“เราคิดว่ามันอาจจะเร็วเกินไปไม่ว่าจะสำหรับนักท่องเที่ยว การลงทุนหรือความช่วยเหลือ... ตราบใดที่มีเงินก้อนใหม่เข้ามาในประเทศ ก็ยิ่งจะทำให้รัฐบาลทหารเพิกเฉยต่อแรงจูงใจที่จะทำให้ความเปลี่ยนแปลง”
ออง ซาน ซูจี 2538
“เราหวังว่าคุณจะไม่เข้ามาเที่ยวพม่ากับการมีกล้องในมือและแค่เพื่อการเก็บรูปถ่ายเท่านั้น เราไม่ต้องการนักท่องเที่ยวแบบนั้น จงพูดคุยกับคนที่คุณอยากจะคุยด้วย ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้เงื่อนไขข้อจำกัดในชีวิตของคุณบ้าง”
ชาวย่างกุ้งผู้สนับสนุนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย 2547
สายตาที่สื่อส่งมาดูเหมือนรู้จัก รอยยิ้มที่ค่อยๆ คลี่คลายบนใบหน้าแลดูคุ้นเคย ไม่นับวงแขนหรือเอื้อมมือที่ไม่รอช้าที่จะยื่นมาจับมือถือแขนทักทายราวกับเพื่อนเก่าผู้ห่างหายไปนาน ทุกสายตาทุกวงหน้าพรักพร้อมที่จะทักทายและหยิบยื่นสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้กับพวกเรา...ซึ่งแท้จริงแล้วอยู่ในฐานะนักท่องเที่ยว
การเดินทางในประเทศสหภาพพม่า 14 วันเพื่อ ‘เยี่ยมไข้’ เพื่อนบ้านผู้ขาดไร้บรรยากาศเสรีภาพและประชาธิปไตย เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ข่าวคราวของการปราบปรามพระสงฆ์และประชาชนชาวพม่า ที่ออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบของรัฐบาลทหารพม่าที่ขึ้นราคาน้ำมันและแก๊สจากราคาเดิมหลายเท่าตัว จนกระทั่งลุกลามบานปลายกลายเป็นการเรียกร้องให้นำประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่พม่าอีกครั้งหนึ่ง เป็นไปด้วยความรุนแรงในช่วงกลางเดือนสิงหาคมเรื่อยมาจนกระทั่งกลางเดือนตุลาคม 2550
การเดินทางในประเทศที่ปิดตัวเองมายาวนาน ซ้ำยังถูกนานาอารยะประเทศที่ได้ชื่อว่าโปรประชาธิปไตยคว่ำบาตรทางการค้า ภายหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงซึ่งถือว่าเป็นการปราบปรามประชาชนครั้งใหญ่ในพม่า หลังจากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8-8-88 (8 สิงหาคมปี 2531) ถือเป็นการเดินทาง ‘เข้าไปใกล้’ ประเทศเพื่อนบ้านประเทศนี้ ซึ่งเกือบตลอดเวลาที่ผ่านมาของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมประวัติศาสตร์หรืออคตินิยม ที่คนไทยมีต่อความคิดแบบเห็นคนพม่าเป็นศัตรูที่ปรากฏอยู่เรื่อยมา โดยเฉพาะในหนังสงครามหรือความสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองของไทยที่มีต่อพม่า ย่อมถือได้ว่าแม้จะวางตัวเป็นเพื่อนบ้านที่แนบชิดชายแดนด้านตะวันตกของไทยมาช้านาน แต่ก็นับได้ว่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านผู้ห่างเหินและห่างไกลจากการรับรู้ของคนไทยมาโดยตลอด
ประเทศพม่าหลังควันปืนและคาวเลือดของผู้บริสุทธิ์หลังการลุกฮือทางการเมืองอีกครั้ง ยังคงคึกคักในภาคของเมืองอย่างเมืองหลวง (เก่า) ย่างกุ้งหรือมัณฑะเลย์ ยังคงงดงามเงียบสงบและเปี่ยมด้วยพลังศรัทธาของประชาชนชาวพม่าที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างเมืองพุกาม หรือกระทั่งดินแดนห่างไกลและมีธรรมชาติเฉพาะตัวที่ยิ่งใหญ่อย่างทะเลสาบอินเลและชาวบ้านรอบๆ ทะเลสาบที่ดำเนินชีวิตไปโดยไม่สนใจต่อความเปลี่ยนแปลงหรือกระแสร้อนแรงทางการเมืองใดๆ มาเนิ่นนาน
เมื่อตกเป็นนักท่องเที่ยวในท่ามกลางกระแสที่ผู้คนหวาดกลัวการเดินทางในพม่า ด้วยเกรงว่าจะเสี่ยงภัยนานาประเภท (พม่าเพิ่งจะยกเลิกคำสั่งประกาศเคอร์ฟิวเป็นเวลาสามเดือน นับแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปลายเดือนกันยายน) จนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่ควรจะมีดังที่เคยเป็นมาในช่วง “ไฮซีซั่น” หดหายไปจนแทบจะนับหัวได้ นอกจากจะทำให้รูปแบบการเดินทางจากที่เคยคาดการณ์หรือวางแผนไว้ต้องปรับเปลี่ยนออกไปแล้ว ยังมีผลทำให้ต้องเผชิญกับชาวบ้านธรรมดาๆ ที่แปรผันตัวเองมาทำมาหากินกับนักท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังหลายต่อหลายแห่งทั่วประเทศพม่า นับแต่บริเวณมหาเจดีย์ชเวดากองในกรุงย่างกุ้ง วัดชเวนันดอที่เก่าแก่ในเมืองมัณฑะเลย์หรือหลายๆ วิหารอันสวยงามในเมืองพุกามที่เราจะต้องรับมือ ปะทะคารมและความรู้สึกกับรูปแบบที่หลากหลายของคนพม่าที่เข้ามาหากินกับนักท่องเที่ยว ทั้งการเข้ามาขอรับบริจาคเงิน เข้ามาขายโปสการ์ดหรือสินค้าที่ระลึกแบบที่แทบจะยัดเยียดขาย ให้หรือเดินตามตื้อโดยที่เราไม่ต้องการ จนทำให้แต่ละฝ่ายต้องอึดอัดหรือเสียความรู้สึกต่อกันไป
เรียกแท็กซี่ออกจากสนามบินได้คนที่แฝงตัวเป็นไกด์ติดตามมาด้วย
รู้ดีว่าไม่จำเพาะแต่การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศพม่าดอกที่นักท่องเที่ยวจะถูกตอมหรือตามตื้อเช่นที่เราประสบที่พม่า หากเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางในหลายประเทศในเอเชีย (ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย) ที่เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าน่าเที่ยวหรือมีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังก็ต้องพานพบกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ดูกระหายดอลลาร์ไม่แตกต่างกัน
พระที่ชเวดากองแฝงตัวเข้ามาพูดคุย ทำพิธีให้และขอเงินบริจาคให้เหตุผลว่าเพื่อสนับสนุนศาสนา
แต่หลายช่วงตอน ณ หลายจุดของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหรือน่าสนใจที่เราจะต้องแวะชมในพม่าทำให้เราได้พบกับเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง ชายหนุ่ม หญิงสาวหรือป้าลุงหลากหลายวัย ซึ่งดูเหมือนว่าพร้อมที่จะทักทายปราศรัยแย้มยิ้มด้วยสีหน้าที่เป็นมิตร แต่เมื่อรู้ว่าเราไม่สนใจที่จะอุดหนุนสินค้าจำพวกพวงมาลัย โปสการ์ด หนังสือ ภาพเขียนที่ถูกนำมาเสนอหลังจากการชี้ชวนให้ดูสิ่งนั้นสิ่งนี้อย่างมีน้ำใจ หรือไม่ได้รับรู้ธรรมเนียมว่าจะต้องให้เงินบริจาคแก่คนที่มาเปิดประตูเพื่อให้เข้าชมวิหารบางแห่งในพุกาม แล้วต้องถูกตะโกนบอกด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าวให้ต้องบริจาคเงิน สีหน้าและท่าทางของพวกเขาก็พร้อมที่จะกลับกลายเป็นยิ่งกว่าคนแปลกหน้า และวางระยะทางห่างเหินยิ่งกว่าตอนแรกที่พบเจอกันเสียอีก
เณรที่วัดชเวนันดอ มัณฑะเลย์ยิ้มสวยให้กล้องเพราะรู้ดีว่าจะได้เงินดอลลาร์
จากการได้พบพูดคุยกับคนพม่าหลายคนและจากภาพชีวิตรายรอบตัวที่ได้พบเห็น เรารู้ดีว่าความเป็นอยู่ของคนพม่าในดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งจากป่าไม้ แร่ธาตุ อัญมณีต่างๆ นั้นไม่ได้ช่วยให้พวกเขากินดีอยู่ดีหรือมีปัจจัยพื้นฐานแค่ชีวิตปกติวิสัยควรจะได้หรือควรจะมี เพราะการปกครองแบบเผด็จการทหาร มิหนำซ้ำกว่าจะหาเงินได้แต่ละเจี้ยด (หรือจ๊าด - Kyat) ล้วนแต่ยากลำบากและหลายคนค้นพบวิถีทางทำมาหากินด้วยการรอการหยิบยื่นเศษเงินจากนักท่องเที่ยว ด้วยการฉ้อโกงอารมณ์หรือการบิดเบือนภาพของความมีน้ำใจไปสู่การได้มาซึ่งเงินตรา แม้สัก 500 หรือ 1,000 เจี๊ยด (ประมาณสิบสามบาทหรือยี่สิบเจ็ดบาท) จากการเดินตามตื้อขายสินค้าที่ไม่น่าสนใจหรือไม่เป็นที่ต้องการให้แก่นักท่องเที่ยว
เด็กหญิงหน้างอขายพวงมาลัยที่ชเวนันดอ
ยายแก่ขายมาลัยที่วัดชเวสิกอง พุกาม
เมื่อแรกที่จะก้าวเท้าออกจากบ้านเพื่อไปเดินทาง 14 วันในประเทศพม่าเราคาดเดาเตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ว่าจะได้พบภาพที่หดหู่ หรือความเป็นอยู่ที่ไม่เป็นไปตามปกติวิสัย ที่คนเราควรจะมีอยู่ท่ามกลางปัจจัยพื้นฐานที่ชีวิตทั่วไปต้องการของคนพม่า
ทำทีว่าชี้ชวนให้ดูนู่นนี่สุดท้าย ผลักดันให้ซื้อของที่พุกาม
การผลักดันให้ซื้อภาพเขียนทรายราคาไม่เป็นธรรมของแม่ค้าที่พุกาม
แต่เมื่อได้เดินทางขยับเข้าไปใกล้ความห่างไกลแบบพม่านั้นเราจึงได้เห็นหลายชีวิต หลายแววตาและสีหน้าของความเป็นมนุษย์ที่ไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นในความเป็นคนพม่า คนไทย คนแขกหรือคนฝรั่งผิวขาวตาน้ำข้าวที่ล้วนแต่แสวงหาและกระหายปัจจัยเทียมๆ ที่เรียกว่าเงินตรา จนไม่สนใจที่มาหรือฉวยใช้โอกาสจากความน่าสงสารน่าเห็นใจ มาแปรเปลี่ยนให้เป็นรายได้ที่ได้มาง่ายดายกว่าการลงน้ำพักน้ำแรงทำกินอย่างสุจริตในรูปแบบอื่นๆ