คนเราล้วนประสบชะตากรรมที่หลากหลายขณะ ‘เดินทาง’…
และก็เช่นกัน – ที่ยุคปัจจุบันคนเรา ‘เดินทาง’ ด้วยวัตถุประสงค์และรูปแบบที่หลากหลายมากมายกว่าแต่ก่อน
เราพ้นจากยุคสมัยของการเดินทางด้วยเรือกลไฟที่ต้องอาศัยเวลาเป็นแรมเดือนกว่าจะพ้นโค้งน้ำเข้าสู่น่านน้ำบ้านอื่นเมืองอื่น เราเลิกพึ่งพารถไฟที่ต้องถาโถมเชื้อเพลิงจากท่อนฟืนและก็เช่นเดียวกันรถม้า จักรยานหรือแม้แต่เกวียนเทียมวัวควายกลายเป็นพาหนะพ้นยุคตกสมัย ไปไหนมาไหนอืดอาดไม่เท่าทันความรวดเร็วของจิตใจและยุคสมัย
แต่ไม่ว่ารถจะเคลื่อนไหวได้ว่องไวขึ้นหลายร้อยเท่าจากพาหนะที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติ ไม่ว่าคนเราจะเคลื่อนที่หรือย้ายถิ่นข้ามเมือง ข้ามประเทศหรือข้ามทวีปได้ด้วยเครื่องยนต์ไอพ่นเหินฟ้าได้ชั่วไม่กี่ชั่วโมงหรือข้ามคืนก็บรรลุจุดหมายแล้วก็ตาม แต่คนเราก็ไม่อาจหนีพ้น “ชะตากรรม” ที่หลากหลายในระหว่างการเดินทาง
การเดินทางโดยปราศจากความจำเป็น ต้องพลัดพรากจากบ้านจากพ่อแม่ครอบครัวเพื่อนฝูงเพื่อออกเที่ยวถือเป็นชะตากรรมแรกที่คนเราหาญกล้าหยิบยื่นให้ตัวเองด้วยใบหน้าเปี่ยมสุข
สุขเมื่อรู้ว่าจะได้ออกไปเผชิญกับความไม่แน่นอนและชะตากรรมอื่นๆ ที่รอท่าในการเดินทาง...
คนหลายคนเดินทางเพื่อเพียงจะนั่งลง
ความทุกข์หรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางของคนเดินทางหรือนักท่องเที่ยว มักจะไม่คงตัวถาวรหรือผ่านไปพ้นประสบเข้า ผจญกับปัญหาและอุปสรรคไม่นานเรื่องราวที่เราคิดว่าเลวร้ายไม่น่าจะเกิดขึ้นก็มักจะผ่านไปได้โดยไม่ยากเย็นหรือเกินกว่ากำลังสติปัญญา
ซึ่งปัญหาส่วนมากก็ได้แก่การตกรถตกเรือ ความคลาดเคลื่อนระหว่างการเดินทาง ความทุลักทุเลไม่เป็นไปดังคาดหมายของพาหนะที่เลือกหรือเส้นทางแปลกหน้าที่ไม่เคยไปมาก่อน ความไม่สะดวกสบายของที่พัก ท้องเสียท้องเดินระหว่างการเดินทาง หรือที่ย่ำแย่กว่านั้นก็เช่น กระเป๋าเดินทางไม่ยอมเดินทางไปถึงจุดหมายพร้อมกับเรา กระเป๋าเดินทางสูญหาย ถูกจี้ปล้นหรือช่วงชิงทรัพย์สินมีค่าระหว่างการเดินทาง
แต่ทั้งหมดนี้หากมองให้ดีก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแค่ชะตากรรม แต่กลับมิใช่หรือแตกต่างห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่า “เคราะห์กรรม”
คนเดินถนนในพุกาม
ข้อนี้จะจริงเท็จมากน้อยสักแค่ไหน วันเวลาแห่งการเดินทางอันยาวนานตลอดเส้นทางพม่าสองสัปดาห์และการตระเวนชมปราสาทหินจำนวนมากมายทั้งนครวัด นครธม ปราสาทตาพรมและบันทายสรีในเมืองเสียมเรียบในอีกสัปดาห์ถัดมาอย่างน้อยก็ได้บ่งบอกว่าชะตากรรมของผู้คนเดินทาง และเคราะห์กรรมที่คงตัวถาวรยากที่ใครจะขับเคลื่อนไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี แม้จะมีความใกล้เคียงกันแต่ก็อาจจะเป็นคนละเรื่องกัน
ที่พม่าตามวัดวาไม่ว่าจะเป็นที่เจดีย์ชเวดากองหรือตามวิหารโบราณที่พุกาม ทั้งต่อหน้าเจดีย์ชเวสิกอนอันศักดิ์สิทธิ์ และวิหารที่ปราศจากชื่อเสียงโด่งดังอื่นๆ เรามักจะได้พบคนพม่ามากราบไว้บูชาพระพุทธรูปหรือเจดีย์ บ้างมาสวดมนต์หรือนั่งสมาธิ ดูประหนึ่งเป็นพุทธมามกะผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนาและยึดวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
คนโดยสารล้นบนสองแถวพม่า
แต่คำอธิบายจากคนพม่าผู้มีน้ำใจต่างรอยยิ้ม ที่หยิบยื่นความช่วยเหลือและความเป็นมิตรให้โดยที่เราไม่ได้ร้องขอหรือตกอยู่ใต้ชะตากรรมที่รอคอยความมีน้ำใจ เรากลับได้ยินว่า
“ทุกวันนี้คนพม่าลำบากและยากจนมาก แต่ที่เขาทำบุญกันเยอะๆ เพราะคิดว่าชาติที่แล้วทำบุญมาน้อยเกิดมาชาตินี้เลยต้องลำบาก คนก็เลยนิยมเข้าวัดทำบุญเพื่อหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น”
ขณะที่คนเดินทางต่างถิ่นเข้าวัดเพื่อชื่นชมศิลปะ ประวัติความเป็นมาและความเงียบสงบ แต่คนพื้นถิ่นที่พม่ากลับบ่ายหน้าเข้าวัดเพื่อหวังว่าเคราะห์กรรมจะคลี่คลาย เคราะห์กรรมจากความลำบากยากจนชนิดที่เด็กชายตัวน้อยๆ ในวัยประถมฯ จะต้องเข้ามาทำงานในร้านน้ำชาริมถนน ซึ่งเป็นร้านยอดนิยมของคนพม่าหรือตามร้านอาหารต่างๆ ขณะที่เด็กผู้หญิงก็ต้องทำงานร้องขายของที่ระลึกหรือเดินตามตื้อนักท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อให้ซื้อพวงมาลัย สร้อยข้อมือหรือโปสการ์ด ขณะที่ผู้ใหญ่ไปที่ขายแรงงานอาจจะมีค่าแรงเพียงแค่วันละ 2,000 จ๊าดหรือประมาณ 50 วันเท่านั้นเอง
เป็นชะตากรรมที่หลากหลายบนเคราะห์กรรมของบ้านเมืองที่ปราศจากเสรีภาพและประชาธิปไตยทั้งๆ ที่บ้านเมืองสร้างหรือตั้งอยู่บนดินแดนปากแม่น้ำอิระวดีที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลก ซ้ำยังร่ำรวยด้วยแร่ธาตุ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและอัญมณีมหาศาล แต่ทั้งหมดนี้ถูกมือแห่งความละโมบไม่กี่มือกีดกั้นหรือยึดครองเอาไว้ฝ่ายเดียว
จักรยานที่เสียมเรียบ
และเคราะห์กรรมของผู้คนชาวเขมรที่ต้องเผชิญภาวะสงครามมาอย่างยาวนานและโหดร้าย ใครว่าเป็นเคราะห์กรรมที่พ้นผ่านได้ง่าย เคราะห์กรรมที่ถูกประเทศมหาอำนาจเข้ามาวางกับดักระเบิดจำนวนมากเอาไว้เพื่อต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ เคราะห์กรรมจากการเข่นฆ่ากันเองอย่างเหี้ยมโหดในยุคที่เขมรแดงยึดครอง
เงาของเรื่องราวเลวร้ายเช่นนั้นยังเกาะกุมและได้ยินจากปากคำคนเขมรรุ่นใหม่ไม่ต่างจากฝันร้ายที่ตามมาหลอกหลอนอยู่ทุกขณะ
ชาวเขมรเดินทาง
มันคือเรื่องราวหรือบรรยากาศที่ทำให้เราจะต้องใคร่ครวญหรือกระอักกระอ่วนใจระหว่างการเดินทางไปในดินแดนที่ได้ชื่อว่ายังไม่ศิวิไลซ์ ผู้คนไม่พูดภาษาอังกฤษหรือภาษาที่สื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ การเดินทางระหว่างเมืองยังเต็มไปด้วยความทุลักทุเล ไม่สะดวกสบาย หรือการสรรหากับข้าวกับปลาเพื่อที่จะเติมท้องให้อิ่มอย่างง่ายๆ แค่การสั่งมาม่าต้มหรือข้าวผัดจะต้องใช้ทั้งภาษามือและภาษากายร้อยพันกว่าจะเข้าใจกัน
บางทีในความคิดของเราก็ยังติดภาพว่าผู้คนแปลกหน้าที่พยายามจะเข้ามาสนิทชิดใกล้มาหยิบยื่นความช่วยเหลือหรือช่วยเจรจาพาที ล้วนทำไปด้วยมุ่งหวังอะไรบางอย่างจากเราไม่ว่าจะเป็นเงินดอลล่าร์ในกระเป๋า ทรัพย์สินมีค่าที่อาจจะถูกฉกฉวยคราพลั้งเผลอ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้สร้างเกราะขึ้นมาอย่างมองไม่เห็นที่อาจจะทำให้เรารู้สึกมั่นใจหรืออุ่นใจ แต่อาจจะกลายเป็นท่าทีเฉยเมยสำหรับผู้ที่เข้ามาด้วยน้ำใสใจจริง
เดินทางระหว่างภูเขาสู่ตองยี
ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาในบรรยากาศที่เมืองไทยน่าจะมีรอยยิ้มโปรยปรายบนท้องถนนและมี ‘น้ำใจ’ ที่แสร้งว่าคุณต้องการอะไรเราสรรหามาให้ได้เกิดขึ้นมากที่สุดในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งและการลงคะแนนเลือก ส.ส. บ้านเรากำลังจะพ้นผ่านไป ป้ายหาเสียงที่มีใบหน้าเปื้อนยิ้มและท่าทีที่เป็นมิตรเริ่มถูกเก็บกลับไปหรือกลายเป็นขยะเพราะหมดช่วงเวลาใช้งานไปแล้ว
แต่ภาพในความทรงจำของผู้คนซึ่งได้กลายมาเป็นตัวละครในความรู้สึกที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ผู้เข้ามาช่วยคลี่คลายชะตากรรมที่ดูเหมือนจะสร้างความยุ่งยากใจให้กับเราจากการสื่อสารกันคนละภาษา ชะตากรรมจากการเผชิญกับอาหารรสชาติไม่คุ้นลิ้น ผ่อนคลายหนักให้กลายเป็นเบาจากปัญหาที่เราไม่คาดคิด ช่วยเหลือโดยที่ไม่มุ่งหวังสิ่งใด ยิ้มให้โดยไม่ได้คาดหมายรอยยิ้มตอบแทน
แสงเงาบนสามล้อที่พุกาม
ผู้คนเหล่านี้คือเรื่องราวที่มีค่าควรระลึกถึงหลังจากชะตากรรมอันหลากหลายจากการเดินทางครั้งหนึ่งๆ ของเราจบสิ้นซึ่งทำให้คนบางคนกลายมาเป็นมิตรที่เราจะระลึกถึงและผูกพัน...