นาฏกรรมชีวิตและเรื่องราวแห่งการกินของผู้คนที่ ‘นครปฐม’ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ไม่น่าเชื่อว่าภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ติดๆ กัน ผมจะมีโอกาสแวะเที่ยวชมและเที่ยวชิมขนม ข้าวปลาอาหารและเมียงมองชีวิตของผู้คนในเมืองส้มโอหวาน ข้าวสารขาวถึงสองครั้งสองครา ซึ่งแต่ละครั้งคราเป็นต้องอดสงสัยไม่ได้ว่าในเมืองแห่งนี้ทำไมจึงมีการขายอาหารกันเป็นล่ำเป็นสัน ที่สำคัญยังมีรสชาติดีถูกปากถูกใจคนบ้านใกล้บ้านไกล ชนิดที่ว่าไม่ต้องรู้จักชื่อเสียงหรือมีป้ายโฆษณาชวนเชื่อ แค่ลองแวะชิมอาหารรถเข็นหรือตามสองข้างทางสักร้านในเมืองนครปฐมเป็นต้องอร่อยติดใจเกือบจะทุกรายไป
หลายครั้งก่อนที่ได้แวะไปชิมข้าวหมูแดงกลางเมืองนครปฐม (เมืองนี้ยังมีชื่อเรื่องการเลี้ยงหมูเป็นล่ำเป็นสัน) ตรงข้างๆ คลองที่มีร้านอาหารและขนมขายเรียงรายกันอยู่หลายเจ้าก็ทำให้ติดอกติดใจอยากหาโอกาสกลับไปลิ้มรสอีกครั้ง ที่ร้านแห่งนั้นนอกจากจะเสิร์ฟข้าวหมูแดงรสดีแล้วยังมีน้ำส้มคั้นสดราคาถูก แค่ขวดละ 10 บาทเอาไว้ให้แก้รสเลี่ยนมันของอาหารคาวได้ดี เมื่อกินข้าวหมูแดงเสร็จแล้วเดินต่อลงมาอีกสักหน่อยก็จะถึงร้านลอดช่องใบเตย รสกะทิหวานหอมมัน กินแล้วชื่นใจคลายร้อน ขายแค่ถ้วยละ 12 บาท (แต่ตอนนี้ปรับราคาขึ้นเป็น 14 บาทแล้ว)
อีกครั้งหนึ่งต่อมาเมื่อได้กลับไปเยือนถนนสายอาหารริมคลองตรงข้ามองค์พระปฐมเจดีย์แห่งนี้อีกครั้งก็พบว่าอาหารอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ ก๋วยเตี๋ยวไก่ หรือแผงขายส้มตำ ลาบหมู ไก่ย่าง ที่อยู่ถัดๆไปก็ล้วนมีรสชาติดีและขายดิบขายดีเช่นกัน โดยเฉพาะร้านส้มตำแห่งนี้ยังมี ‘ตำหลดบัว’ ซึ่งเป็นสายบัวอ่อนกรอบตำปูให้ลองชิมอีกด้วย ตำหลดบัวที่ว่านี้ยังมีขายกันอีกหลายร้านในนครปฐมและผมก็เพิ่งจะได้ชิมเป็นครั้งแรกที่นี่เอง
ตำหลดบัว
ร้านไอติมไอส์เบิร์กที่อยู่ละแวกเดียวกันกับแผงค้าอาหารย่านนี้ก็ถือว่าเป็นร้านเด่นดังของที่นี่ ด้วยว่าเปิดขายกันวันเว้นวัน (ทางร้านบอกว่าเปิดเฉพาะวันเลนคู่) และเปิดขายเอาตอนบ่ายสองโมงเป็นต้นไป ได้ยินกิตติศัพท์ถึงรสชาติอร่อยราคาไม่แพงของไอติมรสผลไม้ตามฤดูกาลของที่ร้านแห่งนี้ แต่ก็ไม่ทันได้ชิมเนื่องด้วยครั้งแรกที่ไปเป็นวันเลขคี่ซึ่งร้านปิด เพราะต้องหยุดทำไอติม
ใช่ว่าบรรยากาศและเรื่องราวแห่งการกินที่เมืองพระปฐมเจดีย์จะฟู่ฟ่าเฉพาะตอนกลางวันดังที่ว่ามาเท่านั้น หากใครที่ชื่นชอบการออกไปหาอะไรกินนอกบ้าน ย่อมจะต้องเคยได้ยินชื่อเสียงของตลาดโต้รุ่งหน้าองค์พระฯ ซึ่งเป็นตลาดอาหารที่อยู่บริเวณลานพระปฐมเจดีย์นั่นเอง ตลาดแห่งนี้เปิดขายตอนเย็นประมาณหกโมงเย็นเป็นต้นไปจนถึงยามค่ำคืนดึกดื่น และเป็นที่นิยมของคนในจังหวัด ทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร สนามจันทร์ ทั้งบรรยากาศนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจึงมีความคึกคักทั้งอาหารที่ขายและผู้คนที่เดินเลือกอาหารว่าจะปลงใจกับร้านใดดี
ตลาดหน้าองค์พระ
ที่ตลาดอาหารแห่งนี้เองหลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อเสียงของร้านไอศกรีมลอยฟ้า ที่มีการโยนลูกไอติมขึ้นไปแล้วให้ลูกค้าได้ลองถือถ้วยไปรองไอติมเอาไว้ ใครรับไอติมที่ลอยลงไปตกลงในถ้วยได้พอดี รับรองว่าได้กินไอติมถ้วยนั้นฟรี จึงมีเด็กๆ วัยรุ่นและนักท่องเที่ยวเข้าไปมุงและผลัดกันลองทดสอบฝีมือรับไอติมกันเนืองแน่หน้าร้านอยู่เสมอ
ไอศกรีมลอยฟ้า
ถนนสายอาหารในยามค่ำคืนที่ตลาดองค์พระฯ แบ่งออกเป็นสองช่องทาง และแต่ละเลนก็มีร้านรวงเรียงรายนับสิบยี่สิบร้านเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นขนมครก น้ำแข็งไส ไก่ย่าง สเต๊ก ผัดไท หอยทอด ข้าวมันไก่ เย็นตาโฟหรือก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ทุกรส ฯลฯ ล้วนมีให้เลือกอย่างละลานตาแทบจะเลือกไม่ถูก แม้ว่าน้ำลายและน้ำย่อยในกระเพาะได้ถูกกระตุ้นให้หลั่งไหลออกมารอแล้วก็ตาม
เดินทางในเอเชียและที่อื่นๆ มาก็หลายประเทศ ผมไม่เคยเห็นว่าจะมีประเทศใดที่จะมีการขายอาหารกันเป็นตลาด โดยเฉพาะแบบตลาดโต้รุ่งได้คึกคักหลากหลายได้เท่าเมืองไทย และแค่ตลาดหน้าองค์พระฯ ยามค่ำคืนที่นครปฐมแห่งนี้ที่เดียวก็แทบจะทำให้หลายๆ ประเทศในโลกหันมาค้อนขวับในความหลากหลายของบรรยากาศการกินอาหารนอกบ้านของคนไทยได้ทีเดียว
อาหารแบบนี้ใช่หรือไม่ที่เป็นอาหารจานด่วนราคาประหยัด (สนนราคา 25 – 35 บาทต่อจานหรือชาม) สำหรับคนไทยโดยไม่ต้องพึ่งพิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ ฮ็อตดอก หรือแซนด์วิชตามร้านหัวนอก ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น Junk Food จานด่วนมาจากตะวันตก ขอแค่ข้าวแกงที่มีข้าวหอมมะลิร้อนๆ ราดกับข้าวสักอย่างสองอย่าง หรือได้บะหมี่ร้อนๆ สักชาม คนไทยก็อิ่มได้อย่างถูกใจและยังถูกสตางค์กว่าด้วย
ระหว่างการเดินเลือกดูอาหารว่าจะพาท้องว่างๆ ไปเติมที่ร้านใด ซึ่งต้องเล็งและเลือกให้ดี เพราะว่าแม้อาหารจะมีหลายร้านและหลากรสปานใด แต่คนเราก็มีได้แค่ ‘หนึ่งอิ่ม’ เท่านั้นเอง ผมไปถูกใจเนื้อหมูย่างที่หั่นสไลด์ได้บางที่โชว์อยู่ในตู้ไม้ใบเก่าเคียงเส้นบะหมี่ที่ม้วนกองดูน่ากินที่หน้าร้านบะหมี่เกี๊ยวเจ้าหนึ่ง ซึ่งพอดีมีโต๊ะว่างให้นั่งรอคนขายมารับอาหารที่เราจะสั่ง แต่ใช่ว่ามีที่นั่งและจะได้สั่งและได้ลิ้มลองรสชาติบะหมี่เจ้านี้ที่ดูน่ากินอย่างรวดเร็ว ระหว่างนั้นผมสังเกตว่ามีหลายคิวที่ซื้อกลับบ้าน หลายคนที่มาก่อนและยังต้องนั่งรอ สักพักหนึ่งในคนขายที่เป็นชายหนุ่มหันมาบอกว่า...นานสักหน่อยนะครับ ประหนึ่งว่าถ้ายังสมัครใจจะกินก็นั่งรอไปก่อน
จอนยาวบะหมี่เกี๊ยว
นั่งรอกันไปเรื่อยๆ ได้สักเกือบยี่สิบนาทีกว่าจะมีการเดินมาสั่งอาหารและลำเลียงบะหมี่เกี๊ยวน้ำหมูแดงร้อนๆ ในชามมาเสิร์ฟในเวลาต่อมาไม่นาน รสชาติที่ว่านั้นก็อร่อยใช้ได้ นอกจากจะมีหมูแดงหั่นบางๆ แล้วยังมีหมูบะช่อเป็นแผ่นๆ ใส่มาในชามด้วย และน้ำซุปแม้จะมีรสจืดไปสักหน่อยแต่ก็ได้รับรู้ได้ว่าปรุงมาอย่างตั้งใจ...
ในจังหวะแห่งการรอคอยอาหารมื้อเย็นจะมาถึงบนโต๊ะบะหมี่ว่างๆ แห่งนั้น สายตาผมเหลือบมอง ‘พวงพริก’ บนโต๊ะที่ตั้งรอให้ลูกค้าได้ตักไปปรุงรสบะหมี่ของตัวเอง มันไม่ใช่พวงพริกสำเร็จรูปแบบที่เราพบเห็นกันดาษดื่นตามร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วไปเสียทีเดียว ด้วยว่าทั้งกระปุกแก้วที่บรรจุน้ำตาล พริกน้ำส้มและน้ำปลานั้นเป็นแบบบ้านๆ ที่ว่างอยู่บนถาดสังกะสีเคลือบแบบเก่า และทุกโต๊ะของร้านบะหมี่เกี๊ยวจอนยาวแห่งนี้ก็เป็นพวงพริกแบบเตรียมเองทั้งสิ้น
พวงพริกแบบจัดเอง เรียบง่าย สะดวก ประหยัด
แค่พวงพริกหนึ่งอันบอกอะไรเราบ้าง? บ่งบอกว่าร้านแห่งนี้ใส่ใจกับการจัดเตรียมเครื่องปรุงสำหรับลูกค้า (หากใครเคยขายก๋วยเตี๋ยวหรือเคยสัมผัสรับรู้ความคิดของร้านก๋วยเตี๋ยวย่อมรู้ดีว่าการเตรียมพวงพริกให้ดูสะอาดหมดจด ดูน่ากินน่าใช้ ตลอดจนการต้องห่อมัดพริก น้ำปลา น้ำส้มเตรียมไว้ถือได้ว่าเป็นงานหรือภาระอย่างหนึ่ง) อิสระจากการซื้อหาเถาพวงพริกสำเร็จรูปพลาสติกเอามาใช้ โดยไม่ปล่อยให้ความสะดวกเร่งรัดมาครอบงำแต่หันมาเตรียมโถเครื่องปรุงต่างๆ จัดใส่ถาดเตรียมไว้บอกอะไรเราบ้าง?
ท่ามกลางความโล่งว่างของอากาศเบื้องบนที่ตลาดอาหารหน้าองค์พระฯ แห่งนี้มีอยู่ ช่างเป็นความโปร่งโล่งที่ตรงกันข้ามกับความหนาแน่นคึกคักในแนวราบของแผงค้าอาหารที่เบียดกันผัด เสิร์ฟ และสนองความอิ่มท้องให้ผู้คน ณ ที่แห่งนั้น
‘หนึ่งอิ่ม’ ของค่ำนั้นกับการได้ไปเยือนนครปฐมเพื่อเมียงมองและลิ้มลองรสชาติอาหารอันรุ่มรวยหลากหลายให้อะไรมากกว่าการได้ไปอิ่มแก่ผมจริงๆ