Skip to main content

จริงทีเดียว ใกล้เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ที่ทั้งศาลตุลาการ องค์กรอิสระและม็อบอนาธิปไตยรุมสาดสารพัดข้อหาใส่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จนเลอะเทอะเปรอะเปื้อนมอมแมม ทำให้บรรยากาศการเมืองเป็นดังมติชนระบุว่า “๒ ด้านการเมือง ′สุเทพ′ ฮึกห้าว เหิมหาญ ′ยิ่งลักษณ์′ หดหู่”

แต่ผมคิดใคร่ครวญไตร่ตรองไปมาหลายตลบ กลับรู้สึกว่าในความฮึกห้าวเหิมหาญของพลังฝ่ายแอนตี้เลือกตั้ง ต่อต้านประชาธิปไตย มีความหดหู่ห่อเหี่ยวลึก ๆ อยู่

เป็นความหดหู่ห่อเหี่ยวที่แก้ผ้าล่อนจ้อน เทหมดหน้าตักแล้ว เอาเข้าจริง ๆ ไม่มีอนาคต ไม่รู้จะไปไหนข้างหน้านะครับ

ผมสังเกตว่ามี ๔ ลักษณะสำคัญของขบวนการแอนตี้เลือกตั้ง ต่อต้านประชาธิปไตย ที่สืบทอดต่อเนื่องจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย —> ผ่านองค์การพิทักษ์สยาม —> กปปส./ปชป.ในปัจจุบัน

 

๑) moral absolutism & monism

๒) political deglobalization

๓) แบ่งแยก monarchy ออกจาก democracy อย่างสุ่มเสี่ยงอันตราย

๔) บ่อนทำลายและทอนความชอบธรรมของสถาบันการเมือง

 

การทำอะไรทวนกระแสโลก แหกคอกแตกเหล่าแยกหมู่นอกพวกจากประชาคมนานาอารยประเทศ แบบไม่ยอมรับว่าคนเท่ากัน ขัดขวางการเลือกตั้ง เอาเผด็จการจากการแต่งตั้งมาแทนประชาธิปไตยนั้น เป็นภาระเหนื่อยหนัก ต้องอาศัยพลังยาม้าของศีลธรรมสัมบูรณ์แบบและ เชิงเดี่ยว (ห้ามท้าห้ามถาม กดทับผ่านข้ามบรรทัดฐานศีลธรรมกฎหมายอื่นใดทั้งหมด ว่าด้อยกว่า ไม่สำคัญเท่าเรื่องของเรา อีกทั้งปฏิเสธความหลากหลายพหุนิยมทางศีลธรรมทั้งนั้นทั้งสิ้น ไม่ยอมรับไม่ยอมเห็นว่าเป็นไปได้ที่ในโลกกว้างของเราคนดี/ความดีไม่ได้มีหนึ่งเดียวอันเป็นความรู้ที่มนุษยชาติเรียนมาตั้งแต่เริ่มยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการที่มาร์โคโปโลไปเยือนจีนแล้ว ฯลฯ) มาบำรุงเลี้ยงให้กล้าและมุทะลุทำไปโดยไม่ฟังเสียงใครและเสียงอื่นใดในใจตัวเอง

ส่วนที่สุ่มเสี่ยงอันตรายที่สุดของการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง คือมักอ้างอิงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาให้ความชอบธรรมกับปฏิบัติการล้มการเลือกตั้ง ต่อต้านประชาธิปไตย อันเป็นการทำลายฐานรากของระบอบการเมืองการปกครองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นต้นมา นั่นคือ ประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เคียงข้างควบคู่ไปด้วยกัน การแบ่งแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกไปและนำมาตั้งประจัญเผชิญหน้ากับประชาธิปไตยเป็นอันตรายระยะสั้นต่อประชาธิปไตยและสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระยะยาวที่สุด

ประเทศหนึ่งดำรงคงอยู่ได้โดยอาศัยสถาบันต่าง ๆ อันหลากหลายทำงานสอดบรรสานคล้องจองไปด้วยกัน ไม่สามารถจะอิงอาศัยเพียงสถาบันใดสถาบันเดียวท่ามกลางความเสื่อมทรุดถดถอยพังทลายของสถาบันอื่นทุก ๆ สถาบันได้ กล่าวเฉพาะในทางการเมือง ต้องอาศัยทั้งสถาบันประชาธิปไตย (รัฐสภา พรรคการเมือง การเลือกตั้ง ฯลฯ) และสถาบันนิติรัฐ (ศาลสถิตยุติธรรมอิสระ, รัฐธรรมนูญ, องค์กรอิสระตรวจสอบถ่วงดุลทั้งหลาย) ทำงานสอดคล้องรองรับไปด้วยกันอย่างเป็นที่ยอมรับจากผู้คนในสังคมการเมืองอย่างแทบจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

ทว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและได้เกิดมานานเกือบทศวรรษคือมีการจงใจบ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตย (รัฐสภา, พรรคการเมือง, การเลือกตั้ง) ลงอย่างร้ายแรงถึงรากซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่ายุบ ยึด ล้มล้าง ยกเลิก/โมฆะ ในทางกลับกัน สถาบันนิติรัฐเท่าที่มีก็ทั้งถูกนำไปรับใช้การเมืองแบบเลือกข้างเลือกฝ่าย (politicized & partisan) จนกลายเป็นมีลักษณะสองมาตรฐาน ลำเอียง ไม่เที่ยงธรรม อาจเป็นที่ยินยอมพร้อมรับของฝ่ายหนึ่งมากขึ้นเป็นพิเศษ แต่กลับต้องสงสัย, สูญเสียเครดิต, ไม่ได้รับการยอมรับหรือกระทั่งถูกปฏิเสธจากฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายอื่น ๆ มากขึ้น สถาบันนิติรัฐทำงานราบรื่นได้เพราะทุกฝ่ายยอมรับความชอบธรรม เที่ยงธรรม ไม่เลือกข้าง ไม่เล่นการเมืองของมัน เมื่อสถาบันนิติรัฐสูญเสียคุณสมบัติดังกล่าวไป ไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ก็กลายเป็นง่อยเปลี้ยเสียขา ทุพพลภาพ พลอยทำงานไม่ได้และล้มเหลวไปกันด้วยกับรัฐที่ใช้การไม่ได้และรัฐล้มเหลวทั้งหมดนั่นเอง (dysfunctional/failed state)

พลังฮึกห้าวเหิมหาญของม็อบและขบวนการใดที่ก่อตัวขึ้นโดยกัดกร่อนบ่อนทำลายเหล่าสถาบันการเมืองของชาติให้เสื่อมทรุดถดถอยราบคาบลงไป ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่สร้างสรรค์อะไรขึ้นมา มีแต่พลังทำลาย ผลได้ของการเคลื่อนไหว ไม่ยั่งยืน เมื่อฝุ่นหายตลบแล้วก็จะพบว่ามีแต่ซากปรักหักพังแห่งสถาบันการเมืองของชาติทั้งชาติ โดยไม่ได้ดอกผลการต่อสู้อะไรจริงจังยั่งยืนขึ้นมาเลย

 

หมายเหตุ : บทความนี้ เกษียร  เตชะพีระ ได้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Kasian Tejapira' วันที่ 3 เม.ย.57 เวลา 17.00 น.

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
จาก "บทอาเศียรวาทของมติชน" ถึง "กาแฟลวกมือของ "ทราย เจริญปุระ" สู้ "การิทัตผจญภัย" นิยายปรัชญาการเมืองที่ตอนหนึ่งกล่าวถึงลักษณะของชุมชนนครหนึ่ง ที่ "เจตนาของผู้พูดผู้แต่งไม่สำคัญ ยึดเอาการตีความของผู้อ่านผู้ฟังเป็นสรณะ แล้วตัดสินวินิจฉัยตามนั้นเลย"
เกษียร เตชะพีระ
คำอธิบายของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคกรณีดำเนินการกับพนักงานที่โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย: ประเด็นไม่ใช่สีไหน แต่คือกระทำอะไร (Professionalism, not ideology, is the issue.) และตรรกะเบื้องหลังวิธีคิดและการกระทำสุดโต่งทางการเมือง
เกษียร เตชะพีระ
ข้ออ้างคำโตแค่ว่าตลาดข้าวหรือตลาดสินค้า/บริการด้านใดด้านหนึ่งเป็นระเบียบศักดิ์สิทธิ์ ห้ามรัฐยุ่งเกี่ยวแตะต้องสภาพดังที่เป็นอยู่ อันเป็นข้อถกเถียงแบบฉบับของเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมกระแสหลักที่ระแวงการเมือง เกลียดรัฐแทรกแซง แบบตายตัวบ้องตื้นนั้น ฟังไม่ขึ้น มิพักต้องยกมากรอกหูอีกต่อไป
เกษียร เตชะพีระ
ไม่มีประชาธิปไตยแน่ ๆ คือสภาตรายางและการเลือกตั้งที่มีเก๊ทั้งนั้น หลังฉากจัดตั้งของพรรคคุมเข้มตลอด, ประชาชนลำบากเดือดร้อนก็หาทางประท้วงต่อต้านนโยบายรัฐลำบาก การรอนสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชนหนักข้อมาก และไม่มีหลักนิติรัฐครับ ยืนยันได้ว่าไม่มี เพราะพรรคอยู่เหนือศาลและอยู่เหนือความพร้อมรับผิดทางการเมืองและกฎหมาย
เกษียร เตชะพีระ
ความสัมพันธ์อันมั่นคงยืนนานตั้งอยู่บนความรักโดยสมัครใจ ซึ่งกว่าจะได้มาก็ใช้เวลายาวนานในการปลูกสร้างสั่งสมจนเชื่อมั่นไว้วางใจกัน เพราะได้ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลอุปถัมภ์กันในยามยากและยามคับขัน ให้อภัยกันในยามหลุดปากพลั้งมือผิดพลาดต่อกัน ต่างฝ่ายต่างเข้าใจว่าเราตั้งใจจะคงความสัมพันธ์นี้ต่อไปและเราจะอยู่ด้วยกันอย่างยาวนานได้ก็ด้วยการปฏิบัติต่อกันเยี่ยงนี้
เกษียร เตชะพีระ
"..ทุกสังคมมีพลังฝ่ายขวา ผมอยากให้เขาอยู่และรวมกลุ่มต่อสู้รณรงค์ในระบอบรัฐสภาครับ ถึงตอนนั้นเป็นไปได้ว่าเขาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เข้มแข็งกว่านี้ แต่ตอนนี้เขากลายเป็น outlet สำหรับสารพัดความอึดอัดไม่พอใจรัฐบาล แต่ไม่รู้จะสู้ในระบบอย่างไร.."
เกษียร เตชะพีระ
วิธีคิดที่เหมารวมการวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่างว่าเป็น hate speech นั้นไม่ต่างจากวิธีคิดของคนจำนวนมากในสังคมไทยต่อกฎหมายม. ๑๑๒ คือไม่สามารถแยกแยะระหว่าง วิพากษ์วิจารณ์ กับ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย เลย ถ้าเราเริ่มคิดแบบนั้น เราก็กำลังเดินตรรกะเดียวกับผู้จงรักภักดีที่ไม่อาจแยกแยะแบบนั้นได้ น่าแปลกใจไหมครับ?
เกษียร เตชะพีระ
ตกลงประชาชนมีดุลพินิจถ่องแท้เที่ยงธรรม หรือ อ่อนเปราะพลิ้วไหวถูกคนอื่นชักจูงให้รังแกข่มเหงคนอื่นด้วยอคติกันแน่?
เกษียร เตชะพีระ
บางทีที่น่ากลัวที่สุดไม่เพียงแต่เป็น hate speech แต่รวมทั้ง love speech ด้วย อะไรที่สุดโต่งและไม่ฟังไม่ยับยั้งชั่งใจ คิดว่า สิ่งนี้ สำคัญ กว่าชีวิตคน น่ากลัวทั้งนั้น ไม่ว่ามันจะมาในนามอะไร? ความจงรักภักดี, สิทธิเสรีภาพ, ประชาธิปไตย, สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คำเหล่านี้ใช้เป่าคาถาฆ่าคนมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีคำไหนไม่เปื้อนเลือด คำถามจึงไม่ใช่แค่กำจัดคำ แต่จะทำอย่างไรให้เงื่อนไขการใช้คำฆ่าคน น้อยลง
เกษียร เตชะพีระ
..ในสังคมสาธารณ์ที่ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกบ่อนทำลายลงจากความรู้สมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์ทุกวี่วัน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลับเพิ่มพูนขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ และในทางกลับกัน พื้นที่เหล่านั้นก็กลับสาธารณ์หรือเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลงทุกทีเหมือนกัน..
เกษียร เตชะพีระ
คนเพิ่งอพยพจากชนบทเข้าเมืองไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนสำมะโนครัวประชากรทางการ ทำให้เข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ เช่น น้ำประปา, สาธารณสุข, โรงเรียน ยาก คนที่รายได้ไม่เข้าเกณฑ์ทางการ (ต่ำไม่พอ) ทำให้ไม่มีสิทธิ์ลงชื่อในทะเบียนคนจน ก็เลยพลอยไม่ได้สวัสดิการสำหรับคนจนของรัฐไปด้วย
เกษียร เตชะพีระ
...สันติวิธีหรือปฏิบัติการไม่รุนแรงเป็นวิธีการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าความรุนแรง และมีคุณค่าทางจริยธรรมในตัว สมควรได้รับการพิจารณาสำหรับผู้ต้องการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าเพื่อเป้าหมายใดก็ตาม