ผมอ่านวรรณกรรมไทยแนวสะท้อนสังคมไม่เยอะนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันมันไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผม
ในช่วงวัยแห่งการแสวงหา (ใช้คำว่าแสวงหาแล้วอยากจะอ้วก ถ้าไม่มีเงินค่าอยู่กิน เล่าเรียนจากพ่อและแม่ ก็คงไม่มีโอกาสได้แสวงหาหรอก) มีนักเขียนสองคนที่ผมตามอ่านงานของเขา วิมล ไทรนิ่มนวล เป็นนักเขียนคนแรก เรื่อง "งู" ของวิมล เนื้อหาโหดสัส เข้มขม เหมือนเหล้าขาวราคาถูกที่ผลิตจากวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตร
มันสะท้อนภาพสังคมของคนชั้นล่าง ขณะเดียวก็สะท้อนความเน่าเหม็น ฉาวโฉ่ เช้าฉุ่ย ในระดับโครงสร้างอย่างปิดบังแบบพอเป็นพิธี
งานของวิมลเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผมมีปัญหากับธรรมกายจนเกือบเรียนไม่จบ
น่าเสียดายที่สุดท้ายแล้วนักเขียนคนหนึ่งที่มีความกล้าวิพากษ์ระบบสังคมกลับยอบตัวอยู่ใต้ระบบสถาบันที่ตัวเองเคยวิพากษ์
นักเขียนคนที่สองก็คือเขาล่ะ วัฒน์ วรรยางกูร หรือ สหายร้อย นักปฏิวัติ ศิลปินจากเขตงาน 333 พื้นที่ที่ผมลงหลักเคยเป็นพื้นที่ที่เขาเคยหยัดยืน
เกือบสามสิบปีก่อน อ้วน Kittichai แนะนำให้ผมอ่าน ปลายนาฟ้าเขียว งานของวัฒน์หวานกว่าของวิมล เป็นความหวานแบบเฉิ่มๆ คล้ายกับงานที่เผยแพร่ในนิตยสารทั่วไป มันหวานแบบบ้านนอกคอกนา หวานเหมือนข้าวหมากห่อใบบัว กินเล่นๆ พอได้อารมณ์ครึ้มๆ แต่ผมดันชอบ
ชอบจนถึงกับชวนคู่ชีวิตมาปักหลักในชนบท ซึ่งสุดท้ายถึงแม้จะไม่มีแม่นกเขาไพร แต่ก็มีเจ้าไก่เถือนมาเป็นที่รักถึงสองตัว
งานอีกชิ้นที่ชอบมากก็คือ "ฉากและชีวิต" เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน ประสบการณ์ที่ถมทับทำให้งานของวัฒน์เปลี่ยนไป มันขมขึ้น แต่ก็ยังเป็นความขมปนความหวานแต่ก็มีกลิ่นหอมอ่อนๆของเม็ดข้าว เหมือนกับเหล้าสาโทที่หมักจนแก่กล้าพร้อมที่จะถูกนำไปต้มกลั่นเป็นสุราใส
แต่ที่มากกว่านวนิยายหรือสิ่งที่เรียกให้หรูว่าวรรณกรรม ก็คือชีวิตของวัฒน์เอง
วัฒน์ ไม่ได้ยุติชีวิตในวัย 61 ปี ลงอยู่ตรงที่การเป็นผู้ประกอบการรายเล็กหรือรายใหญ่ วัฒน์เขียนชีวิตของตัวเองให้โลดแล่นอยู่บนเส้นทางการต่อสู้ของประชาชนตลอดมา ชีวิตของวัฒน์ได้กลายเป็นวรรณกรรมชั้นดีไม่ต่างจากงานที่วัฒน์ผลิตออกมา
เขียนเนื่องในโอกาสที่วัฒน์อายุครบรอบ 61 ปี 1 วัน
13 มกราคม 2559
บล็อกของ gadfly
gadfly
เห็นมีเรื่อง พ่อ-ลูก ซึ้งบ้างไม่ซึ้งบ้าง ฮาบ้างไม่ฮาบ้าง คิดถึงคนที่ไม่มีพ่อ หรือคนที่พ่อไม่ค่อยมีดีอะไรให้อวดนัก แล้วเลยไพล่ไปนึกถึงพี่สุรพล จึงขออนุญาตรำลึกถึงความสัมพันธ์ของพ่อลูกคู่หนึ่งที่ผมสามารถทำได้เพียงเฝ้ามอง
gadfly
จากกรณีของ อ.สายพิณ จนถึงกรณีของ อ.ลลิตา รวมแล้วน่าจะประมาณกว่าสองทศวรรษ เวลาสองทศวรรษสำหรับบ้านเมืองอื่น ผมเชื่อว่าสถานการณ์ การรับรู้ ทัศนะคติ หรือโครงสร้างทางการเมือง-วัฒนธรรม ของพวกเขาน่าจะเปลี่ยนไปเยอะแล้ว แต่สำหรับบ้านเมืองของเรา ผมเชื่อว่ารูปแบบความขัดแย้ง ปรากฎการณ์อาจเปลี่ยนไปบ้าง แต่โดยแก่นแท้แล้วยังคงเหมือนเดิม