแบบไมเนอร์สเกลให้พ่อฟัง แต่ด้วยความตั้งใจมากไปหน่อยทำให้การเล่นบางครั้งมีสะดุดเป็นช่วงๆ แต่ลูกชายไม่ยอมแพ้และไม่ยอมหยุด เล่นและร้องให้พ่อซึ่งเป็นครูสอนเตหน่ากูให้เขาจนจบเพลง “ฮึ ฮึ ก็ดี เริ่มต้นได้ขนาดนี้ก็ไช้ได้” พ่อตอบเขาแบบยิ้มๆ “แล้วพ่อจะสอนอีกแบบหนึ่งได้หรือยัง?” เขามองหน้าพ่อ “อ๋อ ที่มาเล่นให้ฟังนี้ก็เพื่อให้รู้ว่าเล่นไมเนอร์ได้แล้ว จะขอเรียนแบบเมเจอร์ต่อว่างั้นเถอะ”…