Skip to main content



ช่วงปี 54 มีเรื่องสนุกๆหลายเรื่อง เรื่องนึงที่ฮามากก็คือมันเคยมีการคุยกันว่า มีกลุ่มลับของบรรดาหนุ่มใหญ่น้อย จิ้งจอกสังคม หลอกฟันสาวๆเสร็จแล้วก็เอาเรื่องในที่ลับไปคุยแลกเปลี่ยนกันสนุกปากในห้องที่มีแต่ผู้ชายประเภทเดียวกันสิงสู่อยู่

ผมหูผึ่ง สนใจมากๆๆ (โปรดอย่าถามเหตุผล ) ถามเพื่อนที่เก็บความมาบอกเล่า เธอ ส่งภาพแคปเจอร์หน้าจอที่ว่าเป็นการพูดคุยในกลุ่มมายืนยันโดยทันที

ข้อความในภาพมีประมาณว่า

"...สาวๆเจอผมนี่ไม่ต้องเสียเวลาคุยกันมาก ต่อย ตั๊บๆ เข้าที่หน้าขาซักสองสามหมัด แล้วลากเข้าม่านรูดก็เรียบร้อย..."

เข้าใจถึงความโกรธจนเป็นอาการเกรี้ยวกราดของเพื่อนผู้หญิง ก็ถ้ามีใครไปเจอเหตุการณ์ระยำอย่างนั้นเข้าก็คงจะเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายมากๆ

ยังไม่นับว่ามีการเก็บมาเล่าต่ออวดกันกับเพื่อนในห้องลับ

แต่ผมไม่โกรธ แต่ดันขำจนต้องหัวเราะออกมา เพราะว่าไอ้ข้อความที่เพื่อนผมแคปเจอร์ส่งมาให้น่ะ ผมจำได้!

มันไม่ใช่ข้อความที่โพสต์ในห้องลับที่ไหน แต่เป็นข้อความที่โพสต์ในที่สาธารณะ คนที่โพสต์คือ ไอ้โจว ชิงหมาเกิด โคตรเกรียน เพื่อนของผมเอง

ถ้าใครรู้จักไอ้โจวดีก็จะรู้ว่า คนอย่างมันไม่มีปัญญาไปไล่ล่า เจาะยางลากสาวคนไหนเข้าม่านรูดหรอก ลำพังจะเดินมันยังเดินไม่ค่อยไหวเลย มันทำได้แค่เที่ยวกวนตีน ยั่วให้คนด่าบนเฟซบุ๊กอย่างเดียว

สเตตัสสุดเกรียนของพี่โจวผู้น่ารักของน้องๆ ได้กลายเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีกลุ่มก้าวหน้าล่าสวาท จิ้งจอกสังคมอยู่จริงในกลุ่มเพื่อนๆกัน

งานนี้ผมขำกลิ้ง แต่อีกกรณีผมขำไม่ออก
.....
......
กรณีที่ 2 ผมเคยแมสเสจคุยกับน้องคนหนึ่ง เธอพึ่งเข้ามามีบทบาทในกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงปี 53 เรารู้จักกันช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงเดือน เมษา-พฤษภา 53 หลังจากนั้นผมเคยแมสเสจคุยแลกเปลี่ยนกับเธอบ้าง เพราะเห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์ของเธอในช่วงต่อมามันหนักไปในทางวิจารณ์ขบวนคนเสื้อแดงและนักการเมืองพรรคเพื่อไทยจนดูเหมือนจะมีน้ำหนักมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่ทำการสังหารประชาชนโดยตรง

ผมแลกเปลี่ยนไปประมาณว่า ระดับความรุนแรงของการวิพากษ์วิจารณ์ระหว่างคนที่ฆ่าประชาชน กับ คนที่อยู่ในฝั่งประชาชนด้วยกันมันควรจะมีระดับความรุนแรงต่างกัน และถ้าจะวิพากษ์อย่างรุนแรงมันก็ไม่ควรจะซัดกันในที่สาธารณะ หาเวทีใส่กันตรงๆ แต่เธอไม่เห็นด้วย ก็เลยจบการพูดคุยไป

หลังจากนั้นเริ่มมีอาการบรรยากาศแปลกๆ เพื่อนๆ เริ่มแซะเริ่มแซวว่าผมอวย เป็นลิ่วล้อให้นักการเมือง

กว่าจะฝ่าดงตีนมาได้ก็โดนไปหลายดอก ทั้งขาใหญ่ขาเล็กหัวหงอก หัวดำ ร่วมกันสหบาทาใส่ผมคนละตุ้บ คนละตั้บ สวมหมวกให้ผมเป็นพวกอวยนักการเมืองไปเป็นที่เรียบร้อย

ผ่านมาปีกว่าผมถึงได้รู้ว่า น้องคนที่ผมคุยหลังไมค์ด้วยแคปเจอร์หน้าจอการคุยกับผม "บางส่วน" เอาไปคุยกับเพื่อนในอีกกลุ่มหรืออีกหลายกลุ่มก็ไม่รู้

ถึงได้ตอบโจทย์ได้ว่าท่าทีหมางเมินในช่วงที่ผ่านมาของเพื่อนๆ เกิดจากอะไร (ไม่ได้มีปัจจัยเดียว)

กรณีที่ 2 นี่ขำไม่ออก เพราะเจอกับตัว แต่เนื่องจากมันผ่านมานานแล้ว ไอ้ที่เคยเป็นแผลสดมันก็แห้งเป็นแผลเป็น คีลอยด์ หรือเป็นหนังด้านบนฝ่าเท้าหรือตาตุ่มไป

ถือว่าได้บทเรียนที่สำคัญว่า อะไรที่หลุดพูดออกไปจากปากเราแล้ว ต้องไม่ถือว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว และให้ทำใจเตรียมรับผมกระทบที่ตามมา
ไม่ต้องไปโทษใคร
.......

วัฒนธรรมการแคปเจอร์หน้าจอส่งต่อให้บุคคลที่สาม บุคคลที่อยู่นอกวงสนทนายังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ชาวบ้านชาวช่องใช้กันจนเป็นเรื่องปกติ

หลังรัฐประหาร ปี 57 การแคปเจอร์ข้อความส่วนตัวนอกจากจะเป็นเรื่องเมาท์มอย นินทา หรือประกวดประขันกันแล้ว มันได้กลายเป็นเครื่องมือที่ คสช. ใช้ในการคุกคามผู้คน

ภาพแคปเจอร์ข้อความและภาพหน้าจอที่ฟอร์เวอร์ดกันจากกลุ่มนั้น นี้ ไป นู้น กันอย่างสนุกสนาน ทั้งทางอีเมล์ เฟซบุ๊ก และ ไลน์ ได้กลายมาเป็นหลักฐานชั้นดีในการขยายผล คุกคาม เอาผิด ดำเนินคดีพวกเดียวกัน

จริงหรือเล่น ไม่รู้ กูจับไว้ก่อน ผลงานทั้งนั้น

อยู่ในคุกก็เยอะ เป็นคดีติดตัว เซน MOU หรือขนาดต้องยอมเป็นพยานให้ คสช. ต้องให้การเอาผิดคนอื่นก็มี บัญชีพยานในแต่ละคดีเสื้อแดงยาวเป็นหางว่าว ส่วนใหญ่ในพยานโจทก์ก็เป็นเสื้อแดงด้วยกันนี่แหละ

ที่ยั้งใจไม่เขียนมาโดยตลอดก็เพราะกลัวคนโกรธด่า แต่มาถึงตอนนี้ ใครจะด่าอะไรก็ช่าง

คุกแม่งแน่นจนจะระเบิดแล้ว จะโทษไปที่เฟซบุ๊ก ที่ไลน์ ก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้ทบทวนปัญหาวัฒนธรรมการสื่อสารของผู้คน เพื่อนๆในแวดวง

และหากเห็นว่ามันเป็นปัญหา ก็ช่วยเตือนๆกันด้วยก็แล้วกันว่า วัฒนธรรมการแคปเจอร์หน้าจออาจเป็นการสร้างหลักฐานในการเอาผิดเพื่อนและตัวเราเอง



ดัดแปลงจาก: Facebook Sarayut Tangprasert

 

บล็อกของ gadfly

gadfly
เห็นมีเรื่อง พ่อ-ลูก ซึ้งบ้างไม่ซึ้งบ้าง ฮาบ้างไม่ฮาบ้าง คิดถึงคนที่ไม่มีพ่อ หรือคนที่พ่อไม่ค่อยมีดีอะไรให้อวดนัก แล้วเลยไพล่ไปนึกถึงพี่สุรพล จึงขออนุญาตรำลึกถึงความสัมพันธ์ของพ่อลูกคู่หนึ่งที่ผมสามารถทำได้เพียงเฝ้ามอง
gadfly
จากกรณีของ อ.สายพิณ จนถึงกรณีของ อ.ลลิตา รวมแล้วน่าจะประมาณกว่าสองทศวรรษ เวลาสองทศวรรษสำหรับบ้านเมืองอื่น ผมเชื่อว่าสถานการณ์ การรับรู้ ทัศนะคติ หรือโครงสร้างทางการเมือง-วัฒนธรรม ของพวกเขาน่าจะเปลี่ยนไปเยอะแล้ว แต่สำหรับบ้านเมืองของเรา ผมเชื่อว่ารูปแบบความขัดแย้ง ปรากฎการณ์อาจเปลี่ยนไปบ้าง แต่โดยแก่นแท้แล้วยังคงเหมือนเดิม