ปลูกป่า สร้างร่มเงา
โคลนสีแดงเหนียวหนึบค่อยๆ ซึมผ่านถุงมือไหมพรมสีขาว ท่อนไม้แหลมเหลาปลาย ถูกกระทุ้งลงดินแข็ง แล้วคว้านเป็นหลุมกว้างขนาดพอจะใส่กล้าไม้
ฉีกถุงเพาะกล้าเบาๆ สองมือค่อยๆ โอบประคองดินดำห่อหุ้มต้นอ่อนลงในหลุมที่ถูกคว้านและตีกลบเบาๆ ให้ดินแน่น
นำถุงเพาะกล้าครอบบนแนวไม้ที่ปักเอาไว้ ใบเล็กๆ สีเขียวบนลำต้นบอบบางตั้งฉากเป็นแนวดิ่งเป็นอันเสร็จขั้นตอนสำหรับการปลูกกล้า พร้อมกับหัวใจของแต่ละคนที่หวังว่า
กล้าเล็กๆ จะเติบโตเป็นป่า ให้ร่มเงาแก่ผืนดินและโลก
...
กิจกรรมร่มไม้ข้างทางของกลุ่มอาสาสมัครรักษ์ธรรมชาติหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า V4N ร่วมกับ มูลนิธิเขมไชยรสานนท์ที่เน้นการช่วยเหลือให้ทุนการศึกษาเด็กยากจนในชนบท เป็นต้นเรื่องที่นำอาสาสมัครหัวใจสีเขียวจำนวน 50 คน เดินทางไปปลูกป่า 10-12 ตุลาคม 2551 ที่ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่
กล้าไม้ 3,000 ต้น ถูกวางตามจุดต่างๆ เป็นระยะทาง 2.5 กิโลเมตร อาสาสมัครหัวใจสีเขียวกระจายกำลังเป็นจุดๆ โดยมีคู่หูช่วยกันขุด ช่วยกันกลบ คนหนึ่งจะถือไม้แหลมสำหรับคว้านดินให้เป็นหลุม ส่วนอีกคนจะค่อยๆ ประคองต้นไม้ลงหลุม บางทีหลุมไม่ลึกและกว้างพอ ต้องช่วยกันกระทุ้ง คว้านและช่วยกันประคองต้นไม้ลงหลุมที่ขุดเอาไว้
สองมือของอาสาสมัครจับกอแฝกลงหลุมข้างทาง การปลูกหญ้าแฝกเป็นงานหนัก เพราะจะต้องคว้านหลุมบนดินสีแดงแข็งข้างถนน แฝกเป็นพืชในตระกูลหญ้าที่มีความอดทน พบได้ในทุกสภาพพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ลุ่มชุ่มน้ำหรือที่ดอนกระด้าง เมื่อโตเต็มที่จะขยายเป็นกอหนาแน่นก่อนจะแตกรากออกไปในพื้นที่แวดล้อมอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมดินและกรองตะกอนเอาไว้ไม่ให้ถูกชะล้างเป็นปราการในธรรมชาติที่ช่วยคืนความชุ่มชื้น
อีกพวกอยู่ในกลุ่มกล้าไม้ชายเลน จำพวก สารภีทะเล โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ แสมขาว แสมดำ โปรงแดง โปรงขาว "ต้นไม้พวกนี้จัดอยู่ในประเภทไม้เบิกนำของระบบนิเวศป่าชายเลน" ‘พี่หน่อง' หนึ่งในเจ้าหน้าที่สถานีเพาะชำกล้าไม้ จ.กระบี่ คนใจดีที่อาสามาช่วยกิจกรรมร่มไม้ข้างทางเริ่มอธิบาย "หรือป่าโกงกางที่เราได้ยินกันบ่อยๆ "
โกงกางเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ แต่มีรากเสริมออกมาเหนือโคน รากค้ำยันพวกนี้จะระเกะระกะไม่เป็นระเบียบ ใบเดี่ยวเรียงตรงเป็นคู่ขึ้นสู่ยอด ตั้งฉาก สลับกันไปมา ดอกและผลจะตูมเหมือนไข่ไก่ เติบโตในสภาพภูมิประเทศแถบชายฝั่งทะเล อ่าว ปากน้ำและเกาะ
พืชจำพวกนี้เป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์ทะเลทุกชนิดและที่สำคัญเป็นปราการธรรมชาติที่ป้องกันคลื่นยักษ์ซัดชายหาดหรือสึนามิ "หลังจากนั้น เมื่อป่าชายเลนสมบูรณ์ขึ้น จะเกิดไม้จำพวก ตะเคียนทอง หลุมพอ กระถิน เทพา จนกลายเป็นป่าสมบูรณ์ในที่สุด" พี่หน่องยิ้ม ก่อนจะก้มลงหยิบไม้เหลาปลาย เดินนำอาสาสมัครไปปลูกกล้าไม้
"มีปูด้วย" ใครคนหนึ่งร้องออกมาอย่างตื่นเต้น
"ตัวเล็กนิดเดียว" ใครบางคนเสียดาย เมื่อเห็นปูตัวใสๆ หลบลงรู หลังจากเห็นคนแปลกหน้ามายืนมุง ก่อนจะพ่นฟองออกมาปุดๆ
ดวงทิพย์ อนันต์มนตรี หรือ มะปราง นักศึกษาเทคนิคการแพทย์ ชั้นปีที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัดสินใจกระโดดขึ้นรถมาทำงานอาสาสมัครด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดความร้อนให้โลก เธอบอกว่า เป็นคนที่ชอบท่องเที่ยวไปในโลกธรรมชาติ
"แม้ว่าจะต้องเหนื่อย ร้อน เลอะเทอะ แต่การได้ออกมาทำกิจกรรมแบบนี้ทำให้เราผ่อนคลายไปด้วย สนุกสนานและเจอเพื่อนใหม่ๆ ที่เราไม่รู้จักกันมาก่อน"
จากมือที่คุ้นเคยกับอุปกรณ์ตรวจโรค ต้องมาจับท่อนไม้และหญ้าแฝกลงหลุม
เธอยืนยันด้วยรอยยิ้ม ระหว่างที่นำโกงกางใบเล็กลงหลุม "เหนื่อยแต่สนุกสุดๆ ค่ะ"
เหมือนกับ กิ๊ฟ นาถสุดา ชื่นชม ที่ยืนยันว่า แม้จะเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานในออฟฟิศมาทั้งอาทิตย์ แต่การออกมาทำกิจกรรมแบบนี้ สำหรับเธอนั้น ดีกว่าไปเดินห้างหรือดูดีวีดี(เกาหลี)อยู่กับบ้านเป็นไหนๆ
"สิ่งเราได้รับ คือ ประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป หาไม่ได้ในออฟฟิศค่ะ"
กล้าเล็กๆ จะเติบใหญ่เป็นร่มไม้ข้างทาง ให้ร่มเงาแก่โลก
ปลูก ปลูก ปลูก
มุ่งมั่น มุ่งมั่น มุ่งมั่น
ขุดและปลูก ... คู่หูสีเขียว
กลบดินพร้อม หัวใจสีเขียว
ร่มไม้ข้าง จากถุงสู่ดิน
แดดร้อนเปรี้ยง แต่จิตใจสีเขียวล้นหลาม
มะปราง นักเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถอดถุงมือมาแล้วเลอะอย่างนี้แหละ!!