Skip to main content

"..ทุกสังคมมีพลังฝ่ายขวา ผมอยากให้เขาอยู่และรวมกลุ่มต่อสู้รณรงค์ในระบอบรัฐสภาครับ ถึงตอนนั้นเป็นไปได้ว่าเขาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เข้มแข็งกว่านี้ แต่ตอนนี้เขากลายเป็น outlet สำหรับสารพัดความอึดอัดไม่พอใจรัฐบาล แต่ไม่รู้จะสู้ในระบบอย่างไร.."

"เสธ.อ้าย" พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม

Kasian Tejapira(18/11/55)

อนุสนธิจากกระทู้และความเห็นของคุณ Pipob Udomittipong ผมนำคำตอบมาปรับแต่งเพื่อเสนอความเห็นบางอย่างเกี่ยวกับพลังการเมืองฝ่ายขวาไทยในปัจจุบัน.....

๑) เสธ.อ้าย(พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์)และพรรคพวกที่ล้อมรอบเขาไม่คิดตั้งพรรค ลงเลือกตั้งครับ ตัวเสธ.อ้ายมีบทบาทแค่หัวโขน ความคิดการเมืองก็ระดับของความเป็นไทยแบบราชาชาตินิยมและประชาธิปไตยแบบ ไทย ๆ สิ่งที่เรียกว่าองค์การพิทักษ์สยาม เป็น "ร่ม" ของเครือข่ายกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยม กษัตริย์นิยม หลากหลายกลุ่มที่หาที่ตั้งอำนาจในระบบเลือกตั้งไม่พบ

๒) จุดแข็งของพวกเขาไม่ใช่แนวนโยบายการเมืองที่เป็นระบบ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่คิดไปไหน คิดจะอยู่กับที่ ดังนั้นการสร้างวิชั่นโมเดลที่เป็นระบบ ไม่ใช่ภาระหน้าที่หลัก จุดแข็งของพวกเขาคือฐานวัฒนธรรมการเมืองเดิมต่างหาก ซึ่งเขาตักตวงมาใช้จนชักฝืดและร่อยหรอลงเรื่อย ๆ

๓) ปัญหาหลักของพวกเขา ที่ควรจะสู้ด้วย จึงไม่ใช่แนวนโยบาย เท่ากับวิถีทางต่อสู้เพื่อไปสู่เป้าหมายการเมือง นี่คือจุดบอดที่ทำให้พวกเขาเสื่อมถอย ถ้าไม่หันมาปรับตัวเดินในแนวทางเลือกตั้งและระบอบรัฐสภา

ส่วนเรื่อง "ล้อเลียน" ก็เป็นเครื่องจิ้มของเกมการเมืองวัฒนธรรมแบบไทยเสมอมา ผมเห็นด้วยและเคยเสนอว่าวิธีสู้กับฝ่ายขวาจัดต่อต้านประชาธิปไตย ไม่ใช่ปราบปรามกดขี่ให้พวกเขาเป็นวีรชน แต่ล้อเลียนให้พวกเขาเป็นตัวตลกในประเด็นวิธีการขวางโลกของเขามากกว่า ซึ่งท่าทีของพวกเขาก็ออกมาเป๊ะ ๆ อย่างไม่นัดหมาย คือเสนอ "แช่แข็ง" ประเทศ ยังกับหาวัตถุดิบมาป้อนให้ล้อเลยทีเดียว

การสู้เชิงแนวนโยบายที่ serious ผมคิดว่าต้องสู้กับพวก TDRI และ กยน./กยอ. ต่างหาก พวกนั้นแหละครับที่เราน่าจะชวนทะเลาะด้วยเรื่องรัฐสวัสดิการ และความเท่าเทียมในสังคม มากกว่าฝ่ายขวาจัดซึ่งมักจะออกอาการ The Poverty of Policy อยู่เสมอ ขอให้นึกถึงสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์เป็นตัวอย่าง เรื่องเด่นไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจสังคมซึ่งเป็นในเชิงประคับประคองรับ แต่เป็นนโยบายขยายอำนาจและงบประมาณกองทัพและกระชับอำนาจโครงสร้างราชการ

จะเห็นได้ว่าข้อเสนอทางการเมืองของเสธ.อ้าย & Co. สูตรเดียวกับพันธมิตรฯและกลุ่มหมอตุลย์สืบเนื่องกันมา คือเรื่องจุดอ่อนของระบบเลือกตั้ง นักการเมืองและคอร์รัปชั่น ถ้าเราไปชวนเขาดีเบตเรื่องรัฐสวัสดิการอะไร คงยากอยู่ ผมกลับคิดว่าชวนเขาดีเบตเรื่องทำไมพวกท่านไม่สู้ในหนทางระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยแบบไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษของทหารและอ้างสถาบันกษัตริย์ล่ะ? ผมคิดว่าเรื่องเดียวที่พอฟังขึ้นคือข้อวิจารณ์หวั่นเกรงทุนนิยม(สามานย์)ของ พวกเขา แต่ก็แค่วิจารณ์นะครับ ไม่ได้เสนออะไรว่าจะต่อต้านอย่างไร ดูเหมือนจะเชื่อว่ายึดอำนาจรัฐด้วยการรัฐประหารแล้วใช้อำนาจรัฐไปสู้ทุนอีกที ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้เรื่องอย่างสมัยสุรยุทธ์อย่างที่บอกแล้ว (ข้อเสนอของผมคือ จะสู้ทุน ต้องขยายสิทธิประชาธิปไตย ให้ประชาธิปไตยใหญ่กว่าทุน อาศัยประชาธิปไตยไปสู้ทุน)

ทุกสังคมมีพลังฝ่ายขวา ผมอยากให้เขาอยู่และรวมกลุ่มต่อสู้รณรงค์ในระบอบรัฐสภาครับ ถึงตอนนั้นเป็นไปได้ว่าเขาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เข้มแข็งกว่านี้ แต่ตอนนี้เขากลายเป็น outlet สำหรับสารพัดความอึดอัดไม่พอใจรัฐบาล แต่ไม่รู้จะสู้ในระบบอย่างไร เช่น ไม่เห็นด้วยกับจำนำข้าว ก็ไปอิงใช้ช่องทางเวทีพวกเขา, ไม่เห็นด้วยกับนโยบายหวยออนไลน์หรือร่างกฎหมายให้กำนันผู้ใหญ่บ้านต้องมีวาระลงเลือกตั้ง ก็ไปร่วมกับพวกเขา คือจะรัฐประหารเพื่อเป็นเครื่องมือทางนโยบายแบบนี้ก็คงยุ่งตายห่าแหละครับ สำหรับเสถียรภาพของชีวิตผู้คนในสังคม

ผมคิดว่ากระบวนการนโยบายสาธารณะของเรามีปัญหา คือ somehow มันหลุดจากระบบราชการ/เทคโนแครตแต่ก่อน แล้วมาหล่นตุ้บในหน้าตักนักการเมืองจากการเลือกตั้ง แล้วพวกเขา(รัฐบาล/รัฐสภาเสียงข้างมาก) ก็ใช้อำนาจเลือกตั้งผูกขาดมันพอควร ทำให้กระบวนการนโยบายเป็นแบบอำนาจนิยม ไม่เปิดกว้างออกให้แก่สังคมที่ประกอบไปด้วยกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ อันหลากหลายแล้ว อันนี้ยุ่งมาก ทำให้กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ กลายเป็นแนวร่วม/ยืมมือฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยขวาจัด by default และไปวิ่งใช้ช่องทางอื่นซึ่งสับสนอลหม่านไปหมด คือดึงสถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวกับนโยบายโดยตรง มาเป็นเครื่องมือเวทีต่อสู้เชิงนโยบาย เช่น ยื่นฟ้องเรื่องจำนำข้าวกับศาลปกครอง, ยื่นฟ้องเรื่อง 3G กับศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ อันนี้ไม่เหมาะ เพราะมันทำให้ระบบป่วน แทนที่ศาลจะทำงานตุลาการ ศาลต่าง ๆ ดันกลายเป็นสถาบันวีโต้นโยบายฝ่ายบริหารไปเสียฉิบ

ผมคิดว่าในระยะยาวแล้วต้องปรับใหม่หาทางเปิดกว้างกระบวนการนโยบายให้หลากหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จะใช้อำนาจเลือกตั้งเสียงข้างมากเขี่ยกลุ่มอื่นออกหมด มันไม่ดี ยุ่ง, ศาลจะได้ไปทำเรื่อง "สิทธิ" ซึ่งร้อนแรงและสำคัญ แทนที่ดันมากลายเป็นศาลสถิตนโยบายของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ครับ

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
๓ ขั้นตอน ของ ลัทธิช็อก ประชาชนถูกช็อกด้วยวิกฤต, ประชาชนถูกช็อกด้วยนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ผลักดันผ่านออกมา และ ในความเป็นจริง ประชาชนผู้ต่อต้านคัดค้านนโยบายดังกล่าวยังมักจะถูกรัฐบาลกวาดล้างจับกุมไปทรมานด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาโดยเฉพาะการช็อกด้วยไฟฟ้า 
เกษียร เตชะพีระ
โดรน (Drone) หรือเครื่องบินไร้คนขับเพื่อสอดแนมและสังหาร นักฆ่าหน้าจอตัดสินใจด้วยเกณฑ์ใดว่าจะกดปุ่มให้โดรนสังหารยิงถล่มคุณหรือไม่? อนุสนธิจากข่าว “โดรนโจมตีในเยเมน เสียชีวิต ๑๒ ราย” 
เกษียร เตชะพีระ
ถาม-ตอบกับคำถามประเมินความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้แค่ไหนอย่างไร, อะไรคือเงื่อนไขการเมืองที่รองรับการจัดการลักษณะนี้, จะมีรัฐประหารไหม และ แนะนำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้
เกษียร เตชะพีระ
ปัญหาชนชั้นกับการปฏิวัติกระฎุมพี, ลักษณะเด่นร่วมเชิงโครงสร้างของการปฏิวัติกระฎุมพี ๔ ประการ, เงื่อนไขและลักษณะของการปฏิวัติกระฎุมพีที่เปลี่ยนไปในประวัติศาสตร์, การศึกษาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ของคณะนิติราษฎร์มีลักษณะเด่นน่าสังเกตบางประการ และคำถามทิ้งท้าย
เกษียร เตชะพีระ
บทวิเคราะห์เรื่องนี้ของผมถึงเงื่อนไขความเป็นไปได้ของการปราบปรามด้วยความรุนแรงเป็นหลักเมื่อเทียบกรณีอียิปต์ปัจจุบันกับไทยหลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ ..มีความต่างที่น่าสนใจนำมาเปรียบเทียบบางประการในความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องรัฐประหารโดยกองทัพ ระหว่างเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ กับอียิปต์ในปีปัจจุบัน ๒๕๕๖
เกษียร เตชะพีระ
ผมทำกราฟฟิคขึ้นไว้เพื่อประมวลสรุปความเข้าใจของตัวเองและใช้ประกอบการสอนนักศึกษา แต่สังเกตว่ามีเพื่อนชาว Facebook สนใจพอควร จึงคิดว่าควรเขียนคำอธิบายประกอบถึงที่มาที่ไปและเนื้อหาของมันโดยสังเขป
เกษียร เตชะพีระ
ฝันสลายของคนชั้นกลางอเมริกัน = ฝันสลายของตลาดส่งออกใหญ่ของเอเชียตะวันออกรวมทั้งไทย = ฝันสลายของตัวแบบเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (EAEM - East Asian Economic Model) รวมทั้งไทยด้วย
เกษียร เตชะพีระ
๕ ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดกับชาวนาเอเชียในทรรศนะ Partha Chatterjee หนึ่งในเจ้าพ่อ Subaltern Studies ชาวอินเดีย, ๔ concepts หลักที่ Chatterjee ประยุกต์มายึดกุมทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในชนบทเอเชีย การสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ, พิเคราะห์ชาวนาเอเชีย ชนิดของทุนและที่ตั้งทางเศรษฐกิจใหม่ของชาวนายุคโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่อุปถัมภ์, ไม่ใช่กบฎชาวนา, ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชน, และไม่ใช่ประชาสังคม
เกษียร เตชะพีระ
 รัฐเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านชาวนาชนบทแล้ว ชาวนาไม่ได้เผชิญหน้ากับการขูดรีดทางชนชั้นหรือรัฐโดยตรง เปลี่ยนอาชีพเพราะมองเห็นโอกาสยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ หนุ่มสาวชาวชนบทรุ่นใหม่ที่ได้เรียนหนังสือและเสพสื่อสารมวลชนสมัยใหม่อยากเลิกเป็นชาวนา ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดกับชาวนาเอเชียในทรรศนะ Partha Chatterjee หนึ่งในเจ้าพ่อ Subaltern Studies ชาวอินเดีย 
เกษียร เตชะพีระ
กองทัพอียิปต์เป็นสิ่งมีชีวิตทางการเมืองที่น่าสนใจมาก แปลงสีได้ตามสภาพแวดล้อมเหมือนกิ้งก่า, ไม่ซื่อกับใครเหมือนงูในอ้อมอกชาวนา, และแว้งกัดทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนด้วย
เกษียร เตชะพีระ
ข้อคิดจากรัฐประหารในอียิปต์: ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งล้มง่ายเข้าและสร้างยากขึ้นทุกที จำเป็นต้องพัฒนากลไกมิติริเริ่มใหม่ต่าง ๆ เพื่อเปิดกว้างการใช้อำนาจแก่สังคมการเมือง
เกษียร เตชะพีระ
ข้อคิดจากรัฐประหารในอียิปต์: ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งล้มง่ายเข้าและสร้างยากขึ้นทุกที จำเป็นต้องพัฒนากลไกมิติริเริ่มใหม่ต่าง ๆ เพื่อเปิดกว้างการใช้อำนาจแก่สังคมการเมือง