ภาพจาก reuters
คิม ไชยสุขประเสริฐ
วันฝนตก ฉันนั่งอ่านบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงษ์ <1> ในหนังหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง ที่เขียนเกี่ยวกับภาพของ นางการ์เม่ ชาคอน (Carme Chacon) วัย 37 ปี ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ The International Herald Tribune ขณะที่นางชาคอน ผู้ซึ่งในรัฐบาลชุดก่อนเป็นรัฐมนตรีการเคหะ กำลังเดินตรวจพลสวนสนามครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของสเปน ในกรุงมาดริด เมื่อวันที่ 14 เม.ย.
... เธออยู่ในชุดกางเกงกับเสื้อคลุมท้อง และสวมรองเท้าส้นสูง...
นางชาคอนได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนแรกของสเปน เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมคณะรัฐมนตรีอีก 16 คน โดยการนำของนายกรัฐมนตรีโฆเซ่ หลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร จากพรรคสังคมนิยมแรงงาน ซี่งชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มี.ค.
พร้อมกับคำสัญญาว่า สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลชุดนี้จะทำให้ประชาชนชาวสเปนได้เห็นกันก็คือ การมุ่งส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย
ยืนยันได้จากการที่นายโฆเซ่ก็ได้แต่งตั้งรัฐมนตรีผู้ชายมีอยู่ 8 คน และรัฐมนตรีหญิงถึง 9 คน ซึ่งมีรัฐมนตรีเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ประจำกระทรวงใหม่ 1 แห่ง คือ กระทรวงความเท่าเทียมกัน (the Equality Ministry) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเรื่องสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างชาวสเปน โดยมีนางสาวบิบิอาน่า ไอโด้ เป็นเจ้ากระทรวง
อย่างไรก็ตามนางชาคอนไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของโลก เพราะก่อนหน้านี้ ในประเทศญี่ปุ่นก็มีนางยูริโกะ โคอิเขะ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของญี่ปุ่น ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมคนแรกของประเทศเมือปี 2550 หรือการประกาศของประธานาธิบดีราฟาเอล คอร์เรีย แห่งเอกวาดอร์ ที่ยืนยันจะแต่งตั้งสตรีเป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่แทนนางกัวดาลูเป ลาร์ริวา รัฐมนตรีกลาโหมหญิงคนแรกของประเทศ ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อปลายเดือน ม.ค.50 หลังจากเพิ่งได้รับตำแหน่งเพียง 1 สัปดาห์
แต่การก้าวสู่ตำแหน่งเจ้ากระทรวงกลาโหมของชาคอนเป็นที่จับตามอง เพราะในขณะนั้นเธอท้องได้ 7 เดือน เมื่อเข้ารับตำแหน่งในช่วงแรกเธอต้องเริ่มสะสางงาน แต่อีก 2 เดือนต่อจากนั้นเธอต้องลาคลอด และสามารถลาคลอดได้ถึง 16 สัปดาห์ ที่สำคัญการที่เธอไม่เคยเป็นทหาร และไม่มีประสบการณ์ในกองทัพมาก่อนเลย ทำให้เธอถูกปรามาสจากกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยม ว่าจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ <2>
ท่ามกลางเสียงวิจารณ์นั้น ก็มีความคิดเห็นที่ว่าการแต่งตั้งผู้หญิงที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ทางทหาร และไม่เคยผ่านการฝึกทหารเลย มาเป็นผู้นำกองทัพ เท่ากับเป็นการส่งสารให้โลกรู้ว่า โลกเราต้องการความสงบสุข "เพราะผู้หญิงเกลียดสงคราม" และ "การที่ผู้หญิงได้เป็นผู้นำกองทัพ แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งผู้นำกองทัพไม่จำเป็นต้องมีแต่ความบึกบึน แข็งแกร่งเป็นชาย แต่สามารถมีความอ่อนโยน และมีมนุษยธรรมมากขึ้น" <3>
สำหรับสังคมไทย ‘อาชีพทหาร' เองก็ยังถูกมองว่าเป็นอาชีพของ ‘ผู้ชาย' เพราะทหารต้องเข้มแข็งอดทนตามแบบฉบับของชายชาตรี แม้ว่าปัจจุบันจะมีการเปิดสมัครรับราชการทหารทั้งเพศชายและหญิง แต่ก็ยังไม่เคยมีทหารหญิงคนใดก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งใหญ่โตทางการทหารให้เห็น เมื่อเห็นภาพของนางนางชาคอนในชุดคลุมท้องเดินตรวจแถวทหาร นักสิทธิมนุษยชนด้านสตรีศึกษาและเพศสภาพอดที่จะชื่นชมไม่ได้
ในภาพของความเป็นผู้หญิง และเป็นแม่ ที่ได้รับความเชื่อมั่นในศักยภาพให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทั้งในรัฐบาล โดยแบกรับมีความรับผิดชอบส่วนตัว และความรับผิดชอบต่องานเอาไว้ โดยที่คุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงไม่ได้ติดอยู่ที่ความอ่อนแอ แต่ความอ่อนโยนของพวกเธอมีคุณสมบัติพิเศษที่ความเข้มแข็งตามแบบเพศชายไม่อาจทำได้
การที่ผู้หญิงคนหนึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบใน ‘ตำแหน่งแห่งที่' ซึ่งเคยผูกขาดไว้เฉพาะเพศชาย ผู้ยึดถือในความเป็นปิตาธิปไตยจึงอาจมองว่านี่คือ ‘ความเสื่อมถอย' แต่แน่นอนว่า สำหรับผู้เชิดชูสิทธิสตรีและความเท่าเทียมกัน ย่อมเห็นพ้อง (ค่อนข้าง) ตรงกันว่า นี่คือ ‘ความก้าวหน้า' ครั้งสำคัญ
................................................
หากมองย้อนกลับมายังสังคมบ้านๆ ของเรา...การดำรงฐานะใหญ่โตระดับประเทศชาติของ ‘ผู้หญิง' เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างมานานแล้ว แม้ว่าเท่าที่ผ่านมา การรับภาระเพื่อชาติจะยังจำกัดอยู่แค่ไม่กี่พื้นที่ เช่น ดูแลเรื่องสุขอนามัย เรื่องแรงงาน หรือไม่ก็เรื่องประเพณีวัฒนธรรม...ซึ่งถ้าจะมองอย่างเ้ข้าข้างกันถึงที่สุด ก็พอเข้าใจได้ว่า เรื่องเหล่านี้เกี่ยวพันกับทุกผู้คน และแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน การที่มีเพศหญิงซึ่งมีความละเอียดรอบคอบเป็นผู้ดูแลในด้านนี้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีของสังคมแล้ว
และมันก็ทำให้ใครหลายคนชื่นใจว่า...นี่คือสังคมที่มีความเท่าเทียมกันทั้งสองเพศ...
ฟังดูเหมือนเป็นอย่างนั้น...จนกระทั่งประเด็นร้อนฉ่าเกี่ยวกับนักแสดงที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘เจ้าพ่อวีซีดี (โป๊)' ออกมาแดกดัน ‘เกย์คนหนึ่ง' ซึ่งเป็นห่วงเป็นใยต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดตามมาในเรื่องค่านิยมและทัศนคติทางเพศของคนในสังคม หลังจากที่ฝ่ายแรกออกมาเผยเรื่องราวแทบจะทุกซอกทุกมุมที่เกี่ยวกับประสบการณ์ทางเพศที่มีกับผู้หญิง 2 คนออกอากาศผ่านสื่อโทรทัศน์ที่มีคนดูทั่วประเทศ และพูดถึงหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศที่โจ๋งครึ่มพอๆ กับที่พูดออกอากาศไป
เกย์ผู้นั้นออกมาติติงเจ้าพ่อวีซีดีผ่านสื่ออีกสื่อหนึ่ง เป็นผลให้โดนตอกกลับอย่างรุนแรงไม่แพ้กัน...
ฝ่ายหนึ่งถูกเหน็บแนมว่าเป็น ‘ผู้ชายป้ายเหลือง' ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งตอบโต้กลับว่า ‘เป็นเกย์หนักแผ่นดิน'
การวิวาทะระหว่าง ‘ชายแท้' ผู้พร้อมจะแฉผู้หญิงที่เคยเกี่ยวข้อง กับผู้มีเพศสภาพเป็นชาย แต่มีหัวใจค่อนไปทางเพศแม่ จึงกลายเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่า ที่ทางการสื่อสารสำหรับเพศอื่นๆ นอกเหนือจากความเป็นหญิงและชายในบ้านเรา...มีน้อยยิ่งกว่าน้อย
ที่จริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องถกเถียงว่าใครเป็นฝ่ายผิดหรือถูก ระหว่างคนที่ให้สัมภาษณ์เรื่องใต้สะดือออกอากาศ กับคนที่เป็นห่วงเรื่องการสื่อสารเรื่องเพศที่เกินพอดีต่อสาธารณชน เพราะเป็นสิทธิ์ของทั้งคู่ที่ทำได้ (แต่คนที่รอดตัวไปได้จากกรณีนี้ก็คือ ‘สื่อ' ที่เป็นช่องทางให้ทั้งสองฝ่ายได้ออกมาฉะกันเพื่อสร้างเรตติ้ง และไม่มีใครลากโยงให้ต้องรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาแต่อย่างใด)
ในความเป็นจริงแล้ว ในสังคมที่ ‘ดูเหมือนจะ' ให้เกียรติผู้หญิง และเชิดชูเพศแม่ แต่ความคาดหวังของสังคม ต่อการเป็นเพศชาย เพศหญิง ที่ปลูกฝังและถ่ายทอดมานานผ่านวัฒนธรรม จารีตประเพณี ได้สร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่ผู้หญิงและผู้ชายควรเป็น หรือ ต้องเป็น จนกลายเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดความแตกต่างและเหลื่อมล้ำกันระหว่างเพศ เกิดเป็นความดีเลว ถูกผิด อีกทั้งยังส่งผลถึงการกีดกันคนที่ต่างไปจากจากความคาดหวังให้เป็นตามสองเพศนี้ ให้กลายเป็น ‘เพศที่ผิดปกติ'
‘ความเป็นผู้หญิง' ถูกจำกัดวงไว้เพียงความเรียบร้อย ความนุ่มนวล และความรักนวลสงวนตัว
ผู้หญิงดีๆ จึงหมายถึงผู้หญิงที่ไม่เคยข้องแวะเกี่ยวกับเรื่องฉาวๆ คาวๆ เลย ส่วนผู้หญิง (อย่างน้อยก็ 2 สาว) ที่มีพฤติกรรมโลดโผน และถูกผู้ชายคนหนึ่งพูดถึงอย่างไม่ไว้หน้าในสื่อแห่งหนึ่ง แต่กลับไม่มีใครในสื่อแห่งนั้นรู้สึกว่าพวกเธอเป็นฝ่ายเสียหาย หรือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงที่สื่อควรจะปกป้องสิทธิ ด้วยเหตุผลว่า นั่นคือผลจากการกระทำ (ที่ไม่งดงาม) ของสตรีที่ไม่สุภาพเหล่านั้นเอง
ในขณะที่ ‘ผู้ชายอกสามศอก พูดจาตรงไปตรงมา' สามารถนำผู้หญิงมาวิพากษ์วิจารณ์โขกสับอย่างไรก็ได้ ถ้าหากผู้หญิงเหล่านั้นไม่ได้มาตรฐานของสังคมไทย
เช่นเดียวกับคนที่เป็นเกย์ หากออกมาตำหนิติติงผู้ชายคนหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม (เป็นห่วงสังคม, หรือ อยากดัง ฯลฯ) ก็ต้องทำใจยอมรับแต่เนิ่นๆ ว่า ‘การเป็นเกย์' จะเป็นสิ่งที่ทำลายเหตุผลและความชอบธรรมในสิ่งที่คุณพูดไปทั้งหมด เพราะสำหรับใครบางคน ‘การเป็นเกย์' ได้ถูกตัดสินไปแล้วว่า ‘เป็นความผิดปกติ' และ‘เป็นความป่วยไข้ของสังคม'
...........................
ข้อมูลจาก
<1>หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ประจำวันที่ 16 พ.ค.51
<2>วิกิพีเดีย, http://www.oknation.net/blog/inter/category/ANALYSIS และ www.independent.ie <3>หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11006
<4>"นิกกี้" ฉุน "เกย์นที" ด่าหนังสือเซ็กซ์ บอกมันเข้าตูดคุณเหรอ ?!