Skip to main content

 

เป็นเวลาสองปีเต็มพอดี นับตั้งแต่วันที่ผมเป็นเด็กจบใหม่ที่มองหางาน แล้วเดินหลงเข้ามาในแวดวงการทำงานที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ไม่ค่อยมีใครยอมรับ ไม่ค่อยมีใครเข้าใจ ภายใต้ชื่อยาวๆ ที่ไม่ค่อยสื่อความหมาย อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
 

ใน วัยหนุ่มสาวที่มีไฟฝันของผม ยุคสมัยหนึ่งที่ยังเป็นนักศึกษา ผมเคยออกแสวงหาเส้นทางการทำเพื่อสังคม และไปลงที่กิจกรรมงานอาสาสมัคร ประเภทที่ในที่นี้ขอเรียกว่า “งานอาสาสมัครแท้ๆ” อยู่ 2-3 ปี งานที่ทำก็เช่น ค่ายอาสาพัฒนชนบท ทาสีโรงเรียน ทำกิจกรรมกับเด็กๆ สอนหนังสือเด็กในชุมชน อ่านหนังสือให้คนตาบอด เข็นรถให้คนพิการ ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นงานเล็กๆ ทำแล้วเสร็จสำเร็จในตัวของมัน ผมและเพื่อนทุกคนต่างก็ทำไปด้วยใจแท้ๆ ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีค่ารถ สมัครใจไปทำเพราะอยากให้อะไรกับสังคม เป็นกิจกรรมแนวที่คนในสังคมเห็นตรงกันว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นงานเสียสละ บางคนเรียกมันว่า “งานจิตอาสา” ผมเองเรียกมันว่า “งานอาสาสมัคร” 

ช่วง ที่คลุกอยู่ในวงการนั้นเอง ก็ได้เห็นผู้ใหญ่ในวงการหลายคนพยายามจะนิยามว่า “อาสาสมัคร” มีความหมายว่าอะไร ซึ่งก็แตกต่างกันไป มีทั้งเรื่องของ งานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เรื่องของสังคมส่วนรวม เรื่องของการลงมือทำเอง แต่ทั้งหมดที่ตรงกันมีอยู่หนึ่งอย่าง คือ เป็นงานที่ทำโดยไม่หวังผลตอบแทน แม้ว่าผมจะค่อนข้างเบื่อหน่ายกับการพยายามกำหนดนิยามความหมาย แต่ผมก็เห็นตรงตามนั้น และออกจะรู้สึกหวงแหนคำๆ นี้อยู่พอสมควร

และนั่นเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่พาผมเดินพลัดหลง มายัง “มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม” (มอส.) กับการสมัครงานภายใต้ไอ้ชื่อยาวๆ นั่น ทั้งที่วันเวลานั้นผมไม่ได้เข้าใจอะไรเกี่ยวกับมันเลย

แรก เริ่มเดิมผมทีก็ตั้งคำถามกับภารกิจที่ต้องปฏิบัติภายใต้ชื่อ “อาสาสมัคร” เพราะมันไม่ได้ใกล้เคียงกับงานอาสาสมัครแท้ๆ ที่เคยรู้จักสักเท่าไร แถมเป็นงานที่ได้ค่าตอบแทนประจำรายเดือน 7,000 บาท บางคนที่มาทำก็ทำในฐานะที่เป็นงานประจำ หารายได้เลี้ยงปากท้อง

ใน วาระปฐมนิเทศก่อนเริ่มทำงาน ผมตัดสินตั้งคำถามใส่เจ้าหน้าที่ของมอส.คนหนึ่ง ว่าเหตุใดจึงใช้คำว่า “อาสาสมัคร” กับงานที่มีค่าตอบแทนได้ คำตอบที่ได้ก็ประมาณว่า เรามาเพื่อเรียนรู้ ส่วนเงิน 7,000 นั้นก็คือให้น้อยที่สุดแล้ว ไม่ถือเป็นค่าตอบแทนแต่เรียกว่า “ค่ายังชีพ” ซึ่งเหตุผลชุดนี้ก็ยังไม่พอปิดข้อสงสัยผมได้เท่าใดนัก

 

เพียง แค่เวลาสี่เดือน เมื่อผมกับเพื่อนๆ ร่วมรุ่นได้มานั่งพูดคุยกันถึงงานที่ทำกับความรู้สึกต่อมัน เพื่อนคนหนึ่งทำงานปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ คนพม่าหนีตายเข้ามาเอาตัวรอดในประเทศไทย แต่กลับถูกนายจ้างทำร้าย กดขี่ค่าแรง คงมีคนบางคนเท่านั้นที่เข้าใจ เพื่อนเล่าให้ฟังว่าออฟฟิศอยู่ใกล้ชายแดน ได้ยินเสียงปืน เห็นคนพม่าวิ่งข้ามชายแดนเข้ามาเป็นเรื่องปกติ เขายังเคยเดินข้ามแดนไปแล้วต้องวิ่งหลบระเบิดกลับมาเหมือนกัน แต่ทั้งหมดนี้เขาเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและตั้งใจที่จะทำงานอยู่กับมันอย่างสนุกสนาน
 
เพื่อนอีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิง ลงทำงานในพื้นที่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบรัษัททุนขนาดใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมกับชาวบ้านในพื้นที่ ออฟฟิศอยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง เพื่อเก็บข้อมูลเพื่อสร้างความคุ้นเคยต้องหัดพูดภาษาถิ่น อยู่กินนอนกับชาวบ้าน ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ วันละ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด จะกินพิซซ่าก็ไม่ได้เพราะชาวบ้านกินข้าวเหนียว แม้แต่การจะนอนจะกินข้าวก็ล้วนเป็นงานทั้งนั้น แม้เธอจะบ่นแต่ก็ยังยิ้มไปก้มหน้าก้มตาทำไป
 
เพื่อนอีกคนหนึ่งเป็นรุ่นพี่ ทำงานบริษัทกฎหมายเอกชนที่เงินเดือนสูงกว่ามาก่อน แต่มาเลือกทำงานประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่ไปพบชาวบ้านที่ถูกทหารจับไปซ้อมจนกระโหลกยุบสติฟั่นเฟือน สูญเสียสภาพความเป็นคน เธอเล่าให้ผมฟังด้วยอารมณ์และน้ำเสียงที่สั่นเครือ เธอปฏิญาณจะต่อสู้อย่างแข็งขันเพื่อหาความถูกต้องกว่านี้ให้เจอให้ได้
 
วันนั้นผมเข้าใจอะไรขึ้นมามาก
 
ในโลกนี้มีงานมากมายที่จำเป็นต้องมีใครสักคนทำ แต่ไม่ค่อยมีใครอยากทำ ถ้าหากมีใครสักคนที่สมัครใจก้าวเข้าไปทำ ไม่ใช่เพราะค่าตอบแทน แต่เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ควรจะทำในฐานะมนุษย์ธรรมดา และคุณค่าของงานนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อผู้ที่มีอำนาจน้อยที่สุดในสังคม จะไม่ให้นับเขาว่าเป็นคนทำงาน “อาสา” ได้อย่างไร
 
 
ในสังคมยุคที่วันเวลาเดินทางอย่างรวดเร็ว ดูเหมือนผู้คนจะมีรูปแบบความหวังในชีวิตคล้ายกันไปเสียหมด “เงิน” เป็นปัจจัยที่นอกจากจะตอบสนองความต้องการชั่วขณะได้แล้ว เงินยังซื้อความฝันของหลายคนได้ การมีบ้าน มีรถ มีครอบครัว มีเงินเก็บพอประมาณ ได้เดินทางรอบโลก มีฐานะทางการงาน มีฐานะทางสังคม และชีวิตที่มี “ความมั่นคง” เป็นหมุดหมายที่หลายคนต้องไต่ไปให้ถึง และแทบไม่มีใครยอมปล่อยเวลาตัวเองแม้เพียงเล็กน้อยเพื่อแวะเวียนออกนอกเส้นทางนั้น อย่าว่าแต่เวลาเป็นปีเลย
 
คนทำงาน “อาสาสมัครแท้ๆ” นั้น ทำงานเพื่อผู้อื่นด้วยความเสียสละ ให้ใจอาสากับมันอย่างเข้มข้นเท่าที่พลังของตัวเองจะมี เท่าที่ทำแล้วยอมรับนับถือตัวเองได้ ขณะที่ยังไม่ปล่อยมือ ทอดทิ้งทางฝันของตัวเอง ยังทำงานเก็บเงิน ไต่เต้าไปตามหา “ความมั่นคง” ให้กับชีวิตตัวเองอยู่
 
ด้วยความที่เป็นสมาชิกในสังคมเดียวกัน หมุดหมายเหล่านั้นคงไม่มีใครไม่อยากไป แต่พวกเขา – อาสาสมัครของ มอส. กลับเดิน “ออกนอกลู่นอกทาง” ของคนอื่น
 
เพราะรู้ว่าการเดินทางตรงเพียงเส้นเดียวไม่ได้ให้คำตอบที่สมบูรณ์นักกับปัญหาในสังคมไทย ชีวิตบนทางเดินที่แตกต่าง ชีวิตที่ไม่มีใครเข้าใจ ชีวิตที่ต้องต่อสู้บนความขัดแย้ง ชีวิตที่ต้องคอยตอบคำถามพ่อแม่ว่า “ทำไม?” ชีวิตที่ต้องคอยตอบคำถามตัวเองว่า “ถึงเมื่อไร?” ชีวิตที่ไม่มีเงินเก็บ ชีวิตที่สังคมไม่เคยยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี เหล่านี้เป็นชีวิตที่พวกเขากล้าเลือกกระโดดเข้าไปหามัน พวกเขาไม่ได้มอบเพียง “ใจอาสา” ให้กับงานที่ทำ แต่ได้มอบ “เวลา” ในชีวิต กับ “หมุดหมาย” ของชีวิตให้กับอะไรบางอย่างที่มากกว่าประโยชน์ของตัวเอง เพราะพวกเขาได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น
 
อาสาสมัครของ มอส. ไม่ใช่ อาสาสมัคร ในความหมายของอาสาสมัครแท้ๆ ที่สังคมเข้าใจกันอยู่เลย
พวกเขาไม่ได้เอาแรงมาให้แล้วไม่รับเงิน แต่พวกให้อย่างอื่น
ซึ่งถ้ามองในแง่การเสียสละที่มีต่อสังคม พวกเขาไปไกลกว่าคำว่า “อาสาสมัคร” แล้ว
 

 

 

 

 

*ตอบคำถามนี้ได้นานแล้ว เขียนขึ้นวันนี้(25-06-54) เนื่องในทำงานมาจะครบสองปีแล้ว และน้องรุ่น 6 กำลังจะมา เผื่อว่ามีใครตั้งคำถามคล้ายๆ กัน

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
                          
นายกรุ้มกริ่ม
ผมเขียนบันทึกฉบับนี้หลังจากล่วงเลยเวลาที่ผมควรจะเขียนมาปีกว่า เพื่อรำลึกถึงพี่สาวคนหนึ่งที่สอนข้อคิดให้กับพวกเราไว้มากมายโดยที่เธอไม่ได้ตั้งใจ เพื่อฝากเรื่องราวของเธอไว้สำหรับทุกคนที่พบผ่าน และเพื่อจดจารให้เธออยู่ในใจของเราเสมอ นานเท่าที่จะทำได้
นายกรุ้มกริ่ม
 หลังจากนั่งรถทัวร์ออกจากกรุงเทพฯ ตอนหกโมงเย็น ทันทีที่เท้าเหยียบตัวอำเภอละงู จังหวัดสตูล ตอนเก้าโมงเช้าของวันใหม่ ผมก็ถูกโยนขึ้นท้ายกระบะของคนไม่รู้จัก และเข้าร่วมขบวนโพกผ้า ติดธงเขียว เขียนว่า “ปกป้องสตูล” “STOP ท่าเรืออุตสาหกรรม” 
นายกรุ้มกริ่ม
  "ประกาศรัฐสภา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
นายกรุ้มกริ่ม
จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง                    อยากจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง อยากเสกสรรค์ วันอ้างว้าง ทางสับสน อยากเผื่อแผ่ แง่งามใส่ หัวใจคน
นายกรุ้มกริ่ม
                        จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางทุ่งหญ้า  จะสุมไฟ ใต้ฟ้า ท้าความหนาว จะไกวเปล เหล่ดารา พาพร่างพราว จะไล่เรียง เสียงสายราว ดาวดนตรี  
นายกรุ้มกริ่ม
  จะวาดเทียน เขียนรุ้ง ทุกทุ่งหญ้า 
นายกรุ้มกริ่ม
 
นายกรุ้มกริ่ม
เป็นยามเช้าที่วุ่นวาย และแสงแดดร้อนจัด ผมตื่นแล้วรีบวิ่งมาขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบในชั่วโมงเร่งด่วนที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน เพื่อไปให้ถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหง 
นายกรุ้มกริ่ม
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 วันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดี อากง จำเลยคดีส่ง SMS หมิ่นฯ เข้ามือถือเลขาฯนายกอภิสิทธิ์ 4 ข้อความ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยังโอบล้อมเมืองหลวงอยู่ไม่ห่าง ต้องลุ้นกันวันต่อวันว่านัดอ่านคำพิพากษาจะถูกเลื่อนเหมือนคดีอื่นๆ หรือไม่