Skip to main content

มิจฉาทิฐิว่าด้วย“24 มิถุนาคือการรัฐประหารไม่แตกต่างจากครั้งอื่นๆ คือใช้อำนาจทหารล้มล้างการปกครองเช่นเดียวกัน” "ถ้าเอาวันประกาศเอกราช ก็เอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพจากพม่าสิ" และ "วันชาติคือวันรวมใจคนทั้งชาติ ในยุคสมัยผมใจพวกเราทุกดวงอยู่ที่ในหลวงก็ควรเอาวันที่ ๕ ธันวานี่ล่ะเหมาะที่สุด"

 

 

สถานะของ “Viengrat Nethipo” ในเฟซบุ๊ก โพสต์เมื่อ 25 มิ.ย.56

มิจฉาทิฐิแห่งชาติ ๑ :

“24 มิถุนาคือการรัฐประหารไม่แตกต่างจากครั้งอื่นๆ คือใช้อำนาจทหารล้มล้างการปกครองเช่นเดียวกัน”
 

ข้อความข้างต้นสะท้อนการมองแต่ปรากฏการณ์ผิวเผิน ไม่ดูบริบทที่กว้างออกไป ไม่ดูผลกระทบสืบเนื่องจากนั้น คือดึงตัวเหตุการณ์โล้น ๆ ออกมาจากประวัติศาสตร์ แล้วก็สรุปเลย

การปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ใช้วิธีการรัฐประหารในการยึดอำนาจ เพราะในเงื่อนไขภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่สามารถตั้งพรรคการเมืองลงแข่งขันเลือกตั้งได้, ไม่สามารถก่อม็อบหน้ากากขาวประท้วงได้ ขืนทำก็หัวขาดเท่านั้นเองครับ

ในเงื่อนไขรัฐมีอำนาจสิทธิ์ขาดเหนือร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของราษฎร (ABSOLUTE MONARCHY) ราษฎรไร้สิทธิทางการเมืองที่จะชุมนุม ตั้งพรรค ออกเสียงเลือกตั้ง วิธีการเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ในฐานะข้าราชการและสามัญชนนอกวัง ก็คือรัฐประหารเท่านั้นเอง (ถ้าอยู่ในวังอาจก่อ palace coup)

แต่สิ่งที่ทำให้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่ใช่แค่การรัฐประหารก็คือ คณะราษฎร ยึดอำนาจรัฐมา แล้วใช้อำนาจรัฐนั้น เปลี่ยนระบอบปกครอง (เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจในประเทศ) ยกเลิกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เปลี่ยนฐานะราษฎรไทยทุกคน จากผู้ไร้สิทธิ ชีวิตร่างกายทรัพย์สินอยู่ใต้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ของกษัตริย์ เมื่อวันที่ ๒๓ มิ.ย. ๒๔๗๕ --> มาเป็นพลเมือง (citizens) ผู้ทรงสิทธิ์เหนือร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของตนเอง จำกัดอำนาจรัฐลง รัฐเปลี่ยนรูปจากรัฐที่มีอำนาจไม่จำกัดหรือมีอำนาจสมบูรณ์แบบ (unlimited or absolute government) มาเป็นรัฐที่มีอำนาจจำกัด (limited government) โดยอำนาจรัฐถูกจำกัดด้วยสิทธิเสรีภาพของพลเมือง (ของดีที่ได้มาในวันที่ ๒๔ มิ.ย. คือสิทธิเสรีภาพประจำตัวทุกคน รัฐจะมาทำอะไรกับร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของเราไม่ได้ ต้องขออนุญาตเราก่อน, จะมาปกครองเราตามใจชอบไม่ได้ ต้องให้เราเห็นชอบก่อน โดยเลือกตั้งส่งผู้แทนของเราไปอนุมัติในสภา)

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่ใช่แค่การรัฐประหาร เพราะมันเปลี่ยนรัฐไทย คนไทย จากสมบูรณาญาสิทธิ์/ไพร่ราบ ไปเป็น รัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ/พลเมือง มันเป็นการปฏิวัติแห่งลัทธิรัฐธรรมนูญ (constitutionalist revolution) ด้วยเหตุนี้

ขณะที่รัฐประหารครั้งอื่น ๆ ตั้งแต่นั้นมา ไม่มีนัย “ปฏิวัติ” แบบนั้นเลย


นักวิชาการคนที่มอง ๒๔๗๕ แล้วเห็นแค่ “รัฐประหาร” ก็แคบ ตื้น และไร้ประวัติศาสตร์ ไม่ต่างจากข้อความข้างต้นนั่นแหละ

 

มิจฉาทิฐิแห่งชาติ ๒ :

"ถ้าเอาวันประกาศเอกราช ก็เอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพจากพม่าสิ"

หลายประเทศเลือกวันกู้อิสรภาพ ประกาศเอกราช จากระบอบอาณานิคมต่างชาติ เป็น "วันชาติ" ของประเทศตน เช่น มาเลเซีย, อินโดนีเซีย เป็นต้น

แต่วันที่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพของกรุงศรีอยุธยาจากกษัตริย์พม่านั้น เป็นประวัติศาสตร์ยุคก่อนมีชาติและก่อนมีสำนึกชาติด้วยซ้ำไป

ความสัมพันธ์สำนึกเป็นกลุ่มก้อนหน่วยเดียวกันในยุคนั้น ถือกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง แล้วลดหลั่นเป็นลำดับชั้นตามเส้นสายราชูปถัมภ์ จากกษัตริย์ ไปสู่ขุนนางศักดินา และไพร่ทาส, จากราชธานี (เมืองที่ประทับของกษัตริย์) ไปสู่หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอกและประเทศราช

ความสัมพันธ์แนวดิ่ง ที่เหลื่อมล้ำและยึดกษัตริย์เป็นศูนย์กลางดังกล่าว ต่างจาก ความสัมพันธ์แบบชาติ ที่เป็นแนวราบ เสมอภาค และยึดความเป็นสมาชิกร่วมชุมชนจินตนากรรมเดียวกันเป็นหลัก

ชาติไทย/ชาติสยาม ไม่ได้มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ได้มีมาตั้งแต่เทือกเขาอัลไต อ้ายลาว น่านเจ้า สุโขทัย อยุธยา ต้นรัตนโกสินทร์... เอาเข้าจริงสำนึกความเป็นชาติไทย/ชาติสยามเพิ่งก่อกำเนิดเริ่มต้นในช่วงรัชกาลที่ ๔ ต่อที่ ๕ เท่านั้นเอง ก่อนหน้านั้นเป็นสำนึกก่อนชาติที่ถือกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง ลดหลั่นลงมาสู่ขุนนางและไพร่ทาส

ชาติมีไม่ได้ ถ้าไม่มีพลเมืองที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน และพลเมืองไทยที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งชั้นโดยชาติกำเนิดเป็นเจ้า/ขุนนาง/ไพร่/ทาส นั้น สมัยพระนเรศวรและกรุงศรีอยุธยา ไม่มี

ชาติไทยที่ประกอบไปด้วยพลเมืองที่มีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกันเพิ่งเกิดเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เท่านั้นเอง นี่คือแนวคิดเบื้องหลังการเลือกวันนั้นเป็นวันชาติ หรือนัยหนึ่งวัน Happy Birthday to ชาติไทยที่คนไทยเสมอภาคเท่าเทียมกันไม่แบ่งแยกชั้นเจ้า/ขุนนาง/สามัญชน

ถ้าหลงคิดว่ามีพลเมืองที่เสมอภาคกันสมัยนั้น หลงคิดว่ามีชาติในยุคนั้น คุณก็กำลังเพ้อฝันทั้งเพ แล้วเอาความเข้าใจปัจจุบันไปตีความอดีตใหม่ ให้ความหมายอดีตใหม่อย่างตรงจริตของปัจจุบัน อย่างบิดเบือนอดีต แค่นั้นเอง

 

มิจฉาทิฐิแห่งชาติ ๓ :

"วันชาติคือวันรวมใจคนทั้งชาติ ในยุคสมัยผมใจพวกเราทุกดวงอยู่ที่ในหลวงก็ควรเอาวันที่ ๕ ธันวานี่ล่ะเหมาะที่สุด"

๕ ธันวาฯ ได้รับการเฉลิมฉลองในฐานะวันเฉลิมพระชนมพรรษา และโดยที่พสกนิกรมากหลายรักเทิดทูนพระองค์ จะยกย่องวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นวันรวมใจคนทั้งชาติก็เป็นได้

แต่ถ้าเรายึดถือแนวคิดเรื่องชาติ ว่าหมายถึงชุมชนที่รวมของพลเมืองผู้มีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกัน, วันที่สะท้อนความเป็นชาติไทยที่สุด ก็ควรเป็นวันที่พลเมืองไทยได้สิทธิเสมอภาคนั้นมาเป็นของตน ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ของรัฐเหนือร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของตนอีกต่อไป

วันนั้นในประวัติศาสตร์คือวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

ชาติไทยควรเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษา เพื่อพสกนิกรแสดงออกซึ่งความรักเทิดทูนองค์พระประมุขในดวงใจ แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลอันใดที่จะไม่ให้ชาติไทยมีวันชาติ เฉลิมฉลองวันชาติ หรือนัยหนึ่งมีและเฉลิมฉลองวันที่ประเทศไทยกลายเป็นประเทศของพลเมืองที่มีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ชาติไทยน่าจะได้เฉลิมฉลองทั้งวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่ ๕ ธันวาคม และวันชาติที่ ๒๔ มิถุนายนของทุกปี และเราก็ได้ทำอย่างนั้นกันมาในอดีตจาก พ.ศ. ๒๔๘๒ (เริ่มประกาศให้ ๒๔ มิถุนาฯ เป็นวันชาติ ปี ๒๔๘๑ และเริ่มฉลองหนแรก ปี ๒๔๘๒) จนรัฐบาลเผด็จการทหารสฤษดิ์ยกเลิกวันชาติไป โดยไม่ถามคนไทยทั้งประเทศสักคำ เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๓

จะเอาอย่างและสืบทอดมรดกเผด็จการสฤษดิ์หรือ? ได้เวลาล้างมรดกทำลาย "วันชาติ" ของสฤษดิ์ - เผด็จการทหารเสือผู้หญิงจอมปล้นชาติ คนนั้นหรือยัง?

 

(หมายเหตุถบทความนี้ เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก "Kasian Tejapira" มิจฉาทิฐิแห่งชาติ๑, มิจฉาทิฐิแห่งชาติ๒ และ มิจฉาทิฐิแห่งชาติ๓ วันที่ 25 มิ.ย.56)

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
จาก "บทอาเศียรวาทของมติชน" ถึง "กาแฟลวกมือของ "ทราย เจริญปุระ" สู้ "การิทัตผจญภัย" นิยายปรัชญาการเมืองที่ตอนหนึ่งกล่าวถึงลักษณะของชุมชนนครหนึ่ง ที่ "เจตนาของผู้พูดผู้แต่งไม่สำคัญ ยึดเอาการตีความของผู้อ่านผู้ฟังเป็นสรณะ แล้วตัดสินวินิจฉัยตามนั้นเลย"
เกษียร เตชะพีระ
คำอธิบายของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคกรณีดำเนินการกับพนักงานที่โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย: ประเด็นไม่ใช่สีไหน แต่คือกระทำอะไร (Professionalism, not ideology, is the issue.) และตรรกะเบื้องหลังวิธีคิดและการกระทำสุดโต่งทางการเมือง
เกษียร เตชะพีระ
ข้ออ้างคำโตแค่ว่าตลาดข้าวหรือตลาดสินค้า/บริการด้านใดด้านหนึ่งเป็นระเบียบศักดิ์สิทธิ์ ห้ามรัฐยุ่งเกี่ยวแตะต้องสภาพดังที่เป็นอยู่ อันเป็นข้อถกเถียงแบบฉบับของเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมกระแสหลักที่ระแวงการเมือง เกลียดรัฐแทรกแซง แบบตายตัวบ้องตื้นนั้น ฟังไม่ขึ้น มิพักต้องยกมากรอกหูอีกต่อไป
เกษียร เตชะพีระ
ไม่มีประชาธิปไตยแน่ ๆ คือสภาตรายางและการเลือกตั้งที่มีเก๊ทั้งนั้น หลังฉากจัดตั้งของพรรคคุมเข้มตลอด, ประชาชนลำบากเดือดร้อนก็หาทางประท้วงต่อต้านนโยบายรัฐลำบาก การรอนสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชนหนักข้อมาก และไม่มีหลักนิติรัฐครับ ยืนยันได้ว่าไม่มี เพราะพรรคอยู่เหนือศาลและอยู่เหนือความพร้อมรับผิดทางการเมืองและกฎหมาย
เกษียร เตชะพีระ
ความสัมพันธ์อันมั่นคงยืนนานตั้งอยู่บนความรักโดยสมัครใจ ซึ่งกว่าจะได้มาก็ใช้เวลายาวนานในการปลูกสร้างสั่งสมจนเชื่อมั่นไว้วางใจกัน เพราะได้ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลอุปถัมภ์กันในยามยากและยามคับขัน ให้อภัยกันในยามหลุดปากพลั้งมือผิดพลาดต่อกัน ต่างฝ่ายต่างเข้าใจว่าเราตั้งใจจะคงความสัมพันธ์นี้ต่อไปและเราจะอยู่ด้วยกันอย่างยาวนานได้ก็ด้วยการปฏิบัติต่อกันเยี่ยงนี้
เกษียร เตชะพีระ
"..ทุกสังคมมีพลังฝ่ายขวา ผมอยากให้เขาอยู่และรวมกลุ่มต่อสู้รณรงค์ในระบอบรัฐสภาครับ ถึงตอนนั้นเป็นไปได้ว่าเขาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เข้มแข็งกว่านี้ แต่ตอนนี้เขากลายเป็น outlet สำหรับสารพัดความอึดอัดไม่พอใจรัฐบาล แต่ไม่รู้จะสู้ในระบบอย่างไร.."
เกษียร เตชะพีระ
วิธีคิดที่เหมารวมการวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่างว่าเป็น hate speech นั้นไม่ต่างจากวิธีคิดของคนจำนวนมากในสังคมไทยต่อกฎหมายม. ๑๑๒ คือไม่สามารถแยกแยะระหว่าง วิพากษ์วิจารณ์ กับ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย เลย ถ้าเราเริ่มคิดแบบนั้น เราก็กำลังเดินตรรกะเดียวกับผู้จงรักภักดีที่ไม่อาจแยกแยะแบบนั้นได้ น่าแปลกใจไหมครับ?
เกษียร เตชะพีระ
ตกลงประชาชนมีดุลพินิจถ่องแท้เที่ยงธรรม หรือ อ่อนเปราะพลิ้วไหวถูกคนอื่นชักจูงให้รังแกข่มเหงคนอื่นด้วยอคติกันแน่?
เกษียร เตชะพีระ
บางทีที่น่ากลัวที่สุดไม่เพียงแต่เป็น hate speech แต่รวมทั้ง love speech ด้วย อะไรที่สุดโต่งและไม่ฟังไม่ยับยั้งชั่งใจ คิดว่า สิ่งนี้ สำคัญ กว่าชีวิตคน น่ากลัวทั้งนั้น ไม่ว่ามันจะมาในนามอะไร? ความจงรักภักดี, สิทธิเสรีภาพ, ประชาธิปไตย, สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คำเหล่านี้ใช้เป่าคาถาฆ่าคนมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีคำไหนไม่เปื้อนเลือด คำถามจึงไม่ใช่แค่กำจัดคำ แต่จะทำอย่างไรให้เงื่อนไขการใช้คำฆ่าคน น้อยลง
เกษียร เตชะพีระ
..ในสังคมสาธารณ์ที่ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกบ่อนทำลายลงจากความรู้สมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์ทุกวี่วัน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลับเพิ่มพูนขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ และในทางกลับกัน พื้นที่เหล่านั้นก็กลับสาธารณ์หรือเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลงทุกทีเหมือนกัน..
เกษียร เตชะพีระ
คนเพิ่งอพยพจากชนบทเข้าเมืองไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนสำมะโนครัวประชากรทางการ ทำให้เข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ เช่น น้ำประปา, สาธารณสุข, โรงเรียน ยาก คนที่รายได้ไม่เข้าเกณฑ์ทางการ (ต่ำไม่พอ) ทำให้ไม่มีสิทธิ์ลงชื่อในทะเบียนคนจน ก็เลยพลอยไม่ได้สวัสดิการสำหรับคนจนของรัฐไปด้วย
เกษียร เตชะพีระ
...สันติวิธีหรือปฏิบัติการไม่รุนแรงเป็นวิธีการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าความรุนแรง และมีคุณค่าทางจริยธรรมในตัว สมควรได้รับการพิจารณาสำหรับผู้ต้องการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าเพื่อเป้าหมายใดก็ตาม