Skip to main content

บริเวณนั้นทั้งบริเวณเป็นเกาะ สายน้ำไหลเรียบเรื่อยเซาะแก่งหินและรากไม้ใหญ่ริมตลิ่งเป็นเงาเว้าๆแหว่งๆ คือ การออกแบบอย่างลงตัวของธรรมชาติ สายฝนพรำตั้งแต่เริ่มเที่ยง อุโบสถหลังขนาดกะทัดรัดจึงกลายเป็นที่หลบฝนของชาวบ้าน หลายคนอุ้มลูกนั่งยองๆ อยู่ใต้ชายคา เด็กๆ กับเพื่อนบางคนหลบเข้าใต้ถุนอุโบสถขีดเขียนพื้นดินทรายเล่นฆ่าเวลา


ชนกะเหรี่ยงโปจากหลายหมู่บ้านมาร่วมทำบุญปีใหม่ที่อุโบสถกลางน้ำ หมู่บ้านคลิตี้ล่าง หมู่บ้านของมนุษย์ตะกั่ว ..


ปีใหม่แบบไทยๆ แต่ละปี อุโบสถกลางน้ำจะกลายเป็นที่ชุมนุมของคนในหมู่บ้าน ด้วยแรงเชื่อถือศรัทธา ชนกะเหรี่ยงโปจะเดินแห่ร้องรำทำเพลงกันมาเพื่อสรงน้ำพระสงฆ์ เมื่อถึงเวลา ผู้ชายตัวโตๆ จะช่วยกันอุ้มพยุงพระสงฆ์ลงจากบันไดอุโบสถ ชาวบ้านคนอื่นๆ ไม่เว้นหญิงชาย คุกเข่าก้มตัวลงในท่าหมอบคลานสี่ขาเป็นแถวๆ เกร็งหลังให้พระเหยียบ เดินวนรอบอุโบสถ พระรูปอื่นๆ จะเดินทยอยตามๆ กันมาบนหลัง ไม่เว้น แม้กระทั่งเณรที่เพิ่งจะบวชใหม่ ก่อนที่จะมานั่งบนเก้าอี้ที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมเอาไว้ให้ก่อนจะต่อแถวสรงน้ำพระด้วยน้ำอบร่ำแป้งหอม ใครบางคนบอกว่า ทำอย่างนี้แล้วได้บุญแรง ..


ในอดีต บรรพบุรุษของคนกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างย้ายที่ตั้งหมู่บ้านไปตามที่ต่างๆ หลายครั้ง จนในที่สุด ไปปักหลักตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณที่เรียกว่า กองหละและพุโผว่ ซึ่งห่างจากจุดที่ตั้งในปัจจุบันไปทางตะวันตกประมาณ 7 กิโลเมตร ต่อมา จึงได้ย้ายเข้าไปรวมกับหมู่บ้านคลิตี้บน ก่อนจะแยกตัวออกมาตั้งหมู่บ้านใหม่ในที่ตั้งปัจจุบัน


นับเวลาต่อเนื่องนานวัน บ้านคลิตี้ล่างมีอายุมากกว่า 100 ปี นับจากปี 2440 สมัยก่อนลักษณะบ้านเรือนจะปลูกด้วยโครงไม้ไผ่เป็นหลัก หลังคามุงด้วยใบหวายหรือหญ้าคา มีเตาไฟกลางบ้านเพื่อประกอบอาหารให้แสงสว่างและความอบอุ่นแก่คนในครอบครัว


ปัจจุบัน บ้านแต่ละหลังแข็งแรงขึ้นด้วยไม้แผ่นใหญ่และหลังคาสังกะสี ..


น้ำอบประพรมลงบนจีวรสีฝาดพร้อมกับรอยยิ้มอิ่มบุญ ชาวบ้านแต่ละคนส่งเสียง “สาธุ” ดังไปทั่วบริเวณอุโบสถกลางน้ำ แป้งสีขาวประพรมอยู่บนใบหน้าของชนกะเหรี่ยงชายหญิงที่เข้าร่วมพิธี บ้างก็รดน้ำกันเอง บ้างก็ร้องรำทำเพลงครื้นเครงไปตามวิถีปฏิบัติ


คลิตี้ เป็นคำเรียกในภาษาไทยที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า คี่ถี่ ซึ่งมีความหมายว่า เสือโทน ชาวบ้านในแถบนี้เชื่อว่ามีเสือโทนตัวหนึ่งอาศัยและหากินอยู่ในอาณาบริเวณนี้ กินพื้นที่ตั้งแต่ทุ่งใหญ่นเรศวร ลำคลองงู แม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแควน้อย คนเฒ่าคนแก่ที่เคยพบเห็นเล่าว่า เคยเจอรอยเท้าเสือ “ใหญ่เท่ากับเท้าช้าง”


นอกจากนี้ ชาวบ้านยังเชื่อว่า เสือโทน ยังคอยปกปักรักษาให้หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข หากใครประพฤติไม่ดี เสือโทนจะโกรธและก่อให้เกิดเภทภัยต่างๆ นานา เสือโทนจึงเป็นเครื่องมือในการกำกับพฤติกรรม ตั้งแต่ความคิดถึงการกระทำ .. เช่น ถือความสัตย์ พูดความจริง ไม่พูดหยาบโลน ครอบคลุมไปถึงเรื่องการกินการอยู่ เล่ากันว่า เวลารับประทานอาหาร ชนกะเหรี่ยงคลิตี้จะนั่งพับเพียบเรียบร้อยเพื่อสวดมนต์ระลึกถึงคุณค่าของอาหารที่ธรรมชาติได้ประทานมาให้


ปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องเสือโทนเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับการมาถึงของความศิวิโลซ์จากโลกภายนอกและสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ชื่อเดียวกับชื่อหมู่บ้าน ..

ย้อนหลังนับเวลาไปราวสิบปีที่แล้ว ช่วงปี 2540-2541 กรณีสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ถูกเผยแพร่โดย เอ็นจีโอ นักวิชาการและสื่อมวลชน จนเป็นที่รับรู้ของสาธารณะชนวงกว้าง เมื่อบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปล่อยน้ำปนเปื้อนตะกั่วจากโรงแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้


ค้นพบในเวลาต่อมาว่า การปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยและตะกอนท้องน้ำบริเวณใต้โรงแต่งแร่สูงตลอดลำห้วย เป็นระยะทางยาวกว่า 19 กิโลเมตร เฉพาะบริเวณอันเป็นจุดที่ตั้งของหมู่บ้าน ตรวจสอบพบว่ามีสารตะกั่วปนเปื้อนเกินเกณฑ์มาตรฐานที่มนุษย์และสัตว์จะรับได้


เกิดโรคภัยไข้เจ็บอันหาสาเหตุไม่ได้ ปลาในลำห้วยลอยตาย สัตว์เลี้ยง เช่น วัวควายเสียชีวิตและคนในหมู่บ้านมีอาการแขนขาชา มือเท้าและตัวบวมอย่างผิดปกติและมีอาการประสาทอย่างไม่ทราบสาเหตุ เมื่อไปหาหมอ หมอจะไม่วินิจฉัยโรคแต่จ่ายยาแก้ปวดบวมมาให้ทาและพาราเซตามอลมาให้รับประทาน

ปัจจุบัน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า ปริมาณสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้สูงเกินกว่ามาตรฐานแต่ไม่ยอมรับว่าอาการป่วยของชาวบ้านมีสาเหตุมาจากการรับพิษสารตะกั่วในลำน้ำหรือชาวบ้านสามารถใช้น้ำในการอุปโภค-บริโภคหรือลงเล่นน้ำได้แต่อย่าพยายามทำให้ตะกอนข้างล่างฟุ้งขึ้นมาเหนือผิวน้ำ


นับว่าเป็นวิธีการง่ายๆ ที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขให้ความช่วยเหลือ


ชนกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างเคยหาของป่าและทำไร่ข้าวเพียงพอกินเท่านั้น มีการทำเกษตรเป็นแบบไร่หมุนเวียน ภูมิปัญญาเก่าแก่ที่รักษาระบบในธรรมชาติไม่ให้บอบช้ำ ด้วยการปลูกข้าวไร่และพืชผัก 1-2 ปี แล้วปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัว เปลี่ยนไปใช้พื้นที่ไร่ซากเก่าซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่ทำไร่มาแล้วเมื่อ 5-10 ปี ก่อน


พืชหลักได้แก่ ไร่ข้าว เมื่อถึงฤดูทำไร่ข้าว ทุกครัวเรือนจะหยอดเมล็ดข้าวพร้อมเมล็ดผัก ตั้งแต่ พริก แตงไทย แตงเปรี้ยว ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักชีหอม ผักชีลาว ผักขี้โอ้ง ข้าวโพด โดยไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น ผักจะขึ้นพร้อมกับข้าวในพื้นที่ไร่และเก็บกินได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม


ต่อมา เมื่อถูกจำกัดพื้นที่ทำกินโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ครอบครัวหนึ่งจึงเหลือพื้นที่ทำกินเพียง 3-5 แปลงนอกจากนี้ ยังเลี้ยงสัตว์ แต่หลังจากเหมืองแร่ปล่อยสารตะกั่ว ทำให้เป็ด วัว ควายล้มตาย ชาวบ้านจึงขายทิ้ง


ลำห้วยคลิตี้เป็นสายน้ำสายหลักของคนพื้นถิ่นนี้ โดยเฉพาะหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ต่างใช้อุปโภคบริโภค ถึงแม้ปัจจุบัน ศาลชั้นต้นจะสั่งชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้าน 8 คน ในวงเงิน 4 ล้านบาท จากการร่วมกันฟ้องร้องเป็นจำนวนเงินมากกว่า 10 ล้าน บาท ในเดือนสิงหาคมของปีที่ผ่านมา (.. 2550)


แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับลำห้วยและวิถีชีวิตเป็นสิ่งที่ชดเชยกันอย่างไรก็คงไม่คุ้มค่า


แม้ว่าวันนี้ ชนกะเหรี่ยงคลิตี้จะดูเหมือนคนปกติทั่วไปแต่อาการเจ็บป่วยผิดปกติยังคงปรากฏให้เห็นและยังลุกลามไปถึงลูกหลานของคนที่นั่น


วันนี้ น้ำในลำห้วยคลิตี้ยังคงใสเย็น บริเวณน้ำตก เด็กๆ หนุ่มๆ สาวๆ ทั้งในถิ่นและต่างหมู่บ้านที่มาร่วมงานปีใหม่ไทย ต่างลงเล่นน้ำดำผุดดำว่าย ป่าสีเขียวทึบปล่อยสายแดดยามบ่ายลอดลงมาตามกิ่งใบสะท้อนบนผิวน้ำมองเห็นเป็นประกายวาววับสวยงาม หากซ่อนเร้นความมักง่ายของคนบางกลุ่มที่ไม่คำนึงถึงระบบชีวิตในธรรมชาติ ชุมชน คน เพื่อนร่วมโลกอื่นๆ ที่ต้องอยู่ร่วมกัน


.....


ปัจจุบัน ศาลพิพากษา กรมควบคุมมลพิษล่าช้าแต่ไม่ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยให้ระบบธรรมชาติค่อยๆ ฟื้นตัวเองและห้ามชาวบ้านทำตะกอนในลำห้วยฟุ้งขึ้นมาบนผิวน้ำ


สายน้ำคลิตี้ สวยอยู่กลางป่าสีเขียว แต่พิษตะกั่วยังตกค้าง


ความเชื่อและแรงศรัทธา


 

 

งานบุญปีใหม่ไทย จะอุ้มพยุงพระเดินบนหลังชาวบ้านผู้ศรัทธา ตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง






โจวทิไผ่และโจวหล่อพ่อ ผู้ได้รับผลกระทบจากพิษสารตะกั่ว






นับนิ้วดูสิครับ






ชาวบ้านคลิตี้ร่วมงานบุญและดูและรักษาป่า



บล็อกของ กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ความโกลาหลเริ่มต้น ,07.00 น. ,เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งเตรียมงานของพวกเขาพร้อมกับการอารักขาของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ,ฟายซาบัด แบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็น 2 ฝั่ง มีแม่น้ำค็อกช่าคั่นระหว่างเมือง ,ฝั่งหนึ่งเป็นเขตเมืองเก่า อีกฝั่งเป็นเขตเมืองใหม่
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ยาดาถูกส่งไปอำเภอบันดักชาน จังหวัดฟายซาบัด ,เมืองทางตอนเหนือติดกับทาจิกิสถาน ปากีสถานและมณฑลซินเจียง ประเทศจีน ที่ตั้งของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอูยกูที่เพิ่งเป็นข่าวดังไปทั่วโลกถึงปมขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติกับชาวฮั่น
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ทิวเขาเหยียดยาวระหว่างนั่งเครื่องบิน เป็นอีกหนึ่งโฉมหน้าของประเทศแห่งนี้ ภูเขาสีน้ำตาล ท้องทุ่งสีเขียว ข้าว ผลไม้และความสมบูรณ์ของสายน้ำ
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
08.00 น. ของวันเสาร์ ที่ 15 สิงหาคม 2552 เสียงระเบิดดังสนั่นใจกลางเมืองคาบูล์ ไกลออกไป 3 กิโลเมตร กระจกโรงแรมแคปิตอล อินน์ เขย่าประหนึ่งว่าจะแตกร้าวเสียตรงนั้น ทีมสังเกตุการณ์การเลือกตั้ง คนหนึ่ง หมอบกับพื้นห้องน้ำ อีกส่วนหนึ่งวิ่งขึ้นดาดฟ้าโรงแรม มองเห็น ควันไฟบริเวณสำนักงานใหญ่กองกำลังนานาชาติ นาโต้ ประจำอาฟกานิสถาน พวยพุ่งสู่ท้องฟ้า
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าว BBC เสนอข่าวเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่เกิดขึ้นหน้าสำนักงานใหญ่กองกำลังนาโต้ภายในกรุงคาบูล ขณะกลุ่มตาลีบัน ออกแถลงการณ์จะทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศและออกมายอมรับว่าตนเองเป็นผู้ก่อเหตุ ก่อนจะยืนยันว่า กองกำลังตะวันตกต้องถอนตัว
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
เด็กชายหม่อง ทองดี อายุ 12 ปี นั่งพับกระดาษอยู่บนโต๊ะ เขารอผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ "วันนี้พับไปกี่แผ่นคะ" นักข่าวคนสวยถาม "หลายแผ่นคับ" เด็กชายแหงนหน้ามองขณะที่มือยังพับกระดาษ "เซ็นชื่อให้ด้วยนะ" นักข่าวคนเดิมยิ้ม เด็กชายหยิบปากกาขึ้นมาเขียนชื่อตัวเองลงบนปลายปีเครื่องบินกระดาษ ดูเหมือนเด็กชายหม่องจะไม่เข้าใจว่าผู้ใหญ่กำลังจะทำอะไรเขา ...
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
แมงมุมสีเหลือง --เหมือนมีดวงตาอยู่ที่ก้น ,จุดเล็กๆ สีดำสองจุดเด่นชัด คล้ายกับจ้องหน้าผมอยู่ตลอดเวลา ---มันกำลังกินแมลงปอขนาดหนึ่งนิ้ว บนใยสีเงินที่ถักอยู่ระหว่างกิ่งไม้แห้งๆ 2 กิ่ง อย่างเมามัน 
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ท้องฟ้าเพิ่งตื่นนอน ,ผมหยิบถุงน้ำปลาออกมาจากกระเป๋า รูดเอายางรัดปากถุงออกอย่างระมัดระวัง ถึงแม้จะเป็นน้ำปลาแท้ตราปลาหมึกแต่ให้มันทำหน้าที่น้ำปลาพริกคลุกข้าวสวยร้อน ๆ จะดูเหมาะสมกว่า ,ผีเสื้อกินเค็ม มันชอบ
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
เช้าวันสุดท้าย ในดาก้า อีกวันที่อากาศแจ่มใส บนถนนสายหนึ่ง ใจกลางเมือง นักศึกษากลุ่มเล็กๆ จากมหาวิทยาลัยดาก้ากำลังทำงานของพวกเขา ชายหนุ่มหญิงสาวกลุ่มใหญ่กำลังมุงดูวงดนตรีพื้นบ้านริมถนนสายหลัก
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ยิ่งเข้าใกล้วันเลือกตั้งดูเหมือนเมืองจะวุ่นวายชนิดที่ไม่เคยวุ่นวาย บนถนน จากดาก้าไปจิตตะกอง ตัวเมืองจิตตะกอง ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองเล็กๆ อย่างคากราชาริที่ใช้ขบวนรถจิ๊ปออกมาชุมนุมหาเสียงสนับสนุน
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
เช้าตรู่ หมอกยังไม่ทันจาง เพื่อนผมแซะตัวเองออกจากเตียงนอนเพื่อลงสัมภาษณ์ชาวบ้าน ประเด็นที่ต้องการ คือ ,รัฐบาลเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชนของตัวเองแค่ไหน ...