Skip to main content

(ไม่เปิดเผยเนื้อหาสาระสำคัญของหนังสือ)

เพิ่งไปกรุงเทพฯ มาแล้วเข้าร้านหนังสือจนไปเจอนิยายลดราคา 20% เรื่อง Convenience Store Woman ของ Sayaka Murata แล้วด้วยส่วนตัวชอบอ่านนิยายญี่ปุ่น เพราะมันมักจะมีบรรยากาศบางอย่างที่รู้สึกว่าน่าสนใจ เลยหาซื้อหยิบติดมือกลับมาเชียงใหม่ด้วย

นิยายเล่มนี้บางมาก จนอ่านจบภายในสองวัน ตอนแรกคิดว่าคงเป็นนิยายอ่านเล่นๆ ไม่น่าจะมีอะไรมากมาย แต่เมื่ออ่านๆ ไปก็พยายามทำความเข้าใจเหลือเกินว่าผู้เขียนต้องการสื่ออะไร เพราะในช่วงแรกๆ ก็เล่าเรื่องของชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งที่อายุ 36 เข้าไปแล้วแต่ก็ยังไม่มี "งานประจำ" แบบเป็นหลักเป็นแหล่ง แต่ทำงานในร้านสะดวกซื้อมาจะเกือบยี่สิบปีแล้ว เธอไม่มีความรัก ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ไม่เคยไปเดท ไม่ทำงานประจำแบบที่สังคมคาดหวัง จนมาตรฐานชีวิตเธอกลายเป็นสิ่งที่ "แปลก" ไปเพราะสิ่งที่เธอเป็นนั้นเป็นสิ่งที่เธอชอบ แม้ว่าความชอบส่วนตัวนั้นจะแปลกไปจากบรรทัดฐานสังคมของญี่ปุ่นที่เคร่งครัดและมีแบบแผนที่ค่อนข้างชัดเจน ทั้งบทบาทแบบแผนของเพศว่าแต่ละเพศต้องมีบทบาทหน้าที่อย่างไร ผู้ชายต้องหาเลี้ยงดูครอบครัว ผู้หญิงต้องแต่งตัว ดูแลตัวเอง ทำงาน หาสามี แต่งงาน ดูแลลูก ใช้ของใช้แบบชีวิตที่ผู้หญิงทั่วๆ ไป

"ความปกติ" ของสังคมเลยเป็นสิ่งที่เหมือนจะถูกยอมรับว่ามันคือความปกติ แล้วไม่ได้ยอมรับหรือเปิดพื้นที่ให้กับ "ความบิดเบี้ยว" หรือ "ความแตกต่าง" ของบุคคลในสังคม ความอึดอัดจากการไม่เป็น "กระแสหลัก" ในสังคมทำให้นางเอกเลือกทำสิ่งที่ผิดปกติเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าปกติ ความปกติในหนังสือจึงเกิดจากความไม่ปกติของคนไม่ปกติที่พยายามทำให้สังคมที่ปกติยอมรับความไม่ปกติด้วยวิธีการที่ไม่ปกติ

หนังสือนี้สะท้อนอะไรให้เราเห็นสังคมญี่ปุ่นบ้าง? สังคมที่ความปกติคือการทำตามระเบียบแบบแผนที่ถูกวางเอาไว้แล้วอย่างเคร่งครัดของสังคมญี่ปุ่น ทั้งเรื่องอายุต่างๆ ต้องทำอะไร เพศต่างๆ ต้องทำอะไร อาชีพการงานต่างๆ ต้องทำอะไร ความเคร่งครัดของสังคมทำให้นางเอกรู้สึกว่าต้องพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ตัวเอง "ดูปกติ" ทั้งๆ ที่จริงๆ ในใจสิ่งที่เป็นก็ยังไม่ได้เปลี่ยน แต่สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้คนอื่นมองว่าหรือยอมรับว่าตัวเองปกติเป็นสิ่งที่ควรทำ 

เอาจริงๆ แล้วระหว่างที่อ่าน ก็ไม่ได้รู้สึกเลยว่านางเอกรู้สึกผิดกับสิ่งที่ตัวเองเป็น แต่คิดแค่ว่า อยากลองทำในสิ่งที่สังคมปกติเขาเป็น

แล้วท้ายที่สุดก็คิดได้ว่า ไม่มีใครหลีกหนีสิ่งที่ตัวเองเป็น สิ่งที่ตัวเองชอบได้ เพราะอย่างไรก็ตาม ชีวิตก็เป็นของเรา 

แต่หากจะให้อ่านนิยายขนาดสั้นนี้ลงไปแบบแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์กซิสต์ ก็น่าจะเดาได้ว่านักวิชาการหรือผู้ศึกษาวรรณคดีหลายคนคงจะเอาวิถีของทุนนิยม การเปลี่ยนแปลงความคิด พฤติกรรม การที่นางเอกเปลี่ยนแปลงตัวเองไปจากการเข้าไปทำงานในระบบทุนนิยมของระบบร้านสะดวกซื้อ การเปลี่ยนวิธีคิด การมีพฤติกรรมต่างๆ เกิดขึ้นจากทุนนิยมเข้าไปเปลี่ยนแปลงความเป็นเราในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ที่กลืนกินชีวิตเราเข้าไป 

แม้ว่าอยากอ่านนิยายด้วยการมองโลกและกรอบความคิดยากๆ แบบนั้นบ้าง แต่ก็อยากอ่านนิยายเพื่อพักสมองบ้าง ไม่ต้องคิดอะไรให้ยาก แต่เรื่องนี้ก็อดทำให้คิดไม่ได้เหมือนกัน 

ลองหาอ่านดู

บล็อกของ นรุตม์ เจริญศรี

นรุตม์ เจริญศรี
อัตลักษณ์ทางการแข่งขันของประเทศเอสโตเนีย ระหว่าง ค.ศ.1991-2011 โดย สมพงค์ พรมสะอาด
นรุตม์ เจริญศรี
นรุตม์ เจริญศรีคณะรัฐศาสตร์ฯ ม.เชียงใหม่
นรุตม์ เจริญศรี
เวลาอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ บ่อยครั้ง หน้าด้านซ้ายถัดจาก
นรุตม์ เจริญศรี
ผมเริ่มต้นเขียน blog นี้ด้วยความสนใจต่อประเด็นองค์ความรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภูมิภาคนิยม และภูมิภาคศึกษา จึงอยากเริ่มเขียนและสนทนากับผู้สนใจในประเด็นที่คล้ายๆกัน ผมใช้เวลาคิดอยู่หลายวันว่าจะเริ่มต้นเขียนหัวข้ออะไรเป็นหัวข้อเปิด ซึ่งจะได้เชื่อมโยงต่อไปยัง