Skip to main content

 

 

"การปฏิวัติ" ในมุมมองแมกซ์ เวเบอร์

แมกซ์ เวเบอร์ (ค.ศ.1864-1920) ปรมาจารย์วิชาสังคมศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้วิจารณ์และเสริมเติมทฤษฎีวัตถุนิยมทางเศรษฐกิจของมาร์กซ์ด้วยทฤษฎีวัตถุนิยมทางการเมืองและการทหารของเขาเอง ได้นิยามรัฐสมัยใหม่ไว้ในปาฐกถาเรื่อง "การเมืองในฐานะอาชีพ" ณ มหาวิทยาลัยมิวนิก เมื่อปี ค.ศ.1918 ซึ่งกลายมาเป็นคำนิยามมาตรฐานของ "รัฐ" ในวิชารัฐศาสตร์ปัจจุบันว่า : -

 

"อย่างไรก็ตามทุกวันนี้เราคงต้องกล่าวว่า รัฐคือประชาคมของมนุษย์ที่อ้างสิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพโดยชอบธรรมภายในอาณาเขตหนึ่งๆ (ได้สำเร็จ)" (From Max Weber : Essays in Sociology, 1946, p. 78)

 

มีเชื้อมูลสำคัญ 3 ประการอยู่ในคำนิยาม "รัฐ" ของเวเบอร์ข้างต้น :

1) สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง

2) โดยชอบธรรม

3) ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ

 

ดังนั้น หากนิยาม "การปฏิวัติ" ว่าหมายถึงการลุกขึ้นสู้ของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อโค่นล้ม/ช่วงชิงอำนาจรัฐจากคนอีกกลุ่มหนึ่งแล้ว หนทางการปฏิวัติก็อาจเป็นไปได้ 3 ลักษณะ สอดรับกับเชื้อมูล 3 ประการข้างต้น ขึ้นอยู่กับว่าจะรวมศูนย์โจมตีลงไปที่ส่วนไหนขององค์ประกอบอำนาจรัฐ กล่าวคือ : -

1) ฝ่ายผู้ก่อการใช้ความรุนแรงสู้กับกลไกบังคับปราบปรามของรัฐเอาชนะมันด้วยการโค่นลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันได้สถาปนาความชอบธรรมใหม่ใดๆ ของฝ่ายตนขึ้นมาอย่างมั่นคง อย่างไรก็ตามหนทางนี้ใช้ได้ผลเมื่อคู่ต่อสู้เป็นรัฐที่อ่อนแอเท่านั้น

ตัวอย่างเช่นการปฏิวัติรัสเซียปี ค.ศ.1917 เป็นต้น 
ในกรณีไทย การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ของคณะราษฎรน่าจะจัดอยู่ในข่ายนี้ได้

 

2) ฝ่ายผู้ก่อการพังทลายการผูกขาดอำนาจของรัฐโดยทำลายความชอบธรรมในการปกครองของรัฐลงเสียจนกระทั่งรัฐไม่สามารถใช้กำลังบังคับมาปราบปรามขบวนการต่อต้านรัฐได้

 

ตัวอย่างเช่นการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ค.ศ.1978-79 ซึ่งไม่มีการสู้รบขนานใหญ่ กองทัพอยู่ในภาวะอัมพาต ขณะพระเจ้าชาห์และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศและระบอบราชาธิปไตยสิ้นสุดลง

ในกรณีไทย นึกหากรณีที่สอดรับตัวแบบนี้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ออก จะมากจะน้อยมักมีเชื้อมูลที่รัฐใช้กำลังรุนแรงปราบปรามฝ่ายผู้ก่อการมาผสมด้วยเสมอ

 

ทว่าหากลดเงื่อนไขลงเป็นว่ามีการทำลายความชอบธรรมของรัฐลงเป็นด้านหลักจนกระทั่งรัฐไม่สามารถใช้กำลังรุนแรงมาปราบปรามอย่างเต็มที่เต็มเหนี่ยวและฉะนั้นจึงถูกโค่นลงในที่สุดแล้ว ก็น่าขบคิดว่าพอจะนับการลุกขึ้นสู้เผด็จการทหารของนักศึกษาประชาชนเมื่อ 14 ตุลาฯ 2516 และการเคลื่อนไหวยึดทำเนียบรัฐบาล-ยึดสนามบินของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อโค่นรัฐบาลพรรคพลังประชาชนเมื่อปี พ.ศ.2541 ว่าเข้าข่ายนี้ได้หรือไม่?

 

3) ฝ่ายผู้ก่อการพังทลายการผูกขาดอำนาจของรัฐโดยตัดตอนอาณาเขตบางส่วนจากรัฐมาเป็น "เขตปลดปล่อย" ซึ่งกว้างใหญ่พอจะก่อตั้งอำนาจรัฐปฏิวัติขึ้นต่อต้านท้าทายรัฐเดิมได้ แล้วจึงค่อยๆ บั่นทอนบ่อนเบียนกำลังบังคับและความชอบธรรมของรัฐเดิมลงตามลำดับอย่างยืดเยื้อยาวนานจนประสบชัยชนะในที่สุด นี่เป็นแบบแผนการปฏิวัติทั่วไปของกองกำลังจรยุทธ์ทั้งหลาย

ตัวอย่างเช่นการปฏิวัติจีน ค.ศ.1928-49 รวมทั้งในยูโกสลาเวีย, คิวบา, นิการากัว ฯลฯ

ในกรณีไทย ความพยายามทำสงครามประชาชนที่ล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยระหว่าง พ.ศ.2508-2528 จัดอยู่ในข่ายนี้

 

ทว่าข้อคิดทางรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์เหล่านี้เป็นแค่เครื่องมือลองใช้ยึดกุมเข้าใจความจริง ไม่ใช่ตัวความจริงนั้นเอง กรณีความเป็นจริงมักจะสลับซับซ้อนยุ่งยากยุ่งเหยิงเลอะเทอะเละเทะ,ไม่เรียบๆ ร้อยๆ เข้ากรอบเข้าร่องเข้ารอยเข้าตามตรอกออกตามประตูดังแนวคิดทฤษฎีเป๊ะๆ เป็นธรรมดา

อาทิ กรณีการปฏิวัติเนปาล ค.ศ.1995-2006 นั้น พวกเหมาอิสต์เริ่มต้นเดินหนทางตัดตอนอาณาเขตของรัฐมาสร้างเขตปลดปล่อยขึ้นในชนบทป่าเขา (แบบที่ 3), แต่กลับลงเอยด้วยการปรับเปลี่ยนหนทางไปเข้าร่วมกับพันธมิตรพรรคฝ่ายค้านพามวลชนเดินขบวนประท้วงกลางเมืองทำลายความชอบธรรมของระบอบราชาธิปไตยเดิมลงจนกองทัพเนปาลสูญเสียขวัญกำลังใจและถอดใจในที่สุด (แบบที่ 2)

จึงควรใช้เครื่องมือการคิดเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง

 

 

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนออนไลน์ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553 (เผยแพร่ต่อใน Kasian Tejapira)

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ด้วยความระลึกถึงจาก "พวกดอกเตอร์สมองบวมบนหอคอยงาช้างทั้งหลาย" ต้องสู้กับทักษิณด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ต้องเอาชนะทักษิณด้วยการชนะใจเสียงข้างมาก ไม่ใช่ต่อต้านเสียงข้างมาก
เกษียร เตชะพีระ
คำปราศรัยของคุณสุเทพ ณ กปปส.บ่ายวันนี้ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ  คือคำประกาศของขบวนการการเมืองแบบสู้รบของเสียงข้างน้อยที่ปฏิเสธความเสมอภาคทางการเมืองและการปกครองโดยเสียงข้างมาก
เกษียร เตชะพีระ
ว่าด้วย "ระบอบทักษิณ" ในสถานการณ์ปฏิวัติโค่นล้ม "ระบอบทักษิณ" ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)
เกษียร เตชะพีระ
ด้วยเงื่อนไขเวลา สถานที่ แกนนำและประเด็นชนวนที่ต่างออกไปบ้าง ม็อบเทพเทือกปัจจุบันกับม็อบพันธมิตรฯเมื่อปี 2549 + 2551 ละม้ายเหมือนกันเป็นพิมพ์เดียวทั้งในแง่....
เกษียร เตชะพีระ
 "เสียงข้างน้อย" ที่ศาลรัฐธรรมนูญพูดถึงว่าต้องปกป้องไว้จากอำนาจเสียงข้างมากนั้น ไม่ใช่เสียงข้างน้อยธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย แต่คืออภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่ได้อำนาจอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นและเหนือเสียงข้างมากมาจากการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยอำนาจรัฐประหารนั้น
เกษียร เตชะพีระ
กลุ่มอาการม็อบไทย ๆ ในปัจจุบัน: Thai Mob SyndromeOverpoliticization --> Political Fanaticism & Instant Political Awakening --> Lack of Political Experience and Patience
เกษียร เตชะพีระ
บทความ “A Sea of Dissent: nonviolent waves in China” ของ Michael Caster นักวิจัยและเคลื่อนไหวอิสระผู้เน้นศึกษาเรื่องความขัดแย้งและสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในเอเชีย ได้ประมวลข้อมูลและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวมวลชนระยะใกล้ในจีนไว้อย่างน่าสนใจ ผมขอนำมาเล่าต่อบางส่วนดังนี้
เกษียร เตชะพีระ
สิ่งที่พึงปรารถนาไม่ใช่ "ให้คนเราเหมือนกันหมด จะได้เท่ากัน" (เอาเข้าจริง ถึงเหมือนกันก็ไม่เท่ากันได้) แต่คือ "แตกต่างแต่เท่ากัน" (เพราะมันคนละเรื่อง) หรือ "แตกต่างกันได้โดยไม่ต้องกลัว" ต่างหาก (Different but equal or To be different without fear.)
เกษียร เตชะพีระ
บทสัมภาษณ์ ควินติน สกินเนอร์ นักวิชาการด้านประวัติความคิดการเมืองชาวอังกฤษสำคัญที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบันต่อประเด็นเกี่ยวกับงานค้นคว้าประวัติความคิดเรื่องเสรีภาพและ เสรีนิยมของตะวันตกตลอดชีวิตของเขาโดยภาพรวม แนวคิดมหาชนรัฐ, มาเคียเวลลี, ฮ๊อบส์, การปฏิรูปศาสนา, เชคสเปียร์, มิลตัน, คาร์ล มาร์กซ จนถึงเอ็ดเวิร์ด สโนว์เด็น เป็นต้น
เกษียร เตชะพีระ
 ว่าด้วย "เจ็ดไม่พูด"(ชีปู้เจียง) แคมเปนอุดมการณ์ล่าสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน คุณค่าสากล, เสรีภาพการพูดและพิมพ์โฆษณา, สิทธิพลเมือง, ประชาสังคม, ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน, กระฎุมพีข้าราชการ และความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ