Skip to main content

Kasian Tejapira(28 ม.ค.56)

สนทนาแลกเปลี่ยนว่าด้วยตัวแบบการเมืองฝรั่งเศส

อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล(Piyabutr Saengkanokkul) ตั้งข้อสังเกตว่า:

"ทำไมพูดถึงประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสต้องคิดถึงปฏิวัติฝรั่งเศส และการตัดหัวกษัตริย์ โค่นกษัตริย์กันอย่างเดียว จริงๆมันมีเรื่องน่าสนใจอีกเยอะ การลุกฮือในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสไม่ได้ตามมาด้วยการโค่นล้มกษัตริย์ทุกครั้ง การเซ็ตระบบชีวิตการเมืองของฝรั่งเศสใช้เวลานานมาก กว่าฝรั่งเศสจะจัดการกษัตริย์อยู่หมัดต้องรอไปถึง 1899 ที่ขยับสาธารณรัฐแบบก้าวหน้า หลังจากต้องเป็นสาธารณรัฐค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ 1870 ด้วยการประนีประนอมกับพวกกษัตริย์นิยม

ในความรับรู้ของคนไทย ฝรั่งเศส คือ ล้มเจ้า หัวรุนแรง ใครเรียนที่นี่ ก็เป็นอันตราย

ไม่จริงหรอกครับ จบฝรั่งเศสมาเชยๆก็เยออนุรักษนิยมก็มาก เขาอาจสนใจจอมพลเปแต็ง เทคนิคเนติบริกรสมัยวิชี่ก็ได้"

 

ผมนึกอะไรขึ้นมาได้คิดว่าน่าสนใจ จึงสนทนาแลกเปลี่ยนไปว่า:

มี 2 ประเด็นน่าสนใจที่คิดต่อได้จากคอมเมนต์ของอ.ปิยบุตรข้างต้น

 

1) เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นะครับว่าในรัชกาลที่ 5 และ 6 โปรดส่งเจ้านายเชื้อพระวงศ์ไปศึกษาต่อประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่มีสถาบันกษัตริย์และ/หรือสถาบันกษัตริย์ยังทรงอำนาจอิทธิพลในทางการเมืองการปกครองอยู่ มากกว่าประเทศที่ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ดังนั้น อังกฤษและเยอรมนีจึงถูกเลือกมากกว่าฝรั่งเศส และสำหรับผู้ที่ไปไม่ว่าเจ้านายหรือขุนนางก็มีพระราชหัตถเลขากำชับกำชาตักเตือนว่าให้เลือกรับเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมา อย่าไปรับการเมืองแบบระบบพรรคการเมืองหรือรัฐสภาซึ่งไม่เหมาะ ในสมัยร.6 ถึงแก่ทรงให้นักเรียนไทยที่ไปเรียนต่อนอกกล่าวคำปฏิญญาณที่มีเนื้อหาทำนองคล้ายกันคือไปเรียนแล้วอย่าคิดกบฏต่อชาติและราชบัลลังก์อะไรทำนองนั้น

2) กระแสอนุรักษ์นิยม-อำนาจนิยมรวมศูนย์จากนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ฝรั่งเศสนั้นเด่นมากในช่วงราวหลัง WWII จากตัวแบบสาธารณรัฐที่ 5 ของเดอโกลครับ นี่คือแรงบันดาลใจเบื้องหลัง อมร จันทรสมบูรณ์ และ คำนูณ สิทธิสมาน เวลาพูดถึงปฏิรูปการเมือง และถวายพระราชอำนาจคืน เพียงแต่ปรับเปลี่ยนจากผู้นำเข้มแข็งอย่างเดอโกล มาเป็นผู้นำแบบไทย ๆ เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และวางบทบาทของสถาบันกษัตริย์ไว้ในฐานะหลักหมายอ้างอิงของอำนาจสถาปนารัฐแทนประชาชนในฝรั่งเศส การอ้างถึงตัวแบบการเมืองของเดอโกลหรือ "ลัทธิเดอโกล" นี้ทำกันมาตั้งแต่สมัย 2501 แล้ว จอมพลสฤษดิ์เคยยกมาข่มขู่ ส.ส.ที่กระด้างกระเดื่องด้วยซ้ำไป

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

3 หน้าของจอมพลสฤษดิ์

การสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องฝรั่งเศสกับ อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล ทำให้นึกอะไรบางอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับจอมพลสฤษดิ์ขึ้นมาได้

ความที่ตกอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลเถื่อนของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ (เจ้าของสมญา "บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย" ซึ่งลูกน้องตำรวจ "อัศวินแหวนเพชร" ของท่านฆ่าโหดฝ่ายค้านและนักนสพ. ไม่ว่าสายอ.ปรีดี สายอีสาน ผู้นำไทยมุสลิมชายแดนใต้ สายก๊กมินตั๋งและคนที่อิสระไม่ยอมขึ้นต่อไปนับสิบ ๆ ราย และ จอมพลป. มานานปี ทำให้ฝ่ายค้านกลุ่มต่าง ๆ เกิดความหวังวาววามเรืองรองต่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเห็นเขาแสดงบทบาทต่อต้านรัฐบาลจอมพลป.ออกมา โดยเฉพาะในคราวนักศึกษาเดินขบวนต่อต้านเลือกตั้งสกปรกจนบุกพังประตูทำเนียบต้นปี 2500 แล้วสฤษดิ์ออกมาปราศรัยหยุดม็อบ รวมทั้งแสดงตนถวายความจงรักภักดีใกล้ชิดสถาบันกษัตริย์

ฝ่ายซ้ายโดยเฉพาะสายปัญญาชนนักนสพ.วาดฝันว่าสฤษดิ์อาจกลายเป็น "นัสเซอร์" ของเมืองไทย ดังที่นายทหารชาตินิยมท่านนั้นนำสมัครพรรคพวกโค่นระบอบกษัตริย์อียิปต์ลง ดำเนินนโยบายอิสระต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก (เช่น รับรองและเปิดสัมพันธ์การทูตกับจีนแดง กระชับสัมพันธ์กับโซเวียต) และยึดคลองสุเอซในกรรมสิทธิ์ของบริษัทต่างชาติที่รัฐบาลตะวันตกถือหุ้นอยู่ด้วยมาเป็นของชาติอียิปต์ จนถึงแก่อังกฤษร่วมกับฝรั่งเศสและอิสราเอลส่งกำลังบุกยึดคลองสุเอซ บอมบ์กรุงไคโร แล้วอเมริกากับโซเวียตแทรกแซงไกล่เกลี่ยผ่านสหประชาชาติให้ 3 ประเทศนั้นยุติและถอนกำลังออกไปในที่สุด

ส่วนฝ่ายขวา โดยเฉพาะพวกนักกฎหมายนักรัฐศาสตร์ มีภาพฝันว่าสฤษดิ์อาจกลายเป็น "เดอโกล" ของเมืองไทย แล้วจะช่วยแก้ปัญหารัฐบาลไม่มั่นคง ไร้เสถียรภาพ เพราะส.ส.กระด้างกระเดื่อง ต่อรองเอาผลประโยชน์งบประมาณและสินบนบ่อย ทำให้รัฐราชการบริหารประเทศไม่ได้ดังใจ ดังที่นายพลเดอโกลนำการปฏิรูปการเมืองฝรั่งเศส สร้างรัฐธรรมนูญใหม่แห่งสาธารณรัฐที่ 5 เพื่อแก้ไขปัญหาไร้เสถียรภาพทางการเมืองโดยทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งขึ้นมา ไม่ถูกล้มโดยส.ส.ในสภาบ่อย ๆ ง่าย ๆ ดังในสาธารณรัฐที่ 4

ภาพซ้าย "นัสเซอร์" ขวา "เดอโกล"

ฝ่ายซ้ายมองสฤษดิ์เห็นเป็น "นัสเซอร์" ส่วนฝ่ายขวามองสฤษดิ์เห็นเป็น "เดอโกล"

ส่วนสฤษดิ์นั้นเอาเข้าจริงเห็นตัวเองเป็น "พ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" ผู้ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มประชาธิปไตย "แบบตะวันตก" กวาดล้างขุดรากถอนโคนมรดกการปฏิวัติ 2475 ทั้งทางสัญลักษณ์และโครงสร้างกฎหมาย เพื่อสร้าง "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" โดยอิงอาศัยความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
จาก "บทอาเศียรวาทของมติชน" ถึง "กาแฟลวกมือของ "ทราย เจริญปุระ" สู้ "การิทัตผจญภัย" นิยายปรัชญาการเมืองที่ตอนหนึ่งกล่าวถึงลักษณะของชุมชนนครหนึ่ง ที่ "เจตนาของผู้พูดผู้แต่งไม่สำคัญ ยึดเอาการตีความของผู้อ่านผู้ฟังเป็นสรณะ แล้วตัดสินวินิจฉัยตามนั้นเลย"
เกษียร เตชะพีระ
คำอธิบายของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคกรณีดำเนินการกับพนักงานที่โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย: ประเด็นไม่ใช่สีไหน แต่คือกระทำอะไร (Professionalism, not ideology, is the issue.) และตรรกะเบื้องหลังวิธีคิดและการกระทำสุดโต่งทางการเมือง
เกษียร เตชะพีระ
ข้ออ้างคำโตแค่ว่าตลาดข้าวหรือตลาดสินค้า/บริการด้านใดด้านหนึ่งเป็นระเบียบศักดิ์สิทธิ์ ห้ามรัฐยุ่งเกี่ยวแตะต้องสภาพดังที่เป็นอยู่ อันเป็นข้อถกเถียงแบบฉบับของเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมกระแสหลักที่ระแวงการเมือง เกลียดรัฐแทรกแซง แบบตายตัวบ้องตื้นนั้น ฟังไม่ขึ้น มิพักต้องยกมากรอกหูอีกต่อไป
เกษียร เตชะพีระ
ไม่มีประชาธิปไตยแน่ ๆ คือสภาตรายางและการเลือกตั้งที่มีเก๊ทั้งนั้น หลังฉากจัดตั้งของพรรคคุมเข้มตลอด, ประชาชนลำบากเดือดร้อนก็หาทางประท้วงต่อต้านนโยบายรัฐลำบาก การรอนสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชนหนักข้อมาก และไม่มีหลักนิติรัฐครับ ยืนยันได้ว่าไม่มี เพราะพรรคอยู่เหนือศาลและอยู่เหนือความพร้อมรับผิดทางการเมืองและกฎหมาย
เกษียร เตชะพีระ
ความสัมพันธ์อันมั่นคงยืนนานตั้งอยู่บนความรักโดยสมัครใจ ซึ่งกว่าจะได้มาก็ใช้เวลายาวนานในการปลูกสร้างสั่งสมจนเชื่อมั่นไว้วางใจกัน เพราะได้ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลอุปถัมภ์กันในยามยากและยามคับขัน ให้อภัยกันในยามหลุดปากพลั้งมือผิดพลาดต่อกัน ต่างฝ่ายต่างเข้าใจว่าเราตั้งใจจะคงความสัมพันธ์นี้ต่อไปและเราจะอยู่ด้วยกันอย่างยาวนานได้ก็ด้วยการปฏิบัติต่อกันเยี่ยงนี้
เกษียร เตชะพีระ
"..ทุกสังคมมีพลังฝ่ายขวา ผมอยากให้เขาอยู่และรวมกลุ่มต่อสู้รณรงค์ในระบอบรัฐสภาครับ ถึงตอนนั้นเป็นไปได้ว่าเขาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เข้มแข็งกว่านี้ แต่ตอนนี้เขากลายเป็น outlet สำหรับสารพัดความอึดอัดไม่พอใจรัฐบาล แต่ไม่รู้จะสู้ในระบบอย่างไร.."
เกษียร เตชะพีระ
วิธีคิดที่เหมารวมการวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่างว่าเป็น hate speech นั้นไม่ต่างจากวิธีคิดของคนจำนวนมากในสังคมไทยต่อกฎหมายม. ๑๑๒ คือไม่สามารถแยกแยะระหว่าง วิพากษ์วิจารณ์ กับ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย เลย ถ้าเราเริ่มคิดแบบนั้น เราก็กำลังเดินตรรกะเดียวกับผู้จงรักภักดีที่ไม่อาจแยกแยะแบบนั้นได้ น่าแปลกใจไหมครับ?
เกษียร เตชะพีระ
ตกลงประชาชนมีดุลพินิจถ่องแท้เที่ยงธรรม หรือ อ่อนเปราะพลิ้วไหวถูกคนอื่นชักจูงให้รังแกข่มเหงคนอื่นด้วยอคติกันแน่?
เกษียร เตชะพีระ
บางทีที่น่ากลัวที่สุดไม่เพียงแต่เป็น hate speech แต่รวมทั้ง love speech ด้วย อะไรที่สุดโต่งและไม่ฟังไม่ยับยั้งชั่งใจ คิดว่า สิ่งนี้ สำคัญ กว่าชีวิตคน น่ากลัวทั้งนั้น ไม่ว่ามันจะมาในนามอะไร? ความจงรักภักดี, สิทธิเสรีภาพ, ประชาธิปไตย, สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คำเหล่านี้ใช้เป่าคาถาฆ่าคนมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีคำไหนไม่เปื้อนเลือด คำถามจึงไม่ใช่แค่กำจัดคำ แต่จะทำอย่างไรให้เงื่อนไขการใช้คำฆ่าคน น้อยลง
เกษียร เตชะพีระ
..ในสังคมสาธารณ์ที่ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกบ่อนทำลายลงจากความรู้สมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์ทุกวี่วัน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลับเพิ่มพูนขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ และในทางกลับกัน พื้นที่เหล่านั้นก็กลับสาธารณ์หรือเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลงทุกทีเหมือนกัน..
เกษียร เตชะพีระ
คนเพิ่งอพยพจากชนบทเข้าเมืองไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนสำมะโนครัวประชากรทางการ ทำให้เข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ เช่น น้ำประปา, สาธารณสุข, โรงเรียน ยาก คนที่รายได้ไม่เข้าเกณฑ์ทางการ (ต่ำไม่พอ) ทำให้ไม่มีสิทธิ์ลงชื่อในทะเบียนคนจน ก็เลยพลอยไม่ได้สวัสดิการสำหรับคนจนของรัฐไปด้วย
เกษียร เตชะพีระ
...สันติวิธีหรือปฏิบัติการไม่รุนแรงเป็นวิธีการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าความรุนแรง และมีคุณค่าทางจริยธรรมในตัว สมควรได้รับการพิจารณาสำหรับผู้ต้องการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าเพื่อเป้าหมายใดก็ตาม