Skip to main content


เสียงโหม่งขนาดใหญ่ประสานกับเสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ แม้ฟังดูอึกทึกครึกโครม แต่ก็พลิ้วไหวไปตามทำนองขุล่ยมั้งที่เป็นขลุ่ยเฉพาะของชาวกระยัน ได้เริ่มขับประโคมหมู่บ้านราวป่า ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของงานประเพณีต้นที


กะควาง” ในภาษากระยันถูกแปรออกมาเป็นภาษาเรียกอีกอย่างว่า “ต้นที” ซึ่งหมายถึงเสาไม้สีขาวแกะสลักปลายเสาให้เป็นรูปร่างคล้ายกับศิวลึงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่ากระยัน(กระเหรี่ยงคอยาว) และชนเผ่ากระยา(กระเหรี่ยงแดง)


ชาวกระยันเชื่อว่า ต้นทีเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแรกบนโลกมนุษย์ การบูชาต้นทีก็เพื่อให้บรรพบุรุษของกระยัน ที่สถิตบนสวรรค์ลงมาปกป้องคุ้มครองหมู่บ้านให้มีความสงบสุข อยู่ดีกินดี ไม่มีโรคระบาด ผีร้ายหรือสัตว์ป่าเข้ามารบกวนตลอดปี


ก่อนวันงาน ทุกครอบครัวจะจัดเตรียมไม้ฟืนไว้สำหรับหุงต้มอาหาร แต่ละบ้านจะหาไม้ฟืนไว้พอใช้ทั้งปี ชายหนุ่มเข้าป่าเสาะหาไม้ล้มมาทำฟืน หญิงสาวปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือนครั้งใหญ่ แม่เฒ่ากระยันหุงเหล้ากลิ่นคละคลุ้งทั่วบ้าน หมูและไก่ตระเตรียมรอการเชือดเพื่อเลี้ยงแขกเหรื่อในวันรุ่งขึ้น



ในเช้าวันถัดมา “กะควางแบว่จ่า” ผู้เฒ่าหมอผีจะตีฆ้องให้สัญญาณ ผู้ชายในหมู่บ้านไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่ม เด็ก หรือคนแก่ที่ยังพอมีเรี่ยวแรง ต่างเดินตามขบวนเครื่องดนตรีเข้าสู่ป่าใหญ่ เพื่อค้นหาต้นไม้ที่จะนำมาประกอบพิธี


ผู้หญิงจะทำหน้าที่หุงหาอาหารไว้คอยต้อนรับขบวน ที่กลับลงมาด้วยความเหนื่อยและหิว ด้วยต้องผลัดกันหามต้นไม้ขนาดเขื่อง มาจากป่าที่ไกลออกไปจากหมู่บ้าน


ต้นรัก” จะเป็นต้นไม้ที่ถูกนำมาทำเป็นต้นทีเสียส่วนใหญ่ มีเพียงบางปีเท่านั้นที่จะใช้ต้นไม้ชนิดอื่น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการเสี่ยงทาย


บางคนที่แพ้พิษต้นรักก็จะมีอาการคันคะเยอไปทั้งตัว บางรายที่แพ้มากอาจจะบวมและถึงกับเป็นไข้ แม้มีอาการแพ้พิษต้นไม้แต่ชายหนุ่มทุกคนในหมู่บ้าน ยังคงกลับบ้านมาทำหน้าที่อันสำคัญนี้ทุกปี



เมื่อเสียงฆ้องใกล้เข้ามา หญิงสาวจะตักน้ำไว้เต็มถังรอรับขบวน เมื่อขบวนแห่ต้นไม้มาถึงยังลานพิธี พวกเธอจะพรมน้ำด้วยใบไม้ให้ขบวนเต้นรำ จนเย็นชุ่มฉ่ำทั้งคนทั้งต้นไม้


ตกบ่ายหลังจากพักกินข้าวกินน้ำจนหายเหนื่อย ทุกคนจะมารวมกันที่ลานพิธี เพื่อตกแต่งต้นทีให้มีความสวยงาม โดยจะแกะเปลือกส่วนนอกออก ทาเคลือบลำต้นด้วยปูนขาว ส่วนยอดแกะสลักให้มีลักษณะคล้ายกับศิวลึงค์ ตกแต่งด้วยไม้ไผ่สานและไม้ที่ชาวบ้านนับถือว่าเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ โดยจะมีลักษณะเป็นซุ้มคล้ายฉัตรปกปิดส่วนยอด


จากนั้นต้นไม้สีขาวที่ตกแต่งอย่างสวยงาม จะถูกยกตั้งขึ้นเพื่อให้ส่วนยอดชี้ขึ้นไปบนฟ้า เสียงฆ้อง โหม่ง กลอง ประโคมระรัว ประสานพลังทั้งหมดชักดึงต้นทีที่หนักอึ้งให้ขึ้นตั้งลำด้วยความยากลำบาก เสียงโห่ร้องให้จังหวะในแต่ละครั้งดังก้องกังวานไปทั้งราวป่า


เมื่อต้นทีถูกตั้งขึ้นเป็นที่เรียบร้อย ผู้ชายจะทำการสักการะโดยการเต้นไปรอบๆ ตามจังหวะดนตรีอันเก่าแก่เนิบช้าแต่ทว่าคงที่ รอบแล้วรอบเล่าเหมือนไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย


การเต้นเช่นนี้ดูเหมือนจะจำกัดสิทธิ์ไว้ให้เฉพาะแต่เพศชาย เพื่อเป็นแสดงออกถึงความเคารพและเสมือนปลุกฟื้นวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษอันเก่าแก่ที่มีสัญลักษณ์ในรูปแบบของต้นที



หมู่บ้านชนเผ่าที่นับถือต้นทีในทุกๆ ปี จะย่ำเท้าตามเสียงดนตรีเข้าไปในป่า เพื่อไปตัดต้นไม้หนึ่งต้นมาทำต้นที เล็กบ้างใหญ่บ้างแล้วแต่ว่าปีนั้นหมู่บ้านใดเป็นเจ้าภาพใหญ่


หมู่ห้วยเสือเฒ่าในปีนี้ค่อนข้างเงียบเหงา มีแขกต่างหมู่บ้านเข้ามาร่วมเฉลิมฉลองค่อนข้างน้อย เพราะจัดว่าเป็นงานเล็ก งานใหญ่ได้ถูกกำหนดไว้ที่หมู่บ้านป๊อกหกในศูนย์อพยพบ้านในสอย


ขบวนชายหนุ่มที่เต้นรำรอบๆ ต้นที ก็หดสั้นลงกว่าปีก่อนๆ เพราะบางครอบครัวได้อพยพไปอยู่บ้านใหม่ห้วยปูแกง ส่วนบางคนแม้ว่าจะลงชื่อย้ายไปแล้ว ก็ยังมาเต้นรำให้กับต้นทีของหมู่บ้านด้วยความเคารพ


ในวันสุดท้าย ขบวนแห่จากหมู่บ้านอื่นๆก็จะทยอยกันมา ผลัดกันเต้นสักการะต้นที พวกเขาจะแต่งกายด้วยเสื้อแขนยาวสีขาว กางเกงสีดำ ผูกศรีษะด้วยผ้าแถบสีประจำหมู่บ้านของตน บางปีอาจจะมีการแข่งขันประกวดความสวยงาม จากการแต่งกายและการเต้นด้วยท่าที่งดงามพร้อมเพรียงกัน


บรรดาสาวหนุ่ม ต่างก็ครื้นเครงเพราะมีโอกาสได้พบปะกัน เมื่อเต้นรำตามพิธีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะได้ใกล้ชิดกัน ชักชวนกันขึ้นบ้านนี้ลงบ้านโน้น บางทีถึงกับสาดน้ำเล่นกัน เป็นที่สนุกสนาน


ตกบ่ายก็จะเริ่มจัดขบวนกันใหม่เพื่อเต้นรำ ให้กับบ้านแต่ละหลังเสมือนแทนการกล่าวคำขอบคุณและอวยพรให้กับเจ้าของบ้าน เจ้าบ้านจะยัดเหล้าให้ติดไม้ติดมือกลับบ้าน


เหล้าเจมที่มีรสชาติคล้ายสาโทในภาคอีสาน ถือเป็นเหล้าที่จะต้มกันเพียงปีละครั้งเมื่อมีงานประเพณีต้นทีเท่านั้น การตระเวนขึ้นบ้านโน้นบ้านนี้ก็เพื่อชิมรสชาติของเหล้าเจม เพราะแต่ละบ้านจะปรุงออกมาไม่เหมือนกัน บางบ้านมีรสหวานเฝื่อน บางบ้านเปรี้ยว และบางบ้านก็อร่อยจับใจ


ส่วนเหล้าขาวก็ยิ่งขาดไม่ได้ เพราะหากใครเป็นคอเหล้าจริงๆ ดื่มเหล้าเจมเท่าไรก็ไม่รู้สึกเมา ต้องเอาเหล้าขาวเข้าช่วย เหล้าเจมที่มีดีกรีไม่มากไปกว่าไวท์สักเท่าไรนั้น ผู้หญิงที่ปกติไม่ดื่มเหล้า ก็จะดื่มเหล้าเจมให้พอกรุ้มๆ


งานต้นทีจะจบลงเมื่อแขกบ้านสุดท้ายลากลับ เจ้าบ้านก็จะต้องเก็บกวาดบ้านของตนเอง เหล้าเจมจะถูกนำมาแจกจ่ายให้ดื่มจนหมดภายในสามวัน เพื่อไม่ให้โชคร้ายกลับเข้ามา


แต่เทศกาลต้นทียังคงมีอยู่ วันพรุ่งนี้จะหมู่บ้านถัดไปกำลังจะเริ่มงานต้นที และเมื่อถึงวันสุดท้ายของวันงาน ชาวบ้านที่นี่ก็จะต้องตั้งขบวนแห่ เดินทางไปเต้นรำรอบต้นทีเป็นการสักการะผีบรรพบุรุษของหมู่บ้านนั้น


จนกว่าเสียงฆ้องของหมู่บ้านสุดท้ายจะดังขึ้น และจะเวียนมาให้ได้ยินอีกครั้งในปีหน้า.


บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
ฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามชมละครเรื่องเมียหลวง ที่ถ่ายทอดทุกวันจันทร์-อังคารทางช่องเจ็ด เป็นละครไม่กี่เรื่องที่ฉันชอบดู ด้วยพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับสัญญาณโทรทัศน์ได้เพียงไม่กี่ช่อง  และอีกเหตุผลหนึ่งคือละครดีๆ มีไม่กี่เรื่อง  แม้หลายคนจะเหมารวมละครทีวีของไทยว่าเป็นละครน้ำเน่าเสียส่วนใหญ่ แต่ฉันก็เชื่อว่าละครที่สร้างมาจาก นวนิยาย ก็น่าจะมีเนื้อหาสาระบางอย่างสอนใจคนดูได้บ้าง ไม่ใช่จะดูแต่เพียงฉากตบกันของบรรดาเมียน้อยของคุณอนิรุจเท่านั้น
เจนจิรา สุ
เรานั่งพูดคุยบนชานหน้าบ้านอย่างออกรส ส่วนใหญ่ก็จะถามไถ่ทุกข์สุขกันและกัน เลยไปถึงญาติคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นหน้ากันนาน พี่เขยขึ้นเรือนมาสมทบเมื่อสิ้นเสียงออดของโรงเรียนได้พักใหญ่ “ไปเป็นการ์ดยามมา เขาให้เดือนละสี่ร้อย” พี่สาวแจง เป็นรายได้เดียวที่เหลืออยู่ของครอบครัว
เจนจิรา สุ
 "ไตรบานา" แม่เฒ่ากล่าวขอบคุณเป็นภาษากระยัน เมื่อเราบอกลาเป็นภาษาเดียวกัน ยังมีครอบครัวพี่สาวของสามีที่อยู่ถัดไปอีกสามป็อก เราตั้งใจว่าจะเยี่ยมก่อนที่จะไม่ได้พบหน้ากันอีก เพราะทางยูเอ็นฯ ได้แจ้งว่า ครอบครัวของเธอจะได้ไปประเทศที่สามในอีกไม่ช้า เราเดินเท้าไปตามทางเดินอันแสนพลุกพล่าน ราวกับว่าผู้คนเร่งรีบเดินทางสู่งานเลี้ยงสังสรรค์ที่ไหนสักแห่ง ความแออัดของผู้คนซึ่งมีอยู่ราวๆ สองหมื่นคน ทำให้บนทางเท้าและที่สาธารณะต่างๆ ดูครึกครื้น กลบบังความทุกข์ของคนพลัดบ้าน
เจนจิรา สุ
บนถนนที่ทอดยาวสู่หุบเขาทางทิศตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางที่ห่างออกมาเพียงสามสิบกิโลเมตรเศษ ลัดเลาะไปตามภูเขาบนถนนสายรพช. ซึ่งค่อยๆ แปรสภาพเป็นดินและหินลูกรังก่อนจะถึงสุดสายปลายทาง อันเป็นสถานที่คล้ายด่านกักกันมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ไร้ประเทศและเสรีภาพ หมู่บ้านกลางป่าที่ปลูกเบียดเสียดเรียงรายทุกซอกหลีบของพื้นที่จัดสรร คนนับหมื่นอัดแน่นในที่อาศัยกว้างกว่าเท้าและหัวจะพาดวางเพียงไม่กี่วา ที่นี่คือศูนย์ผู้พักพิงบ้านในสอย
เจนจิรา สุ
 มีใครเคยใช้ชีวิตในบ้านนอกโดยเฉพาะทางภาคอีสาน เมื่อประมาณสัก 20 ปีก่อน อาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับวัดที่แตกต่างจากปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เราแทบจะก้มลงกราบที่เท้าพระ เมื่อท่านเดินผ่านด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ฉันเป็นชาวพุทธมาแต่อ้อนแต่ออก ด้วยหมู่บ้านที่มีวัดป่า พระเณรเพียงไม่กี่รูปหนึ่งในนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องฉันเอง เราจึงเที่ยวเล่นแวะเวียนมาที่วัดทุกครั้งที่มีโอกาส ฉันยังจำไม่ลืมที่พระหลวงพี่ จับเราพี่น้องนั่งเรียงแถวทำสมาธิ เทศน์สอนประวัติความเป็นมาของพุทธเจ้าให้ฟัง ความที่ท่านบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนี้ท่านจึงกลายเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว
เจนจิรา สุ
เราทยอยออกจากบ้านร้างด้วยดวงใจที่ปวดร้าว ตรอกเล็กๆ ยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนจากหมู่บ้านกลางป่าไปสู่บ้านห้วยปูแกงเก่า บัดนี้ถูกย่ำไปด้วยรอยของสัตว์สี่เท้า “เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่ง เราเคยช่วยกันขนทรายจากแม่น้ำข้างล่างมาถมตรอกแห่งนี้ กระสอบทรายนับร้อยจากจำนวนคนเพียงหยิบมือเพื่อ....” ฉันหยุดคำพูดเพียงบางแค่นั้น ทิ้งบางส่วนค้างไว้ในความทรงจำ “เพื่ออะไรล่ะ” ใครคนหนึ่งยังคงตั้งคำถามต่อสิ่งที่ค้างคา “เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากหมู่บ้านข้างนอกเขามาเห็นวิถีชีวิตเรา มาเห็นหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านจริงๆ ไม่ใช่มีแต่ร้านขายของ แต่มันคงไกลเกินไป…
เจนจิรา สุ
สมรภูมิแห่งนี้เรารบกับอะไร ที่ผ่านมาเราถูกจองจำไว้ในกรงที่มองไม่เห็น เรามีอาหาร มีที่อยู่หลับนอน แต่เราไม่สามารถเป็นคนเต็มคนได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ์คิดหรือแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถรู้สึกเจ็บแค้นร้อนหนาว เราต้องทำหน้าที่อันถูกกำหนดมาจากผู้คุม ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับนาย เพียงเพื่อส่วนแบ่งที่ถูกเจียดให้พอประทังชีวิต แล้ววันหนึ่งเราต้องการปลดแอก เราต้องการตั้งอาจักรของตนเอง มีบ้านและที่ดินที่เป็นของเราจริงๆ ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมจากสมองและแรงกายของตนเอง
เจนจิรา สุ
ตุลาคม 2551"พร้อมหรือยัง"ใครคนหนึ่งตะโกนประโยคซ้ำเมื่อห้านาทีที่แล้ว เมื่อขบวนหนุ่มสาวต่างถิ่นยังคงง่วนอยู่กับการกดชัตเตอร์เก็บภาพแสงแดดยามเก้าโมงเช้า ช่างยวนใจให้ไม่อาจละสายตาจากหญิงกระยันที่ปะแป้งแต่งตัวกันจนเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจึงยังเสียดายที่จะละกล้องแล้วออกเดินทาง "หากไปสายกว่านี้เราจะร้อนมากเมื่ออยู่กลางป่า" ฉันเตือนเพื่อนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเท้าสู่หมู่บ้านกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราวๆ สามกิโลดอย
เจนจิรา สุ
เสียงโหม่งขนาดใหญ่ประสานกับเสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ แม้ฟังดูอึกทึกครึกโครม แต่ก็พลิ้วไหวไปตามทำนองขุล่ยมั้งที่เป็นขลุ่ยเฉพาะของชาวกระยัน ได้เริ่มขับประโคมหมู่บ้านราวป่า ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของงานประเพณีต้นที “กะควาง” ในภาษากระยันถูกแปรออกมาเป็นภาษาเรียกอีกอย่างว่า “ต้นที” ซึ่งหมายถึงเสาไม้สีขาวแกะสลักปลายเสาให้เป็นรูปร่างคล้ายกับศิวลึงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่ากระยัน(กระเหรี่ยงคอยาว) และชนเผ่ากระยา(กระเหรี่ยงแดง) ชาวกระยันเชื่อว่า ต้นทีเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแรกบนโลกมนุษย์ การบูชาต้นทีก็เพื่อให้บรรพบุรุษของกระยัน…
เจนจิรา สุ
มีนาคม 2551 ฉันตอบจดหมายแฟนนักอ่านคอลัมน์ของฉันคนหนึ่ง เธอเป็นคนปักษ์ใต้ นานเป็นเดือนที่จดหมายมาถึงพร้อมเสื้อผ้าและข้าวของกล่องใหญ่ ด้วยเจตนาทดแทนความขาดแคลนตามความรู้สึกของเธอ ที่สัมผัสจากการอ่านในบันทึกของฉันอยู่สองสามฉบับ เธอบอกว่าอิจฉานิดๆ ในชีวิตที่เรียบง่ายที่ฉันเลือกเดิน ฉันจึงตอบเธอไปว่าฉันเป็นเพียงนกที่บินหลงทางมา ก่อนหน้านี้ฉันก็ได้รับจดหมาย เสียงโทรศัพท์ และหนังสือดีๆ ที่ถูกส่งมาจากคนเมืองไกลจากเพื่อนที่ห่างหายการติดต่อมานานแสนนาน และจากมิตรร่วมความรู้สึกที่ไม่เคยเห็นหน้า อาจดูเป็นเรื่องแปลกหรือมีเปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน ที่คนปกติธรรมดา เกิด และเติบโตในสังคมเมือง…
เจนจิรา สุ
20 พฤศจิกายน 2550 คืนนี้แสงจันทร์กำลังโผล่พ้นเหลี่ยมเขาทิศเหนือ ดาวพราวแต้มเต็มฟ้า เหล้าดีกรีแรงทิ้งก้นจอกตั้งวางเคียงดวงเทียนที่ถูกจุดขึ้นโดยแม่เฒ่า ฉันกระชับเสื้อกันหนาวอีกนิด เมื่อลมหนาวพรูมาทางหน้าต่างบานกว้าง แม่เฒ่าบอกให้ยกดื่มอีกสักจอกแล้วจะอุ่นขึ้น ฉันรินคืนให้แม่เฒ่าพลางถามถึงความหลังเมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่เมืองดอยก่อ รัฐคะยา ประเทศพม่า “ตอนนั้นแม่ทำนามาได้ก็ต้องแบ่งให้กับเจ้าของนา ที่เหลือก็แทบไม่พอกิน ทหารพม่าก็ยังมาขูดรีดเอาอีก บางทีถ้าไม่ให้ก็ทุบตี พวกผู้ชายต้องพากันไปหลบซ่อนตัว  ไม่อย่างนั้นมันจะเกณฑ์ให้ไปขนระเบิดที่ชายแดน” “…
เจนจิรา สุ
10 พฤศจิกายน 2550 ฉันว่างเว้นจากการเขียนบันทึกไปนานด้วยทั้งภารกิจส่วนตัวที่ต้องยุ่งวุ่นวายกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในวัยที่ต้องการการเอาใจใส่อย่างสูง และภารกิจของชุมชนที่ต้องเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานราชการ ทั้งงานประสานงาน งานประชุม ส่วนเวลาที่เหลือฉันก็ยกให้กับการคิดในเรื่องต่างๆ ฉัน สามี และลูกต้องเดินทางทุกๆ 3-5 วัน จากบ้านของตนเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองไปบ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านใหม่ห้วยปูแกง การพักอาศัยที่บ้านของตัวเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองนั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวคือความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะการเดินทาง อยู่ใกล้โรงพยาบาล มีไฟฟ้าใช้สำหรับทำงาน หรือพักผ่อนด้วยการดูทีวี ติดตามข่าวสารโลกภายนอก…