Skip to main content

Kasian Tejapira(6/4/56)

เที่ยงวานนี้ ขณะทานข้าวไปพลาง ฟังสถานีวิทยุ “ชุมชน” ใกล้บ้านที่เปิดเพลงสลับกับขายยาและสอนธรรมะไปพลาง ก็ได้ยินเสียงอุบาสิกาอ่านหลักพุทธธรรมคำสอนของหลวงพ่อวัดแห่งหนึ่งแถบชานเมืองยาวหลายนาที คำสอนนั้นผูกร้อยเชื่อมโยงความคิดชาตินิยม ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าด้วยกันเป็นเรื่องเดียวเนื้อเดียวอย่างไร้รอยต่อ ในลักษณะที่ว่า “ชาติ”, “ในหลวง” และ “พุทธธรรม” ถูกเปล่งออกมาต่อกันรวดเดียวในชั่วอึดใจอย่างคล้องจองสอดรับเป็นธรรมชาติ

อันที่จริงนี่ก็ไม่ใช่อะไรแปลกใหม่พิสดารนัก เป็นที่คาดหมายเข้าใจได้และเราท่านก็มักได้ยินกันอยู่เป็นปกติ แต่ที่สะดุดหูผมจนแทบสะอึกต้องวางช้อนส้อมนิ่งคิดไปพักหนึ่งคือวลีที่ว่า:

“...คนชั่วที่แอบอ้างเป็นคนไทย...”

ในวลีสั้นกระทัดรัดนี้ ได้ผูกโยงหลอมรวม ศีลธรรม, ชาตินิยม, การเมืองวัฒนธรรม, กฎหมาย, ความเป็นพลเมือง, เอกลักษณ์ชาติ เข้าด้วยกันอย่างแยกแยะไม่ออกทีเดียว

คำปราศรัยของท่านประธานองคมนตรีในภาพประกอบสองสามวันที่ผ่านมานี้ก็โน้มนำไปทำนองเดียวกัน คือผูกโยงการเมืองเข้ากับศีลธรรม, ชาตินิยมและเอกลักษณ์ชาติ เหล่านี้ทำให้ยากจะแยกแยะ เสียงเรียกร้องแห่งความเป็นไทยดังที่ยกมาข้างต้นออกจากข้อเสนอที่วางอยู่บนกรอบคิดและหลักเหตุผลทางปรัชญาว่า “ไม่อาจแยกการเมืองออกจากศีลธรรมได้ หากแยกออก การเมืองนั่นแหละจะเสื่อมทรามลง” ซึ่งครูบาอาจารย์อาวุโสและนักคิดนักเขียนมีชื่อบางท่านได้กล่าวหรือเขียนออกมาเนือง ๆ อย่างจริงจังและบริสุทธิ์ใจ

ผมอยากเสนออย่างรวบรัดว่า

- ถ้า Politics + Morality (การเมือง + ศีลธรรม) ในความหมาย A free marketplace of moral ideas (ตลาดความคิดศีลธรรมที่เลือกได้อย่างเสรี) ละก็ ผม OK นะ

- แต่ถ้าเป็น Politics + Moralism (การเมือง + ลัทธิยึดศีลธรรมเป็นเจ้าเรือน) ในความหมาย Self-centered, coercive moralism (ลัทธิศีลธรรมที่บังคับเอาด้วยอัตตาธิปไตย) ละก็ จะไหวหรือครับ? จะ work หรือครับ?

และจะอย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่จะผูกโยงการเมืองกับศีลธรรม ควรคำนึงถึงข้อสังวรในบริบทโลกสมัยใหม่และสังคมการเมืองไทยดังที่เป็นจริงปัจจุบันดังต่อไปนี้:

๑) ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่มีความแตกต่างหลากหลาย (พหุนิยม) ของคุณค่าพื้นฐานเชิงศีลธรรมและศรัทธาศาสนาอย่างที่ไม่อาจลดลัดตัดทอนหรือย่นย่อเหมารวมเป็นหนึ่งเดียวได้อีกแล้ว การบังคับกดดันให้ยึดหลักศีลธรรมเดียวหรือศรัทธาศาสนาเดียวเป็นที่ตั้งเจ้าเรือนรังแต่จะก่อความขัดแย้งไม่รู้จบสิ้นดังเราเห็น ๆ กันอยู่

๒) ขณะเดียวกัน เอาเข้าจริงในทางปฏิบัติ สังคมวัฒนธรรมไทยไม่มีตลาดความคิดศีลธรรมที่เลือกได้อย่างเสรี หรือสนามประชันข้อเสนอทางศีลธรรมที่ราบเรียบเสมอหน้ากันอยู่จริง หากเทเอียงกระเท่เร่ไปทางหนึ่งตามฐานคติของรัฐและประชากรส่วนใหญ่

๓) ฉะนั้นแทนที่เราจะได้เห็น [การเมือง+ศีลธรรม] สมดังความมุ่งมาดปรารถนาของศาสนิกชน เรากลับมักเห็นผู้กุมอำนาจฐานะในสังคมการเมืองแสดงจริตศีลธรรมออกมา ไม่มากไปกว่านั้น

๔) นั่นแปลว่าข้อเรียกร้องที่ชอบด้วยเหตุผลให้มี “การเมืองที่กำกับด้วยศีลธรรม” บ่อยครั้งเมื่อเอาไปวางในโลกปฏิบัติที่เป็นจริงของสังคมการเมืองไทย รังแต่จะนำไปสู่ “ผู้อวดอ้างสวมสิทธิอำนาจวินิจฉัยตัดสินศีลธรรมทางการเมืองเอาเองโดยพลการและปราศจากการตรวจสอบควบคุม”

๕) ในทางปรัชญา ผมเชื่อว่ามีความขัดแย้งขั้นมูลฐานอยู่ระหว่าง [หลักเป้าหมายที่ดีที่ถูกต้องย่อมให้ความชอบธรรมกับวิธีการใด ๆ ก็ได้ หรือ instrumental reasoning ของ โลกการเมือง] กับ [หลักเอกภาพทางศีลธรรมของเป้าหมายกับวิธีการ หรือ moral reasoning ของ โลกศีลธรรม] อุปมาเหมือนคนอุ้มห่อระเบิดออกวิ่งบนลู่อำนาจ ถึงจุดหนึ่งถ้าระเบิดที่อุ้มแนบอกไม่แตกตูมจนตัวเองตายคาที่ (หมดสิ้นอำนาจไป), ห่อที่ว่าก็อาจเน่าเสียคาอกได้ (ศีลธรรมเสื่อม) การประคองสองอย่างนี้ให้ไปด้วยกันอย่างถาวร ผมเกรงว่าเป็นไปได้ยากมากหรือไม่ได้เลย

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
จาก "บทอาเศียรวาทของมติชน" ถึง "กาแฟลวกมือของ "ทราย เจริญปุระ" สู้ "การิทัตผจญภัย" นิยายปรัชญาการเมืองที่ตอนหนึ่งกล่าวถึงลักษณะของชุมชนนครหนึ่ง ที่ "เจตนาของผู้พูดผู้แต่งไม่สำคัญ ยึดเอาการตีความของผู้อ่านผู้ฟังเป็นสรณะ แล้วตัดสินวินิจฉัยตามนั้นเลย"
เกษียร เตชะพีระ
คำอธิบายของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคกรณีดำเนินการกับพนักงานที่โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย: ประเด็นไม่ใช่สีไหน แต่คือกระทำอะไร (Professionalism, not ideology, is the issue.) และตรรกะเบื้องหลังวิธีคิดและการกระทำสุดโต่งทางการเมือง
เกษียร เตชะพีระ
ข้ออ้างคำโตแค่ว่าตลาดข้าวหรือตลาดสินค้า/บริการด้านใดด้านหนึ่งเป็นระเบียบศักดิ์สิทธิ์ ห้ามรัฐยุ่งเกี่ยวแตะต้องสภาพดังที่เป็นอยู่ อันเป็นข้อถกเถียงแบบฉบับของเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมกระแสหลักที่ระแวงการเมือง เกลียดรัฐแทรกแซง แบบตายตัวบ้องตื้นนั้น ฟังไม่ขึ้น มิพักต้องยกมากรอกหูอีกต่อไป
เกษียร เตชะพีระ
ไม่มีประชาธิปไตยแน่ ๆ คือสภาตรายางและการเลือกตั้งที่มีเก๊ทั้งนั้น หลังฉากจัดตั้งของพรรคคุมเข้มตลอด, ประชาชนลำบากเดือดร้อนก็หาทางประท้วงต่อต้านนโยบายรัฐลำบาก การรอนสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชนหนักข้อมาก และไม่มีหลักนิติรัฐครับ ยืนยันได้ว่าไม่มี เพราะพรรคอยู่เหนือศาลและอยู่เหนือความพร้อมรับผิดทางการเมืองและกฎหมาย
เกษียร เตชะพีระ
ความสัมพันธ์อันมั่นคงยืนนานตั้งอยู่บนความรักโดยสมัครใจ ซึ่งกว่าจะได้มาก็ใช้เวลายาวนานในการปลูกสร้างสั่งสมจนเชื่อมั่นไว้วางใจกัน เพราะได้ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลอุปถัมภ์กันในยามยากและยามคับขัน ให้อภัยกันในยามหลุดปากพลั้งมือผิดพลาดต่อกัน ต่างฝ่ายต่างเข้าใจว่าเราตั้งใจจะคงความสัมพันธ์นี้ต่อไปและเราจะอยู่ด้วยกันอย่างยาวนานได้ก็ด้วยการปฏิบัติต่อกันเยี่ยงนี้
เกษียร เตชะพีระ
"..ทุกสังคมมีพลังฝ่ายขวา ผมอยากให้เขาอยู่และรวมกลุ่มต่อสู้รณรงค์ในระบอบรัฐสภาครับ ถึงตอนนั้นเป็นไปได้ว่าเขาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เข้มแข็งกว่านี้ แต่ตอนนี้เขากลายเป็น outlet สำหรับสารพัดความอึดอัดไม่พอใจรัฐบาล แต่ไม่รู้จะสู้ในระบบอย่างไร.."
เกษียร เตชะพีระ
วิธีคิดที่เหมารวมการวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่างว่าเป็น hate speech นั้นไม่ต่างจากวิธีคิดของคนจำนวนมากในสังคมไทยต่อกฎหมายม. ๑๑๒ คือไม่สามารถแยกแยะระหว่าง วิพากษ์วิจารณ์ กับ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย เลย ถ้าเราเริ่มคิดแบบนั้น เราก็กำลังเดินตรรกะเดียวกับผู้จงรักภักดีที่ไม่อาจแยกแยะแบบนั้นได้ น่าแปลกใจไหมครับ?
เกษียร เตชะพีระ
ตกลงประชาชนมีดุลพินิจถ่องแท้เที่ยงธรรม หรือ อ่อนเปราะพลิ้วไหวถูกคนอื่นชักจูงให้รังแกข่มเหงคนอื่นด้วยอคติกันแน่?
เกษียร เตชะพีระ
บางทีที่น่ากลัวที่สุดไม่เพียงแต่เป็น hate speech แต่รวมทั้ง love speech ด้วย อะไรที่สุดโต่งและไม่ฟังไม่ยับยั้งชั่งใจ คิดว่า สิ่งนี้ สำคัญ กว่าชีวิตคน น่ากลัวทั้งนั้น ไม่ว่ามันจะมาในนามอะไร? ความจงรักภักดี, สิทธิเสรีภาพ, ประชาธิปไตย, สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คำเหล่านี้ใช้เป่าคาถาฆ่าคนมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีคำไหนไม่เปื้อนเลือด คำถามจึงไม่ใช่แค่กำจัดคำ แต่จะทำอย่างไรให้เงื่อนไขการใช้คำฆ่าคน น้อยลง
เกษียร เตชะพีระ
..ในสังคมสาธารณ์ที่ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกบ่อนทำลายลงจากความรู้สมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์ทุกวี่วัน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลับเพิ่มพูนขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ และในทางกลับกัน พื้นที่เหล่านั้นก็กลับสาธารณ์หรือเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลงทุกทีเหมือนกัน..
เกษียร เตชะพีระ
คนเพิ่งอพยพจากชนบทเข้าเมืองไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนสำมะโนครัวประชากรทางการ ทำให้เข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ เช่น น้ำประปา, สาธารณสุข, โรงเรียน ยาก คนที่รายได้ไม่เข้าเกณฑ์ทางการ (ต่ำไม่พอ) ทำให้ไม่มีสิทธิ์ลงชื่อในทะเบียนคนจน ก็เลยพลอยไม่ได้สวัสดิการสำหรับคนจนของรัฐไปด้วย
เกษียร เตชะพีระ
...สันติวิธีหรือปฏิบัติการไม่รุนแรงเป็นวิธีการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าความรุนแรง และมีคุณค่าทางจริยธรรมในตัว สมควรได้รับการพิจารณาสำหรับผู้ต้องการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าเพื่อเป้าหมายใดก็ตาม