Skip to main content

Kasian Tejapira(16/4/56)

หากเอาความคิดทางสังคมการเมืองของ อ.เสกสรรค์ระยะหลัง (ช่วง พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา) ตามที่คุณพัชราภา ตันตราจินศึกษาค้นคว้าไว้ในหนังสือ ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (๒๕๕๖) มาวางไว้ในบริบทกระแสความคิดการเมืองปัจจุบันแล้วเปรียบเทียบกับแนวคิดของคู่ขัดแย้งหลักในสังคมการเมือง (เพื่อความสะดวก ขออนุญาตใช้สัญลักษณ์สีแทน) ได้แก่ “แดง” (คือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติและแนวร่วม) กับ “เหลือง” (คือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วม) แล้ว ก็จะพบว่า:



หนึ่ง) ประเด็นหลักเรื่องอำนาจทุนในความคิดของอ.เสกสรรค์ค่อนข้างขาดหายไป 


กล่าวคือ อ.เสกสรรค์เสนอว่าเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ทำให้ อำนาจอธิปไตยของรัฐชาติเสื่อมโทรมลง --> แนวคิดชาตินิยมเสื่อมโทรมลง --> ส่งผลสืบเนื่องให้ฉันทมติและฉันทาคติทางการเมืองพลอยเสื่อมถอยไปด้วย (political consensus & consent หมายถึงความเห็นพ้องต้องกันและการยอมรับอำนาจปกครองในทางการเมือง) ทั้งหลายเหล่านี้ย่อมก่อความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเรื้อรังเพราะรัฐขาดพร่องความชอบธรรม, ไม่มีความเห็นพ้องต้องกันและการยอมรับอำนาจปกครองของสังคมภาคส่วนต่าง ๆ นอกคูหาเลือกตั้งคอยประคองรองรับอำนาจของรัฐไว้

หนังสือ ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (๒๕๕๖) เขียนโดย ณพัชราภา ตันตราจิน


สอง) น่าสนใจว่าประเด็นอำนาจทุนนี้ “เหลือง” มองเห็น แต่ “แดง” กลับมองข้าม 


สะท้อนออกในแนวคิดของคณะนิติราษฎร์ที่นับได้ว่าเป็นคลังสมองหรือเสนาธิการทางแนวคิดการเมืองของนปช.และแนวร่วม กล่าวคือปัญหาทางการเมืองที่นิติราษฎร์มองเห็นและนำเสนอจะยุติแค่มิถุนายน - ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (กล่าวคือจำกัดเฉพาะปัญหาอำนาจและเครือข่ายอำมาตย์อันสืบเนื่องมาจากการอภิวัฒน์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ๒๔๗๕ ที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์) นิติราษฎร์ยังไม่เริ่มขึ้นเดือนมกราคม - มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ด้วยซ้ำไป (กล่าวคือไม่ได้เริ่มตั้งปัญหากับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมตลาดเสรี ดังที่อาจารย์ปรีดีวิเคราะห์วิจารณ์และนำเสนอทางออกไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่าสมุดปกเหลือง ซึ่งมีที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมตกต่ำใหญ่ทั่วโลกเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๒๙ และต่อมา) ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบัน อำนาจทุนโลกสำคัญขึ้นเรืื่อย ๆ และผูกมัดกลายเป็นเนื้อเดียวกับอำนาจรัฐในสังคมไทย (ขอให้ดูตอนน้ำท่วมและบทบาทอิทธิพลโน้มนำกำกับของรัฐบาลและทุนอุตสาหกรรมข้ามชาติญี่ปุ่น เป็นตัวอย่าง) 
 

คณะนิติราษฎร์

สาม) แต่ขณะที่ “เหลือง” เช่น นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ มองเห็นปัญหาอำนาจทุน แต่วิธีแก้ที่นำเสนอคือเผด็จการทหารผ่านการรัฐประหาร หรือไม่ก็มอบหมายอำนาจพิเศษแก่คนดีผู้มีความเป็นไทยมากกว่าให้ถ่วงทานตรวจสอบอำนาจทุนไว้ ซึ่งปรากฏประจักษ์ชัดแล้วว่าใช้การไม่ได้ ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยและโลก รังแต่สร้างความขัดแย้งใหม่ซ้ำซ้อนเพิ่มเติมลุกลามออกไป

 

กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์

ในทางกลับกัน ประเด็นหลักสำคัญประการหนึ่งในกระแสความคิดการเมืองปัจจุบันที่ไม่ปรากฏในความคิดสังคมการเมืองช่วงหลังของ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตามที่ศึกษาค้นคว้าไว้ในหนังสือเรื่อง ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (๒๕๕๖) ของคุณพัชราภา ตันตราจิน ก็คือความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หลากหลายด้านในชนบท จนนำไปสู่การปรากฏตัวขึ้นของการเคลื่อนไหวมวลชนคนเสื้อแดงในขอบเขตกว้างขวางหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและอีสาน

นี่เป็นความรู้ที่ก่อตัวมานานแต่ค่อนข้างใหม่ในวงวิชาการกระแสหลัก จึงเป็นธรรมดาที่ยังไม่ค่อยเป็นที่ตระหนักรับรู้ในวงวิชาการทั่วไปก่อนรัฐประหาร ๒๕๔๙ อันเป็นระยะที่งานความคิดสังคมการเมืองสำคัญ ๆ ในช่วงหลังของอ.เสกสรรค์ถูกผลิตออกมา 

ความเปลี่ยนแปลงซับซ้อนหลายมิติในชนบทนี้มีหัวใจอยู่ที่กระบวนการเลิกทำเกษตรกรรม (deagrarianization) แล้วหันไปสู่กิจกรรมหลักและรายได้หลักในภาคส่วนเศรษฐกิจอื่น เรื่องนี้เป็นกระบวนการต่อเนื่องยาวนานที่ค่อย ๆ ก่อตัวคลี่คลายนับแต่ราว พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๐ เป็นต้นมาร่วม ๒๖ ปี กลุ่มนักวิชาการแรก ๆ ที่สังเกตเห็น ชี้ชวนให้สนใจและวิเคราะห์วิจัยจึงได้แก่นักเศรษฐศาสตร์, นักมานุษยวิทยา, นักรัฐศาสตร์ที่สนใจการเมืองท้องถิ่น, เอ็นจีโอ, ปัญญาชนสาธารณะที่เกาะติดชนบทเป็นสำคัญ เช่น อัมมาร สยามวาลา, สมชัย จิตสุชน, บัณฑร อ่อนดำ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เป็นต้น 


อย่างไรก็ตาม ความสนใจเรื่องนี้ในหมู่นักวิชาการส่วนน้อยถูกปลุกกระตุ้นจากการปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วแข็งขันเหนียวแน่นใหญ่โตกว้างขวางของการเคลื่อนไหวมวลชนคนเสื้อแดงหลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ จนกลายเป็นกระแสการศึกษาวิจัยวิเคราะห์ตีความความเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้านในชนบทไทยขนานใหญ่แผ่กว้างขยายวงออกไปในปัจจุบัน ที่โดดเด่นสำคัญเช่นทีมวิจัย “ภูมิทัศน์และการเมืองของการพัฒนาชนบทไทยร่วมสมัย” ของอ.อภิชาต สถิตนิรามัย, อ.ยุกติ มุกดาวิจิตร, อ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, อ.จักรกริช สังขมณี, อ.อนุสรณ์ อุณโณ, อ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์และคนอื่น ๆ , หนังสือ Thailand’s Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy (2012) ของ Andrew Walker, งานเขียนบทความและปาฐกถาของ Charles F. Keyes, โยชิฟูมิ ทามาดะ เป็นต้น 
 

ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ (ดูตารางเปรียบเทียบประกอบ) มีดังนี้คือ: -

หนึ่ง) ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในชนบทรอบ ๒๖ ปีที่ผ่านมา
- สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง
- เกิดกระบวนการเลิกทำเกษตรกรรม/เลิกเป็นชาวนา Deagrarianization/Depeasantization ขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ
- resource flows ทรัพยากรไหลย้อนกลับตาลปัตรจากเมืองสู่ชนบท (เทียบกับช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฯระยะแรกซึ่งไหลจากชนบทสู่เมืองเป็นหลัก) ผ่านมาตรการโอบอุ้มของรัฐและการกระจายการคลังสู่ท้องถิ่น
- ชาวนารายได้ปานกลางที่รายได้ส่วนมากมาจากนอกภาคเกษตรกลายเป็นคนส่วนใหญ่ 
- คนชนบทกลายเป็น cosmopolitans & extralocal residents มากขึ้น

สอง) สังคมการเมืองชนบทของชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำประคองไว้ด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐ
- ปัญหาหลักของชนบทไม่ใช่ยากไร้ไม่พอกิน (food sufficiency) อีกต่อไป แต่กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น, ภูมิภาค, ภาคส่วนเศรษฐกิจ (inequalities)
- ปัญหาผลิตภาพต่ำเรื้อรังแก้ไม่หายในส่วนภาคเกษตรและการผลักดันไปสู่เศรษฐกิจนอกภาคเกษตร เช่น ธุรกิจ SMEs เปลี่ยนสินทรัพย์เป็นทุน เปลี่ยนตาสีตาสาเป็นเถ้าแก่ ฯลฯ ได้ผลจำกัด
- รัฐกระเตงอุ้มประชากรชนบทที่เป็นชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำไว้มหาศาล แต่ผลักไม่พ้นไม่หลุดจากอก (นี่คือที่มาสุดท้ายของนโยบายจำนำข้าวและค่าแรงวันละ ๓๐๐ บาททั่วประเทศ รวมทั้งเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ ๔ ล้านล้านบาท)

สาม) ธรรมนูญชนบท
- ชาวบ้านชนบทไม่ได้สัมพันธ์กับรัฐแบบพึ่งพาการอุปถัมภ์อย่างหยุดนิ่งและเป็นฝ่ายถูกกระทำข้างเดียว แต่ดึงรัฐเข้ามาเพื่อกล่อมเกลาเอาใจ ต่อรองกดดันแล้วหลอกล่อฉวยใช้ เหมือนเลี้ยงผีกุมารทอง (ชาวบ้านสัมพันธ์กับผี, รัฐ, ทุน, ชุมชน ในโหมดเดียวกัน) 
- แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย/ฉบับสากลตะวันตกของคนเมือง

ทั้ง ๓ ประเด็นนี้ นักวิชาการและปัญญาชนที่พยายามเข้าใจและเห็นอกเห็นใจการเคลื่อนไหวของมวลชนคนเสื้อแดงมองเห็น แต่นักวิชาการสนับสนุนพันธมิตรฯกลับมองข้าม เช่น นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัตน์ติดอยู่กับแค่ปัญหาคอร์รัปชั่น เผด็จการทุนผูกขาด ชาวนาโง่จนเจ็บ ทั้งที่ชนบทเปลี่ยนไปมหาศาลทุกด้าน รวมทั้งในความสัมพันธ์กับรัฐและเมือง

ทว่าในทางกลับกัน นักวิชาการและปัญญาชนพวกแรกออกจะมองข้ามจุดอับตันของสังคมการเมืองชนบท ๒ อย่าง
๑) ในทางเศรษฐกิจ ภาวะดังที่เป็นอยู่จะยั่งยืนยาวนานได้ยาก มีขีดจำกัด รัฐจะกระเตงอุ้ม เลี้ยงไข้ เลี้ยงต้อย ชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำอันเป็นประชากรส่วนใหญ่ในชนบทไปได้นานแค่ไหน? 
๒) ค่านิยมธรรมนูญชนบท แคบ เฉพาะส่วน parochial อย่างที่เป็นอยู่โดยไม่ปรับเปลี่ยนก็ยากจะพาไปสู่สังคมการเมืองร่วมกันที่เป็นที่รับได้ของหลักการเมืองสมัยใหม่ที่เป็นสากล เช่น กรณีฆ่าตัดตอนยาเสพติด

 

----

หมายเหตุ : บทความนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก “Kasian Tejapira” เมื่อ 16 เม.ย.56 ในบทความชื่อ "ความคิดของเสกสรรค์ในบริบทกระแสความคิดการเมืองปัจจุบัน (๑)" และ "ความคิดของเสกสรรค์ในบริบทกระแสความคิดการเมืองปัจจุบัน (๒)

 

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ด้วยความระลึกถึงจาก "พวกดอกเตอร์สมองบวมบนหอคอยงาช้างทั้งหลาย" ต้องสู้กับทักษิณด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ต้องเอาชนะทักษิณด้วยการชนะใจเสียงข้างมาก ไม่ใช่ต่อต้านเสียงข้างมาก
เกษียร เตชะพีระ
คำปราศรัยของคุณสุเทพ ณ กปปส.บ่ายวันนี้ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ  คือคำประกาศของขบวนการการเมืองแบบสู้รบของเสียงข้างน้อยที่ปฏิเสธความเสมอภาคทางการเมืองและการปกครองโดยเสียงข้างมาก
เกษียร เตชะพีระ
ว่าด้วย "ระบอบทักษิณ" ในสถานการณ์ปฏิวัติโค่นล้ม "ระบอบทักษิณ" ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)
เกษียร เตชะพีระ
ด้วยเงื่อนไขเวลา สถานที่ แกนนำและประเด็นชนวนที่ต่างออกไปบ้าง ม็อบเทพเทือกปัจจุบันกับม็อบพันธมิตรฯเมื่อปี 2549 + 2551 ละม้ายเหมือนกันเป็นพิมพ์เดียวทั้งในแง่....
เกษียร เตชะพีระ
 "เสียงข้างน้อย" ที่ศาลรัฐธรรมนูญพูดถึงว่าต้องปกป้องไว้จากอำนาจเสียงข้างมากนั้น ไม่ใช่เสียงข้างน้อยธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย แต่คืออภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่ได้อำนาจอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นและเหนือเสียงข้างมากมาจากการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยอำนาจรัฐประหารนั้น
เกษียร เตชะพีระ
กลุ่มอาการม็อบไทย ๆ ในปัจจุบัน: Thai Mob SyndromeOverpoliticization --> Political Fanaticism & Instant Political Awakening --> Lack of Political Experience and Patience
เกษียร เตชะพีระ
บทความ “A Sea of Dissent: nonviolent waves in China” ของ Michael Caster นักวิจัยและเคลื่อนไหวอิสระผู้เน้นศึกษาเรื่องความขัดแย้งและสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในเอเชีย ได้ประมวลข้อมูลและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวมวลชนระยะใกล้ในจีนไว้อย่างน่าสนใจ ผมขอนำมาเล่าต่อบางส่วนดังนี้
เกษียร เตชะพีระ
สิ่งที่พึงปรารถนาไม่ใช่ "ให้คนเราเหมือนกันหมด จะได้เท่ากัน" (เอาเข้าจริง ถึงเหมือนกันก็ไม่เท่ากันได้) แต่คือ "แตกต่างแต่เท่ากัน" (เพราะมันคนละเรื่อง) หรือ "แตกต่างกันได้โดยไม่ต้องกลัว" ต่างหาก (Different but equal or To be different without fear.)
เกษียร เตชะพีระ
บทสัมภาษณ์ ควินติน สกินเนอร์ นักวิชาการด้านประวัติความคิดการเมืองชาวอังกฤษสำคัญที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบันต่อประเด็นเกี่ยวกับงานค้นคว้าประวัติความคิดเรื่องเสรีภาพและ เสรีนิยมของตะวันตกตลอดชีวิตของเขาโดยภาพรวม แนวคิดมหาชนรัฐ, มาเคียเวลลี, ฮ๊อบส์, การปฏิรูปศาสนา, เชคสเปียร์, มิลตัน, คาร์ล มาร์กซ จนถึงเอ็ดเวิร์ด สโนว์เด็น เป็นต้น
เกษียร เตชะพีระ
 ว่าด้วย "เจ็ดไม่พูด"(ชีปู้เจียง) แคมเปนอุดมการณ์ล่าสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน คุณค่าสากล, เสรีภาพการพูดและพิมพ์โฆษณา, สิทธิพลเมือง, ประชาสังคม, ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน, กระฎุมพีข้าราชการ และความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ