Skip to main content

ผมหยิบยืมคำว่า “ไปทำไม” ขึ้นมาเป็นชื่อเรื่องของข้อเขียนนี้จากชื่อสำนักพิมพ์ของรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ซึ่งพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับภาพถ่ายการเดินทางและโปสการ์ดราคาประหยัดเพียงสามใบสิบบาท และเขาเรียกขานสำนักพิมพ์ตัวเองในเชิงสัพยอกว่า ‘สำนักพิมพ์ไปทำไม’...แม้จะฟังดูคล้ายกับว่าเจตนาจะกวนๆ แต่ก็เข้าท่าดีเหมือนกัน

คำว่า “ไปทำไม” แม้จะดูคล้ายกับการตั้งคำถามโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนการปุชฉาโดยมีโทนของน้ำเสียงฟังเหมือนกับการบ่นพึมพำกับตัวเองหรือการพ่นความไม่ได้ดังใจหรือความไม่เข้าใจของคนที่บังเอิญไปประสบพบเห็นพฤติกรรมของ “การไป” (ที่ไหนสักที่ ของคนสักคนหรือสักกลุ่มหนึ่ง)

ไม่ใช่ความบังเอิญที่ทำให้ไปประสบพบเห็นการเดินทางของคนไทยกลุ่มหนึ่งเพื่อท้าทายความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ ( 8,848 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง – เป็นระดับความสูงจากเว็บไซต์ Wikipedia.org บางแหล่งอ้างว่ายอดเขาแห่งนี้สูง 8,850 เมตรฯ) ซึ่งเป็นยอดเขาสูงที่สุดในโลก งานนี้สถานีโทรทัศน์ TITV ได้นำชาวไทยกลุ่มหนึ่ง (ถ้าจำไม่ผิดจากการรายงานข่าวหรือสกู๊ปพิเศษที่เคยได้รับฟังมีทั้งหมด 9 คน) เดินทางไปเก็บตัว ฝึกฝนการป่ายปีนและการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยในการปีนเขา ฝึกฝนการปีนเขาเอเวอเรสต์กับชายชาวเชอร์ปาซึ่งเป็นทั้งไกด์ ครูฝึกและคนนำทางท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นชาวเนปาล ชาวเชอร์ปาที่มีชื่อเสียงในระดับโลกถึงความชำนาญและความเชี่ยวชาญการปีนเขาสูง (โดยเฉพาะยอดเอเวอเรสต์ที่อยู่ในประเทศเนปาล) มาเนิ่นนานแล้ว นับตั้งแต่สมัยที่เอ็ดมันด์ ฮิลลารี พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ในวันที่ 29 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1953 การเดินทางขึ้นสู่จุดสูงสุดของโลกของชาวชาวนิวซีแลนด์คนนี้ จะเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจากความช่วยเหลือของเพื่อนร่วมทางชาวเชอร์ปาที่ชื่อว่า เทนซิง นอร์เกย์

หลังจากวันแห่งความสำเร็จของคนทั้งคู่ กว่า 50 ปีต่อมาได้มีผู้คนจาก 63 ประเทศ 1200 คนได้สรรหาเส้นทางขึ้นสู่ปลายยอดเขาที่สูงที่สุดแห่งนี้ (ซึ่งมีเส้นทางขึ้นสู่ Summit หรือปลายยอดทั้งหมด 15 เส้นทาง) จนสำเร็จและได้รับการจดจารเอาไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้พิชิตยอดเขาแห่งนี้

1

2

“ปฏิบัติการเกียรติยศ สู่ยอดเอเวอเรสต์” ของคนไทยโดย TITV และผู้ให้การสนับสนุน (ซึ่งส่วนมากเป็นห้างร้านบริษัทใหญ่ๆ) เชื่อแน่ว่าคงไม่มีเหตุผลใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่จะนำภาพและชื่อของคนไทยเข้าไปต่อแถวในขบวนการของผู้ขึ้นไปย่ำยอดเขาเอเวอเรสต์ ภาพของการนำธงไตรรงค์ของไทยไปปักบนความสูงกว่าแปดพันเมตรบนยอดเขาน่าจะนำมาซึ่งน้ำตาแห่งความปลื้มปิติของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ที่ให้ความสนใจในปฏิบัติการครั้งนี้

3
มุมมอง 360 องศาบนยอดเอเวอเรสต์

ข่าวคราวของความพยายามทุกวิถีทาง (โดยมีสปอนเซอร์สนับสนุนและมีชาวเชอร์ปา ซึ่งเป็นญาติของเทนซิง นอร์เกย์ ชาวเชอร์ปาคนแรกในประวัติศาสตร์ผู้พิชิตเอเวอเรสต์) ในการที่จะขึ้นสู่ยอดซัมมิทได้ถูกนำเสนอผ่านช่วงรายการทั้งช่วงข่าวและรายการบันเทิงปกิณกะอื่นๆ ของสถานี TITV อยู่ทุกวี่วัน ด้วยเหตุนี้มันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสนใจของคนไทยโดยเฉพาะคนไทยที่สนใจเรื่องราวของการเดินทาง การเอาชนะเรคคอร์ทหรือปูมบันทึกต่างๆ ที่มีคนจากหลากหลายเชื้อชาติได้เข้าไปฝากชื่อเอาไว้ ไม่รวมถึงคนไทยในภาพรวมที่ถูกเอาเข้าไปเกี่ยวโยงกับปฏิบัติการครั้งนี้โดยการใช้ถ้อยคำในทำนองว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อเกียรติยศของคนไทย

ความเป็น ความตาย ความทุกข์ ความสุขของคนไทยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในปฏิบัติการครั้งนี้จึงถูกนำเสนอประหนึ่งเป็นปฏิบัติการแห่งความเสียสละหรือปฏิบัติการอันศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นการทำเพื่อชาติ มีการนำเสนอเรื่องราวและภาพประหนึ่งผู้ที่ได้เข้าไปเป็นคนไทยหนึ่งในเก้าเปรียบเหมือนวีรบุรุษหรือวีรสตรี โดยหลงลืมหรือมองข้ามไม่ลงลึกซอกหลืบทางความคิดในแง่ที่เป็นปัจเจกของบุคคลเหล่านี้แต่ละคนว่าไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร ยอมเสี่ยงต่ออาการแพ้ความสูง หิมะกัดจนพิการหรืออุบัติเหตุร้ายแรงจากหิมะถล่มหรือสภาพอากาศแปรปรวนไปเพื่ออะไร...

4
แผนที่เส้นทางขึ้นสู่ซัมมิท

หากเราลองทำใจให้กว้างและเข้าใจปรากฏการณ์แห่งการเดินทางครั้งนี้ว่ามิใช่การเอาอย่างฝรั่ง หรือความคลั่งไคล้ในการทำลายสถิติหรือความพยายามในการยัดเยียดชื่อคนไทยเข้าไปต่อแถวในหางว่าวของรายชื่อผู้ที่ทำสำเร็จมาก่อนหน้านั้นในเรคคอร์ท เราย่อมเข้าใจได้ว่าคนไทยไม่ว่าใครก็ตาม หรือจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตามมีสิทธิ์ที่จะทำอะไรพรรค์นี้ได้เหมือนๆ กับชาวโลกจากประเทศชาติอื่นๆ

5
ชาวเชอร์ปา

การเดินเท้าและป่ายปีนน้ำแข็งอันหนาวเย็น เสี่ยงภัยในสภาพอากาศปกติของยอดเขาสูงๆ อย่างเอเวอเรสต์นั้นอุดมไปด้วยความเสี่ยงสารพัด และหากใครก็ตามที่มุ่งหวังว่าจะไปขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์ย่อมพานพบกับสายตาและน้ำเสียงอันไม่เข้าใจว่า “จะไปกันทำไม” เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของผู้ล้มเหลวพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการเยี่ยงนี้ไปแล้วเกือบสองร้อยชีวิตดังเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่นักเดินเขาสู่เอเวอเรสต์ต้องสังเวยชีวิตไปกับพายุที่ซัดเข้ามาอย่างฉับพลันในวันที่ 10 พฤษภาคมปี 1996 ซึ่งนักเขียนสารคดีชาวอเมริกันที่เป็นส่วนหนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งนั้นได้เขียนบันทึกออกมาในหนังสือชื่อ Into Thin Air

6
นักปีนเขาสู่ยอดเอเวอเรสต์

ผมไม่ได้จ้องมองปฏิบัติการครั้งนี้ในแบบฉงนสนใจ ลุ้นระทึกหรือด้วยความทึ่ง หรือแม้แต่รู้สึกว่าตัวเองจะอิจฉาตาร้อนที่คนไทยได้เข้าไปร่วมในขบวนการย่ำยอดเขาเอเวอเรสต์ ผมเพียงแต่นึกถึงมุมที่หลากหลายของเรื่องราวและพบว่าคำตอบของเรื่องราวที่แท้จริงน่าจะมีมากกว่าการที่ (คนไทย) ใครคนใดคนหนึ่งจะยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายและการเอาชนะตัวเองเพื่อแลกกับความสูงสุดที่รอคอยมานานหลายล้านปีบนยอดเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งเนปาลยอดนี้มิเช่นนั้นแล้วปฏิบัติการ ‘เกียรติยศ’ เยี่ยงนี้ก็อาจจะพบกับคำเย้ยหยันง่ายๆ ว่า “ไปทำไม” ก็เท่านั้น

ภาพประกอบทั้งหมดจากเว็บไซต์ที่มีข้อมูลดีๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับยอดเขาเอเวอเรสต์  www.nationalgeographic.com/everest/

บล็อกของ อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง

อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ผมอนุญาตให้ตัวเองมีความฝันที่ค้างคามานานอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือการเป็นเจ้าของร้านกาแฟเล็กๆ สักร้านและระหว่างรอให้ความฝันตกผลึกหรืออิ่มตัวจนตกตะกอนนอนก้น (เหมือนเวลาที่กินกาแฟชงแบบเวียดนามที่ไหลผ่านถ้วยกรองช้าๆ ขมหวานได้ที่)  ผมก็ใช้เวลาระหว่างรอ พักในร้านกาแฟที่ผ่านทางอยู่เสมอๆ สั่งกาแฟต่างรูปแบบมาจิบ บางเวลาเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับกาแฟดำธรรมดาๆ แต่หอมกรุ่นอย่างกาแฟสด บางเวลาเราอาจจะอยากเปลี่ยนไปสั่งกาแฟดำในแบบที่เรียกว่า “อเมริกาโน่” ดูบ้าง บางช่วงก็เป็นชั่วโมงที่ต้องย้อมความฝันด้วยกาแฟกรุ่นกลิ่นนมของลาเต้ร้อน…
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ในงานนิทรรศการออกร้านเพื่อจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกและของแต่งบ้านปีหนึ่งนานมาแล้วที่บังเอิญได้ไปเดินดูและเลือกซื้อข้าวของ ในมุมหนึ่งของงานซึ่งเป็นการออกร้านสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และต่างประเทศอื่นๆ ตะกร้าสานจากกาน่าเหมือนจะได้รับความนิยมจากผู้คนที่เดินในงานมากเป็นพิเศษ สินค้าจำพวกเฟอร์นิเจอร์ไม้และไม้แกะสลักในร้านจากอินโดนีเซียก็ได้รับความสนใจไม่น้อย ร้านของเวียดนามและกัมพูชาที่อยู่ถัดๆ มาก็มีผู้คนเข้าไปชมสินค้ากันคึกคัก แต่เหตุไฉนร้านค้าซึ่งเป็นสินค้าตัวแทนจากประเทศลาวหรือ สปป. ลาว…
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ผมเพิ่งกลับจากการเดินทางอีกครั้งหนึ่งหลังจากต้นปีผ่านมา...เป็นการเดินทางที่ไม่ยาวนานนักในสามจุดหมายคือเซินเจิ้น หนึ่งเมืองของจีนแผ่นดินใหญ่ แวะฮ่องกงและกลับจากมาเก๊า แต่ก็มีความเหนื่อย เหน็บหนาวจากสภาพอากาศอันไม่คุ้นเคยของจุดหมายที่ว่าแต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าการเดินทางอันไม่คาดหมายว่าจะผ่านเข้ามาสู่ชีวิตรวดเร็วอย่างไม่ทันจะตั้งตัว จะเป็นการเดินทางอีกครั้งที่ ‘ช่วยชีวิต’ ผมเอาไว้................................................ที่ว่าการเดินทางช่วยชีวิตเอาไว้นั้น ไม่ได้หมายความว่าผมไปผ่านพ้นหรือผจญภัยกับสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานแล้วเอาชีวิตรอดกลับมาได้…
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
คนเราล้วนประสบชะตากรรมที่หลากหลายขณะ ‘เดินทาง’…และก็เช่นกัน – ที่ยุคปัจจุบันคนเรา ‘เดินทาง’ ด้วยวัตถุประสงค์และรูปแบบที่หลากหลายมากมายกว่าแต่ก่อนเราพ้นจากยุคสมัยของการเดินทางด้วยเรือกลไฟที่ต้องอาศัยเวลาเป็นแรมเดือนกว่าจะพ้นโค้งน้ำเข้าสู่น่านน้ำบ้านอื่นเมืองอื่น เราเลิกพึ่งพารถไฟที่ต้องถาโถมเชื้อเพลิงจากท่อนฟืนและก็เช่นเดียวกันรถม้า จักรยานหรือแม้แต่เกวียนเทียมวัวควายกลายเป็นพาหนะพ้นยุคตกสมัย ไปไหนมาไหนอืดอาดไม่เท่าทันความรวดเร็วของจิตใจและยุคสมัยแต่ไม่ว่ารถจะเคลื่อนไหวได้ว่องไวขึ้นหลายร้อยเท่าจากพาหนะที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติ ไม่ว่าคนเราจะเคลื่อนที่หรือย้ายถิ่นข้ามเมือง…
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
“เราคิดว่ามันอาจจะเร็วเกินไปไม่ว่าจะสำหรับนักท่องเที่ยว การลงทุนหรือความช่วยเหลือ... ตราบใดที่มีเงินก้อนใหม่เข้ามาในประเทศ ก็ยิ่งจะทำให้รัฐบาลทหารเพิกเฉยต่อแรงจูงใจที่จะทำให้ความเปลี่ยนแปลง”ออง ซาน ซูจี 2538“เราหวังว่าคุณจะไม่เข้ามาเที่ยวพม่ากับการมีกล้องในมือและแค่เพื่อการเก็บรูปถ่ายเท่านั้น เราไม่ต้องการนักท่องเที่ยวแบบนั้น จงพูดคุยกับคนที่คุณอยากจะคุยด้วย ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้เงื่อนไขข้อจำกัดในชีวิตของคุณบ้าง”ชาวย่างกุ้งผู้สนับสนุนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย 2547 สายตาที่สื่อส่งมาดูเหมือนรู้จัก รอยยิ้มที่ค่อยๆ คลี่คลายบนใบหน้าแลดูคุ้นเคย…
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ผมหยิบยืมคำว่า “ไปทำไม” ขึ้นมาเป็นชื่อเรื่องของข้อเขียนนี้จากชื่อสำนักพิมพ์ของรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ซึ่งพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับภาพถ่ายการเดินทางและโปสการ์ดราคาประหยัดเพียงสามใบสิบบาท และเขาเรียกขานสำนักพิมพ์ตัวเองในเชิงสัพยอกว่า ‘สำนักพิมพ์ไปทำไม’...แม้จะฟังดูคล้ายกับว่าเจตนาจะกวนๆ แต่ก็เข้าท่าดีเหมือนกันคำว่า “ไปทำไม” แม้จะดูคล้ายกับการตั้งคำถามโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนการปุชฉาโดยมีโทนของน้ำเสียงฟังเหมือนกับการบ่นพึมพำกับตัวเองหรือการพ่นความไม่ได้ดังใจหรือความไม่เข้าใจของคนที่บังเอิญไปประสบพบเห็นพฤติกรรมของ “การไป” (ที่ไหนสักที่ ของคนสักคนหรือสักกลุ่มหนึ่ง)…
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
เพชรบุรีวางตัวอยู่อย่างน่าสนใจจากกรุงเทพฯ…ที่ว่าน่าสนใจนั่นคือ ระยะทางที่ไม่ใกล้ แต่ก็ไม่ไกลจนเกินไป แค่ชั่วเวลานั่งรถเพลินๆ ไม่เกินสองชั่วโมงก็น่าจะเข้าเขตเมืองเพชร โดยมีภาพของทุ่งนายามข้าวออกรวงสีเขียวละมุนตาและต้นตาลยืนต้นเรียงรายอยู่ปลายนา หรืออาจจะเห็นปลายจั่วแหลมๆ ของบ้านหลังคาทรงไทยหลายหลังโผล่พ้นทุ่งนาหรือรั้วบ้าน เป็นฉากทั้งหลายที่บ่งบอกว่า บัดนี้เข้าสู่ดินแดนแห่งน้ำตาลเมืองเพชรแล้วหลายวันก่อนเป็นอีกครั้งของความตั้งใจที่จะไปเยือนเพชรบุรีโดยที่ไม่ต้องมีจุดหมายปลายทางที่แน่นอน…
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
คืนและวันที่ดูแปลกหน้า แม้สบายๆ แต่ก็เปี่ยมด้วยความมุ่งหวังบางอย่าง หลายสิ่งที่ได้พบเห็นเติมเต็มความรู้สึกที่ได้รับจากการเดินทาง จากดินแดนเหนือสุดของเวียดนามประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้เรากำลังไต่ตามแผ่นดินแคบๆ ที่เลียบท้องทะเลมาถึงเมืองมรดกโลกลือชื่ออย่าง  ‘ฮอยอัน’  และในระหว่างเส้นทางอันยา
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
สายวันหนึ่งขณะที่เดินทางออกไปนอกบ้าน ท่ามกลางการจราจรที่คับคั่งจอแจเช่นเคย สายตาเหลือบไปเห็นข้อความด้านหลังของรถแท็กซี่มิเตอร์สีเขียวเหลืองคันที่อยู่ข้างหน้า “กล้าที่จะไปให้ถึงฝัน”...แม้จะเป็นข้อความเรียบง่ายธรรมดาๆ แต่ก็เป็นข้อความที่มีความหมาย และให้ความรู้สึกแปลกตาโดยเฉพาะเมื่อมาปรากฏอยู่บนกระจกหลังของแท็กซี่เช่นนี้ ทำให้พาลอยากรู้ว่าเจ้าของข้อความซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะไม่ใช่ผู้ที่กำลังทำหน้าที่หลังพวงมาลัยของแท็กซี่คันนี้ก็เป็นได้…