Skip to main content

 

พาดหัวข่าวและเนื้อข่าวของ Bangkok Post เช้าวันนี้ (อาทิตย์ที่ ๒๓ มิ.ย. ๒๕๕๖ http://www.bangkokpost.com/news/local/356448/govt-urged-to-tackle-tate-killings ) ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าหากคุณเอกยุทธ อัญชันบุตร ไม่ได้ถูกลักพาตัว, ข่มขู่กรรโชกทรัพย์, และฆาตกรรม โดยแก๊งคนร้ายเอกชนที่ประสงค์ต่อทรัพย์ (เท่าที่ปรากฏหลักฐานข้อเท็จจริงจากการสืบสวนสอบสวนถึงขณะนี้) จะมีการหวนรำลึกให้ความสำคัญกับคดี “อุ้มหาย” ของทนายสมชาย นีละไพจิตรและนักกิจกรรมภาคประชาชนท่านอื่น ๆ เช่นนี้หรือไม่?

 

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

ในวิชาปรัชญาการเมืองเบื้องต้นที่ผมสอน หัวข้อระบอบเผด็จการอำนาจนิยม powerpoint แผ่นหนึ่งที่ผมใช้อธิบายว่า “ผู้ถูกจับกุม” (the arrested) แตกต่างจาก “ผู้ถูกอุ้มหาย” (the disappeared) โดยเจ้าหน้าที่รัฐตรงไหน อย่างไร? และมีองค์ประกอบอันถือเป็น “การก่อการร้ายโดยรัฐ” (state terrorism) เช่นใด? มีเนื้อหาดังนี้:

ปรากฏการณ์ “อุ้มหาย” เกิดขึ้นขนานใหญ่ระหว่าง “สงครามสกปรก” ในอาร์เจนตินาภายใต้เผด็จการทหาร เจ้าหน้าที่ทหารของทางการได้ “อุ้มหาย” นักศึกษา กรรมกร นักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านและผู้ต้องสงสัยเป็นนักรบจรยุทธ์โดยเฉพาะที่เอียงซ้ายไปร่วม ๓ หมื่นคนระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๗๖ - ๘๓ (http://en.wikipedia.org/wiki/Dirty_War ) คนเหล่านี้หายสาบสูญไปโดยไม่ได้กลับมาอีกเลย

เหตุดังกล่าวทำให้ความหมายของศัพท์ “disappear” ที่เดิมทีเป็นอกรรมกริยา (intransitive verb) ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “หายตัว, สาบสูญ (ไปเอง)” เปลี่ยนไปในทางกฎหมายและการเมือง โดยเพิ่มนัยใหม่ที่เป็นสกรรมกริยา (transitive verb) ขึ้นมาว่า to disappear someone หรือ “ทำการอุ้มใครสักคนหายไป”

ในที่สุด “การอุ้มหาย” ถูกบัญญัตินิยามไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศว่าจัดเป็นส่วนหนึ่งของ “อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ” และต่อมาองค์การสหประชาชาติได้ร่าง “อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองบุคคลทั้งมวลจากการบังคับอุ้มหาย” (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ออกมาเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๖ และมีผลบังคับใช้ปี ค.ศ. ๒๐๑๐ โดยมีประเทศสมาชิกสหประชาชาติร่วมลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว ๙๑ ประเทศ, ให้สัตยาบันรับรองแล้ว ๓๗ ประเทศ, ส่วนประเทศไทยไม่ได้ร่วมลงนามหรือรับรองแต่อย่างใด

 

อนึ่ง นายพล ฮอร์เฮ ราฟาเอล วิเดลา จอมเผด็จการผู้ปกครองอาร์เจนตินาระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๗๕ - ๘๑ และรับผิดชอบดำเนิน “สงครามสกปรก” โดย “อุ้มหาย” ประชาชน ๓ หมื่นคนรวมทั้งจับกุมทรมานอีกนับหมื่นคนดังกล่าวข้างต้น ได้ถูกจับกุมดำเนินคดีในกาลต่อมาเมื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยขึ้นแล้ว และถูกตัดสินลงโทษฐานก่อ “อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ” ด้วยการจำคุกตลอดชีวิต เขาถึงแก่กรรมในคุกไปเมื่อ ๑๗ พ.ค. ศกนี้เอง

 

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

หนังสือ อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร: บทสะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทย (๒๕๔๗) จัดพิมพ์โดย คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (ซึ่งมีบทความของผมเรื่อง “วัฒนธรรมการเมืองอำนาจนิยมปฏิปักษ์ปฏิรูปภายใต้ระบอบทักษิณ” รวมพิมพ์อยู่ด้วยที่หน้า ๓ - ๒๔) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทนายสมชาย นีละไพจิตรไว้ว่า:

ในฐานะประกอบวิชาชีพทนายความ ท่านได้ใช้ความรู้ทางกฎหมายว่าความรณรงค์ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้ต้องหาทั้งคดีอาญาและคดีการเมือง/ความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง จนดำรงตำแหน่งประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม

การอุ้มหายท่านโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ หลังเหตุปล้นปืนค่ายทหารกองพันพัฒนาที่อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ไม่นาน โดยทนายสมชายไม่เห็นด้วยกับนโยบายปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลทักษิณในขณะนั้นและเตรียมรณรงค์ล่ารายชื่อชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อขอให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ดังกล่าว (หนังสือของชมรมนักกฎหมายมุสลิม เรื่อง ขอความร่วมมือลงชื่อยกเลิกกฎอัยการศึกฯ ลงวันที่ ๒๔ ก.พ. ๒๕๔๗ และลงนามโดยทนาย สมชาย นีละไพจิตร ใน อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตรฯ น. ๗๐ - ๗๓)

พร้อมกันนั้นท่านก็ได้เปิดโปงการจับกุมผู้ต้องหาคดีปล้นปืนฯไปกระทำทรมานทารุณของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยทำหนังสือถึงศาล ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ (หนึ่งวันก่อนถูกอุ้มหาย) ความบางตอนว่า:

“ข้าพเจ้าและคณะได้ไปพบผู้ต้องหาทั้ง ๕ คนที่ถูกควบคุมตัวที่กองปราบปรามและสถานที่ควบคุมโรงเรียนตำรวจนครบาล ได้ทราบข้อเท็จจริงจากผู้ต้องหาทั้งหมดว่าถูกตำรวจชุดจับกุมซ้อม ทำร้ายร่างกายและขู่บังคับให้รับสารภาพ ขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.ต.ตันหยง จังหวัดนราธิวาส มีรายละเอียดดังนี้

“๑.ผู้ต้องหาที่ ๑ ถูกใช้ผ้าผูกตาทั้งสองข้าง และถูกเตะบริเวณปากและใบหน้า ผลักให้ผู้ต้องหาที่ ๑ ล้มลงและใช้เท้าเหยียบหน้า และมีคนปัสสาวะใส่หน้าและปาก ใช้ไฟฟ้าช็อตบริเวณลำตัวและบริเวณอวัยวะเพศถึง ๓ ครั้ง

“๒. ผู้ต้องหาที่ ๒ ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง และเตะบริเวณลำตัว ใช้รองเท้าตบหน้าและบังคับให้นอน แล้วคนปัสสาวะรดหน้า

“๓. ผู้ต้องหาที่ ๓ ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง ถูกเตะบริเวณลำตัวหลายแห่ง ใช้มือตบบริเวณกกหูทั้งสองข้าง ใส่กุญแจมือไพล่หลัง ใช้เชือกมัดข้อเท้าทั้งสองข้าง และใช้ไฟฟ้าช็อตตามลำตัวและหลัง

“๔. ผู้ต้องหาที่ ๔ ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง บีบคอ ใส่กุญแจมือไพล่หลัง และใช้ไม้ตีด้านหลังจนศีรษะแตก ได้ใช้เชือกแขวนคอกับประตูห้องขัง ใช้มือทุบบริเวณลำตัวและได้ใช้ไฟฟ้าช็อตด้านหลัง

“๕. ผู้ต้องหาที่ ๕ ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง และถูกตบด้วยเท้าบริเวณหน้าและปาก ตบบริเวณกกหู ต่อยท้อง และใช้ไฟฟ้าช็อตหลายครั้ง

“ผลจากการกระทำดังกล่าว จำเลยทั้ง ๕ คนต้องยอมรับสารภาพตามที่เจ้าพนักงานตำรวจประสงค์ เป็นการแสดงคำรับสารภาพและทำแผนประกอบคำรับสารภาพโดยการทำร้ายร่างกาย ข่มขู่บังคับ มิได้รับการเยี่ยมญาติ และไม่มีโอกาสให้ได้พบทนายความในขณะสอบปากคำ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาทั้งสิ้น”

(อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตรฯ, น. ๖๗ - ๖๙)

ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คำถามสำคัญคือ ใครบ้างที่คุณนับเป็นมนุษย์? เราควรจะแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติว่าจะปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคน ๆ หนึ่งบนฐานศาสนา ชาติพันธุ์ จุดยืนทางการเมืองของเขา หรือไม่อย่างไร? ถ้าหากไม่เกิดคดีเอกยุทธ ยังจะมีใครคิดรื้อฟื้นดำเนินคดีทนายสมชายให้จบจริงหรือไม่?

 

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ด้วยความระลึกถึงจาก "พวกดอกเตอร์สมองบวมบนหอคอยงาช้างทั้งหลาย" ต้องสู้กับทักษิณด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ต้องเอาชนะทักษิณด้วยการชนะใจเสียงข้างมาก ไม่ใช่ต่อต้านเสียงข้างมาก
เกษียร เตชะพีระ
คำปราศรัยของคุณสุเทพ ณ กปปส.บ่ายวันนี้ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ  คือคำประกาศของขบวนการการเมืองแบบสู้รบของเสียงข้างน้อยที่ปฏิเสธความเสมอภาคทางการเมืองและการปกครองโดยเสียงข้างมาก
เกษียร เตชะพีระ
ว่าด้วย "ระบอบทักษิณ" ในสถานการณ์ปฏิวัติโค่นล้ม "ระบอบทักษิณ" ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)
เกษียร เตชะพีระ
ด้วยเงื่อนไขเวลา สถานที่ แกนนำและประเด็นชนวนที่ต่างออกไปบ้าง ม็อบเทพเทือกปัจจุบันกับม็อบพันธมิตรฯเมื่อปี 2549 + 2551 ละม้ายเหมือนกันเป็นพิมพ์เดียวทั้งในแง่....
เกษียร เตชะพีระ
 "เสียงข้างน้อย" ที่ศาลรัฐธรรมนูญพูดถึงว่าต้องปกป้องไว้จากอำนาจเสียงข้างมากนั้น ไม่ใช่เสียงข้างน้อยธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย แต่คืออภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่ได้อำนาจอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นและเหนือเสียงข้างมากมาจากการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยอำนาจรัฐประหารนั้น
เกษียร เตชะพีระ
กลุ่มอาการม็อบไทย ๆ ในปัจจุบัน: Thai Mob SyndromeOverpoliticization --> Political Fanaticism & Instant Political Awakening --> Lack of Political Experience and Patience
เกษียร เตชะพีระ
บทความ “A Sea of Dissent: nonviolent waves in China” ของ Michael Caster นักวิจัยและเคลื่อนไหวอิสระผู้เน้นศึกษาเรื่องความขัดแย้งและสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในเอเชีย ได้ประมวลข้อมูลและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวมวลชนระยะใกล้ในจีนไว้อย่างน่าสนใจ ผมขอนำมาเล่าต่อบางส่วนดังนี้
เกษียร เตชะพีระ
สิ่งที่พึงปรารถนาไม่ใช่ "ให้คนเราเหมือนกันหมด จะได้เท่ากัน" (เอาเข้าจริง ถึงเหมือนกันก็ไม่เท่ากันได้) แต่คือ "แตกต่างแต่เท่ากัน" (เพราะมันคนละเรื่อง) หรือ "แตกต่างกันได้โดยไม่ต้องกลัว" ต่างหาก (Different but equal or To be different without fear.)
เกษียร เตชะพีระ
บทสัมภาษณ์ ควินติน สกินเนอร์ นักวิชาการด้านประวัติความคิดการเมืองชาวอังกฤษสำคัญที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบันต่อประเด็นเกี่ยวกับงานค้นคว้าประวัติความคิดเรื่องเสรีภาพและ เสรีนิยมของตะวันตกตลอดชีวิตของเขาโดยภาพรวม แนวคิดมหาชนรัฐ, มาเคียเวลลี, ฮ๊อบส์, การปฏิรูปศาสนา, เชคสเปียร์, มิลตัน, คาร์ล มาร์กซ จนถึงเอ็ดเวิร์ด สโนว์เด็น เป็นต้น
เกษียร เตชะพีระ
 ว่าด้วย "เจ็ดไม่พูด"(ชีปู้เจียง) แคมเปนอุดมการณ์ล่าสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน คุณค่าสากล, เสรีภาพการพูดและพิมพ์โฆษณา, สิทธิพลเมือง, ประชาสังคม, ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน, กระฎุมพีข้าราชการ และความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ