คนอเมริกันและลามถึงคนทั่วโลกด้วยกระมัง ที่เหมือนตื่นจากความหลับใหล พบแดดอ่อนยามรุ่งอรุณ เมื่อได้ประธานาธิบดีใหม่ที่ชนะถล่มทลาย คนหนุ่มไฟแรง ผิวสี เอียงซ้ายนิดๆ ผู้มาพร้อมสโลแกน "เปลี่ยน เปลี่ยน เปลี่ยน และเปลี่ยน" แม้ผู้คนยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะเปลี่ยนได้ไหม เปลี่ยนไปสู่อะไร (เพราะอเมริกาไม่มีหมอลักษณ์ฟันธง หมอกฤษณ์คอนเฟิร์ม) แต่ขอแค่โลกนี้มีหวังใหม่ๆ ความเปลี่ยนแปลงสนุกๆ ก็ทำให้ชีวิตกระชุ่มกระชวย ท้องฟ้าสดใสกว่าที่เคยเป็นได้ง่ายๆ
มองไปที่อื่นฟ้าใส แต่ทำไมฝนมาตกที่ประเทศไทยไม่เลิก บ้านนี้เมืองนี้ ผู้คนพากันนอนไม่หลับ ฟ้าหม่น ฝนตก หดหู่มายาวนาน นานกว่าเมืองหนึ่งใน ‘100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว' ของมาเควซ มหัศจรรย์กว่าเป็นไหนๆ คนที่นี่ยังตกอยู่ในสภาวะอึดอัด เก็บกด จะระบาย จะพูดคุย จะแลกเปลี่ยนกับใครก็ลำบาก
ใครหน้าไหนเคยเรียกร้องให้คนไทยเป็น active citizen สนใจเหตุบ้านการเมือง ตอนนี้หายห่วง การเมืองซึมเข้าทุกประตูครัว พ่อเปิดทีวีช่องนึง ลูกสาวเปิดอีกช่อง ผัวมีมือตบ เมียมีตีนตบ พี่เสื้อเหลือง น้องเสื้อแดง น้าเสื้อเขียว ฯลฯ ขนาดเพื่อนสนิทมิตรสหายรอบตัวก็ยังต้องสกรีนแล้วสกรีนอีก "ไอ้นี่สีอะไร" ...เพื่อให้ปลอดภัยต่อหัวใจบางๆ หลายคนเลยใช้มาตรการ "เลิกพูดเรื่องการเมือง" ... เหลือแต่ความบื้อใบ้และรอยยิ้มพิมพ์ใจ
ส่วนคู่ขัดแย้งใหญ่และบรรดาหางเครื่อง (ทั้งที่ยอมรับและยังขัดเขิน) พวกเขายังคงพูดคุยการเมืองกันเสียงดัง แต่ต่างคนต่างคุย หาจุดลงตัวกันไม่ได้ (เนื่องจากมีแบ็คดีทั้งคู่) คุยไปพลาง สำแดงพลังให้ได้ขนลุกซู่ ชูชันกันเป็นพักๆ ไปพลาง
ยิ่งนาน ยิ่งตึงเครียด ยิ่งนาน ยิ่งอึดอัด .... ความรุนแรงเริ่มปะทุขึ้นเป็นระยะ ตายเจ็บกันอย่างน่าเศร้า และสังคมก็หาฉันทามติไม่ได้ว่าใครคือ "วีรชน" นิยาม ความหมายของถ้อยคำ บทเพลง อะไรต่อมิอะไรถูกแย่งชิง ปนเปกันจนน่าเป็นห่วงเด็กยุคหลัง และน่าสงสารคนยุคก่อน
ขณะที่พลังเงียบส่วนหนึ่งก็ชัดขึ้นเรื่อยๆ เช่น งานรวมพลคนเสื้อแดงเรือนแสน เมื่อวันที่ 1 พ.ย. พอคนขยับพร้อมกันจำนวนมากๆ ท่ามกลางคู่ขัดแย้งทางการเมืองแบบ ‘เด็กดื้อ' ที่ยังเข้มแข็ง มุทะลุ ดุดัน (ฯลฯ) ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความรุนแรง "มวลชน" ชน "มวลชน" ก็เกิดขึ้นในสังคม
....วันนั้นหลังงานเลี้ยงเลิกรา....ขณะที่คนเสื้อแดงบางส่วนเดินไปยังป้ายรถเมล์ถัดๆๆๆไป เพราะหารถเมล์ รถแท็กซี่ไม่ได้ กลุ่มแม่ค้าริมทางก็ส่งเสียงโห่ไล่ และพากันก่นด่า ‘พวกไม่รักชาติ' กันระลอกใหญ่ เสื้อแดงกลุ่มนั้นพยายามไม่โต้ตอบ แต่รถกระบะที่วิ่งผ่านมาพร้อมบรรทุกคนเสื้อแดงท้ายรถ 5-6 คนเห็นเหตุการณ์จึงส่งเสียงโห่ตอบโต้ กลายเป็นการโฮ่ฮาป่าแตกกันข้ามฟากถนน ส่งกลิ่นความเกลียดชังเหม็นหึ่งทั่วบริเวณ
ใครบางคนที่ไม่เคยกังวลอะไรกับใครเขายังขนลุกซู่ จินตนาการเลยเถิดไปถึง ‘civil war' การประหัตประหารกันเองระหว่างคนสองกลุ่มใน "รวันดา" .... ไม่ใช่ความตื่นตูมอันน่าเย้ยหยัน นักรัฐศาสตร์คนหนึ่งเคยเตือนไว้ให้ระวังเส้นทางมรณะสายนั้น แม้เงื่อนไขต่างๆ ที่นี่จะไม่เหมือนของเขาเพราะไม่มีประเด็นเชื้อชาติ แต่ก็มีประเด็นเฉพาะของสังคมไทยที่ทำให้คนฆ่ากันได้...และเคยฆ่ากันมาแล้ว
จึงไม่แปลกที่หลายฝ่ายพยายามหาทางออก บอกทางลง ตอนแรกก็ว่าจะหา ‘คนกลาง' แต่มีอันต้องตกไปเพราะในโลกนี้ไม่มี ‘คนตรงกลาง' จะมีก็แต่พระพุทธรูปกับเด็กทารกเท่านั้น จึงหันไปเน้นที่ ‘กระบวนการกลาง' แทน อันที่ชูกันมากตอนนี้คือ ‘สานเสวนา' อาศัยการดีไซด์กระบวนการบางอย่างเพื่อแก้ปัญหา แต่ก็อาจตายน้ำตื้นเอาง่ายๆ ถ้าคู่ขัดแย้งไม่เสวนาด้วย (แป่ว) หรือต่อให้ยอมเสวนา กลไกนี้ก็ไม่น่าจะประสบผลสำเร็จนักในสังคมไทย
‘dialogue' จะเกิดขึ้น สัมฤทธิ์ผลได้อย่างไรในความคดเคี้ยว สังคมไทยไม่เคยคุยกันตรงๆ จริงๆ จังๆ ดังๆ กว้างๆ ในเรื่องต่างๆ แต่ไหนแต่ไรมาสังคมนี้ไม่อนุญาตให้คนซื่อสัตย์ต่อตนเอง ทั้งยังคับแคบ กดทับความแตกต่างจนติดนิสัย เรื่องหลายเรื่องพูดไม่ได้ แถมยังถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหลายยุคหลายสมัย ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ทำให้นอกจากจะไม่เกิดการพูดคุยกัน "จริงๆ" เพื่อนำไปสู่ทางออกแล้ว ยังไม่น่าจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่จะเปิดกว้าง เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน (หรือ "อยู่ๆ กันไป" ก็ยังดี) ท่ามกลางความแตกต่างอย่างที่พล่ามกันไว้ได้
ชั่วโมงนี้ ทุกฝ่ายจึงน่าจะไม่ต้องเสวนา แล้วพากันไปนั่งเฉยๆ ชื่นชมความงามของห่าฝน .. ดีกว่าเป็นไหนๆ