วันหนึ่งปลายฤดูหนาวของลอนดอน ณ Natural History Museum ย่าน South Kensington เมื่อหลายปีมาแล้ว ผมมีโอกาสได้ไปเดินชมนิทรรศการภาพถ่ายทางอากาศนิทรรศการหนึ่ง จำความรู้สึกของตัวเองขณะนั่งรถไฟใต้ดินไปที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ว่าตื่นเต้นอยู่ไม่น้อยที่กำลังจะได้ชมภาพถ่ายเหล่านี้ที่กำลังแสดงอยู่อย่างใกล้ชิด
“Earth From Above” By Yann Arthus-Bertrand…
สาเหตุก็คือเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้นไปอีก ผมได้เห็นหนังสือชื่อเดียวกันนี้เป็นหนังสือปกแข็งขนาดเขื่องวางขายอยู่ในร้านหนังสือต่างประเทศในกรุงเทพฯ ภาพปกเป็นภาพสีเขียวขจีของดินแดนหนึ่งที่มีรอยโค้งเว้าของแผ่นดินซึ่งเมื่อมองลงมาเบื้องบนกลับดินแดนนั้นมีลักษณะเหมือนรูปหัวใจ เมื่อได้เปิดชมภาพงามๆ แสนจะน่ากังขาว่าช่างภาพสามารถเก็บภาพเหล่านี้มาได้อย่างไร ก็ทำให้ตกหลุมรักภาพถ่ายทางอากาศฝีมือช่างภาพหนุ่มใหญ่ชาวฝรั่งเศสคนนี้จนต้องรีบจดจำชื่อเสียงเรียงนามเขาเอาไว้ กระทั่งมีโอกาสได้ชมภาพเหล่านี้ที่ลอนดอนในอีกไม่นานปีต่อมา
ถ้าหากจะบอกว่าเรากำลังใช้ชีวิตกันอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่ทุกสรรพสิ่งในหมู่บ้านโลกเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน และทุกสิ่งอย่างสามารถส่งแรงกระเพื่อมถึงกันได้ไม่ยาก ก็เชื่อได้ว่าความจริงที่กำลังมีนิทรรศการชื่อเดียวกันนี้ - Earth From Above : An Aerial Portrait of Our Planet. Towards a Sustainable Development นิทรรศการภาพถ่ายทางอากาศ สาส์นสำรวจสภาวะโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย ญานน์ อารฺตุส-แบรฺทรองด์ (Yann Arthus-Bertrand) ช่างภาพชาวฝรั่งเศส กำลังมาจัดแสดงให้คนไทยและชาวกรุงเทพฯ ได้ชมอย่างใกล้ชิดนานถึง 99 วัน (ระหว่างวันที่ 3 มิ.ย. - 9 ก.ย. 51) ณ บริเวณ เซน เอ้าท์ดอร์ อารีน่า และบริเวณรอบลานน้ำพุเซ็นทรัลเวิลด์ ถือเป็นแรงกระเพื่อมที่ดีของคลื่นโลกาภิวัตน์ที่กระทบมาถึงคนไทยและเมืองไทย
........................................................
เกือบจะเที่ยงวันภายในร้านอาหารและร้านกาแฟแห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้า Zen ญานน์ อารฺตุส-แบรฺทรองด์ ตัวจริงเสียงจริงปรากฏตัวขึ้นในชุดเสื้อเชิ้ตสีฟ้าอ่อนกางเกงผ้าสแล็คสีเข้ม วันนี้เขานั่งอยู่บนเก้าอี้โซฟาหนังสีน้ำตาลตัวยาวในร้านพร้อมกับโทรศัพท์มือถือเท่านั้น โดยไม่มีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพหรือการทำงานใดๆ วางไว้ข้างกาย
วันนี้เป็นครึ่งวันที่เหลืออยู่จากเวลาเพียงสองวันในประเทศไทยที่เขาเดินทางมาเปิดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายทางอากาศจำนวน 120 ภาพ ซึ่งเป็นผลแห่งความพากเพียรในการออกสำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 โดยสะท้อนความหลากหลายของธรรมชาติและสีสันแห่งชีวิต รวมทั้งรอยประทับของมนุษย์และการล่วงละเมิดต่อสิ่งแวดล้อม ภาพเหล่านี้ถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ในระดับความสูงระหว่าง 30 เมตร ถึง 3,000 เมตร และใช้ชั่วโมงบินรวมทั้งหมดถึง 4,000 ชั่วโมง และเพื่อให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายสำนักของไทย
ผมมีโอกาสนั่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสัมภาษณ์ญานน์อย่างใกล้ชิด ครั้งนี้จึงถือได้ว่าเป็นโอกาสพิเศษที่จะได้สัมผัสตัวตนของช่างภาพวัย 62 คนนี้พร้อมกับได้รับรู้แง่คิดในการใช้ชีวิต การทำงานและกิจกรรมที่ชอบทำในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (เขาบอกว่าเขาเป็นนักกิจกรรม – Activist มาแต่ไหนแต่ไร) จนกระทั่งได้ชื่อว่าเป็นช่างภาพนักอนุรักษ์ของเขาคนนี้
........................................................
ญานน์เป็นช่างภาพนักอนุรักษ์ชาวฝรั่งเศสที่มีผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดของฝรั่งเศส และผลงานของเขาถือเป็นสุดยอดของภาพถ่ายทางอากาศที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก มีการจัดแสดงผลงานภาพถ่ายชั้นยอดที่ถ่ายทางอากาศบนเฮลิคอปเตอร์มามากกว่า 110 เมืองใน 40 ประเทศทั่วโลก อาทิ ฝรั่งเศส, สเปน, เบลเยียม, เม็กซิโก, สวีเดน, ออสเตรเลีย, อังกฤษ, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, อิตาลี, เกาหลี, จีน,สหรัฐอเมริกา, อาร์เจนตินา, ซาอุดิอาระเบีย,สิงคโปร์ และไทย เป็นต้น นับตั้งแต่ได้จัดนิทรรศการครั้งแรกซึ่งจัดแสดงภาพตามแนวรั้วของสวนลุกซัมบวร์ก กรุงปารีส เมื่อปี พ.ศ. 2543 จนถึงปัจจุบันมีผู้ชมภาพถ่ายของเขามาแล้วมากกว่า 120 ล้านคน
หัวใจแห่งเมืองโวห์ นิวคาลีโดเนีย เขตปกครองของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นป่าโกงกาง
พ.ศ. 2548 ญานน์ได้ก่อตั้งมูลนิธิ GoodPlanet.org ขึ้นเพื่อเป็นองค์กรการกุศลอิสระที่สนับสนุนการพัฒนาแบบยั่งยืนผ่านทางโครงการที่หลากหลาย เช่น Action Carbone ที่วัดระดับการแพร่กระจายของก๊าซคาร์บอน หรือ Sustainable Development, what for? ซึ่งเป็นโครงการโปสเตอร์ทางการศึกษาเพื่อโรงเรียนในประเทศฝรั่งเศส และกำลังดำเนินการถ่ายทำใบหน้าและเก็บเสียงของผู้คนต่างๆ ในโลกในโครงการ 6 Billion Others ซึ่งมีแนวคิดหลักในการดำเนินการคือ เพื่อพบปะผู้คนทั่วโลกและถามคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับมนุษยชาติ โดยเขาได้บันทึกลงแผ่นฟิล์มไว้และสามารถติดตามชมรายละเอียดได้ทางเว็บไชต์
นอกจากนี้มูลนิธิ GoodPlanet.org ของเขายังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ "Alliance for the Planet" (Alliance pour la Planète) และ "Committee 21" (Comité 21) โดยเป็นการรวมพลังของชาวฝรั่งเศสตลอดจนองค์กรที่อุทิศให้กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้รังสรรค์ Vu du Ciel ซึ่งเป็นรายการต่อเนื่องทางโทรทัศน์สำหรับสถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศสอีกด้วย โครงการนี้ได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2550 ด้วยการถ่ายทำสารคดียาวเกี่ยวกับสภาวะเป็นพิษของโลกและทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้
........................................................
แรกเริ่มทีเดียวญานน์ติดตามภรรยาที่ไปศึกษาวิจัยเรื่องราวชีวิตสัตว์ป่าด้วยการถ่ายภาพสิงโตที่ Masaï Mara Reserve ประเทศเคนยาในแอฟริกา และที่เคนยานี่เองที่เขาได้ค้นพบเสน่ห์ของการถ่ายภาพทางอากาศในขณะที่อยู่บนบอลลูนในฐานะนักบิน จนเขาและภรรยาได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกชื่อ Lions ออกมาในปีพ.ศ. 2524 จากการคลุกคลีกับธรรมชาติและสัตว์ป่าหลายปีทำให้เขาเรียนรู้และเข้าใจดีว่า โลกมิได้เป็นของมนุษย์เผ่าเดียวเท่านั้น และธรรมชาติคือทรัพยากรที่มีค่าของโลกใบนี้ที่กำลังถูกทำลายลงด้วยน้ำมือมนุษย์
หลังจากนั้นญานน์ก็ได้เริ่มหันมาจับงานถ่ายภาพชีวิตสัตว์ป่าควบคู่ไปกับการเป็นช่างภาพถ่ายภาพกีฬาเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่เขาก็ยังให้ความสนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 เขาได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพทางอากาศ หลังจากนั้น 9 ปี เขาก็ได้ริเริ่มโครงการ The Earth from Above ขึ้นโดยสื่อผ่านทางหนังสือและนิทรรศการต่างๆ ซึ่งภาพถ่ายพร้อมคำบรรยายภาพเหล่านี้ได้ช่วยให้สังคมเข้าใจความเป็นไปของโลก ตลอดจนความสำคัญของการอนุรักษ์อย่างเด่นชัด ผลงานหลายภาพในโครงการนี้ของญานน์ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร National Geographic มาแล้วทำให้เมื่อได้เห็นภาพเหล่านี้อีกครั้งก็รู้สึกคุ้นตา นอกจากนี้ยังมีภาพทิวทัศน์ของเมืองไทยและภาพชีวิตของคนไทยอีกหลายภาพที่ได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ด้วย
ฝูงนกช้อนหอย ใกล้เมืองเพเดรนาเลส ลุ่มน้ำอมาคุโร ประเทศเวเนซุเอลา
........................................................
ญานน์บอกกับผู้สื่อข่าวชาวไทยที่ไปนั่งฟังการสัมภาษณ์ของเขาว่า ทุกวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือความยากจนและการมีประชากรล้นโลก จนทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าหรือธรรมชาติต่างๆ จำนวนมาก เขายกตัวอย่างที่ประเทศมาดากัสการ์ที่เขาเพิ่งจะเดินทางไปเยือนก่อนมาถึงประเทศไทยว่าที่นั่นเขาได้พบเห็นการขึ้นไปทำนาปลูกข้าวบนภูเขา ในบริเวณที่ควรจะปล่อยให้เป็นพื้นที่ป่า แต่เมื่อคนเรามีการหักล้างถางพงป่าเหล่านั้นออกไปเพื่อทำการเกษตร โดยหารู้ไม่ว่ากว่าที่ธรรมชาติจะค่อยๆ ฟื้นคืนสภาพหรือกลายเป็นป่าได้นั้นจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 80 ปี และหนทางแก้ไขที่ทุกคนช่วยกันได้คือเริ่มทำอะไรก็ได้ที่เราคิดว่าดีต่อโลกต่อสิ่งแวดล้อม โดยขอให้เริ่มจากตัวของเราก่อน ส่วนการแก้ไขปัญหาทั้งระบบนั้นก็จะต้องให้การศึกษาเป็นตัวช่วย
ปกติแล้วในการทำงานญานน์จะต้องขึ้นไปบินอยู่บนเฮลิคอปเตอร์ร่วมกับนักบินของประเทศต่างๆ ในระดับความสูงของการถ่ายทำและสภาพอากาศที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นในการเตรียมการก่อนออกไปถ่ายภาพแต่ละครั้ง เขาและทีมงานจะต้องมีการศึกษาแผนที่ ศึกษาทุกๆ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำงานให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะการขึ้นบินแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ฉะนั้นหากบินขึ้นครั้งใดก็จะต้องได้ภาพสวยๆ หรือที่น่าพอใช้กลับลงมาด้วยทุกครั้ง
คาราวานอูฐโหนกเดียวใกล้เมืองฟาชิ ประเทศไนเจอร์
แม้ภาพของญานน์จะสวยด้วยสีสันและเรื่องราวที่ถ่ายทอดทุกๆ อย่างลงในหัวใจและสายตาของผู้ได้พบเห็นได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่หากใครก็ตามที่ได้ไปชมนิทรรศการภาพถ่ายของเขาย่อมจะเห็นได้ว่าคำบรรยายภาพและการให้รายละเอียดว่าภาพนี้ถ่ายที่ใดและเกิดอะไรขึ้น มีเรื่องราวอะไรในภาพถ่ายนั้นเพิ่มเติมให้การชมภาพนั้นสมบูรณ์ขึ้นได้อีกด้วย
“70 เปอร์เซ็นต์ของภาพถ่ายที่ผมถ่ายมาได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย ไม่ใช่การเตรียมการที่ดีหรือการที่ผมมีฝีมือ เพราะทุกวันนี้การถ่ายภาพมันง่าย ใครๆ ก็มีกล้องดิจิทัลหรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือ แต่สิ่งที่ทุกคนควรจะเรียนรู้และทำให้ได้ก็คือการที่เราต้องรู้ตัวเองให้ได้ว่าเราอยากจะเป็นอะไรและอยากจะทำอะไร ด้วยเหตุผลใด แล้วทำมันให้เต็มที่ ทำออกมาให้ดีที่สุด” ช่างภาพอาวุโสระดับโลกให้ข้อคิด
วันนั้นแม้เสี้ยวเวลาหนึ่งของชีวิตที่ผมได้นั่งเผชิญหน้าและรับฟังมุมมองของช่างภาพระดับโลกผู้สวมเสื้อสีฟ้าและมีดวงตาไว้เพื่อมองลงมาจากเบื้องบนอยู่เสมอ
........................................................
ชมเว็บไซต์และภาพถ่ายทางอากาศของญานน์ อารฺตุส-แบรฺทรองด์ ได้ที่
www.yannarthusbertrand.org
เว็บไซต์ของมูลนิธิ GoodPlanet.org www.goodplanet.org
โครงการ 6 Billion Others: www.6milliardsdautres.org