Skip to main content

12 ตุลาคม 2550

ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียง

บางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส

มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี

ในวันนั้นเราได้มีโอกาสพบปะกับข้าราชการชั้นสูงของจังหวัดหลายคน และฉันก็ได้มีโอกาสมอบหนังสือที่ชาวบ้านร่วมกันทำขึ้นมาไว้ให้กับนายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

หนังสือฉบับนั้นเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าสภาพหมู่บ้านและปัญหาหลังการย้าย พวกเราได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือผ่านหนังสือฉบับนี้เพื่อเร่งให้หน่วยงานราชการต่างๆเข้ามาแก้ไข  ไม่นานผลของความพยายามก็เป็นผลสำเร็จ

วันนี้เป็นครั้งแรกที่เราจะได้ต้อนรับคณะหน่วยงานราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เข้ามาที่หมู่บ้านของเราอย่างคึกคัก

ท่านผู้ว่าฯ เข้ามาในนามนายกเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน และการมาครั้งนี้ก็เพื่อบรรเทาสาธารณะภัยของชาวบ้าน หรือเรียกง่ายๆว่ามาแจกของช่วยเหลือชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

บ่ายกว่าๆ เจ้าหน้าที่อส.จ. ก็ส่งข่าวเข้ามาทางวิทยุสื่อสาร ว่าให้เตรียมตัวเข้าแถวต้อนรับคณะหน่วยงานราชการที่กำลังขึ้นเรือจากท่าของหมู่บ้านห้วยปูแกงเก่า  และกำลังเดินเท้าเข้าตรอกเล็กๆ จากห้วยปูแกงเก่าเข้าหมู่บ้านใหม่ซึ่งถูกปรับปรุงไม่ให้ชื้นแฉะเป็นหลุมบ่อเหมือนอย่างเคย เพื่อให้แขกที่เข้ามาเยือนสามารถย่ำเท้าเข้ามาได้อย่างสบาย

มะลิ หญิงสาวกระยันคนเดิม ต้องทำหน้าที่ในการกล่าวรายงานต่อท่านผู้ว่าฯ อีกครั้ง ครั้งนี้เธอต้องขึ้นไปยืนบนเวที มีมะหล่อเพื่อนสาวกระยันคอยถือโทรโข่งอยู่ข้างๆ

ฉันสังเกตว่าเธอประหม่ากว่าครั้งก่อนมาก จนสังเกตเห็นกระดาษที่ถือสั่นไหว แม้แต่เสียงที่พูดในท่อนแรกๆก็สั่นตามไปด้วย  เพราะคนที่มาในวันนี้ล้วนเป็นหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัด แต่งตัวทะมึงขึงขัง ถือกระเป๋าใบใหญ่ เสียงพูดจาสอบถามชาวบ้านเฉ่งฉางจากทุกมุมของลานเวที

หลังจากจบการกล่าวรายงานของชาวบ้าน และพิธีการในส่วนเวที ซึ่งมีทั้งการกล่าวรายงานของส่วนราชการ การรำวงต้อนรับของชาวบ้าน ท่านผู้ว่าก็ขึ้นกล่าวปราศรัยอีกเล็กน้อย

เมื่อถึงเวลาแจกสิ่งของให้ความช่วยเหลือ ชาวบ้านก็เข้าแถวเพื่อรับของที่สมาชิกเหล่ากาชาดหอบหิ้วกันมาด้วยสีหน้ายินดี แม้จะดูเป็นความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยแต่ก็เป็นการแสดงออกถึงน้ำใจของส่วนราชการ เป็นความหวังเดียวของชาวบ้านที่จะได้พึ่งพาอาศัย

janejira1

วันนั้นแดดจ้า และเหงื่อของพวกเราหยดไหลเป็นทางขณะพาท่านผู้ว่าฯและคณะเดินชมบริเวณรอบๆ หมู่บ้าน คำขอของชาวบ้านพรั่งพรูออกมาจากตัวแทน ส่งผ่านไปถึงข้าราชการต่างๆ เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ให้ช่วยตัดถนนเส้นใหม่ที่ใกล้เมือง สร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ช่วยสร้างโรงเรียน สร้างสถานที่รักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้งบประมาณมหาศาล

หลังจากที่รอยเท้าและฝุ่นควันจางหายไปคืนความสงบเงียบให้กับหมู่บ้านอีกครั้ง ฉันที่เป็นเสมือนล่ามได้ทำหน้าที่ส่งผ่านความในใจของชาวบ้านสู่เจ้าหน้าที่ นึกหวังในใจว่าคำขอของชาวบ้านจะสามารถเป็นจริงในเร็ววัน

แม้ว่าคำขอเหล่านั้นจะดูมากมายหากใช้สายตาคำนวณด้วยงบประมาณ แต่ว่าถ้าหากหน่วยราชการจะพิจารณาให้ลึกซึ้ง จะเห็นว่าคำขอเหล่านั้นก็ล้วนเป็นคำขอที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต่างอะไรกับคนอื่นๆที่ควรมีควรได้

การขอเรื่อง “ถนน” หรือ “สะพาน” ก็คือตัวเชื่อมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสู่หมู่บ้านเพื่อให้เกิดรายได้ และรายได้ก็จะออกไปสู่เมืองแม่ฮ่องสอนพร้อมกับ “ถนน” หรือ “สะพาน” นั้นๆ  เพื่อใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย เป็นค่าอาหารหรือแม้แต่เครื่องนุ่งห่มซึ่งนับเป็นปัจจัยสี่ที่ทุกคนต้องการ  

ไม่นับความจำเป็นพื้นฐาน เช่น โรงเรียนและอนามัย ไฟฟ้าหรือประปา ทุกคนบนโลกนี้ก็ล้วนมีสิทธิ์ใช้สิ่งเหล่านี้ในการดำเนินชีวิต

ฉันนึกถึงเมื่อตอนที่ยังอยู่หมู่บ้านเดิม หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าตั้งห่างจากเมืองเพียง 7 กิโลเมตร ถนนที่ตัดผ่านป่าขึ้นเขาลงห้วยได้รับงบประมาณในการปรับปรุงอยู่ทุกปี และแน่นอนว่าบ้านทุกหลังที่อยู่ใกล้ถนนเส้นนี้มีไฟฟ้ากระแสหลักใช้ แต่แล้วเสาไฟฟ้ากับหยุดกึกห่างจากหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวเพียงไม่กี่ก้าว

“หากหมู่บ้านพัฒนาขึ้นหรือมีไฟฟ้าใช้ นักท่องเที่ยวก็จะไม่มาเที่ยว เพราะหมู่บ้านไม่เป็นธรรมชาติ” ฉันนึกขำในนโยบายเช่นนี้ เพราะนักท่องเที่ยวคงแปลกใจว่าเหตุไฉนชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งๆ ที่เสาไฟฟ้าก็ยืนต้นเคียงเสาทวนสัญญาณโทรศัพท์บริษัทหนึ่งอยู่หน้าหมู่บ้านแท้ๆ

janejira2

ทั้งที่ความเป็นจริงชาวบ้านต้องจ่ายค่าชาร์ตแบตเตอร์รี่คิดเป็นเงินแล้วมากกว่าจ่ายค่าไฟฟ้ากระแสหลักเสียอีก แม้ว่าไฟที่ใช้จะเป็นเพียงค่าดูทีวีสัก 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ค่าหลอดไฟสักดวง หรือบางบ้านอาจจะเปิดวีซีดีได้สักแผ่น

เจ้าของความคิดที่เป็นนายทุนผู้ดูแลชาวบ้านและททท. จึงไม่สามารถหยุดความเจริญที่จะเข้ามาถึงพวกเขาได้ ที่ทำอยู่จึงเป็นเพียงการหลบซ่อนความจริงจากสายตานักท่องเที่ยวเท่านั้น

ในวันที่มะลิขึ้นกล่าวรายงานต่อคณะหน่วยราชการ ทุกคนจึงตกตะลึงในวิวัฒนาการของชนเผ่าโบราญที่เรียกว่ากะเหรี่ยงคอยาว นักข่าวจึงเข้ามาสัมภาษณ์มะลิ ทุกคนจับจ้องไปที่เธอ หลายหน่วยงานเข้ามาถ่ายวีดีโอกระดาษเขียนรายงานที่เป็นรายมือของเธอ

ความประหม่าของเธอเกิดจากโอกาสที่เธอจะยืนอยู่บนเวที และพูดในความจริงนั้นมีน้อยครั้งเหลือเกิน ครั้งนี้จึงเป็นเพียงแบบฝึกหัดแรกที่เธอยังไม่เคยชิน จึงทำให้มือไม้สั่นด้วยความประหม่า

แต่ก็ทำให้หน่วยงานราชการหลายส่วนที่มาวันนั้นตื่นขึ้นยอมรับกับความจริง หลายข้อ เช่นยอมรับว่าพวกเขาสามารถอ่านเขียนหนังสือไทยได้ไม่ต่างจากคนไทยที่มีบัตร พวกเขารู้จักคิดและวางแผนจัดการต่ออนาคตของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องให้ใครมาจูงจมูก

และพวกเขาก็พร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง เพื่อก้าวไปพร้อมๆกับโลกข้างนอกที่กำลังทะลักเข้ามาสู่หมู่บ้านเล็กๆ หลังเขาแห่งนี้

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
ฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามชมละครเรื่องเมียหลวง ที่ถ่ายทอดทุกวันจันทร์-อังคารทางช่องเจ็ด เป็นละครไม่กี่เรื่องที่ฉันชอบดู ด้วยพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับสัญญาณโทรทัศน์ได้เพียงไม่กี่ช่อง  และอีกเหตุผลหนึ่งคือละครดีๆ มีไม่กี่เรื่อง  แม้หลายคนจะเหมารวมละครทีวีของไทยว่าเป็นละครน้ำเน่าเสียส่วนใหญ่ แต่ฉันก็เชื่อว่าละครที่สร้างมาจาก นวนิยาย ก็น่าจะมีเนื้อหาสาระบางอย่างสอนใจคนดูได้บ้าง ไม่ใช่จะดูแต่เพียงฉากตบกันของบรรดาเมียน้อยของคุณอนิรุจเท่านั้น
เจนจิรา สุ
เรานั่งพูดคุยบนชานหน้าบ้านอย่างออกรส ส่วนใหญ่ก็จะถามไถ่ทุกข์สุขกันและกัน เลยไปถึงญาติคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นหน้ากันนาน พี่เขยขึ้นเรือนมาสมทบเมื่อสิ้นเสียงออดของโรงเรียนได้พักใหญ่ “ไปเป็นการ์ดยามมา เขาให้เดือนละสี่ร้อย” พี่สาวแจง เป็นรายได้เดียวที่เหลืออยู่ของครอบครัว
เจนจิรา สุ
 "ไตรบานา" แม่เฒ่ากล่าวขอบคุณเป็นภาษากระยัน เมื่อเราบอกลาเป็นภาษาเดียวกัน ยังมีครอบครัวพี่สาวของสามีที่อยู่ถัดไปอีกสามป็อก เราตั้งใจว่าจะเยี่ยมก่อนที่จะไม่ได้พบหน้ากันอีก เพราะทางยูเอ็นฯ ได้แจ้งว่า ครอบครัวของเธอจะได้ไปประเทศที่สามในอีกไม่ช้า เราเดินเท้าไปตามทางเดินอันแสนพลุกพล่าน ราวกับว่าผู้คนเร่งรีบเดินทางสู่งานเลี้ยงสังสรรค์ที่ไหนสักแห่ง ความแออัดของผู้คนซึ่งมีอยู่ราวๆ สองหมื่นคน ทำให้บนทางเท้าและที่สาธารณะต่างๆ ดูครึกครื้น กลบบังความทุกข์ของคนพลัดบ้าน
เจนจิรา สุ
บนถนนที่ทอดยาวสู่หุบเขาทางทิศตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางที่ห่างออกมาเพียงสามสิบกิโลเมตรเศษ ลัดเลาะไปตามภูเขาบนถนนสายรพช. ซึ่งค่อยๆ แปรสภาพเป็นดินและหินลูกรังก่อนจะถึงสุดสายปลายทาง อันเป็นสถานที่คล้ายด่านกักกันมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ไร้ประเทศและเสรีภาพ หมู่บ้านกลางป่าที่ปลูกเบียดเสียดเรียงรายทุกซอกหลีบของพื้นที่จัดสรร คนนับหมื่นอัดแน่นในที่อาศัยกว้างกว่าเท้าและหัวจะพาดวางเพียงไม่กี่วา ที่นี่คือศูนย์ผู้พักพิงบ้านในสอย
เจนจิรา สุ
 มีใครเคยใช้ชีวิตในบ้านนอกโดยเฉพาะทางภาคอีสาน เมื่อประมาณสัก 20 ปีก่อน อาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับวัดที่แตกต่างจากปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เราแทบจะก้มลงกราบที่เท้าพระ เมื่อท่านเดินผ่านด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ฉันเป็นชาวพุทธมาแต่อ้อนแต่ออก ด้วยหมู่บ้านที่มีวัดป่า พระเณรเพียงไม่กี่รูปหนึ่งในนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องฉันเอง เราจึงเที่ยวเล่นแวะเวียนมาที่วัดทุกครั้งที่มีโอกาส ฉันยังจำไม่ลืมที่พระหลวงพี่ จับเราพี่น้องนั่งเรียงแถวทำสมาธิ เทศน์สอนประวัติความเป็นมาของพุทธเจ้าให้ฟัง ความที่ท่านบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนี้ท่านจึงกลายเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว
เจนจิรา สุ
เราทยอยออกจากบ้านร้างด้วยดวงใจที่ปวดร้าว ตรอกเล็กๆ ยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนจากหมู่บ้านกลางป่าไปสู่บ้านห้วยปูแกงเก่า บัดนี้ถูกย่ำไปด้วยรอยของสัตว์สี่เท้า “เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่ง เราเคยช่วยกันขนทรายจากแม่น้ำข้างล่างมาถมตรอกแห่งนี้ กระสอบทรายนับร้อยจากจำนวนคนเพียงหยิบมือเพื่อ....” ฉันหยุดคำพูดเพียงบางแค่นั้น ทิ้งบางส่วนค้างไว้ในความทรงจำ “เพื่ออะไรล่ะ” ใครคนหนึ่งยังคงตั้งคำถามต่อสิ่งที่ค้างคา “เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากหมู่บ้านข้างนอกเขามาเห็นวิถีชีวิตเรา มาเห็นหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านจริงๆ ไม่ใช่มีแต่ร้านขายของ แต่มันคงไกลเกินไป…
เจนจิรา สุ
สมรภูมิแห่งนี้เรารบกับอะไร ที่ผ่านมาเราถูกจองจำไว้ในกรงที่มองไม่เห็น เรามีอาหาร มีที่อยู่หลับนอน แต่เราไม่สามารถเป็นคนเต็มคนได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ์คิดหรือแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถรู้สึกเจ็บแค้นร้อนหนาว เราต้องทำหน้าที่อันถูกกำหนดมาจากผู้คุม ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับนาย เพียงเพื่อส่วนแบ่งที่ถูกเจียดให้พอประทังชีวิต แล้ววันหนึ่งเราต้องการปลดแอก เราต้องการตั้งอาจักรของตนเอง มีบ้านและที่ดินที่เป็นของเราจริงๆ ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมจากสมองและแรงกายของตนเอง
เจนจิรา สุ
ตุลาคม 2551"พร้อมหรือยัง"ใครคนหนึ่งตะโกนประโยคซ้ำเมื่อห้านาทีที่แล้ว เมื่อขบวนหนุ่มสาวต่างถิ่นยังคงง่วนอยู่กับการกดชัตเตอร์เก็บภาพแสงแดดยามเก้าโมงเช้า ช่างยวนใจให้ไม่อาจละสายตาจากหญิงกระยันที่ปะแป้งแต่งตัวกันจนเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจึงยังเสียดายที่จะละกล้องแล้วออกเดินทาง "หากไปสายกว่านี้เราจะร้อนมากเมื่ออยู่กลางป่า" ฉันเตือนเพื่อนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเท้าสู่หมู่บ้านกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราวๆ สามกิโลดอย
เจนจิรา สุ
เสียงโหม่งขนาดใหญ่ประสานกับเสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ แม้ฟังดูอึกทึกครึกโครม แต่ก็พลิ้วไหวไปตามทำนองขุล่ยมั้งที่เป็นขลุ่ยเฉพาะของชาวกระยัน ได้เริ่มขับประโคมหมู่บ้านราวป่า ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของงานประเพณีต้นที “กะควาง” ในภาษากระยันถูกแปรออกมาเป็นภาษาเรียกอีกอย่างว่า “ต้นที” ซึ่งหมายถึงเสาไม้สีขาวแกะสลักปลายเสาให้เป็นรูปร่างคล้ายกับศิวลึงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่ากระยัน(กระเหรี่ยงคอยาว) และชนเผ่ากระยา(กระเหรี่ยงแดง) ชาวกระยันเชื่อว่า ต้นทีเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแรกบนโลกมนุษย์ การบูชาต้นทีก็เพื่อให้บรรพบุรุษของกระยัน…
เจนจิรา สุ
มีนาคม 2551 ฉันตอบจดหมายแฟนนักอ่านคอลัมน์ของฉันคนหนึ่ง เธอเป็นคนปักษ์ใต้ นานเป็นเดือนที่จดหมายมาถึงพร้อมเสื้อผ้าและข้าวของกล่องใหญ่ ด้วยเจตนาทดแทนความขาดแคลนตามความรู้สึกของเธอ ที่สัมผัสจากการอ่านในบันทึกของฉันอยู่สองสามฉบับ เธอบอกว่าอิจฉานิดๆ ในชีวิตที่เรียบง่ายที่ฉันเลือกเดิน ฉันจึงตอบเธอไปว่าฉันเป็นเพียงนกที่บินหลงทางมา ก่อนหน้านี้ฉันก็ได้รับจดหมาย เสียงโทรศัพท์ และหนังสือดีๆ ที่ถูกส่งมาจากคนเมืองไกลจากเพื่อนที่ห่างหายการติดต่อมานานแสนนาน และจากมิตรร่วมความรู้สึกที่ไม่เคยเห็นหน้า อาจดูเป็นเรื่องแปลกหรือมีเปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน ที่คนปกติธรรมดา เกิด และเติบโตในสังคมเมือง…
เจนจิรา สุ
20 พฤศจิกายน 2550 คืนนี้แสงจันทร์กำลังโผล่พ้นเหลี่ยมเขาทิศเหนือ ดาวพราวแต้มเต็มฟ้า เหล้าดีกรีแรงทิ้งก้นจอกตั้งวางเคียงดวงเทียนที่ถูกจุดขึ้นโดยแม่เฒ่า ฉันกระชับเสื้อกันหนาวอีกนิด เมื่อลมหนาวพรูมาทางหน้าต่างบานกว้าง แม่เฒ่าบอกให้ยกดื่มอีกสักจอกแล้วจะอุ่นขึ้น ฉันรินคืนให้แม่เฒ่าพลางถามถึงความหลังเมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่เมืองดอยก่อ รัฐคะยา ประเทศพม่า “ตอนนั้นแม่ทำนามาได้ก็ต้องแบ่งให้กับเจ้าของนา ที่เหลือก็แทบไม่พอกิน ทหารพม่าก็ยังมาขูดรีดเอาอีก บางทีถ้าไม่ให้ก็ทุบตี พวกผู้ชายต้องพากันไปหลบซ่อนตัว  ไม่อย่างนั้นมันจะเกณฑ์ให้ไปขนระเบิดที่ชายแดน” “…
เจนจิรา สุ
10 พฤศจิกายน 2550 ฉันว่างเว้นจากการเขียนบันทึกไปนานด้วยทั้งภารกิจส่วนตัวที่ต้องยุ่งวุ่นวายกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในวัยที่ต้องการการเอาใจใส่อย่างสูง และภารกิจของชุมชนที่ต้องเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานราชการ ทั้งงานประสานงาน งานประชุม ส่วนเวลาที่เหลือฉันก็ยกให้กับการคิดในเรื่องต่างๆ ฉัน สามี และลูกต้องเดินทางทุกๆ 3-5 วัน จากบ้านของตนเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองไปบ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านใหม่ห้วยปูแกง การพักอาศัยที่บ้านของตัวเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองนั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวคือความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะการเดินทาง อยู่ใกล้โรงพยาบาล มีไฟฟ้าใช้สำหรับทำงาน หรือพักผ่อนด้วยการดูทีวี ติดตามข่าวสารโลกภายนอก…